งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง : ภาณุพันธ์ วีรวภูษิต
ภาพ : วชิรุตม์ พุทธรักษ์

wachiruth01

wachiruth02
wachiruth03
wachiruth04
wachiruth05
wachiruth06
wachiruth07
สิ่งแอบซ่อนยิ่งใหญ่, ในย่านตลาดน้อย

มีบางสิ่งแอบซ่อนอยู่ในบางอย่างเสมอ – เรารู้สึกเช่นนี้หลังจากใช้เวลาหนึ่งวันทะลุตรอกซอยวาณิช 2 ในชุมชนที่ตั้งชื่อไม่สมกับขนาดพื้นที่นามตลาดน้อย ที่นี่แทรกตัวอย่างเงียบสงบบนถนนเจริญกรุงท่ามกลางความวุ่นวายในย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพมหานครอย่างเยาวราช ถนนที่ได้ชื่อว่าเป็นไชน่าทาวน์นอกเมืองจีนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง

เราเดินกันเยอะและนานพอเหงื่อตก แต่ทุกก้าวที่สองเท้าพาไปเจอผู้คนแปลกหน้า อาคารบ้านเรือนแปลกตา และวัฒนธรรมน่าแปลกใจ คนโตมาในเมืองหลวงอย่างเราเลยอดตื่นเต้นและสงสัยไม่ได้ว่าชาวบ้านในชุมชนยังใช้ชีวิตธรรมดาอย่างเรียบง่าย ท่ามกลางเมืองใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงแทบทุกนาทีได้อย่างไร

แต่มีบางสิ่งแอบซ่อนอยู่ในบางอย่างเสมอ…ที่ชุมชนตลาดน้อยแห่งนี้ก็เช่นกัน

บางสิ่งที่ว่าคือความเปลี่ยนแปลง

ว่ากันตามประวัติศาสตร์ ย่านตลาดน้อยคือชุมชนชาวจีนที่ขยายมาจากสำเพ็งเมื่อครั้งเศรษฐกิจรุ่งเรือง ด้วยทำเลดีติดแม่น้ำเจ้าพระยา บวกกับมีถนนเจริญกรุงตัดผ่านและขุดคลองผดุงกรุงเกษม ไม่แปลกหากที่นี่จะเคยเป็นย่านการค้าสำคัญแห่งหนึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่รองรับการค้าขายทั้งทางบกและทางน้ำ จนพ่อค้าชาวจีนไหหลำอพยพขึ้นมาตั้งรกรากและโรงงานมากมาย อย่างโรงงานน้ำแข็ง โรงเลื่อย โรงสีข้าว แถมยังเป็นแหล่งค้าขายผลไม้สำหรับงานมงคลที่คนเฒ่าคนแก่รู้จักกันดี

วันเวลาผลักให้คนรุ่นก่อนตายจากไป และตลาดน้อยก็กลายเป็นชื่อแปลกหูของคนรุ่นเรา

ตลาดน้อยวันนี้แม้ยังมีบางสิ่งหลงเหลืออยู่จากอดีต แต่ก็ไม่เหมือนเก่า ทั้งอาคารบ้านจีนที่มีให้เห็นน้อยหลังจนสถาบันอาศรมศิลป์ต้องเข้ามาบูรณะฟื้นฟู ตลาดผลไม้เหลือเพียงไม่กี่เจ้าที่ยังขายอยู่ หรือแม้แต่ธุรกิจเซียงกงที่หล่อเลี้ยงผู้คนแทบทุกหลังคาเรือนซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทหารญี่ปุ่นว่าจ้างให้ช่างตีเหล็กของที่นี่ทำชิ้นส่วนเครื่องเรือให้ จนกลายเป็นแหล่งซื้อขายอะไหล่เครื่องยนต์เก่าแห่งแรกของกรุงเทพฯ ก็เริ่มขยับขยายไปยังสามย่าน หรือนอกเมืองอย่างบางนาหรือรังสิต ทำให้เซียงกงตลาดน้อยทุกวันนี้เป็นเพียงโรงเรียนอนุบาลของลูกจ้างที่มาตั้งตัวฝึกฝนอาชีพ ก่อนจะออกไปตั้งธุรกิจของตัวเองที่อื่นต่อไป

เมื่อไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน เจ้าของกิจการเซียงกงบางรายอย่างคุณสุรีย์ ฤกษ์ศิริสุข จึงต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามา ตัดสินใจเปลี่ยนห้องแถวเลอะคราบน้ำมันเหล็กเป็นเกสต์เฮ้าส์เล็กๆ ขนาดสิบห้องในซอยภาณุรังสี หลังจากที่ธุรกิจเซียงกงของสามีขยับไปตั้งที่รังสิตจนสร้างลูกค้าได้แล้ว

“เกสต์เฮ้าส์ของพี่อาจไม่ได้ทำให้ย่านตลาดน้อยดีขึ้น เพียงแต่เราไม่อยากปล่อยบ้านเก่าๆ ทิ้งไว้เฉยๆ ถ้าน้องเคยมาแต่แรก มุมนี้จะเป็นมุมอับปิดตาย ตอนนั้นพี่คิดแค่ว่าถ้าปรับปรุงใหม่ ในซอยก็จะสวยและสะอาดขึ้น” อดีตเถ้าแก่เนี้ยเซียงกงเล่าความคิดแรกเริ่มของการลงทุนรีโนเวตตึกแถวธรรมดาให้เป็นบ้านอุดมเกสต์เฮ้าส์ที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะมาได้เกือบสี่ปีแล้ว

แต่ชุมชนตลาดน้อยที่เงียบสงบเหมือนผู้คนหยุดเวลาไว้ในอดีต ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่หากพลาดแล้วจะเสียดาย หรือแม้กระทั่งผับบาร์เอาใจนักท่องเที่ยวยามราตรี ทำเราสงสัยว่าผลตอบรับของธุรกิจเป็นอย่างไร

คุณสุรีย์เฉลยให้เราฟังว่าทำเลตอบโจทย์ทุกอย่าง เพราะที่นี่ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพงแค่เดินไป 10-15 นาที พอให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปต่างจังหวัดไม่ต้องนั่งรถข้ามมาจากถนนข้าวสาร ยังไม่นับสถานีรถไฟใต้ดินหากใครอยากไปช้อปปิ้งใจกลางเมือง กับท่าเรือด่วนเจ้าพระยาที่พาไปส่งถึงวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังในเวลาไม่เกิน 10 นาที แถมได้ชมวิวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใครมากรุงเทพฯ ก็ห้ามพลาดฟรีๆ ครบเครื่องแบบนี้เลยเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้แบ็คแพ็คเกอร์ทั่วโลกกดจองห้องพักกันข้ามปี

ทำเลดีอย่างเดียวคงพาให้ธุรกิจอยู่รอดไม่ได้หากขาดบริการที่จริงใจ ที่บ้านอุดมเกสต์เฮ้าส์เน้นเรื่อง Service Mind ตั้งแต่การบอกเส้นทาง เรียกรถโดยสารและคอยกำชับราคาซื้อของให้ลูกค้าทุกคน ด้วยความช่างพูดช่างคุยของคุณสุรีย์เลยทำให้ลูกค้าพากันบอกปากต่อปาก บางรายสนิทถึงขั้นเป็นเพื่อนที่ยังติดต่อกันก็มี

“เราคิดเหมือนกับเราไปเที่ยวเมืองนอกแล้วมีคนมาแนะนำให้เราอย่างนี้ก็ดีสิ เราเลยทำอย่างนั้น” เจ้าของเกสต์เฮ้าส์อารมณ์ดีบอกกับเรา

ลัดเลาะผ่านซอยศาลเจ้าโจวซือกงไปไม่ไกล เราพบอาคารสูง 8 ชั้นที่ตั้งรับนักท่องเที่ยวแปลกหน้ามากว่า 27 ปี ที่ริเวอร์วิวเกสต์เฮ้าส์แห่งนี้เดิมทีเคยเป็นคอนโดมิเนียมให้เช่า เมื่อคุณไพลิน เพชรคล้ายมารับช่วงต่อบริหารงาน และกำลังส่งมอบให้กับรุ่นที่ 3 คือคุณบุษราคัม เพชรคล้าย ลูกสาว ก็ได้ปรับปรุงเป็นเกสต์เฮ้าส์ริมโค้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้วิวพระอาทิตย์ตกเป็นของแถมให้ลูกค้าทุกคนอย่างไม่มีวันหมดโปรโมชั่น

“จุดขายของชุมชนตลาดน้อยคือความสงบ สองคือวัฒนธรรมไทย-จีนซึ่งต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งเขาชอบ อย่างบ้านเก๋งจีนเก่าๆ หรือเซียงกงที่เมืองเขาไม่มีให้เห็น ยิ่งเรามีวิวริมแม่น้ำก็ตอบโจทย์แบ็คแพ็คเกอร์ เพราะเขาจะออกไปเดินเที่ยวเล่น ไม่อยู่แต่ในโรงแรมสูงๆ หรอก” คุณวิเชียร ผลทับทิม ผู้จัดการส่วนร้านอาหารตอบเมื่อเราถามว่าอะไรในตลาดน้อยที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามาในย่านนี้มากขึ้น

คำตอบหนึ่งที่คุณวิเชียรไม่ได้เอ่ย แต่ปล่อยให้เราสัมผัสด้วยตัวเองคือบรรยากาศยามเย็นบนพื้นที่เปิดโล่งส่วนร้านอาหารบนชั้นแปดของเกสต์เฮ้าส์ ลมเบาๆ ปะทะใบหน้าเราทำเอาความเหนื่อยล้าที่เดินมาทั้งวันลอยหายไปจนเราแอบเลือกคำตอบนี้เป็นเหตุผลส่วนตัวในใจ ก่อนที่คุณวิเชียรจะบอกว่าแม้แต่ชาวบ้านในชุมชนตลาดน้อยบางคนยังไม่รู้เลยว่าวิวสวยงามแบบนี้หาชมได้ไม่ไกลจากบ้านพวกเขาเอง

มุมมองจากผู้ประกอบการที่กล้าปรับเปลี่ยนสิ่งเดิมๆ ไม่ได้เห็นว่าการคิดทำธุรกิจใหม่ในย่านเก่าจะเป็นศัตรูของชุมชนหรือแข่งกับอาชีพเดิมของชาวบ้าน ตรงกันข้าม จะยิ่งทำให้คนในชุมชนตื่นตัวและพยายามดึงจุดเด่นของย่านให้ปรากฏในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้พร้อมจ่ายเพื่อให้ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่แล้ว

“ถ้าผมเป็นหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวนะ จะบอกว่าอาคารที่อยู่ในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือที่อนุรักษ์ไว้แต่ไม่มีคนอยู่ ถ้าเปิดให้คนเช่า เขาจะช่วยดูแลรักษาได้เยอะเลย อย่างบ้านเก๋งจีน ลองทำให้เป็นที่พักดีกว่าปล่อยไว้เฉยๆ อาจต้องหาคนมีประสบการณ์ มีความรู้เข้ามาจัดการ เรามีจุดขายอยู่แล้วแต่ไม่รู้จะทำยังไงกับมัน” คุณวิเชียรเสนอแนวทางพัฒนาย่านเก่าเพื่อตอบรับกับเศรษฐกิจท่องเที่ยวของไทยที่เติบโตไม่หยุด และทิ้งท้ายว่าในอนาคต คนในชุมชนคงเริ่มทำธุรกิจเกสต์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับชาวบ้านจะได้แบ่งประโยชน์จากพื้นที่ร่วมกัน เพียงแต่มีข้อจำกัดว่าต้องเติบโตอย่างมีขอบเขต “อย่าทำให้เหมือนถนนข้าวสารที่เปิดบาร์ให้ฝรั่งมานั่งกินเหล้า”

ความคิดนี้คล้ายกับที่คุณสุรีย์บอกเราว่า การเปลี่ยนเซียงกงเป็นเกสต์เฮ้าส์ที่เธอทำคงไม่ส่งผลให้ตลาดน้อยดีขึ้นหรือแย่ลงจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพียงชั่วคราว แต่สิ่งที่จะทำให้ย่านจีนแห่งนี้ได้รับความสนใจจากคนนอก คือคนในชุมชนต้องกล้าคิด พัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิมแต่ยังไม่เห็นคุณค่าให้มีความหมาย เพราะสิ่งที่ขาดหายของตลาดน้อยคือแหล่งท่องเที่ยวหรือพื้นที่สาธารณะที่จะดึงคนนอกชุมชนให้รู้จักที่นี่มากขึ้น

“ฝรั่งที่มาพักเขาเดินรอบๆ แป๊บเดียวก็ถามเราว่าจะไปไหนต่อดี ที่นี่ไม่มีอะไรดึงดูดให้เขาอยู่กับเรา ทั้งที่จริงๆ มันมีสิ่งที่สวยงามอยู่ คนในชุมชนมีพร้อมทั้งบ้านและเงิน เพียงแต่เขายังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี” คุณสุรีย์เอ่ยถึงความต้องการของคนในชุมชนที่อยากรักษาภูมิทัศน์ซึ่งหาไม่ได้ที่ไหนในกรุงเทพฯ ไว้เช่นกัน หลังจากพูดคุยกับสถาบันอาศรมศิลป์ร่วม 2 ปี ในที่สุด โครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำตั้งแต่หน้าศาลเจ้าโจวซือกงถึงศาลเจ้าโรงเกือกก็ได้รับความร่วมมือดี ความฝันที่เราจะวิ่งออกกำลังกายไปพร้อมกับมองพระอาทิตย์ตกดินในกรุงเทพฯ เลยดูไม่ห่างไกลจนเกินไป

แน่นอนว่าเกสต์เฮ้าส์ย่อมไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยวในย่านตลาดน้อย อีกสิ่งที่กำลังเติบโตและเป็นผู้พานักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาชิดใกล้ชาวบ้านจนถึงรั้วประตูก็คือการปั่นจักรยานชมวิถีชีวิตโดยบริษัท โค แวน เคสเซ่ล บางกอก ทัวร์ ก่อตั้งโดยคู่หูต่างวัย คุณจาโคบัส แวน เคสเซ่ล ชาวเนเธอร์แลนด์กับคุณจันทร์มณี พลภักดีที่เพิ่งย้ายมาตั้งสำนักงานที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้เมื่อต้นปีที่แล้ว

“นักท่องเที่ยวที่มาปั่นรอบๆ ชุมชนตลาดน้อยเขาจะเห็นครบทุกอย่าง ไล่ตั้งแต่เยาวราชที่เป็นย่านสีสันอาหารการกิน ไปสำเพ็งก็เป็นย่านค้าขาย มาจนถึงเซียงกงอย่างในตลาดน้อยนี้ แล้ววิถีชีวิตก็มีหลากหลายทั้งคนไทย จีนฮกเกี้ยน จีนแคระ มุสลิม ถ้าลูกค้ามีเวลาแค่ 3 ชั่วโมงจะเที่ยวกรุงเทพฯ มาที่นี่ก็ได้เห็นวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ โดยรวมได้เลย” วรรณภา พงษาชัย หรือพี่อ๋อ ผู้จัดการการตลาดเล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้มเปื้อนหน้า

พี่อ๋อยืนยันเสียงหนักแน่นว่าทัวร์จักรยานของโค แวนไม่เพียงจะเป็นการท่องเที่ยวปลอดมลพิษกับชุมชน แต่เมื่อต้องพาเข้าไปเยือนบ้านเรือนในตรอกซอยเล็กๆ ก็จะให้นักท่องเที่ยวค่อยๆ จูงจักรยานเดินผ่านหน้าบ้านให้ได้ชะเง้อคอมองดูวิถีที่เป็นอยู่จริง แถมยังช่วยอุดหนุนขนม นม น้ำดื่มจากร้านอาม่าอาแปะ ได้ทักทายพูดคุยพักเหนื่อยกันไป

“ชาวบ้านอาจไม่ได้เข้ามาคุยกับเราเองก็จริง แต่ระหว่างทางเขาก็ต้อนรับลูกค้าเรา มีบ้างที่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาหยุดอยู่หน้าบ้านเขา หรือถามว่าพาฝรั่งมาดูทำไม ไม่เห็นมีอะไรเลย”
แต่ความไม่มีอะไรแสนธรรมดาในสายตาเจ้าบ้าน คือความพิเศษและแตกต่างในสายตานักท่องเที่ยวผู้มาเยือน

สิ่งที่โค แวนแตกต่างจากทัวร์อื่นๆ ที่เราคุ้นเคย คือไม่ไปเตี๊ยมกับชุมชนถึงโปรแกรมทัวร์ในแต่ละวัน แต่ละรอบการปั่นจึงอาจไปเจอกิจกรรมที่ไม่เหมือนกัน อย่างเทศกาลไหว้เจ้าที่จัดขึ้นปีละครั้ง หากใครมาเที่ยววันนั้นพอดีก็ถือเป็นของแถม สิ่งที่จะพาไปเจอเลยเซอร์ไพร้ส์ทั้งลูกค้าและไกด์พาเที่ยว

“พี่รู้สึกว่าทุกครั้งที่เราพยายามจัดงานสักอย่างให้ต่างชาติเข้ามาดู แล้วให้คนไปแต่งชุดไทย นั่งแคะขนมครกมันไม่ใช่หรอก เราพยายามบอกกับชุมชนว่า วิถีชีวิตที่เขาอยู่เป็นอย่างไรก็ทำให้มันเป็นปกติ ไม่ต้องเฟคอะไรเลย แล้วมันจะน่าสนใจ” พี่อ๋อทิ้งท้ายกับเรื่องจริงที่เราอดเห็นด้วยไม่ได้
หวังว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่กำลังรุกคืบผ่านการก่อสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินบนถนนเจริญกรุง นักท่องเที่ยวจะยังคงสัมผัสเสน่ห์ของตลาดน้อยที่มีอยู่อย่างพอดี หากคนในพื้นที่ตั้งรับและปรับตัวได้ดีพอ

ก่อนจากย่านจีนเก่าแก่ เราไม่ลืมทำตัวเป็นนักท่องเที่ยวที่ดีตามคำแนะนำของไกด์บุ๊กชื่อดัง บันไดเหล็กแคบๆ พาขึ้นไปยังดาดฟ้าของริเวอร์วิวเกสต์เฮ้าส์ที่เปิดโล่งให้เห็นกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาคั่นกลาง พระอาทิตย์ยามเย็นแหวกกลุ่มเมฆสีฟ้าครามส่องแสงสุดท้าย เราปล่อยเวลาจนกว่าจะเห็นมันหล่นหายไปกลางแม่น้ำ โดยไม่หันกลับไปมองกลุ่มตึกสูงน่าเบื่อที่เราหน่ายจะมองในชั่วโมงเร่งด่วน

ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่อยากบอกว่าตัวเองโชคดีที่ได้เห็นบางสิ่งซึ่งแอบซ่อนไว้ในย่านนี้

เราอยากให้เจ้าของบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่ค้นพบในสิ่งที่เรายังไม่เห็นมากกว่า นั่นแหละคือความโชคดี

ที่ยังคงมีบางสิ่งแอบซ่อนอยู่ในบางอย่างเสมอ