ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล – เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช – ภาพ

 

ว่ากันว่าในบรรดาลายสักทั้งหมดของ จอห์นนี เดปป์ พระเอกฮอลลีวูด ไม่มีลายสักใดได้รับการพูดถึงเท่ารูปริบบิ้นบนไหล่ขวา ที่มีคำว่า “Winona Forever” หรือ “วิโนนาตลอดกาล”

เดปป์สักคำนี้เมื่อคบหากับ วิโนนา ไรเดอร์ นางเอกคู่หมั้น  แม้ต่อมาความรักขาดสะบั้น ทั้งคู่สิ้นสุดความสัมพันธ์ พระเอกหนุ่มเมาหัวราน้ำ แต่ยังเก็บลายสักแสลงใจเอาไว้ เพียงแต่ลบบางส่วนออกไปกลายเป็น “Wino Forever” หรือ “ขี้เหล้า
ตลอดกาล”

เพราะเดปป์เชื่อว่าร่างกายคือบันทึก ลายสักคือเรื่องราว ถึงความรักมอดดับ แต่ลายสักยังอยู่ เมื่อให้สัมภาษณ์นิตยสาร GQ จึงบอกว่า การลบลายสักก็เหมือนไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น  ให้แต่งเติมหรือทำตลกเลยเสียยังจะดีกว่า พร้อมยกตัวอย่างด้วยว่า ให้สักชื่อผู้ชายคนใหม่ของวิโนนายังถือว่าซื่อตรงต่อความรู้สึกมากกว่าลบลายสักเดิมทิ้งไป

นับตั้งแต่นํ้าหมึกหยดแรกถูกสักบนร่างกาย เดปป์ก็สักเพิ่มอีกนับลายไม่ถ้วน บนเนื้อหนังมีทั้งรูปอินเดียนแดงเผ่าเชอโรกี  ชื่อแม่และหัวใจ ชื่อลูกชายและท้องทะเลกับนก รวมถึงเลข “3” ที่แม้แต่แฟนคลับก็ยังไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรแน่ชัด  ถึงตอนนี้พระเอกขวัญใจน่าจะมีลายสักไม่น้อยกว่า ๓๐ ตำแหน่งทั่วร่าง ทุกลายมีความหมายบางอย่าง ระบุถึงช่วงเวลาของชีวิต

เพราะเดปป์เชื่อว่าการสักเหมือนสิ่งที่พวกกะลาสีเรือเคยทำ เกิดขึ้นในช่วงเวลาพิเศษที่ตัดสินใจสร้างรอยแผลเป็นบนร่างกาย  ไม่ว่าคุณจะสักเองโดยใช้มีด หรือช่างสักมืออาชีพก็ตาม

 

สักคนที่อยากสัก

Tattoo ลายสัก เจ็บ จำ สวยบนเส้นทางสู่ถนนข้าวสาร แหล่งรวมร้านสัก แทตทูอาร์ติสต์ (tattoo artist) ผู้คนเรือนร่างเปื้อนสี

ผมและดิวเดินอยู่ริมทางเท้าราชดำเนิน

ดิว หรือ กรดล แย้มสัตย์ธรรม ทำงานอยู่กองบรรณาธิการหนังสือท่องเที่ยว “นายรอบรู้” สำนักพิมพ์สารคดี เขาสนใจลวดลายบนผิวหนัง และอยากสักในสักวัน  ผมจึงเชิญเขามาร่วมตามหาความหมายในลายสักด้วยกันที่ถนนข้าวสาร

ถ้าเอาตามความหมายของ “สัก” ใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ บอกว่า “เอาของแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน เช่น สักปลาไหล สักหาของในน้ำ สักรอยช้ำเพื่อรีดเอาเลือดที่คั่งออก” หรืออีกความหมายหนึ่ง “ใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระเครื่องหมาย หรือลวดลาย, ถ้าใช้หมึก เรียกว่า สักหมึก, ถ้าใช้น้ำมัน เรียกว่า สักน้ำมัน” รวมถึง “ทำเครื่องหมายโดยใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกจิ้มที่ผิวหนังเพื่อแสดงเป็นหลักฐานบนร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น สักข้อมือ แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์…สักหน้าแสดงว่าเป็นผู้ที่ต้องโทษปาราชิก”

ขณะที่เว็บไซต์ออนไลน์ของดิกชันนารี Longman ให้ความหมายในภาษาอังกฤษ คือ “แทตทู” (tattoo) หมายถึง “รูปหรือตัวหนังสือที่ถูกทำเครื่องหมายลงบนผิวหนังอย่างถาวร ด้วยเข็มและหมึก”

ส่วนช่างสักคนหนึ่งแถวถนนข้าวสารบอกว่า “มันคืองานศิลปะชนิดหนึ่งที่อยู่บนตัวคนถาวรคงทน ทุกคนเข้าถึงได้” และแม้จะไม่ค่อยได้ศึกษาความหมายของคำว่าสักจากตำรา แต่สำหรับเขาแล้ว “การสักก็คือการวาดรูป เพียงแต่วาดด้วยเข็มจุ่มหมึกสี กรีดลงบนเนื้อคนที่ดิ้นได้ !” ก่อนตบท้าย “เดี๋ยวนี้เกือบจะสักรูปอะไรก็ได้บนเนื้อคน ถ้ารูปบนกระดาษทำได้ สักก็ทำได้ !”

ช่วงเวลาที่คนคนหนึ่งจะสักร่างกายมีสองช่วงด้วยกัน คือ หนึ่ง ช่วงที่ยังคิดไม่ออก กับสอง ช่วงที่คิดออกแล้ว

อธิบายอย่างชัดเจนที่สุดก็คงอย่างที่คุณพอคาดเดา การสักครั้งแรกผู้สักอาจอายุน้อย ไม่มีประสบการณ์ หรือ “สักแต่ขอให้ได้สักเท่านั้น ตามเพื่อนหรือนายแบบหนังสือ” คือยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบลายสักจริงหรือไม่ หรือถึงชอบก็ไม่มั่นใจว่ารูปที่เลือกนั้น “ใช่”

เพราะลายสักจะอยู่กับเราตลอดไป การสักลายที่ “ไม่ใช่” จึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่นเลย  ส่วนการสักในช่วงที่ ๒ ก็อยู่ในทางตรงข้ามกับช่วงแรก

“ตั้งใจสักลายอะไร” ผมถามดิวในเป้าหมายของรูปที่จะสัก

“มันมีหลายลายที่ผมอยากสัก ถึงผมจะไม่รู้ว่าบนโลกนี้มีลายสักทั้งหมดกี่แบบ ผมรู้เฉพาะลายที่ผมชอบ คือพวกกราฟิก จีโอเมทริก จะดูลายพวกนี้เยอะมาก”

ชายวัยเบญจเพสอธิบายต่ออีกว่า ภาพกราฟิกที่เขาชอบหมายถึงพวกศิลปนามธรรมหรือแอปสแตร็ก (abstract) ไม่ใช่ภาพเหมือนชี้ชัดเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ ส่วนลายจีโอเมทริกคือพวกรูปทรงเรขาคณิต

“ผมชอบเพราะดูเหมือนมันไม่มีความหมาย”

“ที่มาของความชอบคืออะไร” ผมถามเมื่อเราเข้าใกล้ถนนข้าวสาร

“เพราะผมอยากเอาสิ่งที่มันอยู่ในหัวออกมาอยู่ตามตัว ผมเป็นคนชอบอะไรแบบนี้  ตอนเด็กผมชอบให้เพื่อนเอาปากกามาวาดบนแขนเป็นรูปนาฬิกา  ผมสนุก แต่ปัญหาคือผมไม่ได้เติบโตมาในสังคมที่ยอมรับว่าการสักคือเรื่องดี  เหตุนี้ผมจึงไม่ได้คิดเรื่องสัก แต่พอโตมาเห็นเพื่อนฝรั่งสักแล้วรู้สึกว่ามันเจ๋งดีนะ  ได้ฟังเขาเล่าว่าแต่ละลายมีความหมายเฉพาะตัว  ตอนนั้นผมคิดว่าผมก็มีเหมือนกันบางสิ่งที่ผมอยากจดจำไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าอยากบอกใคร”

“พวกจีโอเมทริกจะสื่อความหมายของชีวิตได้อย่างไร”

“ทุกลายที่ผมสักต้องมีความหมาย  คนอื่นเห็นอาจคิดว่าไม่มีอะไร แต่จริง ๆ ต้องมี  ยกตัวอย่างตอนนี้ผมพยายามหาลายสักที่แสดงถึง freedom”

“จะเป็นลายสักแรกเลยไหม”

ดิวยักไหล่ กล่าวว่า “ลายจีโอเมทริกผมจะสักที่หัวไหล่  แต่ลายแรกผมอยากจะสักที่ด้านในของแขนซ้าย ประโยคของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ว่า ถ้าขึ้นไปเห็นอะไรบนดวงจันทร์แล้ว เราคงหมดอารมณ์ที่จะฝันถึงมันอีกต่อไป

เพราะเหตุใดจึงสนใจสักคำนี้

“มันเหมือนเป็นเครื่องคอยเตือนใจ ให้เราทั้งกล้าที่จะฝันและกล้าที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น  หรือบางทีมันก็คอยเตือนใจว่า เรื่องบางเรื่องก็ควรจะให้เป็นแค่ความฝันเพราะความจริงมันอาจไม่สวยงามเหมือนฝันก็ได้ เก็บไว้เป็นฝันที่สวยงามแบบนั้นดีกว่า  ผมตีความหมายประโยคนี้ได้หลายแง่มุม และผมว่ามันเหมาะกับคนนิสัยแบบผมที่สุด”

แล้วชายหนุ่มก็อธิบายว่าต้องการสักคำของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จากลายมือของพ่อ

“ผมบอกให้พ่อเขียนประโยคนี้ แล้วผมถ่ายรูปเก็บไว้  ที่ผมอยากได้ลายมือพ่อเพราะที่ผ่านมาพ่อสอนผมเยอะมาก  แต่ครั้งนี้ผมอยากได้คำพูดคนอื่นที่เป็นลายมือของพ่อ  ผมบอกพ่อว่าไม่ต้องคัดลายมือ เขียนด้วยลายมือธรรมดาที่พ่อเขียนประจำ”

“คิดว่าจะสักคำนี้เมื่อไหร่”

คำถามสุดท้ายก่อนเลี้ยวเข้าถนนข้าวสาร

“วันที่ผมรู้สึกว่าตัวผมเป็นของผมโดยชอบธรรม วันที่ผมเลี้ยงดูตัวเองได้  ที่ผ่านมาผมรู้ว่าแม่ไม่ชอบให้ลูกมีลายสักหรือเจาะหู เพราะเขาเป็นครู อยากให้ลูกดูสะอาดสะอ้าน  เมื่อก่อนผมเคยไว้ผมทรงเดรดล็อก แม่ไม่ค่อยชอบใจเท่าไร  ที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าชีวิตยังไม่ใช่ของผม  ผมเข้าใจนะว่าแม่หวังดี  แต่วันหนึ่งเมื่อผมมีรอยสัก วันนั้นจะเป็นวันที่ผมเป็นผมอย่างสมบูรณ์  ไม่แคร์โลกภายนอกว่าคนจะมองไอ้ดิวเป็นอย่างไร  มีลายสักแล้วจะเป็นคนชั่วมั้ย  ใครจะมองผมชั่วก็มองไป ผมจะไม่คิดเรื่องพวกนั้นแล้ว”

 

ความเชื่อ สักยันต์ แทตทู

ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการสักมีขึ้นตั้งแต่โลกมีมนุษย์เพียงสองคนคืออดัมและอีฟ ตกแต่งร่างกายด้วยสีเขียวและใบไม้

ขณะที่หลักฐานจากการขุดพบพระศพอาบน้ำยาหรือมัมมี่ของกษัตริย์ไอยคุปต์แห่งอียิปต์โบราณ อายุไม่ต่ำกว่า ๔,๐๐๐ ปี  บนร่างกายมัมมี่มีลายสักสลับสีงดงาม  ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าเมื่อวิญญาณออกจากร่าง วันหนึ่งจะหวนกลับ การสักจึงเป็นการทำสัญลักษณ์ว่าครั้งหนึ่งเจ้าของวิญญาณเคยอาศัยอยู่ในร่างนี้

ชนเผ่าเมารีบนเกาะของนิวซีแลนด์สักเพื่อแสดงถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ที่ทนรับความเจ็บปวดจากการสักจะได้รับการยอมรับว่าพร้อมสำหรับการมีครอบครัว  คล้ายคลึงกับที่ผู้หญิงบนเกาะโซโลมอนตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกจะไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงาน ถ้ายังไม่ได้สัก

ในยุคประวัติศาสตร์ กลุ่มชนชาวบริตัน โกลส์ เยอรมัน และกรีก รวมถึงชาวยุโรปโบราณต่างก็นิยมสัก  กระทั่งปลายศตวรรษที่ ๘ ทางคริสตจักรอ้างว่าการสักทำให้ร่างกายมัวหมอง มีราคี ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของพระเจ้า จึงมีข้อห้ามคริสต์ศาสนิกชนสักอย่างเด็ดขาด  การสักในยุโรปจึงซบเซาลง  จนมาถึงยุคที่ชาวตะวันตกออกเดินเรือไปยังทวีปต่าง ๆ  ในศตวรรษที่ ๑๘ เริ่มมีคำภาษาอังกฤษว่า “tattoo” ที่แปลว่าลายสัก แผลงมาจากคำว่า “tatau” ที่แปลว่าลายสักในภาษาตาฮิติ  ว่ากันว่าเพราะพวกกะลาสีเรืออังกฤษเห็นชาวเกาะตาฮิติสักลายแล้วก็ขอลองสักบ้าง  ลายสักบนร่างกายจึงติดตามกลับไปเผยแพร่ใหม่ในอังกฤษ  ท่าเรือส่วนใหญ่ของอังกฤษจะมีช่างสักหรือ “แทตทูอาร์ติสต์” ประจำอยู่อย่างน้อยหนึ่งคน

ถึงศตวรรษที่ ๑๙ การสักเฟื่องฟูที่อังกฤษมากกว่าแห่งใดในยุโรป แพร่หลายทั้งในหมู่สามัญชน ชนชั้นสูง ขุนนาง ยกตัวอย่าง เลดี้แรนดอล์ฟ เชอร์ชิล แม่ของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็สักรูปงูพันไว้ที่แขนตั้งแต่ข้อศอกถึงข้อมือ  พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงสักรูป “กางเขนแบบเยรูซาเล็ม” (jerusalem cross) เป็นรูปกากบาทขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยกากบาทขนาดเล็กอีกสี่อัน ก็ยิ่งทำให้ผู้คนนิยมสักตาม  มีบันทึกว่ายุคนั้นร้านสักที่มีชื่อเสียงมากที่สุดชื่อร้านแฮมแมน ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน

ส่วนในแถบเอเชียบ้านเรา ชาวจีนและชนชาวเผ่าโบราณก็นิยมสักทั้งชายหญิง  ชาวไทใหญ่สักยันต์เพื่อความอยู่ยงคงกระพัน พวกลาวพุงดำนิยมสักยันต์ทั้งตัว ยกเว้นหน้าผาก ใช้สีดำบ้าง แดงบ้าง  เช่นเดียวกับชาวพม่าที่นิยมสักทั้งตัว  ส่วนคนมอญ พม่าบางส่วน หรือเขมร นิยมสักรูปขอม เช่น ราชสีห์ดำ ลายมอม ลายกระหนก  คนไทยแถบภาคอีสานนิยมสักให้สวยงามมีเสน่ห์ เรียกว่าการ “สักขาลาย” ขณะที่ใครไม่มีลายสักถือว่าต่ำต้อย ถูกเรียกว่าพวก “ขาขาว”

อีกเหตุผลหลักในการสักของคนไทย คือความเชื่อเรื่องการประจุพลังอำนาจทางไสยศาสตร์ของอักขระกับรูปภาพไว้ในร่างกาย ซึ่งต้องสักโดยครูบาอาจารย์ที่มีวิชาอาคม  ถ้าหวังผลทางเมตตามหานิยมให้ต้องตาต้องใจเพศตรงข้าม หรือหวังผลทางเจรจาค้าขาย มักสักรูปจิ้งจก นกสาลิกา  โดยเฉพาะการสักเพื่อหวังผลทางอยู่ยงคงกระพันที่นิยมสักรูปเสือเผ่น หนุมาน ยันต์เกราะเพชร ทำให้ต่อมาการสักถูกเหยียดว่าเป็นเรื่องของนักเลงหัวไม้ที่ชอบตีรันฟันแทง หรือชนชั้นล่าง  ผู้ที่มีลายสักมักถูกมองอย่างหมิ่น ๆ ว่าอาจเป็นคนคุก หรือพวกเล่นอาคมของขลัง  ปัจจุบันโรงเรียนเตรียมทหารยังมีข้อกำหนดว่าผู้ที่สอบเข้าศึกษาต้องไม่สักไม่เจาะใด ๆ ทั้งสิ้น

ถึงวันนี้ขณะที่ฝรั่งตะวันตกถือว่าการสักลายเป็นเรื่องศิลปะบนเรือนร่างที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อใด ๆ  ส่วนคนไทย การสักยันต์เพื่อพลังอำนาจบางอย่างยังคงดำรงอยู่ใน “สายหนึ่ง” แต่การสักทางสายใหม่ที่เรียกว่า “แทตทู” ซึ่งเน้นความงามทางศิลปะก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นตามกระแสตะวันตกจากคนทุกชนชั้น ทุกระดับการศึกษา ไม่ว่าชายหรือหญิง  คนเหล่านี้ตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่กับลายสักไปชั่วชีวิต

จากเมื่อก่อนอุปกรณ์สักลายที่เป็นวัตถุปลายแหลมดูขรึมขลัง เช่น เขี้ยวสัตว์ หนามหวาย เข็มเย็บผ้ามัดรวมกันสี่ห้าเล่ม หมึกจีนชนิดแท่งฝนเป็นผง ผสมน้ำมันงา  บางสำนักอาจใช้ขี้เถ้ากระดูกสัตว์ กาบมะพร้าวเผา หรือแม้กระทั่งเขม่าก้นหม้อ ผสมดีควาย

ทุกวันนี้เปลี่ยนเป็นเข็มสักสมัยใหม่ หรือปืนสักไฟฟ้า จับถนัดเหมือนปากกา  แทตทูอาร์ติสต์สักลาย กรีดเส้น วาดลายสักในทิศทางตามต้องการได้อย่างถนัดถนี่  หมึกมีใช้หลายเฉดสี

วันนี้ลายสักกลายเป็นหนึ่งของความงามในชั้นเชิงศิลป์ ว่าด้วยวิชาออกแบบและแฟชั่น

 

แรงปรารถนา เร้าราคาลายสัก

ไหล่ของสาวคนนั้นเป็นรูปผู้หญิงสวมหน้ากาก ถึงถมดำหมดทั้งภาพแต่ก็งามอย่างประหลาดและดูลึกลับ

ส่วนแขนของชายคนนั้นละเลงด้วยปื้นดำทั้งแถบ ถมเข้าช่องอย่างกับภาพจิ๊กซอว์  แต่ละปื้นเว้นช่องไฟพอเหมาะ พอมองเห็นสีผิว  ปื้นใหญ่ที่สุดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีวงกลมซ้อนกันสามวง  เส้นรอบวงของวงกลมวงใหญ่สัมผัสขอบสี่เหลี่ยมทุกด้าน  วงกลางประดับแฉกราวรูปวาดพระอาทิตย์ ปลายแหลมชี้ติดวงกลมวงนอก และมีวงสีดำอยู่ตรงกลาง

ปื้นอื่น ๆ บนเนื้อหนังนั้นยังมีรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูอัดแน่นด้วยลวดลายแบบจีโอเมทริก ถึงบางปื้นรูปทรงโย้เย้ แต่ทั้งหมดก็ถูกถมจนเต็มแขนของชายในชุดเสื้อกล้ามขาว

บนถนนข้าวสาร ลายสักหลายลายเตะตาเรา หนึ่งในนั้นคือเส้นตรงสี่ขีดบนปลีน่องสาวชาวต่างชาติที่กำลังนั่งกินผัดไทย  ลายสักเรียบ ๆ เด่นบนผิวขาวราวหยวกกล้วยทำให้นึกถึงสัญลักษณ์เส้นตรงสามขีดของผลิตภัณฑ์กีฬายี่ห้อดัง

ส่วนผีเสื้อตัวเล็กหลากสีบนหลังมือวัยรุ่นหญิงคนนั้นก็น่าสนใจยิ่ง สวยสมจริงราวกับจะโบยบินออกมาจากหลังมือ  กับอีกลายหนึ่งที่มีมานานจนคุ้นชิน คือลายสักรูปมังกรน่าเกรงขาม แลบล้นนอกชายเสื้อ  งานสื่ออารมณ์ความเป็นโลกตะวันออกนี้มักซ่อนอยู่บนแผ่นหลัง หรือไม่ก็เลื้อยพันอยู่บนแขน

ที่หน้าร้าน Tattoo Diven Ink Studio หัวมุมตึกสองชั้นกลางถนนข้าวสาร ลองเปิดหนังสือรวมลายสักจะเห็นลวดลายอันน่ามหัศจรรย์อัดแน่นอยู่ทั้งเล่ม ตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเหรียญบาทจนถึงแผ่เต็มทั้งหลัง  ลวดลายวิจิตรงดงามถูกตีราคาตั้งแต่ ๕๐๐ บาทถึงหลักพันหลักหมื่น

ลองสุ่มสอบถามบางลายสักที่เห็นว่าน่าสนใจก็ได้ข้อมูลว่ารูป “พระแม่มารี” โทนสีเทาขนาดใหญ่เท่าท่อนแขน ใช้เวลาสักประมาณ ๔ ชั่วโมง ราคา ๑๒,๐๐๐ บาท  “หมีคำราม” ขนาดไล่เลี่ยกันก็เทียบเท่ากันทั้งเวลาและราคา  แต่ถ้าย่อขนาดลงมา ราคาลดเหลือ ๘,๐๐๐-๙,๐๐๐ บาท

สองฝั่งถนนข้าวสารมีร้านสักอยู่ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ร้าน ข้ามถนนมาฝั่งตรงข้าม สำรวจรูป “เต่าทอง” เล็กเท่าเหรียญ ๑๐ บาท กระดองสีแดงจุดดำสมจริง ใช้เวลาสัก ๑๕ นาที ราคาอยู่ที่ ๑,๕๐๐ บาท

ส่วนภาพ “ผู้หญิง” ที่ก้ำกึ่งดูไม่ออกว่านางคือนางฟ้าหรือซาตาน ใช้เวลาสักถึง ๑๐ ชั่วโมง ต้องสักอย่างน้อยสองสามครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลา ๓-๔ ชั่วโมง ลายสักความละเอียดสูงและขนาดใหญ่อย่างนี้ ราคา ๑๒,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ บาท และเพิ่มเป็น ๑๘,๐๐๐ บาทสำหรับชาวต่างชาติ

บนถนนข้าวสาร เจ้าหน้าที่ที่ยืนต้อนรับลูกค้าอยู่หน้าร้านให้ข้อมูลว่า บางทีงานสักก็เป็นศิลปะที่ไม่มีมาตรฐานราคา ขึ้นกับฝีมือช่างและความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย

ทิม หรือ อิทธิชัย บุญหล่อสุวรรณ เจ้าของร้านสัก Tattoo in Memory (TIM) จรัญสนิทวงศ์ ๔๕ ซึ่งมารับสักอยู่ที่ถนนข้าวสารบ่อยครั้ง เล่าว่า “ก็เหมือนงานศิลปะที่คนวาดรูปขายกัน ไม่มีมาตรฐานราคาชัดเจนว่าต้องเท่านั้นเท่านี้ สุดแต่ฝีมือ และราคาที่ทั้งสองฝ่ายจะเรียก”

ทิมเล่าต่ออีกว่า ร้านสักที่มีชื่อเสียง คิดราคาต่อชั่วโมงเลยก็มี ชั่วโมงละ ๓,๐๐๐ หรือ ๕,๐๐๐ บาท ถ้าอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวอย่างถนนข้าวสารหรือถนนสีลมก็จะแพงกว่าร้านสักทั่วไป

ส่วนร้าน Tattoo in Memory ของเขา กำหนดราคาลายสักขาวดำขนาดเท่าฝ่ามือ (๔x๗ นิ้ว) อยู่ที่ ๓,๕๐๐ บาท ถ้าเป็นงานสี ๔,๕๐๐ บาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับความละเอียดของลายสัก

ครั้งหนึ่งเขาพบเหตุการณ์ที่มีคนตีราคางานศิลปะบนเรือนร่างอย่างน่าขันในสายตาเขา  เมื่อมีเด็กโพสต์ภาพลายสักลงบนเฟซบุ๊กแล้วเขียนข้อความว่า ต้องการสักลายขนาดเท่านี้ ด้วยเงินเท่านี้  ถ้าช่างคนไหนอยากสักขอให้ติดต่อมา

“คือแทนที่เราจะเป็นคนเรียกราคา กลับเป็นว่าเด็กคนนั้นตั้งราคาให้แล้ว  มันแปลกเพราะสำหรับงานฝีมือ ช่างที่มีฝีมือจริง ๆ คงไม่รับสัก เพราะเขาบอกราคาต่ำเกินไป”

ทิมถ่ายทอดจากประสบการณ์สักมา ๖-๗ ปีว่า ร้านสักบางร้านรับสักงานขนาด A4 ด้วยราคาไม่กี่พัน ซึ่งเขาคิดว่ามันถูกมาก

“ราคาถูกกับคุณภาพงานเทียบกันแล้วเป็นอย่างไร  คุณสักแพงแล้วคุณภาพงานคุณแพงตามราคาหรือเปล่า”

 

เมื่อปลายเข็มทิ่มแทงเซลล์ผิวหนัง

tattoo04มองผ่านกระจกกั้น

สองฝ่ายกำลังทำหน้าที่ของกันและกัน  ฝ่ายหนึ่งนอนให้ช่างสักสักร่าง  อีกฝ่ายสักให้ผู้ที่กำลังนอนอยู่

เตียงของคนสักนุ่มกว่าเตียงรถเข็นของผู้ป่วยในโรงพยาบาล เก้าอี้ของช่างสักก็นุ่มสบายไม่ต่างจากโซฟา

สองสามชั่วโมงสำหรับลายสักขนาดเล็ก ๆ หนึ่งลาย คือช่วงเวลาที่ทั้งสองคนต้องใช้ลมหายใจร่วมกันหลังปลายเข็ม

ว่าด้วยกระบวนการสักแล้วอาจถือเป็นเรื่องประหลาด  ช่างสักนั่งทำหน้าที่สร้างรอยแผลบนร่างลูกค้า แล้วอีกฝ่ายที่เจ็บจนเลือดไหลซิบต้องจ่ายเงินให้อีกฝ่าย-แปลกไหม

การสักมีเสน่ห์ตรงที่ภาพซึ่งเลือกจารึกไว้บนผิวหนังอย่างยินยอมพร้อมใจ อาจจะออกมาสวยหรือไม่สวย ไม่น่าพอใจก็ได้ เพราะทักษะของแทตทูอาร์ติสต์มีส่วนสำคัญ  การนำรูปต้นแบบบนกระดาษลงไปอยู่ในผิวหนังขึ้นอยู่กับฝีมือช่าง

ขั้นตอนของการสักอาจเริ่มตั้งแต่ลูกค้าเดินเข้ามาในร้าน แสดงรูปต้นแบบที่ต้องการสัก แทตทูอาร์ติสต์จะ “ตีความ” ทำความเข้าใจรูปนั้น  พูดคุยตกลงกันถึงขนาดและตำแหน่ง ปรึกษาและแลกเปลี่ยน ชี้แจงและชี้แนะ ว่าความต้องการของ
กันและกันคืออะไร

เมื่อสองฝ่ายตกลงทำความเข้าใจก็คัดลอกรูปต้นแบบลงกระดาษลอกลาย ผสมกาวน้ำยาแปะลงบนผิวหนัง “เอาต์ไลน์” หรือลวดลายนี้จะติดอยู่บนผิวหนัง ๒-๓ ชั่วโมงให้เห็นเป็นโครงร่าง  ช่างจะเริ่มสักโดยใช้เข็มสักจุ่มหมึกสีแล้วเดินเครื่องให้มอเตอร์ดีดปลายเข็ม รัว เร็ว ทิ่มผิวหนังลึกอย่างน้อย ๐.๖ มิลลิเมตร  หมึกหมดก็จุ่มใหม่  ถ้าเลือดหรือน้ำเหลืองไหลซิบก็ซับเลือด

เมื่อต้องการเปลี่ยนสีก็ล้างสีเดิมออกจากหัวเข็มให้สะอาด ไม่อย่างนั้นสีจะกลาย  อยากระบายสีฟ้า แต่ล้างสีแดงออกไม่หมด ก็อาจได้สีม่วงตุ่น

แทตทูอาร์ติสต์ที่ข้าวสารเล่าว่าหัวเข็มสักก็ไม่ต่างจากพู่กัน มีหลายขนาด หลายเบอร์  จะเลือกใช้หัวเล็กหรือหัวใหญ่ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และลวดลายว่าจะขีดเส้นหรือระบายสี  ลายสักจะสวยหรือไม่สวย แทตทูอาร์ติสต์ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการ

ขณะที่ผู้ถูกสักพยายามผ่อนคลายใช้เวลา ไม่สนใจเลือดที่กำลังไหลซิบ ระหว่างลายสักเพิ่มพื้นที่ทุกตารางมิลลิเมตร  เขานอนฟังเพลงจากเครื่องเล่น หรือเล่นอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ตโฟนไปด้วย

ความรู้สึกระหว่างสักนั้นเจ็บแน่นอน แต่มากน้อยไม่เท่ากัน  และเมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะสัก ส่วนใหญ่ทนรับความเจ็บได้

“มันเจ็บนะ ไม่ใช่ไม่เจ็บ อย่างบางจุดแถวท้องนี่เจ็บชิบเป๋งเลย แต่มันเจ็บเฉพาะตอนสัก พอผ่านไป ๓-๔ วัน จบการสักแล้วก็อยากได้อีก” คนที่ผ่านการสักมาทั้งชีวิตคนหนึ่งเล่า

เมื่อสิ้นสุดการสัก ช่างจะเช็ดทำความสะอาดบาดแผล ล้างคราบเลือดคราบหมึก แล้ว “แรป” (wrap) ด้วยแผ่นฟิล์มใส ป้องกันเชื้อโรคนาน ๒-๓ ชั่วโมงจึงดึงแผ่นฟิล์มออกได้ จากนั้นล้างลายสักด้วยสบู่ที่มีความอ่อนโยนและป้องกันเชื้อแบคทีเรีย
ลายสักใหม่ก็เหมือนแผลสดที่ต้องดูแลรักษา เปิดให้อากาศถ่ายเทไม่อับชื้น

ปล่อยให้ผิวหนังค่อย ๆ แห้ง ตกสะเก็ด บางคนใช้เวลาเป็นสัปดาห์ บางคนใช้เวลาถึง ๒ เดือน เพื่อให้ผิวหนังหายสนิท

เรียนรู้ความจริงของชีวิตว่าบาดแผลเมื่อแห้งสนิทจะทิ้งรอยแผลเป็นไว้

 

Old school, New school, Japanese, Realistic etc.

ลายสักแบบ “เบสิก” จำพวกรูปมีด ดาบ นกอินทรี ลูกเชอร์รี ริบบิ้น หรือสมอเรือ ที่เราพอจะนึกได้เลยว่าพวกกะลาสีเรือสมัยก่อนคงจะสักกัน มีชื่อเรียกเฉพาะในวงการสักว่าลายสักแบบ “โอลด์สกูล” (Old school)

ลายสักที่หมายถึงสกุลช่างแบบดั้งเดิมนี้มีลักษณะสำคัญคือตัวลายสักจะทิ้งลายเส้นหนาหนัก สีออกทึบ เป็นภาพสองมิติที่แบนราบ เพราะเครื่องมือสมัยก่อนยังไม่มีคุณภาพมากนักต่อการสักไล่เฉดสี หรือทิ้งลวดลายที่มีความละเอียดสูงไว้บนผิวหนัง

พวกกะลาสีเรืออาจเริ่มต้นสักโอลด์สกูลกันด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการใช้ชีวิตรอนแรมอยู่กลางทะเล และพวกเขาอาจไม่มีความรู้หรือผ่านการอบรมเรื่องการสักมาก่อน

ลายสักแบบโอลด์สกูลถือเป็นแทตทูยุคเริ่มต้น เป็นรูปพื้นฐานของการสักก็ว่าได้  อยู่ร่วมสมัยกับลาย “ชนเผ่า” (tribal tattoo) ที่มีลักษณะเด่นคือถมดำ เน้นเส้นตรง เส้นโค้ง รอยขีด เป็นลายกราฟิกแบบดั้งเดิมของชนพื้นเมืองหรือชนเผ่าต่าง ๆ ที่ยังแยกย่อยออกเป็นลวดลายเฉพาะ เช่น ลายสักแบบเมารี (Maori tattoo)  นอกจากนี้ยังมีลายสักแบบญี่ปุ่น (Japanese tattoo) ที่ถือเป็นลายสักคลาสสิก ไม่น่าจะมีวันตาย  ลายสักดั้งเดิมของชาวอาทิตย์อุทัยนี้มักกรุ่นกลิ่นอายตะวันออก อย่างรูปแก๊งยากูซ่า เกอิชา มังกร เสือ อสูร ปลาคาร์ป หรือดอกบ๊วย

นานวันเข้ารูปแบบของลายสักก็วิวัฒนาการไปเป็นลำดับ จนอาจเรียกได้ว่าแตกแขนงอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

ช่างทิม เจ้าของร้านสัก Tattoo in Memory ให้คำตอบเมื่อถูกถามถึงลายสักที่กำลังมาแรงในขณะนี้ว่า “โอ้โฮ มันเยอะอยู่นะ ต้องมานั่งลิสต์เลยว่ามีอะไรบ้าง และจะจำแนกยังไง”

เขาพูดอย่างนั้นเพราะเห็นว่ารูปแบบของลายสักมีอยู่มากจนยากที่จะจัดหมวดหมู่

“มันแตกแขนงได้เรื่อย ๆ แล้วยังเกิดใหม่เหมือนศิลปะ การแยกประเภทลายสักน่าจะคล้ายงานศิลปะทั่วไป เช่น งานเรียลิสติก (realistic tattoo) ที่สมจริงเหมือนรูปวาด  งานสีน้ำ(watercolor tattoo) ที่เหมือนใช้พู่กันวาดระบายสี  หรืองานจีโอเมทริกพวกรูปทรงเรขาคณิตก็เริ่มมีคนชอบ จากเมื่อก่อนจะมีแต่คนสักลายญี่ปุ่น โอลด์สกูล หรือชนเผ่า  แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแขนงไหนก็มักนำมาสักกัน  รวมถึงงานของศิลปินระดับโลก อย่างโมเน ไกเกอร์ หรืองานของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี” ช่างสักทิมร่ายยาว

จากลายสักแนวโอลด์สกูลจึงต่อยอดมาเป็น “นิวสกูล” (New school) ที่ทันสมัย เน้นลูกเล่นเฉดสี เล่นแสงเงาตื้นลึกหนาบาง เรื่องราวของลายสักก็ไปไกลกว่าอาวุธ ท้องทะเล ความรัก  รูปหัวใจที่เคยสักอย่างเรียบง่าย ก็อาจบิดมุมหรือใส่มิติให้ดูร่วมสมัย  จากที่เคยนิยมใช้สีพื้นฐาน ไล่จากสีดำไปสีแดง ก็หันมาใช้สีที่หลากหลายมากขึ้น

ตอนนี้ยังมีลายสักแบบ “ดอตเวิร์ก” (dotwork tattoo) ที่ถือเป็นแนวใหม่  คาดว่าน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ (impressionism) ที่ใช้จุดเล็ก ๆ  และการถมสีดำสร้างภาพ  รวมถึงลายสักสามมิติ (3D tattoo) ที่แสดงศักยภาพสูงสุดของการสักบนเรือนร่าง  ตัวลายเหมือนของจริงที่มีชีวิต นกน้อยกำลังจะบินออกจากร่าง แมลงไต่บนผิวหนัง และผิวหนังกำลังแตกเป็นผุยผง !

 

ความหมายในลายสัก

tattoo03“ผมสักมาตั้งแต่เด็ก เอาเข็มผูกกับพู่กัน”

ด๋อย หรือ มนตรา เกสรบัว มือกีตาร์วงดนตรีอิสระ นั่งรอช่างสักอยู่ที่ร้าน Tattoo Diven Ink Studio แขนซ้ายเขาสักรูป Dimebag Darrell มือกีตาร์วง Pantera กับ Serj Tankian นักร้องนำวง System of a Down  ทั้งสองผู้เล่นตัวเอกของวงดนตรีแนวเฮฟวีเมทัล  ส่วนแขนขวาของเขาสักรูปสมอเรือ

คนหนุ่มผู้หลงรักเสียงดนตรีมาต่อเติมลายสักรูปนักร้อง Serj Tankian ที่ยังค้างคาให้สมบูรณ์  เขาชอบสักเพิ่มแบบเก็บเล็กผสมน้อยอย่างนี้

ด๋อยเล่าเรื่องราววัยเด็กให้ฟังว่า เมื่อก่อนเขาสักโดยใช้เข็มเย็บผ้ามัดกับพู่กัน บางครั้งใช้ตะเกียบ จุ่มปลายเข็มในหมึกปากการ็อตตริง แล้วจิ้มแขนสักเล่นเป็นรูปดวงดาว ไม้กางเขน แมงป่อง

ด๋อยเริ่มสักเมื่อเรียนอยู่ชั้น ม. ๓ ต้องแอบสักไม่ให้แม่เห็น สักเสร็จแล้วเอาไปอวดเพื่อนที่โรงเรียน  แต่พอกลับบ้านต้องเอาพลาสเตอร์ปิดทับ “แม่คงจะสงสัยว่าทำไมเป็นแผลทั้งปีทั้งชาติ ไม่เคยหาย”

เมื่ออายุมากขึ้นก็หันมาเข้าร้านสัก บางลายที่สักมาตั้งแต่เด็กก็ตัดสินใจสักทับ

ด๋อยเล่าถึงความตั้งใจว่าในอนาคตจะยกพื้นที่ทั้งหมดบนแขนซ้ายให้แก่ศิลปินที่ชอบ  แขนขวาเปิดเป็นพื้นที่ของลายสักที่สื่อความหมายถึงท้องทะเล เช่น เข็มทิศ ประภาคาร เพราะพ่อของเขาเป็นทหารเรือ  ที่หน้าอกเขาคิดจะสักรูปแม่ซึ่งเสียชีวิตแล้ว ด้วยลายสักแบบรูปคน (portrait tattoo) หรืออาจสักชื่อและนามสกุลของแม่ด้วยลายแบบตัวอักษร (word tattoo)

ด๋อยเล่าว่าทุกลายสักมีความหมายสำหรับเขา แม้บางลายจะไม่ระบุถึงที่มาที่ไปแน่ชัด แต่อย่างน้อยเจ้าของจะจดจำได้แม่นยำว่าสักรูปนั้นในช่วงเวลาไหน

ตาว หรือ คิดชอบ เคาวสุต ช่างสักร้าน Tattoo Diven Ink Studio ซึ่งโดยฐานะช่างสักอาชีพมีอายุงาน ๔ ปี  แต่ในฐานะคนชอบสัก เขาสักลายมานานกว่าอายุงานหลายเท่า เริ่มสักครั้งแรกใต้ร่มผ้า แล้วลายสักก็ค่อย ๆ ไต่ขึ้นมาจนทั่วตัว

ผมขอให้เขาพูดถึงลายสักบนตัวไปทีละลาย

“รูปยานอวกาศบนแขนซ้ายเป็นงานที่ผมเคยทำส่งอาจารย์สมัยเรียนปริญญาตรีปี ๓ เขาให้ผมผ่าน แต่พอขึ้นปี ๔ ต้องทำงานชิ้นใหญ่ อาจารย์ไม่ให้ผ่าน สุดท้ายผมเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย เลยสักภาพยานอวกาศมีท่อโปรยความสุขลงมาให้ทุกคน  ลายสักรูปหมึกเพราะผมเคยทำงานอยู่ในครัวมาก่อน  ส่วนรูปกบ เพราะผมคิดว่าผมเหมือนเจ้าชายที่ถูกสาป ต้องทำงานอยู่ที่หนึ่งจนเบื่อ  รูปทศกัณฐ์เป็นความชอบโดยส่วนตัว  อารมณ์เหมือนตัวเองที่มีความเป็นไทย แต่ก็ไม่ใช่ไทยคนดี  เป็นไทยทศกัณฐ์ที่มีทั้งด้านมืดและมีหัวใจ คนเราไม่ได้มีด้านเดียวใช่มั้ย…

“ส่วนลายนี้เป็นงานประกวดของเพื่อน เขาฝากมา” พูดจบช่างตาวยกแขนขวาขึ้นอวดลายสัก กลางภาพคือตัวร้ายในหนังเรื่อง Mad Max : Fury Road คาแรกเตอร์ของตัวละครที่เถื่อนและดิบไม่เบา

“เพื่อนของผมที่เป็นช่างสัก เขาหาเนื้อหนังที่จะสักประกวด ผมก็เสนอตัว ทำความเข้าใจกันก่อนว่าโทนขาว เทา ดำ นะ เขาก็เลือกลายสักมาให้ดู เป็นตัวละครของหนังที่ตอนนั้นยังไม่เข้าโรงฉาย แต่เขาค้นเจอภาพในอินเทอร์เน็ตแล้วถูกใจ  ผมเองก็มีสิทธิ์เลือกว่าชอบแบบไหน เมื่อเขารับได้ ออกแบบลายจนเราพอใจ  เราก็ไปนอนให้เขาสักตั้งแต่ ๑๐ โมงเช้าถึง ๑ ทุ่ม”  งานประกวดชิ้นหนึ่งใช้วิชาทั้งหมดที่ช่างมีสักลงไปในตัวงาน

ตาวคิดว่าการลงทุนครั้งหนึ่งกับงานที่ส่งประกวดไม่ใช่เรื่องเสียหาย “อย่างน้อย ๆ จับพลัดจับผลูได้รางวัลที่ ๑ ก็อยู่กับคุณไปจนวันตาย  แล้วผมก็ทำให้เพื่อนได้รางวัลที่ ๑ จริง ๆ”

ช่างตาวกล่าวถึงงานประกวดลายสักในงานนนทบุรีไบค์วีค ครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๓-๔ เมษายน ๒๕๕๘ ที่ศูนย์การค้าเดอะ สแควร์บางใหญ่  เขาและเพื่อนได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท black & gray และรางวัลชนะเลิศประเภท small job งานขนาดเล็กไม่เกินฝ่ามือที่ช่างตาวต้องเจ็บตัวติด ๆ กัน ๒ วัน แต่ก็คุ้มค่า ลายสักรางวัลชนะเลิศจะอยู่กับเขาไปอีกนานเท่านาน

เนื้อคนไม่ใช่กระดาษ…ในความเห็นของช่างตาว การสักจึงมิใช่การทำเนื้อตัวสกปรก แต่ก่อเกิดจากความรู้สึกส่วนลึกข้างใน เข้าใจ ยอมรับในลายสักว่าเป็นงานศิลปะที่เมื่อคุณรู้สึกดีกับมัน มันจะอยู่เป็นเพื่อนชีวิต สะท้อนข้างในและตัวตนของคุณออกมา

สำหรับช่างตาว รอยสักคือชีวิต “สิ่งที่ผมอยากจดจำ หรือสิ่งที่ผมต้องการเรียนรู้ ช่วงเวลานั้นผมอยากเก็บมันไว้  ให้เรานึกถึงเมื่อผ่านไป ๒๐-๓๐ ปี  ผมไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเจออะไร แต่ถ้าผมเจอสิ่งที่ถูกใจ ผมจะนำสิ่งนั้นกลับมาสักไว้ในตัว”

 

ศิลปะหรือแฟชั่น

“เปลี่ยนไปมาก”

อ๊อด หรือ กฤตย์ เหลืองเช็ง เจ้าของร้านสัก Tattoo Diven Ink Studio ถนนข้าวสาร แทตทูอาร์ติสต์ผู้มากประสบการณ์ วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมคนที่มาสัก

“เดี๋ยวนี้มีทุกชนชั้น ทุกระดับ ทุกเพศทุกวัย เป็นเรื่องธรรมดา จากเมื่อก่อนเป็นผู้ใหญ่ มีสตางค์ เพราะเครื่องสักมีน้อย ราคาแพง แต่เดี๋ยวนี้ร้านเยอะ”ช่างอ๊อดแสดงความเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้คนสมัยนี้นิยมสักว่า “คงเพราะดูแล้วเป็นแฟชั่น เหมือนเครื่องประดับ แล้วค่านิยมก็เปลี่ยน มุมมองแง่ลบน้อยลง เพราะเขาเห็นดารานักร้อง นักฟุตบอลสัก จนเริ่มเป็นเรื่องธรรมดา”

ตามความเห็นของเขา ลายสักคือภาพวาดที่ขายความคิด ใช้ทฤษฎีสี ความประณีต ความสะอาด

ที่ร้าน Tattoo Diven Ink Studio ลูกค้าส่วนใหญ่คือกลุ่มวัยรุ่นและวัยกลางคนที่มีกำลังจับจ่าย รวมถึงนักท่องเที่ยวฝรั่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย ๒๒-๓๕ ปี  สัดส่วนของชายและหญิงพอ ๆ กัน

“ผู้หญิงส่วนใหญ่สักลายไม่ใหญ่นัก ขนาดพอดี ๆ เล็ก ๆ หวาน ๆ เก๋ ๆ หรือฟอนต์ตัวอักษร ส่วนผู้ชายสักลายที่ดูมีขนาด ขึ้นมา”

ก่อนนี้นักเลงสักคนหนึ่งเคยกล่าวว่า การสักไม่ใช่แฟชั่น เพราะแฟชั่นผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่างกางเกงขาเดฟ กางเกงขาบาน กางเกงขากระดิ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่หยุดนิ่ง ไม่ยืนระยะ  แต่ลายสักไม่มีวันตาย ติดตัวไปทุกที่ทุกเวลา ท้ายที่สุดลายสักจะ
เป็นหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่ติดตัวคนสักลงไปในหลุมฝังศพ

ประโยคข้างต้นช่างแหลมคมและชวนขบคิด

ช่างอ๊อดย้ำว่าลายสักก็คืองานศิลปะบนตัวคน และทุกคนเข้าถึงได้

“เดี๋ยวนี้งานดีขึ้นมาก อาจถือว่าเป็นอาร์ตล้วน ๆ  งานแทตทูของไทยกำลังเดินไปจุดนั้น  ผมเชื่อว่าถึงวันหนึ่งใคร ๆ ก็คงสักกัน เพราะมันเป็นอาร์ต เป็นแฟชั่น ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย  ผมอุ้มลูกเดินห้างก็ไม่ต้องสนใจใครแล้ว”

ทางด้านหน่อง หรือ จตุรงค์ หิรัญกาญจน์ อาจารย์พิเศษวิชาถ่ายภาพ เจ้าของผลงานภาพถ่ายลายสัก จัดแสดงในนิทรรศการ Living Ink ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม-๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ให้ความเห็นในฐานะอาจารย์พิเศษด้านศิลปะ และผู้เคยจับเข็มสักขาตัวเองมาก่อนว่า

“มันไม่เหมือนการเขียนบนกระดาษ เพราะพู่กันกับเข็มแตกต่างกัน  กระดาษกับเนื้อคนไม่เหมือนกัน กระดาษอยู่กับที่ ไม่สั่น แต่เนื้อคนสั่นได้ ทั้งวิธีการลงเข็ม การกด น้ำหนักมือ การจิ้มสี น้ำหนักสี แตกต่างกันทั้งหมด อยู่ที่ประสบการณ์ ความชำนาญของช่าง  ต้องรู้จังหวะว่าเนื้อส่วนนั้นจะดิ้นแค่ไหน จิ้มเข็มลงไปลึกเท่าไหร่สีจึงจะติด  นี่คือเรื่องเทคนิคของช่างเขียนกับช่างสักที่ต่างกัน

“การสักเป็นเรื่องของการค้า มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ลายสักคือสิ่งที่ลูกค้าเลือกก่อน หรืออย่างน้อยช่างก็เป็นคนให้คำปรึกษา จะบอกว่าเป็น pure art หรือศิลปะบริสุทธิ์เลยคงไม่ใช่  เพราะศิลปะบริสุทธิ์ อาร์ติสต์อยากเขียนก็เขียน ขายไม่ได้ก็ช่าง หรือบางทีก็ไม่อยากขาย  งานสักสำหรับผมจึงเป็นศิลปะ แต่เป็น commercial art

“ยกเว้นอาร์ติสต์ไปสักบนตัวหมู บนศพ หรืออะไรก็แล้วแต่ อย่างนั้นเป็น fine art  หรือคนถูกสักบอกว่าเขาไม่เลือกลายสัก ให้อาร์ติสต์เลือก แล้วอาร์ติสต์ก็ละเลงลงไป อย่างนี้ถือเป็น fine art ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์”

ขณะที่โน้ต หรือ พงศกร อารีศิริไพศาล อาจารย์ประจำภาควิชาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็นถึงประเด็นลายสักกับแฟชั่นว่า “คนที่บอกว่าการสักไม่ใช่แฟชั่นอาจจะพยายามทำให้การสักดูมีคุณค่าขึ้นมา  แต่ผมยังรู้สึกว่าผมสักเพราะมันเป็นแฟชั่นที่จะอยู่กับผมไปตลอดกาล  แฟชั่นมีการย้อนกลับมาใหม่ อย่างใส่แว่นตาหนา ๆ ไว้ทรงผม ไว้หนวดไว้เครา ก็มาจากยุคเซเวนตี้ เอตตี้ ยุคฮิปปี้ที่คนชอบกัน  แล้วก็เรียกตัวเองว่าฮิปสเตอร์ ซึ่งผมมองว่ามันก็คือแฟชั่นที่มีการย้อนกลับ”

อาจารย์โน้ตทิ้งท้ายว่า “รอยสักก็เป็นงานศิลปะที่เป็นแฟชั่น รูปตัวอย่างที่ใช้สักก็ไม่ใช่งานหรือลายที่เราคิดค้นหรือวาดเอง ต้องอิงงานแฟชั่นยุคใดยุคหนึ่งอยู่แล้วไม่ใช่หรือ”

 

สักวันจนชีวิตจะหาไม่

tattoo01วินาทีที่เข็มทิ่มแทงผิวหนัง คือวินาทีที่เข็มกระแทกจิตวิญญาณ  ความรู้สึกของผู้ผ่านการสักคงเหมือนคนตกหลุมรัก เจ็บปวดแต่งดงาม

แต่สำหรับบางคนแล้วรอยสักอาจเป็นความเจ็บเดียวที่มีสิทธิ์เลือกตำแหน่ง แถมยังเลือกขนาดและสีสันได้อีกต่างหาก

หรือกล่าวอย่างถึงที่สุด เมื่อความเจ็บปวดจากการสักยังคงอยู่ นั่นหมายถึงเรายังมีลมหายใจ

ปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เรากลับมาที่ถนนข้าวสาร ได้พบด๋อย หรือ มนตรา เกสรบัว ผู้กำลังตามล่าฝันในฐานะมือกีตาร์ พบกันครั้งนี้ลายสักบนแขนซ้ายดูสมบูรณ์ขึ้น แผ่พื้นที่คลุมเกือบทั้งแขน แต่ก็ยังพอเหลือพื้นที่ว่างด๋อยเล่าว่าวางแผนสักเพิ่มอีกหลายลาย ทั้งที่แขนซ้าย แขนขวา และมีอีกหลายลายที่ยังสักค้างไว้ โดยเฉพาะที่แผ่นหลัง

แต่เขายืนยันว่าไม่รีบร้อน ค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ สัก

ในแวดวงนักสัก มีคำกล่าวว่าผู้รับรสความเจ็บปวดจากการสักครั้งหนึ่งแล้วจะติดใจ ต้องหาทางสักลายใหม่  เมื่อถามว่าเพราะอะไร ก็ได้รับคำตอบกลับมาอย่างขำ ๆ “เวลาเรามีลายสักที่แขนข้างหนึ่งแล้ว ก็ต้องสักเพิ่มอีกข้าง เพื่อให้น้ำหนักสมดุล”

บางคนกว่าจะรู้ตัวทั่วตัวก็มีแต่รอยสัก จนร้อง “นี่เราชอบไปแล้วหรือ”

แต่ถึงอย่างนั้นยังคงมีมนุษย์หมึกอีกไม่น้อย ที่ถึงตัวลายพร้อยแทบไม่มีที่ว่าง ก็ยังชอบยืนหน้ากระจก ไม่ได้เบื่อลายสักเดิมหรืออยากลบ แต่เปลือยกายหาพื้นที่ว่างสักเพิ่ม !

คนกลุ่มนี้มักถูกหาว่าเป็นพวก “เสี้ยนเข็ม” หรือไม่ก็ “โรคจิตติดเข็ม” คือถึงสักจนเลอะเทอะ เละเทะ เนื้อหนังแทบไม่ว่างแล้ว แต่ก็ยังอยากสักอีก

นี่คือโลกหลังลายสัก ที่ผู้คนหลงรักแผลหมึกอยากถูกเข็มสักลึกในผิวกาย

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไรลายสักยังคงทน เป็นศิลปะที่คงอยู่คู่มนุษย์มานาน และจะไม่มีวันทอดทิ้งมนุษย์

ความผูกพันของสองฝ่ายอาจเหมือนคำพูดที่นักเลงสักคนหนึ่งกล่าวไว้

สักครั้งแรกอายุ ๑๕ สักครั้งล่าสุดอายุ ๕๐ สักครั้งสุดท้ายไม่แน่ใจ

ขอขอบคุณ
Tattoo Diven Ink Studio ถนนข้าวสาร  คุณก้านตอง วรวิทย์, คุณกฤตย์ เหลืองเช็ง
Tattoo in Memory (TIM) จรัญสนิทวงศ์ ๔๕  คุณอิทธิชัย บุญหล่อสุวรรณ,
คุณนิตยา กรุณาธิคุณ
คุณแทนไท ชีวโศภิษฐ์
คุณฐิตาภรณ์ เพ็ชรพรรณราย
คุณพัชรินทร์ รณศิริชัยรัตนา
คุณวัจนา ลือวัฒนานนท์
คุณปรเมศร์ ศรทัตต์

เอกสารประกอบการเขียน
– บทความ “รอยสัก : จากความเชื่อ…สู่ แฟชั่น” ของ ดร. ชลพรรษ ดวงนภา http://province.m-culture.go.th/trat/3june53.pdf
– บทความ “พฤติกรรมเลียนแบบกับค่านิยมการสักของวัยรุ่นหญิงในเขตกรุงเทพมหานคร” ของ รัฐกานต์ กัณพิพัฒน์ http://journal.oas.psu.ac.th/index.php/asj/article/download/106/760.