ม้าน้ำ จากท้องทะเลถึงท้องตลาด

อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


seahorse01

ม้าน้ำเป็นสัตว์ทะเลที่น่าทึ่ง แปลก มีเสน่ห์ แทนที่ผิวหนังจะเป็นเกล็ด ม้าน้ำกลับมีกระดูกเป็นเกราะห่อหุ้มรอบตัว

“ม้วนหางสิลูก…”

ม้าน้ำเป็นสัตว์ทะเลที่น่าทึ่ง แปลก และมีเสน่ห์ ดังคำที่ ดร. คีท มาร์ติน-สมิท ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ทะเลเคยกล่าวไว้
(แต่ประโยคแรกข้างต้น ดร. คีท ไม่ได้กล่าว อยู่ในโฆษณาโทรทัศน์สีโซนี่เมื่อปี ๒๕๓๔)

ชาวประมงสมัยก่อนไม่รู้ว่าม้าน้ำคือตัวอะไร นักธรรมชาติวิทยายุคแรกๆ เรียกว่า ​ฮิปโปคัมปุส (Hippocampus) ​​สัตว์​ใน​เทพนิยายที่มีรูปร่างเป็นม้า แต่กลับมีหางเป็นปลา ทำหน้าที่ลากรถให้กับโพซีดอนเทพเจ้าแห่งมหาสมุทรของชาวกรีก ชื่อ Hippocampus ก็เป็นภาษากรีกมาจากคำว่า “hippo” แปลว่า “ม้า” กับ”campus” แปลว่า “สัตว์ประหลาดทะเล”

ด้วยความแปลกแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ทำให้ยุคหนึ่งพ่อค้า​เร่​​นำ​ม้า​น้ำ​ไป​ขาย​โดยบอกว่า​เป็น​ลูก​อ่อน​ของ​มังกร​ไฟ บางคนบอกว่ามันคือ “ม้าแก้วเจียระไร” หรือ “ม้าหมากรุกมีชีวิต”

ถึงแม้รูปร่างของม้าน้ำจะไม่ค่อยเหมือนปลานัก แต่ม้าน้ำ (Seahorse) จัดเป็นปลาทะเลกระดูกแข็งจำพวกหนึ่ง หายใจทางเหงือก อยู่ในวงศ์ย่อย Hippocampinae สกุล Hippocampus

ม้าน้ำมีส่วนหัวคล้ายม้า มีปากเป็นกระดูกยาวๆ คล้ายท่อ เหมาะต่อการดูดอาหารจำพวกแพลงก์ตอน ไรทะเล กุ้ง และสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ ขณะเดียวกันม้าน้ำก็ต้องระวังภัยจากการถูกสัตว์อย่างปูหรือเต่าทะเลกิน

นอกจากนี้แทนที่ผิวหนังจะเป็นเกล็ดเหมือนปลาทั่วไป ม้าน้ำกลับมีกระดูกหรือก้างเป็นเกราะห่อหุ้มรอบตัว มีครีบอยู่ที่หลังและข้างลำตัว มีหางยาวราวกับสัตว์เลื้อยคลาน

seahorse02

ม้าน้ำเป็นปลาจำพวกหนึ่ง หายใจทางเหงือก มีส่วนหัวเหมือนม้า หางยาวคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน ไว้สำหรับเกาะเกี่ยวกับปะการัง พืชน้ำ รวมทั้งคู่ของตน

ม้าน้ำมักจะใช้หางยึดตัวเองไว้กับปะการังหรือพืชน้ำ เมื่อต้องการว่ายน้ำจะโบกครีบหลัง ดันตัวไปช้าๆ ถ้าต้องการเลี้ยวซ้ายหรือชวาจะใช้ครีบด้านข้างลำตัวช่วย ครีบของม้าน้ำกระพือพัดด้วยความเร็วประมาณ ๒๐-๓๐ ครั้งต่อวินาที

ในการเคลื่อนที่ขึ้นและลง ม้าน้ำใช้วิธีควบคุมปริมาณอากาศในช่องท้องคล้ายหลักการเรือดำน้ำ ชอบว่ายลอยไปลอยมาหรือไม่ก็ว่ายวนอยู่กับที่ มีความเป็นเลิศในการพรางตัว เปลี่ยนสี อาศัยลวดลายบนลำตัวปะปนอยู่กับปะการัง หญ้าทะเล

ทั่วโลกมีม้าน้ำอยู่ประมาณ ๔๗ ชนิด อาศัยในเขตอบอุ่นใกล้ชายฝั่ง มีตั้งแต่ขนาดเท่าเล็บคนไปจนถึงยาวกว่า ๓๐ เซนติเมตร
ในน่านน้ำไทยมีม้าน้ำประมาณ ๖ ชนิด คือ

  • ม้าน้ำดำ จัดเป็นม้าน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในน่านน้ำไทย ลำตัวมีสีดำสนิทและสามารถเปลี่ยนเป็นสีครีม เหลือง น้ำตาลแดง พบมากตามชายฝั่งอ่าวไทยภาคตะวันออก
  • ม้าน้ำหนาม อาศัยในน้ำลึกและใส มีสีสวยงามออกน้ำตาลแดง มีลายจุดสีออกขาวเป็นแถบกว้าง ลำตัวมีหนาม ตัวเล็กกว่าม้าน้ำดำ
  • ม้าน้ำ ๓ จุด พบตามชายฝั่งช่วงฤดูหนาว มักมีจุดสีดำประมาณ ๓ จุดบริเวณส่วนบนของลำตัว
    ม้าน้ำแคระ มีขนาดเล็กมากจนสามารถวางบนเล็บมือได้ อาศัยตามชายฝั่งโดยเกาะอยู่กับสาหร่ายบริเวณที่เป็นพื้นทราย พบเห็นไม่บ่อยนัก
  • ม้าน้ำยักษ์ หรือ ม้าน้ำใหญ่ มีความยาวเกือบ ๓๐ เซนติเมตร
  • ม้าน้ำหนามขอ มีปากและส่วนหน้ายาวอย่างเห็นได้ชัด มีหนามบนหัว ตามลำตัวและหาง เมื่อลองจับจะรู้สึกว่าหนาวเกี่ยวติดมือ

seahorse03

อนุสาวรีย์ม้าน้ำที่บ้านท้องตมใหญ่ จังหวัดชุมพร

ท่าร่ายรำของม้าน้ำเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ

เทรซี วอร์แลนด์ นัก​ผสม​พันธุ์​ม้า​น้ำ บอก​ว่า “การ​แหวก​ว่าย​ร่าย​รำ​ของ​ม้า​น้ำ​นั้น​สวย​งามและ​อ่อนช้อย​น่า​ชม​มาก​จริงๆ”

ท่ามกลางละอองแสงอาทิตย์ที่สาดส่องลงสู่น้ำ ม้าน้ำตัวผู้กับตัวเมียจะจับคู่ร่ายรำเพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่น ทั้งคู่จะว่ายเวียนรอบกันในลักษณะหมุนวน ควงคู่ บางจังหวะใช้หางเกี่ยวกระหวัดกันไว้ ล่องลอยไปอย่างเสรีราวกับเป็นนักเต้นบัลเล่ต์แห่งผืนน้ำ ในท่วงทำนองราวกับกำลังฟังเพลงบรรเลงช้าๆ สบายๆ แต่บางจังหวะก็โลดโผนโจนทะยายเหมือนม้าพยศ

ท่าร่ายรำตามปรกติกินเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง แต่พอเข้าใกล้ช่วงผสมพันธุ์ ม้าน้ำจะร่ายรำด้วยกันบ่อยครั้งและเนิ่นนานขึ้น

เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ หลังจากจังหวะการร่ายรำดำเนินมาถึงขั้นสุดยอด ม้าน้ำทั้งสองตัวเหมือนโอบกอด เอาหน้าท้องชนกัน ม้าน้ำตัวเมียจะวางไข่ลงในถุงฟักไข่ที่อยู่ตรงกระเป๋าหน้าท้องของม้าน้ำตัวผู้ ซึ่งคล้ายกระเป๋าหน้าท้องของจิงโจ้
แล้วม้าน้ำตัวผู้จะแยกตัวออกไปจัดเรียงไข่ ให้ยึดแน่นกับผนังถุงหน้าท้อง ปล่อยน้ำเชื้อผสมกับไข่แล้วเริ่มต้น “อุ้มท้อง”

การตั้งท้องหรืออุ้มท้องของม้าน้ำตัวผู้ทำให้ตัวเมียมีสมาธิและเวลาในการผลิตไข่เพิ่มขึ้น โดยตัวเมียจะคอยประคมประหงมอยู่ใกล้ๆ ไม่หายหน้าไปไหน คอยเป็นกำลังใจในภาระรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่นี้

ผู้​หญิง​คน​หนึ่งถึงกับเคยเอ่ยปาก​ว่า
“ดิฉัน​คิด​ว่ามัน​วิเศษ​มาก​ที่​ม้า​น้ำ​ตัว​ผู้​เป็น​ฝ่าย​ตั้ง​ท้อง​และ​คลอด​ลูก”

เมื่อลูกม้าน้ำฟักออกจากไข่จะซุกตัวอยู่ที่ก้นถุงฟักไข่หน้าท้องพ่อ เส้นเลือดจำนวนมหาศาลภายในถุงจะนำสารอาหารและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงลูกๆ เมื่อเวลาผ่านไป ประมาณ ๒๑ วันถึง ๑ เดือน ท้องพ่อม้าน้ำจะบวมเป่ง น้ำในถุงก็จะเริ่มเค็มขึ้นเพื่อปรับสภาพให้ลูกๆ เคยชินกับสภาพตามธรรมชาติของน้ำทะเลก่อนออกสู่ทะเลภายนอก

ในที่สุดหน้าท้องโตๆ ของพ่อก็เปิดออก พ่อม้าน้ำจะบีบกล้ามเนื้อส่วนท้อง เบ่งลูกๆ ตัวจิ๋วออกมาทีละตัวสองตัว บางจังหวะพ่นพรวดออกมาเป็นฝูง โดยมีแม่ม้าน้ำรอต้อนรับ การคลอดรอบหนึ่งอาจใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือถึงสองวัน มีลูกม้าน้ำ ๕๐๐-๑,๕๐๐ ตัว

การอุ้มท้องสร้างความเครียดให้ม้าน้ำตัวผู้มากเหลือเกิน ไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่มีแม่คอยอุ้มท้อง

ม้าน้ำจึงเป็นสัตว์ทะเลที่พลิกบทบาทของความเป็นพ่อ หรือเรียกได้ว่าเป็น “ตัวพ่อ” จริงๆ

seahorse04

รูปปั้นม้าน้ำที่หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต

หน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงม้าน้ำเป็นแห่งแรกของไทย คือสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา นอกจากนี้ยังมีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ กรมประมง รวมถึงภาคเอกชนที่นำไปขยายผลต่อ วัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ม้าน้ำไม่ให้สูญพันธุ์ รวมทั้งสนองความต้องการของกลุ่มผู้นิยมเลี้ยงสัตว์สวยงามประดับตู้

อย่างไรก็ตาม ปริมาณประชากรม้าน้ำในน่านน้ำไทยได้ลดลง เนื่องจากปัจจัยคุกคามคือความเสื่อมโทรมของท้องทะเล การประมงพาณิชย์ที่ใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำ รวมทั้งการใช้ระเบิดไดนาไมต์ทำลายแนวปะการัง

นอกจากนี้คือพฤติกรรมของม้าน้ำที่อยู่กันแบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” ไม่มีคู่ใหม่ จนกว่าอีกฝ่ายจะตายจากไป ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยใช้ม้าน้ำตากแห้งเป็นของขวัญแก่คู่บ่าวสาว หรือไม่ก็ทำของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ ที่ทับกระดาษ เข็มกลัด ม้าน้ำจึงถูกพรากจากทะเลพอๆ กับการจับมาปรุงยาแผนโบราณ โดยเฉพาะตลาดยาในเอเชีย

เช่นเดียวกับดีหมี อุ้งตีนหมี อวัยวะเพศเสือโคร่ง นอแรด ฯลฯ ม้าน้ำถูกทำให้เชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา มีการนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยหลายอย่าง เช่น โรคหอบหืด กระดูกหัก เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

ครั้งหนึ่งขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูลสกู๊ปดีหมีที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ในเขตการค้าแห่งหนึ่งใกล้ทะเลสาบ มีร้านขายยาสมุนไพรและยาแผนโบราณหลายร้าน สินค้าของแต่ละร้านมีทั้งกิ่งไม้ รากไม้ เห็ดหอมอบแห้ง ปลาดาวแห้ง ไปจนถึงม้าน้ำแห้ง

ที่มาของความเชื่อว่าม้าน้ำเป็นยารักษาโรคน่าจะคล้ายความเชื่อเรื่องดีหมี คนจีน เกาหลี เวียดนาม ไทย ฯลฯ เชื่อว่าการกินดีหมี หรือน้ำดีหมีช่วยให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ว่าโรคเล็กๆ อย่างไอ เจ็บคอ โรคกระเพาะ โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ แต่ความเชื่อนี้ก็เริ่มลดน้อยถอยลงไปด้วยเหตุผลหลายประการ โดยเฉพาะเมื่อซื้อไปกินแล้วเห็นผลไม่ชัด

นอกจากนี้ยังมีการตีแผ่ว่ากว่าจะได้น้ำดีหมีมาแค่ไม่กี่ซีซี ผู้เลี้ยงต้องกักขังหมีควาย ใช้เหล็กปลายแหลมหรือเข็มฉีดยาขยาดใหญ่เสียบเข้าไปที่สีข้าง ดูดเอาน้ำดีออกมาจากช่องท้องขณะหมีควายยังมีชีวิต หมีควายจึงต้องทุกข์ทรมาน จนทำให้ตอนนี้ราคาน้ำดีหมีในเวียดนามตกลงจากอดีตนับสิบเท่า

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ไม่ว่าที่เวียดนาม เมืองจีน หรือเยาวราช ล้วนแต่มีม้าน้ำอบแห้งวางขายอยู่ในถุงใบใหญ่ๆ ทั้งนั้น

seahorse05

ร้านค้าแห่งหนึ่งในเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน วางขายม้าน้ำแห้งอยู่ในถุงสีออกดำกลางภาพ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

๑๐

อนุสัญญาไซเตส (CITES – อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์) มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยใช้กระบวนการควบคุมการค้าระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือ แบ่งบัญชีพันธุ์พืชและสัตว์อนุรักษ์ไว้ ๓ ระดับ คือบัญชีหมายเลข ๑, ๒ และ ๓

ม้าน้ำอยู่ในบัญชีหมายเลข ๒ เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้งจะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆ ในธรรมชาติ

สนนราคาม้าน้ำอาจสูงถึงกิโลกรัมละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้กรมประมงรายงานการว่า ในปี ๒๕๕๖ มีการส่งออกม้าน้ำจำนวน ๑.๒ ตัน ปี ๒๕๕๗ จำนวน ๐.๙๒ ตัน ปี ๒๕๕๘ จำนวน ๐.๙๕ ตัน แต่หลังจากนั้นไซเตสได้จัดให้การส่งออกม้าน้ำของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต้องห่วงใยเร่งด่วน (Urgent Concern) จนกรมประมงต้องงดออกใบอนุญาตส่งออกม้าน้ำเป็นการชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ไซเตสไม่ได้ควบคุมการค้าม้าน้ำในประเทศไทย อีกทั้งม้าน้ำเองก็ไม่ได้มีสถานะเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์คุ้มครองของไทยด้วย

๑๒

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้ที่เดินทางไปเที่ยวตลาดน้ำสี่ภาค เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี นอกจากจะเห็นร้านค้าขายกุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึกสดย่าง ฯลฯ ยังจะพบร้านค้าแห่งหนึ่งขายม้าน้ำเสียบไม้ ราคาไม้ละ ๑๕๐ บาท ต่อ ๑ ตัว ถ้านักท่องเที่ยวต้องการก็จะนำมาย่างให้ นับได้ว่าการวางขายม้าน้ำในลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นหรือไม่เคยปรากฏเป็นข่าวมาก่อนในเมืองไทย ขณะที่คนจีนรู้จักกินม้าน้ำเสียบไม้

เจ้าของร้านให้รายละเอียดว่าเพิ่งนำม้าน้ำมาขายประมาณ ๑ เดือน โดยได้รับคำแนะนำจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่กินม้าน้ำเสียบไม้ จึงสั่งซื้อจากร้านขายยาย่านเยาวราชในราคาตัวละ ๘๐ บาท แต่ก็ไม่ได้ขายดี บางวันก็ขายได้แค่ ๑-๒ ตัว

ขณะที่ผู้บริหารตลาดน้ำสี่ภาคออกมายืนยันว่าตลาดน้ำสี่ภาคเป็นตลาดน้ำที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นบ้าน มีร้านค้ามากกว่า ๕๐๐ ร้าน ตัดสินใจแจ้งยกเลิกสัญญากับแม่ค้าม้าน้ำ เนื่องจากจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้แจ้งกับทางตลาด และสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดี

โดยติดป้ายประกาศ “โครงการขอแจ้งปิดกิจการร้านค้า เนื่องจากตรวจพบการกระทำความผิดกฎระเบียบของโครงการฯ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๑ เป็นต้นไป”

๑๓

สังคมโดยรวมอาจไม่เห็นด้วยกับการนำม้าน้ำมาเสียบไม้กินกลางตลาดน้ำ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมาย

หน่วยงานรัฐของไทยออกมายอมรับว่าม้าน้ำเป็นสัตว์ในบัญชีหมายเลข ๒ ของไซเตส ห้ามนำเข้าและส่งออกนอกประเทศ แต่การจำหน่ายในประเทศไม่มีข้อห้าม

จึงเป็นช่องว่างให้ชาวประมงจับม้าน้ำ ทั้งเจตนา และบังเอิญติดมากับอวนตาถี่ นำมาขายต่อให้กับร้านยาแผนโบราณ ดังที่เราเห็นม้าน้ำแห้งใส่ถุงขายดาษดื่นที่เยาวราช

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ค้าม้าน้ำครั้งนี้สร้างความตื่นตัวและฉุกคิด ว่าอนาคตของม้าน้ำ…สัตว์ทะเลที่น่าทึ่ง แปลกประหลาด และมีเสน่ห์จะเป็นอย่างไรต่อไป
เมื่อกรมประมงออกมาชี้แจงว่ากำลังพิจารณาห้ามทำประมงม้าน้ำเป็นครั้งแรกในไทย เจ้าหน้าที่ภาคส่วนอื่นๆ ก็จะลงไปตรวจสอบแหล่งที่มาที่เยาวราช

เก็บตกจากลงพื้นที่ : สกู๊ป ดีหมี แกะรอยขบวนการค้าสัตว์ป่าที่เวียดนาม นิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๓๔๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗, ซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ๒๗-๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐