ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานภาพสารคดีดีเด่น
เรื่อง : อภิสรา บรรทัดเที่ยง

ภาพ : พิชชา ฤกษ์อร่าม

ลิ้มหยูฮง หนึ่งตำนานคู่เจริญกรุง 43

ด้านหน้าของร้านลิ้มหยูฮง ทางด้านซ้ายคือร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดของคุณลุงวิฑูรย์ ส่วนทางด้านขวาคือร้านกาแฟของอาม่าอำไพบูลย์

กลิ่นกาแฟและควันร้อนๆ หอมกรุ่น เคล้าเสียงสนทนาของชายวัยเกษียณกลุ่มหนึ่ง

เรื่องราวมากมาย ทั้งข่าวสารประจำวัน เรื่องสารทุกข์สุกดิบ และบทสนทนาการเมือง ทำให้ยามสายนี้ “ลิ้มหยูฮง” ร้านกาแฟเล็กๆ ในย่านเจริญกรุงนี้เต็มไปด้วยความคึกคัก

ร้านกาแฟโบราณพื้นที่เพียงหนึ่งคูหา ตกแต่งสไตล์ดั้งเดิม ทั้งโต๊ะและเก้าอี้ตัวกลม ในซอยเจริญกรุง ๔๓ ใกล้กับไปรษณีย์กลางบางรัก มีอาม่าอำไพบูลย์ สุวรรณจินดาชัย เจ้าของกิจการรุ่นที่ ๒ ดูแล ร้านแห่งนี้อยู่คู่เจริญกรุงมากว่า ๗๐ ปี ช่วงเช้ามักหนาแน่นด้วยลูกค้าขาประจำและขาจร แวะเวียนมาสั่งเมนูอาหารเช้า ทั้งโกโก้ ชา กาแฟร้อน-เย็น ไข่ลวก และขนมปังปิ้ง บ้างรีบกินรีบไป บ้างนั่งสนทนา เปิดเป็นสภากาแฟ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ

นอกจากกาแฟแล้ว อีกฝั่งหนึ่งในร้านเล็กๆ แห่งนี้ยังมีก๋วยเตี๋ยวและข้าวต้มเป็ดตุ๋นยาจีนรสอร่อยตั้งเคียงคู่กันมา ลุงวิฑูรย์ สิทธิวสุธา เล่าว่า เดิมที่นี่มีเพียงร้านกาแฟ ตนมาขอเช่าอาม่าขายอยู่ด้วยกัน อยู่เก่าแก่ตามกันมาจนเสมือนเป็นญาติ(ปัจจุบันร้านก๋วยเตี๋ยวและข้าวต้มเป็ดปิดไปแล้ว)

“อยู่มานานแล้ว ตั้งแต่เขาเรียกอาตี๋ จนเดี๋ยวนี้เขาเรียกลุงแล้ว ขายตั้งแต่อายุ ๒๐ กว่า ตอนนี้ก็ ๖๐ กว่าๆ แล้ว ทุกวันนี้อาศัยใบบุญอาม่า” ลุงวิฑูรย์เล่าด้วยรอยยิ้ม

จุดเด่นของก๋วยเตี๋ยวเป็ดร้านลุงได้สูตรตุ๋นยาจีนโบราณมาจากร้านขายเป็ดพะโล้เจ้าเก่าย่านสะพานเหลืองที่ทุกวันนี้หาไม่ได้อีกแล้ว

“ตอนนี้ ๙ โมงกว่าแล้ว พวกที่นั่งสายนี่คือเป็นเถ้าแก่ เจ้าของกิจการ หรือไม่เกษียณก็ตกงาน” ลุงบุญชัย ชายวัย ๗๙ ปี หนึ่งในสมาชิกสภากาแฟ หันมาเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองพร้อมเสียงหัวเราะ

ลูกค้าขาประจำเล่าให้ฟังว่ามาที่ร้านเกือบทุกเช้าติดต่อกันกว่า ๕๐ ปีแล้ว ตั้งแต่อายุ ๒๐ กว่าๆ เพราะบ้านอยู่แถวนี้ สิ่งที่ทำให้ติดใจ ลุงบุญชัยว่านอกจากชาร้อนชาเย็นรสชาติดีราคาคุ้มค่าแล้ว ยังได้รู้จักและพบปะเพื่อนฝูงด้วย

“มานั่งที่นี่ทุกเช้าเพราะว่าเจอเพื่อนฝูง อีกกลุ่มเขาไปโอเรียลเต็ลกัน ก็ไปกับเขาบ้าง แต่แพง เข็ดเลย ที่นี่อาหารดี ราคาถูก แล้วอีกอย่างที่นี่เจ้าของทำเอง ที่อื่นบางทีคนงานทำ” ลุงบุญชัยแจกแจง แล้วเสริมว่าส่วนมากคนมากินอาหารที่นี่มักค้าขายอยู่แถวนี้จนมาเป็นลูกค้าประจำ นั่งกินกันทุกวันตั้งแต่หนุ่มยันแก่

“สมมุติเมื่อก่อนนั่งกันอยู่ ๑๐ คน ตายไปสัก ๗-๘ คนแล้ว ทยอยไป ทีนี้มาถึงคิวเรา อายุมากที่สุดแล้ว” ลุงบุญชัยเล่าเชิงขบขัน อีกทั้งบอกว่า “ที่นี่ไม่เปลี่ยนอะไร มีแต่คนขายผมขาวขึ้น”

ไม่เพียงลุงบุญชัยเท่านั้น สมาชิกสภากาแฟคนอื่นๆ ต่างก็เป็นลูกค้าขาประจำไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี อย่างลุงประเสริฐ วัย ๖๙ ปี แม้บ้านจะไม่ได้อยู่แถวนี้ แต่ก็แวะเวียนมาที่นี่แทบทุกวัน

“มานั่งที่นี่ ๓๐ ปีได้แล้ว มาทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ เมื่อก่อนนี้ลูกลุงเรียนอัสสัมฯ เลยแวะมา ตอนนี้ลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยกันหมดแล้ว ก็โดนวางยาอยู่ เลยติดเลย” ลุงประเสริฐเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ เขามีความเห็นเช่นเดียวกับลุงบุญชัยว่าเสน่ห์ของการมานั่งร้านนี้คือการได้พบปะพูดคุยกันยามเช้าก่อนจะแยกย้ายกันไปทำธุระของแต่ละคนต่อ

limyuhong2

อาม่าประจำอยู่หลังเคาน์เตอร์ ทำขนมปังและเครื่องดื่ม พร้อมต้อนรับลูกค้าทุกคนด้วยรอยยิ้ม

limyuhong3

ขนมปังเนยนม หนึ่งในเมนูห้ามพลาดแห่งร้านลิ้มหยูฮง

limyuhong4

อาม่าและลูกสาวช่วยกันทำงานอย่างแข็งขัน

limyuhong5

คุณลุงวิฑูรย์กำลังทำก๋วยเตี๋ยวเป็ดอันเลื่องชื่อให้พวกเราทาน

limyuhong6

บรรยากาศร้านลิ้มหยูฮงช่วงสาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหล่าสมาชิกสภากาแฟมาพบปะกัน ภายในร้านจะคึกคักและแน่นเป็นพิเศษ

limyuhong7

คุณลุงประเสริฐและคุณลุงบุญชัยกำลังเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับความผูกพันธ์ของพวกเขาและร้านลิ้มหยูฮง

limyuhong8

 

แต่สำหรับอาม่า คำตอบว่าอะไรถึงทำให้คนติดร้านลิ้มหยูฮงขนาดนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องคุณภาพ

“เราเป็นร้านกาแฟเฉพาะ เราต้องใช้ของดี ไม่ดีไม่ได้ ชาของเราเป็นชาอินเดีย ไม่มีสี ชาข้างนอกนี่สีแด๊งแดง ส้มๆ คนที่มาซื้อบางคนเขาก็มองชาเรา เราก็ต้องรีบบอกเขา” อาม่ากล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งขนมปังปิ้งและน้ำชงกาแฟที่นี่ยังคงใช้กรรมวิธีแบบเดิม คือเตาถ่าน อาม่าเล่าว่าต้องตื่นมาแต่เช้ามืดเพื่อต้มน้ำให้เดือด

“ตื่นมาต้มน้ำตั้งแต่ตี ๓ กว่าๆ น้ำหม้ออย่างนี้ใส่ถ่านเยอะหน่อย แล้วเอาขี้เถ้ากลบ แล้วต้องใช้ก้อนใหญ่เท่านั้น น้ำก็จะร้อนเรื่อยๆ อยู่ได้นาน”

คงด้วยความตั้งใจและคุณภาพที่ทำให้ลิ้มหยูฮงมีลูกค้าประจำและลูกค้าขาจรแวะเวียนมาตลอด จนดำเนินกิจการมาได้อย่างยาวนาน และคงเอกลักษณ์ตั้งเดิมไว้อย่างดี แต่หลายสิ่งรอบๆ ที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและยุคสมัย ค่อยๆ ส่งผลกระทบกับการค้าขายของร้าน

อาม่าเล่าย้อนประวัติร้านสมัยก่อนที่คึกคักกว่านี้มาก ปี ๒๕๐๐ ช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ย่านเจริญกรุงเต็มไปด้วยบริษัทใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาค้าขาย ทำให้มีลูกค้าเข้าออกร้านจำนวนมากทั้งกลางวันและกลางคืน และยังเคยต้องบริการไปส่งถึงที่อีกด้วย

“เจริญกรุงก็คือเจริญของกรุง รถรางวิ่งผ่านเส้นนี้เลย บริษัทใหญ่ๆ ตั้งอยู่แถวนี้ทั้งนั้น พนักงานเยอะมาก เบอร์ลี่ยุคเกอร์, มิตซุย, บริษัทการบินไทย ยังมีบาร์เล็กเปิดเพลงสตริงแห่งแรกๆ แต่ก่อนไปส่งตามบริษัทเลย สมัยนั้นจอมพลสฤษดิ์เฮี้ยบมาก ช่วงปรับปรุงถนนตั้งไว้ต้องเสร็จวันไหนต้องตามนั้น คนงานทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ร้านก็ขายดี ดึกๆ ก็ยังเปิดขายอยู่”

ความเจริญเข้าถึงในอีกหลายพื้นที่ การพัฒนาต่างๆ ทำให้สังคมและสภาพแวดล้อมย่านเจริญกรุงค่อยๆ เปลี่ยนไป ช่วงปี ๒๕๓๖ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยก่อสร้างทางด่วนพิเศษศรีรัช ตัดชุมชนสองฝั่งที่เมื่อก่อนเชื่อมโยงยาวไปจากถนนเจริญกรุงถึงฝั่งถนนมหาเศรษฐ์

“สมัยก่อนซอยนี้เรียกสะพานยาว คือเป็นสะพานไม้ยาวออกไปฝั่งนู้น คนก็เดินไปมาหาสู่กัน พอเขาทำทางด่วนก็เหมือนชุมชนถูกแบ่งเป็นสองฝั่ง คนข้างในเดินออกมาข้ามถนนก็ลำบากเลยไม่ค่อยได้ไปมาหาสู่กัน” วิภา สุวรรณจินดาชัย ลูกสาวของอาม่าเล่าเสริม

ต่อมาในปี ๒๕๔๖ อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ที่ตั้งทำการอยู่ในไปรษณีย์กลางบางรัก ได้ปรับโครงสร้างใหม่แยกเป็นสองส่วน คือ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และย้ายที่ทำการใหญ่ไปอยู่ที่หลักสี่ ทำให้ลูกค้าลิ้มหยูฮงที่เป็นพนักงานหายไปด้วย

“สมัยก่อนคนเดินพล่านเลย ดูเดี๋ยวนี้สิ ก็นั่งกันเท่านี้ ช่วงเช้าขายได้ก็ขาย ขายไม่ได้ก็รอถึงตอนเที่ยงเลย เมื่อก่อนคนเยอะ เพราะ กสท. ยังไม่ได้แปรรูป ยังไม่ได้ไปหลักสี่ พนักงานเขามี ๘,๐๐๐ คนขึ้นไป แค่ข้ามมาสัก ๔๐๐ คน เดินไปเดินมาก็ชนกันแล้ว แล้วก็เข้าเวรออกเวรกันทั้งวัน ตอนนี้เขายกเลิกไปตั้งหลายอย่าง สมัยก่อนโทร.ทางไกลต้องมาที่นี่เท่านั้นนะ” ลุงวิฑูรย์เสริม

…………

ยามสายแก่ๆ ลูกค้าเริ่มทยอยกันกลับ ผู้คนเดินผ่านไปมาบางตา อาม่าหลบเข้ามานั่งในร้านพลางเตรียมทาเนยขนมปังไว้รอลูกค้า แล้วหันมากระซิบให้ฟังว่า “นี่แหละบรรยากาศแท้ๆ”

ย่านเจริญกรุงสมัยนี้เปลี่ยนไปจากแต่เดิมมากแล้ว ร้านค้าดั้งเดิมเก่าๆ ก็หายไป แต่อาม่ายังคงดำเนินกิจการร้านกาแฟเรื่อยมาไม่เปลี่ยนแปลง

ลิ้มหยูฮงยังคงเอกลักษณ์ร้านกาแฟแบบฉบับเก่าๆ เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๖ โมงเช้า ถึงราว ๑ ทุ่ม สำหรับกาแฟและก๋วยเตี๋ยวเป็ด ตอนกลางคืนมีข้าวต้มเป็ดขายไปถึงราว ๔ ทุ่มกว่า

ใครที่ผ่านมาย่านเจริญกรุงแล้วอยากลิ้มชิมรสบรรยากาศเก่าๆ ก็ลองแวะกันมาสักครั้ง

banner-camp-12-for-web