งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง : อมรรัตน์ รูปสว่าง
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ

ตามรอยนิราศชมตลาดสำเพ็ง

รถเข็นหมูสะเต๊ะรถเข็น เข็นขายบริเวณศาลเจ้าโจวซือกง ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ เป็นสถานที่ ที่ชาวไทยเชื่อสายจีน ให้ความเคารพ และศรัทธา ทั้งยังเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในชุมชนตลาดน้อย ในเวลาที่มีผู้คนมากราบไหว้ รถเข็นขายของเหล่านี้ก็จะมีรายได้จากคนมาไหว้เจ้านั่นเอง

…ก่อนอื่นต้องกระซิบบอกคุณผู้อ่านว่า  เราสะกดรอยตามนายบุศย์มาจนถึงตลาดน้อยแห่งนี้…

‘นิราศชมตลาดสำเพ็ง’ของนายบุศย์  กวีสมัยรัชกาลที่ ๖…เชื่อว่าหลายคนคงไม่คุ้นชื่อนิราศเรื่องนี้นัก  รวมถึงไม่คุ้นชื่อนายบุศย์คนนี้ด้วย  แต่ถ้าหากลองอ่านสักครั้ง  ก็อาจจะตัดสินใจมาเดินเล่น  ตามรอยทางแห่งความหลังสมัยเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วเหมือนเราก็ได้  คงสนุกน่าดู  ถ้าเราได้ย้อนอดีตไปพร้อมๆกับมองภาพปัจจุบัน  ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง…ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยครั้งกระนู้นหรืออาจจะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้…จุดสิ้นสุดของนิราศชมตลาดสำเพ็งและจุดสิ้นสุดของย่านจีนที่ขยับขยายตัวมาจากสำเพ็งก็คือที่นี่… ‘ตลาดน้อย’…แขวงตลาดน้อย  เขตสัมพันธวงศ์  กรุงเทพฯ  ย่านการค้าและท่าเรือสำเภาที่สำคัญของชาวจีนฮกเกี้ยนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ซึ่งหลายสิ่งได้เลือนหายไปแล้วจากที่นี่  หลายสิ่งยังคงอยู่  และหลายสิ่งก็เกิดขึ้นมาใหม่ทดแทนเช่นกัน  ในนิราศ…บทบาทของตลาดน้อยไม่มากนัก  แต่ในวันนี้  ‘ตลาดน้อย’  จะได้เป็นจุดเริ่มต้น-เป็น‘หัวใจ’ ของเรื่องราวทั้งหมด  ที่สำคัญ  คุณผู้อ่านกำลังจะได้ร่วม ตามหาเงาอดีตและจิตวิญญาณของที่นี่ไปพร้อมๆกับเรา…

sampeng02

ภาพร้านอะไหล่เก่า ย่านเซียงกงเป็นภาพที่นึกขึ้นมาในสมองภาพแรกเมื่อคนนึกถึงตลาดน้อย แต่ในความเป็นจริง การค้าอะไหล่พึ่งจะเริ่มเฟื่องฟูสมัยยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

sampeng03

พ่อค้าอะไหล่เก่าย่านเซียงกง ในชุมชนตลาดน้อยกำลังนำผ้าใบมาคลุมอะไหล่เก่ามากมายที่กองอยู่ เพื่อเตรียมจะปิดร้านในวันหยุดนักขัตฤกษ์

นู่นไง  นายบุศย์เดินมาถึงตรอกเซียงกงแล้ว…เริ่มไปกันเลยนะ

“…ลงสะพานที่ข้ามนามเขาบอก  ว่าปากตรอกเซี่ยงกงคิดสงสัย  เป็นชื่อจีนยากแท้แปลเป็นไทย  ไม่เข้าใจที่จะแจ้งแสดงการ…”

เราเดินเข้าไปในซอยเล็กๆข้างศาลเจ้าเซียงกง  และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตรอกเดียวกับที่นายบุศย์ว่าไว้  ลองถามคนแถวนั้นเขาก็บอกว่านี่แหละตรอกเซียงกง  แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่แน่ชัดว่าเป็นตรอกในนิราศรึเปล่า  เพราะสองข้างทางไม่มีตึกเก่าหลงเหลือให้ดูเป็นสัญลักษณ์หรือร่องรอยเลย  เปลี่ยนเป็นตึกแถวไปหมดแล้ว  ทั้งซอยมีแต่ร้านขายอะไหล่เก่าและเสียงก๊องๆแก๊งๆของเหล็กถูกตีกระทบเหล็ก  ซอยนี้มีทางออกสองทาง  ทางหนึ่งออกไปทะลุซอยเจริญพานิชย์  และอีกทางหนึ่งทะลุซอยวาณิช ๒  ไม่แนะนำให้สาวๆมาเดินเล่นที่นี่คนเดียว  อาจจะถูกแซวตั้งแต่ต้นซอยยันท้ายซอยได้  เพราะแถวนี้มีแต่ ‘นักตีเหล็ก’ หนุ่มๆทั้งนั้น

เซียงกง  ถ้าแปลเป็นภาษาไทย  ก็คงประมาณว่า  ‘ปู่เจ้าเทวดา’  แต่เป็นเรื่องตลกที่คำว่า  เซียงกง  นี้  แทบไม่ได้ทำหน้าที่ตามความหมายเลย  เวลาพูดถึงเซียงกง  สาบานว่าเรามักนึกถึง อะไหล่เก่า  เป็นอันดับแรก  นั่นก็เพราะที่นี่เป็นต้นกำเนิดตลาดค้าอะไหล่เก่าของเมืองไทยนั่นเอง  แม้ในวันนี้จะมี  เซียงกงบางนา  เซียงกงวังน้อย  หรือเซียงกงรังสิต  แต่เซียงกงตลาดน้อยแห่งนี้แหละที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เซียงกงต้นตำรับ’  รวมถึงเป็นโรงเรียนเพาะกล้าเถ้าแก่อะไหล่ยนต์ของเมืองไทยมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น

น่าเสียดายที่ตลาดอะไหล่เก่าเซียงกง  เกิดหลังนิราศเรื่องนี้อยู่หลายสิบปี  ไม่อย่างนั้นเราคงจะได้รู้ว่าเมื่อนายบุศย์มองเห็นอะไหล่  แล้วจะนึกถึงอะไรเกี่ยวกับนาง  ตามแบบนิราศทั่วไปที่ต้องชมทางไปพร้อมๆกับชมนาง  ธุรกิจอะไหล่เก่าของที่นี่เกิดขึ้นก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่เท่าไหร่  ต่อมาเมื่อสิ้นสงคราม  ตลาดอะไหล่เก่าที่นี่ก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น  เรียกว่าเป็นยุคเฟื่องฟูก็ได้  จากการรับซื้ออะไหล่รถเก่าที่เคยใช้ประจำการในสงครามซึ่งมีจำนวนมาก

“…ที่ถามว่าเดี๋ยวนี้ที่นี่ซบเซาลงกว่าเมื่อก่อนจริงไหมน่ะ  จริง  เรียกว่าซบเซาลงมากก็ได้  หนึ่งก็เพราะเศรษฐกิจไม่ดี  มันเชื่อมโยงกันหมด  ลูกค้าส่วนมากเป็นเกษตรกร  เขาไม่มีเงิน  เราก็เงียบ  และอีกอย่างถ้าช่องทางมันดีกว่า  หลายร้านเขาก็ขยับขยายออกไปที่แหล่งอื่นกัน…”  อาเฮียแถวๆวัดญวนตลาดน้อยได้ตอบไว้

sampeng04

ผู้ศรัทธาในองค์เจ้า โจวซือกง นัดมาเดินไหว้องค์เจ้า ในทุกๆ วันพุธ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อแสดงความศรัทธาที่มีต่อองค์เจ้า

นั่นๆ  นายบุศย์ไปต่อแล้ว  รีบเดินเร็วเข้าสิ

“…ถึงปากตรอกเขียวซือก๋งพะวงคิด  แห่งสถิตเจ้ามีอยู่ที่ศาล  องค์อารักษ์ศักดิ์สิทธิ์พิสดาร  ใครบนบานสมมาดไม่คลาดคลาย  ท่านศักดิ์สิทธิ์นักหนาจีนว่าเฮี้ยน  เจ๊กฮกเกี้ยนนับถือการซื้อขาย  ย่อมบนบานศาลกล่าวกับเจ้านาย  มิได้วายไหว้เจ้าเหล่าอาเฮีย…”

เราเดินผ่านทางเดินหินอับเฉาเข้าไปในศาลเจ้า  เพียงก้าวแรก…กลิ่นอายแห่งความขลังก็ลอยเข้ามาปะทะหน้าเราอย่างจัง  ไม่ใช่แค่ความเป็นจีน  แต่ที่นี่ยังอวลไปด้วยความเชื่อ  ความศรัทธา  ของเหล่าอาม่า  อากง  อาอี๋  ยิ่งวันนี้พร้อมใจกันนุ่งขาวห่มขาวมาสวดมนตร์ประจำสัปดาห์กันที่ศาลเจ้า  ก็ยิ่งดูขลังเข้าไปใหญ่  รูปปั้นมังกรสอนลูกและรูปปั้นเสือแหกคอกที่นูนออกมาจากกำแพงด้านทิศเหนือและใต้นั้นล้วนมีคติธรรมแฝงอยู่  หรือจะเป็นรูปปั้นเล็กๆของเหล่าตัวละครในเรื่องไซอิ๋วและนางพญางูเขียวที่อยู่บนกำแพงก็ดูร่าเริงและมีชีวิตชีวามากทีเดียว  ที่ขาดไม่ได้เลยคือ  ‘หลวงพ่อโจวซือกง’  หรือ  ‘อากง’  ของชาวตลาดน้อย

คนที่นี่ศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโจวซือกงมาก  เมื่อร้อยปีที่แล้วเป็นอย่างไร  ถึงปัจจุบันความศรัทธาได้ถูกส่งผ่านจากรุ่นต่อรุ่น…ศาลเจ้าโจวซือกงแห่งนี้ยังคงศักดิ์สิทธิ์ไม่เสื่อมคลาย  แต่เรื่องที่ขึ้นชื่อที่สุดไม่ใช่ด้านการทำมาค้าขายแบบที่นายบุศย์บอกไว้  ตามประวัติหลวงพ่อโจวซือกงองค์นี้เป็นพระจีนที่เชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพร  บรรดาผู้มาขอพรก็เลยเชื่อและนิยมมาขอพรเรื่องสุขภาพกันเสียมากกว่า

“องกงศักดิ์สิทธิ์มากเลยเหรอคะ”
“มาก  นี่เชื่อเลย”  ลุงจอร์จผู้ดูแลศาลเจ้าโจวซือกงตอบเสียงกึ่งภูมิใจ  “ที่นี่ไม่มียาหรอกนะ  แต่พอคนมาขอ  อากงจะดลบันดาลให้เจอยา  รึว่าวิธีรักษาที่ถูกโรคเอง”

sampeng05

พระประธาน ภายในโบสถ์ ของวัดญวน ที่ทองอร่ามตา แสดงให้เห็นถึงศิลปะที่งดงามของชาวญวน แต่ในปัจจุบันในตลาดน้อย ไม่มีชาวญวนอาศัยอยู่แล้ว

นายบุศย์เดินออกไปแล้วนะ  เร็วหน่อยสิ  เดี๋ยวตามไม่ทัน

“…ถึงปากตรอกวัดญวนกลับหวนคิด  ให้ร้อนจิตเคืองใจมิได้หาย  เฝ้าออกชื่อญวนอยู่ไม่รู้วาย  แกล้งภิปรายเยาะกันเป็นฉันใด…”

ลมเย็น…ใต้ต้นโพธิ์หน้าวัดอุภัยราชบำรุงเลยน่านั่งเล่น  ที่โต๊ะเหล็กพับได้ใต้ร่มต้นไม้นั้น  อาเฮียกับอาซิ่มกำลังนั่งคุยกันอย่างออกรส

“วันนี้โบสถ์ปิดเหรอคะ”  เราเข้าไปถาม  พลางชี้ไปทางโบสถ์ญวนที่ดูยังไงก็คล้ายศาลเจ้าจีนมากกว่าจะเป็นวัด

“อือ  วันนี้พระไปกิจนิมนต์กันหมด”  อาเฮียตอบก่อนจะถามต่อ  “อยากมาดูอะไรล่ะ”

“อยากรู้ว่าวัดนี้มีพระรึเปล่า  แล้วถ้ามี  พระญวนเป็นยังไง  ไม่เคยเห็นค่ะ”

“มีสิ  พระญวนก็ใส่จีวรเหมือนพระไทยนี่แหละ  แต่ก็สวมกางเกงด้วยเหมือนพระจีน  เวลาท่านลงมาสวดมนต์เย็นบางทีก็สวมจีวรสีเทามาสวด  ก็แล้วแต่ท่านน่ะนะ  ว่าจะนุ่งเทาหรือนุ่งเหลือง  เวลาท่านสวดก็สวดทำนองญวน”  อาเฮียเล่าละเอียดยิบ  “วัดนี้  มีมาก่อนตั้งแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้ว  แต่เริ่มสร้างเป็นวัดจริงจังสมัยรัชกาลที่สี่  เพราะท่านเสด็จผ่านตรงนี้  เมื่อก่อนที่นี่เป็นกระต๊อบไม้เก่าๆ  ท่านเลยโปรดฯให้สร้างเป็นวัด  แต่มาสร้างเสร็จสมัยรัชกาลที่ห้า  อุภัยแปลว่าสองใช่แมะ  นี่ไง  เป็นวัดที่สองรัชกาลท่านทรงบำรุง  แต่เขาชอบเรียกกันติดปากว่าวัดญวนตลาดน้อย  เคยได้ยินไหม  วัดนี้เป็นวัดแรกในเมืองไทยนะ  ที่รับทำพิธีกงเต้ก”

“โอ้โห  เล่าเก่งจังเลยค่ะ”

“ก็คนมาถามบ่อย…”  เฮียตอบยิ้มๆ  แต่ซิ่มแทบไม่พูดอะไรตั้งแต่แรก  แกได้แต่ยิ้มตามเฮีย  “เราก็เลยต้องรู้ไว้  เผื่อคนมาถาม  เขาชอบมีกิจกรรมจัดให้คนมาเที่ยว  มาเที่ยวแล้วแต๊มป์บ้าง  แล้วนี่มาจากไหนล่ะ…”  สุดท้าย  เราก็ได้ดูโบสถ์วัดญวนกันสมใจ  ด้วยบารมีของเฮียแท้ๆ  เมื่อประตูสีแดงที่สลักตัวอักษรจีนสีทองเต็มไปหมดเปิดออก  เราจึงเห็นกระถางธูปแบบจีนสามใบตั้งเด่นอยู่บนโต๊ะขวางทางเข้าเป็นอันดับแรก  พอเดินผ่านโต๊ะกระถางธูปเข้าไป  พระประธานองค์สีทองก็ปรากฏต่อหน้าเราได้ถนัด  หลักๆก็มีพระประธานองค์ใหญ่  พระสาวกซ้ายขวา  และมีพระพุทธรูปขนาดเล็กตั้งลดหลั่นลงมา  คล้ายกับวัดไทย…เราพยักหน้าเข้าใจ

…อ๋อ…รู้แล้ว  พระญวนไม่เหมือนพระไทยก็ตรงจีวรนั่นเอง…‘พุทธัง  สระณัง  คัจฉามิ’..เหมือนได้ยินเสียงนี้แว่วมาจากที่ไกลๆ. 

sampeng06

หญิงมีอายุผู้ดูแลศาลเจ้าโรงเกือกใช้ชีวิตประจำวันของเธอ อย่างสงบ และเงียบเหงา ต่างจากสมัยก่อนที่ศาลเจ้าแห่งนี้ เต็มไปด้วยผู้คนมากมายแวะเวียนกันมาไหว้พระทำบุญ พักผ่อน ที่ศาลเจ้าแห่งนี้

เราว่า  เลิกสะกดรอยตาม  แล้วเดินไปพร้อมๆกับนายบุศย์เลยดีกว่าไหม

“ถึงปากตรอกเจ้าสัวสอนแต่ก่อนเก่า  เขาลือเล่าพงศ์เพศเศรษฐี  ประกอบทรัพย์นับถังด้วยมั่งมี  แต่เดี๋ยวนี้สิ้นบุญสูญบันดาล…”

เจ้าสัวสอน(หลวงอภัยวานิช)เป็นลูกชายของพระอภัยวานิช(เจ้าสัวจาค)แห่งบ้านโซว เฮง ไถ่  เจ้าสัวสอนคนนี้เจริญรอยตามบิดาในการเข้ารับราชการกรมท่า  และได้บริหารกิจการเรือสำเภาโปเส็งของครอบครัวจนถึงยุครุ่งเรืองสูงสุด  แต่เป็นสัจธรรมที่ไม่มีอะไรอยู่ยั้งยืนยง  ธุรกิจเรือสำเภาโปเส็งเริ่มส่อแววเสื่อมความนิยมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓และถูกแทนที่ด้วยเรือกลไฟอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา  กิจการเรือสำเภาของตระกูลนี้จึงต้องปิดตัวไปในที่สุด  เป็นเหตุให้ย่านตลาดแถบนี้ซบเซาลงไปด้วย  เนื่องจากไม่มีเรือสำเภาสินค้ามาเทียบท่าอีกต่อไปคงเหลือแต่บ้านโซว เฮง ไถ่  ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความรุ่งเรืองของย่านนี้

“บ้านนี้ตำน้ำพริกอร่อยนะคะ  พรุ่งนี้จะทำซาวน้ำ”  คุณป้าดวงตะวันบอกคนแปลกหน้าที่ก้าวเข้ามาชมบ้านโซว เฮง ไถ่  สีหน้ายิ้มแย้มของคุณป้า  ทำให้คนแปลกหน้าเบาใจลงเป็นกอง  และแอบชื่นชมในใจว่า  เจ้าของบ้านหลังนี้ใจกว้างเหลือเกินที่ให้ใครก็ไม่รู้  เข้ามาชมบ้านได้ตามอำเภอใจ

บ้านนี้ผสมผสานความเป็นจีนฮกเกี้ยนและไทยได้อย่างลงตัว  รูปแบบบ้านคล้ายบ้านซื่อเหอย่วนของคนจีน  ที่มีลานว่างๆตรงกลาง  และมีส่วนของบ้านสี่ด้านล้อมรอบลานนี้  ตัวบ้านเป็นบ้านจีนแต่มีใต้ถุนเหมือนบ้านไทย  แถมยังมียกพื้นไล่ระดับสำหรับนั่งพื้นอีกต่างหาก  ซึ่งโดยปกติคนจีนจะนิยมนั่งเก้าอี้มากกว่า  ปัจจุบันลูกชายของคุณป้าใช้บ้านหลังนี้เป็นโรงเรียนสอนดำน้ำ  ดัดแปลงลานโล่งกลางบ้านเป็นสระว่ายน้ำ  และทำฟาร์มสุนัขพันธุ์บีเกิ้นควบคู่ไปด้วย

ขอเดินไปด้วยนะคะ    

“…  ถึงปากตรอกตลาดน้อยละห้อยจิต  กลับหวนคิดถึงชาติวาสนา  เช่นต่ำต้อยน้อยทรัพย์อับปัญญา  สิ้นเมตตาผู้ใดไม่อินัง…”

เดี๋ยวนี้ตลาดน้อยก็ยังเป็นตลาดอยู่  เพียงแต่ไม่เฟื่องฟูเหมือนเมื่อก่อน  เพราะอิทธิพลความซบเซาของเรือสำเภานั่นเอง  สิ่งที่ปรากฏไว้ให้เห็นว่าครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นตลาดก็เห็นจะเป็นตึกแถวชั้นครึ่ง  ที่เมื่อก่อนใช้ชั้นล่างเป็นหน้าร้านขายของ  ส่วนชั้นบนใช้เป็นโกดังสินค้าหรือเป็นที่นอน…เดี๋ยวนี้ก็ยังมีคนอยู่ที่นี่

“ขอโทษนะคะ  คุณป้าอยู่ที่นี่มานานแล้วเหรอคะ  ตลาดน้อยเมื่อก่อนเป็นยังไง  บอกได้มั้ยคะ”

“…”  คุณป้าที่กำลังขะมักเขม้นเย็บผ้าอยู่หน้าบ้านตึกแถวชั้นครึ่งคูหาหนึ่งเงยหน้าขึ้นยิ้มเจื่อนๆ  ก่อนจะส่ายหน้าแล้วตอบว่า  “ไม่ทราบจ้ะ  เพิ่งมาอยู่”

เหนื่อยไหมคะ  เดินมานานแล้ว

“…ถึงศาลเจ้าโรงเกือกเป็นชื่อตรอก  ถามเขาบอกให้ฟังคิดกังขา  ไหนองค์อารักษ์อันศักดา  มีสมญารองเท้าเป็นเจ้านาย…”

ศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุง(ศาลเจ้าโรงเกือก)เป็นศาลเจ้าฮากกาแห่งเดียวในบริเวณนี้   ถามคนแถวนี้ก็ไม่มีใครรู้แน่ว่าเหตุใดจึงชื่อศาลเจ้าโรงเกือก  แต่ นายบุศย์ได้เฉลยไว้ว่า “พอนึกได้เขาบอกว่าตรอกนี้  เดิมโรงมีแถวเทือกเย็บเกือกขาย”

คุณลุงบุญชู  ผู้ดูแลศาลเจ้าแห่งนี้มากว่า ๒๐ ปีเล่าว่า  “…เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่นี่ยังคึกคักกว่านี้มาก  เคยเป็นศูนย์รวมของชาวฮากกาในบริเวณชุมชน  อย่างเวลาเย็นๆแดดร่มลมตก  เลิกจากงานการก็จะมีคนมานั่งพักที่ลานไม้ริมแม่น้ำหน้าศาลเจ้า  เดี๋ยวนี้รื้อไปแล้ว  เด็กๆหลายคนก็ตามผู้ใหญ่มาวิ่งเล่นที่นี่  ตกกลางคืนเคยมีเรือมาขายก๋วยเตี๋ยว  บรรยากาศคึกคักมากทีเดียว  พอสามทุ่มสี่ทุ่มก็แยกย้ายกันกลับบ้านตัวเอง”  คุณลุงเว้นวรรคนิดหนึ่ง  ก่อนจะเล่าต่อ  “กิจกรรมอย่างกินเจที่นี่ก็เคยจัดเป็นประจำทุกปี  ทุกวันหนึ่งค่ำกับสิบห้าค่ำก็จะมีคนมากมายมาไหว้ที่ศาลเจ้าเป็นประจำ”  คุณลุงเล่าอีกยาวยืด  แต่มีประโยคหนึ่งที่สะดุดใจเราที่สุด  “…เดี๋ยวนี้เขาออกไปอยู่ข้างนอกกันหมด  อีกอย่างคนรุ่นเก่าหมดไป  แต่รุ่นใหม่ๆไม่ค่อยสนใจแล้ว…ก็คงจะเงียบต่อไปเรื่อยๆ”

sampeng07

โบสถ์กาลหว่าร์ ตั้งตระหง่านผ่านกาลเวลา ที่ล่วงเลยไป ใบไม้ร่วง แตกยอดอ่อน กาลเวลาหมุนเวียนไป แต่โบสถ์กาลหว่าร์ แห่งนี้ยังคงตั้งตระหง่านอยู่เพื่อทำหน้าที่ ศูนย์รวมจิตใจของชาว คาทอลิก ในตลาดน้อยสืบต่อไป

สุดทางแล้วสินะคะ  แต่นี่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

“…มรรคาคลาไคลใกล้จะหมด  พ้นกำหนดสุดสิ้นในถิ่นฐาน  ก็เดินตรงลงมาชลธาร  จนถึงลานโบสถ์ฝรั่งที่สร้างไว้…”

‘โบสถ์ฝรั่ง’แห่งนี้  ตั้งอยู่เลยจุดตัดระหว่างซอยวานิช ๒ กับถนนโยธาไปไม่กี่สิบเมตร  อยู่ภายในอาณาบริเวณเดียวกับโรงเรียนกุหลาบวิทยา  มีชื่อว่าโบสถ์กาลหว่าร์  โดยตั้งชื่อตามภูเขา กาลวารีโอ ที่พระเยซูคริสต์ถูกตรึงไม้กางเขน

โบสถ์หลังนี้สร้างขึ้นในสมัย พ.ศ. ๒๓๒๔ เป็นโบสถ์รุ่นที่ ๓ ของวัดนี้(โบสถ์รุ่นแรกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แล้วผุพังไปตามกาลเวลา)  เราคิดว่าภาพโบสถ์สีเหลืองพาสเทสสถาปัตยกรรมโคธิกที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเรานี้  น่าจะเป็นภาพเดียวกับที่นายบุศย์เคยมองเมื่อในอดีต  “…สะอาดเลี่ยนเตียนลื่นที่พื้นหิน  ไม่ราคินหมดจดดูสดใส  มีลวดลายพรายพริ้งทุกสิ่งไป  แลวิไลแต่งตั้งเขาชั่งทำ”

sampeng08

ภาพเขียน ไม้กางเขน มังกร และสติกเกอร์ลายธงชาติไทย บนกำแพงในตรอกซอย สะท้อนให้เห็นเชื้อชาติและศาสนา ของคนในชุมชนแห่งนี้

เรามองตามหลังนายบุศย์ที่ค่อยๆเดินออกไปไกลเกินกว่าตาเราจะมองเห็น  พลางคิดในใจว่า  ‘ไม่นานคงได้เจอกันใหม่’

ในอาณาบริเวณของธนาคารไทยพานิชย์  สาขาตลาดน้อย  ‘ธนาคารไทยพานิชย์สาขาแรกของประเทศไทย’  กิ่ง-ก้าน-ใบของไทรต้นใหญ่พัดไหวเป็นระลอกตามจังหวะของลมแม่น้ำ  วันนี้ฟ้าใสไร้เมฆ  น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเลยสะท้อนเป็นสีฟ้าสดใสแบบที่น่ากระโดดลงเล่นคลายร้อนทีเดียว  เราเก็บ ‘นิราศชมตลาดสำเพ็งใส่กระเป๋า’  แล้วนั่งมองอาคารสามชั้นสีเหลืองสไตล์โบซาร์ตรงหน้าจนชุ่มใจ  ก่อนที่ภาพอื่นจะแทรกเข้ามาในหัว

‘…ตลาดน้อย…’  ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่นี่มีเสน่ห์…ถ้าถามเรา  เราว่าเสน่ห์ของที่นี่คือความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว  ภาพคนโดมิเนียมสูงตระหง่านซ้อนทับกับภาพศาลเจ้าจีนฮกเกี้ยนอายุร้อยกว่าปี  ภาพศาลเจ้าโรงเกือกกับภาพโรงแรมเล็กๆที่เพิ่งเปิดใหม่ตรงปากซอยเจริญกรุง ๒๒…บางสิ่งที่นี่กำลังจะหายไป  บางสิ่งกำลังดำเนินไป  และบางสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นมาใหม่  มีทั้งคนที่รอคอยการเปลี่ยนแปลง  เกลียดการเปลี่ยนแปลง  และไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงคืออะไร…แต่เชื่อหรือไม่ว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างได้ผสมปนเปกัน  จนเกิดเป็นภาพชุมชนตลาดน้อยในปัจจุบัน…ความรู้สึกแบบนี้  อาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “จิตวิญญาณ”  ก็ได้ละมั้ง