พรไพลิน จิระอดุลย์วงค์
งานเขียนจากคอร์สเขียนสารคดีกับมืออาชีพ

คน(เดิน)พลอย

“สมัยก่อนก็ส่งของอยู่สำเพ็ง อยู่จักรวรรดิ ส่งเสื้อผ้า ถ้วยชาม เครื่องเคลือบ กระทะ กะละมัง ส่งไปทุกจังหวัด ก็เราเป็นลูกจ้างเขา…” น้ำเสียงเล่าเรื่องราวอย่างง่ายๆ ถึงอาชีพในสมัยเด็กถูกบอกเล่าผ่านชายชราที่บัดนี้มีผมขาวแกมดำแตกต่างจากเมื่อ 20 กว่าปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด กับความเป็นมากว่า 40 ปีที่แล้วตั้งแต่ฉันยังไม่เกิด “ป๊าของฉัน” อภิชาติ จิระอดุลย์วงค์ หรือที่เพื่อนๆ ของเขาเรียกกันว่า “เฮียเบี้ยว” คือช่างพลอยตั้งแต่ฉันจำความได้

ทำไมต้องมาเป็นช่างพลอย คือสิ่งที่ฉันไม่เคยถาม รู้แค่ว่าได้เห็น ได้ยิน ท่าทางการทำงานแบบเดิมๆ ทุกครั้งเขาจะนั่งอยู่บนโต๊ะจักรไม้ขนาดกะทัดรัดพอดีกับหนึ่งคนนั่ง และก้มๆ เงยๆ กับหินก้อนเล็กๆ เปิดไฟหลอดแบบหลอดไส้เพื่อให้แสงสว่าง บนโต๊ะมีอุปกรณ์ครบครัน ถาดเหล็กใบเล็ก ปากคีบ ตะเกียงน้ำมันก๊าด เชลแล็ก กล้องส่องพลอยแบบที่มีรูให้แสงออก รวมทั้งหินลักษณะเป็นวงเหมือนล้อรถขนาดย่อมๆ ที่ผิวเป็นหินทรายสากๆ ที่เขาจะใช้มือหมุนเกิดเป็นเสียงดังแซ่กๆ ทุกครั้งที่หยิบพลอยที่ถูกติดอยู่บนก้าน บรรจงจ่อมันกับวงล้อหิน แล้วหมุนมือตามเหลี่ยมตามมุมให้เป็นรูปทรงดั่งใจ

“ช่างพลอยมันเป็นอาชีพที่มั่นคง” เขาเน้นเสียง “ทำมาจนถึงตอนนี้ก็ 40 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่อายุ 22”

เขาเล่าถึงความเป็นอยู่อย่างลูกหลานคนจีนสมัยก่อนที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย จากโพ้นทะเลเข้ามาสู่กรุงเทพฯ ก็มาเช่าห้องอยู่และทำงานทุกอย่างที่สามารถแลกเป็นเงินทองเพื่อสามารถซื้อข้าวปลาอาหารได้ ครอบครัวเขาเป็นชาวจีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่ย่านสำเหร่ ที่บ้านเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว แน่นอนว่าเขาก็ได้ฝีมือทำก๋วยเตี๋ยวมาจากเตี่ย คนจีนมีลูกมาก เขาเป็นลูกชายคนที่ 2 จากบรรดาพี่น้องที่มีถึง 8 คน

“พี่ชายมีโรงงานเจียระไนพลอยอยู่ที่ตลาดน้อย เราอยากทำเป็นบ้างก็เลยไปขอเรียน ไปฝึกหัด”

ที่ตลาดน้อยเขาใช้เวลาฝึกหัดและทำงานเป็นช่างอยู่ถึง 10 ปี…

ตลาดน้อย ถิ่นช่างพลอยเก่า

“บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถบตลาดน้อย ท่าน้ำราชวงศ์ วัดเกาะ และย่านปลายถนนสำเพ็งนั้นถือเป็นย่านการค้านานาชาติในยุคแรกสร้างกรุงเทพฯ ก็ว่าได้…” จากบทวิเคราะห์ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เกี่ยวกับย่านเก่าในกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการค้าในสมัยก่อน ย่านที่ติดริมแม่น้ำอย่างตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ หรืออาณาเขตริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ปากคลองวัดปทุมคงคาจนถึงปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านใต้คือทำเลดีทางการค้า โดยเฉพาะชาวจีนที่มีหัวทางการค้าขายซึ่งขยายมาจากสำเพ็งเมื่อครั้งเศรษฐกิจรุ่งเรือง ตลาดน้อยรองรับทั้งการค้าจากทางน้ำและทางบกเพราะมีการตัดถนนเจริญกรุงผ่านและขุดคลองผดุงกรุงเกษม ย่านแห่งนี้จึงคึกคักมาตั้งแต่ครั้งสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ตลาดน้อยยังเคยมีชุมชนเชื้อสายโปรตุเกสและชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจำนวนหนึ่ง ที่อพยพมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับคลองโอ่งอ่างและตลาดน้อย ปัจจุบันคือแถบซอยวานิช 2 พบหลักฐานคือการสร้างวัดและสุสาน เรียกว่า “วัดกาลหว่าร์” ที่เพี้ยนเสียงมาจาก “วัดกาลวารีโอ (Calvario)” ซึ่งเป็นชื่อภูเขาที่พระเยซูเจ้าถูกตรึงบนไม้กางเขน

จะเห็นได้ว่านอกจากเชื้อชาติที่หลากหลาย ก็นำมาซึ่งความหลากหลายของศาสนาในชุมชนย่านตลาดน้อยแห่งนี้

ชาวจีนตลาดน้อยประกอบไปด้วยชาวจีนถิ่นต่างๆ ที่อพยพมา ได้แก่ กลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยน กลุ่มชาวจีนฮากกา กลุ่มชาวจีนแต้จิ๋ว กลุ่มชาวจีนไหหลำ และกลุ่มชาวจีนกวางตุ้ง มาตั้งรกรากและมีวิถีของอาชีพที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ขุนนางข้าราชการ นักธุรกิจใหญ่น้อย พ่อค้าแม่ค้า ช่างฝีมือ ไปจนถึงเหล่ากรรมกร เห็นได้จากโรงงานมากมาย อย่างโรงงานน้ำแข็ง โรงเลื่อย โรงสีข้าว โรงช่างหลอม และกลุ่มงานอื่นๆ กลุ่มคนจีนเหล่านี้จึงนับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ย่านตลาดน้อยเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ และเป็นชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา

“จำได้ว่าแถวๆ นั้นเขาก็ทำกันหลายอาชีพ ตอนแรกเราก็เป็นเด็กส่งของที่สำเพ็ง จะมีรถมารับจากจังหวัดต่างๆ ส่งของจากที่ร้านไปทั่วหลายจังหวัด ทีนี้พอพี่ชายแนะนำเราก็เลยได้ไปลองฝึกเจียระไนพลอยที่โรงงานของพี่ชาย อยู่ใกล้กรมเจ้าท่า เขตสัมพันธวงศ์ เขาก็เรียกกันว่าตลาดน้อย ใครๆ ก็รู้จัก” จากความทรงจำอันรางเลือนจึงไม่อาจสามารถระบุตำแหน่งที่ชัดเจนของย่านช่างพลอยในตลาดน้อยได้ แต่ก็พอคาดคะเนได้ว่าอยู่ใกล้ๆ กับกรมเจ้าท่า ตรงข้ามปากคลองสานในปัจจุบัน

ในบทวิเคราะห์ของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม พูดถึงช่างฝีมือในอดีตไว้อย่างน่าสนใจว่า “บริเวณหัวถนนทรงวาดย่านสำเพ็ง มีร้านพลอยของชาวตามินหรือทมิฬจากอินเดียใต้…”

“ตลาดน้อยเป็นที่แรกๆ ที่ขึ้นชื่อของช่างทำพลอยเลย มีชื่อพอๆ กับช่างพลอยจันทบุรี ใครจะซื้อขายพลอยก็จะมาแถวนี้ แต่ร้านที่ทำจริงๆ มีไม่กี่ร้าน แต่ใครๆ ก็รู้จัก” ชายชราพูดพลางยิ้มอย่างภาคภูมิใจในอาชีพ ในการช่างที่ได้สั่งสมฝีมือมาเป็นเวลานานนับ 40 ปี
“ชาวจีนที่ทำพลอยฝึกฝนมาอีกทีหนึ่งจากช่างต่างถิ่นที่ชำนาญการทำพลอยมาก สมัยนั้นเขาเรียกกันว่าพวกชาวกุหล่า” เขาขยับท่านั่งเล็กน้อยเพื่อไล่ความเมื่อยขบและตอบออกมาหลังจากครุ่นคิดไปสักพัก

 

ชาวกุหล่า ฝีมือช่างพลอยอันเลื่องชื่อ

กุลา หรือกุหล่า เป็นคำเรียกชาวไทใหญ่อย่างเข้าใจผิด เพราะเป็นการเรียกชาวตองซูซึ่งเป็นชาติพันธุ์หนึ่งในพม่าที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดไทใหญ่ในรัฐฉาน ที่บางครั้งก็ถูกเหมาเรียกรวมกันอย่างแยกไม่ออก

“กุหล่า ก็พวกคนพม่าที่เข้ามาทำมาหากินในไทย” ชายชรากล่าวเสริม ไล่ความงงงวยของฉันเกี่ยวกับการอธิบายถึงอีกชนชาติหนึ่งในย่านตลาดน้อยที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า “กุหล่า”

ชาวไทใหญ่หรือกุหล่านั้นอพยพเข้ามาในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์เพราะเหตุความไม่สงบในบ้านเมืองของตน โดยมีวัดดอน หรือ “วัดดอนกุหล่า” เป็นศูนย์กลางสำคัญ ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวไทใหญ่ที่มีความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อพุทธศาสนา การตั้งบ้านเรือนของไทใหญ่จึงไม่ไกลจากวัดนัก
การเข้ามาของไทใหญ่ในช่วงแรกเพื่อมาทำการค้าขาย โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญด้านการทำพลอย กล่าวได้ว่ามีชาวไทใหญ่อยู่ที่ไหนมีแหล่งอัญมณีอยู่ที่นั่น รวมถึงบ่อไพลินที่เขมร ชาวไทใหญ่ส่วนหนึ่งในเขมรได้ข้ามมาทำพลอยที่จังหวัดจันทบุรีและกาญจนบุรีของไทย บางส่วนเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ

ปัจจุบันช่างพลอยชาวไทใหญ่เหลืออยู่น้อยมาก ยังพบอยู่บ้างทางแถบสีลมซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าอัญมณีชื่อดังจำนวนมาก อันคาดคะเนได้ว่ามีส่วนจากการเข้ามาทำกินของชาวไทใหญ่ที่เชี่ยวชาญงานช่างพลอย การอพยพในครั้งนั้นย่านตลาดน้อยก็เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่คึกคักทางด้านการค้ากับนานาชาติ จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าส่วนหนึ่งของชาวไทใหญ่ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “กุหล่า” จะมาประกอบอาชีพกันอยู่ที่นี่ ส่งผลให้ชาวจีน หรือชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีความสนใจในด้านการค้า เรียนรู้และฝึกฝนจนเป็นความชำนาญและมีฝีมือทัดเทียมกับการช่างของชาวกุหล่า

 

กว่าจะเป็นช่างพลอย

จากประสบการณ์ทำพลอยที่ถูกถ่ายทอดมา จุดเริ่มต้นคือการเรียนรู้ ฝึกหัดภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น “เราก็เริ่มจากฝึกติดทวนกับพลอยก่อน…” เขาเล่าพลางอธิบายว่าการจะขัดแต่งพลอยให้ได้รูปนั้นต้องมีการนำพลอยไปติดกับด้ามไม้ขนาดเหมาะๆ หรือที่เรียกกันว่า “ทวน” เชื่อมติดกับเม็ดพลอยด้วยเชลแล็ก นำไปลนไฟเล็กน้อยพอให้ติดอยู่จึงนำไปขัดแต่งผิวกับ “หินทราย” หรือหินทรงกลมอย่างล้อที่หมุนด้วยมือเวลาใช้งานนั่นเอง “สมัยนี้ไม่มีแล้วหินทราย เขาทำหินเพชรมาใช้แทน” ฉันพยักหน้าพลางไล่ลำดับในใจอย่างคร่าวๆ สำหรับเด็กฝึกหัดนั้นนั่นคือด่านแรกสำหรับการฝึกมือ โดยหัวหน้างานก็จะให้ลองทำจากพลอยราคาต่ำๆ ไปลองฝึกลองทำจนกว่าจะมีความชำนาญ เป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ตามแต่ความสามารถของช่างฝึกหัด

ขั้นแรกของการทำพลอยเริ่มต้นจากพลอยก้อน โดยเราจะนำพลอยที่ผ่านการเผาเพื่อให้ได้สีที่ต้องการแล้วมาผ่านวิธีการโกนพลอย

“ใช่เครื่องที่เวลาทำงานต้องมีน้ำหล่อเครื่องจักรตลอดหรือเปล่า” ฉันถามเพราะเห็นและสงสัยอยู่เนืองๆ ถึงอุปกรณ์แปลกๆ ที่เห็นพ่อเปิดใช้งานบ่อยๆ เครื่องจักรนั้นจะมีวงหินหมุนผ่านน้ำที่ถูกหล่อใส่ไว้ค่อนหนึ่ง เมื่อจะใช้งานก็ต้องสวมถุงมือยาง หรือบางครั้งก็ใช้ “ลูกโป่ง” ที่ยังไม่ได้เป่าใส่ครอบมือที่อาจสัมผัสโดนหินโกนพลอย โกนพลอยให้สะอาดจากก้อนที่ไม่ได้รูปให้เป็นทรงกลม เหลี่ยม หรือหัวใจ ตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งตรงนี้นั้นเขากำชับว่า “จะต้องใช้ความชำนาญมาก เพราะหินที่ถูกขัดสีไปก็จะเป็นฝุ่นผงละลายลงน้ำไป ไม่เหมือนอย่างอาชีพช่างทองที่ยังนำทองกลับมาหลอมใหม่ได้”

ต่อจากนั้นคือการนำพลอยติดทวนและขัดแต่งด้วยหินทราย สุดท้ายคือการเจียระไน ซึ่งต้องมีวิธีการดูเหลี่ยมมุม ความสวยงามของพลอยจะอยู่ตรงนี้ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นอีกกรรมวิธีที่ยากและประณีต

“อย่างน้อยที่สุดคือ 3 เดือน หรือมากหน่อยก็ 1 ปีที่จะต้องทำให้ได้ทุกอย่าง”

ช่างพลอยอาชีพนั้นนอกจากทำได้แล้วจะต้อง “ดูเป็น” ว่าพลอยนั้นมีคุณภาพอย่างไร ด้วยการใช้กล้องซึ่งมีกำลังขยาย 10-15 เท่า ส่องผ่านไฟฉาย ดูสี เนื้อใน เหลี่ยมและตำหนิของพลอยแต่ละก้อนนั้นได้ “พลอยที่นิยมทำกันมากในอดีตคือเพทาย” เพทายเป็นหินสีขาวหม่นหรือสีชา เมื่อนำไปเผาจะกลายเป็นสีขาวใส และเมื่อเจียระไนก็จะมีลักษณะคล้ายเพชร แต่เป็นพลอยเนื้ออ่อน ไม่แข็งเทียบเท่าเพชร แต่คนก็นิยมซื้อกันมาก

“ฝึกฝนและทำอาชีพเป็นช่างพลอยอยู่ที่นั่นเป็น 10 ปี” แต่ว่า “เราไม่เคยรู้ราคาพลอยเลยนะ” เขายิ้มๆ เมื่อเล่าถึงตรงนี้ คนเป็นช่างในสมัยนั้นทำงานก็คือทำงาน เป็นงานฝีมือไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินทองหรือการตีราคา ต่อเมื่อเราได้เรียนรู้มากขึ้นจึงพบว่าลู่ทางของการทำพลอยนั้นมีมากกว่าในโรงงาน

“ก็มีเพื่อนจากที่เราทำงานมานานนี่แหละ เขาก็ลองแนะนำให้เราออกจากโรงงานไปทำเอง ไปเป็นคนเดินพลอย”

โบรกเกอร์ (คนเดินพลอย) กรุงเทพฯ VS จันทบุรี

จับหินเป็นพลอย คือความคุ้นเคยของช่างพลอยที่ชำนาญและใช้เวลากับพลอยนานนับ 10 ปี ความรู้จากการฝึกฝนส่งผลให้สามารถลืมตาอ้าปากสู่การทำธุรกิจของตัวเองได้

“ตอนนั้นที่เป็นช่างเราก็รับงานนอกเป็นคนเดินพลอย หรือที่เรียกกันว่าโบรกเกอร์ เพื่อฝึกหัดลองดูลองทำเพื่อได้รู้ว่าเขาซื้อขายกันอย่างไร คนเดินพลอยจะต้องมีความไว้วางใจสูง เราจะนำพลอยของเขาไปขายได้เราก็ต้องมีความน่าเชื่อถือ รายได้ก็ได้ 10-20 เปอร์เซ็นต์จากราคาพลอยที่เราขายได้”

พลอยจันทบุรี ได้รับยกย่องว่าเป็นทับทิมสยาม ซึ่งนอกจากทับทิมแล้วก็มีพลอยสีอื่นๆ อีกมาก แต่พลอยแดงคือพลอยเนื้อแข็งที่มีราคาดี บ่อพลอยที่ขึ้นชื่อคือบ่อตกพรม นอกจากนี้ก็มีที่บ่อไร่ จังหวัดตราด พลอยสีน้ำเงินอย่างไพลินก็มีราคามาก

“เราก็ไปบ้าง ไปนั่งโต๊ะซื้อขายพลอย ไปตามบ่อพลอยที่เขามีการขุดขาย นำกลับมาดัดแปลงด้วยฝีมือของเรา จากที่ซื้อมาราคาหลักพันหลักหมื่นก็อาจทำราคาได้ถึงหลักแสนหรือหลักล้าน เพราะเรารู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงสามารถทำให้พลอยนั้นมีราคาได้” เขาเล่าถึงการออกเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ บ้างเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน เพื่อเสาะหาพลอยจากแหล่งที่มีพลอยน้ำดีต่างๆ เพื่อนำกลับมาขัดแต่งเจียระไนด้วยตนเอง ผันตัวเองจากช่างเป็นการทำธุรกิจด้วยตัวเอง

“แต่สิ่งที่เพิ่มมูลค่าพลอยมากที่สุดจริงๆ คือการเผาพลอย” จากพลอยดิบสู่พลอยสีที่เราต้องการนั้นวิธีการสำคัญที่สุดก็คือการเผา แต่ก่อนช่างพลอยอย่างเขานำพลอยที่ผ่านการเผาแล้วมาขัดแต่งเจียระไน จึงไม่เคยเรียนรู้วิธีการเผาอย่างจริงจัง จนเมื่อ 20 ปีหลังนี้เองที่ได้เรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลอย นั่นก็คือการเผา ที่ทำให้เราสามารถเร่งสีสันของพลอยให้สวยขึ้นอย่างที่ตลาดต้องการได้

“เราก็เรียนวิธีการทำเตาเผาเล็กๆ ขึ้นมา ดูแลเรื่องไฟจากที่เรามีประสบการณ์ในการดูสี ดูไฟ ค่อยๆ ลองทำจากเล็กๆแล้วค่อยขยับขยาย อันนี้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีช่องทางได้มาก” เมื่อหลายสิบปีก่อนนอกจากการรับพลอยมาเจียระไนเองแล้วก็ไปต่างประเทศ เช่น พม่า แอฟริกา ฯลฯ เพื่อเสาะหาพลอยดิบที่มีลักษณะดีกลับมาลองเผาลองทำด้วยตัวเอง

“ความสนุกของอาชีพพลอยอยู่ตรงนี้งั้นเหรอ” ฉันถามอย่างคาดเดาคำตอบ

“ความสนุกของพลอยอยู่ตรงความเสี่ยงมากกว่า” เขากล่าวสำทับติดตลก “เปลี่ยนพลอยเป็นเงินได้มันสนุก สนุกตรงความเสี่ยง เป็นความสนุกแบบคนทำพลอย” บางครั้งจากพลอยก้อนราคาหลักพันสามารถดัดแปลงเพื่อขายได้ราคาหลักแสน หรือกลับกันเงินหมื่นมาอยู่ในมือเราก็กลายเป็นศูนย์ได้

“ได้เห็นมูลค่าจากฝีมือของเรา เป็นเงิน ได้ใช้เงิน ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง”

แล้วการค้าพลอยในยุคสมัยนี้ซบเซาลงจริงหรือ

“พลอยมันเป็นของฟุ่มเฟือยนะ ลองคิดดูคนไม่มีเงินจะซื้อพลอย เอาเงินไปซื้อข้าวกินไม่ดีกว่าหรือ”

ทองคำอาจจะเป็นเกณฑ์ที่มั่นคงกว่าเมื่อเทียบกับพลอย ราคาของพลอยไม่แน่นอน ที่ซื้อขายกันราคานั้นล้วนขึ้นกับความพอใจของลูกค้า ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว

“ถ้าเศรษฐกิจดีพลอยก็ขายดี อย่างแต่ก่อนขายฝรั่งได้มาก สบายๆ ก็เพราะเขามีเงิน ตอนนี้เป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือเป็นจีน ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจทั้งนั้น”

“สมัยก่อนนั้นจะซื้อขายกันได้ ทั้งคนซื้อและคนขายมีความรู้ ดูพลอยเป็น”

“สมัยนี้ที่นิยมทำกัน มาเล่นเป็นธุรกิจ คนเหล่านั้นจริงๆ เคยจับพลอยมั้ยก็ไม่รู้ เขาเชื่อใบเซอร์ฯ (certificate ใบรับประกันคุณภาพ) ก็แค่กระดาษแผ่นเดียว”

จริงๆ กว่าจะเป็นคนพลอยหรือช่างพลอยนี้ต้องผ่านอะไรมามากที่ปัจจุบันนี้อาจไม่มีคนสัมผัสถึงความรู้สึกเหล่านั้นได้อีก หรือทุกวันนี้จะมีก็แต่ความรู้ที่หาอ่านได้บนกระดาษ

ไม่ใช่บนก้อนหินอย่างที่คนทำพลอยได้เคยสัมผัส…