เขียนวิทยาศาสตร์ให้สนุก
วิชาสารคดี ๑๐๑
 ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


เขียนวิทยาศาสตร์ให้สนุก

ไม่รู้เพราะอะไร สารคดีวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยมีคนเขียน นานๆ จะมีให้กันกันสักเรื่อง ไม่ดาษดื่นเหมือนสารคดีท่องเที่ยว สารคดีชีวิต

สารคดีประเภท วิทยาศาสตร์ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาการ โลกของเทคโนโลยี การค้นพบใหม่ในวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา เป็นต้น ซึ่งโดยรวมในวงการสารคดี เป็นงานประเภทที่มีคนเขียนน้อย

ในนิตยสาร สารคดี มีตีพิมพ์อยู่เป็นระยะ อย่างเรื่อง “สมองมนุษย์ อวัยวะมหัศจรรย์” ที่จักรพันธุ์ กังวาฬ เขียนในฉบับที่ ๒๓๕ เดือนกันยายน ๒๕๔๗ เรื่อง “ผ่าตัดแปลงเพศ ผ่าตัดชีวิตหญิงในร่างชาย” ในฉบับที่ ๒๗๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ โดยเกสร สิทธิหนิ้ว เรื่อง “The Story of Light ในวาระปีสากลแห่งแสง” ฉบับที่ ๓๗๐ เดือนธันวาคม ๒๕๕๘ และเรื่อง “Life Beyond Earth” โดยสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

ในค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๔ งานเขียนชิ้นที่ ๓ มีงานเขียนสารคดีประเภทวิทยาศาสตร์ จึงคัดมาตอนมาให้ลองอ่านกัน

sciencewrite02

ภาพ ปรเมทร์ ท้าวบุปผา

เรื่อง “นักสร้างวิทย์ให้คิด(ส์)สนุก” โดย พัชนิดา มณีโชติ

ท่ามกลางความมืดสลัวที่ปกคลุมไปทั่วทั้งห้อง ฉันสัมผัสได้ถึงความเย็นของเครื่องปรับอากาศ กับเสียงหัวใจที่เต้นเป็นจังหวะรัวเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสองเท้าก้าวเดินไปตามทางทอดยาว สายตาปรับสภาพจนทำให้เริ่มมองเห็นบางสิ่งบางอย่างกำลังเคลื่อนไหวไปมาอยู่ในตู้กระจกติดผนัง ระยะห่างที่ลดลงและแสงสว่างจากหลอดไฟที่ติดอยู่ในตู้ยิ่งขับเน้น สะท้อนให้เห็นเกล็ดสีสวยมันเลื่อมกระทบเข้ามาในสายตา แม้จะดูงดงามแต่ก็แฝงเร้นไว้ด้วยความอันตราย ฉันจ้องมองสัตว์เลื้อยคลานในตู้กระจกนั้นด้วยความรู้สึกกลัวระคนสนใจ แต่ยังไม่ทันจะก้าวเข้าไปดูใกล้ ๆ สัมผัสที่มือก็ทำให้ฉันต้องหยุดชะงักเสียก่อน

“พี่คะ หนูกลัวงู”เด็กผู้หญิงตัวน้อยในชุดกระโปรงสีแดง สวมผ้าพันคอสีฟ้าเดินเข้ามาจับมือฉัน พลางพูดด้วยน้ำเสียงสั่นกลัว สายตาของเธอจ้องมองสัตว์ในตู้อย่างหวาดระแวง

ฉันกุมมือนั้นไว้ ย่อตัวลงแล้วพูดให้กำลังใจเด็กหญิงตรงหน้า จนเธอเริ่มมีความกล้าและขอให้ฉันจูงมือพาเธอเข้าไปดูใกล้ ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าความกลัวในคราแรกจะกลายเป็นความตื่นเต้นแทน เมื่อเธอได้เห็นงูตัวหนึ่งค่อย ๆ ลอกแผ่นเกล็ดสีขาวออกจากลำตัว เธอมองพฤติกรรมของสัตว์ตรงหน้าอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงถามฉันด้วยความสงสัย

หน้าที่พี่เลี้ยงค่ายและวิทยากรจำเป็นจึงได้เริ่มขึ้น นับตั้งแต่วินาทีที่ฉันเล่า เรื่อง ‘การลอกคราบของงู’ ให้เด็กหญิงคนนั้นฟัง พอฟังจบเธอก็รีบวิ่งไปจูงมือเพื่อนอีกคนที่สวมผ้าพันคอสีฟ้าเช่นเดียวกันกับเธอ มาดูงูลอกคราบตัวนั้นด้วยกัน พร้อมกับเล่าสิ่งที่ฉันเพิ่งสอนเธอไปเมื่อสักครู่ให้เพื่อนฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

……

เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นสัตว์แพทย์ประจำสวนงู พูดให้ความรู้ ในขณะที่เด็กๆ ที่ตอนแรกนั่งนิ่ง ลุกขึ้นยืนดูงูตัวจริงที่เจ้าหน้าที่จับออกมาจากกล่องด้วยมือเปล่าแล้วถือเดินออกมาให้ดูตรงหน้าอัฒจันทร์ สร้างความตื่นเต้นและหวาดเสียวให้กับผู้ชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยที่หนู ๆ หลายคนก้นไม่ติดที่นั่งจนกระทั่งการแสดงจบลง

หลังจากที่ทุกคนได้เห็นงูมีพิษหลากหลายสายพันธุ์และได้รับความรู้กันไปเต็มที่แล้ว แต่ไฮไลต์ของงานแสดงนี้ยังไม่จบ เพราะยังมีดาวเด่นตัวสุดท้ายอย่าง‘พี่หลาม’ชื่อเรียกที่เด็กน้อยซึ่งนั่งข้าง ๆ ฉันตั้งให้กับงูหลามตัวมหึมา มันมีเกล็ดสีเหลืองนวลเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบไปตลอดความยาวลำตัวประมาณเมตรครึ่ง ด้วยน้ำหนักของมัน จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ถึงสองคนช่วยกันแบกมันออกมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้ชมมาถ่ายรูปด้วย ถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็ก ๆ ตื่นเต้นมาก เพราะหลายคนที่ตอนแรกทำท่ากลัวงู แต่พอจะได้ถ่ายรูปกับ’พี่หลาม’กลับดีใจ กระโดดโลดเต้น เข้าไปรอถ่ายรูปกับพี่หลามกันเป็นแถวยาว โดยมี เทอร์โบ เป็นช่างกล้องคอยถ่ายรูปให้น้อง ๆ ทุกคนได้มีรูปไปอวดผู้ปกครองที่บ้าน ถึงความกล้าหาญในการถ่ายรูปกับงูเป็นครั้งแรกในชีวิต

……

ที่ฐานให้ความรู้เรื่องระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของปลา ฉันมองดูเด็ก ๆ ให้ความสนใจดูสาธิตการผ่าปลาเป็นพิเศษ พอพี่ค่ายเริ่มจรดปลายมีดผ่าตัดลงบนท้องปลา เด็กหลายคนก็ทำท่าโอดโอย ราวกับว่ามีความรู้สึกร่วมกับปลาตัวที่อยู่บนโต๊ะ แม้ว่าหลังจากผ่าไปแล้ว จะได้กลิ่นอันไม่พึงประสงค์เท่าใดนัก แต่เด็ก ๆ ก็ได้เห็นหน้าตาอวัยวะภายในปลาของจริง โดยมีพี่ประจำกลุ่มคอยให้ความรู้เรื่องการทำงานของอวัยวะในตัวปลาเทียบกับการทำงานของอวัยวะในร่างกายคน ที่เห็นแตกต่างชัดเจนคือ ระบบหายใจ เพราะปลาไม่มี ‘ปอด’

จบด้วยกิจกรรมสุดท้ายที่ฐานสอนปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกสัตว์มีพิษกัด น้อง ๆ จะได้การบ้านเป็นเหตุการณ์จำลองว่า หากถูกสัตว์มีพิษชนิดนี้กัด จะต้องปฐมพยาบาลด้วยวิธีไหน ซึ่งเป็นการนำความรู้ที่ได้จากสวนงูมาประยุกต์ใช้ต่อยอดต่อ เพื่อเสริมความรู้ให้เด็ก ๆ ถึงวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง

บรรยากาศในห้องแล็บ ณ เวลานี้เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสนุกสนาน ทำให้ฉันแอบคิดถึงความสนุกตอนได้ทำแล็บชีววิทยาครั้งแรกในสถานที่เดียวกันนี้ แอบเสียดายที่หากตอนเด็ก ๆ ได้มีโอกาสเข้าค่ายวิทยาศาสตร์แบบน้อง ๆ เหล่านี้ เราอาจจะทำแล็บตอนเรียนปี 1 ได้เก่งกว่านี้ก็เป็นได้

……

“นอกจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เด็ก ๆ จะได้กลับไปแล้ว สิ่งสำคัญคือการที่เขาได้เรียนรู้การอยู้ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคมที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ได้มารู้จักเพื่อนใหม่ ๆ และได้ลองทำอะไรด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก ทำให้พวกเขาได้เติบโตขึ้นผ่านการเรียนรู้จากกิจกรรมในค่าย” ทิพย์บอกกับฉัน และเล่าถึงประสบการณ์ความประทับใจในค่ายที่ผ่านมาของเธอว่า

“การทำค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก ทำให้เราได้พบเจอกับคนแบบเดียวกัน ที่อยากถ่ายทอดเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ให้กับสังคม ให้กับเด็กๆ การได้สัมผัสกับเด็ก ๆ ที่น่ารัก ได้เห็นพวกเขาสนุก ทำให้เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำค่าย เราจึงยังอยากทำมันอยู่”ทิพย์กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

สำหรับเทอร์โบที่จัดค่ายวิทยาศาสตร์มานับไม่ถ้วนนั้น สิ่งที่เขาเล็งเห็นความสำคัญที่สุดคือการได้ส่งต่อกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

สุดท้าย เขาและทีมงานก็คาดหวังว่าค่ายวิทยาศาสตร์ของDr. Kid จะเป็นจุดเล็ก ๆจุดหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้การสื่อสารวิทยาศาสตร์เข้าถึงเด็ก ๆ มากขึ้น เพื่อในวันข้างหน้าเด็กที่มีโอกาสผ่านค่ายนี้ไปจะเติบโตไปเป็นกลุ่มคนที่มีคุณภาพ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นตัวแทนของผู้ที่สามารถส่งต่อความรู้วิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องไปยังเด็กกลุ่มอื่น ๆ ที่เหลือในสังคมต่อไป

ฉันจ้องมองไปยังเหล่าหนูน้อยที่ทยอยกันกลับบ้าน พวกเขาค่อย ๆ ก้าวเดินตามหลังของพ่อและแม่ไป รู้สึกเหมือนดั่งภาพสะท้อนของตนเองเมื่อครั้นในอดีตที่ยังเป็นเด็กไม่ค่อยรู้ประสาและยังขาดความรู้เท่าทันในการใช้ชีวิตแต่หลังจบค่ายนี้ไปฉันเชื่อว่าประสบการณ์และกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ที่พวกเขาได้รับ จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ที่มอบความกล้าให้พวกเขาสามารถก้าวเดินไปบนถนนแห่งชีวิตเส้นนี้ได้อย่างแข็งแรงมั่นคง และสามารถส่งต่อภูมิคุ้มกันนี้ไปช่วยเติมเต็มให้สังคมอุดมไปด้วยผู้คนที่ใช้ ‘ภูมิปัญญา’ในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนประเทศในอนาคต