ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ครูเพชรฉลูกัน - สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 15

หนึ่งในสมาชิกระดับ “แกนนำ” ของคณะสามสิบสาม (คสส.) ที่ติดตาม “มาฆะมาณพ” ขึ้นสวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุมาด้วยกัน คือเทวดาที่มีชื่อว่า “พระวิสสุกรรม” หรือที่ชาวบ้านภาคกลางแต่ก่อนเรียกกันว่า “ครูเพชรฉลูกัน”

ดูเหมือนในคัมภีร์จะมิได้เล่าว่าแต่เดิมสมัยยังเป็นมนุษย์ พระวิสสุกรรมมีชื่อว่าอะไร แต่บทบาทสำคัญสมัยยังมีชีวิตอยู่คือเป็นนายช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างศาลาหลังใหญ่ ณ ทางสี่แพร่ง ให้คนผ่านทาง ยาจกเข็ญใจ และผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ได้พักอาศัย

ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าประวัติการสร้างศาลานี้ไว้ตอนหนึ่งว่า สมาชิก คสส. ตั้งกติกากันเองว่า ศาลาหลังนี้จะต้องเป็นกุศลผลบุญเฉพาะภายในกลุ่มของพวกเราเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้ามสตรีคนใดมาเข้าร่วมทำบุญด้วยเป็นอันขาด ทว่านางสุธรรมา หนึ่งในสี่ภริยาของนายมฆะ หรือ “มฆะมาณพ” อยากร่วมการกุศลครั้งนี้กับสามีด้วย เธอจึง “รู้กันกับนายช่าง” โดยให้ทำช่อฟ้าอันหนึ่งแอบซ่อนไว้ แล้วเมื่อถึงวันที่ศาลาสร้างเสร็จ กำลังจะมีงานยกช่อฟ้า นายช่างจึงทำทีรีบวิ่งแจ้นไปแจ้งแก่มฆะมาณพว่า “ข้าลืมไม้ช่อฟ้าเสียตัวหนึ่ง หาได้กระทำไม่ ครั้นจะให้หาไม้มากระทำจะช้าการ ท่านจงให้เที่ยวซื้อไม้ช่อฟ้าที่เขากระทำไว้ขายนั้นมาใส่เถิด การจึงจะแล้วเร็ว”

เมื่อเคี่ยวสถานการณ์จนงวดมาถึงขนาดนี้แล้ว นางสุธรรมาจึงได้ที นำเสนอช่อฟ้าที่ซุกเตรียมไว้ ทาง คสส. จะขอซื้อ แต่นางสุธรรมาไม่ขาย ยืนยันว่าขอบริจาคร่วมทำบุญด้วยเท่านั้น ซึ่ง คสส. ย่อมต้องไม่ยอม เพราะตกลงกันแล้วว่าจะไม่ให้ผู้หญิงคนไหนมามีส่วนร่วม

“นายช่างจึงช่วยว่า การของเราจะช้าไป ให้นางเข้าส่วนบุญด้วยเถิด ในโลกนี้ไม่มีที่ใดเลยที่จะปราศจากสตรี ยกเว้นเสียแต่พรหมโลกเท่านั้น จงให้สตรีเข้าส่วนบุญด้วยเถิด”

เจอไม้นี้เข้า คสส. ก็เลยต้องยอมให้นางสุธรรมาได้เข้าร่วมบุญสร้างศาลาด้วยช่อฟ้าตัวนั้น

ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” เล่าเหมือนว่านายช่างที่รู้เห็นเป็นใจกับนางสุธรรมานี้ ไม่ใช่แก๊ง คสส. แต่ก็น่าแปลกใจว่า ถ้าอย่างนั้น เหตุใดนายช่างใหญ่ซึ่งควบคุมการก่อสร้างมาโดยตลอด จึงไม่เคยรู้มาก่อนว่าช่อฟ้าขาดหายไปตัวหนึ่ง ? หรือจริงๆ แล้ว คนที่กล่าวถึงนี้คือนายช่างใหญ่ หนึ่งใน คสส. นั่นเอง ??

อย่างไรก็ดี “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” สรุปว่า ด้วยกุศลนั้น ทั้งมฆะมาณพ และผองเพื่อนอีก ๓๒ คน เมื่อตายไปแล้วก็ได้ขึ้นไปเป็นเทวดาบนสวรรค์ยอดเขาพระสุเมรุโดยพร้อมเพรียงกัน และ “นายช่างที่กระทำศาลานั้นได้ขึ้นไปบังเกิดเป็นพระวิสสุกรรม”

ในทางไทยๆ เรา นับถือพระวิสสุกรรม หรือพระวิษณุกรรม หรือพระวิศวกรรม ว่าเป็นบรมครูแห่งการช่าง ดังนั้นบรรดาสถาบันต่างๆ ที่เรียนวิชาฝ่ายช่าง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยเพาะช่าง หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่างยึดถือเอาว่าเป็น “องค์อุปถัมภ์” ปั้นหล่อรูปตั้งไว้ในศาลให้กราบไหว้บูชากัน มีทั้งที่เป็นท่าประทับนั่ง มือหนึ่งถือ “ผึ่ง” คือจอบด้ามสั้นสำหรับขุดถากไม้ อีกมือถือลูกดิ่ง หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นท่ายืน ถือไม้วา (สเกลสำหรับวัด) กับลูกดิ่งและฉาก

นามเต็มของกรุงเทพฯ ที่ลงท้ายว่า “สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” นั้น ก็มีความหมายว่า (เป็นเมือง) ซึ่งท้าวสักกะ (พระอินทร์) ให้วิษณุกรรมหรือพระวิสสุกรรม มาสร้างให้นั่นเอง ดังนั้น เมื่อมีการตั้งกระทรวงโยธาธิการขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ให้มีหน้าที่ดูแลการก่อสร้างของทางราชการและงานสาธารณูปโภคต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร จึงเลือกใช้ตราพระวิสสุกรรมยืนแท่น สองมือถือช่อหางนกยูง ในความหมายของเทพเจ้าแห่งการก่อสร้าง แต่ต่อมากระทรวงโยธาธิการเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงคมนาคม แล้วถูกควบรวมเข้ากับกระทรวงพาณิชย์ ก็ยังใช้ตราดั้งเดิมนี้เรื่อยมา ครั้นภายหลังพอมีการแยกกระทรวงกันใหม่อีกรอบ กระทรวงคมนาคมหันไปใช้ตราพระรามทรงรถ ตราพระวิสสุกรรมยืนแท่นเลยยังตกค้างอยู่กับกระทรวงพาณิชย์มาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วก็ดูเหมือนท่านจะไม่ค่อยเกี่ยวกับการค้าการขายเท่าใด

ส่วนในฝ่ายดนตรีไทยก็นับถือว่าพระวิสสุกรรมเป็น “ดุริยเทพ” องค์หนึ่ง จึงตั้งเศียรในพิธีไหว้ครูด้วย โดยมีตำนานเล่าว่า แต่ก่อนในเมืองมนุษย์ จะร้องจะเล่นอะไรก็ไม่มีระเบียบ ปราศจากจังหวะจะโคน เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบช้าลามก พระอินทร์ทนไม่ไหว ให้พระวิสสุกรรมลงมา “จัดระเบียบ” พระวิสสุกรรมจึงแปลงกายเป็นชายแก่ ลงนั่งสั่งสอนผู้คนทั้งเด็กผู้ใหญ่ ให้รู้จักร้อง รู้จักเล่น รวมถึงสร้างเครื่องดนตรีอันมีเสียงไพเราะให้ด้วย ดังที่ปรากฏในโองการไหว้ครูดนตรี-นาฏศิลป์ไทยว่า “ท่านประสิทธิ์สาปสรรค์เครื่องเล่น สิ่งสารพันในแหล่งหล้า”