เรื่อง : แพรวนภางค์ กัปตัน
ภาพ : วณัฎฐ์ ศรีวิชัย
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11
(งานเขียนดีเด่น)
นักเดินทาง – เขาออกเดินทางด้วยความเชื่อมั่น ซึ่งมากกว่าจำนวนเงินในกระเป๋า เคยไปประเทศฝรั่งเศสด้วยการเดินทาง ภาคพื้นดินทุกรูปแบบ ไม่เว้นแม้กระทั่งการเดินหรือการโบกรถ
นักเขียน – เขาหลงใหลการสื่อสารผ่านตัวหนังสือและฝึกเขียนหนังสือด้วยตัวเองจนกระทั่งมีหนังสือเล่มแรกคือ ลมใต้ปอด
นักดนตรีแซกโซโฟน – เขาใช้เวลาเกินครึ่งในชีวิตที่เขามีไปกับแซกโซโฟน และแซกโซโฟนทำให้โลกของเขาเปลี่ยนไป
และ“เขา” ภราดล พรอำนวย เป็นนักใช้ชีวิต
North gate ร้านดนตรีแจ๊สเล็กๆ ภายในตกแต่งอย่างเรียบง่าย ในเวลานี้เก้าอี้เกือบทุกตัวถูกจับจองด้วยผู้ฟังที่ให้ความสนใจกับเสียงเพลงจากบริเวณเวทีด้านหน้า เครื่องดนตรีหลากชิ้นทั้ง กลองชุด กีต้าร์ เบส และแซกโซโฟน ต่างให้จังหวะและโทนเสียงที่ต่างกัน หากแต่ประสานเป็นท่วงทำนองที่ไม่อาจคาดเดา ไพเราะ และสะกดผู้ฟังไว้ โดยเฉพาะท่อนที่แซกโซโฟนเป็นเสียงเด่น ถึงเสียงจะนุ่ม ทุ้ม แต่ก็หนักแน่นในการนำเสียงดนตรีอื่นและความคิดของผู้ฟังไปอีกขั้น
ยามที่“เขา”เป่าแซกโซโฟนตัวนั้น ท่าทาง สีหน้า และการเคลื่อนไหวของเขาราวกับหลุดจากการควบคุมของเขาเอง แต่ปล่อยให้จินตนาการได้เท่าหน้าที่ของมัน
Intro: บทนำของเพลงจากแซกโซโฟน
ปอ ภราดล พรอำนวย ชายหนุ่ม วัย 34 ปี ในวันนี้แทบจะเป็นคนละคนกับครั้งที่เขายังเด็ก ตอนนั้นปอเป็นเด็กที่ขี้แย ไม่ค่อยกล้าแสดงหรือตัดสินใจทำอะไร แต่สิ่งที่เขาสนใจมาตั้งแต่เด็กคือ การเล่นดนตรีและวาดภาพ ทำให้เขาเลือกศึกษาในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จนได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา แต่กลับไม่ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขาเดิม
“เหตุผลที่เรียนสถาปัตย์เพราะน่าสนใจ ที่ไม่เรียนต่อเพราะไม่น่าสนใจแล้ว ตอนนั้นแซกโซโฟนน่าสนใจมากกว่า มากจนทำให้คิดว่า ผมไม่น่าจะเป็นสถาปนิกที่ดีได้” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงปกติราวกับว่าการเปลี่ยนสาขาเรียนไม่ได้เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากสำหรับเขา ปอได้รู้วิธีจัดการกับความฝันตั้งแต่ได้ฟังเสียงแซกโซโฟนและดนตรีแจ๊สครั้งแรก
ปอได้ย้ายมาศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์ สาขาอุตสาหกรรมศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เขามีเวลาฝึกซ้อม แซกโซโฟนด้วยตนเองมากขึ้น ต่อมาได้เรียนแซกโซโฟนเพิ่มเติมกับ อาจารย์ภัทร ขวัญมิ่ง ผู้ที่ชี้ให้ปอได้เข้าใจถึงความสำคัญของการฝึกซ้อมร่างกายให้เคยชิน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเป่าแซกโซโฟน เขาจึงใช้เวลาในการซ้อมวันละหลายชั่วโมงอยู่กับการเล่นโน้ตตัวเดิมซ้ำๆ
“ยอดจะไปสูงได้สักแค่ไหน หากอยู่บนฐานที่ไม่มั่นคงดี” คำสอนจากอาจารย์ป้อมที่เขาจำมันขึ้นใจ
หลังจากเรียนในคณะไม่นาน ปอได้ตอบรับทุนการศึกษาสำหรับเรียนแซกโซโฟนที่อเมริกาเป็นเวลาหนึ่งปี แม้ว่าจะต้องพักการเรียนที่มหาลัยไว้ “ผมเชื่อว่าการเรียนนอกห้องพอๆกับในห้อง ในห้องยังไงก็มีกรอบเป็นขีดจำกัด คนที่ปรับตัวได้ก็อยู่ได้ แต่สำหรับคนที่โหยหาเขาทนไม่ได้ สักวันเขาจะหาทางออกมาลองผิดลองถูกเอง” แล้วปอก็ออกมา ออกมาไกลกว่าที่ตัวเขาจะคิดไว้
ชีวิตปอที่อเมริกาแต่ละวัน นอกจากการเรียนแซกโซโฟนหนักถึงหกชั่วโมงแล้ว เขาต้องพบกับบททดสอบจิตใจที่เขาไม่เคยคาดคิด ทั้งการใช้ชีวิตด้วยตนเอง การทำงานหลายๆงานเพื่อความอยู่รอด แม้กระทั่งรับจ้างเป็นกรรมกรแบกหามรายวัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาพ่ายแพ้และถอดใจกลับบ้าน
”ไม่เคยคิดอยากกลับบ้าน เพราะรู้ว่ามาทำอะไรที่นี่ ผมมาเรียนแซกโซโฟนซึ่งเป็นเหมือนโลกหนึ่งใบ อุปสรรคต่างๆผมเห็นเป็นเพียงเศษฝุ่นที่ล่องลอย” เขาทำให้ฉันรู้ว่าการได้พบกับอะไรสักอย่างที่เรารักเสมือนเป็นการรวบรวมพลังที่กระจัดกระจายมาเป็นเหมือนขุมพลังก้อนใหญ่ที่คอยจะเติมให้ตนเองอยู่เรื่อยๆ
ปอพบว่าแท้จริงแล้วการเล่นแซกโซโฟนมีความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิต เช่น บทเรียนที่ให้เขาจินตนาการว่าแซกโซโฟนที่กำลังเล่นเป็นของสิ่งอื่นเช่น กิ่งไม้ ขลุ่ย ราวกับเป็นการสอนให้อย่าไปยึดติดกับสิ่งใด สิ่งที่ควบคุมได้ก็เพียงแต่ตนเองเท่านั้น นอกจากนี้การที่เขาทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนักทำให้รู้ว่าไม่มีอะไรได้มาโดยไม่ใช้ความพยายาม
Chorus: ท่อนฮุคของจากการอิมโพรไวส์
บริเวณประตูช้างเผือก 1 ใน 5 ประตูเมืองเชียงใหม่ตามชัยภูมิเดิม มีร้านแจ๊สคลับเล็กๆ แต่สังเกตได้ไม่ยากโดยเฉพาะช่วงค่ำที่การแสดงดนตรีเริ่มขึ้น ที่นั่งภายในร้านถูกจับจองด้วยผู้คน ส่วนภายนอกร้าน ผู้ที่เดินผ่านไปมาก็ให้ความสนใจและยืนฟัง ป้ายร้านบอกว่าที่นี่คือ north gate ร้านแจ๊สคลับของปอและเพื่อน ซึ่งกว่า 8 ปีที่ผ่านมา ได้เป็นพื้นที่ให้เขาได้แสดงออกถึงแนวดนตรีที่เป็นตัวเขาเอง
“north gate เป็นพื้นที่สำหรับเล่นดนตรี ที่บอกว่าเล่นคือเล่นจริงๆ เล่นตามความต้องการของผู้เล่น ผมอยากให้ north gate เป็นแจ๊สที่มีคุณค่าต่อผู้ฟัง”
ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยกระแสนิยม แต่เขากลับไม่กระโจนพาสิ่งที่เขารักไหลไปตามกระแสนั้น กลับเลือกที่จะยืนหยัดในแนวที่เขานิยม โดยไม่ประนีประนอมต่อความต้องการของผู้อื่น ด้วยความเชื่อมั่นว่าหากตั้งใจทำสิ่งที่รักอย่างสุดความสามารถ สิ่งนั้นจะเป็นงานที่มีคุณค่าและจะมีคนเห็นมัน
“ต้องมีแมสเสจที่แข็งแรงมาก แปลงมาเป็นความรู้สึกที่ต้องการถ่ายทอดผ่านเสียงดนตรี และจงเชื่อว่าทุกงานศิลปะที่สร้างขึ้นมีชีวิต เป็นเหมือนนกที่บินไปบนฟ้า มองหาคนที่จะเห็นมัน” ดังนั้นมนุษย์อย่างเรามีหน้าที่เพียงทำในสิ่งที่ตนรักให้ดีที่สุดและไม่ควรเอาชื่อเสียงหรือความนิยมมาเป็นตัววัดคุณค่าของงาน เพราะสุดท้ายแล้วอย่าลืมว่านกเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่มนุษย์อย่างเราบังคับมันไม่ได้
ถึงแม้ว่าร้านดนตรีทั่วไปจะอยู่ได้เพราะรายรับจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สำหรับปอรายรับจากส่วนนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก สำหรับที่นี่มีเครื่องดื่มประเภทอื่นที่ไม่มีแอลกอฮอล์สำหรับบริการให้ผู้ที่ไม่ต้องการดื่ม ไม่มีนโยบายกดดันหรือโปรโมชั่นต่างๆส่งเสริมให้ซื้อเครื่องดื่มมากขึ้น และไม่เกี่ยงงอนหากจะมีผู้มายืนฟังดนตรีนอกร้านโดยที่ไม่ได้ซื้อเครื่องดื่มใดๆ
“ผมมั่นใจในศักยภาพของดนตรีที่จะคัดผู้ฟัง คนที่มา north gate ต้องการมาฟังดนตรีมากกว่าต้องการดื่มเพื่อเมา”
เสียงดนตรีหายเสียงที่แว่วๆมาจากข้างบนยังชวนฉันให้ขึ้นไปบนชั้นสามและสี่ของร้าน ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับเก็บเครื่องดนตรีและสำหรับฝึกซ้อมดนตรี ของปอ เพื่อนๆและลูกศิษย์ของเขา
“ใครอยากซ้อม อยากเล่นอะไรก็มาได้เสมอ ส่วนมากก็เป็นนักท่องเที่ยวที่เขาเล่นเป็นอยู่แล้ว แล้วเขาไม่มีพื้นที่เล่น และนั่นก็เป็นลูกศิษย์ผมเอง” ปอชี้ไปที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังฝึกซ้อมแซกโซโฟน ซึ่งฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับเขาโดยที่เขาไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วปอเล่าว่าเขาเป็นเพียงพี่เลี้ยงช่วยแนะนำเท่านั้น ส่วนที่ไม่เรียกเก็บเงินเพราะเขารู้สึกว่าไม่ได้อยากได้เงินจากคนที่สนใจ ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่กันมากกว่า
นอกจากการเล่นแซกโซโฟนแล้ว การเดินทางรอบโลกยังเป็นอีกหนึ่งฝันที่อยู่ในใจเขาเสมอมา หากแต่มีอุปสรรคด้านร่างกาย เงินหรือแท้จริงแล้วอาจเป็นความกลัวที่อยู่ในใจเขาลึกๆ ทำให้ความฝันของเขายังไม่ได้เป็นความจริง จนถึงวันที่ปอตัดสินใจเริ่มออกเดินทางโดยไม่รอความพร้อมอีกต่อไป เขาเริ่มเดินทางด้วยการโบกรถซึ่งก็คือการขออาศัยรถที่โดยสารผ่านไปมาเรื่อยๆ เพื่อไปยังจุดหมาย การโบกรถทำให้เขาได้พิสูจน์ความสัมพันธ์บางอย่างของมนุษย์และการเป็นไปของชีวิตผ่านการกำหนดของโชคชะตา และถึงแม้การโบกรถจะเป็นรูปแบบการเดินทางดูออกจะห่ามและบ้า ไม่มีจุดหมายและไม่เอื้อต่อความสะดวกสบาย แต่เขาได้ยืนยันว่า
“เป้าหมายของผมก็คือไม่มีเป้าหมาย ทำให้ไม่ต้องพะวงว่าเมื่อไหร่จะถึง ตอนนี้ถึงไหนแล้ว เป็นการอนุญาตให้ตัวเอง ซึมซับกับบรรยากาศระหว่างทางมากขึ้น และบางครั้งผมก็ได้เจออะไรมากมายที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเจอ” บางครั้งการเดินทางอาจไม่ได้ให้ความสะดวกสบายแก่เขา แต่ใช่ว่าทุกคนจะเดินทางเพื่อต้องการพบความสะดวกสบายเหล่านั้น อย่างน้อยก็เขาคนหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2552 ปอรับความท้าทายครั้งใหญ่ในชีวิตด้วยการเดินทางไปร่วมงานเทศกาลแสดงดนตรีที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสด้วยเงินเพียงเล็กน้อย พร้อมกับแผนในใจคร่าวๆ ที่จะโบกรถไปจนกว่าจะโบกไม่ได้ แล้วโดยสารทางบกไปตลอดจนถึงจุดหมาย
เขาเริ่มออกเดินทางจากเชียงใหม่โดยการโบกรถไปประเทศลาว แล้วนั่งรถโดยสารเข้าประเทศจีน เปลี่ยนไปโดยสารรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลก เส้นทางสายนี้มีระยะทาง 9228 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางถึง 7 วัน กว่าจะถึงมอสโก ประเทศรัสเซีย จากนั้นต่อรถโดยสารผ่านโปแลนด์ เยอรมัน เบลเยี่ยมและถึงจุดหมายปลายทางที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 3 เดือน
สำหรับเขาการเดินทางครั้งนี้ดนตรีและมิตรภาพเป็นตัวขับเคลื่อนเขาไปยังจุดหมาย บางคืนเขาอาจไม่มีแม้กระทั่งที่นอน บางมื้อมีเพียงน้ำเปล่าประทังความหิว และบางเวลาก็ทำให้เขาเหนื่อยจนท้อ แต่ถึงอย่างไรเขาก็หลงใหลการเดินทาง
“ผมเดินทางเพื่อที่จะเรียนรู้ ค้นหา และเข้าใจบางสิ่งบางอย่างที่จะเป็นคำตอบว่าเดินทางทำไมซึ่งผมไม่รู้ ผมจึงต้องเดินทางเพื่อให้รู้ การเดินทางเป็นโอกาสที่ได้ชีวิตจริง บีบให้คนแสดงศักยภาพบางอย่างออกมา ที่แม้แต่ตัวเราก็อาจไม่เคยรู้ว่าจะทำมันได้”
นอกจากที่เขาได้เรียนรู้จากการเดินทางแล้ว สิ่งที่ได้คือภาพสเกตซ์ที่วาดเก็บไว้และหนังสือลมใต้ปอด ที่บันทึกเรื่องราวระหว่างการเดินทางของเขา
ปอสนใจการเขียนหนังสือเพราะเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่มีรูปแบบการสื่อสารที่มีพลัง เขาเป็นนักอ่านตัวยงของหนังสือหลายหมายประเภท ทำให้ได้ซึมซับเทคนิคการเขียนประกอบกับเขาได้ฝึกเขียนด้วยตนเองเสมอ ปอจึงตัดสินใจเขียนเรื่องราวจากการเดินทางไปปารีสเป็นหนังสือเล่มแรกด้วยตัวเอง ทั้งที่เขาไม่มีประสบการณ์มาก่อน เขามีเพียงแต่พรแสวงกับการบอกตัวเองว่าเขามีพรสวรรค์
“หากมีพรแสวง พรสวรรค์ก็มีได้ไม่มาก คนมักเอาพรสวรรค์ในงานศิลปะมาเป็นข้ออ้างของความฝันที่ไม่ยอมเป็นจริง พรสวรรค์มาพร้อมกับความสนใจ ทุกคนมีประตูที่จะเปิดรับในเรื่องที่เราสนใจ ไม่ว่าไปไหน ทำอะไร ก็จะเห็นและได้ยินสิ่งนั้นตลอด เช่น ผมตอนนั้นอะไรๆก็เป็นหนังสือไปหมด อย่างอื่นเหมือนการรับรู้มันดับไปเลย”
แต่ใช่ว่าความฝันจะเดินทางมาบรรจบความจริงอย่างง่ายดาย ต้นฉบับของปอถูกปฏิเสธจากทุกสำนักพิมพ์ที่ส่งไป แต่เขาก็ยังเชื่อมันในคุณค่าของงานเสมอ
จนกระทั่งเขาได้จัดงานนิทรรศการ “outdraw” เพื่อเล่าเรื่องราวการเดินทางของเขาผ่านสมุดสเก๊ตซ์ภาพ และในงานครั้งนี้เองยังเป็นโอกาสให้สำนักพิมพ์บางนราสนใจเรื่องราวของเขา จนตกลงตีพิมพ์ต้นฉบับเป็นหนังสือลมใต้ปอด
“เขาเพิ่งเห็นนกของผม” ปอพูดปนหัวเราะ
ถึงแม้หนังสือลมใต้ปอดอาจไม่ได้ติดอันดับหนังสือขายดีและมีชื่อเสียงมากมาย แต่ก็ติดอันดับหนังสือในใจนักอ่านจำนวนไม่น้อย ทำให้ชื่อของเขาค่อยๆเป็นที่รู้จักและในเร็วๆนี้เขามีแผนจะออกหนังสือเล่มที่สอง ที่รวบรวมผลงานภาพสเก๊ตซ์ที่ได้จากการเดินทางอีกครั้ง
“ดูได้เลยตามสบาย” ปอยื่นกระเป่าเก็บผลงานภาพวาดและภาพสเก๊ตซ์ของเขาทั้งหมดให้ดู ฝีมือการภาพวาดของเขาไม่ธรรมดา ทุกภาพมีความละเอียด ประณีต และมีชีวิตชีวา ซึ่งเหตุผลที่เขาชอบบันทึกภาพผ่านการวาดภาพมากกว่าการถ่ายภาพ เพราะการวาดภาพทำให้เขาได้ใช้เวลาในการซึมซับภาพตรงหน้าได้นานกว่า เมื่อกลับมาดูภาพวาดอีกครั้งมันกระตุ้นความทรงจำของเขาให้ทำงานในรูปแบบการบันทึกอื่นทำไม่ได้
ชีวิตของเขาคล้ายกับดนตรีแจ๊สซึ่งเป็นแนวเพลงที่เขาชอบ ตรงที่หัวใจสำคัญของดนตรีแจ๊สคือ การอิมโพรไวส์ (improvise) หรือการด้นสด เป็นการตอบสนองต่อเสียงดนตรีตามจินตนาการของผู้เล่นเองโดยที่ไม่ได้เตรียมมาก่อนหรือเตรียมมาเพียงเล็กน้อย จึงป็นดนตรีที่มีชีวิตชีวาและสดใหม่ ซึ่งปอเคยให้สัมภาษณ์ในรายการคนค้นตน ตอน 12คนค้นโลก ที่ออกอากาศในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 ว่า “ชีวิตของเขาคือการอิมโพรไวส์ การทำสิ่งต่างๆ ที่เขาอยากจะทำ ตามสัญชาตญาณและเสียงหัวใจ มุ่งมั่นตั้งใจ แล้วผลจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้มันเป็นไป”
Breakdown: ท่อนธรรมดาที่ทรงพลัง
“มีดนตรี มีอิสรภาพในหัวใจ” เป็นคำที่ปอและนักดนตรีคนอื่นที่ฉันรู้จักพูดติดปากอยู่บ่อยๆ แต่ฉันเพิ่งเข้าใจความหมายของมันเมื่อเห็นการใช้ชีวิตของปอ ชีวิตที่ถอดแบบตามใจบงการและฉีกจากกรอบที่สังคมล้อมไว้
“ยินดีต้อนรับสู่บ้านอ้อย”เสียงของปอ เจ้าบ้านเอ่ยปากต้อนรับ บ้านหลังนี้ครองพื้นที่ไม่ถึงสองไร่ในอำเภอแม่ริม เขาได้เอาชื่อหมู่บ้านมาตั้งเป็นชื่อบ้านที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา เข้ากับภาพบ้านที่ฉันเห็นตรงหน้า
บ้านของปอซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่เงียบสงบ จะมีก็แต่ต้นไม้น้อยใหญ่และทิวเขาเป็นเพื่อนบ้าน และเป็นรั้วบ้านในคราวเดียวกัน ตัวบ้านเป็นบ้านไม้สองชั้นที่มีการตกแต่งในรูปแบบที่เรียบง่าย มีข้าวของเครื่องใช้ไม่กี่ชิ้นเท่าที่จำเป็น โต๊ะไม้ตัวยาวที่ทำหน้าที่เป็นทั้งโต๊ะอาหารและโต๊ะทำงาน ชั้นวางหนังสือ หรือแม้กระทั่งชั้นวางเตาถ่านที่ใช้แทนเตาแก๊ส การตกแต่งรายละเอียดเล็กน้อยอื่นๆก็ถูกคัดสรรมาอย่างดีและลงตัว ของใช้ถูกบรรจงจัดวางอย่างเป็นระเบียบ ด้านหลังเป็นส่วนห้องน้ำที่เป็นผนังไม้ไผ่ มีหลังคาเปิดโล่งเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ท้องฟ้าได้อย่างไม่มีขอบเขต ชั้นบนเป็นห้องนอนและลานโล่งที่เห็นวิวเป็นทิวเขาสุดลูกหูลูกตา ความเรียบง่ายที่แฝงไปด้วยตัวตนของเจ้าของบ้านทำให้บ้านหลังนี้ดูสงบและอบอุ่นอย่างประหลาด
ฉันเพลินกับการชมตัวบ้านไปเสียนาน มองมาอีกทีเห็นหลังไวๆของเจ้าบ้านที่สลัดคราบเดิม ถอดเสื้อ สวมกางเกงวอร์ม ถือกระบวยรดน้ำต้นไม้หายไปท่ามกลางความมืดแล้ว การรดน้ำต้นไม้เป็นกิจวัตรที่เขาทำเป็นประจำเมื่อกลับบ้านอ้อย ไม่เว้นแม้กระทั่งวันที่ฟ้าไม่เป็นใจ
บรรยากาศการรับประทานอาหารเป็นไปอย่างเรียบง่ายพอๆกับอาหารบนโต๊ะ กับข้าวมีเพียงหมูทอดและไข่พะโล้ เราสนทนากันถึงเรื่องราวทั่วๆไป แต่ส่วนมากจะเป็นเขาที่ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายหลักในหัวข้อบ้านอ้อยในฝัน
“ผมออกแบบ คุมงานและลงมือสร้างเอง อยากทำให้บ้านหลังแรกในชีวิตออกมาโดยมีความเป็นผมอยู่ในนั้น อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น” เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกส่วนในบ้านหลังนี้ ทั้งภาพวาดของมหาตมะ คานธี ที่เขาได้จากอินเดีย โต๊ะที่นั่งอยู่เขาก็มีส่วนช่วยในการทำ ต้นไม้ที่โตอยู่กลางห้องน้ำเพราะเขาไม่อยากตัด ผ้าม่านสีครามอ่อนนั่นก็เขาเลือก น้ำที่ใช้ตอนก่อสร้างก็มาจากบ่อด้านล่างที่เขาต้องเดินไปตักเอง และอย่างอื่นอีกมากมายที่เขาเล่าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อีกทั้งความเปี่ยมสุขที่ฉายชัดใบหน้ายังแผ่ออกมาจนคนรอบข้างรับรู้ได้ คงไม่ต้องถามอีกว่าเขารักบ้านหลังนี้มากแค่ไหน
เช้าตรู่ที่บ้านอ้อย ถึงแม้ว่าไม่มีอ้อยให้เห็นสักต้นสมกับเป็นชื่อบ้าน แต่ก็มีต้นไม้มายมายที่ปอปลูกไว้รอวันเติบโต ทั้งวิวทิวทัศน์ แสงแดดสาดส่องมารำไร เสียงนกที่ร้องทัก และไออุ่นจากชาร้อนๆ ล้วนเป็นความธรรมดาที่พิเศษจากบ้านอ้อย
ปอกำลังง่วนอยู่กับต้นไม้ ทั้งการรดน้ำต้นไม้ พรวนดิน และปลูกต้นไม้ต้นใหม่ กลายเป็นอีกภาพหนึ่งที่ฉันเริ่มชินตาไม่ต่างจาก ยามที่เขาเป็นปอที่คุยร่าเริง หรือยามที่เขาดื่มด่ำเมื่อเล่นแซกโซโฟน
“หลุมนี้ต้องขุดมาปลูกใหม่ ใส่ปุ๋ยให้มันเยอะจนเกินไปทำให้ใบมันเหลือง” เขาค่อยๆขุดหลุม และบรรจงดึงรากต้นไม้ออกอย่างช้าๆ ด้วยเกรงว่ารากจะขาด ขุดเอาดินใหม่ออกมาให้มากที่สุดแล้วเอาดินเก่าไปแทน กลบหลุมและค่อยทับด้วยดินใหม่ ปิดท้ายด้วยใบไม้แห้ง
“ต้นไม้ยังอยากอยู่แบบธรรมชาติของมันเลย ปุ๋ยมากไปก็ตาย ดูอย่างต้นนั้นเป็นต้นที่ปลูกจากเมล็ดมันทนและแข็งแรงกว่าต้นที่มาจากการตัดกิ่ง” ปอพูดทีเล่นทีจริงด้วยท่าทางยียวนทำให้เขาเป็นที่หมั่นไส้ปนเอ็นดูของคนรอบข้าง แต่ใครจะรู้ภายใต้ท่าทางแบบนั้นเขาเป็นคนที่มักเก็บเรื่องต่างๆที่เจอมาคิด ตกผลึก เอามาโยงสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตเสมอ และเขาก็มุ่งมั่นจริงจังกับทุกเรื่องที่ทำไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องต้นไม้ ที่เขาถึงกับศึกษาวิธีการพรวนดินอย่างถูกวิธีจากวีดีโอในอินเตอร์เนต
ความมุ่งมั่นที่จะปลูกต้นไม้ของเขาไม่เพียงแต่ที่บริเวณรอบบ้าน แต่เขาต้องการที่จะเห็นพื้นที่สีเขียวทั่วบริเวณในเมืองเชียงใหม่ เขาและเพื่อนจึงร่วมกันทำแคมเปญ “มือเย็นเมืองเย็น” ภายใต้ความสนับสนุนของอ.จุลพร นันทพานิช และ อ.จุลทัศน์ กิติบุตร หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ กลุ่มสถาปนิกชุมชนคนใจบ้าน กลุ่มเขียว สวย หอม และคนอื่นๆที่สนใจ เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนหันมาปลูกต้นไม้โดยเฉพาะไม้ยืนต้นพื้นถิ่นของเชียงใหม่ ในตัวเมืองหรือพื้นที่ใกล้บ้านที่สามารถดูแลต้นไม้ได้ ซึ่งกิจกรรมแรกที่เริ่มทำคือการชวนคนปลูกต้นไม้แล้วให้ท้าคนปลูกต่ออีกสามคนไปเรื่อยๆ โดยได้แนวคิดมาจาก “เอแอลเอส ไอซ์ บัคเก็ต ชาเลนจ์” (ALS Ice Bucket Challenge) ถือว่าเป็นการปลุกกระแสให้สังคมตื่นตัวเรื่องการปลูกต้นไม้
“ผมอยากให้เป็นกระแสในวงกว้าง จึงเลือกใช้สื่อออนไลน์ซึ่งมีอิทธิพลมากต่อสังคมในยุคนี้” และหลังจากที่เริ่มทำกิจกรรมดังกล่าวไป ก็มีกระแสตอบรับที่ดีไปทั่วประเทศเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับกิจกรรมต่อมาคือการณรงค์ให้มีการปลูกต้นไม้ใน ตัวเมืองเชียงใหม่ให้ได้ 5000 ต้น โดยจะสนับสนุนต้นกล้าให้ไม่มี
ส่วนเหตุผลที่มือเย็นเมืองเย็น รณรงค์ให้ปลูกต้นไม้ในตัวเมือง ปอให้เหตุผลที่ง่ายต่อการเข้าใจว่า
“คุณอยู่ที่ไหน คุณก็ปลูกที่นั่น คุณจะปลูกในป่าทำไมในเมื่อคุณใช้ชีวิตอยู่ในเมือง”
นอกจากการเล่นแซกโซโฟนที่ north gate ปอ ชายหนุ่ม 34 ปี ก็ไม่ได้มีงานประจำ อย่างเช่นคนช่วงวัยนี้อื่นๆ ในสังคม
“ทำไมผมต้องทำงานประจำ” ปอย้อนถาม ทำให้เป็นฉันเองที่ต้องตอบคำถามที่ไม่เคยคิดมาก่อน หากงานเป็นอะไรที่มากกว่าคำที่ระบุลงใส่ในช่องอาชีพ นอกจากตัวเงินสำหรับการเลี้ยงชีพแล้ว ควรจะเอื้อต่อความสุข ความพึงพอใจของคนทำเองด้วยไม่ใช่หรือ
สำหรับประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย ในแต่ละวันปอแทบไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นที่นอกเหนือจากสิ่งที่จำเป็น เขามีวิถีชีวิตที่ธรรมดา ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องการแต่งกาย ชุดที่ใส่ประจำเห็นจะเป็นกางเกงยีนส์กับเสื้อยืดหรือเสื้อเชิ้ต กินอาหารง่ายๆ และไม่ได้ซื้อของอื่นที่ฟุ่มเฟือย
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีงานประจำ แต่ทุกวันของเขาก็ไม่มีเวลาว่างมากนัก เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงานอาสาสมัคร เมื่อมีกิจกรรมใดๆที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคม เขาจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทุกครั้ง และบางครั้งเขาเป็นเรี่ยวแรงหลักในการจัดการ เมื่อไม่นานมานี้เขาได้รวมตัวกับเพื่อนสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชมให้แก่หมู่บ้านชาวกระเหรี่ยงที่อำเภอสบลาน รับบริจาคของไปให้ความช่วยเหลือศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยชาวพม่า บ้านในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน หมู่บ้านที่ถูกไฟไหม้นับพันหลังคาเรือน โครงการ Binarity ที่ดัดแปลงบทเพลงพื้นบ้านของเนปาลมาบรรเลงใหม่ในแบบของเขาเอง แล้วปล่อยให้ดาวน์โหลดสบทบทุนช่วยเหลือในเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวในเนปาล โครงการ Jazz for coza จัดดนตรีการกุศลหารายได้ช่วยเหลือบ้านเด็กกำพร้าโคซ่า และมีกิจกรรมอื่นอีกมากมาย ที่หากเขาทราบเขาจะให้ความช่วยเหลืออย่างไม่รีรอและทุ่มเทอย่างเต็มที่
“ในหน่วยย่อยหน่วยหนึ่งของสังคม มันต้องมีสักคนที่ทำอะไรเพื่อสังคม มนุษย์ล้วนถูกผูกพันยึดโยงกัน เราจะสบายอยู่คนเดียวอย่างไร หากสังคมยังคงเดือดร้อน” ปอเล่าปนขำพร้อมคำแก้ตัวที่ว่าเขาไม่ได้พูดให้ดูหล่อ แท้จริงแล้วความหมายของจิตอาสามันปรากฏขึ้นในผู้ที่ทำโดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลาคิดว่าจะต้องมีเหตุผลอะไรมากมายเลย เขาอาจไม่ได้ทำไปเพื่อความสุขของคนอื่นเพียงอย่างเดียว แต่มันคงเป็นส่วนหนึ่งของความสุขเขาเอง
ฉันเคยคิดสงสัยว่าตลอดว่าคนที่เขามีกิจกรรมหรือทำอะไรได้หลายๆอย่างในแต่ละวัน เขานั้นมีเชื้อเพลิงถังใหญ่ขนาดไหนถึงจะเพียงพอ สำหรับปอทุกๆเรื่องที่เขาเล่าและทุกอย่างที่เขาทำ มักจะมีรอยยิ้มเปื้อนอยู่บนหน้าเสมอ ฉันไม่รู้ว่าเขาเหนื่อยบ้างไหมแต่เขามีความสุขแน่นอน
และดูเหมือนไฟของเขายังคงแรงอยู่เรื่อยๆ เขามีแผนจะเปิดกิจการที่สองของตัวเองในเร็วๆนี้ และนี่คือสถานที่จริงก่อนความฝันจะเป็นรูปร่าง
อาคารสองชั้นที่สึกกร่อนไปตามอายุ ประตู หน้าต่างแทบไม่เหลือร่องรอยการมีอยู่ของมัน ปูนที่ฉาบผนังหลุดออกจนเผยให้เห็นอิฐที่แดงเป็นโครง แต่ความเก่าแก่ของมันกลับทำให้อาคารแห่งนี้ต่างกับอาคารอื่นๆโดยรอบ มีเสน่ห์และแฝงกลิ่นอายศิลปะ
“ตรงบริเวณชั้นล่างผมอยากให้เป็นคาเฟ่ เอาโต๊ะเล็กๆมาตั้ง ด้านนั้นก่อเป็นบาร์ยาว ใกล้ๆกับมุมที่มีการแสดงดนตรีสด ส่วนด้านบนจะทำบันไดยาวขึ้นไปเป็นส่วนการแสดงงานศิลปะ อาจมีการฉายหนังสั้น เปิดการทำเวิร์คช็อปศิลปะ หรือเชิญคนที่ทำเรื่องที่เราสนใจมาพูด ที่นี่แค่เดินระบบท่อน้ำ ไฟฟ้าใหม่ ที่เหลือผมชอบมาก เหมือนมันถูกทำมาเพื่อร้านผมแล้ว ต้นไม้ก็ปล่อยไว้แบนนั้นตามธรรมชาติเลย” ท่ามกลางซากปรักหักพัง เศษไม้ที่วางเกะกะ และผนังที่กร่อนไปตามเวลา ฉันเห็นประกายที่เปล่งออกมาจากตัวเขา ในขณะที่เขายืนชี้พร้อมกับอธิบายภาพในความฝันของเขาออกมา ฉันหวังว่าเขาจะไม่ลืมพลังและประกายไฟที่เขามีเช่นวันนี้ที่เขาแสดงมันออกมา
Outro: ท่อนส่งท้ายของเพลงที่ยังบรรเลงต่อไป
“เป้าหมายในชีวิตผม แค่อยากทำให้วันนี้ให้ดีขึ้น ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของโชคชะตาที่จะพาไป และวันข้างหน้าถ้าผมเจอใครสักคนที่ทำให้รู้สึกอยากสร้างครอบครัวด้วย ก็คงจะมีครอบครัวเล็กๆด้วยกัน” และนี่คือ ภราดล พรอำนวย ผู้ชายที่ใช้ชีวิตอยู่บนความเรียบง่าย ศรัทธาเสียงใจตัวเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่ทุ่มเททำ และเคารพการเป็นไปของธรรมชาติ
เพลงของปออาจไม่ใช่เพลงที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะมันเป็นเพลงที่เกิดจากโน้ตที่สั่งตรงจากใจ บางท่อนหม่นหมองลึกในห้วงอารมณ์ ในขณะที่บางท่อนก็สดใสราวอาทิตย์แรก แต่ก็เป็นเพลงที่เขาบรรเลงด้วยตนเอง ไม่ต่างกับชีวิตของเขา ที่บทเพลงแห่งชีวิตยังดำเนินต่อไป หากแต่ใครๆ หรือแม้แต่เขาเองก็ไม่อาจคาดเดาตอนจบได้
เช่นเดียวกับที่เขาได้กล่าวถึงอนาคตของเขาว่า
“ผมไม่รู้ พรุ่งนี้ผมอาจจะตายไปก่อนก็ได้”