เรื่องและภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ

ความเศร้า/ความหวัง/ความ “แรด” ตามรอยแรดดำที่แทนซาเนีย

“ในตอนนี้แรดดำสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ได้อย่างปลอดภัยและมีจำนวนเพิ่มขึ้น พวกเราพยายามกันอย่างหนักทั้ง ranger ที่ออกลาดตระเวนและป้องกันอย่างเต็มที่ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่ร่วมมือ และชาวมาไซที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ช่วยกันดูแลสอดส่องทุกคนล้วนมีส่วนร่วม”

Edwin Nyirembe หัวหน้าหน่วยต่อต้านการล่าสัตว์ป่าพื้นที่หลุมภูเขาไฟ (crater) กล่าวด้วยความภาคภูมิใจพร้อมทั้งบอกพวกเราว่าจะพาเราไปพบกับแรดดำตัวจริงที่อาศัยอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติ Ngorongoro ประเทศแทนซาเนีย

……………

รถหน่วยลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติ Ngorongoro นำหน้าขบวนรถของพวกเรานักข่าวสิ่งแวดล้อม เลี้ยวเลาะไปตามเส้นทางหลักผ่านทุ่งหญ้าที่มีสัตว์ต่างๆ หากินอยู่อย่างมากมาย ทั้งวิลเดอร์บีสต์ ม้าลาย ควายป่า สิงโต

ความชุกชุมของสัตว์ป่าและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้ช่างน่าอัศจรรย์

ใช้เวลาสักพักรถของหน่วยลาดตระเวนก็นำเราออกจากทางหลักเข้าไปยังทุ่งหญ้า ภาพที่เห็นด้านหน้าไกลๆ คือแรดดำสองตัวกำลังนอนทอดกายเบียดเสียดกันอย่างสบายใจ

ช่วงขณะนั้นผมเกิดความปีติยินดีในใจอย่างบอกไม่ถูก

ผมใฝ่ฝันว่าจะได้เห็นแรดดำตัวจริงเสียงจริงในธรรมชาติสักครั้งในชีวิต

ข่าวคราวไม่สู้ดีนักเกี่ยวกับประชากรของแรดดำที่ลดลง ทำให้ความฝันนี้เข้าใกล้ความจริงยากขึ้นเรื่อยๆ

ภาพที่เห็นตรงหน้าจึงไม่ใช่เพียงแค่ภาพความปีติดีใจ แต่ยังบ่งบอกถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์แรดดำ จากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแทนซาเนียและองค์กรต่างๆ อย่างที่ Edwin เล่าให้กับพวกเราได้รับฟัง

รถของหน่วยลาดตระเวนนำเราเข้าไปใกล้แรดดำทั้งสองมากขึ้น จาก 300 เมตร เป็น 200 เมตร 100 เมตร จนถึงระยะ 50 เมตร จึงหยุดนิ่ง

เครื่องยนต์รถจี๊ปดับลง แรดทั้งสองตัวยืนขึ้นและหันหน้าพร้อมประจันมาทางรถของผมที่นำขบวน พวกเราค่อนข้างตกใจ เพราะขนาดตัวของมันใหญ่เกือบเท่ารถจี๊ปเลยทีเดียว แต่หน่วยลาดตระเวนก็รับรู้ได้โดยทันควัน ส่งสัญญาณมือพร้อมกระซิบบอกพวกเราว่าไม่เป็นไร นี่คือระยะผ่อนคลาย

คลายความกังวลแล้วพวกเราก็เริ่มเฝ้ามองพวกมัน

สำหรับแรดดำ การตื่นตัวอยู่เสมอและขี้ระแวงต่อผู้คนและยานยนต์ทำให้พวกมันพร้อมจะป้องกันตัวจากพรานที่หมายปองชีวิตได้อย่างทันท่วงที

ในอดีตญาติพี่น้องหรือพรรคพวกของแรดดำทั้งสองตัวนี้ถูกคุกคามจากมนุษย์อย่างหนัก ทั้งการล่าและการทำลายที่อยู่อาศัย จึงไม่แปลกที่พวกมันยังคงสัญชาตญาณการระวังภัยอย่างรุนแรงจนถึงทุกวันนี้

มนุษย์ยังเป็นสิ่งแปลกปลอมและอันตรายสำหรับพวกมัน

……………….

ไม่ถึง 5 นาทีที่รถเราหยุดนิ่ง อาจเป็นเพราะเรานิ่งเงียบ หรือสัมผัสได้ว่าพวกเราไม่ได้มาทำร้าย แรดทั้งสองมีท่าทีสงบลง พวกเราจึงเริ่มถ่ายภาพ
ความน่าเกรงขามและสง่างามถูกบันทึกลงเมมโมรีการ์ดเพื่อส่งต่อความงดงามรวมถึงเรื่องราวของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามปกป้องรักษาสัตว์อันมีค่าชนิดนี้ เพื่อพวกมันจะได้ดำรงอยู่ต่อไปบนโลกนี้อย่างสงบสุข

ความเศร้า/ความหวัง/ความ “แรด” ตามรอยแรดดำที่แทนซาเนียblackrhino03

ขมปนหวาน รสชาติชีวิตของแรดดำ

ค.ศ. 1994 จากการติดตามลาดตระเวนพบว่าแรดดำเพศผู้ต้องเดินทางไกล 120 กิโลเมตร ผ่านเส้นทางที่ลาดชันจากหลุมภูเขาไฟ Ngorongoro ที่พวกมันอาศัยอยู่ มุ่งหน้าไป Moru พื้นที่ราบภายในอุทยานแห่งชาติ Serengeti เพื่อพบแรดสาว ผู้ซึ่งเป็นความหวังในการดำรงเผ่าพันธุ์ที่เหลืออยู่น้อยนิด

และมีความเสี่ยงที่เมื่อแรดตัวผู้เดินทางไปถึงจะพบกับความว่างเปล่าไร้วี่แววแรดสาว

เมื่อลองพินิจให้ดีมนุษย์อาจมีส่วนทำให้ตอนจบของเรื่องราวนี้เต็มไปด้วยความเศร้า

………………….

ย้อนกลับไปปลาย ค.ศ. 1990 ประชากรแรดดำในอุทยานแห่งชาติ Ngorongoro ลดลงจนถึงขั้นวิกฤต

จาก 110 ตัว เหลือเพียง 12 ตัว เนื่องจากการล่าและสูญเสียที่อยู่อาศัย

โครงการความร่วมมือในการอนุรักษ์ประชากรแรดดำโดย Frankfurt Zoological Society (FZS) และ Ngorongoro Conservation Area Authority (NCAA) จึงเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1993 มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองแรดดำที่ยังเหลือทั้ง 12 ตัว และฟื้นฟูจำนวนประชากรแรดดำในธรรมชาติ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการฟื้นฟูประชากรแรดดำในประเทศแทนซาเนีย

…………………………

blackrhino04

blackrhino05

blackrhino06

มาตรการช่วงแรกสำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ Ngorongoro คือการลาดตระเวนอย่างเข้มข้น และการติดตั้งโครงข่ายเสาสัญญาณความถี่สูงหรือ Very High Frequency (VHF) เพื่อการส่งและรับข้อมูลข่าวสารจากการลาดตระเวน และจากการสังเกตการณ์จากหอสังเกตการณ์ที่อยู่สูงเหนือหลุมภูเขาไฟ

ค.ศ. 1995 มีการติดตามและสำรวจประชากรแรดดำในพื้นที่ Moru สถานที่ที่แรดหนุ่มได้พบรักกับแรดสาว ซึ่งเป็นประชากรแรดดำที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งของประเทศแทนซาเนีย โดยความร่วมมือระหว่าง FZS และ Tanzania National Parks (TANAPA)

การลาดตระเวนและติดตามประชากรเกิดขึ้นช่วงเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน แต่ความคาดหวังดับสลายเมื่อคณะติดตามและสำรวจพบแรดดำเพียงสามตัว แม้ว่าจะสิ้นหวังคณะทำงานยังคงพยายามติดตามลาดตระเวนและสำรวจอย่างต่อเนื่อง จนในเดือนธันวาคมหน่วยลาดตระเวนและสำรวจพบลูกแรดดำเพศเมียถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่ Moru นับเป็นความยินดีและความหวังในท่ามกลางความมืดมิด

ในปีเดียวกันนี้ อุทยานแห่งชาติ Ngorongoro ก็มีเรื่องราวที่น่าเศร้าเกิดขึ้น

แม้จะมีการติดตามอย่างเข้มข้น Amina แรดสาวตัวเต็มวัยถูกฆ่าและตัดนอ ทิ้งร่างไว้กับลูกวัย 9 เดือนของเธอซึ่งได้รับการช่วยเหลือและนำไปเลี้ยงดู และตั้งชื่อให้ว่า Richard

เหตุการณ์นี้ทำให้ประชากรแรดใน Ngorongoro ถึงจุดที่สิ้นหวัง เพราะประชากรแรดเพศเมียที่ยังผสมพันธุ์ได้เหลือแค่เพียงสี่ตัวสุดท้าย

นับได้ว่าสถานการณ์ประชากรแรดดำในพื้นที่ Ngorongoro ลดลงเข้าขั้นวิกฤตด้วยความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ลดลง เป็นจุดคอขวด (bottleneck) ของการผลิตประชากรแรดดำที่แข็งแรงและสุขภาพดี ทางโครงการจึงคิดจะนำแรดดำที่เคยอพยพไปยังพื้นที่อื่นในอดีต กลับมาช่วยฟื้นฟูประชากรแรดในอุทยานแห่งชาติ Ngorongoro

…………………..

ค.ศ. 1997 นับว่าเป็นปีแห่งความหวังของประชากรแรดดำในประเทศแทนซาเนีย เนื่องจากบริเวณทางเหนือของทุ่งหญ้า Serengeti พรมแดนระหว่างประเทศเคนยาและแทนซาเนียที่เคยถูกปิดกั้นขัดขวางการอพยพของแรดดำที่มุ่งหน้าลงทางใต้ และยังเป็นพื้นที่อันตรายเนื่องจากมีกองกำลังติดอาวุธ ได้รับการจัดการและเปิดเป็นพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์
ข้อมูลแรดในพื้นที่นั้นซึ่งเคยเป็นปริศนาจึงได้รับการสำรวจ และพบเรื่องน่ายินดีคือดินแดนทางเหนือนั้นมีประชากรแรดดำอาศัยอยู่ถึงประมาณ 40 ตัว นำมาสู่การวางแผนเพื่อจัดการและอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรแรดดำ โดยการจำกัดขอบเขตการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยว การดูแลแหล่งที่อยู่อาศัย การลาดตระเวนคุ้มกันอย่างเข้มข้น รวมถึงการติดเครื่องหมายระบุตัวตนของแรดแต่ละตัว โดยความร่วมมือของ Tanzania Wildlife Management Authority (TAWA), Serengeti National Park (SENAPA) และ FZS

…………………….

ใน ค.ศ. 1997 ปีเดียวกันนั้นเอง แรดกำพร้า Richard ได้ถูกขนย้ายไปที่ประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับแรดเพศเมียสองตัว ซึ่งเป็นตัวเต็มวัยและลูกสาว
การพยายามครั้งนี้เป็นดังแสงสว่างท่ามกลางความมืดมิดเมื่อแรดสาวทั้งสองตัวถูกนำส่งมาที่ Ngorongoro อย่างปลอดภัย

ปัจจุบันแม้แรดดำเพศเมียหนึ่งในสองตัวตายลงไป แต่หนึ่งในนั้นได้ผลิตลูกแรดดำจำนวนทั้งสิ้นเจ็ดตัว ถือเป็นความหวังใหม่ของประชากรแรดดำในประเทศแทนซาเนีย

………………………

จากความพยายามอย่างยาวนาน ปัจจุบันจำนวนแรดดำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ Ngorongoro มีประชากรแรดเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 ตัว พื้นที่ Moru มากกว่า 30 ตัว
มีแรดที่ได้รับการระบุตัวและทำเครื่องหมายแล้วมากกว่า 100 ตัว
เรื่องราวปัญหาต่างๆ เริ่มคลี่คลาย

แรดหนุ่มไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลอีกต่อไป

หรือหากเขาตัดสินใจที่จะเดินทางไป เขาก็ไม่พบกับความสิ้นหวังที่จะได้พบเจอกับแรดสาว

ขอขอบคุณโครงการ Asia-Africa Journalists Exchange โดยองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

อ้างอิง

1. Recording of The Black Rhinos of the Serengeti: A Success Story for Tanzania event hosted by the Africa Biodiversity Collaborative Group on April 11,, 2019 in Washington DC. Presented by Rian Labuschagne, FZS- Serengeti Conservation Program

2. Mills, Anthony & Morkel, Pete & Runyoro, Victor & Amiyo, Amiyo. (2003). Management of Black Rhino in the Ngorongoro Crater.