ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


หนุมานชาญสมร

ในอินเดีย ที่ซึ่ง “พระราม” เป็นองค์อวตารของพระวิษณุ (พระนารายณ์) มหาเทพของศาสนาฮินดู “หนุมาน” วานรเผือก ทหารของพระราม ก็พลอยได้รับความเคารพในฐานะเทพเจ้าองค์หนึ่งไปด้วย

แต่สถานะของ “หนุมาน” ในสังคมไทย กลับมีหลากหลายแตกต่างมาก

ตามวัดหลายแห่ง เราจะสังเกตเห็นว่าบนหน้าบัน (หน้าจั่ว) ของโบสถ์ ทำเป็นลวดลายรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ แต่ที่อาจไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก คือที่เป็นรูปพระลักษมณ์ทรงหนุมาน เช่นที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

รูปพระลักษมณ์ทรงหนุมานนี้ ใช้เป็นเหมือนตราประจำพระองค์ของ “วังหน้า” คือกรมพระราชวังบวร ซึ่งเป็นพระมหาอุปราช ผู้มีอำนาจรองลงมาจากพระเจ้าแผ่นดิน คือตามท้องเรื่องอย่างที่ยกมาแต่ต้น เมื่อพระมหากษัตริย์เปรียบได้ดั่งพระราม ดังนั้น “วังหน้า” จึงเทียบเคียงได้ประดุจพระลักษมณ์ อนุชาของพระราม

ส่วนหนุมานที่คนไทยคุ้นเคยกันดี คือในมิติที่เป็นตัวละครจากวรรณคดี รามเกียรติ์ และในรูปลักษณ์ตัวเอกที่มีสีสันในการแสดงโขน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง หนุมานคือลวดลายตัวภาพที่มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ ระดับที่พระเกจิอาจารย์มากมายนิยมนำไปผูกลายสักลงผิวเนื้อผู้ศรัทธา

hanuman02 hanuman03 hanuman04

จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรียุคทศวรรษ 2500 เลือกใช้ตราประจำตัวเป็นรูปหนุมานแผลงฤทธิ์ หาวเป็นดาวเป็นเดือน ทั้งจากความหมายตามปีเกิดของตน คือปีวอก (ปีลิง) 2451 และโดยนัยว่าจอมพลถือตนเองเป็นประดุจ “ทหารของพระจักรี” เช่นเดียวกับหนุมาน ตลอดจนกิจการธุรกิจต่างๆ ที่จอมพลก่อตั้ง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานเบียร์ หรือบริษัทประกันภัย ล้วนแต่ใช้ตราหนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือนเป็นโลโก้ทั้งสิ้น

พร้อมกันนั้น คือตั้งแต่ยุค 2500 หนุมานยังถูกทำให้กลายเป็น “สินค้าทางวัฒนธรรม” อย่างแรกๆ ของเมืองไทยตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นยุคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเมื่อหลายสิบปีก่อน ตัวอย่างเช่นตุ๊กตาหนุมานของบางกอกดอลล์ ต่อเนื่องมาจนถึงการเป็น “มาสคอต” ของหน่วยงานหรืออีเวนต์ต่างๆ อีกหลายต่อหลายรอบ

หรือเมื่อราว 40 ปีมาแล้ว หนุมานยังถูกหยิบยกมาใช้เป็น “ฮีโร่” พันธุ์ไทย ประกบกับ “คาเมนไรเดอร์” และ “ครอบครัวอุลตร้าแมน” อย่างที่คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย แห่งไชโยภาพยนตร์ เคยสร้างเป็นภาพยนตร์ “หนุมานพบห้าไอ้มดแดง” “หนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์” ตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว

สุดท้ายจากเทพหรือตัวภาพอันเข้มขลัง หนุมานก็กลายสภาพเป็นสินค้า “น่ารักๆ” เช่นที่มีผู้ทำเครื่องแต่งกายโขนตัวหนุมานเป็นลวดลายเสื้อยืดบ้าง หรือทำเป็นหมอนรองคอบ้าง อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน