งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง : ปนัดดา เต็มไพบูลย์กุล

ภาพ : ปฏิพล รัชตอาภา

หนังสือเก่า - กลิ่นกระดาษเก่า เรื่องเล่าข้างกองหนังสือ
oldbook2
oldbook3
oldbook4
oldbook5
oldbook6
oldbook7
oldbook8
 

เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์มาถึงตลาดนัดสวนจตุจักรตลาดกลางแจ้งขนาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานครจะคราคร่ำไปด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศ ด้วยสินค้าหลากหลายชนิด ที่นี่จึงกลายเป็นสวรรค์ของคนรักเสื้อผ้า นักตกแต่งบ้าน นักจัดสวน คนรักสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงชาวต่างชาติที่สนุกกับการเลือกซื้อของที่ระลึกกลับไปฝากครอบครัว กระนั้นยังมีพื้นที่เล็กๆ อีกแห่งหนึ่งหนึ่งซึ่งนับได้ว่าเป็นขุมทรัพย์แห่งปัญญาที่นักอ่านทุกคนไม่ควรพลาด

พื้นที่ติดสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีกำแพงเพชรคือที่ตั้งของตลาดนัดจตุจักรโครงการ 1 แม้ภายนอกอาจมีหน้าตาไม่ต่างจากโครงการอื่นๆมากนักทว่าภายในกลับต่างกันอย่างสิ้นเชิงตลอดทางเดินปกคลุมด้วยผ้าใบทึบ หนังสือคละเรื่อง คละรูปแบบ กองเรียงรายตลอดสองข้างทาง เมื่อบรรจงเปิดหนังสือแต่ละเล่ม กระดาษซีดเหลืองภายในจะส่งกลิ่นอับอ่อนๆ ทักทายผู้มาเยือน บ่งบอกว่าองค์ความรู้เหล่านั้นไม่ได้เพิ่งลืมตาตื่นขึ้น หากแต่มันข้ามผ่านกาลเวลา ผ่านสายตาและอุ้งมือของใครบางคน รอนแรมจากความต้องการ สู่ความไม่ต้องการ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งการเดินทางของมันจบลงที่นี่ ตลาดหนังสือเก่า สวนจตุจักร

ย้อนกลับไปราว 20 ปีที่แล้ว สนามหลวงและท่าพระจันทร์เป็นแหล่งหนังสือมือสองขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ทว่าเมื่อทางการประกาศขอคืนพื้นที่แถบสนามหลวงเพื่อพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ชุมชนร้านหนังสือเก่าย่านสนามหลวงจำต้องปิดตัวลงบางเจ้าเลิกทำร้านหนังสืออย่างถาวร ในขณะที่อีกหลายเจ้าย้ายไปลงหลักปักฐานที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ตลาดนัดแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ ที่นี่จึงกลายเป็นฐานที่มั่นของชุมชนหนังสือเก่าจนถึงทุกวันนี้

ดิลกบุ๊ค หนึ่งในร้านหนังสือเก่ารุ่นบุกเบิกสวนจตุจักรที่ยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน และอาจเรียกได้ว่าตัวอย่างความรุ่งเรืองของธุรกิจหนังสือมือสองในย่านนี้ด้วยเช่นกัน

ตลอดทั่วทุกพื้นที่ภายในห้องแถว4 คูหาเต็มไปด้วยหนังสือภาษาต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ทั้งตำราเรียนสาขาต่างๆ หนังสือภาพถ่ายและงานออกแบบ หนังสือความรู้ทั่วไป สารานุกรม ไปจนกระทั่งหนังสือภาพน่ารักๆ สำหรับเด็ก หนังสือเล่มน้อยใหญ่ถูกเรียงรายตามหมวดหมู่สวยงามอยู่บนชั้นและกองเป็นตั้งสูงตลอดทางจนเหลือเพียงทางเดินแคบๆ ขนาดแถวเรียงหนึ่ง ให้เหล่านักอ่านเข้ามาเลือกรื้อซื้อหากันตามใจชอบ

เมื่อถามถึงแหล่งที่มาของหนังสือ คุณดนัย ซึ้งสุนทร เจ้าของร้านรุ่นปัจจุบันเล่าว่า ร้านหนังสือเก่ารับหนังสือมาจากหลายแหล่ง ใครรู้จักเพื่อนต่างชาติก็อาจฝากเขาซื้อและส่งไปรษณีย์มาให้ ในขณะที่บางเจ้าใช้ระบบสั่งเข้ามาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ใหญ่ๆ แทน

“อเมริกาและแคนาดา เป็นแหล่งสั่งหนังสือขนาดใหญ่ แต่การซื้อหนังสือระยะไกลก็มีความยากของมันตรงที่เราไม่มีสิทธิ์เลือกหนังสือเอง เพื่อนต่างชาติที่ซื้อหนังสือให้เรา ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการอ่านหนังสือของคนไทย เขาไม่รู้ว่าคนไทยชอบหนังสือแนวไหน ยิ่งร้านไหนสั่งแบบคอนเทนเนอร์เข้ามา ยิ่งคัดหนังสือไม่ได้เข้าไปใหญ่ เขาส่งหนังสืออะไรมาให้ สภาพแย่ขนาดไหนก็ต้องรับมาทั้งหมด”ดนัยเล่าเรื่องราวอย่างอารมณ์ดี“จะเป็นพ่อค้าหรือลูกค้าของมือสองก็ต้องเสี่ยงดวงกันทั้งนั้น”

ทุกวันนี้ร้านหนังสือมือสองส่วนใหญ่จึงเลือกรับซื้อหนังสือจากในประเทศมากกว่า จะเป็นตำราเรียนปลดเกษียณจากห้องสมุด หรือหนังสือเก่าที่ถูกโละสต็อกก็ได้ แม้ของจากห้องสมุดและร้านหนังสือมือหนึ่งจะมีสภาพดีกว่าทว่าแหล่งขุมทรัพย์สำคัญจริงๆ เห็นจะเป็นหนังสือเก่าจากเหล่าซาเล้ง พวกเขารับซื้อของเก่าเก็บจากทางบ้านมาในราคาถูกเหลือเชื่อ จากนั้นจะส่งไม้ต่อให้กลุ่มคนที่พอมีความรู้เรื่องหนังสือบ้าง กลุ่มคนเหล่านี้จะคัดแยกหนังสือ ตามประเภท รูปแบบ และมูลค่า เพื่อลำเลียงไปสู่ร้านหนังสือมือสองอีกทีหนึ่ง แม้ขั้นตอนการส่งหนังสือจะยุ่งยาก แต่ต้นทุนกลับถูกกว่าการรับซื้อจากลูกค้าโดยตรงหลายเท่าตัว

“คนแยกหนังสือเก่าเขาจะรู้ดีว่าร้านไหนเน้นขายหนังสือแนวไหนเขารู้ว่าร้านเรารับหนังสือวิชาการร้านข้างหลังรับนิตยสารต่างประเทศหรือร้านข้างนอกเน้นขายนิตยสารหายากสมมติเขาเจออะเดย์ (a day) ฉบับแรก เขาก็ไม่เอามาขายให้ผมหรอก เพราะร้านผมไม่ได้เล่นหนังสือสะสม”

การรับสินค้าเข้าสู่ร้านหนังสือย่อมมีหลักการซื้อ-ขาย เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น กฏเหล็กข้อหนึ่งทำร้านหนังสือมักได้รับการสั่งสอนต่อกันมาคือหากซื้อหนังสือมา 100 เล่ม ต้องทำใจไว้ว่าต้องทิ้งแน่ๆ 30 เล่ม ส่วนใหญ่เจ้าของร้านจะพยายามขายให้ได้มากกว่า 40 เล่ม ซึ่งเป็นจุดคุ้มทุน เกินกว่านั้นจึงจะกำไร 30 เล่มที่ต้องทิ้ง ร้านหนังสือมือหนึ่งมักจะโละขายให้ร้านหนังสือมือสอง ซึ่งมักจะได้รับอนุญาตให้อยู่บนชั้นหนังสือไปจนกว่าทางร้านจะแน่ใจแล้วว่าขายไม่ได้จริงๆ ก็ถึงเวลาที่หนังสือเหล่านั้นจะถูกย่อยทำลาย กลายเป็นกระดาษรีไซเคิล

ส่วนหลักการอื่นๆที่ร้านหนังสือต้องรู้คือความยากง่ายในการซื้อขายหนังสือแต่ละประเภทซึ่งสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ขาย“เราต้องรู้จักหนังสือที่เราขายและรู้ใจคนอ่านหนังสือภาษาไทยจะไม่มีปัญหาอะไรมากซื้อง่ายขายคล่องกว่าส่วนหนังสือต่างประเทศจะราคาสูงและอ่านยากกว่า ลูกค้าจึงสนใจความสวยงามหนังสือมากกว่าหนังสือภาษาไทยเล่มไหนภาพสวย จัดวางเลย์เอาท์ดีกระดาษคุณภาพก็มักจะถูกขายออกไปอย่างรวดเร็ว”

ด้วยเหตุนี้ร้านหนังสือมือสองมีแนวการบริการที่ต่างจากร้านหนังสือใหญ่ๆ ตามห้างสรรพสินค้าเพราะเจ้าของร้านจะตรวจสอบคัดซ่อมจัดเรียงหนังสือแต่ละเล่มด้วยตัวเองจึงสามารถจดจำรายละเอียดต่างๆพร้อมให้คำแนะนำกับลูกค้าทุกระดับในขณะที่พนักงานร้านหนังสือใหญ่มีหน้าที่จัดเรียงและอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าแต่อาจไม่รู้จักหนังสือทุกเล่มในร้านซึ่งในจุดนี้คุณดนัยมองว่าร้านหนังสือแต่ละแบบมีแนวการบริการแตกต่างกันอย่างไรก็ตามทุกชีวิตในธุรกิจหนังสือย่อมมีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือส่งเสริมการอ่าน

เพราะดิลกบุ๊คขายหนังสือหลายประเภทกลุ่มลูกค้าจึงหลากหลายคุณดนัยจึงมองเห็นความเป็นไปของลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างดีนักเรียนนักศึกษามักมาซื้อหาตำราเรียนกันมากในช่วงเปิดภาคเรียนส่วนมากจะเป็นนักศึกษาแพทย์กับบริหารธุรกิจ ในขณะที่นักอ่านหนังสือไทยจำนวนไม่น้อยอยากลองอ่านหนังสือภาษาอังกฤษดู เพียงแต่ไม่มั่นใจมากพอว่าตนจะอ่านได้จึงไม่กล้าลงทุนซื้อหนังสือมือหนึ่งราคาแพงหนังสือมือสองจึงกลายเป็นแบบฝึกอ่านภาษาอังกฤษเล่มแรกของใครหลายคน

ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจับตามองคือนักอ่านชาวอาเซียนโดยเฉพาะชาวพม่า กัมพูชา หรือมาเลเซียเมื่อเข้ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วก็อดไม่ได้ที่จะขนหนังสือกลับไปเป็นตั้งเพราะตลาดหนังสือเก่าในไทยเต็มไปด้วยหนังสือหลากหลายให้เลือกสรรแถมราคายังสบายกระเป๋าชาวอาเซียนด้วยกันเองอีกด้วย

นอกจากกลุ่มนักอ่านยังมีลูกค้า ‘นักไม่อ่าน’ คอยแวะเวียนมาอุดหนุนพวกเขาจะเลือกเฟ้นหนังสือปกสวยสำหรับตกแต่งภายในลูกค้าจากธุรกิจเสริมความงามจะมองหาหนังสือเกี่ยวกับเครื่องสำอางไว้ประดับร้าน ส่วนบริษัทรับตกแต่งภายในมักขอซื้อหนังสือโบราณ สีโทนน้ำตาล สลักตัวหนังสือสีทอง ไว้ตกแต่งบ้านตัวอย่าง ในกรณีนี้ทางร้านจะคิดราคาตามความงามของปกมากกว่ามูลค่าทางความคิด

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหนังสือ คุณดนัยเล่าว่า ทุกวันนี้การซื้อขายหนังสือเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จริงอยู่ที่การศึกษาไทยเติบโตมากกว่าแต่ก่อน คนไทยสามารถอ่านออกเขียนได้มากขึ้น ทั้งเด็กรุ่นใหม่กระหายใคร่รู้ศาสตร์ต่างๆ อย่างลึกซึ้ง หากแต่ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้กระตุ้นให้คนหันมาซื้อหนังสือมากขึ้น การเติบโตของโลกออนไลน์ ช่วยให้คนรุ่นใหม่สืบค้นข้อมูลทุกอย่างได้รวดเร็วทันใจ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งหนังสือจำนวนมากอีกต่อไป เดิมเหล่านักออกแบบมักแสวงหาไอเดียจากหนังสือภาพงานศิลปะ แต่เดี๋ยวนี้เพียงแค่เข้าอินเตอร์เน็ต ก็สามารถชมงานศิลปะจากทั่วทุกมุมโลกได้อย่างจุใจ

ในยุคที่โลกหมุนเร็ว ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น และการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้นทุกที กำหนดให้หนังสือหมดอายุเร็ว สำนักพิมพ์ตำราเรียนอาจเร่งผลิตฉบับปรับปรุงทุกปี เพียงเพื่อเพิ่มแบบฝึกหัดใหม่เข้าไปเล็กน้อย ทำให้รุ่นน้องไม่สามารถใช้หนังสือต่อจากรุ่นพี่ได้ จึงต้องซื้อใหม่ เมื่อขาดผู้สืบทอด คัมภีร์ล้าสมัยจำนวนมากจึงถูกส่งมายังร้านหนังสือเก่า หนังสือท่องเที่ยวมีกำหนดออก ฉบับ ‘อัพเดทใหม่’ ทุกปี เพื่อปรับปรุงข้อมูลร้านรวงต่างๆ ให้ทันสมัยที่สุด เมื่อหนังสือเล่มใหม่ออกมาแทนที่เล่มเก่าก็ต้องลาแผงไปเป็นธรรมดา

จริงอยู่ที่หนังสือทุกเล่มต้องมีวันเก่าไปตามเงื่อนไขทางธุรกิจหรืออาจเสื่อมสภาพด้วยกระดาษรอยยับย่นซีดเหลืองแต่นั่นไม่ได้แปลว่าเนื้อหาภายในจะต้องหมดอายุไปด้วยตราบใดที่มันยังถูกส่งต่อจากมือสู่มือผ่านสายตาคู่แล้วคู่เล่าแก่นแท้ของหนังสือเล่มนั้นก็ยังทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์ร้านหนังสือเก่าเปรียบเสมือนคนกลางที่ทำให้โลกแห่งหนังสือหมุนไป ที่ช่วยให้หนังสือเก่าของใครคนหนึ่งไปตกอยู่ในมือของคนต่อไปที่ควรอ่านมัน

“คุณเก็บมันไว้คนเดียวเก็บจนลืมความรู้ก็จะถูกปิดตายอยู่บนชั้นหนังสือแต่ถ้าคุณส่งต่อให้ใครสักคนใครจะรู้ในห้องเก็บของบ้านคุณอาจมีตำราที่ทำให้เราเจริญกันมากกว่าก็ได้”