More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


ปั๊มน้ำมัน - ที่เติมเต็ม พิงพักของรักที่ไม่มีวันเป็นจริงชื่อของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เป็นที่รู้จักในฐานะเพศที่สามที่วนเวียนทำงานในวงการบันเทิงทั้งในฐานะนักแสดง ผู้เขียนบท ผู้ช่วยผู้กำกับ และผู้กำกับมายาวนานตั้งแต่เริ่มทำหนังสั้น แสดงละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ไทย หากชื่อของเธอได้รับการโจษจันในวงกว้างจริงๆ เมื่อปี พ.ศ.2553 จาก Insect in The Backyard ผลงานกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ห้ามฉาย ด้วยเหตุผลว่ามีฉากที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ทำให้หนังกลายเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ถูกห้ามฉายหลังจากพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พุทธศักราช 2551 ภายหลังได้ยื่นเรื่องไปยังศาลปกครอง และมีผลการตัดสินในปี 2558 ซึ่งแม้หนังต้นฉบับจะยังคงห้ามฉายเช่นเดิม แต่ก็ได้รับคำแนะนำให้ตัดแก้บางฉากออกเพื่อให้สามารถออกฉายได้ จนตัวหนังได้ออกฉายอีกครั้งในปี 2560

ระหว่างนั้นธัญญ์วารินยังทำงานต่อเนื่องไม่ขาด แม้ไม่ได้ทำหนังที่มีประเด็นอื้อฉาวเช่นเดิมอีก แต่ท่ามกลางเนื้อหาที่ดูกระจัดกระจายหลายเรื่องเป็นงานขายผู้ชมวงกว้าง และทำตามโจทย์จากผู้สร้างมาอีกที กลับสะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการเล่าเรื่องราวความรักยุคสมัยใหม่ ที่แสดงให้เห็นทั้งความเลื่อนไหลทางเพศทั้งชายและหญิง ภาพของเพศที่สามที่ไม่ใช่แค่การมาแสดงเป็นตัวตลก การคิดเรื่องราวความรักในมุมมองใหม่ๆ ที่ปรากฎในสังคมไทยให้เกิดขึ้นบนสื่อภาพยนตร์ หนังรักจึงไม่ใช่เป็นเรื่องราวความรักชายหญิงเพียงถ่ายเดียว หากยังสามารถตั้งคำถามทั้งในประเด็นค่านิยม และปัญหาสังคมไทยได้อีกด้วย

ปั๊มน้ำมัน ผลงานในปี 2559 ของธัญญ์วาริน ที่มาพร้อมชื่อหนังที่ดูธรรมดาสามัญไร้แรงดึงดูด และเมื่อตอนที่ออกฉายก็ไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้เลย แต่นับเป็นงานโดดเด่นอีกชิ้นของเธอ

ตัวหนังเองเล่าผ่านเทคนิคคล้ายละครเวทีที่จำกัดให้ปรากฎสถานที่หลักๆ ในเรื่องที่ส่วนใหญ่วนเวียนที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง และมีตัวละครหลักๆ เพียงสี่คน หากมันกลับเป็นเรื่องรักที่ทะเยอทะยานอย่างยิ่งทั้งในแง่กลวิธีเล่าเรื่องดังกล่าว และการสร้างบุคลิกที่แปลกแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดดังนี้

a gas station02

มั่น ชายหนุ่มในชุดมาดคาวบอยที่รอคนรักที่ปั๊มน้ำมันของตน โดยไม่เคยมีใจให้ใครที่เข้ามาในชีวิต เขาเชื่อว่าสิ่งนี้คือความรัก

นก หญิงสาวคนรักของมั่นที่นานๆ จะกลับมาหาเขาสักครั้งหนึ่งในมาดโฉบเฉี่ยวเย็นชา แต่อยู่ได้เพียงไม่นาน เธอก็ระเห็จไปมีชีวิตอิสระตามใจตนเอง ด้วยเหตุผลบางอย่างที่เธอคิดว่านั่นคือความรัก

มัด หญิงสูงวัย อดีตนางนพมาศเมื่อนานแล้ว ที่ยังคงแต่งชุดไทยซึ่งชนะการประกวดนั้นอยู่ทุกวันเพราะมันคือชุดที่ทำให้เธอรู้จักกับมั่นวนเวียนไปหาที่ปั๊มน้ำมันแห่งนั้น เฝ้ารอว่าสักวันเขาจะเปลี่ยนใจมารักเธอ เธอเรียกมันว่าความรัก

ฝน เด็กสาวก๋ากั่น ที่แอบรักหนุ่มมั่นตั้งแต่ ม.ต้น และเฝ้าวนเวียนมาหาที่ปั๊มน้ำมันด้วยชุดแฟนซีสารพัดแบบ เล่าชีวิตคนที่วนเวียนมารักและมีสัมพันธ์กับเธอ เพียงเพื่อหวังว่าชายหนุ่มจะหึงหวงและมีใจให้เธอ เธอคิดว่านี่คือความรัก

เทคนิคการสร้างบุคลิกตัวละครที่ชัดเช่นนี้แม้จะทำให้คนจดจำง่าย แต่ความโดดดังกล่าวก็ทำให้มักถูกสร้างในหนังตลกมากกว่าหนังชีวิต เพราะสุ่มเสี่ยงมากว่าพลาดพลั้งบ่อยเข้า ความแฟนตาซีของพวกเขาก็จะค่อยๆ ทิ้งหนีห่างคนดูไปในที่สุด

a gas station03

ช่วงแรกหนังก็สุ่มเสี่ยงกับอาการแบบนั้น ฉากเปิดตลกๆ แนะนำตัวละครด้วยการร้องคาราโอเกะแบบบ้านๆ ดูไร้การดึงดูด ณ ปั๊มน้ำมันกลางชนบทแห่งหนึ่งที่ตกแต่งราวกับอยู่ในกลางถนน Route 66 ของอเมริกา แต่ผู้คนยังกินโจ๊ก ปาท่องโก๋ และ ส้มตำ ไก่ย่าง มั่นแต่งชุดคาวบอยให้บริการที่ปั๊มทุกเมื่อเชื่อวัน มัดยังขับรถกระบะขายผักขายเนื้อ ฝนเด็กสาวที่แต่งชุดแฟนตาซีหลอกๆ อย่างไม่อายใคร มิหนำซ้ำยังพ่นคำหยาบ มุขตลกสัปดนอย่างหน้าตาเฉย

แต่ยิ่งเรื่องดำเนินไป พาเราสำรวจชีวิตพวกเขามากขึ้น คนที่แต่งตัวประหลาดเหล่านี้แท้จริงก็มีชีวิตจิตใจไม่ต่างไปจากเรา พวกเขาต่างมีปมบางอย่างที่สลัดให้หลุดไปจากชีวิตไม่ได้อย่างความรัก เขาและเธอมองว่าการกระทำเหล่านั้นคือแง่งาม เป็นอุดมคติในชีวิต

ใช่ บางครั้งมันก็งดงามจริงๆ แต่เมื่อมันสวนทางกับความจริงเท่าไหร่ ก็สะท้อนให้เห็นความพังพินาศ ผุพังของความโรแมนติคที่เขายึดถือเท่านั้น

ปั๊มน้ำมันในเรื่องอาจเป็นสถานที่ซึ่งสื่อถึงที่พักเติมเต็มหัวใจ หากมันก็เป็นตัวขับเน้น สะท้อนให้เห็นความเบื่อหน่ายในชีวิตอันเลวร้าย และเส็งเคร็งของเมืองเล็กๆ ที่พวกเขาอยู่ มันเป็นชนบทที่ไม่มีอะไร พวกเขามีชีวิตอยู่ไปวันๆ และเอื้อต่อทางเลือกแบบที่พวกเขาตัดสินใจทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหงา เศร้า เมา หลับ… หากใครทนไม่ได้ก็หนีไปแสวงหาความสุขที่อื่นจากเมืองแบบนี้

ซึ่งแม้หนังจะดูเป็นชนบทในจินตนาการ แต่มันก็สัมผัสไม่ยากเลยว่ามันคือชนบทห่างไกลในแบบประเทศไทยเรานี่เอง ดังที่นกเอ่ยปากพูดถึงร้านส้มตำเจ้าดังตั้งแต่เธอเกิดในเมืองนี้ว่าบางทีเจ๊เขาคงไม่มีอะไรดีกว่านี้ทำในเมืองนี้ก็ได้ ถึงยังทำร้านนี้อยู่จนถึงวันนี้…

นักแสดงสี่คนได้รับหนึ่งในบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต โดยเฉพาะ อาภา ภาวิไล และเพ็ญพักตร์ ศิริกุล ที่มาในบทที่เริ่มต้นอย่างดูน่าขัน แต่เมื่อถึงฉากที่พวกเธอเรียกร้องสิ่งที่ตนปรารถนาแม้จะรู้ว่ามันคือมโนเพ้อฝัน ความจริงใจและเข้าถึงตัวละครที่พวกเธอเล่นได้อย่างน่าเชื่อถือ

น่าเสียดายที่ท้ายสุดประเด็นดังกล่าวไม่ได้ถูกขยายไปไกลเพื่อเสริมกับการวิพากษ์ความรักในอุดมคติ ซึ่งเป็นค่านิยมที่ปรากฎในสังคมไทย ความรักที่ยึดมั่นกับชายหญิงคนเดียวตลอดไป ความรักที่ยึดติดกับคามผิดบาปในการรักษาพรหมจรรย์ก่อนแต่งงาน จนทำให้อุดมคติดังกล่าวกัดกร่อนชีวิตพวกเขาจนย่อยยับ อันเป็นประเด็นที่มักปรากฎบ่อยครั้งในงานของธัญญ์วาริน โดยเฉพาะช่วงท้ายที่หนังเรื่องเฉลยปมบางอย่างมากกว่าจะทิ้งประเด็นต่างๆ ให้ค้างคาในปลายเปิด

หาก Insect in The Backyard เป็นภาพสะท้อนของการล่มสลายของครอบครัวหนึ่งจากการยึดติดอุดมคติบางอย่างของความรักในครอบครัว ผ่านเรื่องเซ็กส์ในสังคมไทย ปั๊มน้ำมัน ก็เป็นการเน้นชัดให้เห็นผ่านความรักหลายเส้า ในวันที่ธัญญ์วารินนิ่งและจัดเจนขึ้นในการกำกับการแสดงและถ่ายทอดอารมณ์ต่างๆ

และนับเป็นอีกครั้งที่ทำให้ชื่อของเธอไม่อาจถูกมองข้ามในฐานะคนทำหนังไทยที่โดดเด่นในการนำเสนอความรักยุคใหม่