เรื่อง รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์
ภาพ รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์, นวพล นวกิจพิพัฒน์

redwaterfish cov

ปลาน้ำจืด สารพัดชนิด ปลากะมัง ปลากด ปลายี่สก ปลาสร้อย อีกทั้งลูกปลาเล็กปลาน้อยไล่ไปจนถึงแม่ปลาตัวโตไข่เต็มท้องที่เพิ่งได้จากชาวประมงมาสด ๆ ใหม่ ๆ วางนอนเรียงรายในตลาดสดห้าเชื้อชาติ หรือตลาดสดสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี รอให้ชาวบ้านซื้อไปทำกินที่บ้าน ร้านอาหารซื้อไปปรุงเป็นอาหารหลากเมนูตามรายการแนะนำต้อนรับนักท่องเที่ยว ก่อนที่หน้าตาและรสชาติของต้ม ผัด แกง ทอด อันเย้ายวนชวนน้ำลายสอจะได้รับการปรุงแต่งด้วยตัวอักษรเป็นรีวิวอาหารยอดนิยมบนหน้าจอสี่เหลี่ยมในโลกออนไลน์

กลางปี เมฆฝนตั้งเค้ากลั่นตัวเป็นหยดน้ำโปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย บ่งบอกการเข้าสู่วสันตฤดูอันชุ่มฉ่ำ และเข็มนาฬิกาก็หมุนพาคนจากทั่วสารทิศเดินทางมาท่องเที่ยว ทำงานอาสาฯ สัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตหลากวัฒนธรรมของชาวไทย มอญ กะเหรี่ยง ฯลฯ ในโลกจริงริมฝั่งน้ำสุดขอบตะวันตกของประเทศ

ช่วงต้นฤดูฝนของทุกปี ตามลำห้วยสาขารอบเขื่อนเขาแหลมหรือเขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี จะเต็มไปด้วยคนล่าปลา เพราะนอกจากจะเป็นช่วงที่มีปลาชุกชุมแล้ว บรรดาร้านอาหารก็ต้องการปลาปริมาณมากไว้รองรับท้องของเหล่าทัพนักเดินทาง แต่การจับปลาจำนวนมากขนาดนี้ดูจะสวนทางกับประกาศจากกรมประมงว่า “ห้ามล่า” อย่างชัดเจน

จะมีใครอยากปล่อยให้ขุมทรัพย์ตรงหน้าไหลไปกับสายธารา-คว้าแต่น้ำเหลวกลับบ้าน !

redwaterfish01
ปลาตะเพียนตัวใหญ่ไม่ต่ำกว่า ๒ กิโลกรัมติดตาข่ายพันรัดแน่น ภารกิจสำคัญคือการตัดตาข่ายช่วยชีวิตปลาให้เร็วที่สุด
redwaterfish02
ส่วนหนึ่งของปลาที่ไม่อาจรอดชีวิต

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว

“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มันเป็นวาทกรรมในอดีตไปแล้ว”

อำพล ฐาปนพันธ์นิติกุล เลขานุการมูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก หัวหน้า “โครงการสนับสนุนงานป้องกันฤดูปลาวางไข่”
(Fishery Patrol Reinforcement Project) เอ่ยขึ้นขณะที่เรากำลัง
นั่งเรือเร็วตรวจการประมงน้ำจืดเขื่อนเขาแหลมหมายเลข ๑๓ ออกจากอำเภอทองผาภูมิมุ่งสู่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

แม้ตะวันจะลับขอบฟ้าไปแล้วแต่ก็ยังพอมีแสงให้มองเห็นเรือชาวบ้านวิ่งไปบนเวิ้งน้ำกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา กลางผืนน้ำมี
แสงไฟสีเขียวบนแพไม้ล่อปลาให้มาติดยอที่ชาวบ้านวางไว้ และหากเพ่งมองไปทางตีนเขาก็จะเห็นบ้านแพเรียงรายอยู่เป็นระยะ ๆ

“ปลาเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษยชาติ มีส่วนสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มาตั้งแต่อดีต อย่างอาณาจักรนครวัดที่มีโตน เลสาบ ประเทศสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานอย่าง Fish and Wildlife Service ซึ่งเขามองว่าปลาเป็นความมั่นคงทางอาหารของชาติ
ที่ใดมีความมั่งคั่งทางอาหาร ที่นั่นก็จะเจริญ”

อำพลเปล่งเสียงแข่งกับเครื่องยนต์เรือและเล่าต่อว่า

“สังขละบุรีเป็นอำเภอเล็ก ๆ มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว แบบสำรวจสอบถามนักท่องเที่ยวว่ามาเที่ยวสังขละบุรีโปรดปรานอาหารใดมากที่สุด ส่วนมากก็ตอบว่าปลา ปลาจึงเป็นส่วนเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่สำคัญของที่นี่ ซึ่งแต่ละปีมีรายได้จากการท่องเที่ยวนับพันล้าน มาที่นี่คงไม่มีใครอยากกินหมู ใครมาก็อยากกินปลาเขื่อนทั้งนั้น”

อ่างเก็บน้ำของเขื่อนใหญ่แห่งนี้เป็นแหล่งอาศัยของปลานานาพันธุ์ แต่ช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ปริมาณปลากลับลดลงอย่างรวดเร็ว วิทยา สวนตะโก หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติงานสำนักบริหารจัดการประมงน้ำจืดเขื่อนวชิราลงกรณ ผู้ที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ริมแม่น้ำซองกาเลีย
เคยให้สัมภาษณ์รายการคนมันส์พันธุ์อาสาถึงความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรปลาในเขื่อนเท่าที่เขาสังเกตมาตลอดชีวิตว่า

“แต่ก่อนแม่น้ำบีคลี่มีปลาตลอดลำน้ำ ยิ่งช่วงวางไข่ปลาจะชุกชุมมาก ชาวบ้านหากันแบบไม่คิดว่าจะหมด วันหนึ่งหาได้เป็น ร้อยกิโลต่อลำ ทั้งชอร์ตทั้งระเบิด ตอนหลังก็มีพ่อแม่พันธุ์ปลามาติดข่าย เรารู้ว่าปลาจะหมด แล้วมันก็หมดจริง ๆ”

“ถ้ารักษาบีคลี่ไว้ไม่ได้ ปลาทั้งเขื่อนจะล่มสลาย” คือคำพูดของ ประเสริฐ มากทรัพย์ อดีตหัวหน้าหน่วยประมง ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้อำพลจัดทำโครงการสนับสนุนงานป้องกันฤดูปลาวางไข่ขึ้นในปี ๒๕๕๔ ร่วมกับ “กลุ่มคนอาสาเพื่อแผ่นดิน” ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ศูนย์บริหารจัดการประมงน้ำจืดภาคตะวันตก กรมประมง และ “กลุ่มใบไม้” อาสาสมัครรุ่นใหม่ของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เพิ่งเข้ามาร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่เป็นปีแรก

บีคลี่เป็นแหล่งวางไข่และเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ต้นแม่น้ำบีคลี่ไหลมาจากเทือกเขาทางฝั่งเมืองพญาตองซู ประเทศเมียนมา ก่อนมาบรรจบกับลำน้ำอีกสองสาย คือแม่น้ำซองกาเลียและแม่น้ำรันตีที่ไหลมาจากผืนป่าทุ่งใหญ่-นเรศวรฝั่งตะวันตก รวมกันเป็นสามประสบตรงบริเวณโบสถ์จมน้ำหรือวัดวังก์วิเวการามเดิม ลำน้ำทั้งสามสายช่วยเติมเต็มผืนน้ำ ๒ แสนกว่าไร่ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลมซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอสังขละบุรีไปจนถึงอำเภอทองผาภูมิ ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำแควน้อยลงสู่แม่น้ำแม่กลอง นับว่าเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงทั้งชีวิตปลาและปากท้องของคนอีกทอดหนึ่งอย่างแท้จริง

redwaterfish03
ลูกครอกหรือลูกปลาชะโดตัวแดงแจ๋ฝูงใหญ่ว่ายน้ำเล่นตามแม่ปลาชะโดระหว่างฝนตก

ยิ่งในช่วง “ฤดูน้ำแดง” ที่น้ำฝนตกชะล้างหน้าดินพัดพาตะกอนและแร่ธาตุลงมาตามสายน้ำ ทำให้น้ำมีสีขุ่นแดงอุดมด้วยสารอาหารสำคัญของสัตว์น้ำ สายน้ำที่ไหลแรงช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ขณะที่อุณหภูมิน้ำลดต่ำเป็นปัจจัยกระตุ้นให้พ่อแม่พันธุ์ปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ ผสมพันธุ์กัน เมื่อแม่ปลาเริ่มตั้งท้องและมีไข่นับล้านรอการฟักตัว แม่ปลาจะอุ้มท้องว่ายทวนกระแสน้ำไปวางไข่ยังต้นน้ำตามเนวิเกเตอร์จากสัญชาตญาณความเป็นแม่ มันจะกะตำแหน่งวางไข่ในจุดที่เหมาะสม ฤดูน้ำแดงจึงเป็นดั่งสวรรค์ของเหล่าสัตว์น้ำ และเป็นเวลาทองของชาวประมงน้ำจืดรอบเขื่อน

ตามกฎหมาย การจับปลากินยังชีพนั้นยังคงทำได้ตลอดทั้งปีแม้ในช่วงฤดูน้ำแดง ยกเว้นบริเวณลำน้ำที่ห้ามเด็ดขาดสามแห่ง คือบริเวณสันเขื่อน ห้วยบ้านไร่ และห้วยบีคลี่ ซึ่งห้ามล่าตลอดทั้งปี แต่ก็เปิดโอกาสให้จับปลาด้วยเครื่องมือพื้นบ้านที่ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำรุนแรง เช่น เบ็ด (ยกเว้นเบ็ดราว) สวิง ไซ อีจู้ โทง เป็นต้น ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ บาท และหากใครใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย เช่น เครื่องชอร์ตปลา ระเบิด ตามพระราชกำหนดประมงฉบับใหม่ปี ๒๕๕๘ จะมีโทษปรับถึง ๑๐๐,๐๐๐-๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

โครงการสนับสนุนงานป้องกันฤดูปลาวางไข่จึงมีภารกิจหลักสามอย่าง หนึ่ง ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านรอบเขื่อนเรื่องกฎหมายและความสำคัญของการหลีกเลี่ยงจับปลาในช่วงฤดูวางไข่ สอง การเก็บกู้ตาข่ายและอุปกรณ์ลักลอบจับสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย และสาม การออกลาดตระเวนป้องปรามการลักลอบจับสัตว์น้ำทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อรักษาแหล่งปลาวางไข่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อ่างเก็บน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ กินระยะเวลาราว ๔ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤษภาคมถึง ๑๕ กันยายนของทุกปี เพื่อให้พ่อแม่พันธุ์ปลาได้ออกไข่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ

“เป็นโครงการที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์อันยั่งยืนในความมั่นคงทางอาหารแก่ชุมชนประมงทั้งสองอำเภอรอบเขื่อน ให้มีปลามากขึ้น ให้มีปลากินตลอดไป นั่นคือหลักการเพื่อชุมชนเอง” อำพลย้ำอีกครั้งด้วยน้ำเสียงและแววตามุ่งมั่น

เราโดยสารเรือแล่นฝ่าความมืดมิดยามค่ำคืนชั่วโมงกว่า ๆ ก็มาถึงแพของเจ้าหน้าที่บริเวณหน้าเจดีย์พุทธคยา เจ้าหน้าที่และเหล่าสมาชิกกลุ่มใบไม้แยกย้ายกันเก็บของ เตรียมตัวออกปฏิบัติภารกิจอย่างไม่รู้ง่วง แม้เข็มนาฬิกาเดินถึงเลข ๑ ของเช้าวันใหม่

“ถ้าทำได้ คำที่ว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ก็จะเป็นจริง” หนุ่มใหญ่ผู้ริเริ่มโครงการกล่าวอย่างมีความหวัง

redwaterfish04
เรือตรวจการประมงน้ำจืด กรมประมง ระหว่างออกลาดตระเวนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์

ตาข่ายดักฝันกลางฤดูฝน

ระหว่างเรือโลดแล่นเหนือท้องน้ำกว้าง เท่าที่ตาเล็ก ๆ ของฉันมองเห็น มีตาข่ายเก่าชำรุดติดซากตอไม้จำนวนมากตลอดลำน้ำ พ้นจากผิวน้ำปลาอาจรอด แต่สัตว์ผู้ล่าปลาอย่างนกไม่อาจบินผ่านข่ายนั้นไปได้ โชคนิธิ คงชุ่ม หนุ่มร่างท้วมใจดีวัย ๒๗ ปี หัวหน้ากลุ่มใบไม้ที่พาอาสาสมัครนับ ๑๐ คนมาร่วมงานนี้ เล่าให้ฟังว่าตลอดระยะเวลาที่ทำงานมาพบนกทั้งที่ยังมีชีวิตและซากนกหลายชนิดติดอยู่กับข่ายตะคัดเหล่านั้น

ส่วนใต้ผิวน้ำลึกลงไปเกินกว่าตาเห็น เจ้าหน้าที่ใช้ตะกาวซึ่งเป็นเหล็กคล้ายกับสมอเรือโยนลงน้ำเกี่ยวตาข่ายขึ้นมา ทำให้เราพบว่ายังมีตาข่ายอีกหลายร้อยผืนทั้งข่ายเก่าและใหม่ลากยาวจากตลิ่งฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่แนวเดียว แต่โยงซ้อนกันไปมายิ่งกว่าใยแมงมุม ลึกลงไปสองชั้นสามชั้นเพื่อดักปลาทั้งที่หากินผิวน้ำและหน้าดิน

เหล่าอาสาฯ จากกลุ่มใบไม้กว่า ๑๐ คนที่กระจายกำลังไปตามเรือต่าง ๆ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นนายท้ายเรือ เริ่มสาวข่ายตะคัดที่มีปลาติดขึ้นมาจำนวนมาก หน้าที่สำคัญคือต้องตัดข่ายช่วยชีวิตปลาให้ไวที่สุด ตาข่ายถูกสาวขึ้นมาผืนแล้วผืนเล่าอย่างไม่รู้จุดหมายปลายทางว่าจะไปสิ้นสุดที่ตอหลักไหน

ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการมากว่า ๕ ปี ชุดปฏิบัติงานเก็บกู้ตาข่ายซึ่งขวางกั้นวงจรชีวิตของปลาตามธรรมชาติในพื้นที่กว้างใหญ่กว่า ๒ แสนไร่ได้นับหมื่นผืน ซึ่งหากนำข่ายตะคัดจำนวนนั้นมาเย็บต่อกันจะได้ระยะทางไป-กลับจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงเมืองชายแดนตะวันตกอย่างสังขละบุรีได้เลยทีเดียว

“มีปลาไข่เต็มท้องถูกตาข่ายรัดแน่น เมื่อเราช่วยปล่อยเขา สิ่งนี้คือความสำเร็จที่เกิดกับทรัพยากรและเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับหัวใจเรา” โชคนิธิบอกฉันอย่างนั้น

ฉันร่วมลงเรือออกปฏิบัติงาน ทั้งเวลากลางวันที่แดดร้อนจนแสบผิว บางวันก็ฝนตกหนัก และในเวลากลางคืนที่มืดมิดทั้งเหน็บหนาวจากลมฝนจนเสื้อแขนยาวสามชั้นแทบทานไม่ไหว แต่เรามีลมหายใจเป็นเดิมพัน ยิ่งแกะตาข่ายปล่อยปลาไวเท่าไร นั่นหมายถึงปลาตัวต่อไปที่ถูกรัดติดข่ายมีโอกาสรอดมากขึ้นเท่านั้น

จังหวะที่ปลาติดข่ายไม่ได้ไปวางไข่ อาจคือความล่มสลายของแหล่งอาหารและรายได้ที่สำคัญ…ของทุกชีวิต

จังหวะที่ฝ่ามือฉันสัมผัสท้องเต่งที่เต็มไปด้วยไข่หลายพันฟองขณะอุ้มแม่ปลากระสูบตัวโตไม่ต่ำกว่า ๒ กิโลกรัมมาวางบนตัก แล้วรีบคว้ากรรไกรตัดข่ายตะคัดที่พันตัวปลาแน่นก่อนจะปล่อยปลาลงน้ำ ฉันไม่รู้ว่าแม่ปลาจะว่ายทวนน้ำไปถึงที่วางไข่ให้กำเนิดลูกปลาได้หรือไม่ แต่มันคือความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับหัวใจอย่างที่เขาบอกไว้จริง ๆ

เราช่วยต่อลมหายใจให้เขา ไม่ใช่ในฐานะของพระเจ้าผู้กุมชะตาชีวิต แต่ในฐานะเพื่อนที่ยังพึ่งพาอาศัยธรรมชาติร่วมกัน

น้ำแดงที่หลากมาอาจบอกแม่ปลาว่าถึงเวลาให้กำเนิดชีวิต แต่มันคงไม่รู้ว่าเปอร์เซ็นต์ของการเกิดพอ ๆ กันกับความตาย แม่ปลาบางตัวอาจต้องหยุดฝันที่จะกลับไปวางไข่ยังบ้านหลังเดิมกลางฤดูฝน เมื่อถูกกับดักตาข่ายขวางกั้นไว้

“คนที่ไม่มีอาชีพเสริมเขายังรั้นอยู่ เพราะถ้าเขาหยุดจับก็ไม่มีรายได้มาจุนเจือ เขาต้องหาเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ถ้าผมไม่ได้เลี้ยงปลากระชัง ไม่ได้วิ่งเรือรับนักท่องเที่ยว ผมก็ต้องไปจับปลาเหมือนกัน ขนาดเรายังกระท่อนกระแท่น ระยะ ๔ เดือนนี้คนที่ไม่มีเรือวิ่งหาแต่ปลาเป็นหลักจะลำบากนะ แต่ออกไปจับปลาก็เสี่ยงโดนจับ” บุญเรือง บุญเสน ชาวประมงสังขละบุรี เจ้าของกระชังปลาคัง และเรือรับจ้างเล่าถึงความเป็นอยู่ของคนหาปลาในช่วงฤดูน้ำแดง ภรรยาของเขา นงลักษณ์ บุญเสน เสริมว่า “แต่ก่อนที่ยังไม่ห้ามจับช่วงฤดูน้ำแดง คนหาปลาขายได้ถึงหมื่นสองหมื่นบาท พอหมดช่วงน้ำแดงก็หาปลาไม่ค่อยได้แล้ว”

แม้จะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวแต่ทั้งสองสามีภรรยาก็ผลัดกันเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟังอย่างเป็นมิตร พวกเขาหาปลามาตั้งแต่ หลังสร้างเขื่อนใหม่ ๆ ซึ่งคนหาปลามีแต่คนไทย ส่วนคนมอญและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นยังทำไร่อยู่บนเขา จนเมื่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ ประกาศพื้นที่เป็นเขตอุทยานฯ ผู้คนบนเขาก็ต้องย้ายลงมาอยู่แพและหาปลาเป็นอาชีพ คนหาปลาจึงเต็มไปหมด

“ทำไมถึงเลิกจับปลาแล้วมาเลี้ยงปลากระชังแทนคะ ?”

“เปลี่ยนมาเลี้ยงเพราะหาปลาลำบาก ไปก็โดนจับ มันไม่คุ้ม”

ชายกลางคนผิวคล้ำแดดตอบ ก่อนเล่าต่อว่า “เมื่อก่อนหาปลาเป็นอาชีพ ใครขยันออกก็ได้ ใครขี้เกียจก็ไม่ได้ แล้วกรมประมงเขาก็มาส่งเสริมการเลี้ยงปลากระชัง ให้พันธุ์ปลามาแต่น้อย มันไม่พอเลี้ยงหรอก เราต้องลงทุนซื้อกันเอง เราเริ่มเลี้ยงปลามา ๔-๕ ปีแล้ว
เพราะหาปลามันไม่เหลือเก็บ”

“ถ้าใช้แต่อุปกรณ์ที่เขาอนุญาตมันก็หาปลาได้ไม่พอหรอก แต่เลี้ยงปลาก็เสี่ยงนะ อย่างช่วงน้ำแรง ๆ ปีที่สะพานพัง (วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๖) กระชังปลาพังกันเยอะ ปลาหลุดไปเป็นพัน ๆ ตัว เสียเปล่าเลย แล้วไม่มีเงินชดเชย เทศบาลเขาให้พันธุ์ปลาคังมา แต่เลี้ยงไม่รอด ตายหมด มันเป็นพันธุ์ปลาที่ช้ำมา ไม่เหมือนกับที่เราซื้อตามร้าน” นงลักษณ์สะท้อนปัญหาขณะป้อนข้าวบดให้หลานตัวน้อยวัย ๗ เดือน

เมื่อฝันของคนวางข่ายถูกดักเสียเอง…

“ลำห้วยไหนที่ปลาขึ้นวางไข่เยอะ ๆ เขาจะปิด อย่างบีคลี่ แต่ให้จับข้างนอกได้ แล้วก็ขยายเขตห้ามจับไปเรื่อย ๆ จนมากฎหมายใหม่เขาปิดหมดตั้งแต่หน้าเขื่อนถึงท้ายเขื่อน หัวหน้าคนเก่าเคยมีโครงการให้ชาวบ้านไปคุยกับผู้ว่าฯ โดยตรง ไปตกลงกันว่าจะแบ่งเขตให้จับปลายังไง ใช้ข่ายตาห่างเท่าไร แต่พอหัวหน้าย้ายไปโครงการก็หยุด ไม่มีใครสานต่อ” หัวหน้าครอบครัวบุญเสนถ่ายทอดความทรงจำสีหม่นราวกับท้องฟ้าที่กำลังครึ้มฝนระหว่างเราคุยกัน

จังหวะที่ปลาหลุดจากข่ายได้ไปวางไข่ อาจทำให้หลายคนมีปลากินไปตลอดปี
จังหวะที่ปลาหลุดจากข่ายได้ไปวางไข่ ไม่รู้ว่าครอบครัวเจ้าของข่ายจะมีโอกาสกินปลาในวันพรุ่งนี้ไหม
จังหวะที่ปลาติดข่ายไม่ได้ไปวางไข่ อาจทำให้หนึ่งครอบครัวอิ่ม แต่หลายครอบครัวอด
จังหวะที่ปลาติดข่ายไม่ได้ไปวางไข่ อาจคือความล่มสลายของแหล่งอาหารและรายได้ที่สำคัญ…ของทุกชีวิต

เหมือนฝันที่แขวนบนเส้นตาข่าย ไม่มีความแน่นอน ทั้งปลา คนดักข่าย หรือแม้แต่คนตัดข่าย

คาดเดายากดั่งฟ้าฝน หยดน้ำที่ตกลงมาเติมเต็มผืนน้ำอาจคือหยาดน้ำตาที่หลั่งรินให้กับฝันกลางฤดูฝน…

redwaterfish06
เจ้าหน้าที่กำลังสาวเก็บตาข่ายดักปลาที่มีคนลักลอบวางไว้ในช่วงฤดูแม่ปลาวางไข่ ซึ่งเป็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

ตะวันขึ้นที่ฝั่งตะวันตก

จังหวะเวลาของทุกชีวิตมี ๒๔ ชั่วโมงเท่ากันตั้งแต่พระอาทิตย์แย้มหน้าผ่านขอบฟ้าขึ้นมาสบตาให้ความอบอุ่นแล้ว ลาลับให้พระจันทร์อวดแสงนวลตาต่อทั้งคืน

ภารกิจในโครงการนี้ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน บางครั้งทำงานกลางวัน บางคราวทำงานกลางคืน หลายครั้งลากยาวถึงเช้า และตลอดเวลาก็ล่อแหลมสุ่มเสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุหรือการปะทะกับผู้กระทำผิดกฎหมาย หากเป็นหน้าที่โดยตรงคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่ แล้วฝันแบบไหนที่รวมอาสาสมัครกลุ่มใบไม้ ๑๐ กว่าคนมาในช่วงฤดูน้ำแดง ?

“ทำในสิ่งที่เราทำได้ ณ จุดที่เราอยู่ ด้วยสิ่งที่เรามี”

โชคนิธิ พี่ใหญ่ของกลุ่มใบไม้กล่าวคำขวัญประจำกลุ่มขึ้นมาก่อนจะเล่าให้ฟังว่า “พี่ ๆ มูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก หน่วยประมงฯ เขาแหลม กลุ่มคนอาสาเพื่อแผ่นดิน พวกเขาคือของแท้ที่ทำงานนี้กันอย่างจริงจัง ส่วนกลุ่มเราเห็นว่าสามารถรวมตัวกันมาช่วยงานเจ้าหน้าที่ และช่วยเผยแพร่โครงการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ”

redwaterfish07
ปลาแม่น้ำธรรมชาติใหญ่น้อยจากเขื่อนวชิราลงกรณวางเรียงรายขายในตลาดสดอำเภอสังขละบุรีตั้งแต่เช้าตรู่

ในบทสนทนาเคล้าเสียงสายฝนตกกระทบผืนน้ำ ฉันถามถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดโครงการนี้

“การที่เราเก็บกู้ตาข่าย เปิดโอกาสให้ปลาขึ้นไปวางไข่ได้มาก แปลว่าปริมาณปลามีแนวโน้มมากขึ้น แต่เราไม่ได้เก็บข้อมูลจริงจังที่ปลายทาง แต่อย่างน้อยต้นทางเราเห็น อย่างล่าสุดผมปล่อยปลาตะเพียนตัวใหญ่ ๆ ไข่เต็มท้องและตัวผู้ที่พร้อมจะฉีดน้ำเชื้อ คืนเดียว ๓๐-๔๐ ตัว” คือคำตอบจากประสบการณ์ของเขา ก่อนทิ้งท้ายว่า

“ถ้าเราทำตรงนี้ได้สำเร็จจะเป็นต้นแบบของที่อื่น อย่าคิดว่าทำไม่ได้ ถ้าอยากเห็นความยั่งยืนก็ต้องทำ เราเริ่มจากคนไม่กี่คน ทุกคนเอางานเป็นที่ตั้ง งานอนุรักษ์เป็นงานที่ทำไม่มีวันจบ การสร้างสำนึกคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งจำเป็น”

ต่อคำถามเดิมกับอำพล หัวหน้าโครงการสนับสนุนงานป้องกันฤดูปลาวางไข่ที่ดำเนินงานมาหลายปี

“เราพบว่าตัวเลขจากสะพานปลาทั้งสองอำเภอเพิ่มขึ้น ๓ ปีที่ผ่านมามีปลาตะเพียนขึ้นเป็น ๑๐ ตัน ตัวเลขนี้ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ ๑๐ ปี ปีที่แล้วเราเจอปลากา ๑๐ กิโลครึ่ง ไข่ออกไปแล้วนะ แล้วยังเจอพันธุ์ปลาที่ไม่เคยเห็นมานานอย่างปลาสร้อยน้ำเงิน ปลากระแห ปลาเนื้ออ่อน และจากการสังเกตของเจ้าหน้าที่หรือจากชาวบ้านที่เราไปพูดคุยก็เห็นตรงกันว่าพบปลามากขึ้น นี่เป็นข้อมูลแวดล้อม ไม่ใช่งานวิจัย แต่ก็พอชี้คร่าว ๆ ว่าหลังโครงการดำเนินงานมาจำนวนประชากรปลาเพิ่มขึ้น” เขาตอบอย่างภูมิใจ

“จริง ๆ ชาวบ้านที่เห็นด้วยก็มีเยอะ คอยเป็นหูเป็นตาเป็นสายข่าวให้เรา คนที่โทร.บอกเราก็คือคนที่เห็นว่าการชอร์ตปลาเป็นการทำประมงที่ไม่ยั่งยืน” ไพรัตน์ อ่อนจันทร์ เจ้าหน้าที่ประมงนายท้ายเรือกล่าวขึ้นก่อนส่งสัญญาณให้ทุกคนในเรือเงียบเสียง

เราแอบซุ่มบริเวณปากลำน้ำเงียบ ๆ เพื่อรอผู้ลักลอบจับปลาอย่างผิดกฎหมายนานหลายชั่วโมง ฉันนั่งหนาวหลับ ๆ ตื่น ๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่เฝ้าสอดส่องสายตาฝ่าความดำมืดและกลุ่มหมอกที่เริ่มลงหนาตาสังเกตความเคลื่อนไหวผิดปรกติในลำน้ำ

แล้วในเวลาเช้ามืดของวันใหม่ก็มีเรือลำหนึ่งแล่นมา ไพรัตน์สตาร์ตเครื่องและรีบเร่งเรือมุ่งหน้าเข้าหาเรือลำนั้น ฉันรู้สึกตื่นเต้นและหายง่วงทันที รู้สึกเหมือนอยู่ในภาพยนตร์สายลับ

เขาสอบถามชายหนุ่มบนเรือว่ามาทำอะไร ชายหนุ่มตอบว่ามาตีนกแต่ไม่ได้สักตัว บนเรือปูเสื่อเรียบ ๆ ไร้ตัวนกหรืออุปกรณ์ตีนกใด ๆ แน่นอนว่าเขาไม่ได้มาตีนกตอนตี ๔ แต่เมื่อไม่มีหลักฐานเอาผิดก็ต้องปล่อยไป เหตุการณ์ทำนองเดียวกัน บางคืนเจ้าหน้าที่อาจเจอปลาชะโดตัวละเกือบ ๑๐ กิโลกรัมซ่อนไว้ใต้เสื่อ บางคืนเจอลูกปลาชะโดแดงแจ๋นับร้อย ๆ ตัวในถังใหญ่ เมื่อเจอของกลางเจ้าหน้าที่ต้องยึดปลาไว้ ส่วนชาวบ้าน เจ้าหน้าที่เลือกที่จะตักเตือนและปล่อยให้กลับบ้านแม้จะสามารถจับส่งดำเนินคดี

……………………………………………………………..…………

redwaterfish08
เมื่อตัดข่ายตะคัดที่ผูกรัดตัวปลาออกหมด ก็ได้ปล่อยปลาคืนสู่ธรรมชาติ

คืนสุดท้ายของกลุ่มอาสาสมัคร หลังกลับจากปฏิบัติงานไกลข้ามเขตอำเภอนานข้ามวันข้ามคืน อำพลเล่าเรื่องอย่างตื่นเต้นถึงการไปเห็นกับตาตัวเองครั้งแรกในการทำงานมาหลายปีว่าปลาที่แกะจากข่ายและปล่อยลงน้ำนั้นว่ายไปถึงที่วางไข่จริง ๆ เพราะหลังจากปล่อยปลาแล้วเขาได้เดินทวนน้ำไปตามทิศทางที่ปลาว่ายขึ้นไปตามลำห้วยเล็ก ๆ บริเวณต้นน้ำ และเห็นฝูงปลาที่มีรอยแผลถลอกว่ายหายเข้าไปในกอหญ้าริมน้ำซึ่งเป็นจุดที่ปลามักใช้เป็นที่วางไข่

“ถือเป็นรางวัลของการทำงานเลย ถ้าวันนี้ไม่ไปเก็บข่ายจะเสียหายขนาดไหน ข่ายเต็มปากอ่าวไปหมด ไม่มีทางที่ปลาจะขึ้นไปต้นน้ำได้เลย”

แววตาประกายเปี่ยมด้วยความหวังของคนทำงานที่ได้เป็นประจักษ์พยานกับตาว่าปลาที่ปล่อยกับมือจะได้วางไข่และให้กำเนิดลูกปลาอีกนับล้านชีวิต ซึ่งจะเติบโตต่อไปตามวงจรธรรมชาติ เป็นทรัพยากรต้นทุนที่สำคัญของชาวบ้านรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม เป็นอาหารในจานส่งกลิ่นหอมยั่วลิ้น เป็นเงินตราใช้ยังชีพเลี้ยงปากท้อง และหมุนเวียนธุรกิจการท่องเที่ยวที่จะยังคงมีปลามาเติมเต็ม

ฉันนึกถึงเช้าวันใหม่วันหนึ่ง วันที่ล่องไปกลางผืนน้ำกว้างและหมอกขาวจาง ตอไม้ที่โผล่พ้นน้ำเป็นระยะ ๆ กับบรรยากาศ อึมครึมชวนสิ้นหวัง เงียบเหงาวังเวง แต่ไม่นานท้องฟ้าก็ค่อย ๆ สาดแสงสว่างเผยความงดงามของธรรมชาติเบื้องหน้า ราวกับเป็นสัญญาณ ของความหวังใหม่ เช่นเดียวกับ “โครงการสนับสนุนงานป้องกันฤดูปลาวางไข่” ในน่านน้ำฝั่งตะวันตกที่กำลังช่วยต่อชีวิตคนและปลา

ฉันเห็นพระอาทิตย์ขึ้นทางฝั่งตะวันตก สวยงามเกินกว่าจะบรรยาย…

redwaterfish09
อาสาสมัครกลุ่มใบไม้ กลุ่มคนอาสาเพื่อแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่กรมประมง กำลังนั่งวางแผนปฏิบัติภารกิจเก็บกู้ตาข่ายดักปลาแม้จะเป็นเวลายามค่ำคืนแล้ว

ขอขอบคุณ

  • พี่ริน-อำพล ฐาปนพันธ์นิติกุล เลขานุการมูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก
  • น้าป้อม-วิทยา สวนตะโก หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติงานสำนักบริหารจัดการประมงน้ำจืดเขื่อนวชิราลงกรณ
  • น้ายา-ไชยา แถวเที่ยง สมาชิกกลุ่มอาสาเพื่อแผ่นดิน
  • น้าเขียด-ไพรัตน์ อ่อนจันทร์ เจ้าหน้าที่กรมประมง
  • น้าเริง-ธนากร แผ่เธียรทอง เจ้าหน้าที่กรมประมง
  • หมวดหนอง-สนอง ปิ่นตุรงค์ เจ้าหน้าที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๓๔ อำเภอสังขละบุรี
  • พี่เก่ง-โชคนิธิ คงชุ่ม หัวหน้ากลุ่มใบไม้
  • บุญเรือง บุญเสน ชาวประมงสังขละบุรี
  • นงลักษณ์ บุญเสน ชาวประมงสังขละบุรี
  • กลุ่มใบไม้
  • เพจ Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ
  • รายการคนมันส์พันธุ์อาสา
  • SeubNews
  • บทความ “สิ้นมัจฉาในบิคลี่ ก็สิ้นนที ๓ ประสบ”
  • และแหล่งข้อมูลทุกอย่างที่ไม่ได้กล่าวถึง ณ ที่นี้
  • จากนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 381 พฤศจิกายน 2559 อาหารการกิน

rasrapas

รัศมิ์ลภัส กวีวัจน์
ผู้ที่ไม่ค่อยเข้าใจตัวเองและสิ่งอื่น ๆ รอบตัว อยู่นิ่งไม่ค่อยได้ ถ้าฝึกฝนท่องโลกทฤษฎีในคณะอักษรฯ จนครบกำหนดให้พ่อแม่ดีใจแล้วตั้งใจจะพาตัวเองไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในโลกใบอื่นต่อ รักการอ่านพอ ๆ กับการเดินทาง ไปล่องลอยด้วยกันไหม ?

nawapol

นวพล นวกิจพิพัฒน์
มัคคุเทศก์อ้วนดำคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และมิตรภาพจากครูค่ายและเพื่อน ๆ ชาวค่ายในฐานะช่างภาพสารคดี เพราะอยากให้บ้านเกิดตัวเองเป็นที่รู้จักในด้านดี ๆ มากกว่าเห็นข่าวระเบิดในจอโทรทัศน์