banner-camp-12-for-web-logo

งานดีเด่นจากค่ายสารคดีครั้งที่ 11
เรื่อง : วรรณิตา อาทิตยพงศ์

ภาพ : จุฑารัตน์ ภิญโญตุลยเจต

plakem01
plakem02
plakem03
plakem04
plakem05
plakem06
plakem07
plakem08
 

“ลูบขอบอ่างไม่ให้เขาตกใจ ให้เขาเคย เขาจะได้ไม่ตกใจ เหมือนเราเล่นกับเขา ลูบหัวลูบหลัง เล่นกับเขาอย่างนี้ ให้เขาเชื่อง ให้เขาชิน”

พูดถึงความสัมพันธ์ของคนกับปลา ฉันนึกออกแต่เรื่องปลาบู่ทอง เอื้อยมารอแม่ปลาบู่ที่ท่าน้ำ นึกไม่ออกเลยว่า นอกจากให้อาหาร ดูปลาว่ายในตู้หรืออ่าง คนกับปลาจะผูกพันกันได้ลึกซึ้งไปมากกว่านั้น แต่การได้เข้าไปดูการเฝ้าเลี้ยงปลา ฝึกปลาเข็มหม้อของคุณลุงอุดร ฉายปรีชาหรือลุงหว๋อ อายุ ๗๐ ปี ผู้สืบทอดการเลี้ยงปลาเข็มหม้อจากคุณพ่อและคุณลุง สมาชิกเพียงหนึ่งเดียวของชมรมอนุรักษ์ปลาเข็มหม้อ ชุมชนวัดกัลยาณ์ ทำให้ฉันเปลี่ยนความคิด

ปลาเข็มเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก ขนาดความยาวตัวยาวกว่าปลาหางนกยูงนิดหน่อย ที่ได้ชื่อว่าปลาเข็มนั้นเนื่องมาจากปากล่างมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายเข็ม และปากบนจะยาวเพียงครึ่งหนึ่งของปากล่าง กินลูกน้ำเป็นอาหาร ส่วนใหญ่พบได้ตามท้องร่องสวน เด็กตามบ้านสวนในอดีต โดยเฉพาะในแถบฝั่งธนบุรีจะรู้จักปลาเข็มหม้อดี เพราะชอบแอบไปช้อนมาเลี้ยง เพาะพันธุ์ และนำปลาเข็มหม้อตัวผู้มากัดกัน โดยนำมาเลี้ยงและแข่งกันในอ่างดิน เป็นการละเล่นที่เป็นที่นิยมมากในยุคนั้น มีบันทึกว่าในช่วงรัชกาลที่ ๖ ย่านวัดกัลยาณ์เป็นแหล่งเลี้ยงปลาเข็มหม้อแหล่งใหญ่แห่งหนึ่ง จนปัจจุบันปลาเข็มหม้อหายากขึ้น เพราะเรือกสวนไร่นาหดหาย จากสวนกลายเป็นเมือง เป็นถนน ประกอบกับการเล่นปลากัดก็เข้ามาแทนที่ การละเล่นกัดปลาเข็มก็ลดความนิยมลงอย่างน่าเสียดาย

“ก็เราเลี้ยงเขาในหม้อดิน ก็เลยเรียกว่าปลาเข็มหม้อ”

เสียงสุนัขสามสี่ตัวเห่าเกรียวกราว กรูออกมาต้อนรับ แยกเขี้ยวด้วยท่าทางเป็นมิตรชนิดอยากเอาเขี้ยวฝังเนื้อเราเต็มที่ เป็นด่านแรกที่เราเจอะก่อนจะไปพบปลาเข็มหม้อ ที่ชมรมอนุรักษ์ปลาเข็มหม้อ ชุมชนวัดกัลยาณ์ ซึ่งเป็นบ้านของคุณลุง ภายในเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ค่อนข้างอุดอู้ เต็มไปด้วยหม้อดิน อ่างดินวางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ ภายหลังฉันจึงได้รู้ว่า นั่นละ สวรรค์ของปลาเข็มหม้อเขาล่ะ

ปลาเข็มหม้อ: เรื่องเล่าเหนืออ่างประลอง

เมื่อพวกเราเข้าไป คุณลุงหว๋อก็จัดการหยิบกะลามะพร้าวทุยไปตักปลาเข็มหม้อตัวผู้สองตัวออกจากอ่างนอน มาปล่อยในอ่างประลอง เราจะห้ามด้วยเกรงใจ กลัวปลาเหนื่อยเปล่า ก็ไม่ทันเสียแล้ว มารู้ภายหลังว่าคุณลุงจะเอาปลามาลงซ้อมกันเป็นประจำทุกวัน โดยแต่ละครั้ง ปลาจะใช้เวลาสู้กันประมาณหนึ่งชั่วโมง ก่อนปล่อยคุณลุงก็เอากะลาเปรียบมาเทียบขนาดปลาเสียก่อน ต้องขนาดพอๆ กันจึงจะแข่งได้ จากนั้นก็ปล่อยปลาลงจากกะลา ลงน้ำปุ๊บ ปลาสองตัว ฝ่ายหนึ่งสีขาว ฝ่ายหนึ่งสีดำ ก็ว่ายเข้าหากันอย่างรวดเร็ว โบกหางเข้าใส่ เริ่มต่อสู้โดยหันปลายปากเข้าประสานกัน และค้างไว้ท่านั้น หมุนวน เหมือนนักสู้เข้าสู่สังเวียน ในขณะที่บทสนทนาของผู้ชมเหนือสังเวียนอ่างดินเผาก็เริ่มต้นขึ้น

คุณลุงหว๋อเล่าให้ฟังว่า คุณลุงเริ่มเลี้ยงปลาเข็มหม้อมากว่า ๕๐ ปีแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ก็เลี้ยงอยู่ตรงนี้ตลอดมา ลุงเลี้ยงตั้งแต่เด็ก ประมาณ ๑๐ ขวบ บรรพบุรุษลุงเลี้ยงอยู่แล้ว ก็ชอบตั้งแต่ตอนนั้น เคยแอบเอาปลาพ่อมากัดกันก็มี โดยจะเลี้ยงเป็นงานอดิเรก ทำงานกลับมาก็มานั่งดูปลา อุปกรณ์และพันธุ์ปลาทั้งหลายก็เอามาจากของต้นตระกูลทั้งนั้น อุปกรณ์ก็หาได้ทั่วไปตามวิถีชีวิต (อดีต) ชาวสวนโดยแทบไม่ต้องลงทุน

ของแต่ละชิ้นก็มีที่มาที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนในแถบชุมชนวัดกัลยาณ์ยุคก่อนได้อย่างน่าสนใจ อ่างดินเผา เป็นอ่างก้นเตี้ย ปากกว้าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ในอดีตอ่างดินลักษณะเช่นนี้จะใช้ยีเส้นขนมจีน เรียก “อ่างยีเส้นขนมจีน” แล้วนักเลี้ยงปลานิยมเอามาใช้เลี้ยงปลา เพราะอ่างเปิดกว้าง เห็นปลาได้ชัดเจน ทำหน้าที่เป็นทั้ง อ่างไล่ อ่างเพาะพันธุ์ และอ่างประลองกำลัง

นอกจากนี้ยังมี อ่างกวนห่อหมก ไหกระเทียมดอง (คล้ายไหปลาร้า) และอ่างหม้อเลาะ ซึ่งแต่เดิมเป็นตุ่มขนาดเล็ก แล้วเลาะปากตุ่มออกให้ขนาดปากกว้างขึ้น จึงเรียกว่าอ่างเลาะ ทั้งหมดนี้ใช้สำหรับเป็นอ่างพักปลา หรืออ่างนอน เนื่องจากปลาเข็มหม้อจะต้องแยกให้นอนอ่างละตัว ทั้งยังมีอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับใส่ปลา ตักปลา ล้วนทำมาจากกะลามะพร้าวขัดมันทั้งสิ้น เนื่องจากภาชนะที่ใช้เลี้ยงปลาเข็มนั้นต้องเป็นภาชนะที่ทำด้วยดิน หรือภาชนะทึบแสงเช่นกะลามะพร้าว เพราะถ้าเลี้ยงในภาชนะที่เป็นแก้ว หรือสะท้อนแสง ปลาเข็มจะว่ายไปชนเงาตัวเอง ทำให้ปากล่างหักได้

 “ตื่นเช้ามาก็เปิดอ่าง เอาปลาออกกำลัง”

เมื่อถามถึงกิจวัตรประจำวันคุณลุง คำตอบที่ได้ก็ทำให้เราอึ้ง เนื่องด้วยกิจวัตรกว่าครึ่งของวันล้วนเกี่ยวข้องกับปลาเข็มหม้อทั้งสิ้น เริ่มต้นเช้ามาก็จะเปิดอ่างน้ำ ช้อนฝ้า ช้อนฝุ่นออก ทำให้น้ำสะอาดก่อน เสร็จแล้วก็จะจับปลาในวัยที่เริ่มต่อสู้ได้ลงปล่อย ซึ่งวงจรชีวิตของปลาเข็มหม้อโดยเฉลี่ยนั้นอยู่ที่ ๑๐๕ วัน หรืออยู่ระหว่าง ๙๐-๑๒๐ วัน โดยปลาตัวผู้ที่จะนำลงแข่งได้นั้น ต้องอายุได้ประมาณ ๖๐-๙๐ วัน หลังปล่อยปลาลงน้ำได้สักพัก ก็ใช้ไม้พายพัดน้ำ ให้ปลาว่ายทวนน้ำ เป็นการออกกำลังกายของปลา เหมือนคนหรือนักมวยที่ต้องออกวิ่งตอนเช้ามืด

คุณลุงเล่าพลางสาธิตให้ดู มือจับไม้พายนิ่ง พายน้ำเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่มีตก แม้จะพูดไปพลางพายไปพลางก็ตาม “ลุงฝึกปลาแบบนี้ทุกตัว ทุกวัน”

หลังจากให้ปลาออกกำลังกายตอนเช้า ก็จะย้ายปลาจากอ่างซ้อมออกกำลังไปอ่างประลอง ให้ปลาได้ไล่กับลูกไล่ หลังจากนั้นก็จะตักไปใส่กะโหลกแขวน ซึ่งเป็นกะลามะพร้าวขัดมันสำหรับใส่ปลาไปแข่งขันตามที่ต่างๆ วิธีฝึกของคุณลุงคือ เมื่อใส่ปลาในกะโหลกแขวนแล้วก็จะแกว่งเพื่อให้ปลาเคยชิน เวลานำปลาไปแข่งจริง ต้องหิ้วกะโหลกไป น้ำกระฉอก ปลาจะได้ไม่ตื่นสนามนั่นเอง ฝึกสามขั้นตอนนี้ทุกวัน ประมาณสามอาทิตย์ จึงจะเอาออกแข่งขันได้ สถานที่แข่งก็จะวนเวียนไปบ้านเพื่อนๆ ที่เลี้ยงปลาเข็มด้วยกัน โดยหลักๆ ก็จะเป็นที่แปดริ้ว (ฉะเซิงเทรา) นครชัยศรี (นครปฐม) และจันทบุรี

“ปลาเข็มก็เหมือนมวย เหมือนไก่ จะต้องมีการซ้อมกันก่อน… เวลาเขาเลิกแล้วก็เอาเขากลับเข้าที่นอน อ่างละตัว อ่างละตัว”

พูดถึงแข่งขัน เราก็นึกขึ้นได้ว่าในอ่างประลองสองปลายังคงประสานปากนัวเนียกันอย่างดุเดือด เลยหันไปให้ความสนใจกับปลาเข็มหม้อที่กำลังสู้อยู่บ้าง ปลาสองตัวกำลังอยู่ในท่าที่ใช้ฐานปากงับกัน ลำตัวทำมุมฉาก ต่างก็พยายามดันอีกตัวหนึ่งให้หมุนไปรอบๆ ฉันเห็นตัวสีดำอยู่ด้านบนตัวสีขาว อดไม่อยู่โพล่งออกไป “ตอนนี้ตัวดำได้เปรียบอยู่ใช่ไหมคะ”

แต่ผิดถนัด คุณลุงมองปราดเดียวก็บอกได้ทันทีอย่างผู้ชำนาญการ “ตอนนี้ตัวขาวได้เปรียบ ปลาเข็มนี่ถ้าคาบปากล่างจะเป็นตัวได้เปรียบ เพราะว่าปากล่าง ข้างใต้คางเขาจะเป็นเนื้อนิ่ม เขาจะเจ็บ” ยังไม่ทันขาดคำ ปลาสองตัวก็ดีดผึ่งออกจากกัน โดยฝ่ายตัวขาวกลายเป็นฝ่ายไล่กวดตัวดำ เท่ากับว่าตัวขาวชนะอย่างเป็นทางการ ฝ่ายคุณลุงก็กุลีกุจอลุกขึ้นหยิบกะลาตักปลามาสองใบ ช้อนปลาสองตัวแยกจากกัน ตัวสีดำสภาพดูไม่ค่อยสวยนัก มีบาดแผลตรงกกหูและโคนครีบ จากผิวสีดำเข้มก่อนลงแข่ง ตอนนี้กลายเป็นสีขาวๆ เทาๆ ไปเสียแล้ว

คุณลุงบอกเราว่า เวลาปลาเข็มแพ้ก็เหมือนคนหมดกำลังใจ คือจากดำ สีก็ลอก ถ้าจะให้เหมือนเดิมก็ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง ประมาณหนึ่งที่ว่านั้นคือหนึ่งอาทิตย์ วิธีการพักฟื้นปลาคือ เอาปลากลับเข้าอ่างนอนก่อน วันรุ่งขึ้นจึงเอาดินสะอาดซึ่งเป็นดินสำหรับปั้นพระมาละลายน้ำ แล้วต่อสายยางเปลี่ยนน้ำเป็นน้ำดินให้ปลาเข็มหม้ออยู่ เพื่อรักษาแผล เมื่อปลาหายดีแล้วค่อยมาเริ่มฝึกใหม่อีกครั้งหนึ่ง

สายตาเป็นประกายของคุณลุงบอกเราว่า สิ่งที่ต้องทำวนซ้ำอยู่ตลอดนั้น ไม่เคยเป็นสิ่งน่าเบื่อหน่ายสำหรับคุณลุงเลย “พอเขาเก่ง ก็เลยทำให้เราผูกพันกับเขา”

เราจากมาแล้ว แต่คุณลุงก็ยังนั่งอยู่ตรงนั้น บนเก้าอี้ไม้เล็กๆ ที่ล้อมรอบไปด้วยอ่างดินใส่ปลาเข็ม เป็นทั้งคนฝึกซ้อม กรรมการ วางมวย ห้ามมวย อย่างใจเย็น เป็นสุข กับปลาเข็มหม้อที่รัก เหมือนอย่างที่เคย

ก่อนจากเราแอบถามอย่างอดไม่ได้ว่ามีคนรับสืบทอดปลาจากคุณลุงไหม คุณลุงส่ายหน้าหงอยๆ “ตอนนี้ไม่มี ยังไม่มี ไม่มีทายาท หนูเป็นทายาทไหมล่ะ”

อยากเป็นทายาทปลาเข็มหม้อคุณลุงกันไหมคะ