วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


write read critic01

วงการอ่านการเขียนจะสนุกขึ้นถ้ามีการวิจารณ์เป็นจุดเชื่อม แต่การวิจารณ์งานเขียนกันแบบจริงจังดูจะเงียบเหงาและห่างหายในระยะหลัง จึงมีความพยายามที่จะสร้างนักวิจารณ์รุ่นใหม่ๆ เข้าสู่วงการ ผ่านค่าย “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น และธนาคารกรุงเทพ ต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ ๕ ในปีนี้ มีเยาวชนนักเรียน นักศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมรุ่นละราว ๔๐ คน ร่วมเรียนรู้กับครูกวี นักเขียน นักวิจารณ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ ชมัยภร แสงกระจ่าง จรุญพร ปรปักประลัย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร รวมทั้งฝึกปฏิบัติการวิจารณ์ผ่านงาน ๓ กลุ่มประเภทงานเขียน บทกวี เรื่องสั้น และสารคดี

การอ่าน : สารคดี เขียน-อ่าน-วิจารณ์

เมื่อจะวิจารณ์ย่อมต้องตั้งต้นมาจากการอ่าน นั่นย่อมทำให้ “การอ่าน” เกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น และเมื่อคิดจะเขียนบทวิจารณ์ การอ่านก็ยิ่งจะต้องลงลึกจริงจังแบบ “อ่านเอาเรื่อง” อย่างแตกฉาน

กล่าวเฉพาะกลุ่มงานสารคดี นอกจากการอ่าน “ตัวบท” อย่างจริงจังแล้ว การ “รู้ทัน” และเข้าใจโครงสร้างและหลักพื้นฐานของงานสารคดี ก็จะช่วยให้วิจารณ์ได้อย่างแม่นยำตรงเป้ามากขึ้นด้วย

มีหลักและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้ร่วมเรียนรู้จากคายอ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๖-๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ ที่อาศรมวงศ์สนิท อยากบันทึกไว้เผื่อเป็นประโยชน์ต่อเนื่องสำหรับมือใหม่ในการเริ่มจ้นวิจารณ์งานสารคดี

๑.ชัดเจนต่อตัวบท สิ่งสำคัญคือประเด็น อ่านให้จบอย่างละเอียด จับใจความให้ได้ว่าสาระหลักของเรื่องคืออะไร
๒.สรุปเรื่องราวย่อๆ ให้ผู้อ่านรู้ด้วย เพราะในการเผยแพร่บทวิจารณ์ มักไม่ได้แนบชิ้นงานที่ได้รับการวิจารณ์ไปด้วย ผู้วิจารณ์ต้องช่วยให้คนอ่านได้รู้เรื่องราวในตัวบทเพื่อจะเข้าใจบทวิจารณ์ได้ชัดขึ้น
๓.คัดตัวบทส่วนที่สำคัญมาอ้างอิงบ้าง จะช่วยให้คนอ่านเห็นภาพได้ดีขึ้น และช่วยให้ข้อวิจารณ์มีนำหนักกว่าการกล่าวลอยๆ
๔.การค้นต่อก็มีประโยชน์ หลักข้อนี้จะช่วยให้นักวิจารณ์มีข้อมูลและมุมมองกว้างขึ้น วิจารณ์งานชิ้นใดไม่จำเป็นว่าต้องอ่านเฉพาะงานชิ้นนั้น หากไม่ควรข้ามการค้นต่อในจุดที่ฉุกใจสงสัยเพื่อให้รู้กว้างขึ้น
๕.วิจารณ์ผ่านโครงสร้างงานสารคดี และนำโครงสร้างนั้นมาใช้เขียนบทวิจารณ์ได้ด้วย งานเขียนที่น่าสนใจไม่ว่าประเภทไหน ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจต่อโครงสร้างพื้นฐานของงานเขียน
๖.การเมินค่างานสารคดีมีหลักสำคัญข้อหนึ่งที่ต่างจากงานวรรณกรรมประเภทอื่นคือความถูกต้องของข้อมูล นักวิจารณ์อย่าพลาดการตรวจสอบเรื่องนี้ การวิจารณ์จะเกิดประโยชน์และเป็นการช่วยต่อเติมสาระความรู้ในเรื่องนั้นๆ

write read critic03

๓.

ตัวอย่างบางตอนจากงานวิจารณ์เรื่อง “บาดแผลเผด็จการ” ของ สายพร อัสนีจันทรา วิจารณ์สารคดีเรื่อง “ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน” ของ ธีรภาพ โลหิตกุล

ทันทีที่พลิกหน้ากระดาษตามตัวหนังสือ เนื้อความหลายส่วนในเรื่องทำให้ฉันนึกย้อนไปถึงภาพการอพยพของครอบครัวฉัน หนีสงครามปะทะระหว่างกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยงกับรัฐบาลพม่า

……

สารคดีเรื่องนี้ชี้ให้เห็นความเลวร้ายเหี้ยมโหดของเผด็จการ ที่สร้างบาดแผลและความสูญเสียให้กับ “ชนชาติกลุ่มน้อย” ผู้เขียนใช้คำว่า “ชนชาติกลุ่มน้อย” แทน “ชนกลุ่มน้อย” เพื่อแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่เห็นต่างหรือต่างในด้านเชื้อชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นนั้น ล้วนเป็นชนในชาติที่มีสิทธิความเป็นคนไม่ต่างจากคนอื่น ไม่ว่านักศึกษาในเหตุการณ์ ๖ ตุลา หรือผู้อพยพ ทุกคนเป็นประชาชนแต่อำนาจเผด็จการทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นคนนอกที่ถูกกระทำ

…อย่างไรมนุษยธรรม “ยังไม่ทันถึงจุดหมายก็ไม่อาจฝ่าดงแข้งและไม้หน้าสามที่รุมกระหน่ำจนเลือดอาบโชกร่าง ก่อนจะฟุบลงไปท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องสลับการด่าทอจากกลุ่มผู้ประกาศว่ารักชาติยิ่งหว่าใครๆ!”

อำนาจเผด็จการร้ายยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก

……

ประสบการณ์แสนเศร้าของธีรภาพ โลหิตกุล ในสารคดีเรื่องนี้ ฉันไม่รู้ว่าเหตุการณ์จริงน่ากลัวและป่าเถื่อนแค่ไหน แต่จากหลายเรื่องราวที่พ่อแม่เล่าให้ฟังเมื่อครั้งอพยพหนีสงครามมาเมืองไทยนั้น ฉันเชื่อว่าเหตุการณ์ในสารคดีเรื่องนี้ไม่เกินจริง มีแต่จะร้ายกว่า

อำนาจเผด็จการสร้างรอยแผลและความเจ็บปวดทั้งกายและใจ พลัดพรากชีวิตอันเรียบง่ายและแสนสุข พรากมนุษย์ให้เหลือแต่ร่างที่ไร้ความเป็นมนุษย์ เพราะเผด็จการไม่เคยปราณีใคร