ชื่อจริงและชื่อเล่น (๘)
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
“พระไอยการบานผแนก” เป็นหนึ่งในกฎหมายเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ถูกนำมารวบรวมไว้ใน “กฎหมายตราสามดวง” ยุคต้นกรุงเทพฯ กฎหมายฉบับนี้ตั้งศักราชไว้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง สาระสำคัญคือ “บานแผนก” ว่าด้วยการแบ่งลูกๆ ตามสังกัดไพร่ของพ่อแม่ ว่าต้องแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างไรบ้าง
ข้อมูลสำคัญจากกฎหมายฉบับนี้คือคำเรียกลูกชายและหญิงตามลำดับเรียงพี่เรียงน้อง ได้แก่
ลูกชายคนโต อ้าย คนที่ ๒ ญี่ (ยี่) / คนที่ ๓ สาม / คนที่ ๔ ไส / คนที่ ๕ งัว(งั่ว) / คนที่ ๖ ลก / คนที่ ๗ เจด(เจ็ด) / คนที่ ๘ แปด / คนที่ ๙ เจา / คนที่ ๑๐ จง / คนที่ ๑๑ นิง / คนที่ ๑๒ สอง
ส่วนลูกสาวคนโตคือ เอื้อย / คนที่ ๒ อี่ / คนที่ ๓ อาม / คนที่ ๔ ไอ / คนที่ ๕ อัว / คนที่ ๖ อก / คนที่ ๗ เอก / คนที่ ๘ แอก / คนที่ ๙ เอา / คนที่ ๑๐ อัง
ชื่อทั้งชุดนี้ที่ได้จากพระไอยการ เชื่อว่าคงเป็นการระบุ “เผื่อไว้” มากกว่า เพราะผู้หญิงที่มีลูกได้ถึง ๒๒ คน (หรือเกือบเท่าทีมฟุตบอลสองทีม) จากท้องเดียวกัน คงมีไม่มากนัก
หลักฐานที่ว่าเคยมีการเรียกขานลำดับพี่น้องแบบนี้ประกอบกับ “ชื่อ” จริงๆ ปรากฏเค้าเงื่อนในเอกสารโบราณหลายที่ ดังที่พงศาวดารสมัยอยุธยาตอนต้นเล่าว่าหลังจากสมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคตในปี ๑๙๖๗ พระโอรสสองพระองค์ ได้แก่เจ้าอ้ายกับเจ้ายี่ เกิดวิวาทชิงราชสมบัติกันขึ้น เหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นศึกกลางเมือง ผลสุดท้ายเจ้าอ้ายเจ้ายี่ชนช้างกระทำยุทธหัตถีกันที่สะพานป่าถ่าน สิ้นพระชนม์คาคอช้างทั้งคู่ ราชสมบัติจึงลอยตกมาอยู่แก่เจ้าสาม พระอนุชาลำดับที่ ๓ ผู้ทรงมีนามรัชกาลต่อมาว่า “เจ้าสามพระยา”
ส่วนลำดับพี่น้องถัดไปจาก ๑-๒-๓ ก็มีให้เห็นร่องรอยจากหลักฐานประวัติศาสตร์อื่นๆ อีก เช่น
ไส ลูกชายอันดับ ๔ มีอยู่ในนาม “พนมไสดำ” หรือ “พ่อนมไสดำ” ขุนนางคนสำคัญของพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งมีนามบันทึกอยู่ใน “จารึกวัดช้างล้อม” ปี ๑๙๒๗
ส่วน งั่ว ลูกชายคนที่ ๕ มีตัวอย่างเช่นขุนหลวงพะงั่ว หรือพ่องั่ว กษัตริย์อยุธยาตอนต้น และพญางั่วนำถม บุรพกษัตริย์สุโขทัย เป็นต้น
ประเพณีการมีคำเรียกเฉพาะสำหรับลำดับพี่น้องทำนองนี้ยังหลงเหลือในคนพูดภาษาตระกูลไตกลุ่มอื่นๆ ด้วย ส่วนในภาคกลางคงสาบสูญไปหลายร้อยปีแล้ว เหลือตกค้างเพียงบางคำ เช่น “พี่เอื้อย” ซึ่งความหมายเลื่อนไป มิได้หมายถึงพี่สาวคนโต แต่กลายเป็นสำนวนหมายถึง “ลูกพี่” หรือ “พี่ใหญ่” แทน และใช้ได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย