อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


เรื่องและภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

หวนนึกถึงวันนั้น 4 ปีน้ำมันรั่วระยอง

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ครบ ๔ ปี เหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงอ่าวไทย ขณะที่เรือบรรทุกน้ำมันดิบกำลังถ่ายน้ำมันขึ้นฝั่งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เหตุเกิดกลางทะเลห่างชายฝั่งอำเภอเมือง จังหวัดระยอง ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เหตุการณ์น้ำมันรั่วกลางอ่าวไทย นอกชายฝั่งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยองผ่านมาครบ ๔ ปี หลายคนจดจำเหตุการณ์นี้ ขณะที่บางคนเริ่มลืมเลือนแล้ว

แม้การรั่วไหลของน้ำมันลงสู่แหล่งน้ำจะเคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นนับว่ารุนแรงที่สุด ด้วยปริมาณน้ำมันดิบมากเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งกระแสน้ำได้พัดพาน้ำมันบางส่วนขึ้นชายฝั่ง โดยเฉพาะที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด หาดทั้งหาดถูกย้อมด้วยสีดำ

ถึงวันนี้ยังมีคนเข้าใจผิดว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วเกิดขึ้นและจบลงที่อ่าวพร้าวด้วยซ้ำไป

ในวาระครบ ๔ ปี ของหนึ่งในภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่สุดในอ่าวไทย มาร่วมรำลึกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในครั้งนั้น

oil2556-02

ก้อนทาร์บอล ลักษณะคล้ายยางมะตอย  ขึ้นที่หาดหินดำ จังหวัดระยอง วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๙ 

>>>
ข้อมูลตามแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ ของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ระบุว่าเมื่อเวลาประมาณ ๖.๕๐ น. ของวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ขณะที่เรือบรรทุกน้ำมันดิบกำลังถ่ายน้ำมันผ่านทุ่นรับมายังโรงกลั่นน้ำมันของ PTTGC ท่อรับน้ำมันขนาด ๑๖ นิ้วเกิดรั่ว ห่างจากชายฝั่งมาบตาพุดออกไปในทะเลประมาณ ๒๐ กิโลเมตร

มีรายงานว่าน้ำมันดิบที่รั่วไหลลงสู่ทะเลครั้งนั้นมีปริมาณราว ๕๐ ตัน หรือ ๕๐,๐๐๐ ลิตร แต่จากการคำนวณระยะเวลาที่รั่ว ขนาดของคราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำทะเล ตลอดจนคราบน้ำมันดิบที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ทำให้ยังมีการถกเถียงถึงปริมาณน้ำมันที่แท้จริงมาจนทุกวันนี้

<<< หลังปิดวาล์วน้ำมันมีการใช้ทุ่นกั้นหรือบูม (boom) ยาว ๒๐๐ เมตร จำกัดวงการแพร่กระจายของคราบน้ำมันในช่วงต้น แล้วใช้เครื่องมือดูดคราบน้ำมันขึ้นมาเก็บไว้ในภาชนะบนเรือ จากนั้นมีการใช้เรือและเครื่องบินฉีดพ่นสารเคมีคือน้ำยาสลายคราบน้ำมัน โดยประสานหน่วยงานขจัดคราบน้ำมันสากล ประเทศสิงคโปร์ร่วมปฏิบัติการณ์ แถลงการณ์ของ PTTGC ระบุว่า คาดว่าจะสามารถขจัดและเก็บคราบน้ำมันได้ทั้งหมดภายในวันนี้ กรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานประสานงานก็อ้างจากการประเมินสถานการณ์ของ PTTGC ว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

>>>
วันต่อมา แถลงการณ์ PTTGC ระบุถึงความคืบหน้าว่าคราบน้ำมันมีขนาดเล็กลง น้ำมันดิบถูกสลาย ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นฟิล์มน้ำมันบางๆ จำกัดบริเวณให้อยู่ในจุดที่ควบคุมได้ และยังมีการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมันต่อไป

<<< ตกเย็น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยแพร่ภาพถ่ายจากดาวเทียม RADARSAT-2 เวลา ๑๘.๓๑ น. ของเมื่อวาน (คือ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖) แสดงคราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำทะเล กว้างประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๘.๓ กิโลเมตร หรือประมาณ ๑๒.๔๕ ตารางกิโลเมตร (เกือบเท่าขนาดพื้นที่เกาะเสม็ด) หัวคราบถูกกระแสน้ำพัดออกไปอยู่ห่างจากจุดรั่วไหลประมาณ ๑๕ กิโลเมตร กำลังเคลื่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเข้าหาฝั่ง

>>>
ราวสี่ทุ่ม จังหวัดระยองแจ้งข่าวพบคราบน้ำมันที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ตลอดแนวชายหาด

<<< วันที่สาม คือ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ แถลงการณ์ PTTGC รายงานย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อคืน ระบุว่าเย็นวันที่ ๒๘ กรกฎาคม น้ำมันกลุ่มสุดท้ายได้เคลื่อนตัวตามคลื่นเข้าใกล้เกาะเสม็ด แล้วถูกคลื่นซัดเข้าสู่อ่าวพร้าว เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. >>>
การเก็บคราบน้ำมันบนอ่าวพร้าวเริ่มจากพนักงานราว ๓๐ คน และเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า ๑,๐๐๐ คนในบางวัน ด้วยกำลังทหารจากกองทัพเรือ ภาคส่วนอื่นๆ และจิตอาสา มีการวางบูมล้อมที่หัวอ่าวและท้ายอ่าวพร้าวป้องกันน้ำมันไหลกลับสู่ทะเล ขณะเดียวกันมีการใช้เรือฉีดน้ำยาขจัดคราบใส่กลุ่มน้ำมันที่ลอยอยู่หน้าอ่าวขามและอ่าวน้อยหน่า
ภาพจำติดตาของปฏิบัติการครั้งนี้น่าจะเป็นภาพเจ้าหน้าที่ชุดขาว สวมหมวก หน้ากาก และถุงมือ…

๑) ใช้ท่อดูดน้ำทะเลที่ปนเปื้อนน้ำมันดิบขึ้นมาใส่ถังเก็บขนาด ๑,๐๐๐ ลิตรที่ตั้งอยู่บนชายหาด
๒) ยืนเรียงแถวใช้พลั่วตักทรายและคราบน้ำมันดิบใส่ถุง
๓) ใช้แผ่นซับน้ำมันวางลงบนหาด
๔) เดินลากทุ่นดูดซับน้ำมันตามแนวหาด
๕) ใช้น้ำแรงดันสูงฉีดพ่นคราบตามโขดหิน

<<< ๔ สิงหาคม ๒๕๕๖ แถลงการณ์ PTTGC ฉบับที่ ๑๓ ระบุว่าสามารถขจัดคราบน้ำมันได้ถึงร้อยละ ๙๙ >>>
๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ แถลงการณ์ฉบับที่ ๑๔ ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายระบุว่าได้มีการขจัดคราบน้ำมันออกจากทะเลและชายฝั่ง มีการลำเลียงขยะปนเปื้อนน้ำมันดิบไปส่งยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยขยะทั้งหมดถูกรวบรวมไว้ที่โรงกลั่นน้ำมันของ PTTGC เพื่อตรวจสอบ แยกประเภท และกำจัดตามกฎหมาย ปฏิบัติการลำดับต่อไปคือฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

oil2556-03

บริเวณที่พบทาร์บอลตั้งแต่ปี ๒๕๕๖-๒๕๕๙  เฉพาะส่วนที่ชาวบ้านกล่าวถึงในการพูดคุยวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ ความจริงพบทาร์บอลมากกว่าที่เห็นในภาพนี้ (ภาพ : อาภา หวังเกียรติ)

<<<
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗
เกือบ ๑ ปีหลังเกิดเหตุ กลุ่มชาวประมงเรือเล็กส่งตัวแทนยื่นฟ้องศาลจังหวัดระยองเรียกค่าเสียหายจาก PTTGC กรณีทำน้ำมันรั่วไหลลงทะเล ส่งผลให้จำนวนสัตว์น้ำลดลง กระทบโดยตรงต่อรายได้ของชาวประมงจนมีปัญหาเศรษฐกิจ บางรายต้องเปลี่ยนอาชีพ หลายครอบครัวเกิดหนี้สิน

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุประมาณ ๓ เดือน ทาง PTTGC ได้มีการจ่ายค่าเยียวยาให้กลุ่มประมงและกลุ่มอาชีพอื่นๆ บ้างแล้วลดหลั่นกันไป รวมทั้งเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้จ่ายเงินชดเชยเงินแก้ผู้เสียหาย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีคดีความที่ชาวบ้าน ไม่เฉพาะเกาะเสม็ด แต่รวมถึงชาวบ้านบนฝั่ง นำโดยกลุ่มประมงเรือเล็ก ตั้งแต่ปากน้ำระยอง ถึงปากน้ำประแสร์ แม่ค้าขายปลาสด แม่ค้าขายอาหารทะเลริมหาด แม่ค้าขายอุปกรณ์จับสัตว์น้ำเป็นผู้ฟ้องร้อง อยู่ในขั้นตอนดำเนินการเรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นธรรม และติดตามความคืบหน้าในการฟื้นฟูทะเล

๔ ปีเต็มผ่านไป สภาพของอ่าวพร้าวเมื่อดูด้วยสายตาอาจกลับมาสวยงามดังเดิม แต่ลึกๆ แล้วยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบอย่างจริงจังว่าสารพิษจากน้ำยาสลายคราบน้ำมัน ตลอดจนน้ำมันที่แตกตัวเป็นก้อนเล็กก่อนตกลงสู่ท้องทะเลสลายตัวหมดแล้ว หรือแพร่เข้าสู่ระบบนิเวศน์อ่าวระยองและอ่าวไทย ?

ทุกวันนี้ยังคงพบคราบน้ำมันและก้อน “ทาร์บอล” ที่มีลักษณะคล้ายยางมะตอยสีดำลอยขึ้นฝั่งชายหาดจังหวัดระยอง บางครั้งมีสัตว์ตายปะปนอยู่กับคราบน้ำมัน ชาวประมงยังพบสัตว์น้ำที่ถูกจับตายหรือพิการมากผิดปรกติ

๔ ปีเต็มผ่านไป เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น หลายคนคนอาจคิดว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นและจบลงแล้วที่อ่าวพร้าว ซึ่งนับว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเป็นอย่างมาก

เมื่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วเกิดขึ้นกลางอ่าว และผลกระทบอาจแพร่ไปไกลและยาวนานกว่าที่คิด

หมายเหตุ : เก็บตกฯ จาก เสวนา ๔ ปี นํ้ามันรั่วระยอง : บทเรียนจากอดีตสู่ปัจจุบันในการจัดการภัยพิบัติภาคอุตสาหกรรม วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต