ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


หลังโรงละคร

ตามธรรมเนียมนักแสดงละครเวทีของฝรั่ง ก่อนขึ้นเวที เขาห้ามอวยพรกันว่า “ขอให้โชคดี” แต่จะต้องใช้คำว่า “Break a Leg!” (ขอให้ขาหัก!) แทน เหมือนกับเป็นการ “แก้เคล็ด” กลับร้ายกลายดี ทำนองเดียวกับคนไทยสมัยก่อน ที่ห้ามชมเด็กเล็กๆ ว่าน่ารัก ต้องเสพูดไปว่า “น่าเกลียดน่าชัง” แทน

ส่วนในแวดวงนักแสดงของไทย มีธรรมเนียมสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง คือการแสดงความเคารพแก่ “ครู” ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้ อย่างชาวลิเกนับถือ “พ่อแก่” คือพระฤๅษี เป็นครู หลังโรงต้องตั้งเศียรพ่อแก่ไว้กราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนออกไปร้องไปรำ

แม้แต่เวทีเองก็ถือเป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ด้วย อย่างในวันแรกที่นักแสดงเข้าซ้อมในโรงละครแล้วต้องก้าวขึ้นเวที นักแสดงรุ่นเยาว์ที่เพิ่งเข้ามาใหม่จะได้รับคำเตือนให้ยกมือไหว้เสียก่อนที่จะเหยียบย่างขึ้นไป

เรื่องทำนองนี้เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะไม่ว่าจะเป็นลิเก ละครรำอย่างไทย หรือละครเวทีแบบฝรั่ง ล้วนเป็น “การแสดงสด” ซึ่ง “อะไรก็เกิดขึ้นได้” โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดมีอยู่ตลอดเวลา การสร้างขวัญและบำรุงกำลังใจให้แก่ทีมถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

ตาม “โรงละคร” ต่างๆ ในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือเอกชน จึงต้องผนวกรวมพื้นที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ด้วย บางแห่งเป็นหิ้งอยู่เหนือทางขึ้นเวที บางโรงสร้างเหมือน “ห้องพระ” ขนาดย่อมๆ ไว้ด้านข้างเวที แต่ก็มีอีกหลายโรงที่แยกเฉพาะออกมาต่างหากเป็นห้องพิเศษเพื่อการนี้

behindtheatre02 behindtheatre03 behindtheatre04

บนหิ้งหรือในห้องนั้นย่อมต้องตั้งรูปพระคเณศ ซึ่งศิลปินไทยนับถือว่าเป็นเจ้าแห่งศิลปวิทยาทั้งปวง ตลอดจน “เศียรครู” (ที่เป็นเหมือนหัวโขน) ในฝ่ายวิชาขับร้องฟ้อนรำ ทั้งที่เป็นเทวดา เช่น พระประโคนธรรพ พระปัญจศิขร มีที่เป็นฤๅษี ที่เรียกกันว่า “พ่อแก่” บางแห่งตั้งเศียรครูไว้มากจนแทบเป็นการจำลองเวทีงานไหว้ครูครอบครูนาฏศิลป์ดนตรีไทย คือมีไปจนถึงพระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ ฯลฯ ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่นิยมประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ด้วย

เหล่านี้ ในสายตาของศิลปินล้วนเป็น “ครูบาอาจารย์” ที่พึงแสดงกตัญญุตาคารวะ เช่นก่อนหน้าการแสดง (โดยเฉพาะในรอบแรก) นักแสดงต้องนำพวงมาลัยดอกไม้ไปกราบไหว้ และอธิษฐานให้การแสดงผ่านพ้นไปด้วยดีโดยปราศจากอุปสรรค

ความนับถือครูบาอาจารย์นี้ยังครอบคลุมไปถึงผู้ประพันธ์ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย เช่นหากไปเล่นละครที่มาจากบทประพันธ์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นักแสดงอาวุโสบางท่านก็จะมีคำร้องขอให้ตั้งรูปของคุณชายไว้บอกกล่าวและขอขมาลาโทษกัน หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดตกบกพร่องไปในการแสดง

และไม่ใช่เฉพาะแค่ในโลกของคนไทยร่วมสมัยเท่านั้น คตินี้ยังข้ามเวลาและอยู่เหนือพ้นไปจากวัฒนธรรมได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประพันธ์บทละครยุคกรีกดึกดำบรรพ์ หรือกวีเอกของโลกชาวอังกฤษ จึงอาจ “ขึ้นหิ้ง” อยู่ที่หลังโรงละครเมืองไทยได้เช่นกัน