สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

 

surin01“อัลลอฮ์จะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงประชาคมใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนประชาคมของเขาเอง”

นี่คือหลักการของศาสนาอิสลามที่ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ บอกว่าเขาใช้ในการทำงานมาตลอด ๕ ปี ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนในวาระของไทยระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๕

เมื่อพูดถึง “อาเซียนฟีเวอร์” ในสังคมไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อของอดีตเลขาธิการอาเซียนที่เพิ่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งมาหมาด ๆ รายนี้จะลอยเข้ามาในห้วงความคิดของใครหลายคน

เอาเข้าจริงแล้ว คนไทยส่วนมากรู้จัก ดร.สุรินทร์ในช่วง ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น  เมื่อนักการเมืองจากปักษ์ใต้ค่ายประชาธิปัตย์ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชก้าวมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี ๒๕๓๕-๒๕๓๘ และขยับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี ๒๕๔๐ ในยุครัฐบาล ชวน หลีกภัย ทั้ง ๒ สมัย ก่อนเข้ารับตำแหน่งกรรมาธิการต่างประเทศยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ แล้วกลายเป็นผู้ที่คณะรัฐมนตรี ชุด พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เสนอให้เป็นตัวแทนจากประเทศไทยรับตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนในที่สุด

เขาเป็นเลขาธิการอาเซียนคนแรกที่ทำงานตาม “กฎบัตรอาเซียน” (ASEAN ) หรือรัฐธรรมนูญของอาเซียนที่ทำให้อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล

เขาเป็นเลขาธิการอาเซียนคนแรกที่ทำงานในห้วงยามที่ชาติสมาชิกต่างเตรียมตัวเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN  ) ในปี ๒๕๕๘/๒๐๑๕ อันเป็นบันไดขั้นแรกในการเป็น “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN ) ในอนาคตเช่นเดียวกับ “สหภาพยุโรป” (European )

เขาเป็นเลขาธิการอาเซียนที่เจอ “งานหิน” เช่น ข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหาร หรือข้อพิพาทระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันและสมาชิกอาเซียนกับจีน กรณีหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

สื่อมวลชนจำนวนมากที่ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องอาเซียนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ดร.สุรินทร์เป็นเลขาธิการอาเซียนที่เข้าถึงง่าย กล้าทำสิ่งที่เลขาธิการอาเซียนคนก่อน ๆ ไม่กล้าทำ ทั้งยังมีบทบาทโดดเด่นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งปรากฏตัวในสื่อต่าง ๆ ด้วยบุคลิกระดับอินเตอร์นั้นพื้นเพเดิมเป็นคนต่างจังหวัด เกิดในชุมชนเล็ก ๆ ชื่อ “บ้านตาล” ที่ตั้งอยู่เชิงเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช  ชื่อเดิมของเขาคือ “อับดุลฮาลีม” โดยเขาเติบโตมากับวิถีมุสลิมอย่างเข้มข้นและเคยขี่จักรยานไปกลับบ้าน-โรงเรียนวันละร่วม ๒๐ กิโลเมตร

ในวัยเด็ก ดร.สุรินทร์เข้าเรียนที่ปอเนาะบ้านตาล อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกับได้รับชื่อ “สุรินทร์” ในช่วงนั้น  เด็กชายสุรินทร์ร่ำเรียนกับเพื่อนต่างศาสนาในศาลาการเปรียญโดยที่ยังเรียนศาสนาอิสลามไปพร้อมกันในช่วงค่ำ จากนั้นเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชและโรงเรียนเบญจมราชูทิศในตัวจังหวัด  และได้ทุน AFS ไปเรียนที่อเมริกา ก่อนจะกลับมาเรียนต่อที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และได้รับทุนการศึกษาอีกครั้งจนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์  ปริญญาโท-เอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและลงสู่สนามการเมืองในที่สุด

ปลายปี ๒๕๕๕ ดร.สุรินทร์ปลีกเวลาในตารางงานอันแน่นขนัด เปิดบ้านพักย่านซอยท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรี มาพูดคุยกับ สารคดี ในหลากประเด็นรวมไปถึงงานตลอด ๕ ปีในฐานะเลขาธิการอาเซียน

ลองฟังเลขาธิการอาเซียนชาวไทยคนล่าสุดพูดถึงอาเซียนและงานของเขาเอง  สารคดี รับประกันว่านี่จะเป็นบทสัมภาษณ์เลขาธิการอาเซียนชาวไทยบทสุดท้ายของทีมงาน สารคดี เจเนเรชันนี้

ด้วยกว่าจะมีเลขาธิการอาเซียนชาวไทยคนใหม่ เราต้องรออีกไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี

การเป็นมุสลิมทำให้ท่านทำงานง่ายขึ้นหรือไม่ เพราะประชากรอาเซียนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม
ผมคิดว่าไม่เกี่ยว  มุสลิมเป็นหนึ่งในตัวตนของผม นอกจากเป็นมุสลิมผมยังเป็น international เป็นไทย เป็น cosmopolitan (สากลนิยม) ไม่แคบ และหวังว่าตัวเองจะไม่คับแคบ  ผมเป็นคนพหุวัฒนธรรมมาตั้งแต่เด็ก เกิดในปอเนาะ เรียนโรงเรียนวัด ไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เด็ก เจอวัฒนธรรมใหม่ตลอดเวลา  ตอนอยู่ต่างประเทศผมไปโบสถ์คริสต์วันอาทิตย์ เรียนคัมภีร์ไบเบิล  สำหรับผมสิ่งเหล่านี้คือความรู้ ผมกำลังหาความรู้ ถือหลักว่าทุกคนถูกสร้างโดยพระเจ้า ควรเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้มาก  เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมก็กลับไปดูแลโรงเรียนปอเนาะบ้านตาลที่บ้านเกิด  เวลาว่างผมชอบดอกไม้ ชอบเดินป่า ชอบสัตว์ป่า  ส่วนมากผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์กับปรัชญา  ชอบศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสต์ ชอบงานของศิลปินอย่าง โกแก็ง มอเน แวนโก๊ะ  นั่นแหละ It’s me !