เรื่อง ณัฐริยา โสสีทา
ภาพ ศุภณัฐ ผากา

chevasilp01ครูอาสากำลังให้กำลังใจผู้ป่วยเด็กทำกิจกรรมวาดภาพภายในหอพักผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น

ริมถนนใกล้ทางโค้งไม่ไกลจากศาลเจ้าพ่อมอดินแดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น จามจุรีใหญ่ยืนต้นสง่างามแผ่ก้านกิ่งแตกใบระบายผืนฟ้าเขียวขจี ใกล้โคนต้นจามจุรีมีสะพานไม้สีทึมผ่านแดดผ่านฝนหลายฤดูกาลทอดยาวประสานรับกับทางดินที่มียางรถยนต์ผ่าครึ่งทาสีเขียวเรียงขนาบป้ายบอกชื่อสถานที่ปักเด่นริมรั้วข้างสะพานไม้ ด้วยตัวอักษรสีส้มขนาดใหญ่บนพื้นหลังสีขาว “บ้านชีวาศิลป์ มอดินแดง”

บรรยากาศรอบ ๆ บ้านสีขาวมีสถาปัตยกรรมแห่งจินตนาการตั้งเรียงรายอวดโฉมท้าแดดฝนและผู้คนที่สัญจรผ่าน

ภาพวาดฝีมือเด็ก ๆ เส้นขยุกขยิกมีเชือกห้อยแกว่งไกวใต้ชายคานอกบ้านคล้ายเด็กกำลังไกวชิงช้า บางส่วนห้อยติดผนังด้านในบ้านที่มองเห็นผ่านกระจกโปร่งตา ในตัวบ้านยังมีอุปกรณ์วาดเขียนเรียนศิลปะ ชุดแสดงละคร เครื่องดนตรี ของเล่น ขนม และหนังสือ

ข้างบ้านชีวาศิลป์คือ “เฮือนฮัก” (Home of Love) เรือนพักผู้ป่วยเด็กและญาติ โรงพยาบาลศรีนครินทร์

chevasilp02บ้านชีวาศิลป์ยินดีต้อนรับทั้งสมาชิกขาประจำและขาจร

สวัสดี “ชีวาศิลป์”

วันนี้ข้าพเจ้าได้พบกับเศก-เศกสันต์ วิชัยพล ชายวัยกลางคนผมเข้มหน้าตาคมคายผู้นิยมใส่เสื้อผ้า รองเท้า และนาฬิกาสีขาวเพื่อให้ดูเป็นมิตรกับเด็ก ๆ เขาเป็นเสาหลักของกิจกรรมบ้านชีวาศิลป์ เป็นนักการละครและมีประสบการณ์การทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ มานานพอสมควร

บ้านชีวาศิลป์ มอดินแดง เกิดจากความปรารถนาดีของรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภพ โกศลารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กป่วยเรื้อรัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เล็งเห็นความสำคัญของการทำกิจกรรมศิลปะบำบัดเพื่อเยียวยาสภาพจิตใจผู้ป่วยเด็กเรื้อรังโดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาและจิตอาสาได้เข้าร่วม และเพื่อจัดตั้งกลุ่มที่สามารถทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงขอปรับปรุงบ้านพักอาจารย์หลังหนึ่งให้เป็นสถานที่ตั้งของบ้านชีวาศิลป์ ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

หลังจากเปิดบ้านเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ ตามวิสัยทัศน์ว่า “นวัตกรรมการบูรณาการการแพทย์กับกระบวนการศิลปะ เพื่อการเยียวยาจิตใจและสร้างเสริมศักยภาพของเด็กและเยาวชนที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดยการสานสร้างจิตสาธารณะของนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยขอนแก่น”

เพียง ๒ ปีต่อมาบ้านชีวาศิลป์ก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๕ เป็นต้นมา

เศกเล่าว่ากิจกรรมเริ่มแรกของบ้านชีวาศิลป์คือละครหุ่น ตั้งชื่อว่า “ละครหุ่นเงาหน้าเสาน้ำเกลือ” เพราะใช้เสาน้ำเกลือเป็นตัววางฉาก ผ่านไปประมาณ ๓ เดือนมีผู้สนใจมากขึ้นจึงพัฒนาให้เป็นละครที่มีหุ่นเชิดและคนแสดงร่วมกัน ต่อมามีจิตอาสามากขึ้นกิจกรรมก็หลากหลายขึ้น เช่น ประดิษฐ์ของเล่น วาดภาพระบายสี ร้องเพลง ฯลฯ

การทำกิจกรรมจะเลือกสิ่งที่จิตอาสาและผู้ป่วยมีส่วนร่วมได้ไม่ยากและไม่รบกวนกระบวนการรักษา แต่ละกิจกรรมมีระยะทดลองเพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมและความต่อเนื่อง หากร่วมกันประเมินแล้วพบว่าสามารถทำต่อได้ก็จะจัดลงในตารางประจำสัปดาห์

นอกจากกิจกรรมอาสาในโรงพยาบาลแล้ว บ้านชีวาศิลป์ยังอาสามอบความสุขให้แก่สังคมอย่างสม่ำเสมอ เช่น การจัดแสดงละครเร่ตามชุมชนในช่วงปิดภาคการศึกษา การจัดกิจกรรมให้กำลังใจเด็กในสถานสงเคราะห์หรือโรงเรียนคนพิการ การทำงานร่วมกับเครือข่ายจิตอาสาอื่น ๆ ฯลฯ

บ้านสีขาวหลังเล็ก ๆ ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงเป็นแหล่งรวมและจุดนัดหมายของจิตอาสานานาอาชีพ หลากเพศหลายวัย หมุนเวียนมาแบ่งปันความสุข

chevasilp03อุปกรณ์น่ารัก ๆ สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ ของบ้านชีวาศิลป์

chevasilp04การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ที่ป่วยได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมช่วยสร้างทั้งความสุขและรอยยิ้ม

ยาสามัญประจำใจ

ยามสายวันอังคารเหล่าจิตอาสารุดมาเตรียมอุปกรณ์ที่บ้านชีวาศิลป์ วันนี้ข้าพเจ้าขอสมัครเข้าร่วมขบวนการจิตอาสาด้วยคน เราจะไปทำกิจกรรมศิลปะเยียวยาที่ลานเด็กเล่นใกล้ห้องตรวจผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จะชวนน้อง ๆ ที่มารอตรวจร่างกายและเข้ารับการรักษาให้วาดภาพ ระบายสีด้วยกัน

เราเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ตามแบบฉบับนักกิจกรรมขาลุยมุ่งสู่โรงพยาบาลซึ่งอยู่ไม่ไกลไม่ใกล้จากบ้านชีวาศิลป์นัก เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ก็ถึงที่หมายแล้ว

บริเวณหน้าห้องตรวจฯ เต็มไปด้วยลูกเล็กเด็กแดงร้องงอแงเพราะความเจ็บป่วย สิ่งของที่เราหอบหิ้วมา ไม่ว่าจะเป็นกล่องสี กระดาษวาดภาพ ตุ๊กตา กีตาร์ ดึงดูดหลายสายตา นางฟ้าชุดขาวส่งยิ้มให้เหล่าจิตอาสาในฐานะแขกประจำทุกวันอังคาร เราเริ่มจัดสถานที่ ปูเสื่อผ้าใบ จัดแจงอุปกรณ์ ทดสอบเสียงเครื่องดนตรีและไมโครโฟน เด็ก ๆ หลายคนดวงตาลุกวาวเคลื่อนเข้าใกล้พร้อม ๆ กับจูงมือคุณพ่อคุณแม่มาด้วยแก้ความเขินอาย เด็กบางคนยังพูดไม่เก่งก็ชี้นิ้วบอกให้คุณแม่พาหนูมาใกล้ ๆ

เสียงเพลงจากนักดนตรีอาสาดังขึ้นด้วยท่วงทำนองสนุกสนานเป็นสัญญาณความพร้อมให้เด็กมาร่วมสนุก เด็กบางคนเผลอเต้นตามจังหวะ ยิ่งคุณพ่อคุณแม่ปรบมือเชียร์ก็จะเต้นด้วยท่วงท่าที่มากขึ้นจนลืมว่าตัวเองกำลังป่วย

หลังจากขบวนการฟันน้ำนมระบายสีเสร็จก็นำภาพมาให้พี่ ๆ ตัดตามรูปร่าง เด็ก ๆ รอคอย “หุ่นกระดาษ” ผลงานของตัวเองที่กำลังตัดและจะติดก้านกระดาษม้วนคล้ายไม้ลูกโป่งอย่างใจจดใจจ่อ สายตาเต็มไปด้วยความภูมิใจพร้อมลักยิ้มเล็ก ๆ เปื้อนมุมปาก

“สิงโตเสร็จแล้ว รับไปเลยจ้ะ”

เด็กชายไหว้ขอบคุณ รีบคว้าเจ้าสิงโตและวิ่งไปอวดคุณแม่

เราใช้ช่วงเวลาระหว่างรอชมผลงานจากเด็กชายคนสุดท้าย พูดคุยกับผู้ปกครอง

เสียงจากคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่เห็นลูกเล่นสนุก ยิ้มได้ ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า สนับสนุนให้มีกิจกรรมแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ

เพราะศิลปะเป็นยาดีอย่างหนึ่งที่ทำให้ลูกลืมเจ็บลืมป่วย

chevasilp05ผลงานภาพวาดจากความตั้งใจและความพยายามของน้องจ๊ะจ๋า แม้น้องจะเจ็บป่วยจากโรคร้ายและต้องอยู่กับอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์รอบตัว

“เวลาที่น้องวาดรูป น้องจะเพลินจนลืมเจ็บ บางครั้งก็ไม่ต้องให้ยาระงับปวด”

วาดภาพลืมโรค

ยามบ่ายภายหลังท้องอิ่ม สองสาวจิตอาสานักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปกรรมศาสตร์ มุก-ปรียารัตน์ วิชัด และนุ้ย-วรรณนิสา ถามะนาศาสตร์ แยกตัวจากจิตอาสาคนอื่น ๆ เพื่อเป็นครูสอนศิลปะให้ผู้ป่วยเด็กในความดูแลพิเศษของศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ทั้งสองพาข้าพเจ้าไปเยี่ยมน้องจ๊ะจ๋า เด็กหญิงอายุ ๑๓ ปี ซึ่งเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งมานานถึง ๘ เดือน กำลังพักรักษาตัวที่หอพักผู้ป่วยวิกฤต (pediatric intensive care)

สุธีรา พิมพ์รส พยาบาลชำนาญการพิเศษประจำศูนย์การุณรักษ์ ผู้ดูแลและติดตามจัดการความปวดเนื่องจากการรักษา อธิบายความรุนแรงของโรคที่น้องจ๊ะจ๋าเผชิญอยู่ว่า ทำให้ปอดแตกต้องเจาะปอดเพื่อระบายลม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยปวดมาก เมื่อจัดการความปวดได้แล้วต้องดูแลด้านจิตใจด้วย น้องชอบวาดภาพ ทางศูนย์ฯ จึงทำงานร่วมกับบ้านชีวาศิลป์จัดหาอาสาสมัครมาสอนศิลปะเพื่อช่วยเบี่ยงเบนความกังวลของผู้ป่วยและช่วยทำให้สุขภาพจิตดี

หลังจากใส่เสื้อคลุมสีฟ้าอมเขียวเพื่อป้องกันเชื้อ เราเดินเข้าห้องกระจกขนาดกะทัดรัดที่มีป้ายชื่อผู้ป่วยระบุชัดเจน ภาพแรกที่ข้าพเจ้าเห็นคือ เด็กหญิงในชุดนอนลายการ์ตูนนอนอยู่บนเตียง รอบตัวเต็มไปด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ส่งเสียงเป็นจังหวะสม่ำเสมอ

เธอมองข้าพเจ้าด้วยสายตาสงสัยใต้คิ้วผูกโบ คนแปลกหน้าผู้มาใหม่แนะนำตัวกับน้องและพ่อแม่ เมื่อเริ่มคุ้นเคย น้องสาวตัวน้อยจึงยื่นขวดโหลเล็ก ๆ ให้ ภายในมีดาวกระดาษหลากสี

“ให้ครูคนใหม่ค่ะ หนูพับเอง”

น้ำเสียงจริงใจของเด็กหญิงพูดแต่ละคำด้วยความพยายามเอาชนะความติดขัดเนื่องจากอาการป่วยและเครื่องมือแพทย์ คุณแม่นำแฟ้มภาพที่วาดเก็บไว้มาให้ชม ทั้งภาพลายเส้น ร่างดินสอและภาพที่ระบายสีไม้แล้ว ข้าพเจ้าละสายตาจากแฟ้มแล้วมองนักเรียนตัวน้อยกำลังสนทนากับครูอาสาอย่างออกรสชาติ

“วันนี้อยากวาดอะไรคะ”
“หนูอยากวาดลายไทยค่ะ”
“ทำไมอยากวาดลายไทย”
“มันท้าทายความสามารถค่ะ”

เด็กหญิงพูดแกมหัวเราะ ทุกคนในห้องพลอยหัวเราะตาม

ข้าพเจ้านั่งพูดคุยกับคุณแม่ผู้ดูแลเคียงข้างแก้วตาดวงใจมาตลอด บทสนทนาดำเนินไปพร้อมกับภาพเบื้องหน้า น้องกำลังเรียนวาดภาพกับครู มีคุณพ่อช่วยเหลาดินสอและคอยให้กำลังใจข้างเตียง

“เวลาที่น้องวาดรูป น้องจะเพลินจนลืมเจ็บ บางครั้งก็ไม่ต้องให้ยาระงับปวด น้องรอคอยให้ครูมาสอน จะวาดภาพไปเรื่อย ๆ ได้เห็นลูกมีความสุข แม่ก็มีความสุขด้วย”

ภาพที่น้องวาดเคยได้รับการประมูลจากแพทย์และพยาบาลที่ทราบข่าว น้องจึงเปรย ๆ ติดตลกให้คุณแม่ฟังว่า

“หนูจะวาดรูปไว้เยอะ ๆ เอาไว้ประมูล เอาเงินมาซื้อแพมเพิร์สค่ะ”

คุณแม่มองลูกสาวในชุดสีส้มด้วยความเอ็นดู ใบหน้าระบายยิ้มตลอดเวลา

มุก สาวหน้าจิ้มลิ้ม ผมยาวหยักศก สวมชุดเสื้อผ้านักศึกษาศิลปกรรมทันสมัย ในฐานะครูอาสาที่ผูกพันกับนักเรียนตัวน้อยเป็นเวลาร่วม ๓ เดือนเล่าให้ฟังหลังการสอนว่า ครั้งแรกที่ทราบว่าจะต้องมาสอนเด็กป่วยก็กังวลไม่น้อย เพราะไม่ทราบว่าน้องอายุเท่าไรและประสาทการรับรู้ทำงานได้มากน้อยเพียงใด เมื่อได้พูดคุยจึงรู้ว่าน้องชอบวาดภาพ เป็นเด็กเรียนรู้เร็วจึงสอนง่าย เพียงแนะนำเทคนิคเล็กน้อยก็ทำตามได้

“ครั้งแรกที่เจอน้องรู้สึกดีใจและรู้สึกแน่น ๆ ที่อกคล้ายจะร้องไห้ สงสารน้องมาก แต่เราต้องเข้มแข็งเพราะอยากทำงานอาสาแบบนี้ เราเห็นการต่อสู้กับโรคร้ายของน้องและการดูแลของพ่อแม่ พวกเขาผ่านมาเยอะ ตอนนี้เราผูกพันกัน มุกได้รับความสุขจากสิ่งที่ทำ ได้รับความรักจากเด็กคนหนึ่งซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

“อยากทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

chevasilp06สมาชิกแห่งบ้านชีวาศิลป์แต่งกายเลียนแบบตัวละคร สร้างสีสันให้กับกิจกรรมเล่านิทานและละครเร่หน้าเตียง

นิทานบันดาลใจ

“เด็กๆ จ๋า มาฟังนิทานกันเถอะ”

โอ้-จตุภูมิ คำภูมี นักเล่านิทานประจำบ้านชีวาศิลป์ เล่านิทานด้วยสำเนียงอีสานถูกอกถูกใจเรียกคะแนนได้มากจากเด็ก ๆ

หลายคนฟังบางคำไม่ออกหรือไม่เข้าใจก็ยังหัวเราะชอบใจในลีลาไม่ธรรมดาของเขา เขาออกท่าทางไม่อยู่นิ่ง เล่าไปกระโดดไป ตัวละครในนิทานมีกี่ตัวเขาแสดงและเลียนเสียงได้ทั้งหมด

โอ้เป็นหนุ่มพนักงานบริษัทซึ่งเคยเข้ารักษาโรคเนื้องอกในสมองที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ด้วยการฉายรังสี ผ่าตัด และทำเคมีบำบัดหรือ “คีโม” นานถึง ๔ ปี การรักษายาวนานทำให้เขาผูกพันกับโรงพยาบาล เมื่อหายขาดและมั่นใจว่าจะไม่กลับมาป่วยอีกเขาจึงอุทิศตนเพื่องานจิตอาสามาโดยตลอด โอ้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบ้านชีวาศิลป์หลายปีมาแล้ว ด้วยความชื่นชอบร้องเพลง เต้น และเป็นคนเฮฮาอัธยาศัยดีจึงเข้ากับเด็กได้รวดเร็ว

“ผมเคยป่วยมาก่อน รู้ดีว่าความเจ็บปวดในการรักษาเป็นอย่างไร ผมอยากให้กำลังใจเด็ก ๆ ผ่านจุดนี้ไปให้ได้ ผมตั้งปณิธานว่าจะทำจิตอาสาไปจนกว่าจะหมดแรง จะใช้ลมหายใจนี้ให้กำลังใจน้อง ๆ จนสุดความสามารถ”

โอ้พูดความตั้งใจด้วยน้ำเสียงหนักแน่นเพื่อยืนยันสิ่งที่ทำมาและจะทำต่อไปในอนาคต

งานอาสาของเขาเกิดจากประสบการณ์ตรง เขาจึงตระหนักเสมอว่ากำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการเข้ารับการรักษาเป็น

ระยะเวลานาน สอดคล้องกับในหนังสือเรื่อง อยู่กับมะเร็งอย่างเป็นสุข ที่เขียนโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ ตอนหนึ่งว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งและครอบครัวจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตและอารมณ์เสมอ เพราะตกอยู่ในภาวะความกลัว ความเครียด ความกังวล และอาการซึมเศร้า ดังนั้นจึงต้องตระหนักและทำความเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องปรกติ ต้องช่วยกัน

ประคับประคองไม่ให้เกินเหตุ พยายามรักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิต และร่วมกันเผชิญปัญหา

ชายผู้เคยป่วย เคยนอนติดเตียง ไม่เพียงแต่บอกเล่าความรู้สึกด้วยถ้อยคำ เขายังแบ่งปันประสบการณ์ตรงให้แก่ข้าพเจ้าด้วยการสละตำแหน่งให้ข้าพเจ้าลองเล่านิทานแทน แม้จะเป็นมือใหม่หัดเล่า มีตะกุกตะกักบ้าง แต่ข้าพเจ้าก็ได้สัมผัสถึงความสนใจใคร่รู้ของเด็ก ๆ ที่รอฟังตอนจบของนิทาน… เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า เวลามีค่า จงใช้ชีวิตให้คุ้มค่า และกล้าทำสิ่งดี ๆ

ละครเร่หน้าเตียง

“ผู้ชมพร้อมหรือยังครับ ถ้าพร้อมแล้วนับถอยหลังพร้อมกัน ห้า สี่ สาม สอง หนึ่ง

“ชีวาศิลป์การละคร ภูมิใจเสนอ ละครเรื่อง…”

เสียงปรบมือดังขึ้นพร้อมกับเสียงกีตาร์โน้ตตัวแรก โน้ตตัวที่ ๒ โน้ตตัวที่ ๓ ๔ ๕ เรียงร้อยกันจนเป็นท่วงทำนองเพลงสนุกสนาน ให้ความรู้สึกราวกับหวนย้อนกลับไปตอนอนุบาล เล่นวิ่งไล่จับกับเพื่อนในสนามเด็กเล่น

ชาวชีวาศิลป์จะแปลงร่าง เคลื่อนพลมายังหอผู้ป่วยเด็กเป็นประจำทุกสัปดาห์ วันอังคารและพฤหัสบดีแสดงที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ วันพุธแสดงที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ละครแต่ละวันแตกต่างกันตามสถานการณ์ปัจจุบัน หรือเนื่องในวันสำคัญต่าง ๆ โดยวางบทให้ผู้ชมมีส่วนร่วมตอบคำถามหรือร่วมแสดง สำหรับหมวกไหมพรมและชุดการแสดงหลากสีเป็นสัตว์ต่าง ๆ

ทั้งไก่ กบ ช้าง จระเข้นั้น มีผู้ใหญ่ใจดีถักและเย็บมาบริจาคโดยได้แบบมาจากหมวกไหมพรมที่ถักให้น้องผู้ป่วยมะเร็ง ใส่ง่ายถอดสะดวก ระบายอากาศได้ดี และไม่ระคายเคืองผิวเด็ก ๆ

เศก ผู้กำกับฯ และนำกิจกรรมในร่างพี่ช้างสีขาวใจดีอธิบายว่า การละเล่นของเด็กคือการเรียนรู้ความเป็นผู้ใหญ่ผ่านบทบาทสมมุติ เช่น การเล่นพ่อแม่ลูก ขายของ ตำรวจจับโจร ฯลฯ ดังนั้นการชมละครและได้ร่วมแสดง ร่วมออกความเห็น จะทำให้เด็ก ๆ ค้นพบศักยภาพของตัวเอง ศิลปะจะช่วยให้เขามีความสุขและไม่จมอยู่กับอาการเจ็บป่วย พ่อแม่เมื่อเห็นลูกลุกขึ้นเต้น หัวเราะหรือยิ้ม ร้องเพลง ปรบมือ ก็จะรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข และรอคอยให้ชาวชีวาศิลป์ไปทำกิจกรรมให้ลูก นอกจากจะสร้าง

ผลดีต่อจิตใจของเด็กและผู้ปกครอง ทุกคนยังได้รับข่าวสารนอกรั้วโรงพยาบาลที่ชาวชีวาศิลป์สอดแทรกเข้าไปด้วย

chevasilp07เหล่าศิลปินชีวาศิลป์กำลังซ้อมดนตรีที่บริเวณหน้าบ้าน ก่อนออกไปพบกับแฟนเพลงในช่วงบ่าย

ดนตรีอาสา เฮฮาลืมป่วย

บ่ายวันพุธของทุกสัปดาห์ ศิลปินชีวาศิลป์จะกระเตงข้าวของมาพบปะแฟนเพลง เวทีชั่วคราวเล็ก ๆ ตั้งบนทางเดินในหอผู้ป่วย 4ง และ 5ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เก้าอี้ผู้ชมจัดวางขนาบทาง เมื่อศิลปินทดสอบเสียง แฟนเพลงก็ทยอยจับจองที่นั่ง บางคนมีที่ประจำติดหน้าเวทีใกล้ศิลปิน บางคนมีที่พิเศษนั่งฟังบนเตียงเพราะเจ็บหนักลุกไม่ไหว

เสียงเพลงบรรเลงต่อเนื่องตามความถนัดของศิลปินที่หมุนเวียนมาทักทาย ใกล้หน้าต่างมีผู้สูงวัยชายและหญิงนั่งฟังเพลงจากเตียงตรงข้ามกัน แสงสว่างส่องผ่านหน้าต่างกระจกที่มีผ้าม่านรวบไว้สองด้านกลบรายละเอียดเรือนร่างและใบหน้าของผู้ป่วย ประดุจภาพขาวดำ เงานั้นเคลื่อนไหวโยกศีรษะไปตามจังหวะเพลง ข้าพเจ้าเดินเข้าไปหา ยิ่งใกล้เข้า ดวงตาก็ค่อย ๆ ปรับการรับภาพจนมองเห็นรอยยิ้ม

“มีความสุขและตื่นเต้นมาก”

คุณยายพูดพลางเคาะจังหวะกับเสาน้ำเกลือ

ด้านเวที พ่อแม่สาละวนกับเด็กน้อยที่ลืมความเจ็บป่วย เด็กชายเริ่มคุ้นเคยจึงกล้าเข้าใกล้คนแปลกหน้า วิ่งโลดไปมาเหมือนอยู่ในสนามหญ้ากว้างใหญ่ แม้มือข้างขวายังมีผ้ากอซพันแน่นแต่กลับเริงร่า ไม่รู้สึกถึงโรคภัยที่ซ่อนอยู่ ไม่เพียงแค่เด็กที่รู้สึกสนุกสนานและมีความสุขกับเสียงดนตรีอย่างน่าเอ็นดู พยาบาลที่หยอดยาใส่ตาให้ผู้ป่วยก็เต้นโยกย้ายโชว์ลีลาด้วยเช่นกัน

“นี่แหละยารักษาใจ”

พยาบาลรุ่นใหญ่กระซิบกับข้าพเจ้าตอนที่เราเต้นด้วยกัน

ผู้ป่วยบางคนเห็นจิตอาสาเล่นดนตรีก็รู้สึกคิดถึงเครื่องดนตรีที่บ้าน ชายวัยรุ่นในชุดสีฟ้ามีตราโรงพยาบาลนั่งเกากีตาร์ด้วยความตื่นเต้น ปล่อยนิ้วมือขวาเริงระบำบนสายกีตาร์และนิ้วมือซ้ายกดหมุดหมายบังคับโน้ตจนจบเพลงก่อนยิ้มกว้างและมอบกีตาร์คืนเจ้าของ

“อยากให้มาอีกนะพี่ ผมจะรอ”

นิด ลายสือ ประธานนักดนตรีจังหวัดขอนแก่นและศิลปินอาสารุ่นใหญ่ของบ้านชีวาศิลป์ ร่วมกิจกรรมดนตรีอาสานี้ตั้งแต่เริ่มแรกเผยความรู้สึกลึก ๆ ในฐานะศิลปิน

“แรก ๆ ก็หวั่น ๆ เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะรักษาไม่หายและเสียชีวิต มีครั้งหนึ่งหลังจากเราร้องเพลงเสร็จ ผ่านไป ๒ ชั่วโมงหมอโทร.มาบอกว่าเสียชีวิตแล้ว ตอนหลังเราก็ทำใจได้ ถือว่าเขามีความสุขก่อนสิ้นลม ให้ดนตรีได้รับใช้คนฟัง เราทำหน้าที่เป็นคนร้องเพลงที่ดีก็พอแล้ว”

อ้อย-สุพรรณี สุขสนิท จิตอาสารุ่นใหญ่ขาลุยที่ทุกคนในบ้านยกให้เธอเป็น “แม่” คอยรับส่งเหล่าจิตอาสาไปทำกิจกรรมเสมอ ก่อนหน้านี้เธอเคยทำงานอาสากับผู้ป่วยจิตเวช เล่าถึงความผูกพันที่มีต่อผู้ป่วยด้วยน้ำเสียงเป็นห่วงเคล้าเสียงหัวเราะ

“บางรอบเราไม่ไป เด็กก็จะร้องไห้ เคยเล่นอยู่ชั้นหนึ่งเด็กอีกชั้นอยากมาหาเรามาก กระชากสายน้ำเกลือจนพยาบาลต้อง

ยอมให้มา ถ้าเราไปกันเยอะ ๆ จะแบ่งคนไปร้องเพลงก่อนเดี๋ยวละครตามไป บางคนรู้สึกไม่สบายก็จะให้ผู้ปกครองโทร.มาว่า

แม่อ้อยพาพี่มาเล่นดนตรีให้ฟังหน่อย เราก็จะเกณฑ์จิตอาสามาช่วยกัน”

กิจกรรมดนตรีบำบัดแบบบ้านชีวาศิลป์ถือเป็นการแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่งซึ่งนิยมอย่างแพร่หลาย ในบทความวิชาการเรื่อง “ดนตรีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง” ของ เสาวณีย์ สังฆโสภณ

กล่าวถึงการใช้ดนตรีบำบัดร่วมกับการรักษาทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยไว้อย่างน่าสนใจ จุดประสงค์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความเจ็บปวดไปสู่ความสุขสบายเพลิดเพลิน เนื่องจากดนตรีที่มีจังหวะเร็ว-ช้า ระดับของเสียงและความดังจะมีอิทธิพลทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ความกลัว ความวิตกกังวลลดลง และยังปิดกั้นวงจรการรับรู้ความเจ็บปวด ลดความเจ็บปวดลงได้

รวมทั้งดนตรียังเพิ่มแรงจูงใจให้อยากเคลื่อนไหว

ดนตรีจึงช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขสบายมากขึ้น แสดงออกต่อผู้รักษาด้วยดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมงาน

ผู้รักษา การปรับสภาพอารมณ์และพฤติกรรมไปในทางที่ดี ส่งผลให้การรักษาประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น

ละครฉากสุดท้าย

สมาชิกบ้านชีวาศิลป์ต่างเคยผ่านละครชีวิตหลากหลายตอนมาด้วยกัน จิตอาสาทุกคนผูกพันกันฉันพี่น้องและคนในครอบครัว บางคนถือว่าที่นี่เป็นบ้านหลังที่ ๒ บ้างว่าที่นี่เป็นโรงทานเพราะจะแวะมาขอร่วมวงอาหารเป็นประจำ และบางคนถือว่าที่นี่คือความสุข

เศกย้อนความหลังการทำกิจกรรมซึ่งเขาจำได้ไม่เคยลืม

“มีผู้ป่วยต้องผ่าตัดด่วน พยาบาลเข้ามาเคลื่อนตัวผู้ป่วย

ออกไปขณะที่เราทำกิจกรรมอยู่ เราตกใจ คิดว่าทำอะไรผิดพลาดให้เด็กอาการหนักขึ้น อีกครั้งหนึ่งเราทำกิจกรรมเสร็จแล้วก็สัญญาว่าจะมาพบกันอีกในสัปดาห์หน้า แต่พอเราไปน้องก็จากไปแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย”

ผู้นำกิจกรรมซึ่งผ่านมาทุกสถานการณ์บอกว่า การทำงานแบบนี้ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ การป่วยหรือเสียชีวิตเป็นเวลาของแต่ละคน วันหนึ่งเราก็อาจป่วย วันหนึ่งเราก็ต้องจากโลกนี้ไปเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้ดีที่สุด

สิ่งแน่นอนที่สุดคือวันนี้ ถ้าเรามีสิ่งดี ๆ ที่คิดที่ฝันไว้ว่าจะทำให้ลงมือทำเลย

การรักษาโรคมีหลายวิธีแตกต่างกันตามอาการและสภาพจิตใจของผู้ป่วย สำหรับบ้านชีวาศิลป์ พวกเขามีความเชื่อร่วมกันว่าศิลปะสามารถเยียวยาทุกคนได้ พวกเขาเชื่อในพลังการแบ่งปันกำลังใจ

แม้จะวัดผลด้วยสถิติการหายจากโรคไม่ได้ แต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะยังคงดังขึ้นทุกครั้งที่พวกเขาทำกิจกรรม