เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


กัญจน์ ทัตติยกุล ความพยายามของสามัญชนคนเล็กๆ ในการยับยั้งร่าง พรบ.โรงงาน
เช้าวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ กัญจน์เดินทางจากจังหวัดฉะเชิงเทรามาถึงรัฐสภา ก่อนหน้าที่ สนช. จะพิจารณาร่าง พรบ.โรงงาน ฉบับรัฐบาล คสช. (ภาพ : กัญจน์ ทัตติยกุล)

ถึง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทุกท่าน

ไม่สำคัญว่าทุกท่านได้เห็นชอบผ่านกฎหมายมาแล้วกี่ฉบับในรัฐบาลนี้ แต่ในวันนี้ที่ทุกท่านกำลังจะพิจารณา
-ร่าง-พ.ร.บ.โรงงาน ที่เห็นได้ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่าได้ลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและบั่นทอน
ความเป็นปกติของสังคม ผมขอให้ทุกท่านมีความกล้าหาญทางจริยธรรมโดยไม่ให้ความเห็นชอบ-ร่าง-ฉบับนี้
เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นปกติสุขของสังคม

ด้วยความห่วงใยต่อชาติบ้านเมือง

กัญจน์ ทัตติยกุล
วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

factorylaw02 1จดหมายเปิดผนึก ขอให้สมาชิก สนช.มีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบร่าง พรบ.โรงงาน เพื่อให้ร่างฉบับนี้ตกไปและเกิดกระบวนการร่างขึ้นใหม่อย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม

ระยะเวลา ๓ วันนับตั้งแต่วันมาฆะบูชา คือวันที่ ๒๐, ๒๑ และ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับ อาทิ ร่าง พรบ.ผังเมือง, ร่าง พรบ.ข้าว, ร่าง พรบ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้ง ร่าง พรบ.โรงงาน

ร่าง พรบ.โรงงาน หรือที่มีชื่อเต็มว่าร่าง “พรบ.โรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …” นับเป็นร่าง พรบ.โรงงาน “ฉบับรัฐบาล คสช.” เนื่องจากคณะรัฐมนตรีรัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ร่างและยื่นเสนอ ขณะเดียวกันก็ถูกภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นร่าง พรบ.โรงงาน “ฉบับลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชน” เนื่องจากหลายมาตราอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการโรงงาน ลดทอนการคุ้มครองปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ อย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฎในกฎหมายฉบับก่อนหน้า

กัญจน์ ทัตติยกุล สมาชิกเครือข่ายเพื่อนตะวันออก และกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) เป็นหนึ่งในคนที่มองเห็นข้อบกพร่องของร่าง พรบ. ฉบับนี้

ทันทีที่ทราบข่าวว่าจะมีการพิจารณาร่าง พรบ. กัญจน์ที่เป็นชาวบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงร่างจดหมายเปิดผนึก หัวจดหมายเรียน “ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ”

หัวเรื่องระบุ “ขอให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทุกคนมีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการพิจารณาไม่ให้ความเห็น ชอบร่าง พรบ.โรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …”

เนื้อหาเต็ม ๑ หน้ากระดาษเน้นย้ำถึงจุดอ่อน ข้อบกพร่องของร่าง พรบ.โรงงาน อาทิ การเปลี่ยนนิยามคำว่า “โรงงาน” จากเดิมเป็นกิจการที่มีกำลัง ๕ แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงาน ๗ คนขึ้นไป กลายเป็นกิจการที่มีกำลังรวมตั้งแต่ ๕๐ แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ ๕๐ คนขึ้นไป

เปลี่ยนนิยามการ “ตั้งโรงงาน” จากเดิมหมายถึงการก่อสร้างอาคารเพื่อติดตั้งเครื่องจักร กลายเป็นการนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้ง ทำให้สามารถก่อสร้างอาคารเตรียมไว้ได้ก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตและจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น

อีกทั้งยังเปลี่ยนใบอนุญาตโรงงานให้ไม่มีวันหมดอายุ จากเดิมที่กำหนดไว้ ๕ ปี ทำให้กระบวนการตรวจสอบสภาพโรงงานเพื่อต่อใบอนุญาตที่เคยมีความสำคัญหายไป

ฯลฯ

factorylaw03 2กัญจน์ ทัตติยกุล ให้ความรู้เด็กนักเรียนเกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติแถบลุ่มน้ำบางปะกง รวมถึงความพยายามของคนในพื้นที่ที่อยากผลักดันให้ลุ่มแม่น้ำบางปะกงได้รับประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของโลก หรือ “แรมซาร์ไซต์” (ภาพ : Matthayom RA)

กัญจน์รู้ดีว่าโรงงานที่มีขนาดไม่ถึง ๕๐ แรงม้า คนงานไม่ถึง ๕๐ คน สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้ ยกตัวอย่างโรงงาน KSD Recycle อำเภอหนองแหน จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเครื่องจักร ๔๕ แรงม้า คนงาน ๗ คน โรงงานบานาน่า ดิสโพเซิล อำเภอพนมสารคาม มีเครื่องจักร ๔๗ แรงม้า คนงาน ๑๐ คน ทั้งสองกรณีแม้ว่าจะมีขนาดไม่ถึง ๕๐ แรงม้า แต่ก็สร้างปัญหาให้ชุมชนดังที่เคยตกเป็นข่าว

เมื่อร่างจดหมายเปิดผนึกเสร็จเรียบร้อย วันรุ่งขึ้นคือ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เขาขี่จักรยานมาขึ้นรถไฟสายตะวันออกมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นจดหมายให้ผู้มีอำนาจ ปลายทางคือรัฐสภา

เมื่อมาถึงเขาโพสเฟสบุ๊กว่า

“มาถึงรัฐสภาอันทรงเกียรติแล้ว วันนี้เรามาเน้นย้ำว่าเหนือสิ่งอื่นใดความเป็นปกติสุขของสังคมโดยรวมย่อมต้องสำคัญกว่าและมาก่อนผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และขอร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทุกท่านมีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อให้-ร่าง-ฉบับนี้ตกไป และจะได้มีกระบวนการขึ้นใหม่ในการปรับปรุงกฎหมายอย่างมีส่วนร่วม”

ท้ายข้อความติดแอชแทค #หยุดร่างพรบโรงงานฉบับคสช และ #พรบโรงงานฉบับใหม่ต้องคำนึงถึงสุขภาวะของสังคมเป็นที่ตั้ง ยื่นจดหมายแล้วรอคอยดูว่าท่านผู้ทรงเกียรติจะพิจารณาหรือไม่พิจารณาร่าง พรบ.โรงงาน ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

factorylaw04กิจการที่ใช้เครื่องจักรไม่ถึง ๕๐ แรงม้า หรือใช้คนงานไม่ถึง ๕๐ คน จะไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานตาม พรบ.โรงงานฉบับ คสช. ทำให้ไม่ต้องพิจารณาเรื่องผังเมืองและกฎหมายโรงงาน ภาพตัวอย่างกลุ่มโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี (ภาพ : มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH))

ก่อนนี้ สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้ให้ความเห็นถึงการพิจารณากฎหมายโรงงาน โดยตั้งข้อสังเกตว่าการพิจารณาเกิดขึ้นในช่วงที่สังคมไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง

“ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงกว้าง จึงควรได้รับการพิจารณากลั่นกรองจากสภานิติบัญญัติด้วยความรอบคอบถี่ถ้วน โดยไม่มีเหตุความจำเป็นใดๆ ที่ สนช. จะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายนี้เป็นวาระเร่งด่วน

“ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในอีกไม่นาน การเสนอและพิจารณากฎหมายที่สำคัญและจะส่งผลกระทบมากเช่นนี้ จึงควรดำเนินการภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติก็ควรมีเวลาเพียงพอที่จะพิจารณา ไตร่ตรอง และทบทวนอย่างรอบด้าน ก่อนเสนอความเห็นในการกลั่นกรองเพื่อให้ได้กฎหมายที่มีความถูกต้องและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

“การเสนอและพิจารณากฎหมายภายใต้รัฐบาล คสช.เป็นความไม่ชอบธรรม สนช.ต้องยุติการพิจารณาร่างกฎหมายทุกฉบับในขณะนี้”

อย่างไรก็ตาม การพิจารณา พรบ. นี้ไม่ได้ถูกยกเลิก เพียงแค่ถูกเลื่อนเป็นวันถัดไป

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. สนช. ได้เริ่มพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ใช้เวลาเพียงราว ๒ ชั่วโมง ก็ลงมติเห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย ๑๔๒ เสียง และงดออกเสียง ๑ เสียง

factorylaw05จักรยานสองล้อ พาหนะที่กัญจน์มักใช้ในการเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วแถบลุ่มแม่น้ำบางปะกง (ภาพ : กัญจน์ ทัตติยกุล)

กัญจน์ซึ่งเดินทางมาไกลจากบ้านเกิดอันเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายโรงงานทำได้เพียงโพสต์เฟสบุ๊กข้อความสั้นๆ ว่า

“สนช. ให้ความเห็นชอบ -ร่าง-พ.ร.บ.โรงงาน แล้ว รอประกาศใช้ ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

กับอีกโพสต์หนึ่งในยามค่ำ

“คิดอยู่นานสองนาน…สำหรับชีวิตน้อยๆ ที่เหลืออยู่ว่าจะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง และก็ตัดสินใจได้แล้ววันนี้ว่าจะออกจากพื้นที่ปลอดภัยที่ดำรงมาเกือบ ๓๙ ปี มาสู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้ และทำหน้าที่พลโลกให้ดีที่สุด
โดยจะตั้งพรรค พรรคที่ไม่ได้มุ่งหวังจะทำหน้าที่ในสภา แต่เป็นในทุกๆ โอกาสที่มี”

ไม่แน่ว่าบางที ความผิดหวังจากการไม่สามารถหยุดยั้งร่าง พรบ.โรงงาน ฉบับรัฐบาล คสช. ที่ภาคประชาสังคมร้องเรียนว่าเป็นร่างกฎหมายโรงงาน “ฉบับลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและประชาชน” จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ การเดินทางที่เดิมพันด้วยชีวิตความเป็นอยู่อันสงบสุขของผู้คน