เรื่องและภาพ : กำแชะ
ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 15

เถ้าฮงไถ่ ราชบุรี : แปลงบ้านเป็นแกลเลอรี ทุกที่คือหอศิลป์

ประติมากรรมหมาน้อยลายจุด รูปปั้นคนนั่งริมน้ำ และเซรามิกริมถนน สามสิ่งสร้างความตื่นเต้น ชวนให้พวกเราที่เพิ่งตื่นจากการงีบหลับราวกว่า 2 ชั่วโมง ชี้นิ้วไปยังประติมากรรมแปลกตารอบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี พูดคุยจอแจถึงสิ่งที่ได้พบเป็นครั้งแรก 

เรามีโอกาสได้พบกับติ้ว-วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทโรงงานเซรามิก “เถ้าฮงไถ่” ผู้จบการศึกษาปริญญาโทด้านศิลปะจาก University of Kassel ประเทศเยอรมนี ซึ่งเรียนเกี่ยวกับ เทคโนโลยีสำหรับเครื่องเคลือบดินเผา และได้นำแนวคิดศิลปะตะวันตกมาประยุกต์สร้างสรรค์ให้อยู่ในจังหวัดราชบุรีกว่า 20 ปี เขานำงานศิลปะมาตั้งไว้กลางเมืองเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงศิลปะได้ตามแนวคิดที่เขาเชื่อว่าทุกบ้านคือแกลเลอรี ทุกที่คือหอศิลป์ อย่างบ้านริมน้ำและร้านตัดผมกลางเมืองที่กลายเป็นแหล่งจัดวางงานศิลปะให้ผู้คนได้รับชม รวมถึงร้านข้าวหมูแดงนายกี่แห่งนี้

จากร้านข้าวหมูแดงธรรมดา เติมแต่งด้วยเครื่องปั้นเซรามิกห้อยลงมาจากชั้นวางสูง ระโยงระยางผ่านหัวไปมา และงานจิตรกรรมฝีมือเจ้าของร้านประดับข้างฝา กลายเป็นสิ่งที่สร้างอรรถรสใหม่ๆ ในการลิ้มรสอาหาร 

“เขาสนใจ มากินข้าวเสร็จเขาก็มาถ่ายภาพ”

เพ็กไน้ วงศ์มณีประทีป เจ้าของร้านข้าวหมูแดงนายกี่บอกพวกเราว่า เมื่อมีศิลปะเข้ามาจัดแสดงในร้าน ลูกค้าก็ให้ความสนใจเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากได้อิ่มอร่อยจากเมนูในร้านแล้วยังได้เสพศิลปะ จนทำให้จากเดิมร้านที่ขายดีอยู่แล้วยิ่งขายดีแบบเทน้ำเทท่า

taohongtai02
taohongtai03
taohongtai04

ระหว่างรอครูและเพื่อนๆ พักเหนื่อยจากการลงพื้นที่ เราจึงเดินเล่นใกล้ๆ ร้านข้าวหมูแดงนายกี่ เพื่อพูดคุยสอบถามถึงบรรยากาศงานศิลปะที่พบเห็นรอบเมือง

ปุ้ย-สุพรรณี บุญทิม ผู้จัดการร้านเครื่องเขียน “ธรรมดานิยม 2” ซึ่งอยู่ถัดจากร้านข้าวหมูแดงไปสองร้าน บอกกับเราด้วยน้ำเสียงแจ่มใสว่า เห็นรายการโทรทัศน์มาถ่ายทำที่ร้านข้าวหมูแดงซึ่งเต็มไปด้วยศิลปะอยู่หลายครั้งหลายครา เมื่อถามความคิดเห็นต่องานศิลปะที่วางอยู่รอบเมือง เธอตอบว่า “…ก็ชอบศิลปะ แต่ไม่ได้มาก ตอนแรกก็งงกันนะ รูปอะไรวะ (หัวเราะ) พอมองไปมองมามันก็ดี” 

ในความคิดเห็นของผู้จัดการร้านมองว่าเมืองโอ่งแห่งนี้ไม่ได้ครึกครื้นขึ้นมาก เพราะไม่ได้มีคนมาเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่งานศิลปะที่แทรกซึมอยู่ตามมุมเมืองดึงดูดผู้ที่สนใจเฉพาะงานศิลปะมาท่องเที่ยวในเมืองแห่งนี้ เริ่มเห็นชาวต่างชาติจากที่ไม่ค่อยได้พบเห็น หลายคนก็เดินทางตรงมาที่ร้านข้าวหมูแดงตามงานศิลปะที่ถูกจัดวางในร้าน พอถามว่าเธอสนใจติดตั้งงานศิลปะแบบร้านข้าวหมูแดงนายกี่หรือไม่ คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ “เขามีโครงการเหรอ นี่ยังไม่รู้เลย”

taohongtai05
taohongtai06
taohongtai07

ร้านถัดมาคือร้านข้าวหมูแดงนายบุญ มีเพียงเจ้าของร้านที่นั่งรอคอยการมาเยือนของลูกค้า อยู่ห่างจากร้านข้าวหมูแดงนายกี่ไปเพียงสองช่วงตึก มีอายุมากกว่า 40 ปี พูดถึงการเข้ามาของศิลปะนี้ว่า “มันก็ดี เพราะเป็นจุดที่ดึงดูดให้คนเข้ามา แต่แถวนี้ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ทางร้านเราที่ไม่มีศิลปะเข้ามาจัดวางลูกค้าก็จะเป็นลูกค้าประจำมากกว่า และการจัดศิลปะนี้มันเป็นแค่จุดๆ มันไม่ได้กระจายทั่ว มีภาพตรงไหนคนก็จะไปแต่ตรงนั้น”

จาก 8 ชั่วโมงที่เราได้สัมผัสงานศิลปะ อาจจะยังสรุปไม่ได้เสียทีเดียวว่าศิลปะในเมืองราชบุรีนั้นเป็นอย่างไร แต่วศินบุรียังพยายามสร้างสรรค์ราชบุรีให้เป็นเมืองศิลปะ ที่ทำให้คนในชุมชนเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองมีและให้คุณค่ากับสิ่งนั้นๆ ซึ่งตรงกับสิ่งหนึ่งที่เขาได้กล่าวไว้ว่า

“ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีอยู่แล้ว ขอแค่มีสปอตไลต์ฉายให้เห็น… ศิลปะเป็นการนำทุกๆ เรื่องที่อยู่รอบตัวเรามาประยุกต์ใช้เพื่อความสบายใจและสวยงาม”

taohongtai08
taohongtai09