ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานเขียนดีเด่น
ชนฐิตา ไกรศรีกุล : เรื่อง
อุษา แก้วธิวัง : ภาพ

ผู้ผ่านร่องรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย จาก “วิมลวรรณ” - “คุณอ้อย” - “สหายหมอก” ถึง “ชญาณิฐ” และจากเดือนตุลาฯ ถึงขณะนี้

“…ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ประเทศกัมพูชา เวียดนาม และลาว เปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้คนไทยบางกลุ่มเกิดความหวาดกลัวว่าประเทศไทยจะตกเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย มีการโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดความเกลียดชังคอมมิวนิสต์และกล่าวหาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ จึงเริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านนักศึกษาและคอมมิวนิสต์ขึ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ใช้เพลงปลุกใจต่างๆ เช่น เราสู้ รักเมืองไทย หนักแผ่นดิน มากระตุ้นให้เกิดความรู้สึกรักชาติและปกป้องชาติจากศัตรู จนเมื่อกลุ่มนิสิตนักศึกษาจัดการชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร มีการกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กองกำลังตำรวจ ทหาร และประชาชนกลุ่มหนึ่งจึงใช้กำลังอาวุธบุกเข้าทำร้ายนักศึกษาจนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก…”

เรื่องราวในแบบเรียน “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ฉบับปี 2558 โดยกรมศิลปากร บันทึกเรื่องของคนเดือนตุลาฯ ไว้ไม่กี่บรรทัด เมื่อเทียบกับบรรยากาศในความทรงจำของคนที่ได้ใช้ชีวิตห้วงหนุ่มสาวสัมผัสคลุกคลีกับเหตุการณ์คุกรุ่นทางการเมือง ยังไม่นับแบบเรียนบางฉบับที่ตัดทอนไม่พูดถึง บางโรงเรียนใช้วิธีสั่งให้นักเรียนไปอ่านค้นคว้ากันเองนอกห้องเรียน แล้วไม่มีการพูดถึงเรื่องราวนี้อีก บางโรงเรียนอาจารย์แทบจะต้องปิดไฟ ปิดไมโครโฟน ล็อกห้องแล้วกระซิบสอน การเรียนรู้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ วันล้อมปราบนักศึกษาของคนยุคหลังเป็นไปอย่างลุ้นระทึก ตื่นเต้นราวกับกำลังฟังคำถ่ายทอดราชการลับ

ชญาณิฐ สุนทรพิธ หรือวิ ที่คนรู้จักเธอสมัยเด็กและวัยกลางคนเรียกตามชื่อเดิม “วิมลวรรณ” ก้มๆ เงยๆ จัดหนังสือจำนวนมากมายที่ใต้ถุนบ้าน ชุดกระโปรงมัดย้อมสีเหลืองไพลยาวระพื้นเป็นภาพชินตาสำหรับคนที่ผ่านไปผ่านมาแถวนั้น แต่ที่ดูจะแปลกตาไปคือเสื้อกันหนาวมีฮู้ดสีเขียวขี้ม้าอย่างทหาร บนอกซ้ายปักตราดาวสีแดง ที่ป้าวิบรรจงแต่งเฟี้ยวทับชุดกระโปรงมาอวด

บนโต๊ะไม้ขนาดเล็กไม่ไกลกันมีหมวกตราดาวแดงเข้าชุดกันวางไว้ เธอมองแล้วหยิบมาสวม เต๊ะท่าเป็นสหายเก่า

“ไม่ใช่ของจริงสมัยอยู่ในป่าหรอก ตอนนั้นใครเขาใส่เสื้อมีฮู้ดกัน นี่ป้ากับเพื่อนทำเทียมขึ้นมาตอนหลัง ตอนที่ไปทำสารคดีย้อนรอยสมัยเข้าป่าเป็นคอมมิวนิสต์”

tthaihistory01

ผู้ผ่านร่องรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย — จะ “คุณอ้อย” – “สหายหมอก” – “วิมลวรรณ” หรือ “ชญานิฐ สุนทรพิธ” ก็หมายถึงหญิงวัย 63 สหายคอมมิวนิสต์ยุค 6 ตุลาฯ ผู้ผ่านร่องรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายยุคสมัย กําลังยืนเด่นโดยท้าทายบนชานบ้านไม้หลังเก่า ข้างกายคือป้ายชื่อเรือนสีแดงเด่นชัดเท่าความทรงจํา “นั่นเพื่อนสหายเขาวาดให้เป็นที่ระลึก” เธอเล่าย้อนวันวาน

tthaihistory02

สวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก : หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ สวนอัญญาในหน้าฝนเขียวชอุ่ม บ้านสวนแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยเป็นสถานที่พักพิงสําหรับนักศึกษานักกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา สวนอัญญาผ่านกาลเวลาจนปัจจุบันอยู่ใต้ความดูแลของมูลนิธิไชยวนา ที่มีป้าวิเป็นกรรมการหญิงเดี่ยว คู่กับสุนัขอีกสองตัว

tthaihistory03

เรื่องราวในกรอบรูป — สวนอัญญาทําหน้าที่เป็นหอสมุดประชาชนที่คอยเก็บบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หลายยุคสมัย ทั้งบรรยากาศที่นาในสมัยนั้น ชนชาติพันธุ์ ครูองุ่นกับละครหุ่นกระบอก และโปสเตอร์สารคดี “สหายศึก” ความพยายามที่ยังไม่เสร็จสิ้นในการบันทึกประวัติศาสตร์คอมมิวนิสต์ภาคประชาชนโดยป้าวิและเพื่อนสหาย

ป้าวิเป็นหญิงร่างเล็กชาวขอนแก่นแต่กำเนิด เกิดเมื่อปี 2498 อยู่อีสานกับครอบครัวได้ 10 ปีก็มีอันต้องย้ายตามอาที่เป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชมาเรียนชั้นประถมฯ และมัธยมฯ ต่อที่กรุงเทพฯ พอจบ มศ.5 ยังไม่ทันจะกลับบ้านให้พ่อแม่หายคิดถึงก็ย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ จากความชอบฟังเพลงฝรั่งสมัยวัยรุ่น

“ตอนนั้นอาเขาต้องส่งเสียหลานหลายคน ส่วนใหญ่ก็เรียนสายอาชีพกัน แต่ป้าไม่ชอบ อยากเรียนมหาวิทยาลัยต่อ แล้วเราชอบเชียงใหม่ อาเขาเลยท้าว่า ‘ถ้าสอบติดเชียงใหม่ฉันก็จะให้เธอมา’ ตอนรู้ว่าสอบติดก็ดีใจใหญ่ เลยได้มาเรียนสมใจ หลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย (หัวเราะ) เพราะเข้าป่าตอนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519”

ป้าวิเล่าว่าเธอเพิ่งมาสนใจการเมืองทีหลัง แต่ชีวิตก็ได้เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ก่อนหน้าที่จะรู้ตัวว่าสนใจเสียอีก

“ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เราเรียนอยู่ มศ.5 ที่กรุงเทพฯ เพื่อนสนิทเขามีรุ่นพี่ที่เรียนธรรมศาสตร์แล้วชวนไปประท้วงจับผู้นำนักศึกษา 13 คน เราก็ไปแบบไม่รู้เรื่องอะไรกับเขาหรอก ถึงจะพอเห็นปัญหาความทุกข์ยากในชนบทอยู่บ้างเพราะเราก็อยู่ชนบท แต่ก็ไม่ได้รู้เยอะ ตอนนั้นยังเด็ก ไม่ได้สนใจการเมืองเลย”

ป้าวิเล่าเหตุการณ์ราวกับย้อนเวลาไปสวมบทบาทตัวเองตอนยังเป็นเด็กวัยอยากรู้อยากเห็น ที่เดินจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าข้ามฝั่งมาธรรมศาสตร์ แล้วแอบมาค้างแรมกินนอนกับพวกนักศึกษาที่มาประท้วงโดยไม่บอกใครถึง 2-3 วัน

“พอวันที่ 13-14 ขบวนเราก็เคลื่อนไปทางบางลำพูจนถึงหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า เราไปกันเยอะก็สนุก ไม่กลัว ไม่ได้มีเวลาหิวหรือคิดถึงบ้านอะไร ฟังเพลงไป ฟังเขาพูดไฮด์ปาร์กไป โทรศัพท์ก็ไม่ได้หาง่ายด้วย เลยไม่ได้บอกใครก่อน พอตอนเช้าที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ประกาศ ‘เราชนะแล้ว’ ป้าค่อยดีใจว่าได้กลับบ้าน”

รถเมล์พาป้าวิกลับบ้านที่ศิริราชอย่างปลอดภัย วันนั้นโดนด่าจนหูชา แต่ที่ชาที่สุดคงจะเป็นเสียงประกาศจากวิทยุว่ามีการยิงกันหลังจากนั้น เมื่อมองจากบ้านพักเห็นคนคลั่งทุบสัญญาณไฟจราจร มีเสียงหวอดังทั่ว ป้าวิในวัยมัธยมฯ ร้องไห้ มองเห็นบ้านเมืองที่เพิ่งประกาศชัยชนะกำลังระส่ำระสาย

“เราเห็นเจ้าหน้าที่ยิงคนที่ศิริราช เพื่อนที่เคยเจอกันในม็อบวันนั้นก็ไม่รู้ใครเป็นอย่างไร ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย เพราะเราต้องรีบมาเรียนต่อ”

ภาพเหตุการณ์ม็อบแรกหายไปจากความทรงจำเมื่อพี่สาวนั่งรถไฟพามาส่งถึงเชียงใหม่ ป้าวิเล่าแม่นตั้งแต่ชื่อหอจนถึงจำนวนรูมเมตราวกับเพิ่งจะรายงานตัวเข้ามหาวิทยาลัยไปไม่นาน ดวงตาใต้แว่นไร้กรอบเลนส์หนาเป็นประกายอย่างมีสุข ร้องเพลงเสียงดังลั่น สั่นเครือเมื่อได้ทวนเพลงเชียร์ประจำคณะพร้อมกับตบมือให้จังหวะ

“เชื่อไหมว่าขนาดผ่านเหตุการณ์อย่างนั้นมา สมัยนั้นเราก็ยังสายลมแสงแดดอยู่ ชอบกลอน ชอบร้องรำทำเพลง เทอมแรกยังสนุก ใส่ฮอตแพนต์สั้นๆ ไปเต้นรับน้องจนมาเจอชมรมวรรณศิลป์ ชมรมอาสา ชมรมริมดอย ได้อ่านมาร์กซ์ สตาลิน เลนิน เราก็เติบโตขึ้นมาจากสายวิจารณ์ถกเถียงทางวรรณกรรม พวกชมรมอื่นก็ก้าวหน้ากันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมากน้อย”

เมื่อเรียนปีที่ 2 ป้าวิก็เข้ากลุ่มผู้หญิง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วจึงเริ่มทำกิจกรรมเต็มตัว กลุ่มผู้หญิงก่อตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2517 พร้อมกับแนวคิดที่ส่งเสริมให้สตรีตื่นตัวถึงสิทธิ บทบาท อำนาจตัวเองทัดเทียมกับชาย ป้าวิเริ่มรู้จักปัญญาชนนักกิจกรรมในรุ่นเดียวกัน เช่น แสงดาว ศรัทธามั่น (ศักดิ์ ไชยดวงสิงห์) และจากการชักชวนของเพื่อนๆ เธอค่อยขยับมาทำโครงงานชาวนาที่กำลังขาดอาสาสมัครทำงานพอดี

“ช่วงนั้นป้าดรอปเรียนเทอม 2 เลย พวกแกนนำก็ฮือฮาว่าไอ้วิมันมาแรงเว้ย (หัวเราะ) พวกกำนันก็ไว้ใจให้เราทำงาน ไปทำเป็นเดือนๆ เพื่อนก็แซวเป็นคำเมืองว่ายัยวิมันดำคี้ลี้”

ช่วงที่ทำงานสู่สังคม ป้าวิเล่าว่าจากเด็กบ้านนอกขี้อายก็เริ่มจับไมค์ปลุกเร้ามวลชนได้ ป้าเล่ากลั้วหัวเราะลงลูกคอถึงครั้งหนึ่งที่เคยไปเรียกร้องขอค่าแรงกรรมกรกับเพื่อนๆ จนโดนตำรวจเอาสายยางฉีดน้ำไล่

เธอเล่าว่าบรรยากาศของสังคมยุคนั้นปลุกเร้าให้นักศึกษาแสดงพลังเพื่อชาวบ้าน บางคนดรอปเรียนเพื่อทำงาน บางคนเรียนแล้วเรียนอีกจนมหาวิทยาลัยจะไม่ให้เรียนเพราะมัวแต่ทำกิจกรรม อาจารย์ก็เข้าใจและพยายามช่วยให้เรียนจบๆ

“สมัยนั้นนักศึกษาเป็นพระเอกนางเอก พอเข้า 6 ตุลาฯ กลายเป็นผู้ร้ายเลย” (หัวเราะ)

ป้าวิเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในช่วงที่ความคิดแบบสังคมนิยมที่เคยเป็นเรื่องต้องห้ามในยุคก่อน 14 ตุลาฯ เบ่งบานในหมู่นักศึกษา แต่แนวคิดแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยในสมัยเผชิญกับยุคสงครามเย็นระหว่างสองขั้วการเมืองเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก และไม่ชอบใจเอาเสียเลยที่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์กลายมาเป็นอุดมการณ์ของขบวนนักศึกษาหัวขบถ ผู้รวมตัวกันวิพากษ์วิเคราะห์ไปถึงแก่นของสังคมชนชั้น “ศักดินาไทย” อันฟอนเฟะ และต่อต้านการเอาเปรียบขูดรีดประชาชนโดย “ผู้ที่มีชนชั้นเหนือกว่า”

วันที่ 5 ตุลาคม 2519 หนึ่งวันก่อนเหตุการณ์นองเลือดในธรรมศาสตร์ นักศึกษาภาคเหนือรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อชุมนุมขับไล่พระถนอม เช่นเดียวกับนักศึกษาจากสถาบันอื่นๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากพระถนอม หรือจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตผู้นำในยุคเผด็จการทหารที่ประชาชนเคยรวมตัวขับไล่เมื่อครั้ง 14 ตุลาฯ จนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ เมื่อจอมพลถนอมกลับมาอีกครั้งแม้จะอ้างว่าเพื่อเยี่ยมไข้บิดาที่ป่วยและไม่มีเจตนายุ่งการเมือง ก็ไม่สามารถทัดทานกระแสต่อต้านจากนักศึกษาโดยมากได้

น่าเสียดายที่ครั้งนี้ไม่เหมือน 3 ปีก่อน กระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ถูกขบวนการการเมืองฝ่ายขวาจุดติดจนร้อน สมัยนั้นมีการจัดตั้งกันอย่างลับๆ ให้นักศึกษาบางคนเข้ากลุ่มเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว เรียกว่าการ “จัดตั้ง” ปรากฏว่ามีการติดต่อกันผ่านสายจัดตั้งเพื่อส่งข่าวการยิงปราบผู้ชุมนุมที่กรุงเทพฯ ทำให้กลุ่มที่เชียงใหม่ต้องสลายตัวตามโดยเฉพาะคนที่ถูกจัดตั้งให้เป็นคอมมิวนิสต์

เช้าตรู่ของวันที่ 6 ป้าวิรีบเดินทางออกจากศาลากลางฯ เก็บสมบัติลวกๆ ไม่กี่ชิ้น แล้วมุ่งหน้าไปจังหวัดลำปางเพื่อส่งสัญญาณเตือนต่อไปยังกลุ่มชาวนาที่อำเภอห้างฉัตรและอำเภอเสริมงาม

“ป้าก็หลบกลับหอมาเก็บของอย่างเร็ว ตอนนั้นชอบถ่ายรูป โถ รูปสักใบก็ไม่ทันได้เก็บ หนังสือก็ได้ไม่กี่เล่ม”

กระแสโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ทำให้พี่สาวที่ป้าวิเคยฝากหนังสือฝ่ายซ้ายบางเล่มไว้ต้องโยนทิ้งหมดเพราะกลัวถูกจับ ชาวนาที่ทำงานร่วมกับกลุ่มป้าก็หวาดกลัวทั้งที่ทำงานร่วมกับนักศึกษา แต่เพราะสมัยนั้นยังเป็นการช่วยเหลือในฐานะกลุ่มนักศึกษา ไม่มีใครแสดงตัวว่าเข้าหาชาวบ้านในฐานะคอมมิวนิสต์

“จะหนีเข้าป่าก็เจอด่านที่ห้างฉัตร ตอนนั้นใครใส่แว่นดำเขาเหมาว่าเป็นนักศึกษาหมด โดนจับแน่” ถึงตอนนี้ป้ายิ้ม เล่าเสียงเบาอย่างระทึก “พวกป้าก็ถอดแว่น แกล้งทำเป็นคู่รักกัน ป้ากอดเอวเพื่อนชื่อเดชา โชคดีว่าเขาเชื่อเลยรอดมาได้”

ป้าวิเล่าว่าตอนที่เข้าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใหม่ๆ กลับสนุกที่ได้ทำงานใต้ดินราวกับที่เคยดูจากในหนัง ยิ่งได้เข้าป่าก็สนุก คอมมิวนิสต์ที่คนยุคนั้นหวาดกลัวว่าเป็นนักโค่นล้มเป็นภัยสังคมทำลายชาติ ป้าวิอ่านหลักการแล้วแย้งว่าเข้าท่าดี

“เราก็ไม่เห็นว่ามันเลวร้าย เขาพูดเรื่องความเท่าเทียมเสมอภาค แม้แต่มือปืนที่ห้างฉัตรเขาก็ชอบ ฟังแล้วเข้ามาเป็นพวกเราเฉยเลย เพราะพวกนี้คือคนที่โดนกดขี่มาก่อน แต่บางทีเขาก็เป็นขาลุยใช้กำลังนำ จะยิงอย่างเดียว ก็ต้องวิจารณ์ตักเตือนกัน”

เมื่อได้ยินเสียงเป็นสำเนียงใต้จากสหายว่าถึงที่หมายที่นัดแนะกันไว้ ป้าวิก็หลบเข้าป่าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในป่าป้าวิต้องเปลี่ยนชื่อเรียกเพื่อป้องกันการถูกสืบสาวไปยังคนอื่นในกรณีที่ถูกทางการจับได้ ชื่อ “คุณอ้อย” จึงเป็นนามแฝงที่ได้มาเพราะความชอบกินชอบแทะอ้อยในไร่ จากนั้นก็ถูกพรรคเรียกตัวมาช่วยงานที่เชียงใหม่ เพราะเห็นว่าเคยเรียนในพื้นที่มาก่อน จาก “คุณอ้อย” ก็เป็น “สหายหมอก” เพราะต้องเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามกันทุกครั้งที่ย้ายถิ่น

ราวปี 2523 เป็นปีที่เกิดวิกฤตทางความคิดภายในพรรค นักศึกษาฝ่ายซ้ายบางกลุ่มเสียศรัทธาหลังไม่เห็นวี่แววว่าจะชนะ ประกอบกับรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 66/23 เรียกให้คอมมิวนิสต์ในป่ากลับบ้านโดยไม่เอาความ สมาชิกพรรคหลายคนจึงหายหน้าหายตาไปจากวงฝึกวินัยทหาร และกลุ่มปลูกพืชผักเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพในป่า

“ตอนนั้นป้ายังไม่กลับ แต่ออกมาเพราะท้องตอนปลายปี 2524” ป้าวิเผยวีรกรรมรักด้วยรอยยิ้มย่นตรงมุมปาก แว่นหนายิ่งเสริมเลศนัยยามได้เล่าความเฟี้ยวสมัยสาวให้ฟัง “ป้ามาขยายงานที่ลำปาง แล้วได้เขาย้ายมาช่วยพอดี เขาชื่อสหายบุษบา เราก็อุตส่าห์ดีใจว่าจะได้สหายหญิงมาช่วยงาน ไปยืนรอบนสันเขา ไหนล่ะสหายฉัน หัวหน้าเขาก็บอกว่านี่ไง ตัวสูง หน้าตาดี ขนหน้าแข้งก็…โอ้โฮ”

tthaihistory04

เปิดกรุภาพเก่า — รูปถ่ายครอบครัวพร้อมหน้าครั้งแรกในรอบหลายปี หลังจากป้าวิต้องพลัดจากบ้านที่ขอนแก่นไปตามเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ยุค 14 ตุลาฯ 2516

tthaihistory05

อัลบัมสหายศึก — ภาพในวันสําเร็จการศึกษาที่ป้าวิเล่าว่าความเป็นคอมมิวนิสต์ทําให้ “ไม่อิน” กับการรับปริญญามากเท่าบัณฑิตคนอื่น แต่ก็ต้องตามใจญาติเพื่อให้มีรูปไว้เป็นที่ระลึก ด้านซ้ายคือสหายบุษบา คู่ใจในป่า ด้านขวาคือครอบครัวและลูกสาวที่กระเตงกันไปร่วมยินดี

tthaihistory06

ดาวแดงรําลึก — “ตอนอยู่ป่าไม่มีรูป ตอนที่เข้าป่าจริงๆ ตากล้องเขาไปเขตอื่นพอดี” ภาพหญิงวัยกลางคนตัวเล็กในเครื่องแบบคอมมิวนิสต์ห้าวหาญ จําลองมาจากของจริงในวันเดินขบวนรําลึกเหตุการณ์ คราวนี้ได้ถ่ายรูปสนุกสมใจ

กระแสต่อสู้ซบเซาไป กระแสความรักก็มา เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์อ่อนอำนาจ กฎ “สามช้า” อันประกอบด้วย คนไม่มีคู่ให้รอไปก่อนอย่าเพิ่งรีบหา คนมีคู่ให้รอไปก่อนอย่าเพิ่งรีบแต่ง และคนแต่งแล้วก็ให้รอก่อนอย่าเพิ่งมีลูก ก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง ใครที่รักกันมานานก็จะได้แต่งในช่วงนั้น พิธีแต่งในป่าเรียบง่าย มีเพียงการคล้องมาลัย ผูกข้อไม้ข้อมือ แล้วต้มเหล้าเถื่อนกินเลี้ยงกันในชุดม่อฮ่อม หรือบางเขตก็ฉลองทั้งที่ใส่เครื่องแบบทหารจีน ล้มหมูมากินแกล้มอีกสักตัวหนึ่ง

“ช่วงนั้นมีคู่รักที่เขาคบกันมา 20 ปีจะแต่งงาน เราคบกันได้ 4-5 เดือนก็จะไปขอแต่งด้วย จัดครั้งเดียวกันนี่แหละ ประหยัดดี”

ป้าวิหลบออกมาคลอดลูกที่ลำปางได้พักหนึ่งก็กลับมามอบตัวเพื่อเรียนต่อ บรรยากาศสมัยเรียนสนุกสนาน ห้อมล้อมไปด้วยนักศึกษาที่อยากรู้อยากเห็นถึงประสบการณ์สมัย “เข้าป่า” ส่วนตอนรับปริญญาป้าวิกระเตงลูกมาด้วย เธอเล่าว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ได้เห็นหน้าครอบครัวอีกครั้ง

“พอเราออกมา บางทีก็ลืม เขาเรียกว่าลืมสังคมเก่า จำสิ่งที่รัฐบาลยุคเก่าเขาโฆษณาไม่ได้ ยังพูดจาด้วยภาษาซ้ายอยู่ คุณอย่างนั้น ผมอย่างนี้ กว่าจะปรับมาพูดภาษาชาวบ้านปรกติได้ก็ตั้งนาน”

ป้าวิยิ้มตาหยี พักเหนื่อยจากการย้อนวันวานในห้วงสำนึก พลางหยิบกระบอกโลหะเล็กๆ อุปกรณ์ยังชีพสมัยอยู่ในป่า ใช้สำหรับใส่น้ำและข้าวในกระบอกเดียวกันมาอวด ด้านในถูกสนิมกินจนใช้ไม่ได้ แต่จากนิ้วมือที่ค่อยลูบไปตามผิวสีเงินด้านนอก การใช้งานของมันกลับมีประสิทธิภาพในความทรงจำ

“ออกจากป่ามาทำร้านหนังสือ มาทำงานเอ็นจีโอ เหตุการณ์หลังๆ เราก็ยังทันเห็นอยู่ อย่างม็อบมือถือ ม็อบเหลืองแดง ชิงเขาพระวิหาร ยังเคยรวมเงินไปช่วยวีวอล์กวีแว้กอะไรนั่นอยู่เลย ล่าสุดก็ม็อบป่าแหว่ง ทวงคืนผืนป่าดอยสุเทพ เพราะเราอยู่กลุ่มรักดอยสุเทพ บางอย่างเราได้เห็นแต่ไม่ได้เข้าร่วม บางอย่างบางม็อบที่มีนักศึกษาเราก็ให้กำลังใจ แต่ไม่ไปแล้ว เขาจะหาว่าเราเป็นเบื้องหลัง เพราะเราเป็นซ้ายเก่า เป็นแดงคอมมิวนิสต์ที่มีประวัติ”

ป้าวิคนเดิมที่เคยเฟี้ยวซ่าในยุคเดือนตุลาฯ จางไปในกาลเวลา ส่วนคนที่นั่งบนเก้าอี้ไม้เก่าใต้ถุนเรือน “เฮือนสหายศึก” ตอนนี้เป็นป้าวิคนปัจจุบันที่ลดบทบาททางการเมืองมาเป็นผู้เฝ้าดู แต่ยังคงจิตวิญญาณและความตื่นตัวด้วยการขวนขวายอ่านหนังสือต่างๆ อยู่เสมอ ที่เก็บสะสมจนกองเป็นพะเนินอยู่เต็มชั้นมีทั้งนิตยสารวัยรุ่นของลูกสาวและหนังสือการเมืองฝ่ายซ้ายของตัวเอง วางสลับกับคำประกาศของคณะราษฎร รูปถ่าย และคำกวีที่ป้าวิและเพื่อนๆ เขียนแล้วเก็บใส่กรอบไว้อย่างไม่เป็นระเบียบนัก บนโต๊ะมีขวดเหล้าเปล่าที่เคยรินกินกับสหายที่แวะเวียนมาเยี่ยม ริบบิ้นเขียวปลิวลมไสวเป็นหลักฐานของเหตุการณ์ต้านป่าแหว่งครั้งล่าสุดที่ป้าวิไปร่วมชุมนุมมา

“สมัยนี้ชาวบ้านสนใจการเมืองมากขึ้น ยุคป้าวิต้องแอบทำแอบศึกษา แต่ยุคนี้คนสนใจจะเลือกพรรคการเมืองให้ตัวเอง อันนี้สิใช้ได้”

ป้าวิผละไปเก็บมะนาวที่ออกผลดกในสวนอัญญา มูลนิธิของครูองุ่น มาลิก อดีตครูของนักกิจกรรมภาคเหนือหลายต่อหลายรุ่น ฤดูฝนทิ้งหยาดน้ำเป็นหย่อมหยดให้ดินชื้นแฉะ มีทั้งใบ ฝัก และกิ่งมะขามแก่ที่ร่วงเพราะทานแรงโน้มถ่วงไม่ไหว กับมะขามอ่อนที่แทงยอดผ่านเมล็ดพ้นดินออกมาเป็นสีเขียวอ่อนสลอน

“เราเคยพยายามจะทำบันทึกการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนภาคเหนือกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เป็นสารคดีที่พวกเราบันทึกกันเอง ทำกับพี่แซม สิทธิพงษ์ กัลยาณี แต่ก็ไม่สำเร็จ” ป้าวิเล่าถึงความตั้งใจที่เคยวางแผนไว้กับเพื่อนเก่า จนเมื่อเพื่อนเสียชีวิตไปแล้วก็ยังไม่ได้ทำ “ถ้าอยากให้คนอื่นบันทึกถึงคอมมิวนิสต์ บันทึกถึง 6 ตุลาฯ อย่างไร ก็ขอให้บันทึกตามความเป็นจริง เราก็พอใจแล้ว เขียนให้เห็นถึงบริบทว่าทำไมถึงเกิดอย่างนี้ เขียนตามที่เป็นจริง ให้มีเรื่องไว้ถกเถียงกันเถอะ สนุกจะตาย”

ป้าวิ นักผจญม็อบการเมืองและอดีตสหายฝ่ายแดง ทิ้งท้ายด้วยเสียงหัวเราะเบาๆ

 

tthaihistory07

อดีตในปัจจุบัน — หนังสือเล่มปัจจุบันที่ป้าวิหยิบมาอ่านแต่ยังไม่จบ เนื้อหายังคงเกี่ยวกับการปฏิวัติรัสเซียและการเมืองฝ่ายซ้าย-ขวา ไม่ต่างจากสมัยตั้งวงอ่านวรรณกรรม กิจกรรมฮิตในชมรมสมัยเรียน

เกิดอะไรขึ้นใน 14 ตุลาฯ

ในเดือนเมษายนของปี 2516 สมัยนั้นไทยตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสุจริตของรัฐบาลหลังพบซากสัตว์ป่าในเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกที่ตกบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร นำไปสู่การเรียกร้องให้ลงโทษผู้ล่าสัตว์ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดกับรัฐบาล และวิจารณ์การสืบทอดอำนาจของจอมพลถนอมและจอมพลประภาส จารุเสถียร นักศึกษา ม.รามคำแหงเก้าคนถูกลบชื่อเพราะตีพิมพ์หนังสือเสียดสีรัฐบาล จนศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ต้องเดินขบวนประท้วงและเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในครึ่งปี

วันที่ 7-8 ตุลาคม กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 11 คน รวมทั้งนักศึกษา ม.รามคำแหง และอดีต ส.ส.นครพนม เป็น 13 คน ถูกจับในข้อหากบฏ นิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันลงชื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว “13 กบฏรัฐธรรมนูญ” อย่างไม่มีเงื่อนไข ก่อนจะชุมนุมกันเพื่อกดดันรัฐบาลในวันที่ 9 จนวันที่ 13 ยังไม่มีการตอบรับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตัวแทนฝั่งผู้ชุมนุมจึงสั่งเคลื่อนย้ายมวลชน

คืนวันที่ 13 การเจรจาสำเร็จ แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักต่อถึงเช้าวันที่ 14วินาทีที่ดีใจเมื่อรู้ข่าวและกำลังสลายมวลชน รัฐบาลกลับใช้กำลังปราบปรามโดยอ้างความสงบเรียบร้อย การจลาจลลุกลามบานปลาย กระทั่ง “ถนอม ประภาส และณรงค์” ตัดสินใจลาออกแล้วหนีไปยังต่างประเทศ เหตุการณ์จึงสงบลง มีผู้บันทึกไว้ว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 77 ราย และบาดเจ็บอีกมาก

ผู้ผ่านร่องรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย จาก “วิมลวรรณ” - “คุณอ้อย” - “สหายหมอก” ถึง “ชญาณิฐ” และจากเดือนตุลาฯ ถึงขณะนี้

ความสุขในปัจจุบัน  — ป้าวิยิ้มกว้างให้กับเรื่องที่เล่าจบลง จากแววตาและรอยยิ้มทําให้เห็นหัวใจที่เยาว์วัยของนักผจญม็อบการเมือง ผู้มองวิกฤตเป็นเรื่องสนุกได้เก่งที่สุดคนหนึ่ง

จาก 14 ตุลาฯ ถึง 6 ตุลาฯ

มีกระแสกล่าวหาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ “ทำลายชาติ โค่นราชบัลลังก์” ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ แม้แต่เสกสรรค์ ผู้นำการเคลื่อนมวลชนประท้วงรัฐบาลในครั้งนั้นก็ถูกติดป้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทำลายชาติ (แม้จะมีหลักฐานรูปถ่ายว่าผู้ชุมนุมบางส่วนโบกธงชาติ และถือพระบรมฉายาลักษณ์ในลักษณะเคารพ) อย่างไรก็ตามความคิดแบบฝ่ายซ้ายสังคมนิคมเป็นที่พูดถึงมากในหมู่นักศึกษาจริง เนื้อหาแนวคิดที่พูดถึงการโค่นล้มทำลายผู้กดขี่ประชาชนทำให้บรรดาชนชั้นผู้ปกครองและนายทุนกลัวว่าตนจะเสียผลประโยชน์ จึงมีการโฆษณาว่านักศึกษาที่เป็นคอมมิวนิสต์ขายชาติบ้าง ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์บ้าง การกล่าวหาคนโน้นคนนี้ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งที่จริงบ้างเทียมบ้าง นำไปสู่การปลุกกระแสเกลียดชังนักศึกษาโดยรวมเพื่อชิงกระแสนิยมคืนมา

19 กันยายน 2519 จอมพลถนอมเดินทางกลับเข้าประเทศแล้วบวชเป็นพระอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ โดยอ้างว่าเพื่อเยี่ยมบิดาที่ป่วย วิทยุยานเกราะขู่จะสังหารนักศึกษาที่ก่อความวุ่นวาย แต่ก็ไม่อาจห้ามการชุมนุมประท้วงในหลายพื้นที่ได้ กลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์แสดงละครฉากพนักงานการไฟฟ้านครปฐมที่ถูกตำรวจซ้อมจนเสียชีวิตแล้วนำศพไปแขวนคอเพราะติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม ทุกการชุมนุมประท้วงถูกกลุ่มฝ่ายขวา เช่น รัฐบาล กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล ก่อกวนและประโคมข่าวเป็นระยะว่านักศึกษาผู้ต่อต้านเป็นคอมมิวนิสต์ทำลายชาติ

ชนวนสุดท้ายก่อนนองเลือดเกิดขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์ดาวสยามพาดหัวข่าวว่านักศึกษาที่เล่นละครจำลองเหตุการณ์ถูกแขวนคอมีใบหน้าเหมือนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ (พระอิสริยยศในสมัยนั้น) และนักศึกษาจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามแผนของกลุ่มคอมมิวนิสต์ กลุ่มฝ่ายขวาฉวยโอกาสปลุกระดมประชาชนที่โกรธแค้นให้สังหารนักศึกษาที่ชุมนุมขับไล่พระถนอมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่ต่อมาภายหลังพบว่าคนไทยส่วนหนึ่งจำไม่ได้ ไม่รู้จัก และปรากฏน้อยครั้งในแบบเรียนประวัติศาสตร์

ขอบคุณข้อมูลจาก

 


chontitaชนฐิตา ไกรศรีกุล
นักเรียนเขียนข่าวหลักสูตรควบการสื่อสารมวลชน-เศรษฐศาสตร์ แต่ชักจะตกหลุมรักปรัชญาและสังคมวิทยา สนใจงานเขียนสะท้อนประเด็นทางสังคมและการเมือง มีเป้าหมายระยะสั้นในช่วงนี้ว่าต้องอ่านหนังสือที่ซื้อมาตุนไว้ให้จบสักเล่มหนึ่ง

………..

usaอุษา แก้วธิวัง
เพราะชีวิตมีความฝันเป็นเดิมพัน — สาค่ะ จากแม่ฮ่องสอนเมืองหุบเขา เดินทางเก็บเกี่ยวประสบการณ์ พร้อมบันทึกเรื่องราวธรรมชาติ ผู้คน ด้วยชัตเตอร์ความทรงจำเล็กๆ ณ ค่ายสารคดี ดึงตัวตนลึกๆของเราที่แอบเก็บไว้ ให้เราแสดงมันออกมา แสดงผลงานความทรงจำให้เป็น world wide