ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


เรื่อง / ภาพ : พญ. ศรัณยา ศรีวราสาสน์

โอกาสชีวิตของเด็กดอยกับหมอจบใหม่

หกโมงเช้าของวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

ยังไม่ทันพ้นเสียงไก่ขันในหุบแม่ต้าน ทีมการแพทย์ทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลชาวปกาเกอะญอผู้เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เตรียมเดินทางจาก โรงพยาบาลท่าสองยาง สู่โรงเรียนแม่เหว่ยศึกษา หมู่บ้านกะเหรี่ยงบนยอดดอยอันห่างไกลและโดดเดี่ยวของอำเภอ

สภาพเส้นทางถนนสายหลัก ๑๐๕ อันคดเคี้ยวเลี้ยวเป็นแนวยาวตามไหล่เขาจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขึ้นเหนือสู่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชวนให้เมารถจวนอาเจียน

“โธ่! หมอ นี่ยังแค่ทางราบตามไหล่เขานะ”

ผู้ช่วยชาวปกาเกอะญอสัพยอกก่อนส่งยาดมให้

พวกเราเพิ่งผ่านมาครึ่งทาง ถนนทุรกันดารและแคบชันรออยู่บนดอยสูง ป้ายบอกทางไปน้ำตกแม่เหว่ยเป็นจุดเลี้ยวซ้ายหักศอกขึ้นสู่ทางดินลูกรัง ถนนกว้างพอให้รถสัญจรได้เพียงคันเดียว ระหว่างทางเป็นหย่อมบ้านหลังสีน้ำตาลของชาวกะเหรี่ยงซุกตามผืนป่าสีเขียวสด รถโฟร์วีลของพวกเรายังคงไต่เขาสูงชันอย่างช้าๆ กระทั่งเวลาผ่านไปเกือบสองชั่วโมงครึ่งจึงเริ่มเห็นสายน้ำตกอยู่ไกลๆ จากยอดเขาฝั่งตรงข้ามเส้นทางดินลูกรัง เป็นสัญญาณบอกว่าถึงแม่เหว่ยแล้ว

ครั้นแวะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยนำทางสู่โรงเรียนแม่เหว่ยศึกษา ก็ต้องตกใจเมื่อรู้ว่าสายน้ำแม่เหว่ยตัดขาดโรงเรียนและชุมชนของที่นี่

“ขับลุยน้ำไปเลยครับ น้ำช่วงนี้ตื้นและไม่เชี่ยวแล้ว”

เมื่อคนท้องถิ่นยืนยัน พนักงานขับรถของเราจึงค่อยๆ ลุย “ลำน้ำแม่เหว่ย” สายน้ำหลักที่ไหลพาดกลางหมู่บ้านเข้าสู่เขตโรงเรียนอย่างปลอดภัย

mordekdoi02

mordekdoi03

mordekdoi04

“ทุกคนนั่งให้เรียบร้อย นักเรียนทำความเคารพ”

หัวหน้าห้องชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ กล่าวเมื่อฉันยื่นหน้าเข้าไปในห้องเรียนบนอาคารไม้สองชั้น

เด็กดอยสภาพมอมแมมแต้มรอยยิ้มใสซื่อรีบรุดมาเข้าแถวเพื่อรับโอกาสตรวจประเมินการมองเห็นของดวงตาอย่างใจจดใจจ่อ บางคนใส่ชุดนักเรียนที่ได้รับบริจาค บางคนยังคงสวมชุดชาติพันธุ์มาเรียน

ทีมแพทย์ช่วยกันติดกระดาษตรวจระดับสายตาห่างจากเด็ก ๖ ฟุต เด็กที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยและอ่านตัวเลขด้วยการตรวจ Snellen chart จะไปเข้าแถวตรวจวัดด้วย E chart แทนโดยให้เด็กทำมือเลียนแบบตามทิศของตัว E เพื่อตรวจว่ามองเห็นได้ชัดที่ระดับไหน

“เด็กคนนี้อ่านไม่ได้สักบรรทัดเลย”

เจ้าหน้าที่วัดสายตาเล่าถึงเด็กชายต่อ นักเรียนชั้นประถมปีที่ ๓ ผู้มีแผลเป็นบนใบหน้าจากการถูกไฟไหม้ แล้วพาเด็กชายขยับใกล้ E chart เรื่อยๆ

จาก ๖ ฟุต เป็น ๕…๔…๓…๒…๑ จนถึงการนับนิ้วและการส่องไฟบอกทิศทางของแสง

“น้องต่อโดนไฟไหม้ทั้งตัวมาปีกว่าแล้วค่ะหมอ”

ครูประจำชั้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่องรอยไฟไหม้ที่ปรากฏทั่วตัวและแผลดึงรั้งของไฟไหม้ครั้งนั้นยังคงทำให้เปลือกตาของเด็กชายปิดไม่สนิท ส่งผลต่อภาวะตาแห้งและกระจกตาเป็นแผลถึงวันนี้

“เดี๋ยวทางโรงพยาบาลจะติดต่อคุณหมอด้านดวงตาให้เพื่อวางแผนวิธีรักษาในอนาคตนะคะ ถ้าปล่อยไว้แบบนี้จะส่งผลต่อการเรียนค่ะ เพราะตอนนี้เด็กมองกระดานไม่เห็นแล้ว”

สิ้นคำฉัน คุณครูพยักหน้าอย่างเข้าใจ และอาสาจะติดต่อรถโรงเรียนให้ไปส่งเด็กชายที่โรงพยาบาลท่าสองยางพร้อมช่วยแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบ

นึกถึงเมื่อเช้า ตอนจำเป็นต้องลุกจากที่นอน ฉันมีคำถามในใจว่าทำไมต้องตื่นแต่ไก่โห่เพื่อเดินทางมาสถานที่แสนไกล ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับโอกาสชีวิตใหม่ของเด็กหนึ่งคน

และเป็นโอกาสให้หมอจบใหม่-ใช้ทุนในชนบทอย่างฉันได้เรียนรู้รสชีวิตที่อาจหาไม่ได้อีกในอนาคตหากได้ทำงานประจำอยู่กรุงเทพฯ

กระเป๋าตรวจคนไข้ใบสุดท้ายจัดเก็บใส่รถเรียบร้อย ฉันพร้อมออกเดินทางอีกครั้ง


sarunyaแพทย์หญิงศรัณยา ศรีวราสาสน์
หลังจบการศึกษาจากแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากสวมเสื้อกาวน์ประกอบอาชีพที่รักในโรงพยาบาลทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ยังสนุกกับการเขียนหนังสือ เคยมีผลงาน “โอ้วเอ๋ว…อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เผยแพร่กับนิตยสาร สารคดี เมื่อปี ๒๕๕๙ และบทความ “เสียงเพรียกแห่งพงไพร” เคยได้รับรางวัลกำลังใจ จากแพทยสภา ในปี ๒๕๖๑

…….

nadoi02สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน