เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง

หนทาง (วิปัสสนา)

ท่านโกเอ็นก้าในวิดีโอธรรมบรรยายดูหนุ่มกว่าตัวจริงที่ข้าพเจ้าได้เห็นเมื่อปลายปีก่อน

ภาพในวิดีโอถูกบันทึกตอนท่านอายุ ๖๗ ปี เป็นการบรรยายธรรมในหลักสูตรการอบรมวิปัสสนาให้แก่ชาวอเมริกันที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งต่อมาถูกนำไปใช้ในการอบรมหลักสูตร ๑๐ วันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เฉพาะในเมืองไทยมีศูนย์วิปัสสนา ๖ แห่ง แต่ละแห่งจัดการอบรมปีละหลายครั้ง และจำนวนผู้เข้ารับการอบรมก็เพิ่มขึ้นทุกปี  ตามสถิติเฉพาะในปี ๒๕๕๕ มีจำนวน ๘,๐๐๐ กว่าราย

ปลายปีที่แล้วท่านโกเอ็นก้าเดินทางจากถิ่นพำนักปัจจุบันในประเทศอินเดียมายังพม่า ซึ่งท่านนับว่าเป็นดินแดนแห่งธรรมที่มีพระคุณต่อท่าน  ลูกศิษย์จากเมืองไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปร่วมต้อนรับท่าน ข้าพเจ้าได้รับการชักชวนให้ร่วมทางไปด้วย

ท่านโกเอ็นก้าที่ข้าพเจ้าได้เห็นตัวจริงเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๕ อยู่ในวัย ๘๘ ปี รูปร่างท้วมขึ้นกว่าเมื่อตอนที่ยังหนุ่มกว่านี้ เคลื่อนไหวเชื่องช้าตามความชรา  แต่แววตายังแจ่มใส ดูเปี่ยมความเมตตา เช่นเดียวกับน้ำเสียงทุ้มเย็นที่ยังก้องกังวานอยู่ไม่เปลี่ยน

หน้าตาของท่านดูมีเค้าของชาวอินเดีย แต่ความจริงท่านเกิดในประเทศพม่า ที่เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อปี ๒๔๖๗ มีชื่อเต็มว่า สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า

เอกสารไม่กี่หน้าเกี่ยวกับประวัติของท่านระบุว่า เอส. เอ็น. โกเอ็นก้า เกิดในครอบครัวนักธุรกิจ และท่านเองก็เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงตั้งแต่ยังหนุ่ม ตั้งโรงงานน้ำตาล โรงงานทอผ้า โรงงานผ้าห่ม และเปิดบริษัทนำเข้า-ส่งออก โดยมีสำนักงานอยู่ทั่วโลก  ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในพม่า รวมทั้งเป็นประธานองค์กรต่างๆ อาทิ หอการค้ามาร์วารีแห่งพม่า สมาคมพาณิชย์และอุตสาหกรรมแห่งย่างกุ้ง

แต่พร้อมกับชื่อเสียง เกียรติยศ และความสำเร็จในชีวิตที่ได้มา ความตึงเครียดทางใจก็เพิ่มขึ้นเป็นเงา  ท่านเล่าไว้ว่าทุกๆ คืนหากการเจรจาธุรกิจในวันนั้นล้มเหลว ท่านจะคิดใคร่ครวญหาข้อผิดพลาดและหนทางแก้ไข แต่ในวันที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ท่านก็ยังนอนไม่หลับเพราะมัวแต่ชื่นชมความสำเร็จของตัวเอง

“ถึงแม้ข้าพเจ้าจะประสบกับความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขสงบในใจแต่อย่างใด  ข้าพเจ้าพบว่าความสงบนั้นเกี่ยวพันกับความสุขอย่างมาก แต่ข้าพเจ้าก็มักจะไม่มีทั้งสองอย่างนี้ ทั้งๆ ที่มีเงินทองและตำแหน่งผู้นำชุมชน”

ในที่สุดท่านก็เป็นโรคไมเกรนชนิดรุนแรง ถึงขั้นต้องพึ่งมอร์ฟีนและมีทีท่าว่าจะต้องเพิ่มปริมาณการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

และในการแสดงธรรมบรรยายคืนสุดท้ายของหลักสูตรการอบรม ๑๐ วัน ท่านได้เล่าประวัติตัวเองในช่วงนี้โดยละเอียดว่า หมอที่รักษาท่านเห็นแนวโน้มการใช้มอร์ฟีนที่สูงขึ้นแล้วก็แนะนำให้ท่านลองไปเสาะหาหมอในประเทศอื่นดูบ้าง เพราะเห็นว่าท่านคงมีช่องทางและฐานะพอจะทำเช่นนั้นได้ไม่ยาก

ท่านไปรักษาตัวในหลายประเทศ ตั้งแต่สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี อังกฤษ อเมริกา และในญี่ปุ่น แต่ไม่เกิดผลอย่างใด  อย่าว่าแต่จะรักษาอาการปวดหัว แค่จะให้ท่านละเลิกจากการใช้มอร์ฟีน หมอทั่วโลกก็ยังหาวิธีการไม่ได้

แต่ท่านว่าทั้งหมดนั้นถือเป็นความโชคดีที่เป็นเงื่อนไขชักนำให้ท่านได้มาพบธรรมะ

หนุ่มโกเอ็นก้าในวัย ๓๒ ปี พากายที่เจ็บป่วยทรุดหนักกว่าเดิมกลับพม่า และได้ทราบเรื่องราวของท่านซายาจี อูบาขิ่น (๒๔๔๒-๒๕๑๔) ข้าราชการระดับสูงของพม่าที่เป็นนักวิปัสสนาและสอนวิธีปฏิบัติวิปัสสนา จากการแนะนำของเพื่อนคนหนึ่ง

และท่านอูบาขิ่นเองนั้นก็ได้รู้เรื่องการปฏิบัติวิปัสสนามาจากเพื่อนคนหนึ่งเช่นกัน เขามาเล่าถึงการเข้าร่วมฝึกปฏิบัติกับท่านซายาเท็ตจี (๒๔๑๖-๒๔๘๘) เรื่องการวิปัสสนาและวิธีการปฏิบัติอานาปานัสสติให้ฟัง  ท่านอูบาขิ่นได้ฟังแล้วเกิดความสนใจจึงทดลองปฏิบัติ ก็พบว่าทำให้จิตมีสมาธิตั้งมั่นดี เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้ารับการอบรมเต็มหลักสูตรเพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนา

ท่านอูบาขิ่นในวัย ๓๘ ปีตัดสินใจขอลางานเสมียนที่สำนักงานกรมบัญชีกลาง มุ่งหน้าไปยังสำนักของท่านซายาเท็ตจีที่เปียวบ่วยจีในทันที

โกเอ็นก้า ถึงธรรมบนหนทางวิปัสสนาคุณของธรรม

ศูนย์วิปัสสนาของท่านซายาเท็ตจีที่เราได้มาเห็นใน พ.ศ. นี้   คงต่างจากเมื่อครั้งที่ท่านอูบาขิ่นมาเข้ารับการอบรมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ไม่มากนัก

จากตัวเมืองย่างกุ้ง ข้ามแม่น้ำย่างกุ้งด้วยแพขนานยนต์ขนาดใหญ่ซึ่งจอแจไปด้วยชาวเมืองและแม่ค้า ไปสู่อีกฟากฝั่งทางตะวันตก ก็เหมือนเป็นอีกโลกที่ชุมชนและผู้คนยังอยู่กันแบบพื้นบ้านดั้งเดิม

ถนนสายเล็กผิวขรุขระทอดออกจากท่าเรือ ฝ่าไปกลางท้องทุ่งกสิกรรมที่ยังคงทำการเพาะปลูกแบบเดิมๆ สภาพพื้นที่อันเอื้ออำนวยไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบชลประทานหรือปรับพื้นที่จนเกลี้ยงเกลา  ไม้ท้องถิ่นอย่าง เตย สาคู และไม้ใหญ่ยืนต้นทั้งหลายยังเหลือรอดได้แทรกตัวเป็นกลุ่มเป็นกออยู่ตรงนั้นตรงนี้  ชาวนาใช้เครื่องจักรทุ่นแรงกันน้อย สังเกตจากร่องรอยการเก็บเกี่ยวและฟางข้าวก็พอดูออกว่าเป็นงานที่ทำมาด้วยแรงคนและวัวควายที่เคลื่อนฝูงคลาคล่ำกันอยู่ในท้องทุ่ง

ตามเส้นทางมีรถน้อย ที่เห็นวิ่งสวนกันอยู่บ้างเป็นรถโดยสารประจำทาง หรือไม่ก็รถของกลุ่มนักท่องเที่ยว  ชาวถิ่นตามชุมชน ๒ ข้างทางยังคงใช้เกวียนกันเป็นหลัก

จากบ่ายแก่ๆ จนเย็นย่ำ คณะศิษย์ท่านโกเอ็นก้าจากเมืองไทยจึงผ่านระยะทางจากฝั่งแม่น้ำย่างกุ้งไปถึงศูนย์วิปัสสนาของท่านซายาเท็ตจีที่เปียวบ่วยจี  แต่ก็นับว่ายังลำบากน้อยกว่าในยุคท่านอูบาขิ่นที่ต้องเดินเท้ามาท้องนาก่อนฤดูเก็บเกี่ยวซึ่งยังชุ่มน้ำ ท่านต้องย่ำโคลนตมถึงน่องถึงเข่ากว่าจะฝ่ามาถึงสำนักของท่านอาจารย์เท็ต

อาคารไม้ขนาดย่อม ๓-๔ หลังตั้งอยู่บนที่ราบกว้างก้นซอยซึ่งแยกมาจากทางสายหลักกลางชุมชนยังคงมีผู้มาฝึกวิปัสสนากันอยู่ไม่ขาด  พวกเราไปถึงในยามเย็นที่แดดสีทองกำลังส่องทาบอยู่บนทิวใบมะพร้าวและหลังคาอาคารบ้านเรือน เป็นบรรยากาศที่ชวนให้นึกไปถึงเย็นวันแรกที่ท่านอูบาขิ่นเดินทางมาถึง

คืนนั้นท่านซายาเท็ตจีได้สอนวิธีการปฏิบัติอานาปานัสสติให้แก่ท่านอูบาขิ่นและชาวพม่าอีกคน ซึ่งผู้ปฏิบัติใหม่ทั้งสองก็ปฏิบัติได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งท่านซายาเท็ตจีตัดสินใจสอนวิปัสสนาให้ในวันถัดมา  แม้จะเป็นการฝึกปฏิบัติหลักสูตร ๑๐ วันครั้งแรกของท่านอูบาขิ่น แต่ท่านก็ปฏิบัติได้ผลดียิ่ง  หลังจากนั้นท่านก็เดินทางมาฝึกปฏิบัติที่สำนักของท่านซายาเท็ตจีบ่อยครั้ง

ต้นปี ๒๔๘๔ ท่านอูบาขิ่นได้พบกับท่านเวบู ซายาดอว์ พระภิกษุที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง หลังจากได้สนทนาด้วยอัธยาศัยที่ต้องกันและนั่งปฏิบัติร่วมกัน ท่านเวบู ซายาดอว์ ก็ได้กล่าวกับท่านอูบาขิ่นว่า ถึงเวลาที่ท่านอูบาขิ่นจะต้องลงมือสอนธรรมะให้แก่ผู้คนทั้งหลายแล้ว อย่าปล่อยให้ผู้ที่ได้พบกับท่านพลาดโอกาสที่จะได้รับธรรมะอีกเลย  ท่านอูบาขิ่นจึงได้เริ่มต้นเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนาซึ่งท่านซายาเท็ตจีให้การสนับสนุน

เริ่มจากการตั้งชมรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้นภายในสำนักงานกรมบัญชีกลาง ให้ข้าราชการในกรมฯ ได้ฝึกปฏิบัติ ซึ่งท่านอูบาขิ่นดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลางมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ ที่ประเทศพม่าได้รับเอกราช และในช่วงเวลา ๒๐ ปีถัดจากนั้น ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่งในคณะรัฐบาล และมักต้องทำงานอย่างน้อย ๒ ตำแหน่งในเวลาเดียวกัน โดยแต่ละตำแหน่งล้วนมีความรับผิดชอบสูงเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีทั้งสิ้น  ช่วงหนึ่งที่ท่านต้องรั้งตำแหน่งอธิบดีกรมถึง ๓ กรมพร้อมๆ กันเป็นเวลา ๓ ปี กับอีกครั้งต้องดูแลถึง ๔ กรมในเวลาเดียวกัน

ในปี ๒๔๙๕ ท่านอูบาขิ่นได้เปิดศูนย์วิปัสสนานานาชาติ (International Meditation Centre – I.M.C.) ขึ้นในกรุงย่างกุ้ง ห่างเจดีย์ชเวดากองไปทางทิศเหนือราว ๓ กิโลเมตร มีผู้ปฏิบัติทั้งชาวพม่าและชาวต่างชาติมาเรียนรู้ธรรมะจากท่านจำนวนมาก ไม่เฉพาะแต่นักธุรกิจอย่างท่านโกเอ็นก้าเท่านั้น  ตามประวัติกล่าวว่าแม้แต่ประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า หรือนักวิทยาศาสตร์จากโลกตะวันตกก็เคยมาเข้ารับการอบรมหลักสูตรวิปัสสนาที่ศูนย์วิปัสสนานานาชาติเช่นกัน

เริ่มแรกท่านโกเอ็นก้าไปพบอาจารย์อูบาขิ่น แจ้งความประสงค์เรื่องการจะใช้วิปัสสนารักษาโรคไมเกรน แต่ท่านอาจารย์อูบาขิ่นบอกว่าธรรมะมีคุณมากกว่านั้น

“ธรรมะไม่ใช่สิ่งที่มีไว้รักษาโรคทางกาย ถ้าเธอต้องการรักษาโรคทางกายก็ควรไปโรงพยาบาล แต่ธรรมะคือสิ่งที่จะช่วยชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายในชีวิต  โรคของเธอเป็นเพียงส่วนที่เล็กมากในจำนวนความทุกข์ของเธอ มันย่อมจะหายไปเอง ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการชำระจิตให้บริสุทธิ์เท่านั้น  ถ้าเธอมาปฏิบัติเพราะต้องการรักษาโรคทางกายก็ถือว่าเธอประเมินคุณค่าของธรรมะต่ำเกินไป  จงปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้น ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรคทางกาย”

แต่ด้วยความเป็นชาวฮินดูที่เคร่งครัด ตอนแรกท่านโกเอ็นก้าก็ยังลังเลที่จะเข้าอบรมในศูนย์วิปัสสนาของอาจารย์ชาวพุทธ  กระทั่งผู้เป็นอาจารย์ให้คำยืนยันว่า “ฉันจะไม่เปลี่ยนแปลงเธอให้หันมาถือพุทธหรอก แต่ฉันจะสอนวิธีการปฏิบัติที่ทำให้เธอเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐยิ่งขึ้น”

ได้รับความกระจ่างเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติวิปัสสนาที่เน้นศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งไม่ขัดกับการเป็นศาสนิกชนของศาสนาใดท่านจึงตัดสินใจเข้ารับการอบรม

แต่การฝึกวิปัสสนาในระยะเริ่มต้นของท่านโกเอ็นก้าไม่ราบรื่นอย่างอาจารย์

ท่านโกเอ็นก้าเล่าว่า ท่านคิดจะล้มเลิกความตั้งใจ เก็บกระเป๋ากลับบ้านเสียตั้งแต่วันที่ ๒ ของการฝึกปฏิบัติ หลังได้ยินเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติพูดให้ได้ยินว่าพวกเขาเห็นแสงนั่นนี่ ซึ่งตามคติฮินดูแล้วกล่าวกันว่านั่นคือแสงสวรรค์ แต่ท่านเองปฏิบัติแล้วยังไม่เห็นอะไรเลย และยังคิดเชื่อมโยงไปถึงคำกล่าวที่ว่า “เอาอูฐลอดรูเข็มยังง่ายเสียกว่าจะให้คนรวยได้ขึ้นสวรรค์” แล้วท่านเองเป็นนักธุรกิจเป็นคนรวยก็ยิ่งท้อแท้ เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเตรียมจะหนีกลับในเย็นนั้น แต่ก็มีสุภาพสตรีที่เป็นผู้ปฏิบัติเก่าขอร้องให้ลองอยู่ต่ออีกสักวัน  เธอบอกกับเขาว่า “อีกวันเดียวเถิดน่า อยู่ต่ออีกสักวัน  แค่วันแรกคุณก็เริ่มรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ได้ตั้งมากมาย คนอื่นเขากว่าจะรู้สึกได้ก็ตั้งวันที่ ๓  คุณทำได้ดีมาก ท่านอาจารย์เองก็พอใจกับการปฏิบัติของคุณ แล้วคุณจะหนีออกไปทำไม  แล้วแสงนั่นก็ไม่ได้สำคัญอะไร ถึงแม้จะอยากเห็นก็อย่าไปให้ความสำคัญกับมันเลย อีกแค่วันเดียวเท่านั้น”

ท่านโกเอ็นก้าอยู่ฝึกปฏิบัติต่อจนจบหลักสูตร และอยู่ในสายธรรมสืบมาจนบัดนี้

หลังผ่านการปฏิบัติตามหลักสูตร ๑๐ วันครั้งแรก ความเครียดและอาการปวดไมเกรนของท่านบรรเทาลง  ท่านโกเอ็นก้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในสาระคำสอนและการปฏิบัติในแนวทางนี้เป็นอย่างมาก จึงปวารณาตัวเข้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

ท่านกล่าวว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้เข้ารับการอบรมวิปัสสนา ความสงสัยและความกลัวต่างๆ ก็หมดไป  ข้าพเจ้าพบว่าวิปัสสนาคือคัมภีร์ภควัทคีตาในแง่ของการปฏิบัตินั่นเอง ความเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวจากวิปัสสนาก็คือการเปลี่ยนความทุกข์เป็นความสุข จากอวิชชาไปสู่ความรู้แจ้งจากพันธนาการที่ร้อยรัดไปสู่ความหลุดพ้น”

หลังฝึกวิปัสสนากับอาจารย์อูบาขิ่นมานาน ๑๔ ปี  ช่วงต้นปี ๒๕๑๒ ท่านโกเอ็นก้าได้ทราบข่าวความเจ็บป่วยของมารดา ซึ่งย้ายกลับไปพำนักอยู่ที่ประเทศอินเดีย เมื่อ ๒-๓ ปีก่อนหน้านั้น  ท่านมั่นใจว่าวิปัสสนาจะช่วยให้ความเจ็บป่วยด้วยอาการทางประสาทของแม่ดีขึ้น จึงขออนุญาตท่านอาจารย์ไปฝึกการปฏิบัติวิปัสสนาให้แม่ ซึ่งในช่วงนั้นอาจารย์อูบาขิ่นได้แต่งตั้งท่านทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนแล้ว

อาจารย์อูบาขิ่นให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการที่ท่านโกเอ็นก้าจะนำการปฏิบัติวิปัสสนาไปเผยแผ่ยังอินเดียเพราะนั่นไม่ใช่แค่การตอบแทนคุณบุพการี แต่จะเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินอินเดีย-แหล่งกำเนิดธรรมะอันบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ที่เผยแผ่ต่อมาสู่พม่า  ท่านกล่าวกับศิษย์ชาวฮินดูอยู่เนืองๆ ว่า มีคำทำนายเล่าสืบต่อกันมาว่า ๒,๕๐๐ ปีหลังพุทธกาล พระธรรมคำสอนจะถูกนำกลับไปยังอินเดียอันเป็นแหล่งกำเนิด

ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึก แต่เชื่อกันว่าการปฏิบัติในแนวทางนี้มีอยู่ในแผ่นดินพม่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงให้พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเป็นผู้นำมาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิ แล้วได้รับการสืบทอดต่อกันมาอย่างบริสุทธิ์ตามแบบดั้งเดิม เป็นภูมิปัญญาแห่งการดับทุกข์ที่ตกทอดอยู่ในแผ่นดินพม่าสืบมาหลายชั่วอายุคน จนถึงยุคของท่านเลดี ซายาดอร์ (๒๓๘๙-๒๔๖๖) พระภิกษุผู้มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ของพม่า ซึ่งได้ถ่ายทอดมาสู่ศิษย์ฆราวาสที่ชื่อ ซายาเท็ตจี ผู้เป็นอาจารย์ของท่านอูบาขิ่น

ครั้นได้ทราบว่าศิษย์คนนี้จะไปสอนการวิปัสสนาให้แก่มารดาที่อินเดีย ท่านอูบาขิ่นจึงกล่าวอย่างยินดียิ่งว่า “โกเอ็นก้า ฉันต่างหากที่ไป ไม่ใช่เธอหรอก”

ส่วนท่านโกเอ็นก้าเองนั้น แม้ถึงวันที่ย้ายถิ่นกลับไปพำนักที่ประเทศอินเดียอย่างถาวรแล้ว ก็ยังยกย่องพม่าว่าเป็นแผ่นดินแห่งธรรมที่มีพระคุณต่อท่าน

goenga02วิปัสสนา = ศิลปะแห่งการดำเนินชีวิต

เช้าวันที่ท่านโกเอ็นก้ากลับมาเยือนถิ่นเกิด  บ้านของท่านในย่านไม่ไกลจากทะเลสาบอินยาเนืองแน่นไปด้วยคณะศิษย์ทั้งในประเทศพม่าและต่างชาติที่มาร่วมทำบุญถวายสังฆทานกับท่าน

หมู่พระสงฆ์หลายร้อยรูปเดินเรียงแถวเข้ามาทางประตูด้านหนึ่ง รับบิณฑบาตแล้ววนออกทางประตูอีกด้าน  ผ่านไปนานจนแดดเช้าเริ่มจ้า ปลายแถวขบวนพระสงฆ์ยังคงทอดเหยียดยาวออกไปทางปากซอย

หลังการทำบุญใส่บาตรเสร็จสิ้น สาธุชนแยกย้ายกันกลับไปแล้ว  ท่านโกเอ็นก้าเปิดโอกาสให้กลุ่มลูกศิษย์จากเมืองไทยได้เข้าพบคารวะอย่างใกล้ชิดภายในบ้านของท่าน

ท่านโกเอ็นก้าเป็นคฤหัสถ์-ผู้ครองเรือน  เรือนของท่านเป็นเรือน ๒ ชั้นหลังกะทัดรัด เห็นความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายอย่างตรงกันข้ามกับฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวนี้  ภายในห้องรับแขกไม่มีการประดับตกแต่งที่หรูหราอย่างใด​มีเพียงภาพทิวทัศน์กับภาพถ่ายเจ้าของบ้านไม่กี่กรอบแขวนติดผนัง  และจากรูปถ่ายเหล่านั้นทำให้เราได้เห็นว่ารูปร่างของท่านตอนนี้ดูท้วมขึ้นอย่างผิดตาจากเมื่อวัยหนุ่ม

วิปัสสนาจารย์โกเอ็นก้าในวัย ๘๘ ปี นั่งอยู่บนรถเข็น  โดยมีมาตาจี ศรีภรรยาซึ่งอยู่บนรถเข็นอีกคัน นั่งเคียงข้างเช่นที่เป็นมาโดยตลอดเป็นภาพคุ้นตาผู้เข้าร่วมอบรมปฏิบัติธรรม  ลูกชายบางคนจากจำนวน ๖ คน กับหลานๆ ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่ด้านหลัง

การสนทนาดำเนินไปโดยมีคุณโรเจอร์เป็นตัวแทนนำเรียนคำถามต่อท่านเป็นภาษาอังกฤษ และคุณวรัทดา ภัทโรดม แปลคำตอบของท่านเป็นภาษาไทย

ท่านย้ำคำเดิมที่สอนมาตลอดว่าธรรมะเป็นวิทยาศาสตร์  เมื่อกล่าวว่า จงใช้ชีวิตอย่างมีศีล จงควบคุมจิตใจตัวเอง คือการมีสมาธิ และจงชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วยปัญญา เมื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์แล้วก็จะไม่มีการทำผิดใดๆ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสากลและเป็นวิทยาศาสตร์

ต่อคำถามถึงความสำคัญของการปฏิบัติธรรม ท่านตอบว่า การปฏิบัติวิปัสสนาจะทำให้มีชีวิตที่ดี สงบสุข กลมเกลียว และมีมิตรไมตรีกับทุกคน มีแต่ความปรารถนาดี ความเมตตา ไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง  การทำบุญด้วยการบริจาคทานแต่อย่างเดียวไม่เพียงพอ นั่นเป็นเพียงปัจจัยเกื้อหนุน สิ่งสำคัญคือการชำระจิตใจของตนเองให้บริสุทธิ์

เมื่อถูกถามว่าในวันที่ไม่มีท่านอยู่ในโลกนี้แล้วได้วางแผนจะให้วิธีปฏิบัติวิปัสสนาในแนวทางนี้เป็นไปอย่างไร ?

ท่านโกเอ็นก้าตอบเรียบๆ ว่า “ตอนนี้เรามีอาจารย์ที่สอนอยู่มาก และก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อาจารย์เหล่านี้จะเป็นผู้ที่สานต่องานของข้าพเจ้า  ท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าได้สอนข้าพเจ้า และแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คำสอนแผ่ขยายออกไปได้อย่างกว้างขวาง  ตอนนี้เรามีอาจารย์ที่สอนนับพันคนแล้ว ก็ให้พวกเขาเผยแผ่ไป ซึ่งข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะทำได้”

ถึงยามกล่าวลา ศิษย์ส่วนใหญ่ก้มหน้าลงแนบพื้น กราบกรานท่านเหมือนอย่างกราบพระหรือผู้มีพระคุณ บางคนให้คำอธิบายว่า นั่นเป็นการกราบคุณธรรมในตัวของท่าน

เย็นย่ำวันเดียวกันนั้นบริเวณอันกว้างขวางของโรงละครแห่งชาติพม่าคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มารอฟังปาฐกถาธรรม เรื่อง “๑๓๕ ปีแห่งการเดินทางของครอบครัวโกเอ็นก้าในแผ่นดินธรรม” จากท่านโกเอ็นก้า  การมาเยือนพม่าของท่านดูจะเป็นข่าวใหญ่และคงเป็นวาระสำคัญของย่างกุ้ง ขนาดที่รัฐบาลเปิดให้ใช้โรงละครแห่งชาติ และถ่ายทอดสดการแสดงปาฐกถาธรรมของท่านทางสถานีโทรทัศน์พม่าด้วย

ถนนใหญ่ด้านหน้าโรงละครเนืองแน่นด้วยขบวนรถราที่มุ่งมาสู่งานนี้ จำนวนผู้มาร่วมงานล้นออกมาภายนอกอาคาร จนต้องมีการวางเก้าอี้เสริมและตั้งจอถ่ายทอดภาพออกมายังลานสนามด้านนอก บอกความศรัทธาในสายธรรมคำสอนวิปัสสนาของท่านอูบาขิ่นที่ท่านโกเอ็นก้าสอนสืบทอดมา

วิปัสสนา–ศิลปะแห่งการดำเนินชีวิตอย่างสงบสุข และมีมิตรไมตรีกับทุกคน

เอหิปัสสิโก

ครั้งแรกที่ท่านโกเอ็นก้ากลับไปสอนวิปัสสนาให้แก่มารดาที่อินเดียในเดือนกรกฎาคม ปี ๒๕๑๒ มีญาติพี่น้องที่ใกล้ชิด ๑๒ คนมาร่วมปฏิบัติด้วย

หลังการอบรมวิปัสสนาหลักสูตร ๑๐ วันในครั้งนั้นผ่านพ้นไป ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจเป็นอันมาก ก่อกระแส “เอหิปัสสิโก” บอกกันปากต่อปากว่า “มาเถิด ท่านจงมาดูให้เห็นด้วยตัวเอง” ต่อๆ กันไป

ท่านโกเอ็นก้าได้รับการขอร้องให้จัดการอบรมขึ้นอีกเพื่อให้พ่อแม่และญาติมิตรของผู้ที่เคยเข้าร่วมปฏิบัติได้มีโอกาสเข้าร่วมบ้าง ซึ่งอาจารย์อูบาขิ่นก็สนับสนุนให้ท่านโกเอ็นก้าเปิดอบรมวิปัสสนาในประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง เป็นการทดแทนคุณแผ่นดินที่เป็นแหล่งกำเนิดของคำสอนอันบริสุทธิ์นี้ แต่ได้สูญหายไปจากแผ่นดินอินเดียเสียเนิ่นนานแล้ว

ทว่าในปี ๒๕๑๔ ระหว่างอบรมวิปัสสนาอยู่ที่เมืองพุทธคยา ท่านโกเอ็นก้าก็ได้รับข่าวการมรณกรรมของอาจารย์อูบาขิ่น  ท่านส่งโทรเลขข้อความบาลี ๒ บทมายังพม่า

อนิจจา วต สังขารา  อุปปทวยธัมมิโน
อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ  เตสัง วูปสโม สุโข
(สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง แม้เกิดมาก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความระงับคือไม่ยึดถือสังขารเหล่านั้นเป็นสุข)

จากนั้นท่านเข้าปฏิบัติเดี่ยวเป็นเวลา ๑๐ วัน แล้วตัดสินใจวางมือจากธุรกิจต่างๆ ให้ญาติพี่น้อง อุทิศชีวิตที่เหลือให้แก่การเผยแผ่วิปัสสนา

โดยก่อตั้งสถาบันวิปัสสนานานาชาติ “ธรรมคีรี” ซึ่งเป็นศูนย์วิปัสสนาแห่งแรกขึ้นที่เมืองอิกัตปุรี ใกล้เมืองบอมเบย์ ในปี ๒๕๑๗  จัดอบรมวิปัสสนาหลักสูตร ๑๐ วัน และหลักสูตรระยะยาวต่อเนื่องเรื่อยมา

แม้ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางชนชั้นและศาสนาอย่างมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาของท่านโกเอ็นก้าก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในอินเดีย เพราะเป็นคำสอนที่มีความเป็นสากล ไม่ขัดกับหลักศาสนาใด  ในเมื่อคนไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาใดก็มีความทุกข์แบบเดียวกัน การปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ก็ต้องเป็นแบบเดียวกัน การเยียวยาความทุกข์ไม่อาจแบ่งแยกลัทธินิกาย

นับจากปี ๒๕๒๒ ท่านโกเอ็นก้าก็เริ่มเดินทางไปสอนการวิปัสสนาหลักสูตร ๑๐ วันในประเทศต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค  เริ่มจากหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เช่น บราซิล ชิลี อาร์เจนตินา เปรู ขยายไปยังประเทศเม็กซิโก แคนาดา สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น อิหร่าน บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย รวมทั้งในเอเชีย เช่น เกาหลี มาเลเซีย ไต้หวัน กัมพูชา และประเทศไทย ฯลฯ รวมแล้วไม่น้อยกว่า ๙๐ ประเทศ  นับถึงปี ๒๕๕๔ มีศูนย์วิปัสสนาของท่านโกเอ็นก้าทั่วโลกรวมทั้งสิ้น ๑๖๓ แห่ง

สำหรับในเมืองไทยการปฏิบัติวิปัสสนาในแนวทางของท่านอูบาขิ่น สอนโดยท่านโกเอ็นก้า เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๐ ที่เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยท่านโกเอ็นก้าอนุญาตให้อาจารย์จอห์น-อาจารย์เกล เบียรีย์ เป็นผู้อำนวยการสอน  การอบรมจัดขึ้นในรูปแบบเดียวกับในประเทศอื่นๆ เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ และผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่ก็เป็นชาวต่างชาติ

จนหลังการอบรมครั้งต่อมาที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ในปีถัดมา จึงมีการแปลคำสอนและธรรมบรรยายท่านโกเอ็นก้าเป็นภาษาไทย จากนั้นมีการจัดอบรมต่อเนื่องทุกปี และมีคนไทยเข้าร่วมอบรมมากขึ้นเรื่อยๆ

ปี ๒๕๓๓ ท่านโกเอ็นก้าเดินทางมาอำนวยการสอนหลักสูตร ๑๐ วันในเมืองไทยด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกที่ธรรมสถานว่องวาณิช จังหวัดสมุทรปราการ และท่านได้ปรารภกับเหล่าศิษย์ว่า

“หากจะจัดการอบรมอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีศูนย์ปฏิบัติของแนวทางนี้โดยเฉพาะ”

คณะศิษย์จึงเริ่มมองหาที่ จนพบสถานที่เหมาะสมที่หมู่บ้านเนินผาสุข ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี  ดำเนินการซื้อที่ดิน ๑๐ กว่าไร่  และจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔  ต่อมาในปี ๒๕๓๗ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงรับมูลนิธิฯ ไว้ในพระสังฆราชูปถัมภ์

ท่านโกเอ็นก้าได้ตั้งชื่อศูนย์วิปัสสนาแห่งนี้ว่า “ธรรม-กมลา” มีความหมายว่า “ดอกบัวแห่งธรรม”  ในคราวที่ท่านเดินทางมาดูสถานที่ได้เห็นแม่วัวยืนให้นมลูกอยู่ ท่านยิ้มแล้วกล่าวว่า

“ที่ตรงนี้เป็นที่ที่ดีมากสำหรับสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม ดูแม่วัวที่กำลังให้นมลูกอยู่สิ นั่นแหละคือสัญลักษณ์ของความรักและความเมตตาที่บริสุทธิ์…”

หลังสร้างศูนย์วิปัสสนาธรรมกมลาขึ้นเป็นแห่งแรก ต่อมาได้มีการสร้างศูนย์วิปัสสนาขึ้นในกรุงเทพฯ และภูมิภาคอีก จนกระทั่งปัจจุบันในประเทศไทยมีศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางนี้รวมทั้งสิ้น ๙ แห่ง

หลักสูตร วิธีการ ตารางเวลาการฝึกอบรมของศูนย์ฯ ทุกแห่งใช้รูปแบบเดียวกันทั่วโลก  อำนวยการสอนโดยอาจารย์ผู้ช่วยที่ได้รับการแต่งตั้งจากท่านโกเอ็นก้า ใช้เทปคำสอนและวิดีโอธรรมบรรยายของท่านโกเอ็นก้าในทุกขั้นตอนการฝึกปฏิบัติตลอดหลักสูตร ๑๐ วัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจหลักธรรมและวิธีการปฏิบัติตามวิธีการนี้อย่างถูกต้อง

ส่วนงานจัดการดูแลอำนวยความสะดวกในการอบรมแต่ละครั้ง ดำเนินการโดยอาสาสมัครที่เรียกว่า “ธรรมบริกร” ซึ่งเป็นผู้เคยผ่านการอบรมที่อาสามาทำโดยไม่มีค่าตอบแทน

และไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้เข้ารับการอบรม แต่ร่วมบริจาคได้หลังผ่านการอบรม  ทุนในการจัดอบรมแต่ละครั้งรวมทั้งการสร้างศูนย์วิปัสสนาทุกแห่งทั่วโลก อาศัยทุนจากการบริจาคเพียงอย่างเดียว และการบริจาคจะรับจากผู้เคยผ่านการร่วมฝึกปฏิบัติมาก่อนแล้วเท่านั้น

ในช่วงร่วม ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาศูนย์วิปัสสนาในเมืองไทยได้ทำหน้าที่เพาะหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมไปผลิบานในจิตใจสาธุชนปีละหลายพันคน และจำนวนผู้สนใจจะเรียนรู้ศิลปะแห่งการดำเนินชีวิตในแนวทางนี้ก็มีเพิ่มขึ้นทุกปี

ลองไป “มองดูสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง”

“วี ขอเวลาสัก ๑๐ วันได้ไหม–จากช่วง ๓๐ กว่าปีในชีวิตเธอ” มิตรสนิทคะยั้นคะยอ

ข้าพเจ้านิ่งเฉย ในใจรู้สึกลังเล ไม่แน่ใจ

“ลองดู…เพื่อตัวเอง และขอรับรองว่านี่ไม่ใช่การขายตรงแบบลูกโซ่แน่นอนค่ะ”

ข้าพเจ้าพอมีความสนใจในธรรม ทำอานาปานัสสติเป็นจากการฟังเทปคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ฝึกเองอยู่บ้างแบบคลำๆ วางๆ แต่การเข้าร่วมปฏิบัติธรรมแบบจริงจัง ข้าพเจ้ายังไม่คิดและไม่เคยเลยสักครั้ง

ลำพังแค่การเขียนถึงเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมปฏิบัติข้าพเจ้าก็คงพอเขียนได้ เช่นเดียวกับในคราวที่ต้องเขียน
เรื่องที่เราไม่อาจเข้าไปร่วมในเหตุการณ์ได้ เหมือนอย่างการเขียนถึงเรื่องโสเภณี ก็คงไม่ได้มีนักเขียนคนไหนไปเป็นโสเภณีด้วยตัวเอง

แต่แล้วข้าพเจ้าก็ตัดสินใจกรอกใบสมัครเข้าร่วมอบรมปฏิบัติธรรมหลักสูตร ๑๐ วันของท่านโกเอ็นก้า ที่ศูนย์วิปัสสนาธรรมกมลา ปราจีนบุรี ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์

โดยที่ยังไม่รู้อะไรนักเกี่ยวกับคำสอนและวิธีการปฏิบัติในสายธรรมะของท่านโกเอ็นก้า รู้เพียงว่าเป็นการฝึกปฏิบัติที่เข้มข้นจริงจัง เน้นการดูตัวเอง ไม่พูด ไม่เขียน ไม่ติดต่อสื่อสารกับใครไม่ว่าโดยถ้อยคำหรือท่าทาง รวมทั้งไม่แตะเนื้อต้องตัวกันตลอดช่วง ๑๐ วันของการฝึกปฏิบัติ

เย็นวันแรกที่ข้าพเจ้าเดินทางไปถึงศูนย์วิปัสสนาธรรม-กมลา (วันที่ ๐ / DAY 0) ซึ่งยังไม่เริ่มเข้าสู่การปฏิบัติ ระเบียบยังไม่ถูกใช้ ทุกคนยังพูดคุยกันได้  แต่เพียงผ่านรั้วประตูศูนย์ฯ เข้าไปก็สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของความสงบศักดิ์สิทธิ์  การบริหารจัดการคนนับร้อยเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่ต้องตะโกนกันโหวกเหวกหรือใช้เครื่องขยายเสียงอย่างใดเลย

เจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่เรียกว่าธรรมบริกร ซึ่งเป็นผู้เคยผ่านการฝึกปฏิบัติมาแล้ว อาสามาช่วยดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาฝึกปฏิบัติโดยไม่มีค่าตอบแทน  ตั้งแต่รับลงทะเบียน จัดการบริการ ทำความเข้าใจกระบวนการและกฎระเบียบในระหว่างฝึกปฏิบัติ รวมทั้งให้ข้อแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมตามสายของท่านโกเอ็นก้า ผ่านเอกสารชุดบางๆ ที่แจกให้อ่านเอง

ข้าพเจ้าได้รู้จากเอกสารข้อมูลในตอนนั้นว่า วิธีการปฏิบัติวิปัสสนาในแนวทางของท่านอูบาขิ่น สอนโดยท่าน โกเอ็นก้า คือการปฏิบัติตามหลักของการ “มองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง”

เป็นกระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการเฝ้าดูตนเอง ซึ่งมีมาในสังคมอินเดียแต่โบราณกาล แต่ได้หายสาบสูญไปจากมนุษยชาติเป็นเวลานาน กระทั่งพระพุทธเจ้าได้ค้นพบใหม่อีกครั้งเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีที่ผ่านมา

แต่ในการปฏิบัติตามวิธีการของท่านโกเอ็นก้า ท่านเน้นว่า นี่เป็นการปฏิบัติที่ไม่อิงหรือยึดติดอยู่กับศาสนาใด และในการปฏิบัติจะไม่มีการบูชารูปเคารพ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ใช้การท่องบ่นหรือคำบริกรรม เพื่อให้ศาสนิกชนทุกศาสนาสามารถเข้าร่วมปฏิบัติได้โดยไม่ขัดกับศาสนาของตน

ก็ในเมื่อ “ทุกข์” และ “ธรรม” เป็นสิ่งสากลที่ไม่ได้ผูกติดอยู่กับศาสนาหรือเชื้อชาติ  ทุกข์ไม่แบ่งแยกหรือจำเพาะว่านี่เป็นทุกข์ของคนเอเชีย ยุโรป อเมริกัน ทุกข์ของคนผิวดำ ผิวขาว ทุกข์แบบพุทธ มุสลิม คริสตชนล้วนไม่ต่างกัน  เช่นเดียวกับธรรมะซึ่งเป็นกฎตามธรรมชาติที่มีมาก่อนการเกิดของทุกศาสนา เป็นอยู่จนเดี๋ยวนี้ และจะยังเป็นอยู่ต่อไปในอนาคต  การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมะก็ไม่ควรถูกแบ่งแยกหรือกีดกันด้วยความแตกต่างทางศาสนา

ในการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากับท่านโกเอ็นก้าจึงมีคนทุกศาสนาเข้าร่วม ทั้งนักบวชและฆราวาส

ศูนย์วิปัสสนาธรรมกมลารับผู้เข้าร่วมฝึกปฏิบัติได้รุ่นละ ๑๑๘ คน มีผู้สมัครเข้าร่วมเต็มจำนวนแต่เนิ่นทุกรุ่น  เขตปฏิบัติแยกชาย-หญิง  สุภาพสตรีจำนวนเกือบ ๘๕ คนจะถูกจัดให้อยู่ทางฟากขวามือของทางเดินเส้นหลักภายในศูนย์ฯ  ส่วนที่เหลือเป็นผู้ปฏิบัติชายจะอยู่ในเขตเรือนพักทางฟากซ้ายมือที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่หมาดไม่ถึงปี

นอกชั่วโมงฝึกปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติชายหญิงทั้ง ๑๐๐ กว่าคนต้องอยู่แต่ภายในเขตของตนบนพื้นที่ขนาดราวสนามฟุตบอล ล้อมรอบด้วยทางน้ำซึ่งบางส่วนกลายเป็นบึงบัว มีสะพานทอดขึ้นไปเชื่อมกับอาคารหลังใหญ่สุด ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์สีทองอร่าม ภายในอาคารเป็นแถวห้องปฏิบัติเดี่ยว (cell) และห้องปฏิบัติรวม (meditation hall) ซึ่งเข้าไปได้เฉพาะในชั่วโมงปฏิบัติรวม

รอบนอกสุดเป็นแนวรั้วต้นไม้ที่ปลูกล้อมพื้นที่ ๑๐ กว่าไร่ ในชุมชนชาวไร่ที่เคลื่อนไหวชีวิตประจำวันกันไปตามวิถี ขับรถรา เปิดเครื่องเสียงได้ยินถึงกัน แต่ภายในศูนย์ฯ เงียบสงบพอที่จะได้ยินเสียงเรไรและแมลงกลางคืน

กลางเดือนกุมภาพันธ์ ใกล้เข้าสู่ฤดูร้อนแต่บริเวณศูนย์ฯ ดูไม่แล้งไร้ ด้วยได้ความร่มรื่นจากหมู่ไม้ยืนต้นนานาพรรณ เป็นที่อาศัยของหมู่นกหลากชนิดและกระรอกหลายตัว ไม่มีฝุ่น หยากไย่ ยุงหรือแมลงรบกวน เป็นสถานที่อันมีความตื่น และมีชีวิตชีวา แต่ไม่อึกทึก สัมผัสได้ถึงความขลังของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ผู้ปฏิบัติทุกคนได้รับการจัดให้พักในห้องเดี่ยว ใครมาเป็นคู่ เป็นกลุ่ม หรือแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน ก็ต้องแยกพักและห้ามการติดต่อสื่อสารกัน เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติทุกคนที่ถูกขอให้ยึดหลักว่า

“จงระมัดระวังการกระทำของตนให้มาก อย่ารบกวนผู้อื่น อย่าสนใจหากมีผู้อื่นรบกวน”

และ

“จงปฏิบัติให้เหมือนกับว่าท่านอยู่คนเดียวในการฝึก”

ก่อนเข้าสู่เขตปฏิบัติธรรม ทุกคนต้องฝากข้าวของทุกอย่างที่ไม่จำเป็นต่อการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสตางค์ อุปกรณ์สำหรับการเขียน เครื่องบันทึกเสียง เครื่องเล่นเสียง ฯลฯ ไว้ที่จุดรับฝากของ

เพราะเมื่อเข้าสู่เขตปฏิบัติธรรมแล้ว ทุกคนจะอยู่แต่กับ “การปฏิบัติ”–เหมือนอยู่คนเดียวในโลก และรักษาความเงียบอย่างเข้มงวด

goenga03“ผ่าตัดจิตใจ” : ไม่พูด ไม่เขียน ไม่รบกวนกัน

DAY 1 / วันที่ ๑

เป็นถ้อยคำแรกของวันแรกที่ข้าพเจ้าเห็นเด่นหราอยู่บนแผ่นป้ายในห้องอาหาร เมื่อเดินเข้ามาตอน ๖ โมงกว่าๆ

แต่ความจริงผู้ปฏิบัติทุกคนถูกปลุกด้วยเสียงระฆังตั้งแต่ตี ๔ และเริ่มนั่งสมาธิร่วมกันตั้งแต่ ๐๔.๓๐ น. กระทั่งหยุดพักเพื่อรับประทานอาหารเช้าตอน ๖ โมงครึ่ง

ด้านหน้าสุดก่อนถึงโต๊ะอาหารมีบอร์ดแผ่นใหญ่ ด้านบนสุดบอกลำดับวันของการปฏิบัติ ล่างลงมาเป็นรายละเอียดข้อมูล ความรู้ กำหนดการ และเรื่องอื่นๆ ที่ผู้ปฏิบัติควรรู้ เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษสำหรับผู้ปฏิบัติชาวต่างชาติ  ซึ่งตลอด ๑๐ วันของการฝึกปฏิบัติ การชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ และกำหนดการประจำวันจะถูกสื่อสารผ่านบอร์ดนี้ ตามกฎของการรักษาความเงียบที่จะไม่มีการพูดจากันตลอดการฝึกปฏิบัติ

อาหารมังสวิรัติอย่างดีกว่าที่ขายอยู่ในร้านทั่วๆ ไป ๔-๕ อย่างวางอยู่บนโต๊ะกลางห้อง  ผู้ปฏิบัติจะได้รับแจกถาดหลุมสำหรับตักอาหารแต่พออิ่ม แล้วมานั่งกินคนเดียวในที่ประจำของตัวเองที่ถูกสร้างไว้อย่างเรียบง่ายแต่เต็มด้วยการใช้สอยประโยชน์

ที่นั่งรับประทานอาหารนี้ใช้เพียงแผ่นกระดานขนาดราว ๒ ฝ่ามือยึดไว้ด้วยบานพับ เรียงไปตามแนวรั้วลูกกรงไม้รอบชายระเบียง พับเก็บได้ยามไม่ใช้งาน เมื่อถึงมื้ออาหารก็เปิดออกเป็นที่วางถาดอาหาร มีเก้าอี้ตัวหนึ่งมาวางนั่ง ก็เป็นโต๊ะอาหารส่วนตัวที่แสนสมถะกะทัดรัด

ที่ประจำของข้าพเจ้าหันเข้าหาด้านในของศูนย์ฯ ในมุมที่เป็นสวน มีไม้ยืนต้นกระจายกันอยู่ห่างๆ โดยมีพุ่มไทรใหญ่เป็นหลักหมายตาอยู่ตรงกลาง ให้ความรู้สึกเหมือนได้นั่งกินข้าวใต้ร่มไม้อยู่ทุกมื้อ

หลังมื้อเช้าการฝึกปฏิบัติจะเริ่มต้นอีกครั้งตอน ๘ โมงตรง พักกินมื้อกลางวันช่วง ๑๑ โมงถึงบ่ายโมง และพักอีกที ๕-๖ โมงเย็น แต่ไม่มีมื้อเย็น  ผู้ปฏิบัติเก่าที่เคยผ่านการปฏิบัติมาก่อนแล้วเมื่อเข้าปฏิบัติครั้งต่อๆ มาต้องถือศีล ๘ ซึ่งรวมถึงการงดมื้อเย็นด้วย ส่วนผู้ปฏิบัติใหม่ที่เพิ่งเข้ารับการฝึกปฏิบัติครั้งแรก ได้รับการอนุโลมให้รับของว่างหรือผลไม้เป็นมื้อเย็นได้

การปฏิบัติส่วนใหญ่อยู่กับการนั่งสมาธิร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม สลับกับการแยกไปปฏิบัติในห้องพักของตัวเอง และห้องปฏิบัติเดี่ยว  เริ่มวันแรกด้วยการฝึกอานาปานัสสติซึ่งเหมือนเป็นงานง่ายๆ เพียงแค่การจดจ่ออยู่กับลมหายใจที่ผ่านเข้าออกตามธรรมชาติที่เราหายใจอยู่

แต่ความยากอยู่ที่การต้องมานั่งนิ่งๆ เป็นชั่วโมงๆ ซึ่งดูจะไม่ใช่สิ่งที่คนในยุคสมัยของเราคุ้นเคยเสียแล้ว  ยิ่งสำหรับคนที่ชินกับการนั่งเก้าอี้ การต้องมานั่งพื้นนานๆ ถือเป็นเรื่องทรมานอย่างยิ่ง

ห้องปฏิบัติรวมเป็นห้องโถงกว้าง เพดานสูง ความสว่างพอดี  ที่นั่งปฏิบัติถูกกำหนดด้วยฟูกรองนั่ง (สีฟ้าสำหรับผู้ชาย สีน้ำเงินสำหรับผู้หญิง) ซึ่งมีหมอนรองนั่งอีกใบวางทับ แต่ผู้ปฏิบัติอาจหยิบหมอนรองเข่าใบเล็กๆ มาช่วยหนุนขาหนุนเข่าบรรเทาความเมื่อยได้  ผู้ปฏิบัติชาวต่างชาติบางคนคงไม่คุ้นเคยกับการนั่งบนพื้น ข้าพเจ้าเห็นเขาเอาหมอนรองเข่าหลายใบวางซ้อนกันเป็นตั้งสูง จนเมื่อยามขึ้นนั่งก็แทบเหมือนนั่งเก้าอี้ห้อยขา ขณะที่บางคนวางหมอนซ้อนแล้วขึ้นนั่งคร่อมอย่างกับขี่ม้า

ไม่มีความเข้มงวดในเรื่องท่านั่ง แต่มีคำแนะนำว่าควรเป็นท่าที่คอและหลังตั้งตรง จะเป็นผลดีต่อการปฏิบัติในระยะยาว  แต่อย่างไรก็ตามหัวใจของการปฏิบัติไม่ได้อยู่ที่ท่านั่งอันสง่าปานพระพุทธรูป แต่อยู่ที่การมีสติรู้ตัวอยู่กับลมหายใจ

ในการฝึกปฏิบัติมีอาจารย์ผู้ช่วยที่ได้รับการแต่งตั้งจากท่านโกเอ็นก้านำการปฏิบัติอยู่ด้านหน้า  ต้นชั่วโมงจะมีการเปิดเสียงเทปคำสอนชี้แนะแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งท่านโกเอ็นก้าจะพูดเป็นภาษาอังกฤษและมีเสียงแปลไทยควบคู่ ช่วงละสั้นๆ ไม่ถึง ๑ นาทีไปจนถึงไม่เกิน ๑๕ นาที เป็นแนวทางให้ผู้ปฏิบัติฝึกไปจนกว่าเสียงสวดมนต์จะดังขึ้นเป็นสัญญาณสิ้นสุดแต่ละช่วง ซึ่งกินเวลาราว ๑ ชั่วโมง  หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติสามารถเข้าสอบถามได้จากอาจารย์ผู้ช่วยในช่วงพักเที่ยงกับตอนหลังการปฏิบัติช่วงค่ำ

ช่วงค่ำของทุกวันจะมีการฉายวิดีโอธรรมบรรยายของท่านโกเอ็นก้า ๑ ชั่วโมงเต็มซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคนรอคอยและสนใจกันมาก

และข้าพเจ้าก็ได้เห็นในตอนนั้นว่า ท่านโกเอ็นก้าในวิดีโอดูหนุ่มกว่าตัวจริงที่ไปเห็นมาเมื่อปีที่แล้ว  หน้าตาของท่านดูมีเค้าของชาวอินเดีย และดูเป็นฆราวาสธรรมดา ไม่มีภาพลักษณ์ของนักพรตหรือนักบวช  ผมที่มีสีขาวแซมตัดสั้นเรียบร้อย ใบหน้าอูมเกลี้ยงเกลาปราศจากหนวดเครา สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาวนวล สอดชายไว้ในโสร่งที่นุ่งสูงเหนือสะดือ

เราอาจคุ้นเคยว่าผู้นำอย่างนายทหาร นักการเมือง หรือแม้แต่ผู้นำทางศาสนา ต้องมีภาพลักษณ์ที่ดูภูมิฐาน เคร่งขรึม พูดจาเป็นทางการ  แต่ผู้นำตามธรรมชาติอย่างท่านโกเอ็นก้าดูสบายๆ ในทุกอิริยาบถ พูดจายิ้มหัว โคลงหัว โยกตัวโบกกวัดแกว่งมือไปตามอารมณ์ของเรื่องที่เล่า โดยเฉพาะในช่วงที่ท่านขับบทโศลกแทรกระหว่างการบรรยายนั้น ทั้งน้ำเสียงและท่าทางบ่งว่าท่านมีความเป็นศิลปินอยู่เต็มตัว

วิดีโอการบรรยายธรรมชุดนี้บันทึกไว้เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนซึ่งท่านโกเอ็นก้าสอนการปฏิบัติวิปัสสนาที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แล้วนำมาใช้ในการฝึกอบรมต่อมาโดยตลอดในศูนย์วิปัสสนาทั่วโลก จนกล่าวกันว่าในทุกวันนี้เสียงธรรมของท่านก้องดังอยู่ตลอดเวลาไม่มุมใดก็มุมหนึ่งในโลก

ในวิดีโอชุดนี้ท่านพูดเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะมีการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ  ข้าพเจ้าทราบจากผู้ปฏิบัติเก่าบางคนในตอนหลังว่า การใส่คำบรรยายไทยลงในวิดีโอธรรมบรรยายของท่านในลักษณะเดียวกับซับไทเทิลหนังต่างประเทศเพิ่งมีขึ้นเมื่อไม่นาน

ก่อนหน้านี้ผู้ปฏิบัติชาวไทยต้องฟังคำแปลที่มีคนอ่านใส่เทปเหมือนฟังหนังสือเสียง ซึ่งก็ได้ใจความครบถ้วน  แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นการแปลแบบคำต่อคำในลักษณะเสียงพากย์ คนฟังจึงไม่ได้รับอรรถรสที่สื่อผ่านทางจังหวะจะโคน การเน้นความด้วยถ้อยคำ ลีลาวาทศิลป์ รวมทั้งไม่มีโอกาสได้เห็นบุคลิก หน้าตา และน้ำเสียงของท่านโกเอ็นก้ากันเลย

ต่างจากการดูวิดีโอที่มีคำบรรยายไทยซึ่งให้อรรถรสเหมือนดูหนัง ได้ความบันเทิงในธรรม เป็นแรงหนุนนำกำลังใจในหมู่ผู้ปฏิบัติได้อย่างดียิ่ง

“วันแรกก็ได้ผ่านไปแล้ว” ท่านโกเอ็นก้าในวิดีโอทักทายผู้ปฏิบัติรุ่นแล้วรุ่นเล่าด้วยประโยคเดิมประโยคนี้ “ท่านยังเหลือเวลาอีก ๙ วันที่จะปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างหนักมาก  เพื่อให้การมาปฏิบัติที่นี่ได้ผลดีที่สุด ท่านจะต้องปฏิบัติอย่างหนักมาก ด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความกระตือรือร้น ด้วยความอดทน ไม่ท้อถอย และอย่างต่อเนื่อง  มีเพียงการปฏิบัติอย่างหนักเท่านั้นที่จะทำให้ท่านได้รับผลดีที่สุดจากการเข้ารับการอบรม  ไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากการปฏิบัติอย่างหนักด้วยตัวเองเท่านั้น”

ใบหน้าของท่านอิ่มเอิบ แววตาสะท้อนความเมตตา ขณะพูดต่อมาว่า ขอให้เข้าใจว่านี่ไม่ใช่รายการบันเทิงทางปัญญา แต่เป็นการอธิบายถึงวิธีการปฏิบัติให้เข้าใจอย่างถูกต้อง–คือการทำจิตให้เป็นสมาธิ เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งไม่ใช่แค่ระดับพื้นผิว แต่ในระดับลึกที่สุดถึงรากเหง้า โดยอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องมือ

สาระหลักของธรรมบรรยายวันแรกว่าด้วยเรื่องธรรมชาติของจิต เหตุผล และวิธีจัดการกับความยากลำบากในการปฏิบัติ

ท่านย้ำว่าการปฏิบัตินี้เป็นงานที่จริงจังมาก เปรียบเหมือนการผ่าตัดจิตใจในระดับลึก ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีน้ำหนองไหลออกมาด้วย ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องยอมรับมันด้วยความกล้าหาญ

ผู้เข้ารับการอบรมแทบทุกคนเพียงวันแรกก็บ่นปวดขา ปวดหลัง ปวดศีรษะ อึดอัดไม่สบายสารพัด

ท่านว่านั่นเพราะทั้งร่างกายและจิตใจของเราถูกจองจำอยู่กับการดำเนินชีวิตที่ซ้ำซากจำเจ บัดนี้กำลังทำในสิ่งที่ร่างกายไม่คุ้นเคย มันจึงเริ่มขุ่นเคืองและต่อต้าน ความรู้สึกอึดอัดไม่สบายต่างพากันปรากฏขึ้นมา

กระทั่งวันรุ่งขึ้นบางคนอาจรู้สึกปั่นป่วนจนอยากจะหนีออกไป กับในวันที่ ๖ ที่จะปั่นป่วนอย่างหนักอีกครั้ง

“อาจมีวันอื่นๆ ด้วย แต่วันที่ ๒ และวันที่ ๖ จะเป็นวันที่ท่านรู้สึกกระวนกระวายใจมาก”

วิปัสสนาจารย์ผู้สอนธรรมแก่สาธุชนมาแล้วทั่วโลกกล่าวเตือนไว้อย่างนั้น

ออกเดินก้าวแรก -ใกล้จุดหมายไปก้าวหนึ่ง

DAY 2 / วันที่ ๒

ตัวหนังสือไทยและอังกฤษ ๒ คำนี้คงเด่นหราอยู่บนป้ายสื่อสารในห้องอาหารมาตั้งแต่เริ่มต้นวันใหม่ เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ที่ดำเนินไปอย่างเป็นระบบและชัดเจนแน่นอน  โดยไม่ต้องสั่งการหรือพูดจากัน ทุกคนรู้กำหนดการและสิ่งที่ต้องทำจากแผ่นป้ายในห้องอาหาร

เพียงแต่คอยฟังเสียงสัญญาณระฆัง ฝึกปฏิบัติไปตามขั้นตอนด้วยตัวเอง อยู่กับตัวเอง

การอำนวยความสะดวกทุกด้านได้รับการจัดเตรียมไว้ให้อย่างพร้อมสรรพ  อาหารมังสวิรัติ ๒ มื้อกับน้ำปานะและของว่างอีกมื้อ ถึงเวลาก็เพียงแต่ไปตักกิน  ที่พักเป็นห้องพักเดี่ยวที่สะดวกสบายกว่าเกสต์เฮาส์โดยทั่วไป โดยเฉพาะเรือนพักชาย ๓ หลังที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่หมาดเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕

เรือนแถวยกพื้นใหม่เอี่ยมหลังละ ๑๐ กว่าห้อง แบ่งเป็น ๒ แถวหันหน้าเข้าหากัน คั่นกลางด้วยทางเดิน เรียงหมายเลขห้องตามลำดับ โดยมีรหัสชื่อบ้านเอ บี ซี นำหน้า

หลังลงทะเบียนเมื่อเย็นวานข้าพเจ้าได้อยู่ห้องหมายเลข ซี ๓ อยู่ลำดับที่ ๒ ในแถวห้องเลขคี่ของเรือนพักหลังนอกสุด

ห้องไม่ได้ล็อกกุญแจ เมื่อเปิดเข้าไปก็เห็นห้องที่กว้างขวางเพียงพอสำหรับพักคนเดียว มีเตียงนอน พร้อมหมอน ผ้าห่ม และฟูกอย่างบาง ราวแขวนผ้า ชั้นวางของ  ฝาด้านหลังกั้นด้วยบานเลื่อนมุ้งลวด เปิดออกไปสู่ระเบียงที่ตากผ้า ซึ่งจะเปิดรับลมหรือไขปิดทึบได้ด้วยบานเกล็ดกระจกฝ้า  ห้องน้ำมีอ่างล้างหน้า ฝักบัว และเครื่องทำน้ำอุ่นพลังงานโซลาร์เซลล์

ด้านความเป็นอยู่ถือว่าค่อนข้างสะดวกสบาย แต่ศูนย์ฯ ธรรมกมลาไม่เหมาะกับคนที่รักสบายเป็นแน่ เพราะการฝึกปฏิบัติอย่างหนัก และความเคร่งครัดในกฎระเบียบ

การพูดจาสื่อสารกันถูกงดนับแต่หลังปฐมนิเทศตอนหัวค่ำวันแรกที่เดินทางมาถึง  เรือนพักที่มีคนอยู่ครบทุกห้องเงียบสนิทเหมือนไม่มีใครอยู่  เข้าห้องพักมาแล้วข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวในโลก และยังต้องอยู่คนเดียวไม่ได้ติดต่อกับใครไปอีก ๑๐ วัน

ความจริงในยุคนี้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลก เราก็ยังติดต่อสื่อสารถึงกันได้ แต่การไปอยู่ในศูนย์ฯ ธรรมกมลา ชานเมืองปราจีนบุรี ให้ความรู้สึกห่างไกลยิ่งกว่าไปต่างประเทศ ด้วยเงื่อนไขที่ไม่อาจส่งข่าวหรือรับข่าวสารจากใครได้เลย

ระหว่างพักอยู่ที่นี่ต้องพึ่งตัวเองทั้งหมด นับแต่ปูที่นอน กวาดห้อง ขัดห้องน้ำ หลังกินข้าวก็ต้องล้างจานเช็ดจานเอง  แต่ที่ยากยิ่งสำหรับทุกคนคงเป็นเรื่องที่ต้องตัดขาดจากผู้อื่นทั้งหมด ไม่ว่าคนที่อยู่ตรงหน้าหรือคนคุ้นเคยที่ห่างมา

ทั้งวันหลังเสียงระฆังแรกตอนตี ๔ กระทั่งเสียงระฆังสุดท้ายที่บอกเวลาสิ้นสุดการปฏิบัติประจำวันตอน ๓ ทุ่ม ทุกคนจะอยู่กับการปฏิบัติ ทั้งในห้องปฏิบัติรวมและที่พักของตน  มีเวลาพักสำหรับกินอาหารและทำภารกิจส่วนตัว เช้า เที่ยง ช่วงละชั่วโมงครึ่ง และอีก ๑ ชั่วโมงในช่วงเย็น ซึ่งดูเหมือนจะมากเกินไปด้วยซ้ำในยามไม่มีอะไรให้ทำ  ชีวิตประจำวันภายใต้เงื่อนไขดังว่านี้ แค่ได้ซักเสื้อผ้า ๒-๓ ตัวที่ใส่ในวันที่ผ่านมาก็เป็นความสุขใจแล้วในช่วงพักเที่ยงที่รู้สึกยาวนานนัก

หรือบางทีก็เอายามว่างอันหมองหม่นนั้นไปนั่งมองบึงบัวหน้าเรือนพัก ใบบัวหลวงแห้งคาก้านเป็นรูปร่างประหลาดหลากหลาย ชวนจินตนาการเหมือนยามมองเมฆบนท้องฟ้า

แต่ท้องฟ้ายามไร้เมฆที่สะท้อนเงาอยู่บนผิวน้ำนิ่งยิ่งทำให้โลกรอบตัวดูนิ่ง ชวนเหงา หดหู่ใจ จนกว่ากบสักตัวจะกระโจนลงในบึง หรือปลาสักตัวโผขึ้นฮุบเหยื่อ

ในบึงมีปลาช่อนแม่ลูกอ่อนอยู่ด้วย ข้าพเจ้าเห็นฝูงลูกของมันก่อน ปลาน้อยสีทองแดงตัวขนาดก้านไม้ขีดว่ายกรูกันมาเป็นก้อนจนผิวน้ำนิ่งไหวยวบเป็นคลื่นน้อยๆ แล้วกระเพื่อมเป็นคลื่นใหญ่ขึ้นเมื่อปลาตัวใหญ่ตามมา  แม่ปลาช่อนตัวสีดำมะเมื่อมขนาดท่อนแขนผู้ใหญ่ว่ายเวียนไปรอบฝูงลูกๆ อยู่ไม่ห่าง ดูไม่ตื่นและไม่กลัวคน

ภาพตรงหน้าพาใจข้าพเจ้านึกไปถึงคำพูดของท่านโกเอ็นก้าในวันที่มาเห็นแม่วัวยืนให้นมลูกอยู่ในที่แห่งนี้ แล้วใจที่ซึมเซาของข้าพเจ้าก็ค่อยสว่างไสวขึ้นมาบ้าง

ในสภาพที่ต้องอยู่อย่างถูกกักบริเวณเช่นนี้ เพียงภาพพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าและตกดินในยามเย็นก็ดูมีความหมายกว่าเคย  ช่วงว่างๆ แค่ได้ยืนแอบมองลอดรั้วต้นไม้ ดูคนสัญจรผ่านไปตามถนนด้านหน้าศูนย์ฯ ก็ชื่นใจแล้ว

ตกเย็นเห็นเด็กนักเรียน ๓-๔ คนสะพายกระเป๋าหนังสือสีสดใส เดินเรียงแถวเลาะไปหลังแนวต้นไม้กลับเข้าหมู่บ้าน  ข้าพเจ้าคิดถึงลูกสาวขึ้นมาทันที หลังพลบเป็นเวลาที่ข้าพเจ้าต้องสอนเธอทำการบ้าน  เด็กๆ เดินลับตาไปแล้ว ใจที่หวั่นไหวของข้าพเจ้าก็รบเร้าว่าอยากจะกลับบ้านเสียเดี๋ยวนั้น

หรือถ้าเป็นไปได้ก็อยากฝากสายลมจากลมหายใจแห่งความรู้สึกตัวของพ่อไปถึงเธอกับแม่ด้วย

สองวันแรกของการฝึกปฏิบัติ ความว้าวุ่นใจอย่างหนักหน่วงนั้นเรื่องหนึ่ง  แต่ที่หนักหนาไม่แพ้กันคือกายที่ปวดระบมไปหมด คอ หลัง ไหล่ บั้นเอว ขา ปวดไปทั้งกายเหมือนผ่านงานหนัก  ปฏิบัติธรรมก็หนักหนาไม่แพ้กันรึนี่ ?

ช่วงค่ำยังมีนัดปฏิบัติร่วมกันในห้องปฏิบัติรวม และฟังธรรมบรรยายประจำวันจากท่านโกเอ็นก้าตอน ๑ ทุ่มตรง

พอเสียงสัญญาณระฆังดังขึ้นกลางความเงียบ แต่ละคนก็จะพากันออกจากที่พักตนไปยังห้องปฏิบัติรวม  ระหว่างเดินขึ้นสะพานเพื่อข้ามไปยังห้องปฏิบัติ ข้าพเจ้าแหงนหน้าขึ้นมองฟ้าไกล เห็นจันทร์เสี้ยวของยามข้างขึ้นแขวนดวงอยู่เหนือยอดเจดีย์พอดี

“วันที่ ๒ ก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว บัดนี้ท่านเหลือเวลาอีก ๘ วันที่จะปฏิบัติ” ท่านโกเอ็นก้าในวิดีโอเริ่มต้นธรรมบรรยายในแต่ละค่ำคืนด้วยประโยคเดิมก่อนเข้าสู่เนื้อหาประจำวัน

ในวันที่ ๒ นี้การปฏิบัติเป็นเรื่องของการฝึกทำอานาปานัสสติ กำหนดรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ซึ่งดูจะเป็นงานง่ายๆ แต่ความยากอยู่ที่ใจไม่ยอมอยู่กับลมหายใจ มักเอาแต่ล่องลอยไปโน่นนี่อยู่ตลอดเวลาตามธรรมชาติของจิตใจ

วิปัสสนาจารย์ผู้มากประสบการณ์เริ่มต้นค่ำคืนอย่างรู้ใจผู้ปฏิบัติใหม่ “จิตอะไรกันหนอ ชอบแต่จะท่องเที่ยวไป ช่างไม่ยอมอยู่นิ่ง เฝ้าแต่ซัดส่ายไปมา ช่างไม่มั่นคง แปรปรวน อ่อนแอ ช่างเร่าร้อน ไม่สงบ ไม่เยือกเย็น คึกคะนองราวกับสัตว์ป่า เหมือนจิตของลิงทโมนที่กระโจนคว้ากิ่งไม้หนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง กิ่งแล้วกิ่งเล่า คว้าสิ่งนี้แล้วก็คว้าสิ่งนั้น อันแล้วอันเล่า เป็นจิตที่ปั่นป่วนมาก ป่าเถื่อนมากทีเดียว เหมือนกับกระทิงป่า ช้างป่า”

และให้กำลังใจ

“แต่ผู้ที่มีประสบการณ์ ผู้ที่มีสติปัญญา สามารถฝึกช้างป่าตัวนี้ กระทิงป่าตัวนี้ ให้ช้างป่าตัวนี้ กระทิงป่าตัวนี้เชื่องได้ ฝึกด้วยความอดทนอย่างยิ่งด้วยความอดทน และไม่ย่อท้อ”

บทเรียนของวันนี้เป็นการหาจุดสัมผัสลมหายใจ ใต้ช่องจมูก เหนือริมฝีปากบน  เมื่อพบแล้วก็ให้รู้สึกต่อเนื่องอยู่กับมัน

“อาจรู้สึกว่าเย็น อาจรู้สึกว่ามีเหงื่อออก ก็แค่สังเกตเฉยๆ ไม่ต้องไปทำอะไร  อาจเป็นความรู้สึกคัน ก็ให้สังเกตว่ามีความรู้สึกคัน อย่าไปตอบโต้กับความรู้สึกนั้น ถ้ารู้สึกคันแล้วท่านเริ่มโต้ตอบ ท่านเริ่มถู หรือเกา อย่างนั้นไม่ใช่สัมมาสติ  สัมมาสติก็คือการเพียงแต่สังเกตเท่านั้น ไม่ต้องไปทำอะไร ขอให้สังเกตความจริงที่ปรากฏออกมา  ความรู้สึกคันเกิดขึ้น ฉันจะดูซิว่ามันจะคันได้นานแค่ไหน มันจะคันขึ้น คันขึ้น คันขึ้น แต่ในที่สุดมันก็จะหายไป ไม่มีอาการคันใดๆ จะคงอยู่ตลอดไป”

ตอนเช้าตรู่วันที่ ๒ ของการปฏิบัติ ข้าพเจ้าได้ประสบการณ์นี้โดยตรง

เช้าวันกลางเดือนกุมภาพันธ์ อากาศแถบชานเมืองปราจีนบุรียังเย็นชื้นเอาการ ระหว่างนั่งดูลมหายใจผ่านเข้าออกช่องจมูก ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีน้ำมูกใสย้อยออกมาด้วย มันค่อยๆ เคลื่อนลงมา ไหลลงมาถึงบริเวณปีกจมูกด้านในเป็นความรู้สึกที่สุดจะบรรยาย คันระริกเหมือนใครเอาดอกหญ้ามาแหย่จมูกเล่น แต่เราก็ต้องเพียงแต่เฝ้าดู อดกลั้นจนสั่นสะเทือนไปทั้งร่าง จนต้องจินตนาการไปว่าหากไม่มีมือ เพื่อห้ามความรู้สึกว่าต้องเอามือปาดออกน้ำมูกผ่านลงมาถึงฐานจมูก เอ่อท้นขึ้นเหมือนตาน้ำ แม้เป็นน้ำมูกใสแต่มันก็หนืดเหนียวจนเป็นก้อนโตพอจึงม้วนเคลื่อนต่อมาตามร่องเหนือริมฝีปาก  เวลาจริงผ่านไปเท่าใดไม่รู้แน่ แต่การที่ต้องอดทนกับอาการคันระริกให้ความรู้สึกว่านานแสนนาน กว่าจะผ่านพ้นความคันรำคาญไปได้

“ท่านกำลังฝึกสมาธิ คือการรับรู้ความจริงที่เกิดขึ้นภายในบริเวณจำกัดนี้ จากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง ทุกขณะ” ท่านโกเอ็นก้าสรุปคำสอนประจำวันระหว่างแสดงธรรมบรรยายช่วงค่ำ “เพราะในวันมะรืนท่านจะได้ก้าวไปสู่ขอบเขตของปัญญา ทฤษฎีและการปฏิบัติต้องไปด้วยกัน”

ทั้งย้ำว่า ธรรมะไม่ใช่ปรัชญาชั้นสูง แต่มีไว้เพื่อให้คนทั้งหลายได้ปฏิบัติจนถึงความเป็นพุทธะ ซึ่งนามนี้ไม่ใช่ชื่อของพระพุทธเจ้าหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่หมายถึงผู้ที่รู้แจ้ง หลุดพ้น และการเข้าถึงก็ไม่ได้ผูกขาดอยู่กับใครเพียงผู้เดียว

“ใครๆ ก็สามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้” ท่านโกเอ็นก้าว่าอย่างนั้น แต่… “ท่านมาปฏิบัติแค่ ๑๐ วันแล้วจะกลายเป็นพระพุทธเจ้าอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่ๆ นี่เป็นงานที่ยากมาก”

แต่ใครก็ตาม

“เมื่อเขาก้าวเดินไปตามเส้นทางนี้ ๑ ก้าว เขาย่อมใกล้จุดหมายไปแล้วก้าวหนึ่ง”

ศีล สมาธิ ปัญญา = ทำความดี ละเว้นความชั่ว ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์

“วันที่ ๓ ก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว  ท่านมีเวลาเหลืออีก ๗ วันที่จะปฏิบัติ” ท่านโกเอ็นก้าในวิดีโอเริ่มต้นทักทายผู้ปฏิบัติด้วยประโยคเดิม เพียงลำดับวันที่เปลี่ยนไป “พรุ่งนี้เป็นวันที่ ๔ เป็นวันที่สำคัญมากสำหรับท่าน ท่านจะได้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนา นั่นหมายความว่าท่านจะได้เริ่มเข้าสู่ขอบเขตของปัญญา”

ปัญญาอันเป็นส่วนต่อมาจากสมาธิ และศีล ซึ่งอุปมาว่าเป็น “โต๊ะ ๓ ขา” ที่เกื้อหนุนกันอยู่

และด้วยคำอธิบายอย่างง่ายและแจ่มชัดของท่านโกเอ็นก้า ทำให้เราเข้าใจหลักธรรมที่ว่าด้วยเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเคยเรียนมาแต่สมัยเป็นนักเรียนได้อย่างแจ่มแจ้ง

ท่านว่า ศีลคือรากฐานของการปฏิบัติวิปัสสนา เมื่อฝึกสมาธิด้วยวิธีอานาปานัสสติ ศีลจะช่วยให้เกิดสัมมาสมาธิหากปราศจากศีลแล้วก็จะทำวิปัสสนาไม่ได้ เพราะวิปัสสนาคือการชำระจิตให้บริสุทธิ์ลึกถึงระดับราก

ดังคำสอนที่เราได้ยินคุ้นหูมาแต่เด็กว่าให้ “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์” แต่ไม่เคยเข้าใจความหมาย

มาเริ่มประจักษ์จริงก็เมื่อได้ฟังการอธิบายธรรมและลงมือปฏิบัติไปพร้อมกัน  ก่อนเริ่มการปฏิบัติผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนจะสมาทานรักษาศีล ๕ (และศีล ๘ สำหรับผู้ปฏิบัติเก่า) อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วง ๑๐ วันระหว่างฝึกปฏิบัติ  การห้ามพูดนัยหนึ่งก็เพื่อช่วยป้องกันการละเมิดศีลข้อมุสา  แต่เพียงวันแรกๆ ข้าพเจ้าก็เกือบก่อปาณาฯ จนได้  ขณะเอนหลังนอนหลับตาอยู่ในห้องพักที่มีมุ้งลวดมิดชิดตอนพักเที่ยง แมลงหวี่จากไหนก็ไม่รู้ยังบินมาตอมตาจนได้ ด้วยความรำคาญฝ่ามือทั้งสองก็ยกขึ้นตีประกบตามความเคยชินก่อนจะทันรู้ตัวว่าเรากำลังถือศีล แบมือดูไม่เห็นซากของมัน แต่ใจก็ยังกังวลว่าเราคงละเมิดศีลข้อแรกไปแล้วด้วยความขาดสติ แต่สักครู่ก็ได้ยินเสียงมันบินกลับมาตอมหูตอมตาอีก

อีกคราวต่อมา ตอนนั่งกินข้าวเที่ยง แมลงจิ๋วตัวหนึ่งบินมาเข้าตา  ถ้าเพียงแต่กะพริบตาถี่ๆ ขยี้ตา ๒-๓ ทีให้พอน้ำตาไหลออกมา แมลงตัวนั้นก็จะถูกขับออกมาทางหัวตาอย่างที่เรามักทำ  แต่ใจระลึกได้ทันว่าไม่อยากให้มันตาย แล้วจะทำอย่างไรดี เราต้องไม่กะพริบตาไปหนีบมัน  ข้าพเจ้าใช้ปลายนิ้วชี้ดึงขอบตาล่างให้ถ่างกว้างไว้ แต่แมลงตัวน้อยก็ยังไม่ยอมปีนขึ้นมาจากขอบตาเปียกๆ เสียที  นึกอยากวิ่งไปส่องกระจกที่ห้องจะได้ช่วยหยิบหรือเขี่ยมันออก แต่ระยะทางก็ไม่ใช่ใกล้นัก  กำลังตัดสินใจจะลุก แมลงสีดำตัวจิ๋วขนาดไส้ดินสอกดก็ตกลงมาบนขอบจานข้าว มันสะบัดแขนขา ๒-๓ ทีก็ลุกขึ้นบินจากไป  ข้าพเจ้าหายใจอย่างโล่งอกว่าศีล ๕ ยังอยู่

นั่นเป็นช่วงหลังจากได้ฝึกทำสมาธิด้วยวิธีอานาปานัสสติตลอด ๓ วันแรกมาแล้ว  วันที่เหลือจะเป็นการปฏิบัติวิปัสสนาโดยฟังคำสอนควบคู่ไปกับการนำปฏิบัติ  แล้วในช่วงค่ำ ธรรมบรรยายของท่านโกเอ็นก้าก็จะพูดถึงสิ่งที่ปฏิบัติมาในวันนั้น หรืออาจล้ำถึงวันถัดไป

ในค่ำของวันที่ ๓ (DAY 3) ท่านโกเอ็นก้าได้ให้ความเข้าใจเรื่องปัญญาว่ามี ๓ ระดับ คือ สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ยิน ได้อ่าน ได้ฟังคนอื่น จินตมยปัญญา เป็นการเข้าใจความจริงด้วยความฉลาดรอบรู้ในระดับเชาวน์ปัญญา และ ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาของตัวเองที่ได้จากประสบการณ์ตรงซึ่งช่วยให้หลุดพ้นได้ เมื่อก้าวไปสู่ขั้นนี้ได้เราจะพบความจริงด้วยตัวเอง

ท่านเล่าพร้อมยกตัวอย่างผู้หิวโหยคนหนึ่ง เมื่อไปถึงร้านอาหาร เมนูถูกนำมาวาง ดูแล้วน่าอร่อย เขาอ่านแล้วน้ำลายไหล นี่เป็นเหตุการณ์แรก  เขาสั่งอาหาร ระหว่างนั่งรอเขาหันดูโต๊ะอื่นๆ กำลังกินอย่างเอร็ดอร่อย เขาแน่ใจว่าอาหารมื้อนี้ต้องอร่อยแน่ นี่เป็นเหตุการณ์ที่ ๒  และเหตุการณ์ที่ ๓ เขาได้รับอาหารที่สั่ง และรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย

แล้วท่านโกเอ็นก้าสรุปท้ายเรื่องเล่าด้วยสิ่งที่ต้องการจะสอน

“กรณีแรกเป็น สุตมยปัญญา นั่นคือ เขาได้อ่านรายการอาหารแต่ยังไม่ได้ลิ้มรส  กรณีที่ ๒ เป็น จินตมยปัญญา ปัญญาของเขาบอกเช่นนั้น เพราะเคยเห็นผู้คนที่กำลังรับประทานด้วยความเอร็ดอร่อยจะมีสีหน้าอย่างนี้…มันต้องอร่อยแน่ แต่เขายังไม่ได้ลิ้มรสด้วยตัวเอง  ในกรณีที่ ๓ นี้เท่านั้น เมื่ออาหารมาเสิร์ฟ เขาลงมือรับประทานเอง ชิมเอง แล้วก็…ใช่แล้ว เขาเริ่มรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยจริงๆ  นี่คือ ภาวนามยปัญญา

อีกหลายข้อธรรมที่เคยเรียนในชั้นเรียนวิชาพระพุทธศาสนามาแล้ว แต่ข้าพเจ้าเพิ่งมาเข้าใจแจ่มแจ้งเมื่อได้ฟังธรรมบรรยายหลักสูตร ๑๐ วันของท่านโกเอ็นก้า

อย่างเรื่องมรรค ๘ ที่ท่านว่าได้แก่การพูดดี ทำดี หาเลี้ยงชีพดี

และอธิบายเรื่องนิวรณ์ ๕ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายต่อการเข้าใจและจดจำ

ฯลฯ

ข้อธรรมเหล่านี้ข้าพเจ้าเข้าใจทันทีที่ได้ฟัง

แต่ก็อย่างท่านโกเอ็นก้าว่า ทฤษฎีต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติ

และเมื่อได้ผ่านประสบการณ์การปฏิบัติ ข้าพเจ้าไม่มีข้อกังขาต่อคำกล่าวนั้นเลย

เป็นเรื่องที่ยากจะเล่าโดยถ้อยคำ แต่เพียงใครได้ลองนั่งลงปฏิบัติก็จะรู้ด้วยตัวเองว่า ธรรมะเป็นเรื่องที่ต้องไปถึงเอง ไม่มีใครบอกหรือทำแทนให้ได้

ชั่วโมงปฏิบัติมักเริ่มต้นด้วยเทปเสียงท่านโกเอ็นก้า ขับบทโศลกในท่วงทำนองทุ้มก้องจากในลำคอ บางช่วงลากเสียงสูงยาวยานสะท้านสั่น บางคำหลบหางเสียงลงต่ำแตกพร่า ให้ความรู้สึกขลัง กังวาน เยือกเย็น เป็นกำลังใจและให้ความรู้สึกบันเทิงในธรรมแก่ผู้ปฏิบัติ และบางทีเสียงขับบทสวดก็ดังขึ้นระหว่างนั่งปฏิบัติ ซึ่งท่านบอกไว้ก่อนแล้วว่าเพื่อเป็นพลังสั่นสะเทือนความดีงามไปสู่ผู้ปฏิบัติ

บางช่วงของการปฏิบัติอาจารย์ผู้ช่วยที่ได้รับการแต่งตั้งจากท่านโกเอ็นก้าให้เป็นผู้นำการปฏิบัติ ซึ่งในการอบรมครั้งนี้คือพระอาจารย์จรูญ ปิยสีโล จะเรียกผู้ปฏิบัติออกไปสอบถามผลการปฏิบัติเป็นกลุ่มย่อยคราวละ ๔ คนและนำปฏิบัติร่วมกันเป็นช่วงสั้นๆ

นอกนั้นเว้นแต่ในชั่วโมงปฏิบัติรวมหรือชั่วโมงอธิษฐาน ผู้ปฏิบัติอาจได้รับอนุญาตให้แยกไปปฏิบัติตามลำพังในที่พักตนได้

เมื่อเดินกลับมายังที่พักหลังการปฏิบัติรวมชั่วโมงแรก ข้าพเจ้าเหลียวไปเห็นบัวในบึง ๓ ดอกแย้มกลีบอยู่เหนือผืนน้ำ

goenga04นิมิต ?

อย่างง่ายๆ และชวนให้เกิดกำลังใจ  คำสอนการปฏิบัติในวันแรกๆ เพียงแต่ฝึกให้อยู่กับลมหายใจ

สัมผัสความรู้สึกบริเวณสามเหลี่ยม ซึ่งมีฐานอยู่ที่ริมฝีปากบน ครอบคลุมไปทั่วพื้นที่บริเวณช่องจมูก จดจ่ออยู่กับลมหายใจที่ผ่านเข้าออกช่องจมูก  หากเผลอใจลอยก็ไม่ต้องขุ่นเคือง โกรธตัวเอง พอรู้สึกตัวก็ให้กลับมาอยู่กับลมหายใจใหม่

ข้าพเจ้าทำๆ ไปอย่างไม่คาดหวังผล แต่อาจเป็นด้วยสถานที่อันสัปปายะ และการได้อยู่ในหมู่ผู้ปฏิบัติ เมื่อลงมือปฏิบัติข้าพเจ้ารู้สึกว่ารวมสมาธิได้ดี ใจวอกแวกไปไหนก็กลับมาต่อที่ลมหายใจเข้าออกได้เร็ว

และได้พานพบประสบการณ์บางอย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

เคยได้ยินคนพูดกันว่านั่งสมาธิแล้วเห็นโน่นนี่ ข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าจะเกิดกับตัวเองได้ ตลอดชีวิตไม่เคยมีสัมผัสพิเศษอะไรเกี่ยวกับเรื่องเหนือจริง กระทั่งกังขาและให้น้ำหนักไปในทางไม่เชื่อเมื่อได้ยินใครเล่าเรื่องทำนองนี้

แต่แล้วข้าพเจ้าก็ได้เห็น เป็นภาพสาวฝรั่ง ๒ คนซึ่งสัดส่วนใหญ่กว่าคนปรกติ ร่างเปลือยเปล่ามายืนยกเข่าจังก้าอยู่ตรงหน้า ไม่พูดจาอะไร

กับอีกคราว ราววันที่ ๓ ของการปฏิบัติ พอใจนิ่งอยู่ในสมาธิก็เห็นหญิงสูงวัยใส่เสื้อแขนกระบอกสีขาว ร่างกายสูงใหญ่กว่าคนปรกติ มาบอกว่าผ่านการฝึกทำสมาธิขั้นต้นแล้ว ข้าพเจ้าพยายามเพ่งมองดูว่านางเป็นใคร แต่ไม่สำเร็จเพราะหญิงคนนั้นไม่มีใบหน้า !

ทั้งสองเหตุการณ์ข้าพเจ้าแน่ใจว่าไม่ใช่ความฝัน เพราะขณะที่เห็นภาพก็ยังรู้สึกตัวอยู่กับลมหายใจ  ไม่ได้ตื่นตกใจ และพยายามรักษาใจให้เป็นอุเบกขาไม่หลงยินดีไปกับความก้าวหน้าหรือประสบการณ์แปลกใหม่เล็กๆ น้อยๆ ระหว่างการเริ่มต้นปฏิบัติ

ตามคำสอนในทุกช่วงของการปฏิบัติที่เฝ้าย้ำให้วางอุเบกขา ไม่ยึดเอาเมื่อพอใจ และไม่ผลักไสเมื่อไม่น่าพอใจ

แต่คงเป็นธรรมดาของจิตคนที่ยังเป็นปุถุชน เมื่อปฏิบัติได้ดี ใจก็ฟู เกิดปีติ แจ่มใส เดินกลับจากอาคารปฏิบัติรวมด้วยความรู้สึกอิ่มเอิบความสุข

มาถึงหน้าเรือนพักเห็นกอบัวในบึงบานดอกมากกว่าวันก่อน

ผ่านวันที่ ๓ ความคิดถึงบ้านค่อยผ่อนเพลาจากการฟังคำสอนและได้ฝึกปฏิบัติ

ตามความเป็นจริงแห่งธรรมที่เป็นกฎตามธรรมชาติ ไม่ว่าใครจะยินดีหรือไม่พอใจต่อสิ่งใด ธรรมะก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนไปตามหลักของความเป็นอนิจจัง เมื่อเรามองเห็นกฎธรรมชาติข้อนี้ก็ต้องฝึกที่จะวางอุเบกขาให้ได้

เช่นเดียวกับช่วงเวลาที่ต้องอยู่ท่ามกลางภาวะความรู้สึกทั้งหลาย ไม่ว่าสุข ทุกข์ ว้าเหว่ สุดท้ายก็ต้องผ่านไป เช่นเดียวกับคืนวันที่รอคอย เมื่อถึงเวลาก็ต้องมาถึง ไม่ต้องนับวันรอ

นี้เป็นข้อธรรมที่เรารู้กันอยู่โดยทั่วไป แต่ไม่ง่ายที่จะยอมรับได้อย่างแท้จริง

วิปัสสนาเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดประสบการณ์ตรงและสัมผัสความจริงด้วยตัวเอง

กายนี้แค่ “กลาปะ” / ไม่มีนักวิปัสสนาที่ตายไม่ดี

ท่านโกเอ็นก้าบอกไว้ในธรรมบรรยายคืนก่อนว่า ในวันที่ ๔ (DAY 4) จะเข้าสู่การทำวิปัสสนา  หลังฝึกเตรียมจิตใจให้เกิดสมาธิมาแล้วในช่วง ๓ วันแรก วันที่เหลือถัดจากนั้นจะเข้าสู่แดนของปัญญา ผ่านวิธีวิปัสสนา –การมองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง

โดยเฉพาะในแง่ของชีวิต คือการเห็นความเป็นอนิจจัง

คำสอนก่อนชั่วโมงปฏิบัติ เริ่มจากฝึกให้สังเกตความรู้สึกบนร่างกายไปทีละส่วนตั้งแต่กลางศีรษะไปจนถึงปลายเท้าไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่หยาบอย่างสัมผัสของเสื้อผ้า อากาศหนาว ร้อน เหงื่อ สายลม ไปจนถึงความรู้สึกที่ละเอียด โปร่งโล่ง เบาสบาย

เป็นงานง่ายๆ เพียงแค่ตามความรู้สึกไปทีละส่วน  มีสติระลึกรู้ตามความจริงในขอบเขตของร่างกายอยู่ตลอดเวลา

แต่อาจด้วยความตั้งใจมากเกินไป เหมือนนักกีฬาที่ไม่ได้อบอุ่นร่างกาย พอลงสนามก็โหมกับเกมอย่างเอาเป็นเอาตาย

หักโหมกับท่านั่งและคร่ำเคร่งกับการสำรวจความรู้สึกบนร่างกายแต่ละส่วน ทำให้การเข้าสู่แดนวิปัสสนาของข้าพเจ้าปวดระบมไปทั้งกายเหมือนวิ่งขึ้นเขา

“วันนี้พวกท่านส่วนใหญ่ได้ย่างก้าวแรกบนหนทางแห่งวิปัสสนา เป็นครั้งแรกที่หลายท่านได้มีโอกาสลงอาบในกระแสธารแห่งธรรมะ” ท่านโกเอ็นก้ากล่าวในช่วงแรกๆ ของธรรมบรรยายคืนที่ ๔  “ตั้งแต่เกิด เราลืมตาและเริ่มมองออกไปข้างนอก มองแต่ภายนอก…จนท่านไม่เคยใส่ใจที่จะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ภายในเลย”

และเข้าสู่บทเรียนของการทำวิปัสสนาว่า “ความจริงที่เกิดขึ้นภายในขอบเขตของร่างกายนั้นก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีสิ่งใดอยู่คงที่  การกำหนดความสนใจไว้ที่ร่างกายตน ช่วยให้เราได้รู้ว่าทุกๆ สิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง ตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นิจจัง กายคตาสติ

โดยหลักนี้ท่านโกเอ็นก้าบอกว่า “ความจริงในระดับละเอียดนั้น ทั่วทั้งโครงสร้างร่างกาย ล้วนประกอบไปด้วย กลาปะ ซึ่งเป็นอนุปรมาณูขนาดเล็กมากๆ และอนุปรมาณูเหล่านี้ก็มิใช่อื่นใด นอกจากคลื่นเล็กๆ คลื่นเล็กๆ ตลอดทั้งร่างกายมิใช่อื่นใด นอกจากคลื่นเล็กๆ คลื่นเล็กๆ  เป็นเพียงกระแสสั่นสะเทือน กระแสสั่สะเทือน…”

วิธีที่จะได้ประจักษ์กับกฎของธรรมชาติข้อนี้ด้วยตัวเอง เริ่มจากสำรวจความรู้สึกหรือเวทนา ซึ่งเกิดขึ้นที่กาย ไม่ว่าจะเป็นรู้สึกร้อน หนาว เหงื่อไหล ชีพจรเต้น ฯลฯ หรือความรู้สึกอื่นใด

“ขอให้เข้าใจว่าเวทนานี้เป็นสิ่งธรรมดาๆ” ท่านโกเอ็นก้าย้ำ

แล้วยกตัวอย่างผู้ปฏิบัติรุ่นก่อนๆ มาเล่าให้ฟังเชิงขำขัน แต่เป้าหมายเพื่อสื่อความเข้าใจในธรรม

บางคนที่มุ่งหาแต่ความรู้สึกพิเศษ เมื่อถูกอาจารย์ผู้ช่วยสอบถามถึงการปฏิบัติ ก็ตอบว่า “ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย”

ครั้นถูกถามต่อไปว่า นั่งตลอดชั่วโมงโดยไม่เปลี่ยนท่าได้หรือไม่

ไม่ได้หรอก ฉันเปลี่ยนท่าตั้งหลายครั้ง

อ้าว ทำไมอย่างนั้นล่ะ ?

ก็มันปวดมากนะซี

“ขนาดปวดมากยังบอกว่าไม่มีความรู้สึก ไม่มีความรู้สึกอะไรจะรุนแรงไปกว่าความเจ็บปวดอีกแล้ว แต่เขากลับบอกว่าไม่มีความรู้สึก นั่นเป็นเพราะท่านมัวแต่มองหาบางสิ่งบางอย่าง คอยหาบางอย่างที่พิเศษ” ท่านโกเอ็นก้าสรุปท้ายเรื่องเล่า

และยังเล่าถึงผู้ปฏิบัติบางรายว่า เมื่อถูกถามว่ามีความรู้สึกในบริเวณนี้หรือไม่ เขาตอบว่าไม่พบความรู้สึกอะไรเลย  อาจารย์ก็ถามว่า แล้วเกาทำไม ?  เขาตอบหน้าตาเฉย-ก็เมื่อตะกี้รู้สึกคันนะสิ

หรืออีกบางคนมาบอก-โอ ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ผมปวดไปหมด เหมือนถูกกดทับ หนัก ร้อน เหงื่อออก เนื้อเต้นเหมือนที่ท่านพูดมาทั้งหมด แต่ไม่มีความรู้สึก

อาการทั้งหมดสำหรับกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ ไม่นับเป็นความรู้สึก เพราะเขามองหาแต่สิ่งที่พิเศษ

อีกรายที่ท่านโกเอ็นก้าเล่าถึง เป็นเพื่อนในวัยหนุ่มของท่านที่มาเรียนการปฏิบัติกับอาจารย์อูบาขิ่น  วันนั้นอาจารย์ไปดูเขาที่ห้องปฏิบัติเดี่ยว แล้วถามว่ารู้สึกอะไรไหม เขาตอบว่าไม่รู้สึกอะไรเลย  แต่อาจารย์สังเกตว่าเหงื่อเขาออกชุ่มเสื้อไปหมด ก็แนะนำให้สังเกตดูความร้อน ดูเหงื่อที่ไหลออกมา

“เขามองหน้าข้าพเจ้า มองท่านอาจารย์ราวกับว่าเราพูดเล่น  ให้สังเกตความร้อนงั้นรึ ? ให้ผมมาที่นี่เพื่อสังเกตความร้อน สังเกตเหงื่ออย่างนั้นรึ ท่านพูดเรื่องอะไรกัน ? เขาทำราวกับว่าเรากำลังพูดเรื่องตลก” ท่านโกเอ็นก้าเล่าเหตุการณ์ในอดีตเพื่อจะนำมาเป็นบทเรียนให้แก่ผู้ปฏิบัติในปัจจุบัน

“เราก็บอกว่า ฟังก่อน นี่แหละคือวิธีปฏิบัติ  ท่านต้องฝึกสังเกต ที่ผ่านมาท่านคอยแต่ตอบโต้ต่อเวทนา ต่อไปนี้ให้สังเกตมันแค่นั้นพอ”

เวทนาเป็นจุดสำคัญซึ่งท้ายที่สุดความสงบในจิตใจจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการตัดเวทนาทางกาย

นี้เป็นหัวข้อธรรมอีกเรื่องที่ท่านโกเอ็นก้าอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับเรื่องการทำงานของจิต ซึ่งประกอบด้วย ๔ ส่วน

ส่วนแรกเรียกว่า วิญญาณ คือการรับรู้สิ่งที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  จิตส่วนนี้เพียงแต่รับรู้ ไม่จำแนกหรือตัดสิน

ทันทีที่วิญญาณรับรู้ จิตส่วนที่ ๒ ที่เรียกว่า สัญญา คือการจำได้หมายรู้ จะจดจำและแยกแยะสิ่งที่วิญญาณรับรู้ และประเมินว่าเป็นบวกหรือลบ ดีหรือไม่ดี

พอสัญญาจำได้และประเมินค่า ส่วนที่ ๓ ของจิตก็จะทำงาน  จิตส่วนนี้เรียกว่า เวทนา คือความรู้สึกที่ร่างกาย

อย่างเมื่อมีเสียงมากระทบหู จิตส่วนแรกรับรู้  จิตส่วนที่ ๒ จำได้ว่านั่นเป็นคำพูดแบบไหน  จิตส่วนที่ ๓ ก็จะเริ่มทำงาน  หากสัญญาประเมินว่าเป็นคำชม ร่างกายก็รู้สึกโปร่งโล่ง เบาสบาย  หากเป็นคำด่าทอก็โกรธขึ้งตึงเครียด

ทันทีที่เวทนาเกิดขึ้น จิตส่วนที่ ๔ สังขาร ก็จะทำงาน  หน้าที่ของมันคือ ปรุงแต่ง ตอบโต้  ถ้าเป็นเวทนาหรือความรู้สึกที่สบาย มันก็จะปรุงแต่งว่าชอบ ต้องการอีก  ถ้าเป็นความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ ก็ต้องการกำจัดออกไป

การปฏิบัติธรรมคือการตัดเวทนาที่ทำให้ยินดีหรือขุ่นเคือง แล้วสังขารเก่าๆ ก็จะถูกชำระออกจากใจ

ในชีวิตประจำวันคนเราปรุงแต่งสังขารนี้กันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งท่านโกเอ็นก้าได้จำแนกออกเป็น ๓ ชนิด

อุปมาว่าสังขารชนิดแรกเหมือนการขีดเส้นบนผิวน้ำ เมื่อขีดแล้วไม่นานมันก็ลบเลือนไป

สังขารชนิดที่ ๒ เหมือนการขีดเส้นบนผืนทราย ขีดเส้นไว้ตอนเช้า ตกเย็นก็เลือนหายไปหมดแล้ว

แต่สังขารชนิดที่ ๓ นั้นเหมือนเส้นที่สลักบนแผ่นหิน

“สังขารชนิดที่ ๓ นี้เป็นอันตรายมาก และเป็นสังขารที่เราทำกันอยู่เป็นประจำซ้ำแล้วซ้ำเล่า” ท่านโกเอ็นก้ากล่าวในตอนท้ายๆ ของธรรมบรรยายในคืนที่ ๔ ก่อนจะเข้าสู่บทสรุปที่สำคัญที่สุดของหัวข้อธรรมนี้-ต่อชีวิตเราทุกคน

“ทำนองเดียวกันเมื่อถึงบั้นปลายชีวิต ไม่ว่าท่านจะอยากให้ถึงเวลานั้นหรือไม่ก็ตาม สังขารบางอย่างที่ฝังอยู่ลึกมากจะผุดขึ้นมาที่พื้นผิวของจิต  ขณะใกล้ตาย ในชั่วขณะจิตนั้นจะเกิดสังขารชนิดนี้ผุดขึ้นมา  ในเมื่อจิตดวงใหม่เป็นผลผลิตของจิตปัจจุบัน ดังนั้นจิตแรกของชีวิตใหม่ก็คือผลผลิตของจิตสุดท้ายในชีวิตนี้เหมือนกับเป็นพ่อลูกกัน”

การปฏิบัติธรรมจึงสำคัญชั่วชีวิตจนถึงลมหายใจสุดท้าย

“จิตสุดท้ายจึงมีความสำคัญมาก เราจึงต้องเรียนรู้ศิลปะในการตาย เพื่อที่จะได้ตายพร้อมรอยยิ้ม และนี่คือสิ่งที่วิปัสสนาสอนเรา” วิปัสสนาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ด้วยคุณธรรมยืนยัน

“แน่นอนว่าคนเราต้องตายด้วยกันทุกคน ไม่เว้นแม้แต่นักวิปัสสนา…แต่จากนักวิปัสสนาที่จากไป หลายร้อยรายที่เรารู้จัก ไม่มีรายใดตายอย่างไร้สติ ไม่มีรายใดตายพร้อมคราบน้ำตา หรือความหวาดกลัว ทุกคนตายพร้อมด้วยสติและรอยยิ้ม…อ้อ ความตายกำลังใกล้เข้ามา มันเข้ามาพร้อมกับเวทนาอย่างนี้นี่เอง เข้ามาแล้วมันก็ผ่านไป ไม่มีอะไรน่ากลัว  ท่านเฝ้าสังเกตเฉยๆ  ทำไมจะต้องร้องไห้ นี่เป็นการเลื่อนขั้น…ก็ไม่ร้องไห้ ในเมื่อพวกเขากำลังจะไปในที่ที่ดีกว่า เพราะได้รับการเลื่อนขั้น  นักวิปัสสนาจะไม่ร้องไห้ในยามตาย เพราะพวกเขาได้เรียนรู้ศิลปะในการตาย  และท่านจะมีศิลปะในการตายที่สมบูรณ์แบบก็ต่อเมื่อท่านได้ฝึกศิลปะในการดำเนินชีวิต  ถ้าตลอดชีวิตท่านเฝ้าแต่ร้องไห้ พอตอนตายท่านกลับต้องการ ฉันจะตายพร้อมรอยยิ้ม ย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นท่านต้องเรียนรู้ที่จะยิ้มได้ตลอดชีวิต”

ด้วยหลักที่ว่านี้จึงเป็นที่มาของคำจำกัดความการปฏิบัติวิปัสสนาในแนวทางท่านโกเอ็นก้าว่าเป็น “ศิลปะในการดำเนินชีวิต” ที่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายกำลังมานั่งเรียนรู้กันอยู่

เริ่มจากการฝึกฝนจิตให้วางอุเบกขาได้ ไม่ตอบโต้ต่อเวทนา ทั้งสิ่งที่น่ายินดีและไม่น่ายินดี

ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิบัติ เมื่อนั่งแล้วเกิดความปวดเมื่อย ท่านแนะนำให้ลองฝึกฝืน ไม่ตอบโต้ ไม่สร้างสังขารของความเกลียดชัง ให้เพียงแต่สังเกตดูเฉยๆ

ตอนเริ่มปฏิบัติ นั่งขัดสมาธิได้สัก ๑๕ นาที ข้าพเจ้าก็เมื่อยขาจนต้องสลับไปนั่งพับเพียบ เมื่อยก็เปลี่ยนกลับมานั่งในท่าขัดสมาธิอีก ขยับกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น

เมื่อลองฝึกที่จะฝืนทนต่อไปก็เริ่มทำได้เป็น ๓๐ นาที ลองทนต่อไปอีกจะเริ่มปวดเหน็บที่ข้อพับ ลงไปน่อง และแข้ง ข้อเท้า ฝ่าเท้า หนักเข้าอาการปวดจะเปลี่ยนเป็นชาจนเหมือนไม่รู้สึกว่ามีขา

แต่เมื่อทนต่อไปอาการปวดเหน็บก็ค่อยคลายไปเอง และกลับมาเกิดขึ้นใหม่อีก เป็นอยู่อย่างนั้น แต่ในวันถัดๆ มาก็ผ่าน ๑ ชั่วโมงไปได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนท่านั่ง

“ชั่วขณะเหล่านี้เป็นชั่วขณะที่มหัศจรรย์  เมื่อท่านเพียงเฝ้าสังเกตเฉยๆ เปรียบได้กับขณะที่ศีรษะของท่านโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ  จากนั้นเมื่อท่านเริ่มตอบโต้ ศีรษะท่านก็จมไปอยู่ใต้น้ำอีก…ชั่วขณะเหล่านั้นที่ศีรษะของท่านได้พ้นน้ำขึ้นมา เป็นเวลาที่ล้ำค่ามาก  ชั่วขณะเหล่านั้นจะยาวนานขึ้นเป็น ๒-๓ วินาที และเพิ่มเป็น ๒-๓ นาที เช่นนี้ท่านจะค่อยๆ พลิกฟื้นสถานะให้ดีขึ้น ปรับเปลี่ยนนิสัยอันเคยชินของจิต และหลุดพ้นจากความทุกข์นี้  เมื่อใดที่ท่านตอบโต้ และเผลอตอบโต้นานขึ้น ท่านจะพบว่าท่านกำลังจมลงไปในความทุกข์ จมดิ่งลงไปสู่ความทุกข์  จงออกมาจากความทุกข์เสียเถิด จงออกมาเสียเถิด นี่คือวิธีการปฏิบัติที่วิเศษ”

แล้วเชื่อมเข้าสู่ตอนจบของธรรมบรรยายประจำวันด้วยคำพรส่งเสริมกำลังใจผู้ปฏิบัติเช่นทุกครั้ง

“และท่านก็ได้มาที่นี่เพื่อจะฝึกปฏิบัติ เพื่อจะทำงาน  เวลา ๖ วันที่เหลืออยู่เป็นเวลาอันล้ำค่า ขอให้ท่านพยายามตั้งมั่นในวิธีปฏิบัตินี้ให้มาก และใช้ให้เกิดประโยชน์ตลอดทั้งชีวิต…จงใช้สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  จงใช้ธรรมะอันวิเศษนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ใช้วิธีปฏิบัติอันล้ำค่านี้เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ออกมาจากความเขลาทั้งมวลที่คอยแต่สร้างสังขารแล้วสังขารเล่า  จงออกมาเสียจากพันธนาการทั้งปวง ขอให้ท่านจงหลุดพ้น และได้ชื่นชมกับความสงบอันแท้จริง มิตรไมตรีอันแท้จริง ความสุขอันแท้จริง ความสุขอันแท้จริง”

ท้ายการแสดงธรรมบรรยายหรือท้ายบทสวดมนต์ ท่านโกเอ็นก้ามักกล่าวคำแผ่เมตตาเป็นเสียงสวดบาลี ๓ คำ

ภะวะตุ สัพพะ มังคะลัง

มีความหมายว่า ขอสรรพสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข

ผู้ปฏิบัติเก่าก็จะพากันกล่าว สาธุ สาธุ สาธุ  บางคนก้มลงกราบพื้น

ไม่มีข้อบังคับหรือชักชวนว่าผู้เข้าร่วมปฏิบัติต้องทำเช่นนั้น  ตรงกันข้ามท่านโกเอ็นก้าได้ย้ำตั้งแต่วันแรกว่า อย่าได้สักแต่ว่าทำกันไปจนกลายเป็นพิธีกรรม โดยไม่ได้เห็นร่วมหรือรู้สึกอย่างนั้นด้วยใจตน

หลังฟังธรรมบรรยายคืนนั้น เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้ายอมน้อมกายลงกราบ

ตอนเดินกลับลงมาจากห้องปฏิบัติรวม จันทร์ครึ่งดวงลอยเด่นอยู่กลางฟ้าไร้เมฆ ฉายแสงสลัวพอมองเห็นบรรยากาศรายรอบได้นวลตา  ฝรั่งบางคนหันหลังกลับไปยกมือไหว้องค์เจดีย์เหนืออาคารปฏิบัติธรรมที่กำลังอาบแสงจันทร์อร่ามเรือง

หายโกรธเร็วเท่าใด กำไรเท่านั้น

พร้อมกับการพาปฏิบัติให้ทุกคนเกิดประสบการณ์ตรงด้วยตัวเอง ท่านโกเอ็นก้าจะหยิบยกเอาข้อธรรมมาแจกแจงให้ผู้ปฏิบัติเกิดความเข้าใจไปด้วยตามลำดับ

ในคืนวันที่ ๕ (DAY 5) ท่านย้ำให้มองทุกข์สุขด้วยใจอุเบกขา โดยยกกรณีใกล้ตัวที่สุดเรื่องความเจ็บปวดทรมานจากการนั่งปฏิบัติมาเป็นตัวอย่างอุปมาอย่างจี้ใจคนฟังที่สุด

ดูเหมือนท่านจะรู้ใจผู้ปฏิบัติใหม่เป็นอย่างดีว่า ใน “ชั่วโมงอธิษฐาน” ซึ่งหลังจากรับคำสอนวิปัสสนาแล้ว จะมีวันละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๑ ชั่วโมง ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องนั่งโดย
ไม่เปลี่ยนท่านั่ง ไม่ขยับมือ และไม่ลืมตา

ในครึ่งชั่วโมงแรกยังพอทนได้ แต่พอผ่าน ๔๕ นาทีไปแล้วก็จะเป็นความทรมานอย่างแท้จริง  แต่ละนาทียาวนานเหมือน ๑ ชั่วโมง จนพานคิดไปว่านี่ต้องเกิน ๑ ชั่วโมงไปแล้วเป็นแน่ อาจารย์ผู้สอนอาจลืมดูเวลา

กระทั่งเสียงบทสวด อนิจจัง วัฏฏะ สังขารา… ของท่านโกเอ็นก้าดังขึ้นเป็นสัญญาณใกล้สิ้นชั่วโมงปฏิบัติ เสียงนั้นช่างแสนเสนาะเหลือเกินสำหรับคนที่กำลังปวดเมื่อยจนแทบสุดจะทน  แม้จะยังเหลือเวลาปฏิบัติต่อไปอีกราว ๕ นาทีก็ไม่กระไรแล้ว

แล้วท่านก็ย้ำว่า หากรักษาใจให้เป็นกลางในระหว่างเผชิญความเจ็บปวดในช่วงเวลาเหล่านั้นได้ นั่นแหละคือการพัฒนาจิตให้รู้จักวางอุเบกขา

การดูความเจ็บปวดของตัวเองนั้น ท่านแนะง่ายๆ ว่า ให้วางใจเหมือนเป็นหมอที่มาตรวจอาการ ซึ่งเขาจะเพียงแต่ตรวจดูความเจ็บปวด โดยไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดไปด้วย

แต่จะอย่างไรความรู้ทั้งหลายนี้จะเป็นความจริงแก่ใครได้ก็ต้องผ่านการลงมือปฏิบัติของใครคนนั้น

“กระบวนการนี้ไม่อาจสำเร็จได้โดยอาศัยเพียงเชาวน์ปัญญา  แน่ละ เราต้องใช้สติปัญญาเพื่อจะได้เข้าใจ  แต่ทั้งหมดนี้ท่านต้องประสบด้วยตนเอง วิธีนี้จึงจะให้ผล”

ผลที่ว่านั้นคือการเห็นความจริงด้วยตัวเองว่า อนิจจัง วัฏฏะ สังขารา–สังขารทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็
ดับไปตามธรรมชาติของมัน

“กฎของธรรมชาติมีอยู่ว่า เมื่อท่านหยุดสร้างสังขารใหม่เวลารับรู้ความรู้สึกที่ร่างกาย สังขารเก่าๆ ก็จะเริ่มลอยขึ้นสู่พื้นผิว สังขารทั้งหลายที่ท่านสะสมไว้ในอดีตที่นอนเนื่องฝังแฝงอยู่ในก้นบึ้งก็จะเริ่มลอยขึ้นมา และเมื่อมันลอยขึ้นมามันจะผุดขึ้นมาพร้อมกับเวทนาบางอย่าง ขณะที่มันลอยขึ้นมานั้นหากท่านรักษาอุเบกขาไว้ได้ ท่านไม่ตอบโต้ มันก็จะอ่อนกำลังลง อ่อนแรงลง อ่อนแรงลงจนดับไป”

ในการฝึกปฏิบัติเพื่อเอาสังขารเก่าๆ ที่นอนเนื่องออกไปจากก้นบึ้งจิตส่วนลึกนี้เองที่ท่านเปรียบว่าเป็นการ “ผ่าตัดใหญ่” ในการอบรมหลักสูตร ๑๐ วันที่อาจสร้างความปั่นป่วนทรมานจนบางคนอยากหันหลังกลับ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ ๖ ที่การผ่าตัดยิ่งลงลึก  ธรรมบรรยายในคืนนี้กล่าวถึงอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติ ซึ่งในพุทธศาสนาเรียกว่า นิวรณ์ ๕ (กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา)

ท่านโกเอ็นก้านำมาอรรถาธิบายอย่างเข้าใจง่ายที่สุด ไล่เรียงไปเป็นคู่

คู่แรกคือ ความอยาก กับ ความเกลียด ท่านว่าการที่ทุกคนมาเริ่มฝึกปฏิบัติก็เพื่อจะหลุดพ้นจากความอยาก และควรเข้าใจด้วยว่าแม้แต่ความอยากจะให้ถึงนิพพานก็เป็นความทุกข์ และเป็นการวิ่งสวนทางกับนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสภาวะที่ปราศจากความอยาก

เรื่องความโกรธเกลียด ท่านยกเหตุการณ์ในห้องปฏิบัติขึ้นมาเป็นตัวอย่างประกอบการอธิบายว่า “ในชั่วโมงอธิษฐานที่ต้องนั่งโดยไม่เปลี่ยนท่าและไม่ลืมตาตลอดชั่วโมง แต่เมื่อผ่านครึ่งชั่วโมงไปแล้วเราอาจรู้สึกทรมานจนแอบเผยอตาขึ้นแอบดูคนอื่นว่าเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง เจ็บปวดกันบ้างไหม  แล้วก็อาจไปเห็นว่าคนอื่นเขานั่งนิ่งปานพระพุทธรูป ก็ยิ่งขัดเคืองว่าคงมีแต่ฉันคนเดียวที่เจ็บปวด  การมาฝึกปฏิบัติก็เพื่อจะพ้นจากความโกรธ ก็ไม่ควรจะยิ่งไปเพิ่มพูนมัน”

ศัตรูคู่ต่อมาคือ ความง่วง กับ ความอยาก ทำนั่นนิดทำนี่หน่อย

“เมื่อคืนท่านนอนหลับสนิทดีแล้ว แต่พอมานั่งปฏิบัติ  ท่านกลับรู้สึกง่วงมาก ง่วงมาก ศัตรูตัวร้ายกำลังครอบงำท่าน”

พร้อมแนะวิธีแก้ “หายใจให้แรงขึ้น  ถ้ายังไม่ได้ผลและถ้าไม่ใช่ชั่วโมงปฏิบัติร่วมกันก็ให้ลุกขึ้นยืน  ถ้ายังไม่ได้ผลก็ออกไปเดินสัก ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาที  เฝ้าสังเกตความรู้สึกหรือลมหายใจ”

นอกจาก ถีนมิทธะ ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตกอยู่ในความง่วง ก็ยังมี อุทธัจจกุกกุจจะ ที่ทำให้ท่านฟุ้งซ่าน รำคาญใจ คือความอยากจะทำนั่นนิด อยากทำนี่หน่อย แต่ไม่อยากปฏิบัติ

และศัตรูร้ายตัวสุดท้ายคือ ความลังเลสงสัย ทั้งต่อวิธีการปฏิบัติ ตัวเอง และอาจารย์  ท่านเอาตัวเองเป็นตัวอย่างแบบขำขันว่า “อาจารย์ประเภทไหนกันนี่ อาจารย์ไม่เห็นไว้ผมยาวรุงรัง ไม่มีหนวดเครายาวเฟิ้ม แถมยังไม่โกนหัวด้วย ไม่ห้อยสร้อยลูกประคำเป็นพรวนรอบคอ เครื่องหมายบนหน้าผากก็ไม่มี ไม่มีอะไรที่จะแสดงว่าเป็นเกจิอาจารย์เลยสักนิด”

หากฝ่าฟันอุปสรรค ปฏิบัติก้าวหน้าไปได้ หยุดตอบโต้ความรู้สึกต่างๆ ก็จะเริ่มหลุดจากความทุกข์

ท่านแนะให้ประเมินตัวเองว่า เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น จากที่เคยเป็นทุกข์อยู่ ๘ ชั่วโมงจึงค่อยอารมณ์ดีขึ้น  หากหลังปฏิบัติแล้ว ๖ ชั่วโมงยิ้มได้ก็ถือว่ามีกำไร ๒ ชั่วโมงที่เป็นความสุข

ถ้าช่วงเวลาที่โกรธลดลงเหลือ ๔ ชั่วโมง ก็เป็นทุกข์แค่ ๔ ชั่วโมง

“ช่วงเวลาแห่งความทุกข์จะสั้นลงๆ เช่นนี้  นี่ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์”

อย่าเอา ! จงเพียงแต่ดู (ความเจ็บปวด)

การทำความเข้าใจในแต่ละข้อธรรมเป็นเรื่องไม่ยากจนเกินไป แต่การผ่าตัดใหญ่โดยวิธีวิปัสสนานั้นทำเอาข้าพเจ้าปวดระบมไปทั้งกายปานวิ่งขึ้นเขา

ตกบ่ายวันที่ ๖ (DAY 6) ข้าพเจ้าเริ่มเจ็บแน่นในอกข้างขวา รู้สึกหายใจไม่อิ่ม ปวดหนึบแถวสะบัก และตลอดแนวสันหลัง

ช่วงพักเย็นข้าพเจ้าปลีกมานั่งปฏิบัติคนเดียวที่ห้องพัก อาการหายใจไม่อิ่มยิ่งหนักหน่วงขึ้น ข้าพเจ้าเห็นสภาพตัวเองเหมือนปลาที่ถูกเอาขึ้นจากน้ำมาหายใจพะงาบๆ อยู่บนบก อ่อนล้า เข่าอ่อน แทบไม่มีแรงแม้แต่จะออกไปกินของว่าง วันนั้นเป็นวันแรกที่ข้าพเจ้างดมื้อเย็น

อยากบอกกับใครสักคนถึงความยากลำบากที่ตัวเองกำลังประสบ เผื่อว่าเขาอาจจะช่วยอะไรได้บ้าง แม้แต่คำปลอบก็ยังดี แต่ก็ติดที่กฎของการปฏิบัติไม่อนุญาตให้รบกวนกัน ได้แต่ชำเลืองดูเพื่อนร่วมปฏิบัติ ซึ่งหลายคนก็ดูอิดโรยและเคลื่อนไหวได้ช้าลงไปมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนรุ่นหนุ่มไปจนถึงผู้สูงวัย  มองเห็นคนรุ่นๆ พ่อเดินเนิบนาบช้าๆ ข้าพเจ้าคิดถึงพ่อขึ้นมาจับใจ ห่างพ่อห่างบ้านเกิดมาตั้งแต่เริ่มหนุ่ม ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอีก

ในที่สุดช่วงพักเย็นนั้นข้าพเจ้ากระซิบบอกธรรมบริกรว่ารู้สึกไม่ค่อยสบาย นั่นเป็นการพูดจาคำแรกนับแต่เข้าสู่การปฏิบัติธรรม ซึ่งกฎระเบียบได้ให้ข้อยกเว้นเอาไว้ในกรณีที่จำเป็น

บอกกับธรรมบริกรเพื่อจะขอไม่เข้าร่วมการปฏิบัติในช่วงค่ำ

อยากจะนอนพักอย่างที่เคยทำในยามไม่สบาย  ข้าพเจ้ายังนึกเลยเถิดไปว่าถ้าได้ออกซิเจนกระป๋องก็คงดี  เมื่อครั้งไปทิเบตแล้วเป็นโรคป่วยความสูง มีอาการคล้ายๆ กับที่เป็นอยู่ตอนนี้ ได้สูดออกซิเจนกระป๋องแล้วช่วยให้สดชื่นขึ้น

ธรรมบริกรสอบถามอาการ เมื่อเห็นว่าข้าพเจ้ายังพอพยุงตัวเองได้ก็บอกอย่างอ่อนโยนและสุภาพที่สุด แต่เด็ดขาดในเนื้อความว่า หากยังนั่งได้พระอาจารย์คงไม่อนุญาตให้ขาดในชั่วโมงปฏิบัติรวม

ค่ำนั้นข้าพเจ้าจำต้องถ่อสังขารพาตัวเองค่อยๆ ก้าวทีละก้าวไปยังห้องปฏิบัติรวม ซึ่งก็ได้การฝึกสติที่ดีไปอีกแบบ ให้เราจดจ่อและเท่าทันความรู้สึกในทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหว

การปฏิบัติวิปัสสนาค่ำนั้นเป็นไปท่ามกลางความเจ็บปวด เจ็บแน่นในอก หายใจไม่อิ่ม ปวดหนึบแถวสะบัก และสันหลังตลอดตัว  ลำพังแต่นั่งทรงตัวก็ลำบากแล้ว ปวดจนอ่อนล้า นึกอยากจะนอนราบลงไปกับพื้น แต่ก็ติดที่มีกฎห้ามนอนในห้องปฏิบัติรวม  จะคลานออกไปจากห้องเสียเลยก็คิดขึ้นมาได้ว่า เรามาที่นี่ก็เพื่อจะปฏิบัติ ก็ต้องอยู่กับการฝึกปฏิบัติจนถึงที่สุด

แล้วก็ได้พบว่า การอดทนให้ผลจริง

คำสอนต้นชั่วโมงบอกให้วางอุเบกขาต่อทุกสิ่งให้ได้ เพราะไม่ว่าอย่างไรทุกอย่างก็จะผ่านไปตามกฎธรรมชาติแห่งความเป็นอนิจจัง ไม่มีตัวเรา ของเรา ที่จะยึดเอาไว้ได้  ไม่ว่ากับสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ขอให้เราเป็นเพียงแต่เฝ้าดู

ข้าพเจ้าลองวางใจให้เป็นการดูความเจ็บปวด แทนการเป็นผู้เจ็บปวด ก็รู้สึกเกิดความผ่อนคลาย โปร่งโล่ง ผ่านช่วงเวลาครึ่งหลังของชั่วโมงปฏิบัติรวมมาได้อย่างปลอดโปร่ง

ตามกฎของการปฏิบัติ ห้ามไม่ให้สนใจคนอื่น ให้อยู่แต่กับตัวเอง แต่ข้าพเจ้าอดที่จะแอบสังเกตไม่ได้ว่า ในวันหลังๆ มานี้หลายคนดูอิดโรย ซึมเซา เชื่องช้า ซึ่งก็มีด้านดีหากเขาได้ใช้เป็นโอกาสในการตามดูความรู้สึกให้ทันในทุกขณะของการเคลื่อนไหวที่ช้าลง  เพื่อนนักปฏิบัติดูจะเจ็บป่วยกันมากขึ้น มีเสียงไอเสียงจามระงมอยู่ในห้องปฏิบัติรวมแทบตลอดเวลา โดยเฉพาะในยามที่เสียงคำสอนต้นชั่วโมงก้องดังขึ้น เสียงไอจามก็ดังระงมขึ้นทันที ทำให้ข้าพเจ้าไพล่นึกไปถึงงานสวดภาณยักษ์ ที่ว่ากันว่าคนมีปมผิดบาปอยู่ในตัวเองจะพากันออกอาการเมื่อเข้าไปนั่งอยู่ในพิธี

ความเจ็บป่วยไม่สบายของบรรดาผู้ปฏิบัติวิปัสสนานั้น บ้างก็ว่าเป็นภาวะขัดขืนของอนุสัยกิเลส หรือกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใต้สำนึก ซึ่งท่านโกเอ็นก้าเปรียบว่าเหมือนรอยขีดบนแผ่นหิน

เราคุ้นเคยกับการยอมตามกิเลส รู้สึกไม่สบายก็นอน เหน็ดเหนื่อยเมื่อยกายก็พัก  ครั้นความเคยชินนั้นถูกฝืนมันก็ฟ้องต่อเจ้าของสังขาร

ไม่ได้ถามเรื่องนี้ต่อพระอาจารย์จรูญ ปิยสีโล โดยตรงเพียงแต่เรียนท่านในช่วงที่เปิดให้ถามปัญหาว่า เจ็บแน่นในอกมาก

พระอาจารย์ผู้นำการปฏิบัติไม่ได้กล่าวถึงเรื่องที่บรรดาผู้ปฏิบัติกล่าวขานกัน ท่านเพียงแต่แนะนำว่าอย่าเคร่งเครียดจนเกินไป ให้ผ่อนคลายบ้าง คืนนี้ให้กลับไปนอนตามลมหายใจไปจนหลับ

ข้าพเจ้าทำตามที่พระอาจารย์แนะนำ กลับมาถึงห้องพักก็นอนแผ่ลงบนเตียง หลับตาตามรู้ลมหายใจเข้าออก

งานง่ายๆ อย่างนั้น แต่ในยามที่กายไม่สบายก็กลายเป็นเรื่องยากยิ่ง  ทุกจังหวะลมหายใจรู้สึกเจ็บแน่นในอก หลังไหล่ สะบัก ปวดระบม  ข้าพเจ้าวางใจให้เป็นผู้ดูความเจ็บปวด ไม่เป็นผู้เจ็บปวด ไม่เอาความเจ็บปวดมาเป็นของเรา

ไม่รู้แน่ว่าผ่านไปนานเท่าใดที่ข้าพเจ้านอนนิ่งอยู่กับการเฝ้าดูความเจ็บปวด จนขณะหนึ่งข้าพเจ้าเหมือนเห็นตัวเองมานั่งดูตัวเองอยู่ข้างเตียง แต่แปลกตรงที่ตัวข้าพเจ้าที่เป็นคนมานั่งดูนั้นเป็นผู้หญิง และดูเหมือนจะมีมากกว่า ๑ คน

แล้ววูบหนึ่งข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนร่างที่ลอยคว้างเบาหวิวของตัวเองร่วงปึงลงบนเตียง ! แล้วข้าพเจ้าก็หลุดจากภวังค์พร้อมอาการเจ็บแน่นทั้งหลายก็หายไปหมด

ได้ยินเสียงยุงตัวหนึ่งมาบินหวู่หวี่อยู่ข้างหู ข้าพเจ้าไม่รู้ว่ามันหลงเข้ามาอยู่ในห้องได้ตั้งแต่เมื่อไร  ตามธรรมดาเห็นยุงอยู่ในห้อง เราต้องจัดการมันทันทีเพื่อตัดความรำคาญ แต่ในยามนั้นข้าพเจ้าไม่คิดที่จะทำร้ายมันเลย  เรื่องการรับศีล ๕ มาตอนเริ่มปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่อีกความรู้สึกคือ ในราตรีที่เจ็บป่วยอยู่เดียวดาย มียุงตัวหนึ่งเป็นเพื่อนก็นับว่าดีแล้ว

คืนนั้นนอนไม่ค่อยหลับ ถึงได้รู้ว่าเพื่อนในอีกหลายห้องก็คงนอนไม่ค่อยสนิทเหมือนกัน  ได้ยินเสียงพูดของคนต่างชาติ ไม่แน่ใจว่าดังมาจากห้องไหน เพื่อนร่วมเรือนพักเดียวกับข้าพเจ้าเป็นชาวต่างชาติเสียกว่าครึ่ง  แรกที่ได้ยินข้าพเจ้านึกตำหนิว่าเขาคงแอบคุยโทรศัพท์ แต่นานไปก็เริ่มจับสังเกตได้ว่าเป็นเสียงเพ้อของคนนอนละเมอ และยิ่งแน่ใจเมื่อบางช่วงเขาร้องโหยหวนออกมาเหมือนอัดอั้นหรือเจ็บปวดกับอะไรสักอย่าง

คนที่ข้าพเจ้าจำเสียงได้แม่นเป็นหนุ่มเยอรมัน พักอยู่ห้องแรกเยื้องกับห้องข้าพเจ้า  เขาเป็นครูสอนศิลปะร่างสมาร์ตสูงใหญ่ แต่เสียงไอของเขาแหลมเล็กเหมือนเสียงไอของเด็ก จนข้าพเจ้าจำเขาได้ดี

คนที่ไอหนักมากและเสียงดังเป็นหนุ่มวัยรุ่นฟิลิปปินส์  ยิ่งในตอนที่เสียงคำสอนหรือเสียงสวดมนต์ของท่านโกเอ็นก้าดังขึ้นในห้องปฏิบัติรวม เขาจะไอโขลกออกมาอย่างรุนแรง ค่ำคืนในห้องพักเขาก็ยังไอต่อเนื่องจนไม่รู้ว่าจะมีเวลาได้หลับนอนตอนไหน

นอกจากไม่รู้สึกรำคาญเพื่อนผู้ทำลายความเงียบโดยไม่ได้ตั้งใจ ค่ำคืนนั้นข้าพเจ้ากลับอุ่นใจว่าในยามดึกดื่นที่เราตื่นอยู่ก็ยังมีคนที่นอนไม่หลับเช่นเดียวกับเรา

วางอุเบกขาได้ ก็ใกล้จุดหมายเข้าไปทุกที

“เป็นไปได้ว่าในช่วงนี้ผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจังอาจจะนอนหลับไม่สนิท”

ท่านโกเอ็นก้ากล่าวในช่วงแรกๆ ของธรรมบรรยายคืนวันที่ ๗ (DAY 7) ประสบการณ์จากการสอนธรรมมานับหลายสิบปีคงทำให้ท่านรู้จักและรู้ใจบรรดาผู้ปฏิบัติใหม่เป็นอย่างดี แล้วท่านก็ให้ข้อแนะนำพร้อมทั้งย้ำให้วางอุเบกขา

“บางกรณีก็อาจจะไม่ได้หลับเลยตลอดทั้งคืน นั่นก็ดี  ถึงจะนอนไม่หลับทั้งคืน แต่ท่านยังคงนอนหลับตาต่อไป ไม่หลับก็ไม่เป็นไร และท่านก็ดูความรู้สึกไป สังเกตความรู้สึกไป  ถ้าท่านเริ่มเป็นกังวล โอย ดูสิ นอนไม่หลับเลย เที่ยงคืนแล้วก็ยังไม่หลับ ตี ๑ แล้วก็ยังไม่หลับ ตี ๒ แล้วก็ยังไม่หลับ แล้ววันต่อมาท่านก็กลายเป็นคนป่วย นั่นเพราะท่านไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา  เพียงให้ท่านรับรู้ความรู้สึก ถ้าไม่มีความรู้สึก ก็ให้สังเกตลมหายใจอยู่ตลอดทั้งคืนด้วยจิตที่เป็นอุเบกขา วันรุ่งขึ้นท่านจะตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น ราวกับผ่านการนอนหลับที่ลึกมาก”

และหลังจากพูดถึงอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติไปเมื่อคืนก่อน คืนนี้ท่านโกเอ็นก้าพูดถึงมิตรทั้งห้า อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่ช่วยให้เห็นอนิจจังและวางอุเบกขาได้

คือการรักษาจิตที่เป็นอุเบกขาไว้ได้ เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง

นั่นก็หมายถึงว่าได้เข้าใกล้จุดหมายปลายทางเข้าไปทุกที  บนหนทางแห่งธรรมะอันบริสุทธิ์นั้นท่านเปรียบว่าเหมือนทางด่วนที่ตัดตรง ไม่คดเคี้ยวไปมา ไม่ใช่ตรอกมืดๆ ที่เดินเข้าไปแล้วต้องวกกลับออกมา แต่ทุกย่างก้าวจะพาไปสู่เป้าหมายสุดท้าย

ทั้งเกริ่นล่วงหน้าไว้ในคืนนี้ว่า หลังการปฏิบัติในช่วงเวลา ๘-๙ โมงเช้าของวันที่ ๑๐ (DAY 10) คำปฏิญาณเรื่องการรักษาความเงียบจะสิ้นสุดลง

“ความเงียบอันประเสริฐ จะไม่มีความเงียบอันประเสริฐอีกแล้ว มีก็แต่การพูดคุยอันประเสริฐละสิ” ท่านโกเอ็นก้าคาดการณ์ล่วงหน้าแบบขำขัน

และว่า

“แต่มันก็ยังเป็นวันที่สำคัญมาก เป็นวันที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะตลอดเวลา ๙ วันที่ได้ทำการผ่าตัดจิตในระดับลึก วันที่ ๑๐ แผลลึกนี้จะต้องได้รับยาสมานแผล และวิธีการที่ท่านจะได้เรียนรู้ในวันนั้นจะเป็นยาสมานแผลที่ดียิ่ง”

“ขอให้ปฏิบัติด้วยความอดทน และไม่ท้อถอย แล้วจะประสบความสำเร็จ”

แต่การฝึกปฏิบัติในวันที่ ๘ (DAY 8) และวันที่ ๙ (DAY 9) ยังคงความเข้มข้นจริงจัง  อาการปวดขา ปวดสะบักยังมีอยู่ แต่ก็เริ่มวางอุเบกขาได้มากขึ้น จากการฝึกซ้ำๆ ตามคำสอนและถ้อยคำให้กำลังใจที่ท่านโกเอ็นก้ามักกล่าวปิดท้ายคำสอนทุกครั้งว่า

“ขอให้ปฏิบัติด้วยความอดทน และไม่ท้อถอย แล้วจะประสบความสำเร็จ”

และในวันที่ ๘ นี้เองที่บรรดาผู้ปฏิบัติใหม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องปฏิบัติเดี่ยวได้เป็นครั้งแรก

ใบแจ้งถูกสอดเข้ามาทางช่องใต้บานประตูห้องพักแต่เย็นวันวาน ระบุให้ข้าพเจ้าใช้ห้องหมายเลข ๕๔ ได้ในวันที่ ๘ และ ๙ ช่วง ๐๔.๓๐-๑๗.๐๐ น.

อย่างไม่ลังเลหรือรีรอ ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะเข้าไปลองนั่งปฏิบัติตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่ระบุในใบอนุญาต

ห้องปฏิบัติเดี่ยวอยู่ใต้ฐานองค์เจดีย์ถัดเข้าไปด้านหลังของห้องปฏิบัติรวม เรียงติดกันเป็นแถวยาว ไล่ระดับกันขึ้นไปราว ๕ แถว จำนวนห้องครบตามจำนวนผู้ปฏิบัติในแต่ละรุ่น

แต่ละห้องขนาดกว้างพอนั่งได้คนเดียว ผนังปิดทึบทุกด้าน มีช่องเล็กๆ บนพื้น ๒ ช่องซ้ายขวาสำหรับให้ลมและแสงพอผ่านเข้ามาได้  ภายในสลัว สงัด นิ่ง เหมือนถ้ำ  และเมื่อเดินเข้าไปภายในห้องนั้นก็ได้กลิ่นเหมือนอยู่ในถ้ำจริงๆ

เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติอย่างยิ่ง ยามหัวรุ่งจนรุ่งสางผ่านไปอย่างต่อเนื่อง  หลับตาสำรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นบนร่างกายจากกลางศีรษะถึงปลายเท้า จากปลายเท้าถึงกลางศีรษะ  สัมผัสความรู้สึกที่หยาบ อย่างความปวด ทึบ แน่น เสื้อผ้าที่สัมผัสผิว ไปจนถึงความรู้สึกที่ละเอียด เบาสบาย ตลอดร่างกลับไปกลับมา

กระทั่งรู้สึกเย็นๆ เหมือนสายลมพัดผ่านกาย ทีแรกคิดว่าเป็นอุปาทาน จนได้ยินเสียงลมโยกยอดไม้วู่ไหวอยู่ภายนอก ถึงได้แน่ใจว่าสายลมยามอรุณพัดมาแล้ว

รายรอบอาคารปฏิบัติธรรมมีไม้ยืนต้นหลากหลายชนิด บางต้นเป็นไม้ผลัดใบ ซึ่งฤดูกาลได้เวียนมาถึงในช่วงนี้พอดี

ทุกวันในระหว่างชั่วโมงปฏิบัติธรรม ยามเราออกมาเดินยืดเส้นยืดสาย พักแข้งขาจากการนั่งปฏิบัติ  หากโชคดีเป็นจังหวะที่มีลมพัดมา เราก็จะได้เห็นใบสีเหลืองโรยของมันร่วงพรูสู่พื้น…เพื่อจะผลิใบใหม่ เป็นกำนัลน้อยๆ จากธรรมชาติ

ช่วง ๑๐ วันกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ได้มาอยู่ในศูนย์ฯ ธรรมกมลาเป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาล และถือได้ว่าเป็นรอยต่อในชีวิตของข้าพเจ้าด้วย–ระหว่าง ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมากับช่วงชีวิตต่อไปข้างหน้า

จากที่เคยเข้าใจธรรมะแต่ในแง่การอ่านการศึกษา แล้วได้มาลงมือปฏิบัติจริงครั้งแรกในชีวิต ได้สัมผัสประสบการณ์ทางธรรมะโดยตรง  จะมากน้อยเท่าใดก็ตาม แต่นั่นถือได้ว่าเป็นความรู้ของเราเองอย่างแท้จริง

ตอนกลับออกมาจากศูนย์วิปัสสนาธรรมกมลาในตอนสายวันที่ ๑๑ (DAY 11) ข้าพเจ้าไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไปแล้ว

ดังที่ท่านโกเอ็นก้าเปรียบว่า เมื่อเราดำน้ำลงไปในแม่น้ำ แล้วโผล่ขึ้นมา แม่น้ำไม่ใช่สายเดิมอีกแล้ว เพราะกระแสน้ำไหลผ่านไปอย่างต่อเนื่อง เป็นน้ำสายใหม่ และคนที่ดำน้ำก็ไม่ใช่คนเดิมเช่นกัน

ไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมหรือไม่ก็ตาม

พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่ก็ตาม จะมีผู้บรรลุธรรมหรือไม่ก็ตาม

ธรรมะก็ยังคงอยู่

กฎแห่งธรรมชาติอันเป็นนิรันดร์

ศูนย์วิปัสสนาในเมืองไทย

ศูนย์วิปัสสนาธรรมกมลา

๒๐๐ หมู่ ๑๓ บ้านเนินผาสุข ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
โทร. ๐-๓๗๔๐-๓๑๘๕, ๐๘-๙๗๘๒-๙๑๘๐

ศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา
๑๓๘ หมู่ ๓ บ้านห้วยพลู ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง
จังหวัดพิษณุโลก
โทร. ๐๘-๑๖๐๕-๕๕๗๖, ๐๘-๗๑๓๕-๒๑๒๘

ศูนย์วิปัสสนาธรรมธานี (สำนักงานใหญ่)
๔๒/๖๖๐ หมู่บ้าน เค.ซี. การ์เด้นโฮม ถนนนิมิตใหม่
เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร
โทร. ๐-๒๙๙๓-๒๗๔๔, ๐๘-๗๓๑๔-๐๖๐๖

ศูนย์วิปัสสนาธรรมสุวรรณา
๑๑๒ หมู่ ๑ ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
โทร. ๐๘-๖๗๑๓-๕๖๑๗

ศูนย์วิปัสสนาธรรมกาญจนา
๒๐/๖ หมู่ ๒ บ้านวังขยาย ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
โทร. ๐๘-๑๘๑๑-๖๑๙๖, ๐๘-๙๗๔๒-๘๔๙๐

ศูนย์วิปัสสนาธรรมสีมันตะ
๒๐๐ หมู่ ๑ บ้านหนองสร้อย ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
โทร. ๐๘-๖๔๓๑-๐๔๑๗, ๐๘-๖๔๒๓-๔๙๓๘

ศูนย์วิปัสสนาธรรมโปราโณ
๒๗๑ หมู่ ๔ ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา
จังหวัดนครศรีธรรมราช
โทร. ๐๘-๑๕๓๕-๘๒๐๗

ศูนย์วิปัสสนาธรรมปุเนติ (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)
บ้านนาสมบูรณ์ ตำบลโคกสะอาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
โทร. ๐๘-๐๑๙๗-๒๘๖๐

ศูนย์วิปัสสนาธรรมจันทปภา
๕๑ หมู่ ๑ ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี
โทร. ๐-๓๙๔๑-๘๘๒๑, ๐๘-๑๕๗๘-๐๘๑๔

…………………………..