เรื่องและภาพ : รัตนสุดา จีนเลี้ยง

ผู้สัญจรไปมาระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครโดยใช้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าอาจคุ้นเคยชื่อ “วัดดุสิดาราม” ใกล้ปากคลองบางกอกน้อยฝั่งธนบุรี แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าในพื้นที่ละแวกนี้ยังมีวัดร้างสองวัด คือ วัดภุมรินทร์ราชปักษีและวัดน้อยทองอยู่ ซ่อนตัวท่ามกลางความเจริญของชุมชนวัดดุสิดาราม นอกจากวัดทั้งสองยังพบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นซากกระจัดกระจายที่เรียกว่า “วัดร้าง” อีกจำนวนมาก

หากพูดถึงวัดร้างหรือโบราณสถานที่ถูกทิ้งร้าง คนไทยมักถูกครอบงำด้วยความคิดความเชื่อเรื่องผีที่ปลูกฝังมากับหนังหรือละคร แต่ความจริงสิ่งที่เห็นคือซากปรักหักพังทางประวัติศาสตร์ พระพุทธรูปที่ชำรุด หรือชิ้นส่วนใบเสมาผุกร่อน ซึ่งได้เก็บงำเรื่องราวในอดีตของกรุงเทพฯ ไว้ให้คนรุ่นหลัง

ตามรอยวัดร้างในบางกอก จากซอกมุมที่ถูกลืม watrang02

วัดภุมรินทร์ราชปักษี

วัดภุมรินทร์ราชปักษีตั้งอยู่ติดชุมชนวัดดุสิดาราม ในอดีตน่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญเนื่องจากอยู่ใกล้ปากคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตกซึ่งเคยเป็นเส้นทางคมนาคมในสมัยก่อน ทันทีที่เห็นสภาพโบสถ์-วิหารเก่า ๆ สองหลังตรงเชิงสะพานปากซอยวัดดุสิดารามตั้งขนานกัน อาคารหันหน้าไปทางทิศใต้ซึ่งมุ่งสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงเห็นชัดเจนว่าลักษณะสถาปัตยกรรมของโบสถ์และวิหารค่อนข้างแตกต่างจากวัดในปัจจุบัน ด้วยประตูทางเข้าอุโบสถตั้งอยู่ด้านข้างอาคาร ผิดจากวัดทั่วไปสมัยนี้ที่ประตูมักอยู่ด้านหน้า หน้าบันอุโบสถเป็นรูปนกยูงรำแพนหาง ซึ่งน่าสนใจเพราะไม่พบแพร่หลายนัก

สิ่งสำคัญภายในอุโบสถปรากฏในรายงานการสำรวจของ “น. ณ ปากน้ำ” ในหนังสือศิลปกรรมในบางกอก ฉบับตีพิมพ์ปี ๒๕๑๔ ว่า “พบงานจิตรกรรมฝาผนังรูปมารผจญ และมีลายเมฆ ลายต้นไม้เป็นกรอบซุ้มที่ผนังด้านหลัง ซึ่งน่าจะเคยเจาะไว้สำหรับประดิษฐานพระยืน” ทุกวันนี้จิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวซีดจางไปตามกาลเวลาจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม วิหารทิศใต้มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประทับยืนอิงชิดผนังด้านหลัง ชาวบ้านนับถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เรียกขานว่า “หลวงพ่อดำ” ซึ่งปัจจุบันได้รับการบูรณะเป็นสีทองทั้งองค์ไปแล้ว

มีเรื่องเล่าย้อนไปถึงครั้งที่วัดภุมรินทร์ราชปักษียังไม่ถูกยุบให้อยู่ในความดูแลของวัดดุสิดาราม ว่ากันว่ามีพระธุดงค์มาจำพรรษา ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาเรียกว่า “หลวงพ่อเขา” ต่อมาหลวงพ่อมรณภาพ ชาวบ้านจึงสร้างศาลาขนาดเล็กและรูปปั้นของท่านไว้กราบไหว้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าแม้จะไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาแล้ว แต่วัดร้างก็ยังคงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้าน

ความเป็นมาของวัดนี้ไม่ปรากฏบันทึกในเอกสาร แต่หลักฐานคือพระพุทธรูปสมัยอยุธยาขนาดใหญ่ (หลวงพ่อดำ) สื่อว่าบริเวณนี้มีความสำคัญมาก่อนจะกลายเป็น “บางกอก” ผศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ศึกษาและลงพื้นที่สำรวจ “วัด” ในอดีตที่หายไปจากแผนที่ปัจจุบันของกรุงเทพฯ มาร่วมสิบปีให้ความเห็นว่า อาจเป็นไปได้ที่เมื่อแรกขุดคลองลัดตรงปากคลองบางกอกน้อยก็ได้มีการสร้างวัดนี้เพื่อเป็นศูนย์กลางย่านชุมชนใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งยิ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้คงเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในสมัยโบราณที่มีการตั้งถิ่นฐานหนาแน่น สังเกตได้จากวัดเก่าแก่หลายวัดที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กันเป็นกลุ่มในแถบนี้

ปัจจุบันวัดภุมรินทร์ราชปักษีได้รับการบูรณะโดยเจ้าของโครงการคือวัดดุสิดารามวรวิหาร ให้หวนกลับมาเป็นศาสนสถานที่ไม่รกร้างและคงอยู่คู่ชุมชนต่อไป

watrang03

watrang04

วัดน้อยทองอยู่

ดอกเตอร์ประภัสสร์ผู้เป็นวิทยากรนำสื่อมวลชนเดินทางสำรวจวัดร้างเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บอกเล่าเรื่องราวในอดีตมาตลอดทางจากวัดภุมรินทร์ราชปักษีจนมาหยุดที่วัดน้อยทองอยู่ จุดหมายแห่งที่ ๒ ในย่านนี้ ถ้าอาจารย์ไม่หยุดเดินและบอกผ่านโทรโข่งว่าถึงจุดหมายแล้ว ก็คงไม่เชื่อกับตาตัวเองว่าเบื้องหน้านี้คือศาสนสถานที่เรียกว่าวัดร้าง เพราะภาพที่เห็นเป็นบ้านขนาดย่อมที่ด้านซ้ายติดโรงเรียนและด้านขวาเป็นประตูรั้วเหล็กมีป้ายเขียนว่า “เขตก่อสร้างห้ามเข้า”

หากไม่สังเกตและสนใจจะไม่รู้เลยว่าพื้นที่เล็ก ๆ หลังรั้วที่กั้นตรงอู่รถเมล์สาย ๘๑ ประชิดติดบ้านเรือนประชาชนและโรงเรียน ตรงนี้ยังมีซากอันพังทลายของ “มณฑป” ขนาดเล็ก หากใครต้องการทราบรูปร่างลักษณะอันสมบูรณ์ดั้งเดิมของมณฑปก็ดูได้เพียงภาพถ่ายเก่าของมณฑปห้ายอดวัดน้อยทองอยู่ซึ่งถ่ายภาพโดย คาร์ล ซีกฟรีด เดอห์ ริง (Karl Siegfried Döhring) สถาปนิกชาวเยอรมันที่เข้ามาในสยามสมัยรัชกาลที่ ๕ เท่านั้น

วัดน้อยทองอยู่ น้อยคนที่จะรู้จัก ข้อมูลความเป็นมาก็ไม่ปรากฏชัด มีเพียงงานค้นคว้าทางสถาปัตยกรรมไทยของ คาร์ล เดอห์ ริง ที่บันทึกชื่อของวัดนี้ว่ามาจากนามของผู้สร้างคู่สามีภรรยา ได้แก่นายน้อยและแม่ทองอยู่ ซึ่งมีเจดีย์ทรงกลมบรรจุอัฐิไว้คู่กันหน้าวัด

วัดวาอารามย่านใกล้ปากคลองบางกอกน้อยล้วนประสบภัยจากการทิ้งระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีเรื่องเล่าน่าทึ่งจากปากคำของชาวบ้านที่ร่ำลือถึงอภินิหารของหลวงพ่อโบสถ์น้อย (วัดอมรินทรารามวรวิหาร) ที่แคล้วคลาดจากระเบิดจนเป็นที่นับถือในความศักดิ์สิทธิ์มาถึงทุกวันนี้ ต่างจากวัดน้อยทองอยู่ที่ไม่มีพระพุทธรูปองค์ใดแสดงปาฏิหาริย์ เมื่อถูกระเบิดทำลายวัดก็สิ้นสภาพเหลือเพียงกำแพงแก้ว กลายเป็นซากปรักหักพังจนยากแก่การฟื้นฟู ในที่สุดก็ถูกยุบให้อยู่ในความดูแลของวัดดุสิดารามตั้งแต่ปี ๒๔๘๘

ชาวบ้านแถวนี้เล่าว่า “ในปี ๒๕๑๖ ยังมีซากฐานของโบสถ์อยู่ที่เชิงสะพานปิ่นเกล้าซึ่งโบสถ์ของวัดน้อยทองอยู่เคยตั้งอยู่ แต่เมื่อสะพานปิ่นเกล้าสร้างเสร็จ ฐานสะพานจึงทับตัวโบสถ์ ดังนั้นหากปัจจุบันอยากกราบไหว้โบสถ์ของวัดน้อยทองอยู่ก็ไม่มีให้ไหว้แล้ว”

อาจารย์ประภัสสร์สรุปความสำคัญของวัดร้างที่มีต่อภาพรวมในการศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ว่า “การค้นพบวัดร้างสะท้อนให้เห็นว่ากรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากชุมชนขนาดเล็ก โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน และขยายพื้นที่เติบโตจนกลายเป็นราชธานีในปัจจุบัน วัดร้างเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็มภาพการเกิดขึ้นของกรุงเทพฯ ได้อย่างสมบูรณ์ ว่าในอดีตคนกรุงเทพฯ เคยอยู่ที่ไหน ตั้งชุมชนอยู่บริเวณใด วัดร้างเหล่านี้ช่วยบ่งชี้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

ยังมีวัดร้างอีกกว่า ๒๐ แห่งในกรุงเทพฯ ภายใต้ร่องรอยที่หลงเหลือล้วนเต็มไปด้วยความเป็นมาของประวัติศาสตร์และความทรงจำในอดีตที่มีคุณค่าต่อชุมชนอีกมาก สิ่งปลูกสร้างของวัดร้างบางแห่งยังคงตั้งอยู่คู่ชุมชนอย่างกลมกลืน ซึ่งน่าสนใจศึกษาต่อในแง่ความคิดความเชื่อของคนยุคนี้ที่มีต่อวัดร้าง

ขอขอบคุณ

  • ผศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องราววัดร้างในบางกอก นำสำรวจและเอื้อเฟื้อความรู้ในงานเสวนา
  • สำนักพิมพ์มติชน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ร่วมกันจัดงานเสวนา “วัดร้างในบางกอก ซอกมุมที่ถูกลืม” เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙

อ้างอิง
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. วัดร้างในบางกอก. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๙.