เรื่องและภาพ : กลุ่มสัมผัส
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15

ถวิลหาอดีตผ่านย่านเก่าแก่ในราชบุรี

แดดยามสายสาดส่องสะท้อนควันซึ่งลอยคละคลุ้งออกมาจากเตาต้มกาแฟ ดึงดูดให้พวกเราต้องเข้ามาลิ้มรสกาแฟร้อนๆ ภายใน “ร้านอาตี๋โกปี๊” ร้านกาแฟโบราณ ซึ่งเป็นตึกแถว 4 คูหา ตั้งเยื้องกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ชั้นล่างเต็มไปด้วยลูกค้าที่แวะมารับประทานอาหารกันอย่างเนืองแน่น

“เค้กโอ่งกับกาแฟอย่างละหนึ่งที่” ได้ยินดังนั้นพนักงานจดรายการอย่างขันแข็ง

ไม่นานรายการอาหารตามสั่งก็ถูกยกมาวางบนโต๊ะสี่เหลี่ยมขนาดย่อม “เค้กโอ่ง” เป็นขนมหวานขึ้นชื่อประจำร้าน ที่ผสมผสานระหว่างโอ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดราชบุรีกับขนมเค้ก เพิ่มคุณค่าให้สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ

oldtownratchaburi02
oldtownratchaburi03
oldtownratchaburi04

หลังก้าวออกจากร้านกาแฟ พวกเราพากันเดินลัดไปตามริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ไปยังตลาดเก่าอันเป็นชุมชนโบราณของชาวราชบุรี เพื่อสัมผัสเรื่องราวในอดีตที่แสดงออกผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมของร้านรวงต่างๆ

เพียงไม่นานพวกเราได้เห็นตึกแถวสีไข่ไก่ที่มีรูปทรงอาคารเป็นแบบยุโรปนีโอคลาสสิก สถาปัตยกรรมการผสมผสานระหว่างงานศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ที่เข้ากันอย่างลงตัวและเป็นเอกลักษณ์ของอาคารที่อยู่ในพื้นที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

“ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ตั้งอยู่ ณ บริเวณชุมชนเก่าแก่เมืองราชบุรี นอกจากชุมชนนี้จะมีความสวยงามด้านเคหสถานแล้ว ยังเป็นย่านพาณิชย์ที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ เนื่องด้วยพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นสถานที่เทียบเรือสินค้าที่มาจากต่างพื้นที่

ขณะที่กำลังเดินอยู่นั้น สิ่งที่สะดุดสายตาพวกเราคือ ประตูร้านที่เปิดกว้าง เผยให้เห็นถึงตู้ไม้เก่าที่มีผ้าลายถูกขึงแนบติดกระจกใส ทายาทรุ่นที่ 3 “ร้านนางม้วน จำหน่ายยาไทย” เปิดเผยกับพวกเราว่าเป็นตู้เก็บสมุนไพรที่จะนำมาประกอบเป็นยาแผนโบราณ แต่เนื่องจากมีแดดส่องเข้ามาในยามเช้าของทุกๆ วันอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ เจ้าของร้านจึงนำผ้ามาปิดไว้ ทั้งยังกลายเป็นของตกแต่งภายในร้านอีกด้วย สำหรับบริเวณภายในร้านมีสิ่งต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงระยะเวลาที่ผ่านการใช้งานมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของตัวอาคาร หรือประตูไม้สักเก่าที่สีหม่นตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป

เดินต่อเข้าไปในซอยลึกของตลาดทรัพย์สินฯ พวกเราได้พบ “ร้านจุฬาพร” มองเผินๆ อาจคิดว่าเป็นเพียงร้านขายเครื่องครัวธรรมดา แต่ร้านค้าดังกล่าวมีเรื่องราวที่สื่อถึงอดีต อันแสดงสภาพร้านพาณิชย์เก่าแก่ของชุมชนไว้ จินตนา จุฬาพรศิริ เจ้าของร้านวัย 66 ปี ได้เล่าถึงที่มาของโครงสร้างร้านว่า ยังคงรูปแบบเดิมไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปมาก ทั้งพื้นปูนเก่าที่ภายในร้านไม่ได้ปูกระเบื้องแบบร้านรวงอื่นๆ และยังคงรักษาสินค้าเก่าในร้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องครัวที่ทำให้หวนนึกถึงวันวานอย่างปิ่นโต หรือถ้วยกระเบื้องเคลือบ นอกจากนี้พวกเราได้เห็นตะปูที่ตอกเรียงแถวอยู่บนคาน จึงได้สอบถามกับเจ้าของร้าน ได้ความว่าตะปูนี้ทำหน้าที่เป็นตัวเกี่ยวแขวนของต่างๆ ภายในร้าน ทำให้พวกเราสังเกตได้ว่า สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงพฤติกรรมการใช้งานภายในร้าน

oldtownratchaburi05
oldtownratchaburi06
oldtownratchaburi07

ตลาดทรัพย์สินฯ มีร้านขายสินค้าหลากหลาย จึงไม่แปลกหากพวกเราเดินต่อไปอีกหน่อยก็จะเจอกับ “ร้านขายเครื่องจักสาน” มีสินค้าที่ถูกสานขึ้นตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้านหลายอย่าง บ้างก็วางเรียงกันด้านหน้าร้าน บ้างก็แขวนห้อยด้วยเชือกจากเพดาน ถ้าเป็นผู้คนที่เติบโตจากในเมือง คงมีความสงสัยกับอุปกรณ์ที่ไม่คุ้นตาบางชิ้นว่ามีหน้าที่แบบใด ต่างกับคนในอดีตที่หากเดินผ่านมาก็อาจทำให้หวนคิดถึงเรื่องราวบางอย่าง

oldtownratchaburi08
oldtownratchaburi09
oldtownratchaburi10

สถานที่สุดท้ายที่พวกเราได้ไปเยือนคือ โรงแรมเก่าแก่ที่มีชื่อเป็นภาษาจีนว่า “กวงฮุ้ยอัน” ความเก่าแก่แสดงออกผ่านองค์ประกอบของอาคาร เช่น ช่องลมบนกำแพงปูน บันไดไม้ที่สูงชันกับราวจับ โดยรวมแล้วมีบรรยากาศเหมือนฉากโรงแรมในหนังสมัยเก่าสักเรื่องหนึ่ง โรงแรมแห่งนี้ยังมีผู้อาศัยอยู่ หากแต่ไม่ครึกครื้นเท่าสมัยอดีต

สถานที่ที่พวกเราได้ไปสัมผัสมา แม้จะไม่ได้มีความทรงจำร่วมในอดีต แต่ทำให้นึกถึงภาพบรรยากาศที่เคยได้ยินจากคำบอกเล่าของพ่อแม่ถึงความมีมนตร์เสน่ห์ของความเก่าแก่อันน่าหลงใหลในยุคสมัยของท่าน ซึ่งปัจจุบันหาพบได้ยากแล้ว ทว่ายังคงมีให้เห็นในชุมชนเมืองเก่าของจังหวัดราชบุรีแห่งนี้