เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง

หนทาง (วิปัสสนา)

ท่านโกเอ็นก้าในวิดีโอธรรมบรรยายดูหนุ่มกว่าตัวจริงที่ข้าพเจ้าได้เห็นเมื่อปลายปีก่อน

ภาพในวิดีโอถูกบันทึกตอนท่านอายุ ๖๗ ปี เป็นการบรรยายธรรมในหลักสูตรการอบรมวิปัสสนาให้แก่ชาวอเมริกันที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งต่อมาถูกนำไปใช้ในการอบรมหลักสูตร ๑๐ วันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เฉพาะในเมืองไทยมีศูนย์วิปัสสนา ๖ แห่ง แต่ละแห่งจัดการอบรมปีละหลายครั้ง และจำนวนผู้เข้ารับการอบรมก็เพิ่มขึ้นทุกปี  ตามสถิติเฉพาะในปี ๒๕๕๕ มีจำนวน ๘,๐๐๐ กว่าราย

ปลายปีที่แล้วท่านโกเอ็นก้าเดินทางจากถิ่นพำนักปัจจุบันในประเทศอินเดียมายังพม่า ซึ่งท่านนับว่าเป็นดินแดนแห่งธรรมที่มีพระคุณต่อท่าน  ลูกศิษย์จากเมืองไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปร่วมต้อนรับท่าน ข้าพเจ้าได้รับการชักชวนให้ร่วมทางไปด้วย

ท่านโกเอ็นก้าที่ข้าพเจ้าได้เห็นตัวจริงเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๕ อยู่ในวัย ๘๘ ปี รูปร่างท้วมขึ้นกว่าเมื่อตอนที่ยังหนุ่มกว่านี้ เคลื่อนไหวเชื่องช้าตามความชรา  แต่แววตายังแจ่มใส ดูเปี่ยมความเมตตา เช่นเดียวกับน้ำเสียงทุ้มเย็นที่ยังก้องกังวานอยู่ไม่เปลี่ยน

หน้าตาของท่านดูมีเค้าของชาวอินเดีย แต่ความจริงท่านเกิดในประเทศพม่า ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อปี ๒๔๖๗ มีชื่อเต็มว่า สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า

เอกสารไม่กี่หน้าเกี่ยวกับประวัติของท่านระบุว่า เอส. เอ็น. โกเอ็นก้า เกิดในครอบครัวนักธุรกิจ และท่านเองก็เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงตั้งแต่ยังหนุ่ม ตั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานทอผ้า โรงงานผ้าห่ม และเปิดบริษัทนำเข้า-ส่งออก โดยมีสำนักงานอยู่ทั่วโลก  ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในพม่า รวมทั้งเป็นประธานองค์กรต่างๆ อาทิ หอการค้ามาร์วารีแห่งพม่า สมาคมพาณิชย์และอุตสาหกรรมแห่งย่างกุ้ง

แต่พร้อมกับชื่อเสียง เกียรติยศ และความสำเร็จในชีวิตที่ได้มา ความตึงเครียดทางใจก็เพิ่มขึ้นเป็นเงา  ท่านเล่าไว้ว่าทุกๆ คืนหากการเจรจาธุรกิจในวันนั้นล้มเหลว ท่านจะคิดใคร่ครวญหาข้อผิดพลาดและหนทางแก้ไข แต่ในวันที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ท่านก็ยังนอนไม่หลับเพราะมัวแต่ชื่นชมความสำเร็จของตัวเอง

“ถึงแม้ข้าพเจ้าจะประสบกับความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขสงบในใจแต่อย่างใด  ข้าพเจ้าพบว่าความสงบนั้นเกี่ยวพันกับความสุขอย่างมาก แต่ข้าพเจ้าก็มักจะไม่มีทั้งสองอย่างนี้ ทั้งๆ ที่มีเงินทองและตำแหน่งผู้นำชุมชน”

ในที่สุดท่านก็เป็นโรคไมเกรนชนิดรุนแรง ถึงขั้นต้องพึ่งมอร์ฟีนและมีทีท่าว่าจะต้องเพิ่มปริมาณการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

และในการแสดงธรรมบรรยายคืนสุดท้ายของหลักสูตรการอบรม ๑๐ วัน ท่านได้เล่าประวัติตัวเองในช่วงนี้โดยละเอียดว่า หมอที่รักษาท่านเห็นแนวโน้มการใช้มอร์ฟีนที่สูงขึ้นแล้วก็แนะนำให้ท่านลองไปเสาะหาหมอในประเทศอื่นดูบ้าง เพราะเห็นว่าท่านคงมีช่องทางและฐานะพอจะทำเช่นนั้นได้ไม่ยาก

ท่านไปรักษาตัวในหลายประเทศ ตั้งแต่สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี อังกฤษ อเมริกา และในญี่ปุ่น แต่ไม่เกิดผลอย่างใด  อย่าว่าแต่จะรักษาอาการปวดหัว แค่จะให้ท่านละเลิกจากการใช้มอร์ฟีน หมอทั่วโลกก็ยังหาวิธีการไม่ได้

แต่ท่านว่าทั้งหมดนั้นถือเป็นความโชคดีที่เป็นเงื่อนไขชักนำให้ท่านได้มาพบธรรมะ

หนุ่มโกเอ็นก้าในวัย ๓๒ ปี พากายที่เจ็บป่วยทรุดหนักกว่าเดิมกลับพม่า และได้ทราบเรื่องราวของท่านซายาจี อูบาขิ่น (๒๔๔๒-๒๕๑๔) ข้าราชการระดับสูงของพม่าที่เป็นนักวิปัสสนาและสอนวิธีปฏิบัติวิปัสสนา จากการแนะนำของเพื่อนคนหนึ่ง

และท่านอูบาขิ่นเองนั้นก็ได้รู้เรื่องการปฏิบัติวิปัสสนามาจากเพื่อนคนหนึ่งเช่นกัน เขามาเล่าถึงการเข้าร่วมฝึกปฏิบัติกับท่านซายาเท็ตจี (๒๔๑๖-๒๔๘๘) เรื่องการวิปัสสนาและวิธีการปฏิบัติอานาปานัสสติให้ฟัง  ท่านอูบาขิ่นได้ฟังแล้วเกิดความสนใจจึงทดลองปฏิบัติ ก็พบว่าทำให้จิตมีสมาธิตั้งมั่นดี เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้ารับการอบรมเต็มหลักสูตรเพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนา

ท่านอูบาขิ่นในวัย ๓๘ ปีตัดสินใจขอลางานเสมียนที่สำนักงานกรมบัญชีกลาง มุ่งหน้าไปยังสำนักของท่านซายาเท็ตจีที่เปียวบ่วยจีในทันที