ณฐมน รัตนสุภา : เรื่อง
กวิน สิริจันทกุล : ภาพ
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15

ดำดิ่งสู่ห้วงชีวิตอินเดียน่าโจนส์แห่งเจ้าพระยา
วิถีชุมชนที่อยู่คู่กับแม่นํ้ามานานหลายสิบปีควบคู่กับความเจริญของเมืองกรุง ท่ามกลางความเจริญและการพัฒนาที่คืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ

‘นักประดาน้ำหาของโบราณ’ เป็นหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนริมน้ำหลายครัวเรือน แต่ก็ใช่ว่าอาชีพนี้จะสามารถทำกันอย่างง่าย ๆ เพราะแท้จริงแล้วอาชีพนักประดาน้ำต้องอาศัยทักษะและการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นอันตรายเสมือนชีวิตถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย

ภูมินทร์ สำอางค์ หรือลุงเล็ก ชายวัย 63 ปี อาศัยอยู่ที่ชุมชนมิตรคาม 1 สุดซอยสามเสน 13 ติดแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบอาชีพนักประดาน้ำหาของโบราณมากว่าครึ่งชีวิต จนเรียกได้ว่าการดำน้ำหาของโบราณในแม่น้ำได้กลายเป็นวิถีของเขาไปแล้ว ทำให้ใครหลายคนต่างขนานนามเขาว่า ‘อินเดียน่าโจนส์เมืองไทย’ ที่ต้องผจญภัยตามล่าหาวัตถุโบราณที่จมอยู่ภายใต้แม่น้ำที่ลึกหลายสิบเมตร

ลุงเล็กสาธิตขั้นตอนกระบวนการทำงานของนักประดาน้ำให้เราชม ขั้นตอนแรกต้องโยนสมอกำหนดจุดที่ต้องการจะปักหลักหาสมบัติก่อน จากนั้นก็ใส่เชือกคาดเอวเพื่อความปลอดภัยแล้วค่อย ๆ หย่อนตัวทิ้งลงแม่น้ำ เมื่อทรงตัวได้ที่แล้วผู้ช่วยจึงยื่นหัวครูประดิษฐ์จากสแตนเลสหนักกว่า 20 กิโลกรัม พร้อมกับต่อสายยางเข้ากับปั๊มลมสำหรับหายใจใต้น้ำ ครอบให้นักประดาน้ำใส่ไว้ให้มิดศีรษะ และเมื่อทุกอย่างเสร็จศัพท์ก็ทำงานดำน้ำได้เลย

เมื่อลุงขึ้นมาโผล่ผิวน้ำและทำการขึ้นกลับไปนั่งบนเรือ เราสังเกตเห็นย่ามสะพายเอวดูเหมือนจะมีวัตถุอะไรอยู่ข้างในก็เริ่มมีความหวังที่จะได้เห็นวัตถุโบราณที่เพิ่งถูกงมขึ้นมาอย่างจริงจัง คุณลุงเล็กทำการเทสิ่งที่อยู่ในย่ามออกมาใส่ในถาดแล้วทำการร่อนกับน้ำเพื่อชำระดินโคลนออกไป สิ่งที่ปรากฏภายในถาดก็คือเหรียญกษาปณ์สีค่อนข้างเก่านับสิบเหรียญ

indiana chaopraya02
ลุงเล็กนักประดานํ้าแห่งแม่นํ้าเจ้าพระยา กําลังยืนอยู่บนเรือ ถือหมวกคู่ใจพร้อมห้อยถุงเก็บของเตรียมตัวลงหาขุมทรัพย์ใต้นํ้า
indiana chaopraya03
การดํานํ้าหาของมีค่าในแต่ละครั้งจะใช้หน้ากากดํานํ้าทําเอง โดยจะใช้เครื่องสูบลมจากบนเรือเพื่อเติมอากาศเมื่ออยู่ใต้ผิวนํ้า และเนื่องจากนํ้าหนักของหน้ากากจึงต้องมีผู้ช่วยอยู่บนเรือเสมอ  
indiana chaopraya04
ความขุ่นของนํ้าทําให้มองเห็นได้ไกลเพียง 1 เมตร จึงต้องใช้มือและเท้าในการคลําเขี่ยหาที่ก้นแม่นํ้า 

ลุงเล่าว่า “พื้นที่ย่านชุมชนนี้ไม่ค่อยเจอวัตถุโบราณแล้วเพราะลงไปงมบ่อย ส่วนพื้นที่ที่มีวัตถุโบราณมากหน่อย มักจะอยู่แถวหน้าวัดกัลยา หน้าวัดอรุณ แล้วก็สะพานพุทธ แต่เดี๋ยวนี้ที่แถบนั้นไปงมหายากเพราะเรือนำเที่ยวเยอะขึ้น ขยะก็เยอะมาก มันอันตราย”

เมื่อถามว่าทำไมคุณลุงยังคงทำอาชีพนี้อยู่ คุณลุงก็ตอบอย่างภูมิใจว่า “อาชีพนี้มันเป็นอาชีพที่สุจริต ลุงทำแล้วหาเลี้ยงครอบครัวได้ อีกอย่างมันก็อิสระมาก เราอยากทำวันไหนก็ทำ ถ้าวันไหนเราไม่อยากทำเราก็ไม่ต้องทำ อาชีพนี้มันเหมือนเราได้ผจญภัย ได้เดินทางอยู่ประจำ ลุงชอบเพราะมันก็สนุกดีถ้าถามว่าจะทำถึงอายุเท่าไหร่ก็จนกว่าร่างกายจะทำไม่ไหว”

อินเดียน่าโจนส์แห่งเจ้าพระยาพูดพลางยิ้มอย่างมีความสุข

indiana chaopraya05
เหรียญเก่า ถ้วยชาม และของมีค่าอื่นๆ ที่คุณลุงพบอยู่ใต้แม่นํ้าเป็นสัญลักษณ์ว่าแม่นํ้าเจ้าพระยามีชุมชนโดยรอบและมีการใช้แม่นํ้าในการสัญจรมาตั้งแต่อดีต  
indiana chaopraya06
น่าเสียดายที่วิถีนักประดานํ้าแห่งแม่นํ้าเจ้าพระยาและชุมชนริมนํ้าอาจจะหายไปในอีก 2 ปีข้างหน้า 

ณฐมน รัตนสุภา

indiana photo

กวิน สิริจันทกุล