เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


วาระซ่อนเร้นในร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับรัฐบาล คสช.

โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยฝุ่นควันเป็นสาเหตุสำคัญของมลภาวะทางอากาศ (ภาพ : 123RF)

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace SEA) และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวร่วมหัวข้อร่าง “พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช.” : วาระซ่อนเร้น – ซ้ำเติมปัญหา PM 2.5 ?” เพื่อแสดงออกถึงความวิตกกังวล ชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง และเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระงับการพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….” เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้มีส่วนพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างทั่วถึง

หลายคนอาจไม่ทราบว่าขณะที่ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 กำลังคุกคามชีวิตคนไทย ทั้งที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่และต่างจังหวัด ร่าง “พ.ร.บ.โรงงาน” ซึ่งคณะรัฐมนตรีรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ร่างและยื่นเสนอกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อตราเป็นกฎหมาย

ถึงแม้ว่าการยกร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความซับซ้อนมากมาย เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ ผังเมือง สังคม สาธารณสุข ฯลฯ อีกทั้งการพิจารณากฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นวงกว้าง จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ไม่ควรดำเนินการเป็นวาระเร่งด่วน แต่เส้นทางการออก พ.ร.บ.โรงงาน กลับมีลักษณะเร่งรีบ รวบรัด

ตั้งแต่ อุตตม สาวยานน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศเมื่อเดือนตุลาคมปี ๒๕๖๑ ว่าจะนำ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่มาแก้ไข เวลาผ่านไปเพียงแค่ ๒ เดือน ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ก็ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ลงมติรับหลักการ แล้วแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างอื้ออึงจากภาคประชาสังคม เมื่อรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของกฎหมายเดิมที่ใช้คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ประเทศกำลังเดินเข้าสู่การเลือกตั้ง

factorylaw01มลภาวะทางน้ำอาจเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมไม่บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ (ภาพ : 123RF)

ตัวอย่างปัญหาที่ภาคประชาสังคมเล็งเห็นและคาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาเช่น

การปรับนิยามคำว่า “โรงงาน” และ “การตั้งโรงงาน” ใหม่

จากเดิม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ กำหนดให้ โรงงาน หมายถึง “อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ ๕ แรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ ๕ แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ ๗ คนขึ้นไปโดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม” แต่ ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ ระบุให้หมายถึงกำลังรวม ๑๕ แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ ๕๐ คนขึ้นไป

จากเดิม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.๒๕๓๕ กำหนดให้ การตั้งโรงงาน หมายถึง “การก่อสร้างอาคารเพื่อติดตั้งเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงาน หรือนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคารสถานที่หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการ” แต่ ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ ระบุให้หมายถึงการนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคารสถานที่หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการ หรือนำคนงานมาประกอบกิจการโรงงานในกรณีที่ไม่มีการใช้เครื่องจักร

เพียงแค่ปรับนิยามคำว่า “โรงงาน” และ “การตั้งโรงงาน” ใหม่ ก็ทำให้โรงงานจำนวนมากไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนด พ.ร.บ.โรงงาน อีกต่อไป หรือเรียกว่า “ไม่จัดเป็นโรงงานตามกฎหมายโรงงาน” ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ร.ง.๔ ตามมาตรา ๑๒

ยกตัวอย่างโรงงานที่ใช้เครื่องจักรน้อย ใช้คนงานน้อย เช่น กิจการหล่อหลอม โรงคัดแยกขยะ โรงรีไซเคิลของเสีย ฯลฯ รวมถึงกิจการอื่นๆ จำนวนมากกว่า ๖๐,๐๐๐ แห่ง แต่เดิมเจ้าหน้าที่ต้องมีความเข้มงวดกวดขัน ทั้งด้านการตรวจสอบความเหมาะสมของอาคาร ทำเลที่ตั้ง การสร้างผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและมลภาวะต่อผู้คนในพื้นที่ แต่ถ้าร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับนี้ผ่าน การตั้งโรงงานจำพวกนี้จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สาธารณสุข หรือข้อบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเข้มงวดน้อยกว่า-เท่านั้น

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ ยังยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.๔ จากเดิมที่มีอายุ ๕ ปี กลายเป็นไม่มีวันหมดอายุ ส่งผลให้ขั้นตอนสำคัญหายไป คือ การตรวจสอบสภาพโรงงานเพื่อประกอบการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาต
อีกทั้ง ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ ยังไม่กำหนดให้มีประกันภัย หรือกองทุนเพื่อเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน หรือเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ตั้งโรงงานให้กลับคืนสู่สภาพเดิมที่เหมาะสม ทั้งที่เป็นกองทุนเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากมลพิษอุตสาหกรรมโดยตรง ซึ่งหน่วยงานราชการ นักวิชาการ นักกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากพยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะเห็นว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

มีรายงานว่าภาคอุตสาหกรรมออกมาขานรับโอกาสที่จะได้รับตาม ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ อาทิ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ว่า “การไม่ต้องต่ออายุใบ ร.ง.๔ ทุก ๕ ปี ถือเป็นของขวัญที่ภาคเอกชนรอคอยมานาน และถือเป็นมาตรการที่ดีช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน”

factorylaw03 1โรงคัดแยกขยะหรือโรงรีไซเคิลของเสียบางแห่งเป็นตัวอย่างโรงงานที่มีเครื่องจักรและคนงานน้อยคือกำลังรวมไม่ถึง ๑๕ แรงม้า คนงานไม่ถึง ๕๐ คน ซึ่งน่าจะได้รับประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ เพราะ “ไม่จัดเป็นโรงงานตามกฎหมายโรงงาน” (ภาพ : 123RF)

ขณะที่ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็เคยให้สัมภาษณ์ตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่า “ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการครอบคลุมทั้งขนาดใหญ่และระดับเอสเอ็มอีเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ๒๕๖๒”

เมื่อมีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ภาคประชาสังคมจึงตั้งคำถามถึงวิธีการทำงานของรัฐบาล คสช. เกี่ยวกับการลงทุนทางอุตสาหกรรมที่ไปลดมาตรการคุ้มครองทางสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การยกเว้นผังเมืองเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ โรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะ, การอนุญาตให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลได้ทุกท้องที่, การออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ฯลฯ จนมาถึง ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับนี้ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ให้ความเห็นว่า “หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ในอนาคตจะยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม การทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหามลพิษของฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ก็จะแก้ไขยากยิ่งขึ้นในอนาคต จึงเรียกร้องให้ สนช. ถอนร่าง พ.ร.บ.ออกจากการพิจารณา”

และตั้งข้อสังเกตว่า “ขณะนี้ สนช. เหลือเวลาทำงานอีกไม่นานนัก แต่ก็เหมือนจะได้รับการเร่งรัดจากรัฐบาลให้รีบพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลายฉบับ ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระลง รวมถึงร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ‘ฉบับลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชน’ ”

หาก ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ปัญหามลพิษในประเทศไทยจะรุนแรงขึ้นอย่างไร ? ความเสียหายที่จะเกิดกับประเทศทั้งเชิงภาพรวมและระดับพื้นที่ ต่อชุมชน ต่อสิ่งแวดล้อม และต่อสุขภาพจะเป็นอย่างไร ? รวมทั้งรัฐบาลมีเจตนาแฝงเร้นอะไรจึงต้องเร่งรัดให้ สนช. พิจารณาและผ่านร่างกฎหมายให้ทันก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่นาน ? ยังคงเป็นคำถาม

ไม่แน่ว่าอีกไม่นาน

คำตอบที่ได้รับอาจจะเป็นความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาวบ้านกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมานานทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเกินขีดทะลุ

อ้างอิงและเอกสารประกอบการเขียน

  • งานแถลงข่าว เรื่อง ร่าง “พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับ คสช.” : วาระซ่อนเร้น – ซ้ำเติมปัญหา PM 2.5 ?” วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุมห้อง ๗๐๑ อาคารเฉลิมราชกุมารี ๖๐ พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย