ปรับตัวให้สมดุล รับอาการ ขาดดุลธรรมชาติ

“ผมทำงานเก็บตัง ปีนึงก็ไปตากอากาศที่เขาค้อหนนึง อากาศกรุงเทพฯ มันไม่ไหว ได้พักปอดบ้างก็ยังดี” คนขับวินมอเตอร์ไซต์ที่ฉันนั่งกล่าว ในขณะที่เรารถติดอยู่บนถนนสาทรยามเช้า สูดกลิ่นควันรถ และรับ PM 2.5

เอาเข้าจริงๆ แล้ว สำหรับคนเมือง กว่าจะได้ออกไปสัมผัสธรรมชาติในแต่ละครั้ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

แต่ละวันของพวกเราหมดไปกับการติดอยู่ในรถ บนถนน ใต้แสงไฟในอาคาร ในขณะที่แสงสุดท้ายของวันลาฟ้าไม่อย่างไม่มีใครเหลียวแล

และกลายเป็นว่า เรามีอาการ “ขาดดุลธรรมชาติ” ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ขาดดุลธรรมชาติ มีโรคนี้ด้วยหรือ?

โรคขาดดุลธรรมชาติ หรือ Nature deficit disorder (NDD) ไม่ใช่เป็นคำอธิบายอาการทางการแพทย์ เป็นแนวคิดที่ว่ามนุษย์ใช้เวลาอยู่กลางแจ้งน้อยลง และเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์

“Nature deficit disorder” ถูกนำเสนอครั้งแรก ในปี 2005 โดย ริชาร์ด โลอฟ (Richard Louv) นักข่าวและนักสารคดีชาวอเมกัน เขากล่าวว่า คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพวกเด็กๆ ใช้เวลาอยู่แต่ในอาคาร ส่งผลให้มนุษย์รู้สึกแปลกแยกจากธรรมชาติ เปราะบางต่ออารมณ์ลบ หรือเมื่อถูกลดการให้ความสนใจ

แต่เดิมที่ร่างกายเราปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม เราวิ่ง เราเล่น เราล่า เราเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเอาตัวรอด ปัจจุบัน เรามีแนวโน้มที่จะนั่งอยู่กับที่ตลอดทั้งวัน

จากการสำรวจประชากรในยุโรปพบว่า สามในสี่ของประชากรทั้งหมดอาศัยอยู่ในเมือง ทั้งในมหานคร เมืองใหญ่ และชานเมือง แนวโน้มของการอยู่อาศัยของคนแยกออกมาจากธรรมชาติและห่างหายจากกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้นเรื่อยๆ

อาการขาดดุลธรรมชาติ จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

“และจากที่เราเคยเข้าใจกระบวนการของธรรมชาติ และมีประสบการณ์สัมผัสธรรมชาติในชีวิต สิ่งเหล่านี้กลับเป็นเรื่องปกติน้อยลงทุกที” โลอฟกล่าว

เอาธรรมชาติกลับเข้ามาในชีวิต

สำหรับคนในเมือง โดยเฉพาะเมืองที่พื้นที่สีเขียวในเมืองน้อย และความเหลื่อมล้ำสูง เช่น กรุงเทพฯ การที่คนในเมืองจะออกไปต่างจังหวัดไปเดินป่า ไปอุทยานแห่งชาติทีหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนที่คนขับมอไซต์บอกว่า ถึงขนาด “เก็บเงินไปตากอากาศที่เขาค้อปีละครั้ง”

ทว่า ไม่ต้องถึงกับต้องออกไปตากอากาศทุกเดือนก็ได้ สิ่งที่พอทำได้คือหาวิธีเอาธรรมชาติกลับเข้ามาในชีวิต อย่างน้อย การได้ทำกิจกรรมในพื้นที่สีเขียวบ้าง หรือแม้แต่มีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วย เช่น นั่งมองต้นไม้สีเขียวๆ หลังบ้าน หรือนั่งมองผีเสื้อ ดูนกผ่าน หรือจะออกไปพักใจในสวน สาธารณะใกล้บ้านบ้างก็ได้

นอกจากพิจารณาสิ่งสีเขียว ต้นไม่ใบหญ้าเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว สิ่งสำคัญคือผลักดันให้เรื่องนี้เป็นนโยบาย ในเมืองต้องมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และเข้าถึงคนทุกกลุ่ม

เพื่อให้การออกไปสัมผัสธรรมชาติเป็นเรื่องที่ทำได้สำหรับทุกคน และไม่ใช่แค่ปีละครั้งอีกต่อไป.

รายการอ้างอิง

ชวน Park ใจ โดย นิตยสารสารคดี นายรอบรู้ นักเดินทาง
สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา