เรื่อง : สุวพร เลี้ยงผาสุข
ภาพ : จิราวรรณ สุนันทะนาม

sorso asa00 1

หลังเลิกเรียน นอกจากน้องๆ จะผ่อนคลายด้วยการเล่นเครื่องเล่นแล้ว การกินไอศกรีมก็เป็นสิ่งที่น้องๆ โปรดปรานเหมือนกัน ในบรรยากาศของละแวกบ้านหน้าลานโพธิ์ พร้อมน้องหมาที่ขอเข้ามาร่วมเฟรมด้วย

เมื่อมีเด็กสักคนถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก สิ่งที่ตามมาคือการเลี้ยงดูเด็กคนนั้นให้เติบโตขึ้นเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ แต่เด็กๆ บางกลุ่มอาจต้องได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น เมื่อพวกเขาเติบโตอยู่ท่ามกลางสภาพสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อพัฒนาการที่ดีอย่างชุมชนแออัด

เด็กเหล่านี้อาจจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่พวกเขายังมีโอกาสที่จะได้เลือกชีวิตของตัวเองบ้าง แม้โอกาสนั้นจะริบหรี่และถูกกลืนหายไปกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยิ่งเป็นเด็กที่อาศัยในชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร เมืองที่การดำรงชีวิตต้องอาศัยต้นทุนทางการเงิน อนาคต ความฝัน และความหวังของเด็กตัวเล็กๆ ก็ยิ่งถูกตีกรอบให้แคบลงเรื่อยๆ อย่างเช่นเด็กบางคนต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยผู้ปกครองหารายได้ ทำให้หมดโอกาสทางการศึกษาไป

ทว่าในมุมที่แสงส่องไปไม่ถึง อย่างน้อยมีคนบางกลุ่มมองเห็นเด็กเหล่านั้น พวกเขาพยายามเพิ่มโอกาสที่เด็กๆ ในชุมชนแออัดจะสามารถพัฒนาตัวเองและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นเท่าที่จะทำได้

การลงมือทำจริงๆ เท่านั้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงเกิดการรวมกันของคนหลากหลายอาชีพและช่วงวัย ใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อลงพื้นที่สอนหนังสือเด็กๆ ในชุมชนแออัด โดยมีอุดมการณ์ที่จะช่วยพัฒนาเด็กด้อยโอกาสให้เติบโตในเส้นทางที่ดีขึ้น

คนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า – “ซ.โซ่ อาสา”

อาสา มาด้วยใจที่แท้จริง

sorso asa01

เหล่าครูอาสาและน้องๆ กำลังทำกิจกรรมสันทนาการด้วยการเต้นประกอบเพลงกัน โยกย้ายร่างกายไปตามจังหวะเสียงเพลงอย่างสนุกสนานและมีความสุข

sorso asa02

บรรยากาศการสอนของครูอาสาและน้องๆ ในชุมชนตึกแดงบางซื่อเมื่อมีข้อสงสัยน้องๆ จะซักถามครูอาสาในทันที แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการเรียนรู้

เริ่มอาสา

พื้นที่ย่าน “บางซื่อ” ถูกวางไว้เป็นที่ตั้งสถานีรถโดยสารขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยระบบการคมนาคมแบบรางหลายๆ สาย เป็นภาพอนาคตของศูนย์กลางการเดินทางแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานคร และจะกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในพื้นที่ละแวกนั้น ทว่าภาพความฝันอาจจะขัดกับความเป็นจริงในปัจจุบัน เมื่อมีชุมชนแออัดตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานี คือชุมชนตึกแดงบางซื่อ

กองขยะที่สุมอยู่บนพื้นที่รกร้างดึงดูดสายตาของผู้มาเยือนเป็นครั้งแรก บ้านเรือนในชุมชนคั่นด้วยทางเดินกว้างประมาณ 1 เมตร เพียงพอต่อการเดินสวนกันสองคนเท่านั้น มีคราบสิ่งปฏิกูลลอยอยู่บนน้ำเจิ่งนองใต้เสาบ้าน ตัดกับสีเขียวของพุ่มไม้ที่เจริญเติบโตอยู่อย่างไร้ระเบียบ

ชาวบ้านต่างทำธุระส่วนตัวในห้องของตัวเอง เนื่องจากบ้านแต่ละหลังอยู่ชิดกัน ทำให้แต่ละคนมองเห็นสิ่งต่างๆ บนทางเดินหน้าบ้านได้ เมื่อมีคนแปลกหน้าเดินเงอะๆ งะๆ เข้ามาในชุมชน ชาวตึกแดงบางซื่อจะร้องทักทันทีว่า

“มาลานโพธิ์ใช่ไหม เดินเข้าไปข้างในเลย”

“ลานโพธิ์” เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของชุมชน ประโยคนี้ยืนยันว่าชาวบ้านมีความคุ้นเคยกับการมีคนนอกเข้ามาในชุมชนบ่อยๆ และส่วนใหญ่จะมาที่ลานโพธิ์

เมื่อใกล้ถึงลานโพธิ์ บรรยากาศสองข้างทางเริ่มมีเสียงดังครึกครื้น พ้นจากทางแคบๆ ภาพพื้นที่โล่งขนาดย่อมก็ปรากฏพร้อมกับเสียงอื้ออึงที่ดังก้อง โต๊ะไม้เก่าๆ ถูกวางต่อกันเป็นกลุ่มๆ โดยมีเด็กๆ นั่งล้อม ในแต่ละโต๊ะจะมีผู้ใหญ่ประมาณสองสามคนประจำอยู่ พวกเขาล้วนสวมเสื้อยืดที่มีคำว่า “ซ.โซ่ อาสา” เด่นหราอยู่กลางอก

ท่ามกลางคนวัยหนุ่มสาว มีชายชราคนหนึ่งเดินวนอยู่ทั่วลานโพธิ์ กวาดสายตาไปรอบๆ และเอ่ยทักทายเด็กๆ ที่เดินสวนกันอย่างสนิทสนม ชายคนนี้คือครูปู่-ธีระรัตน์ ชูอำนาจ วัย 82 ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา กลุ่มอาสาสมัครสอนหนังสือให้เด็กด้อยโอกาส

ปี 2542 ครูปู่เริ่มเข้าฝึกอบรมอาสาสมัครพิทักษ์เด็กเร่ร่อน จัดโดยมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก จากนั้นก็รวมกลุ่มกับครูอาสาสองสามคน สอนหนังสือเด็กเร่ร่อนอยู่แถวสนามหลวง ริมคลองหลอด มีกลุ่มนักศึกษาและคนวัยทำงานที่พอมีเวลาว่างแวะเวียนเข้ามาร่วมทำจิตอาสาเรื่อยมา จนกระทั่งได้ก่อตั้ง “ซ.โซ่ อาสา” กลุ่มจิตอาสาของตัวเอง

ครูปู่เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเป็นอาสาสมัครสอนเด็กด้อยโอกาส ข้อแรกคือ อาชีพเดิมของครูปู่เป็นครู จึงมีความถนัดในเรื่องการสอนอยู่เป็นทุนเดิม ประกอบกับเห็นว่าเด็กๆ ควรจะได้รับโอกาสในการเรียนมากขึ้น ข้อ 2 ในกรุงเทพมหานครมีเด็กๆ ที่อยู่ในชุมชนแออัดเยอะ ครูปู่จึงมีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กด้อยโอกาสให้มีชีวิตที่ดี เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณครูปู่จึงผันตัวมาเป็นอาสาสมัครทันที

ทุกวันนี้ครูปู่มีภารกิจต้องไปสอนหนังสือทั้งหมดสี่ที่ในวันเสาร์-อาทิตย์ วันเสาร์ช่วงเช้าจะสอนที่ชุมชนตึกแดงบางซื่อ ช่วงบ่ายจะเดินทางไปสอนต่อที่สวนลุมพินี ส่วนในวันอาทิตย์ ช่วงเช้าครูปู่จะไปสอนที่ริมคลองหลอด และข้ามไปสอนที่ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ในช่วงบ่าย ไม่ง่ายเลยที่ชายสูงวัยคนนี้จะต้องเดินทางย้ายที่สอนไปเรื่อยๆ ในช่วงวันหยุด วันที่เขาควรจะได้มีเวลาพักผ่อนอย่างที่วัยเกษียณพึงมี

“ถ้าเหนื่อย…เหนื่อยก็หยุดสิ แต่อย่าท้อ” ครูปู่เอ่ยขึ้นด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

“เราต้องการจะสอนชุมชนแออัดทุกชุมชนเลย แต่ที่เลือกที่นี่เพราะการจะเข้าหาคนในชุมชนไม่ใช่จะเข้าหาง่ายๆ เราต้องอาศัยชุมชนด้วย เพราะว่าในชุมชนนั้นก็อาจจะมีคนที่ไม่หวังดีกับเรา เพราะชุมชนเป็นแหล่งมั่วสุม การพนัน สิ่งที่ไม่ดีเยอะครับพูดตรงๆ ต้องอาศัยกรรมการชุมชนพามา”

จำนวนชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร ในปี 2560 อ้างอิงจากทางกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 668 ชุมชน ครูปู่กล่าวว่าเขาต้องการขยายกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา ให้ครอบคลุมชุมชนแออัดต่างๆ ให้มากที่สุด กลุ่มอาสาสมัครจะหยุดทำงานไม่ได้ เพราะยังมีชุมชนแออัดอีกหลายแห่งที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ

เราต้องการจะสอนชุมชนแออัดทุกชุมชนเลย แต่ที่เลือกที่นี่เพราะการจะเข้าหาคนในชุมชนไม่ใช่จะเข้าหาง่ายๆ เราต้องอาศัยชุมชนด้วย

เมื่อถามถึงเด็กๆ ที่จบไปจากที่นี่ ครูปู่นิ่งไปครู่หนึ่งก่อนจะเผยรอยยิ้มจางๆ “เขากลับมาช่วยพ่อแม่ทำงาน …แต่ไม่กลับมาช่วยเรา แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้คาดหวังให้กลับมาช่วย คาดหวังแค่ให้เด็กๆ เป็นคนดี ช่วยเหลือครอบครัวตัวเองให้อยู่รอดก็แล้วกัน”

ความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องสวยงามอย่างที่คิด เด็กที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ในยามที่ยังไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้คงไม่มีใครที่จะคิดถึงการรับผิดชอบต่อสังคม การคาดหวังให้เด็กๆ ที่เคยเรียนที่นี่กลับมาช่วยงานอาสาเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมของครูปู่ บางทีอาจจะคล้ายกับสำนวนที่ว่าทำดีไม่ควรหวังผลตอบแทน ครูปู่เองก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากเด็กๆ เขาเพียงอยากให้เด็กทุกคนเป็นคนดี รับผิดชอบตัวเองได้ก่อนเป็นอันดับแรก

“เราไม่ต้องการให้เขาเป็นเด็กเรียนเก่ง เมื่อเขาเป็นคนดี เขาก็จะคิดถึงแต่สิ่งดีๆ เช่น อยากเรียนหนังสือ อยากทำงานช่วยพ่อแม่ อยากช่วยเหลือสังคม”

ในความคิดของครูปู่ เขาหวังเพียงลูกศิษย์ที่จบไปจากกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา จะเป็นคนดีของสังคม ความสุขถือเป็นกำไรที่ได้จากการคลุกคลีสอนหนังสือกับเด็กๆ แต่เสี้ยวหนึ่งของครูปู่เองก็หวังอยู่ลึกๆ ว่า เด็กน้อยในวันนั้นจะเติบใหญ่จนได้ดีแล้วกลับมาเยี่ยมเยือนที่นี่

“…แต่คิดว่าในอนาคตเขาก็คงกลับมาช่วยเราบ้าง ถ้าเขามีเวลานะ”

sorso asa03 683x1024

ครูปู่ ผู้นำกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา ขณะนั่งทำงาน

sorso asa04

น้องๆ กำลังตั้งใจเขียนกระดานไวท์บอร์ด แสดงผลงานที่ได้จากการเรียนรู้กับครูอาสา

ห้องเรียนแห่งโอกาส

ห้องเรียนของกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา มีนักเรียนเป็นเด็กจากชุมชนแออัดละแวกนั้น เด็กๆ มีหลายช่วงวัยและเรียนหนังสือในการศึกษาภาคบังคับตามปรกติ พวกเขาไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษด้านวิชาการเพิ่ม แต่มาเรียนที่นี่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป เช่น มาเรียนในสิ่งที่ตนสนใจ มาทำกิจกรรมสนุกสนานร่วมกับผู้อื่น วิชาที่เปิดสอนมีคณิตศาสตร์ ศิลปะ ภาษาต่างประเทศ และมีการสอนเต้นเพลงที่กำลังได้รับความนิยมด้วย

ห้องเรียนของกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา มีลักษณะเป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีระนาบที่ใช้บังสายตา ทำให้มองอย่างผิวเผินแล้วอาจคิดว่าพวกเขาอยู่ในห้องเรียนเดียวกันทั้งหมด เสียงอึกทึกของที่นี่อาจจะสร้างความปวดหูเล็กน้อยสำหรับคนที่เพิ่งมาเป็นครั้งแรก แต่สำหรับเด็กๆ รวมถึงบรรดาครูอาสา 10 กว่าคน พวกเขาชินกับความวุ่นวายลักษณะนี้แล้ว หากมองในอีกมุมหนึ่งการไม่มีอะไรกั้นห้องอย่างเป็นสัดส่วนก็อาจจะส่งผลดีโดยทางอ้อม กล่าวคือเด็กๆ จะได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น อีกทั้งครูอาสาก็สามารถมองเห็นภาพรวมของบรรยากาศได้อย่างชัดเจน

การที่ห้องเรียนของกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา ตั้งอยู่บนลานโพธิ์ ศูนย์กลางของชุมชน เกิดขึ้นได้เพราะคนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับคนภายนอก จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน ที่ลานโพธิ์แห่งนี้ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันเทพื้นปูนใหม่ให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชนได้ ในเวลาปรกติพื้นที่ตรงนี้จะเป็นที่จอดรถ เมื่อถึงวันเสาร์ลานโพธิ์จะกลายเป็นห้องเรียนเปิดโล่งของกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา โดยมีเหล่าเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของคนในชุมชนตึกแดงบางซื่อ เข้ามาเติมเต็มให้ห้องเรียนมีความสมบูรณ์มากขึ้น ครบทั้งสถานที่ คุณครู และนักเรียน

ห้องเรียนของที่นี่แบ่งออกตามระดับชั้น แต่ละชั้นเรียนก็มีการเรียนการสอนที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเด็กๆ สนใจจะเรียนอะไร เด็กประถมฯ ต้นจะชอบเล่นซุกซน บนโต๊ะไม้ก็จะมีของเล่นกองสุมไว้เยอะหน่อย ในขณะที่ประถมฯ ปลายและมัธยมฯ ต้นจะค่อนข้างเน้นวิชาการมากกว่า แต่ก็มีกิจกรรมสนุกสนานให้ทำเรื่อยๆ ส่วนน้องๆ อนุบาลจะมีห้องเรียนอยู่ที่ห้องเก็บหนังสือถัดจากลานโพธิ์ไม่ไกล

“การสอนของกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา จะไม่เน้นวิชาการมากนัก เราเน้นทำกิจกรรมโดยสอดแทรกจริยธรรมและความรู้เข้าไป ครูปู่ย้ำกับเราเสมอว่าเราไม่ใช่ครูสอนพิเศษ เราไม่ต้องการให้เด็กโตขึ้นมาเป็นคนเก่ง แต่เราต้องการให้เด็กโตมาเป็นคนดีมากกว่า” ครูโน้ต-ธนาธิป พัวพงพงษ์ ครูอาสาคนหนึ่งของกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา เอ่ยกับเรายิ้มๆ ครูโน้ตเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้สละเวลาวันหยุดมาสอนหนังสือเด็กด้อยโอกาสที่นี่ โดยแรกเริ่มนั้นเขาไม่คิดว่าตัวเองจะสามารถมาทำกิจกรรมจิตอาสาได้ด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่ได้เข้ามาสอนบ่อยครั้งเข้า การทำจิตอาสาก็กลายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำสัปดาห์ของเขาไปโดยปริยาย

เด็กๆ ที่นั่งอยู่ในบริเวณนี้ดูผิวเผินก็เหมือนกับเด็กทั่วไป ทว่าเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัดนั้นเติบโตมาท่ามกลางยาเสพติด บ่อนการพนัน โดยที่เขาไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องผิด และอาจคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมชาติด้วยซ้ำ ดังนั้นเด็กที่นี่จะมีโอกาสออกนอกลู่นอกทางสูงมาก

“เด็กรู้หมดว่าบ้านไหนขายยา บ้านไหนเป็นบ่อน” ครูโน้ตพูดเสริม

“ส่วนใหญ่เด็กที่นี่จะเรียนจนถึงระดับมัธยมฯ จากนั้นก็หลุดจากการศึกษา เพราะ…หนึ่ง ที่บ้านคิดว่าโตแล้ว ให้เด็กออกไปทำงานข้างนอกบ้าน สอง เด็กติดเพื่อน หลุดเอง สาม เด็กติดคุก เด็กที่กำลังจะขึ้นมหาวิทยาลัยมีเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นคนแรกของ ซ.โซ่ อาสา ด้วยเช่นกัน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเขาเป็นเด็กพิการ ไม่สามารถออกไปทำงานช่วยทางบ้าน ดังนั้นการเรียนอาจจะเปลี่ยนชีวิตของเขาได้ ครูโน้ตบอกกับเขาว่าเรียนไปเถอะ เดี๋ยวครูหาทุนให้”

สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเรียนของเด็กอย่างมากก็คือทัศนคติของผู้ปกครอง ที่อาจจะไม่เข้าใจว่าจะให้เด็กเรียนต่อไปเพื่ออะไร อีกประการหนึ่งคือค่าใช้จ่าย หลังจากที่กลุ่ม ซ.โซ่ อาสา ได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ในชุมชน เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีขึ้น และสนใจการเรียนมากขึ้น ทว่านอกจากตัวเด็กเองแล้วยังมีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมอีกมากมาย กลุ่ม ซ.โซ่ อาสา ใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ แค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ทางบ้านอยู่กับเขาแทบจะตลอดชีวิต เรื่องนี้จึงค่อนข้างเป็นสิ่งท้าทายว่าห้องเรียนเล็กๆ บนลานโพธิ์แห่งนี้จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน

ไม่ใช่เพียงเด็กๆ ที่ได้รับโอกาส ในส่วนของครูอาสาเองก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากที่นี่เช่นกัน การมาเป็นครูอาสา ได้คลุกคลีอยู่กับเด็ก เป็นเหมือนการพักผ่อนหย่อนใจ สามารถคลายเครียดจากการเรียนหรือการทำงานได้ การเดินทางมาสอนทุกๆ สัปดาห์ทำให้ครูอาสาฝึกความเป็นระเบียบวินัยของตัวเอง อีกทั้งสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือมุมมองต่อเด็กและสังคมเปลี่ยนไป ครูอาสาจะมีพฤติกรรมที่ตอบสนองความต้องการที่จะช่วยเหลือสังคมมากขึ้น

“ปรกติถ้าเราเห็นเด็กยืนเขย่งอยู่หน้าอ่างล้างมือในห้องน้ำสาธารณะ เราก็คงคิดว่าเดี๋ยวพ่อแม่เขาก็ออกมาช่วย แต่หลังจากเราได้มาทำงานจิตอาสาแล้วเราปล่อยผ่านไม่ได้ ก็จะเข้าไปช่วยอุ้มให้เด็กสามารถล้างมือสำเร็จ หรือเห็นคนแก่กำลังจะข้ามสะพาน เราก็จะเข้าไปช่วยเขา” ครูโน้ตยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขาจริงๆ

นอกจากครูอาสาจะมีเป้าหมายสอนให้เด็กเป็นคนดีแล้ว ครูอาสาเองก็ได้พัฒนาตัวเองให้เป็นคนดีของสังคมเช่นกัน ห้องเรียนเปิดโล่งแห่งนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงที่สอนหนังสือ แต่เป็นพื้นที่ที่หยิบยื่นโอกาสให้กับทุกๆ คน

sorso asa05 683x1024

เครื่องเล่นสีสันสดใส มีร่องรอยของคราบสนิมที่เกาะกินเล็กน้อย ซึ่งตั้งอยู่รอบๆ ลานโพธิ์ คือสิ่งที่สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ให้กับน้องๆ ที่มาเรียนได้เป็นอย่างดี

sorso asa07

น้องผู้หญิงกำลังเล่นเกมตัวต่อไม้ ที่อยู่ๆ ก็ถล่มลงมาจนทำให้ตัวเองตกใจ แล้วเผลอหัวเราะออกมาอย่างสนุกสนาน ชวนให้คนรอบข้างหันมามอง

เด็กในวันนี้คือใครในอนาคต

“ผมกำลังจะมีนิทรรศการภาพของตัวเอง”

เด็กชายคนหนึ่งยื่นโทรศัพท์มาให้ดู ใบหน้าเรียบเฉยอมยิ้มนิดๆ แสดงถึงความภาคภูมิใจในตัวเอง “ผลงานของ ด.ช.นัธวัฒน์ วิบูลย์เชื่อ” – ปรากฎอยู่ในสื่อออนไลน์ โพสต์นั้นมียอดกดถูกใจ 6,000 กว่าคน ขณะที่เด็กชายกำลังอวดรูปถ่ายจากกล้องฟิล์มของเขา ครูอาสาคนหนึ่งก็เดินเข้ามาแทรก บทสนทนาของทั้งคู่บอกได้ว่าครูอาสาคนนี้จะพาเด็กชายไปชมนิทรรศการของตัวเองหลังจากการสอนจบลง

“หนูชอบถ่ายรูปเหรอ” เราถาม
“พอครูให้กล้องฟิล์ม ผมรีบคว้าไว้แล้วก็ออกไปถ่ายรูปเลย”

ใบหน้าของเด็กชายระบายด้วยรอยยิ้มในยามที่พูดถึงการถ่ายรูป เขาไม่สามารถบรรยายความชอบที่มีต่อการถ่ายรูปได้ แต่ถ้าสังเกตจากพฤติกรรมของเขาที่ดูกระตือรือร้นทันทีที่พูดถึงเรื่องนี้ เราก็คงรับรู้ได้ว่าเด็กชายสนใจการถ่ายรูปมากขนาดไหน

“พ่อกับแม่รู้ไหม”

เขาส่ายหน้าทันที “ไม่รู้หรอก”

น่าเสียดายที่ความต้องการของเด็กชายส่งไปไม่ถึงคนที่น่าจะได้รู้มากที่สุด เด็กชายเล่าว่าตอนนี้เขาอาศัยอยู่คนละที่กับพ่อแม่ ด้วยเหตุนี้เองพวกเขาจึงไม่ค่อยได้พูดถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก ถ้าไม่มีคุณครูที่หยิบยื่นกล้องฟิล์มอันนั้นให้เขา เด็กชายก็คงยังไม่มีโอกาสได้ทำตามความฝันของตัวเอง

เด็กๆ ในยามนี้มีความซื่อตรงฉายอยู่บนใบหน้า เหล่าเด็กน้อยที่ยังยึดมั่นในความเชื่อของตัวเองไว้ได้ นับว่าเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่เมื่อโตขึ้นแล้วคนเราอาจจะซื่อสัตย์กับตัวเองน้อยลง นั่นก็คือเราต้องยอมละทิ้งตัวตนบางอย่างไปเพื่อที่จะดิ้นรนมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

สภาพของชุมชนแออัดนั้นไม่ได้มีสิ่งที่น่าอภิรมย์นัก ยิ่งเมื่อก้มลงที่พื้นแล้วพบว่ามีของเสียหรือน้ำเน่าเจิ่งนองอยู่ ก็ยิ่งทำให้ไม่อยากจะก้มลงมองสักเท่าไหร่ ภาพของเด็กกลุ่มหนึ่งที่นั่งยองๆ ก้มลงมองน้ำขังใต้เสาบ้านจึงเป็นภาพที่ชวนแปลกใจยิ่ง น้ำตรงนั้นมีสีคล้ำ เศษขยะลอยอยู่เหนือน้ำ ซ้ำยังมีตะกอนสกปรกทับถมอยู่หนาแน่น

“แถวนี้มีน้ำ ไม่ค่อยมีปลา…” เด็กคนหนึ่งพึมพำ จากนั้นก็ลุกขึ้น พาเดินไปยังตรอกถัดไป เส้นทางภายในชุมชนค่อนข้างซับซ้อนเพราะบ้านเรือนอยู่ชิดกันมาก หากไม่จำทางให้ดีก็อาจจะหลงอยู่ในนี้ได้ ในที่สุดเด็กคนเดิมก็มาหยุดอยู่หน้าแอ่งน้ำขังอีกหนึ่งแหล่ง แต่คราวนี้ในน้ำนั้นเริ่มปรากฎลูกปลาตัวเล็กๆ เพิ่มขึ้น

พวกเด็กๆ จ้องมองสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เหล่านั้น มันไม่ใช่ปลาที่มีสีสันสวยงามอะไร แต่การที่ปลาสามารถอาศัยอยู่ในสภาพน้ำเน่าขนาดนี้ได้ก็ถือว่าเป็นปลาที่ปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม เด็กๆ ชี้พืชน้ำสีฟ้าที่อยู่ใต้น้ำ ในสายตาของผู้ใหญ่คงเห็นว่ามันเป็นวัชพืชแสนน่าเกลียด แต่ในมุมมองของเด็กแล้วเขากลับให้ความสนใจกับความแปลกประหลาดของมัน

เด็กน้อยชี้นิ้ว “หนูชอบที่มันมีสีฟ้าอะ ดูสิ ตรงนี้มีเต็มเลย”

“พอมันมีพืชไม้ มีขยะ ลูกปลาก็จะหลบได้ ไม่โดนแม่มันกิน แต่ถ้าเป็นน้ำใสๆ เชื่อไหมว่าลูกปลาก็จะโดนแม่มันกิน” เด็กหญิงอีกคนกล่าว คำพูดของเธอน่าสนใจตรงที่มองเห็นข้อดีของน้ำเน่าและขยะที่ลอยอยู่เหนือน้ำ แม้ว่าสิ่งที่เธอพูดอาจจะไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด แต่ว่าก็เป็นความคิดที่ผู้ใหญ่คงคาดไม่ถึงเหมือนกัน

sorso asa08 683x1024

หนึ่งในครูอาสาพาน้องๆ ไปเรียนรู้แหล่งเพาะปลาภายในชุมชน

 

sorso asa09

ชุมชนตึกแดงกับสิ่งก่อสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งในอนาคตชุมชนตึกแดงเองก็จะถูกรื้อถอน แล้วมีการนำพื้นที่ไปปลูกสร้างเกิดเป็นโครงการอื่นๆ ทดแทน แสดงให้เห็นถึงสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามากัดกินความเป็นอยู่เดิมของชุมชน

sorso asa10

น้องผู้ชายนำท่อนไม้เก่าๆ ที่เก็บได้บริเวณหน้าลานโพธิ์ขึ้นมาเล่น เหมือนกับเป็นของเล่นทั่วๆ ไป แม้ไม่มีโอกาสได้จับต้องของเล่นดีๆ แต่อย่างน้อยก็สามารถทดแทนได้

ภาพสุดท้ายของการเที่ยวเล่นกับเด็กๆ จบลงที่ริมเขตชุมชน การก่อสร้างสถานีบางซื่อขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมหลายรางซ้อนทับอยู่กับพื้นที่ชุมชนตึกแดงบางซื่อที่อัดแน่นไปด้วยบ้านเรือน เด็กๆ ยังวิ่งเล่นอยู่ตรงนั้น – สุดขอบของความฝัน ไม่นานนักเหล่าเด็กน้อยอาจจะต้องกลับบ้าน และเมื่อโตขึ้นก็คงไม่มีเวลามาสนใจปลาตัวเล็กๆ ในน้ำเน่าอีกแล้ว

เด็กในชุมชนแออัดมีความฝัน แต่อาจจะขาดโอกาสเมื่อเทียบกับเด็กทั่วๆ ไป โอกาสเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากการรวมกลุ่มกันสอนหนังสือของกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา ที่แม้จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไม่มากนัก แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ชีวิตของเด็กจำนวนหนึ่งพัฒนาไปในทางที่ดีได้ และมีความหวังว่าจะเกิดการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แผ่ขยายในวงกว้าง

แสงเล็กๆ ที่จุดประกายอยู่ท่ามกลางลมที่พัด ก่อนที่แสงนั้นจะดับวูบลง หวังเพียงจะมีใครสักคนช่วยจุดไฟนั้นให้ยังลุกโชนอยู่ท่ามกลางกระแสของลมแรง

แสงนั้น – คือตัวเด็กๆ ในชุมชน หรือมองอีกนัยหนึ่ง ก็คือเหล่าครูอาสาเอง