ซิ่นน่าน ไม่สิ้นน่าน
ผ้าทอเป็นมากกว่าเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม มันคืออัตลักษณ์ คือการส่งต่อในวัฒนธรรมและชีวิต สมัยก่อนชาวบ้านบางหมู่บ้านใช้วิธีคลอดลูกกันตามธรรมชาติ เวลาจะคลอดขึ้นมาที ผู้เป็นแม่ก็ต้องเตรียมนุ่งซิ่นที่เลือกมาแล้วอย่างดีว่าจะใช้สำหรับใส่ไปคลอด จนหลังคลอดแล้ว ซิ่นนั้นก็จะถูกนำมาทำความสะอาดเพื่อส่งต่อความทรงจำเป็นมรดกทางใจให้กับลูกชายในวันที่พวกเขาเติบโต หรือแม้แต่ชายชาติทหารในสมัยอดีตที่จะออกไปรบเองก็จะเตรียมติดตีนซิ่นของแม่ไปกับตัวด้วยเพราะถือเคล็ดในความแคล้วคลาดปลอดภัย

จะเห็นได้ว่าเรื่องของผ้าทอนั้นไม่ใช่เรื่องของกระแสนิยมแต่มันคือความผูกพันในวิถี เริ่มจากผืนแรกของทารกน้อยลืมตาดูโลกที่แม่เตรียมทอไว้ให้สำหรับเป็นผ้าอ้อม ผืนที่สองเป็นการทอใส่สำหรับวันแต่งงาน ส่วนผืนสุดท้ายทอเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันตายที่อย่างไรเสียก็ไม่มีใครหนีพ้น และด้วยความสำคัญของผ้าทอที่ถูกส่งต่อมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้เอง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. โดยการนำของดร.พรสุข จงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยวได้ดำเนินการพัฒนากิจการเพื่อสังคม จึงคัดเลือกชุมชนทอผ้าจังหวัดน่านขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอาชีพสู่รูปแบบที่ยั่งยืน ทั้งในเรื่องของการกระจายรายได้ การบริหารจัดการกลุ่มและการส่งต่อภูมิปัญญาของชาติให้กับเยาวชนรุ่นหลังได้สืบสานต่อ โดยจุดประสงค์การทำงานของ อพท. นั้น ไม่ใช่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพียงเพื่ออยากให้นักท่องเที่ยวมีความสุขแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ทว่าชาวบ้านหรือชุมชนเองก็ต้องมีความสุขด้วย

สิ่งสำคัญที่จะทำให้กิจการเพื่อสังคมในทุกชุมชนสำเร็จได้คือ ชุมชนนั้นๆ จะต้องเข้าใจและรู้ปัญหาในข้อดีข้อด้อยของตัวเองอย่างแท้จริงให้ได้เสียก่อน และต้องรู้ว่าเอกลักษณ์ใดในคุณค่าทางวัฒนธรรมของเราที่มีความพิเศษหรือแตกต่างจากคนอื่น ดังนั้น อพท.จึงพากลุ่มแม่ๆ ทอผ้าจังหวัดน่านไปศึกษาดูงานกิจการเพื่อสังคมในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ กลุ่มสตรีทอผ้าศรีดอนชัยและโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้การดูแลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งแม่ๆ ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม ซาบซึ้งต่อวิถีการเติบโตของกลุ่มทอผ้าเหล่านี้ และเกิดแรงบันดาลใจในการกลับมาพัฒนากลุ่มทอผ้าของตนเองให้ดีขึ้น

sinnan02

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

sinnan04

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ภาพกิจกรรมศึกษาดูงาน กลุ่มสตรีทอผ้าศรีดอนชัย

sinnan06 sinnan07 sinnan08 sinnan09

ภาพกิจกรรมศึกษาดูงาน โครงการดอยตุงฯ

นอกจากนี้ อพท. ยังส่งเสริมศักยภาพชุมชนแบบครบกระบวนการเพื่อให้มั่นใจว่าการเข้ามาสนับสนุนชุมชนครั้งนี้จะไม่ใช่การช่วยเหลือเพียงแค่ระยะสั้น แต่ชุมชนทอผ้าชาวน่านจะต้องพึ่งพาตัวเอง ยืนบนแขนขาและภูมิปัญญาของตัวเองให้ได้อย่างยั่งยืน อพท. จึงเชิญอาจารย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำทักษะเพิ่มเติมให้กับแม่ๆ เช่น อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ คุณสุทธิพันธุ์ เหรา และคุณนคร บังเมฆ เป็นต้น ทั้งในเรื่องของเทคนิคการทอ การเลือกใช้สี การออกแบบลาย และที่ขาดไม่ได้เลยคือการร่วมมือกับบริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการเพื่อพัฒนาช่องทางการตลาดและการแปรรูปสินค้าให้มีความทันสมัยมากขึ้นตามรูปแบบทางการตลาดและกระแสนิยมในงานหัตถกรรมของโลกที่เปลี่ยนไป

กิจการเพื่อสังคมไม่ใช่ธุรกิจที่แสวงหาในเรื่องของกำไร แต่เป็นธุรกิจที่นอกจากจะทำเพื่อเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดได้แล้วยังต้องเผื่อแผ่ไปยังสมาชิกทั้งชุมชน สังคมและประเทศชาติด้วย เพราะการช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกันนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยากกว่าคือจะช่วยอย่างไรให้พวกเขาสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง และกลุ่มทอผ้าทั้งสามแห่งที่เข้าร่วมโครงการมีดังนี้
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง มีสมาชิกกว่า 40 คน โดยลายผ้าเอกลักษณ์ของที่นี่คือลายบ่อสวก ซึ่งเป็นรูปไหดินเผาที่ขุดพบในพื้นที่ตำบลบ่อสวก ชาวบ้านเชื่อว่าหากใส่ลวดลายนี้จะทำให้ผู้สวมใส่เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย นอกจากนี้ บ้านซาวหลวงยังรวมกลุ่มกันเพื่อทำการท่องเที่ยวชุมชน เปิดให้เข้าชมวิธีการทอผ้าตั้งแต่กระบวนการเก็บเม็ดฝ้ายจนกระทั่งเกิดเป็นผ้าทอ 1 ผืน รับประทานอาหารท้องถิ่น พร้อมเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียง เช่น พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น เตาเผาโบราณ ศาลปู่ฮ่อ เป็นต้น

sinnan10 sinnan11 sinnan12

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา อีกหนึ่งกลุ่มทอผ้าที่มีศักยภาพในตำบลบ่อสวก ผ้าทอสีเอิร์ธโทนและลายเอกลักษณ์อย่างลายดาวล้อมเดือน มีที่มาจากในสมัยก่อนผู้หญิงจะนั่งทอผ้าแกะลายอยู่ในบ้านจนมืดค่ำ เมื่อทอผ้าก็จะมีเสียงกี่กระทบ ผู้ชายก็จะทราบว่ามีหญิงสาวอยู่และมาห้อมล้อม กลายเป็นที่มาของลายดาวล้อมเดือน จัดเป็นลายผ้าที่มีความอ่อนหวานและถ่ายทอดวีถีชีวิตชาวน่านได้เป็นอย่างดี

sinnan15 sinnan14

กลุ่มทอผ้าบ้านมหาโพธิ กลุ่มทอผ้าแห่งนี้ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านการทอผ้า โดยมีนางเพลินจิต พ่วงเจริญ อดีตผู้ใหญ่บ้านหญิงแกร่งเป็นผู้นำและมีวัดมหาโพธิเป็นศูนย์รวมความตั้งใจการอนุรักษ์ผ้าพื้นเมือง โดยเฉพาะลายผ้าโบราณอย่างลายคำเคิ้บ หรือฝ้ายเคลือบทอง และน่ายินดีที่ชาวบ้านมีวิสัยทัศน์ไกล ถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ในชุมชน รวมถึงเปิดพื้นที่กลุ่มให้เป็นพื้นที่สำหรับเรียนรู้เทคนิคการทอผ้าแก่ผู้ที่สนใจด้วย

sinnan16 sinnan17

ในวันนี้ชุมชนทั้งสามแห่งพร้อมแล้วที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านี้แก่ผู้ที่ชื่นชอบ รวมถึงต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสัมผัสวัฒนธรรมให้ถึงถิ่น ซึ่งหลายๆชุมชนยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาให้กับผู้สนใจได้ลองไปลงมือทำจริง ทั้งขั้นตอนการปั่นฝ้าย  การทอ  การย้อมสี รวมไปถึงนำกลับไปใช้เองได้อีกด้วย บอกได้คำเดียวว่า ถ้าได้เห็นกระบวนการทอแล้ว จะอดใจไม่ไหว อยากจะซื้อติดไม้ติดมือกลับไปสักผืน

sinnan18

ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมกิจการทอผ้าหรือกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ ในจังหวัดน่าน สามารถติดต่อสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน (อพท.6) โทร.  054-771-077   E-mail : dastanan@dasta.or.th หรือ dasta.nan@gmail.com หรือติดต่อชุมชนได้โดยตรงที่ แม่วัลลภา อินผ่อง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง โทร 088 454 1005 แม่บุญนอง สายอุทธา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา โทร 085 364 9630 และแม่เพลินจิต พ่วงเจริญ กลุ่มทอผ้าบ้านมหาโพธิ โทร 081 023 4452