เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


งานรณรงค์เรื่องฝุ่นควันของ หมอหม่อง นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์

สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห่างกันราว ๗ ปี ภาพซ้าย นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินรณรงค์ให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควันในตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๕ ส่วนภาพขวารณรงค์เรื่องเดียวกันด้วยวิธีทำเสื้อขายที่ถนนคนเดินและขายออนไลน์เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๒

mormong02งานรณรงค์เมื่อปี ๒๕๕๕ ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ ขณะที่คนไทยยังไม่ค่อยตื่นตัวเรื่องปัญหาฝุ่นควัน (ภาพ : ประทุม สิรสุนทร)

“หยุดรมควันลูกหลาน”
รณรงค์เมื่อ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๕

“ที่เชียงใหม่เมื่อ ๗ ปีก่อน เรื่องฟ้าหลัวหรือหมอกควันมีอยู่ระดับหนึ่ง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปีนั้นแปลกประหลาด อยู่ดีๆ ดอยสุเทพก็หายไป เป็นเรื่องน่าตกใจว่าคนเชียงใหม่มองไม่เห็นดอยสุเทพ ต่อมาเราเรียกปรากฎการณ์ท้องฟ้าบริเวณเชิงดอยสุเทพเปลี่ยนจากสีฟ้าเป็นสีขุ่นจนมองไม่เห็นว่า “ดัชนีดอยสุเทพ” (Doi Suthep Index) เมื่ออากาศมีฝุ่นละอองขนาดเล็กสะสมตัวปริมาณมาก จากเคยมองเห็นดอยสุเทพทุกวัน ถ้าวันใดมองไม่เห็น ค่า PM2.5 มักจะเกิน ๒๐๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป

“ตอนนั้นเครือข่ายวัดค่ามลพิษในอากาศยังไม่ค่อยดี แต่คนรอบข้างบ่นเป็นเสียงเดียวกัน มลพิษรุนแรงมากจนเรารู้สึกได้ เมื่อลองไปค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพก็มีข้อมูลออกมามากในช่วงนั้น ทั้งจากการศึกษาทางด้านระบาดวิทยา พบว่าผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ระบบทางเดินหายใจ ก่อนนี้เราอาจจะเข้าใจว่ามันแค่ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม หรือทำให้คนป่วยเป็นโรคหอบหืดมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ความเข้าใจใหม่คือฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กมากถึงขั้นผ่านถุงลมเข้าไปสู่กระแสเลือด จึงมีผลกระทบต่ออวัยวะทั่วร่างกาย ไม่ว่าสมอง หัวใจ ทำให้เริ่มเกิดความตื่นตัวทางการแพทย์ มีความพยายามเตือนให้ประชาชนทราบ

“ผมพยายามชี้ว่ามันไม่ใช่แค่แสบตาหรือเจ็บคอ แต่มันเหมือนว่าเรากำลังตายผ่อนส่ง เหมือนเราสูบบุหรี่ทุกวัน โดยทั่วไปนั้นทุกๆ ๒๒ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของ PM2.5 จะเทียบเท่าการสูบบุหรี่ ๑ มวน เพราะฉะนั้นถ้าค่าเท่ากับสี่ร้อยกว่าก็เท่ากับเราสูบบุหรี่ ๑ ซอง เราพยายามจะสื่อสารอย่างนี้ต่อสาธารณะ”

“ในปีที่ออกมาเดินรณรงค์กัน ตอนแรกก็ไม่รู้จะทำยังไง แค่คิดว่าคนเชียงใหม่ยังไม่ทราบและไม่เข้าใจปัญหา ที่สำคัญคือเรารู้สึกว่าภาครัฐไม่สนใจ ไม่เห็นว่าเป็นปัญหาใดๆ ทั้งๆ ที่การมีอากาศดีไว้หายใจเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐาน แต่รัฐกลับปกป้องเราเรื่องนี้ไม่ได้

“ตอนนั้นเฟสบุ๊กยังไม่แพร่หลาย แต่เราก็ใช้เฟสบุ๊กนี่แหละชวนเพื่อนๆ ออกมาเดินรณรงค์กัน หาทางทำให้คนเชียงใหม่รับรู้ และให้ภาครัฐรับรู้ว่าพวกเราไม่ได้อยู่ในสภาวะจำยอม พวกเราต้องการความเปลี่ยนแปลง

“เราอยาก take action ก็เลยออกมาเขียนป้ายเดินรณรงค์กัน บางคนแต่งแฟนซี พี่สาวผมแต่งเลียนแบบคนท้องถือป้าย ‘หยุดรมควันลูกหลาน’ ผมถือป้ายวาดรูปปอดเขียนข้อความ ‘ขอทวงสิทธิการหายใจ’ มีคนเข้าร่วมกับเราสัก ๕๐-๖๐ คน เป็นชาวต่างชาติเยอะ ทั้งคนฝรั่ง คนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะเป็น active citizen มากกว่าคนไทยทั่วไป เวลานั้นคนไทยยังเฉยเพราะเคยชินหรือจำยอมกับปัญหา รู้สึกว่าเราจะทำอะไรได้ จะไม่ค่อยออกมาเคลื่อนไหวเท่าไหร่ในเรื่องนี้

“วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ เราออกไปเดินขบวนที่สี่แยกริมคำ เดินไปถึงถนนคนเดินที่ท่าแพ เราร่างแถลงการณ์ส่งถึงจังหวัดและรัฐบาล เรียกร้องเรื่องสิทธิของการมีอากาศหายใจ พูดถึงสิ่งต่างๆ ที่เราคิดว่าเป็นสาเหตุของปัญหา ที่แน่ๆ คือการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรพันธสัญญา”

“สิ่งที่สะท้อนกลับมาคือคนก็ยังเฉยๆ พ่อค้าแม่ขายก็รู้สึกว่า เอ๋ มาทำอะไร มันมีปัญหาอะไร ก็ไม่เห็นเป็นไรนี่นา ทนๆ เอาเดี๋ยวไม่นานฝนตกก็หายไป ทุกคนจะรู้สึกว่าเป็นภาวะจำยอม ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องฝุ่นควันมันมีปัญหามากมายนัก คนกลุ่มนี้โวยวายอะไรกัน คือผมรู้สึกว่าไม่ได้มีความรู้สึกร่วมจากภาคประชาชน

“เรื่องฝุ่นควันเป็นปัญหาที่คนมองข้าม ไม่เหมือนรถชนคนตาย แผ่นดินไหว หรืออะไรที่เห็นศพนอนอยู่ ผมพบว่าการให้ความรู้เรื่องนี้ยาก ต้องทำให้คนเข้าใจเรื่องในเชิงระบาดวิทยา พวกเราเดินขบวนกันอยู่วันเดียว หลังจากนั้นก็มีสื่อมาขยายผลต่อ”

mormong03ปี ๒๕๖๒ หมอหม่องและลูกสาวนำเสื้อยืดที่มีข้อความ “I survived the Air in Chiangmai !” มาวางขายที่ถนนคนเดิน (ภาพ : พญ.สุภารัชต์ กาญจนะวณิชย์)

“I survived the Air in Chiangmai”
รณรงค์เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๒

“ผมตั้งใจทำเสื้อขายเพราะอยากใช้การรณรงค์สร้างความตระหนัก หลังจากรู้สึกถูกทอดทิ้งจากภาครัฐจากความไม่จริงจังในการแก้ปัญหา จนเราคิดว่าเราเป็นคนหนึ่งที่รอดชีวิตมาได้ ข้อความบนเสื้อ “I survived beyond AQI 999 in Chiangmai” ต้องการจะสื่อออกแนวตลกๆ นิดหน่อยว่าฉันรอดมาได้นะเนี่ย

“ผมไปขายที่ถนนคนเดินวัวลายคืนวันเสาร์ ไปกับลูกสาวและภรรยา ขายอยู่สักสองชั่วโมงตั้งแต่หนึ่งทุ่มกว่าถึงสามทุ่ม ตัวละ ๒๐๐ บาท ขายได้ประมาณสิบตัว ขนาดที่ทำมาตั้งใจว่าจะขายนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก อยากสื่อว่านี่เป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว เหมือนคุณมาเที่ยวเชียงใหม่แล้วคุณรอดชีวิตกลับไป ข้อความที่เขียนก็เลยเป็นภาษาอังกฤษ แล้วไซส์ก็ค่อนข้างใหญ่ ตอนแรกที่ทำก็ไม่คิดว่าคนไทยจะชอบ แต่กลายเป็นว่ากลุ่มเป้าหมายที่ตอบรับดีกลายเป็นคนของเรานี่เอง

“จุดเปลี่ยนอยู่ตรงที่ผมไลฟ์สด โพสต์ภาพลงเฟสบุ๊กแล้วมีคนมาซื้อ มีมาจากสารภี มาจากในเชียงใหม่ แต่บางคนก็มาไม่ทัน เพราะผมเก็บของกลับไปแล้ว วันรุ่งขึ้นจะมีถนนคนเดินที่ท่าแพ ผมคิดว่าจะไปหรือไม่ไปดี ระหว่างนั้นก็เริ่มมีคนทักว่าทำไมไม่เปิดขายทางออนไลน์ ผมคิดว่าจะทำหรือไม่ทำ ทำคนเดียวกลัวจัดการไม่ไหว สุดท้ายก็ตัดสินใจ ออนไลน์ก็ออนไลน์ โพสต์ขายลงเฟสบุ๊กตัวเอง พอประกาศออกไปนี่ถึงกับงงเลยนะ มีคนสั่งซื้อเข้ามาเร็วและเยอะมาก มากกว่าที่คิดไว้ จากตอนแรกคิดว่าแค่ในแวดวงเล็กๆ ที่จะถูกโยนออกไป ปรากฏว่ามีคนนำไปขยายผลต่อ แชร์ออกไป ก็เลยได้ผลเยอะในแง่ของการสร้างความตระหนักขึ้นมา ถามว่าได้ผลกว่าตอนเดินรณรงค์เมื่อ ๗ ปีก่อนมั๊ย ได้ผลกว่ามาก เพราะมันมีจังหวะหลายอย่าง คือปีนี้สื่อหันมาให้ความสนใจ ผู้คนเริ่มรู้ถึงพิษภัย แล้วเดี๋ยวนี้โซเชียลเร็วกว่าเมื่อก่อน พูดครั้งเดียวไปถึงหมด ประสิทธิภาพในการสร้างความตระหนักจึงสูงกว่า

“ถ้าย้อนกลับไปเมื่อวันที่ผมวาดภาพจดหมายประกาศพื้นที่ภัยพิบัติด้วยตัวเองคือวันที่ ๒๓ มีนาคม วันรุ่งขึ้นผมก็วาดภาพเสื้อยืดออกมา ตอนนั้นก็เริ่มคิดว่าจะทำเสื้อรณรงค์นะ แต่อยู่ในขั้นว่า เราจะทำดีมั๊ย ? กลัวรัฐกลัวคนมองว่าไม่รักเชียงใหม่ ไม่รักประเทศไทยหรือไง ทำไมประจานประเทศตัวเอง แต่เราก็มานั่งคิดว่าความรักมันไม่ใช่การสร้างภาพ ความรักคือการยอมรับความจริงและต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ไม่ได้ทำจากความรู้สึกต้องการประจานตัวเอง ประเทศตัวเองหรือเมืองที่ตัวเองอยู่ พยายามเคลียตัวเองว่าเรากล้าทำมั๊ย คนจะมองเราในแง่ลบหรือเปล่า แล้วเรามองว่ามันไม่ใช่ เจตนาเรามาจากความรัก อยากให้คนยอมรับซะว่าปัญหามันมี จะไปปิดมันทำไม ยอมรับแล้วก็แก้มันไป เราคิดว่าเราไม่ได้ทำด้วยเจตนาที่ต้องการประจาน แต่ต้องการให้ยอมรับว่ามีปัญหา แล้วก็มาหาทางแก้กัน

“ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือและที่เกิดขึ้นในภาคต่างๆ ผมว่าทุกคนต้องส่งเสียงกัน ไม่งั้นภาครัฐจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ปัญหา ประชาชนยังไม่เดือดร้อน ผมคิดว่าถ้าเราเดือดร้อนเราก็ต้องส่งเสียง และพยายามหาทางออกว่าเราจะปรับตัวหรือแก้ปัญหากันยังไง ผมคิดว่าเราอย่าโทษกันไปโทษกันมา คนนี้ไม่ทำ คนนั้นเป็นคนทำ เรามีส่วนร่วมตรงไหนเราก็ทำตรงนั้น ผมเองถึงฝุ่นควันจะเยอะยังไงผมก็ยังขี่จักรยาน ผมรู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา”

“ถ้าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเราก็ลด คนเมืองสนับสนุนและมีส่วนร่วมได้อยู่แล้ว คือลดการบริโภคในห่วงโซ่ของเรา การใช้ชีวิตของเรา

“ผมนั่งขายเสื้อสองชั่วโมงได้แค่สิบตัว แต่ขายออนไลน์นี่น่าจะหลายพัน ประกาศขายสามสี่วันต้องปิดรับเพราะทำไม่ไหว คนที่สั่งซื้อหลายคนให้เงินมาเกินค่าเสื้อ แล้วคนส่งเงินมาแต่ไม่เอาเสื้อก็มี เงินบริจาคได้มาเยอะกว่าที่คิดตอนแรกว่าจะขายเล่นนิดๆ หน่อยๆ ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะนำเงินไปทำอะไร ที่ผ่านมาผมจะมอบให้กับทางกลุ่มที่ดูแลดอยหลวงเชียงดาว บริจาคให้ทีมดับไฟป่าที่เป็นเครือข่ายของภาคประชาชนในเมือง แต่ตอนนี้เริ่มมีฝนตก ปัญหาไฟป่าอาจจะลด ถ้ายังไม่มีความต้องการเร่งด่วน ก็ต้องมาคุยกับเพื่อนๆ ว่าจะเก็บไว้ก่อน หรือใช้ในงานฟื้นฟูเช่นการสำรวจพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่ถูกไฟไหม้ทำลาย จะใช้เงินส่วนนี้เข้าไปช่วยเหลือมั๊ย หรือเก็บไว้ก่อนปีหน้าเกิดเหตุการณ์ไฟป่า เวลาสู้กับไฟ ทีมดับไฟต้องการความช่วยเหลือเราค่อยช่วยก็ได้ ผมตั้งใจจะช่วยในแง่ภาคประชาชนเป็นหลัก ถ้าเขาคิดว่าจะช่วยขยับเขยื้อนหรือทำงานได้ดีขึ้น ก็จะลองปรึกษากับเพื่อนๆ ที่ทำงานเชื่อมโยงกันในพื้นที่”