วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


จบค่ายสารคดีแล้วไปไหน

ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ความจริงเป็นวันเปิดค่าย แต่คล้ายเป็นประเพณีที่ทุกค่ายครั้งใหม่ จะต้องมีพวกรุ่นพี่รุ่นก่อนๆ กลับมาร่วมค่ายด้วยเสมอ เป็นสายสัมพันธ์ต่อเนื่องของคนที่รักชอบในสิ่งเดียวกัน

หลังผ่านค่ายพวกเขาอาจไปอยู่ในที่หนึ่งใด บนเส้นทางการเขียนหรือถ่ายภาพหรือไม่ก็ตาม แต่จากคำเล่าขานที่เขานำมาบอกต่อรุ่นน้อง สิ่งที่ได้จากค่ายได้นำไปใช้ในงาน หรือกระทั่งบางคนยอมรับว่าการมาค่ายกลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต

camp to fututre02

ภาพ : กฤต พรพิชิตภัย

“งานที่เขียนในค่ายได้ตีพิมพ์ใน สารคดี ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตผมเลย”

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ สมาชิกค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๑ ปัจจุบันเป็นสถาปนิก

แต่แทนที่จะเป็นสถาปนิกอย่างเดียวตามสาขาที่เรียนมา ตอนนี้เขาทำงานเขียนด้วยอย่างเนื่องมาหลายปี ทั้งคอลัมน์ออนไลน์ นิตยสาร และผลงานหนังสือเล่ม

camp to fututre03

ภาพ : กฤต พรพิชิตภัย

ปูเป้ – จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพแนวสตรีท จากค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๑ เล่าประสบการณ์สู่รุ่นน้องว่า

“การถ่ายภาพแนวสตรีท สิ่งสำคัญที่สุดคือโมเมนต์ การจับจังหวะ เพราะมันเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในชั่วขณะ ภาพแนวสตรีทโดยทั่วไป ‘บิด’ ได้ เปิดโอกาสให้คนดูตีความต่างไปจากเหตุการณ์จริงได้ แต่ถ้าเป็นภาพสารคดีต้องสื่อความตามจริง เรื่องนี้จุดสำคัญอยู่ที่การจัดคอมโพสต์”

camp to fututre04

ภาพ : กฤต พรพิชิตภัย

ค่ายสารคดีจัดการอบรมแบบควบคู่ นักเขียน-ช่างภาพจับคู่ร่วมเรียนรู้ทำงานควบคู่ไปด้วยกันตลอดค่าย ความสัมพันธ์ การทำงานร่วม การยอมรับ รับฟังกัน ดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือกัน ฯลฯ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความสัมฤทธิ์ผลด้านผลงาน

นาย – วัชรพงศ์ ทิพย์มณเฑียร จากค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๓ ฝากถ้อยถึงรุ่นน้องว่า

“ขอให้เชื่อมั่นต่อกัน เชื่อในคู่ของเรา เชื่อในตัวเอง สุดท้ายก็เชื่อใจกันหมด ว่าเราทำได้”

เขายืนยันจากประสบการณ์จริงที่ไปเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ แฟนเพจ “อาสา พาไปหลง” ซึ่งเขาบอกว่าใช้กระบวนการเดียวกับที่ได้เรียนรู้ไปจากค่าย และโดยกระบวนการดังว่านี้ ทำให้เขานิยามรายการที่ทำอยู่ว่า

“ไม่ใช่รายการท่องเที่ยว แต่เป็นสารคดีที่มีความบันเทิงอยู่ด้วย”

camp to fututre05

ภาพ : กฤต พรพิชิตภัย

คชรักษ์ แก้วสุราช นักเขียนจากค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๒ ปัจจุบันเป็นกองบรรณาธิการ thisable.me

แนะน้องจากประสบการณ์ของตัวเองว่า

“มาค่ายเหมือนลงวิ่ง บางทียังไม่รู้หรอกเราถนัดแบบไหน มาค่ายเพื่อให้โค๊ซช่วยดู ตอนเขียนงานไม่ต้องกลัวจะมีคนช่วยดู วิ่งไป-แล้วจะเห็นตัวเอง”

camp to fututre06

ภาพ : กฤต พรพิชิตภัย

เป็นปากคำสมาชิกค่ายรุ่นพี่บางส่วนที่ร่วมเวทีเสวนา ซึ่งยังมีอีกหลายหลายที่มาร่วมพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ เป็นกระแสเสียงแห่งความสัมพันธ์ สุมหัว หัวเราะ สรวลเสเฮฮากันประสาคนรักชอบในศาสตร์ศิลป์สายสารคดี

เช่นที่ เปียว – สุนันทา จันทร์หอม นักเขียนจากค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๒ พิธีกรและครีเอทีฟ รายการ “คนค้นค้น” ที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ให้คำจำกัดความหนุ่มสาวกลุ่มก้อนนี้ว่า

“พวกเราเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตมาจากค่าย ซึ่งได้รับการโอบอุ้มสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีที่เห็นคุณค่าของงานสารคดี”