วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


โรงเรียนโรงเล่น

หนึ่งใน ๖ ประเภทการประกวดรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” ซึ่งจัดมา ๑๙ ปี เป็นรางวัลงานเขียน “ความเรียงเยาวชน” ที่ว่ากันว่าเป็นประเภทที่มีงานส่งเข้าประกวดน้อยนัก เครือข่ายเยาวชนลูกโลกสีเขียวภาคกลาง-ภาคตะวันออก จึงขยับตัวเชิงรุกด้วยการเปิดอบรมการเขียน กระตุ้นความสนใจและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเยาวชนในพื้นที่

จัดค่ายฝึกการเขียนขึ้น ณ “โรงเรียนโรงเล่น” ของกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ระยอง ในชื่อตอนเก๋ไก๋ว่า “เด็กสร้างเรื่อง” เชิญทีมครูจาก “ค่ายสารคดี” มาสอนในหลักสูตรแบบเร่งรัด มีนักเรียน ป.๕ ถึง ม.๕ จากโรงเรียน ๙ แห่ง ใน ๕ จังหวัด ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด จำนวน ๓๐ คน เข้าร่วมเรียนรู้ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

ronglen02

เรียงความ ดูจะเป็นงานเขียนประเภทเดียวที่นักเรียนไทยรู้จักมากที่สุด สามารถตอบแบบจำขึ้นใจได้ว่าโครงสร้างประกอบด้วย บทนำ – เนื้อเรื่อง – สรุป

ทำให้เมื่อมาเรียนการเขียนเรื่องเล่าประเภทอื่นๆ ในกลุ่มเรื่องจริง ครูนักเขียนสามารถต่อยอดได้ทันทีว่า หากอยากขยับไปสู่ “ความเรียง” หรือ “สารคดี” ก็เพียงแต่เติม “ชื่อเรื่อง” เข้าไป แล้วปรับโครงสร้าง ๓ ส่วนของเรียงความเป็น เปิดเรื่อง – ตัวเรื่อง – ปิดเรื่อง เพื่อสลายความฝังใจว่า “บทนำ” จะต้องกล่าวเกริ่นแบบชักแม่น้ำทั้ง ๕ และ “สรุป” ก็ต้องสั่งสอนคนอ่านแบบ “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…”

แล้วชวนฝึกเขียนเล่าเรื่องสั้นๆ ในหัวข้อ สิ่งโปรดปราน ตามโครงสร้างข้างต้น เพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงจากการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ที่จะเป็น “ความรู้” ที่เป็นเนื้อเป็นตัวของผู้เรียนเอง ไม่ใช่เพียงแค่รู้จากการฟังหรือจดจำจากที่ครูสอน

การเรียนรู้บทต่อมา เป็นการลงพื้นที่ฝึกการเก็บข้อมูล

งานเขียนเรื่องเล่า (narrative) ในกลุ่มเรื่องจริง (non fiction) “ข้อมูล” เป็นสิ่งที่จะขาดไม่ได้เด็ดขาด อันได้แก่ ข้อมูลจากการค้นคว้า ข้อมูลจาก
การสังเกตการณ์ และข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ซึ่งการจะได้มาของ ๒ ข้อหลัง ต้องผ่านการสัมผัสพื้นที่และพูดคุยกับผู้คน

ได้ข้อมูลจากพื้นที่เมื่อครึ่งวันเช้า ครึ่งบ่ายเป็นการถอดข้อมูลออกมาเป็นเรื่องเล่าในภาษาเขียน

ronglen03

ครูช่วยชี้ช่องทางการเล่า ด้วยการชวนคิดชวนมองหาเทคนิควิธีการ อาทิ

จะให้ใครเป็น “ผู้เล่าเรื่อง” ซึ่งสัมพันธ์ต่อเนื่องถึงเรื่อง “มุมมอง”

ง่ายที่สุดสำหรับนักเขียนมือใหม่คือเล่าโดย “ฉัน” ใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ เป็นผู้เล่า ถือเป็นวิธีการพื้นฐานที่สุดของการเล่าเรื่องก็ว่าได้

ขั้นถัดมา อาจเล่าผ่าน “ตัวละคร” หรือสรรพนามบุรุษที่ ๒ ในกรณีนี้อาจไม่มีผู้เขียนปรากฏอยู่ในเรื่อง แต่เป็นผู้รู้ทุกอย่าง ที่เรียกว่าเป็น “มุมมองพระเจ้า”

กับอีกเรื่องที่ควรใส่ใจคือ “เส้นเรื่อง” หรือลำดับการดำเนินต่อเนื่องไปของเรื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ

อย่างง่ายคือการใช้เส้นเรื่องตามลำดับเวลา จากจุดเริ่มต้นไปจนสิ้นสุด

แต่เมื่อชำนาญแล้วอาจขยับพัฒนาขึ้นมาเป็นเส้นเรื่องแบบตัดสลับ หรือการซ้อนเรื่อง ซ้อนผู้เล่าจากหลายมุมมอง ซึ่งถือเป็นชั้นเชิงในแง่กลวิธีการนำเสนอ ซึ่งสร้างสรรค์ได้ไม่สิ้นสุด

โดยทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมพื้นฐานเบื้องต้นที่ต้องทำให้ดีในแต่ส่วนตามโครงสร้าง ๔ ข้อ ชื่อเรื่อง – เปิดเรื่อง – ตัวเรื่อง – ปิดเรื่อง

การถอดคำสัมภาษณ์ออกมาเป็นเรื่องเล่าด้วยหลักการอ้างตรง – อ้างอ้อม

การบรรยายให้เห็นภาพ ทั้งกายภาพ จินตภาพ ตลอดถึงลักษณะของตัวละคร

การบอกพิกัดถึงแห่งหนในท้องเรื่อง ทั้งลักษณะคำบอกทาง และพิกัดแบบราชการ

กลั่นเกลาภาษาสำนวนอย่างประณีตมาเป็นเครื่องมือ มีวรรคเด็ดวรรคเด่นแทรกบ้างพอให้คนอ่านได้ตื่นตา ดิ่งลึกในอารมณ์เมื่ออ่านเจอ ซึ่งอาจมาจากผลึกความคิดของผู้เขียน หรือปากคำของแหล่งข้อมูลก็ได้

ronglen05

๒ คืน ๓ วัน อาจน้อยเกินไปที่จะชี้ขาดได้ว่าใครทำได้ดีหรือใครจะเป็นนักเขียนตัวจริง

แต่การได้มาชุมนุมและเรียนรู้ร่วมกันบนเส้นทางการเขียน อย่างน้อยสุดเยาวชนในภูมิภาคตะวันออกกลุ่มนี้ก็ได้รู้ว่า มีวิชาและอาชีพ “นักเขียน” อยู่ในสังคมของเราด้วย

และแน่นอนว่าเมื่อมารู้จักค่ายนี้ เมล็ดพันธุ์แห่งการอ่านการเขียนก็ย่อมได้หยั่งรากลงในใจพวกเขาแล้ว อาจมีบ้างที่เติบโตต่อไปเป็นคนเขียนหนังสือในกาลข้างหน้า หรือหาไม่-แต่ไม่ว่าจะอย่างไรการได้สัมผัสกับโลกของตัวหนังสือ ความรักการอ่านก็ย่อมต้องติดตัวพวกเขาไปบ้าง

ที่ว่ามานี้ไม่ใช่ครูทึกทักไปเองหรือคิดมโนเอา แต่มาจากปากคำของพวกเขาเอง

“ฟังครั้งแรกเหมือนน่าเบื่อ ต้องมาเขียนเรียงความ คงไม่สนุก แต่พอเริ่มได้เรียนรู้ความคิดก็เปลี่ยน

ไม่เคยคิดว่าหนูจะเขียนความเรียงได้ เป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่พอเริ่มเรื่องแรกที่มาค่ายก็รู้สึกว่ามันไม่ยาก ได้เรียนรู้จากวิทยากร ในหลักการ เทคนิคการเขียน สิ่งสำคัญของการเขียนว่าจะให้ดีต้องเขียนอย่างไร

ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลมาเขียน ก็ยังคิดว่าคงยาก เพราะต้องถ่ายทอดงานเขียนของเราจากความคิดคนอื่น แต่วิทยากรก็ให้คำแนะนำได้ดี ทำให้เรื่องยากมันง่าย

การเข้าค่ายครั้งนี้ทำให้รู้ว่า อย่าคิดว่าทำไม่ได้ หากยังไม่ได้ลงมือ”

นิธิมา นิธิกุล ร.ร.บ้านฉางกาญจนกุลวิทยา

“ค่ายเด็กสร้างเรื่อง ทำให้ตัวเรามีความพัฒนาในเรื่องการเขียนมากขึ้น ได้เข้าใจองค์ประกอบของการเขียน ปกติถ้าเขียนเรียงความ เราจะเขียนบทสุดท้ายโดยสรุปตลอด แต่ค่ายนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า ตอนจบอาจไม่ต้องสรุปก็ได้ แต่อาจให้ข้อคิดกับผู้อ่านโดยไม่มีข้อความที่เราสอนโดยตรง

ค่ายนี้ทำให้เรามีความกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าที่จะตอบ กล้าที่จะเขียน”

ณัฐณิชา ผกาแก้ว ร.ร.แกลงวิทยสถาวร

“ตอนแรกคิดว่าตัวเองจะเขียนไม่ได้เพราะไม่ชอบการเขียน แต่ตอนเด็กๆ คุณครูเคยพาไปประกวดบ้าง มีประสบการณ์มานิดๆ หน่อยๆ ก็น่าจะพอเขียนได้ ตอนเขียนเรื่องแรกเกี่ยวของรักของหวง แล้วได้รางวัล ดีใจมากค่ะ วันที่ ๒ ไปสวนเกษตรอินทรีย์ ได้รับความรู้กลับมาอย่างมากกมาย และได้กลับมาเขียนเล่าเรื่องสิ่งที่พบเจอมา รู้สึกว่าเขียนยากมาก เนื้อหาความรู้มากมาย ไม่รู้ว่าจะจับประเด็นไหน แต่ก็เขียนได้จากความรู้สึกขอตัวเอง ก็ได้รับรางวัลอีก ดีใจมากๆ ค่ะ ไม่คิดว่าคนที่ไม่ชอบเขียนแบบหนูจะได้ ขอบคุณค่ายนี้ ที่มีอาหารอร่อยให้ทาน มีที่พักสบาย ขอบคุณคุณครูที่มาสอนพวกหนูนะคะ”

โสภิณา พลบุตร จากกลุ่มรักษ์เขาชะเมา