สฤณี อาชวานันทกุล

วิลเลียม เบย์ลิส และ เออร์เนสต์ สตาร์ลิง ผู้ค้นพบ Hormoneวิลเลียม เบย์ลิส

ในสังคมเร่งรีบของโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ดูเหมือนจะหมุนเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่กระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ยังคงทำงานด้วยความเร็ว (หรือความเชื่องช้า แล้วแต่มุมมอง) เท่ากับบรรพบุรุษยุคหิน เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่การดูแลรักษาสุขภาพกำลังอยู่ในกระแสนิยมของคนสมัย ใหม่ โดยเฉพาะ “มนุษย์เงินเดือน” ทั่วโลก คนจำนวนมากไม่หยุดยั้งอยู่เพียงแค่การรักษาสุขภาพให้ดีเท่านั้น หากยังพยายามใช้วิธีการ “ฝืนธรรมชาติ” มากมายหลายวิธีเพื่อให้ตัวเองดูเด็กกว่าวัย แข็งแรงผิดปรกติ หน้าตาดีกว่าที่พ่อแม่ให้มา ฯลฯ

หนึ่งในวิธีการซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้หญิง “วัยทอง” จำนวนไม่น้อยคือ กระบวนการ “ทดแทนฮอร์โมน” (Hormone Replacement Therapy หรือย่อว่า HRT) ซึ่งเป็นวิธีฉีดฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น estrogen เข้าไปในร่างกาย ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยชะลอกระบวนการแก่ชราตามธรรมชาติได้ นอกจากนั้น HRT ยังกำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ต้องการแปลงเพศบางรายที่ต้องการฮอร์โมนหลักของ เพศสภาพที่ตัวเองต้องการเป็น (testosterone สำหรับเพศชาย หรือ estrogen สำหรับเพศหญิง) เพื่อช่วย “ขับเน้น” ลักษณะของเพศที่ต้องการให้ออกมาเด่นชัดยิ่งขึ้น

ยังไม่นับการใช้สารกระตุ้นที่เรียกว่า สเตอรอยด์ (steroid) ซึ่งแน่นอนว่ามอบ “ความแข็งแรงเกินธรรมชาติ” ชั่วคราวให้แก่นักกีฬา แบบมักง่ายและไม่เป็นธรรมต่อคู่แข่ง ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต (growth hormone) ซึ่งผู้เลี้ยงสัตว์หลายรายฉีดให้ไก่ วัว และสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพื่อเร่งให้สัตว์เหล่านี้อ้วนท้วนสมบูรณ์ผิดธรรมชาติ ฮอร์โมนที่ฉีดให้สัตว์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา “เด็กโตก่อนวัย” ในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้หญิง

ทั้งหมดนี้คงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะฟันธงได้อย่างเด็ดขาดว่าเป็นเรื่องผิดหรือ ถูกเสมอไป แต่อย่างน้อยก็นำไปสู่คำถามว่า ความพยายามที่จะฝืนธรรมชาติเหล่านี้จะทำให้เรายิ่งยึดติดอยู่กับรูปลักษณ์ ภายนอก จนหลงลืมไปว่า “ความไม่เที่ยง” เป็นความเที่ยงแท้ของชีวิตหรือไม่ ?

ความทุรนทุรายของมนุษย์ที่จะฝืนสังขารตัวเองคงเบาบางลงมาก หากนักวิทยาศาสตร์ไม่เคยค้นพบฮอร์โมน (hormone) “ผู้นำส่งสารเคมี” จากเซลล์หนึ่งหรือกลุ่มเซลล์ไปยังเซลล์อื่น ๆ ในสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ (multicellular organism) คือมนุษย์ สัตว์และพืช เซลล์ที่ผลิตฮอร์โมน (ซึ่งรวมกันเป็นอวัยวะเรียกว่า “ต่อมไร้ท่อ” หรือ endocrine gland) จะปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด ของเหลวชนิดอื่นๆ ในร่างกาย หรือเนื้อเยื้อใกล้เคียง หน้าที่ของฮอร์โมนคือการ “ส่งสัญญาณ” ให้เซลล์ผู้รับสัญญาณทำงานหรือหยุดทำงาน เช่น กระตุ้นหรือยับยั้งการเจริญเติบโต กระตุ้นหรือยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน ควบคุมกระบวนการสร้างและสลาย (metabolism) ในร่างกาย

ฮอร์โมนเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการที่ธรรมชาติใช้กำหนด “ช่วงชีวิต” ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ นับจากวัยเด็กไปจนถึงวัยรุ่น วัยมีครอบครัว และวัยทอง

การทำงานของฮอร์โมนและผลกระทบของฮอร์โมนต่อสุขภาพนั้นเป็นหนึ่งในหัวข้อยอด ฮิตที่อยู่ในความสนใจของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก แต่เรื่องราวของการค้นพบฮอร์โมนก็มีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะในเมื่อการค้นพบนั้นมี “บทเรียน” สอนเราหลายเรื่อง นับตั้งแต่บทบาทที่มองข้ามไม่ได้ของ “โชค” ในการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงประเด็นทางศีลธรรมของการทรมานสัตว์ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ค้นพบฮอร์โมนเป็นคู่แรก (“คู่” ไม่ใช่ “คน” เพราะพวกเขาทำงานด้วยกัน) เป็นคน (ไม่) สำคัญที่มีคนนอกวงการแพทย์รู้จักชื่อเสียงเรียงนามน้อยมาก

อลัน ไลต์แมน (Alan Lightman) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์และนักเขียนร่วมสมัยที่ผู้เขียนชื่นชอบ เล่าเรื่องการค้นพบฮอร์โมนโดยบังเอิญไว้อย่างน่าสนใจในบทความเรื่อง “Wheels of Fortune” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science & Spirit (http://www.science-spirit.org/printerfriendly.php?article_id=625) จึงขอแปลและเรียบเรียงบางตอนมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

12 2เออร์เนสต์ สตาร์ลิง

12 3อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสุนัขที่เบย์ลิสและสตาร์ลิงใช้ในการทดลองจนค้นพบฮอร์โมน

“…ย้อนไปกว่า ๑๐๐ ปีที่แล้ว ในวันหิมะตกวันหนึ่งของเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๒ นักวิทยาศาสตร์ ๒ คนฉีดมอร์ฟีนให้สุนัขหนัก ๖ กิโลกรัม ผ่าหน้าท้องมันออก แล้วสอดหลอดโลหะยาว ๆ ที่เรียกว่า cannula เข้าไปในตับอ่อน ในขณะที่สุนัขตัวนั้นนอนพะงาบ ๆ อยู่ในอ่างน้ำเกลือ ชีวิตแขวนอยู่บนสายออกซิเจนจากปั๊ม นักวิทยาศาสตร์ก็เทกรดไฮโดรคลอริกชนิดอ่อนเข้าไปในลำไส้เล็กของมัน เพื่อเลียนแบบผลลัพธ์จากการย่อยสลายอาหารบางส่วนในกระเพาะอาหาร หลังจากที่ทำแบบนี้ได้ ๒ นาที น้ำย่อยจากตับอ่อนก็เริ่มหยดออกมาจาก cannula อย่างช้า ๆ ในอัตราที่วัดได้เท่ากับ ๑ หยดต่อทุก ๆ ๒๐ วินาที

“การทดลองที่ดำเนินมาถึงจุดนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่ วิลเลียม เบย์ลิส (William Bayliss) และเออร์เนสต์ สตาร์ลิง (Ernest Starling) เพียงแค่กำลังทำซ้ำการทดลองเรื่องระบบการย่อยอาหารที่มีคนทำมาก่อนแล้ว เป็นที่รู้กันในแวดวงวิทยาศาสตร์สมัยนั้นว่า เมื่ออาหารที่ถูกย่อยสลายไปแล้วบางส่วนเดินทางจากกระเพาะอาหารไปถึงลำไส้เล็ก จะมีอะไรสักอย่างกระตุ้นให้ตับอ่อนปล่อยของเหลวพิเศษออกมาช่วยในการย่อยสลายอาหาร แต่นักวิทยาศาสตร์สมัยนั้นแทบทุกคนก็ปักใจเชื่อด้วยว่า อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายส่ง “สัญญาณ” ไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทางระบบประสาท (nervous system) เพียงอย่างเดียว “เรื่องใหม่” ที่เบย์ลิสและสตาร์ลิงพยายามทำในการทดลองของพวกเขาคือ พยายามค้นหาว่าเส้นประสาทเส้นไหนเป็นตัวส่งสัญญาณให้ตับอ่อนเริ่มหลั่งน้ำย่อยออกมา

“นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองทำการทดลองต่อด้วยการมัดปลายทั้งสองข้างของลำไส้เล็กส่วนกลาง ซึ่งศัพท์การแพทย์เรียกว่า jejunum แล้วก็ผ่าตัดเอาเส้นประสาททั้งหมดออกอย่างชำนาญ ทิ้งให้ jejunum ยังเชื่อมติดกับตัวสุนัขด้วยเส้นเลือดแดงและดำเท่านั้น ในเมื่อเส้นประสาททั้งหมดถูกทำลาย พวกเขาก็คาดว่าตับอ่อนจะต้องหยุดหลั่งน้ำย่อยแน่ ๆ

“เบย์ลิสและสตาร์ลิงจึงประหลาดใจมากเมื่อพบว่า ขณะที่พวกเขาเทน้ำกรดอ่อน ๆ ลงไปใน jejunum ที่ไร้ซึ่งเส้นประสาทใด ๆ ตับอ่อนก็ยังหลั่งน้ำย่อยออกมาในอัตราเท่าเดิม นั่นแสดงว่าลำไส้เล็กกำลังส่งสัญญาณไปยังตับอ่อนด้วยกลไกลึกลับที่ไม่มีใครรู้จัก เมื่อความตกตะลึงจางหายไป นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองก็ลองขูดเมือกจาก jejunum ออกมา ฉีดเมือกนั้นเข้าไปในเส้นเลือดสุนัขโดยตรง แล้วก็พบว่าตับอ่อนเริ่มหลั่งน้ำย่อยออกมาอีก พวกเขาจึงสรุปว่า ต้องมี “สารเคมี” ผู้ส่งสัญญาณอาศัยอยู่ในผนังเมือกของลำไส้เล็ก และสรุปต่อไปอีกว่า สารเคมีนี้มีลักษณะเฉพาะ ทั้งในแง่ที่อยู่และฤทธิ์ของมัน เพราะไม่พบสารเคมีชนิดนี้ในอวัยวะอื่นอีก พวกเขาค้นพบในการทดลองครั้งต่อ ๆ มาว่า สารเคมีนี้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในสุนัขเท่านั้น เพราะสามารถกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยของตับอ่อนในกระต่าย ลิง และแม้แต่ในมนุษย์ด้วย

“เบย์ลิสและสตาร์ลิงซึ่งมีอายุเพียง ๔๑ ปี และ ๓๕ ปีตามลำดับในขณะนั้น ค้นพบฮอร์โมนโดยบังเอิญ พวกเขาขนานนามฮอร์โมนชนิดที่ค้นพบ คือผลิตในลำไส้เล็กส่วนต้นว่า ‘secretin’ และหลังจากนั้นไม่นาน สตาร์ลิงก็บัญญัติคำว่า ‘hormone’ ซึ่งมีรากศัพท์จากคำว่า horman ในภาษากรีก ที่แปลว่า กระตุ้นหรือทำให้เคลื่อนไหว ขึ้นมาอธิบาย ‘สารเคมีสื่อสาร’ ที่พวกเขาค้นพบ

“กว่า ๒,๐๐๐ ปีหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ชาวกรีกโบราณค้นพบระบบประสาทในมนุษย์ เบย์ลิสและสตาร์ลิงค้นพบกลไกลำดับที่ ๒ ที่ธรรมชาติใช้ในการสื่อสารและควบคุมการทำงานของร่างกาย”

หลังจากที่สตาร์ลิงบัญญัติคำว่า “ฮอร์โมน” ขึ้นมา ศัพท์คำนี้ก็เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นบ่อเกิดของวิทยาศาสตร์แขนงใหม่คือ การศึกษาต่อมไร้ท่อ หรือ endocrinology และกระตุ้นให้นักวิจัยหลายสาขาหันมาสนใจศึกษาการทำงานของฮอร์โมน ตั้งแต่นักเคมี นักชีววิทยา นักพยาธิวิทยา ไปจนถึงนักจิตวิทยา นักโบราณคดี และนักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ภายในช่วงเวลาเพียง ๓๐ ปีหลังการค้นพบฮอร์โมน secretin ของเบย์ลิสและสตาร์ลิง นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบโครงสร้างทางเคมีของฮอร์โมน และค้นพบฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ อีกมากมายในอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น cortisone, thyroxine, estrogen, testosterone, progesterone และ insulin

นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบฮอร์โมนที่กล่าวถึงข้างต้นล้วนได้รับรางวัลโนเบล แต่เบย์ลิสและสตาร์ลิง ผู้ค้นพบฮอร์โมนสองคนแรกของโลก กลับไม่เคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าวตลอดอายุของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคำนึงว่าฮอร์โมนที่พวกเขาค้นพบคือ secretin นั้น ไม่ได้เป็นฮอร์โมนที่สำคัญหรือเป็นที่รู้จักเท่ากับ estrogen หรือ insulin การที่พวกเขาไม่เคยได้รับรางวัลโนเบลก็ดูจะเป็นเรื่องที่ “เข้าใจได้” แม้ว่าจะ “น่าเสียดาย” ไม่น้อยก็ตาม

นอกจากการศึกษาฮอร์โมนจะช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับธรรมชาติอย่างก้าวกระโดดแล้ว ก็ยังนำไปสู่ประโยชน์อันมหาศาลด้านสุขอนามัยและความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งดูเผิน ๆ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด ยาอินซูลิน (insulin) สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และวิธีการผสมเทียมที่เรียกว่า in vitro fertilization (IVF) หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เด็กในหลอดแก้ว” ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับคู่สามีภรรยาจำนวนนับไม่ถ้วนทั่วโลกที่มีลูกตามธรรมชาติไม่ได้

นักสังคมวิทยาจำนวนมากถึงกับกล่าวว่า ยาคุมกำเนิด (ซึ่งทำงานด้วยการใช้สารที่ผลิตจากฮอร์โมน estrogen และ progesterone ระงับการตกไข่ในผู้หญิง) เป็นสิ่งที่ช่วย “ปลดปล่อย” ผู้หญิงออกจากพันธะของครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ากฎหมายสิทธิสตรีทุกฉบับ

นอกจากเบย์ลิสและสตาร์ลิงจะเป็นคน (ไม่) สำคัญแล้ว สุนัขตัวที่ต้องทนทรมานให้พวกเขาทดลองจนค้นพบฮอร์โมนโดยบังเอิญ ก็นับว่าเป็นสุนัข (ไม่) สำคัญเช่นกัน เพราะเบย์ลิสไปฟ้อง สตีเฟน โคลริดจ์ (Stephen Coleridge) เลขานุการกิตติมศักดิ์ของสมาคมต่อต้านการใช้สัตว์ในการทดลองแห่งอังกฤษ (National Anti-Vivisection Society) ในข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากโคลริดจ์อ้างว่าเบย์ลิสละเมิดกฎหมาย ๒ ฉบับในการทำการทดลองคราวนั้น แม้ว่าศาลจะตัดสินให้เบย์ลิสเป็นฝ่ายชนะ ได้เงินค่าเสียหายจำนวน ๒,๐๐๐ ปอนด์ แต่ขณะเดียวกันโคลริดจ์ก็ประสบความสำเร็จในการปลุกระดมชาวอังกฤษให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านการใช้สัตว์ในห้องทดลอง จนนำไปสู่การสร้างอนุสาวรีย์สุนัขตัวนี้ขึ้นในสวนสาธารณะประจำเขต Battersea ในกรุงลอนดอน อนุสาวรีย์นี้ถูกรื้อถอนในปี ๑๙๑๐ และต่อมามีการสร้างอนุสาวรีย์รูปร่างคล้ายกัน แต่ไม่มีน้ำพุ ขึ้นมาแทนตรงตำแหน่งเดิมในปี ๑๙๘๕

กลายเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ให้เราระลึกถึงทั้งคน (ไม่) สำคัญ และสุนัข (ไม่) สำคัญ ที่มีส่วนช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของร่างกาย จนทำให้มนุษย์ทั้งสามารถ “รักษา” โรคร้าย ทั้งอยาก “เอาชนะ” ธรรมชาติไปพร้อม ๆ กัน