ทีมราชภัฏนครสวรรค์

เงาผีเสื้อ อาจารย์มกุฏ อรฤดี นั่งทำงานในสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

เงาผีเสื้อ อาจารย์มกุฏ อรฤดี นั่งทำงานในสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

ปลายเดือนมกราคม ๒๕๖๓

สำนักพิมพ์ผีเสื้อ เลขที่ ๒๖๑ ซอยสวัสดี สุขุมวิท ๓๑ แยก ๒ ถนนสุขุมวิท เขตคลองตันเหนือ กรุงเทพมหานคร

๑๔.๐๐ น. ชายสูงวัยสวมเสื้อยืดแขนสั้นสีเทาเปิดประตูต้อนรับแขกเยือน เดินนำผ่านกองกระดาษตั้งวางเรียงรายแออัด เหลือเพียงทางเดินเล็กๆ ให้เข้าไปสู่สำนักงานตึกชั้นเดียว ก่อนที่ชายชราคนนั้นจะเดินไปนั่งเก้าอี้ไม่มีพนัก ก้มหน้าใช้มือกดเครื่องแท่นเหล็กเจียนมุมหนังสือ อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ภาคสอง ฉบับปกอ่อน สีเขียว หนา ๗๓๖ หน้า ให้เป็นมุมโค้งแทนสี่เหลี่ยมอย่างคล่อง เล่มแล้วเล่มเล่า

ตรวจต้นฉบับ อาจารย์มกุฏ อรฤดี จะดำเนินการตรวจต้นฉบับให้แก่เจ้าของเรื่อง พร้อมแนวทางแก้ไข

ตรวจต้นฉบับ อาจารย์มกุฏ อรฤดี จะดำเนินการตรวจต้นฉบับให้แก่เจ้าของเรื่อง พร้อมแนวทางแก้ไข

หนังสือเล่มนี้มีคำโปรยปกหลังของสำนักพิมพ์ผีเสื้อว่า

“ในชั่วชีวิตหนึ่ง หากแม้นสวรรค์ทรงอนุญาตให้อ่านหนังสือได้เพียงเล่มเดียว จงเลือกเล่มนี้เถิด ชีวิตจักไม่ตายเปล่าแน่แท้”

เมื่อมองผ่านประตูกระจกจะเห็นชายชราสวมเสื้อแขนยาวคอตั้งสูงสีเทา ผมสีขาวเต็มศีรษะ ขยับแว่นตากรอบทอง นั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้ก้มหน้าอ่านกระดาษสีครีม บนโต๊ะมีต้นฉบับวางอยู่ซ้อนกันหลายชุด เจ้าหน้าที่หญิงสาวนั่งประจันหน้า ชายชราเงยขึ้นจากกระดาษที่วงด้วยปากกาหมึกซึม เอ่ยวาจาเสียงดังลั่น

“เพื่อรับการพิจารณาขอรับทุน ห้ามใช้คำว่า ‘ขอ’ เป็นอันขาด ให้ใช้คำว่า พิจารณารับทุนสนับสนุน คำคำเดียวมันให้ความรู้สึกต่างกันเยอะ ให้ระมัดระวังไว้”

ยังมีอีกหลายจุดที่ต้องปรับแก้ผ่านสายตาของบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ นาม “มกุฏ อรฤดี” ในวัย ๗๐ ปี เจ้าของตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๕ สาขาวรรณศิลป์ ดังคำประกาศคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กระทรวงวัฒนธรรม ว่า

“เป็นนักเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย และวรรณกรรมเยาวชน สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ ในนามปากกา มกุฏ อรฤดี นิพพานฯ และวาวแพร งานเขียนทุกประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมเยาวชนเป็นผลงานวรรณศิลป์ที่มีเนื้อหาสาระทางสังคม มุ่งปลูกฝังความคิดจิตใจที่ดีงาม มีความเมตตา และใส่ใจสรรพชีวิตร่วมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ด้อยโอกาส…ได้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อและทำหน้าที่บรรณาธิการผลิตหนังสือดี มีคุณภาพ…และยังริเริ่มจัดการอบรมบรรณาธิการหนังสือแปล…ยังมีความมุ่งมั่นที่จะก่อตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ เพื่อพัฒนาการอ่าน การเขียน การผลิต และการกระจายหนังสือให้ครบวงจร อันจะทำให้หนังสือได้สร้างคนและเกิดประโยชน์ในการสร้างสังคมที่มีคุณภาพต่อไป”

สวนดอกไม้อักษร ห้องทำงานเงียบสงบของอาจารย์มกุฏ อรฤดี

สวนดอกไม้อักษร ห้องทำงานเงียบสงบของอาจารย์มกุฏ อรฤดี

หนอนผีเสื้อเด็ก เด็กเขียนสมุดบันทึก นำมาให้คุณตามกุฏตรวจ

หนอนผีเสื้อเด็ก เด็กเขียนสมุดบันทึก นำมาให้คุณตามกุฏตรวจ

เขียนฝัน “ผีเสื้อและดอกไม้”

หากสืบประวัติย้อนหลัง เด็กชายมกุฏ พื้นเพเป็นชาวอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เกิดเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๙๓ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนบ้านเทพา อำเภอเทพา ประถมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนแสงทองวิทยา อำเภอหาดใหญ่ มัธยมศึกษาจากโรงเรียนมัธยมเทพา อำเภอเทพา และประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง วิทยาลัยครูสงขลา จังหวัดสงขลา เมื่อปี ๒๕๑๓ ก่อนก้าวสู่อาชีพนักเขียนในเวลาต่อมา

ในวัยเด็กเขาเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่จบการศึกษาแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ มีอาชีพนายหน้ารับซื้อขายยางพารา เมื่อมีฐานะดีขึ้นจึงส่งลูกชายไปเรียนโรงเรียนแสงทองวิทยา ที่นั่นมีห้องสมุดขนาดใหญ่ ทำให้เขาสนใจการอ่านที่หลากหลายและซื้อหนังสือในร้านแพร่พิทยามาอ่านเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นอีก ๓ ปีได้กลับมาเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอเทพา รู้สึกผิดหวังที่สถานที่แห่งนี้ไม่มีห้องสมุด อาจารย์มกุฏ อรฤดี เล่าว่า

“ผมไปถามครู ครูบอกว่าไม่มีงบประมาณ ผมก็ยังไม่เข้าใจหรอกว่าคำว่างบประมาณคืออะไร ผมรู้แต่ว่าที่นี่ควรจะมีหนังสือ สัปดาห์ต่อมาผมก็เริ่มรวบรวมค่าขนมจากเพื่อนที่อยากอ่านหนังสืออีกแปดคน สมัยนั้นเราได้วันละ ๑ บาท ทุกวันมันต้องใช้ มันจำเป็น เด็กต้องกินขนม แต่ก็ยอมอดขนมแล้วเรี่ยไรกันมาได้เงิน ๙ บาท ไปซื้อนิตยสารได้สี่ฉบับ นั่นเป็นห้องสมุดแรกที่ผมทำ ตอนนั้นอายุ ๑๓ ปัจจุบันนี้โรงเรียนนั้นมีหนังสือเป็นหมื่นเล่มจากการเรี่ยไรกันเองโดยใช้เวลาทั้งหมด ๒๕ ปี

“มันไม่ยุติธรรมเลย เด็กในเมืองมีหนังสืออ่านเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เด็กในเทพาไม่มีสิทธิ์อ่านหนังสือ ไม่มีหนังสือให้อ่าน เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณให้แก่โรงเรียนในชนบท จากนั้นผมก็ตั้งใจว่าผมจะทำให้ทุกคนในประเทศไทยอ่านหนังสือให้ได้”

นามปากกา “นิพพานฯ” เริ่มใช้ครั้งแรกปี ๒๕๑๐ หลังจากเปิดพจนานุกรมพบคำนี้แล้วรู้สึกว่า “มันสวยและออกเสียงไพเราะ” จึงใช้นามนี้ตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี เพื่อเขียนบทความทางการเมืองในวารสารของวิทยาลัยครูสงขลา และใช้เรื่อยมา พอเขียนหนังสือเล่มแรกชื่อ ทุ่งดอกไม้ ก็ใช้นามปากกานี้ด้วยเลย

ปี ๒๕๒๑ ผีเสื้อและดอกไม้ มีฉากและตัวละครเป็นชาวเทพา บ้านเกิดของเขานั่นเอง เป็นวรรณกรรมที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุด นอกจากได้รับรางวัลประกวดหนังสือแห่งชาติแล้วยังมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ๒๕๒๘ โดยยุทธนา มุกดาสนิท เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองถึงเจ็ดรางวัล โดยเฉพาะรางวัลบทประพันธ์ยอดเยี่ยม

ส่วนนามปากา “วาวแพร” เริ่มใช้ในปี ๒๕๒๙ เพื่อแยกให้ต่างจากงานเขียนประเภทอื่นๆ ใช้เขียนวรรณกรรมเยาวชน เช่น พราวแสงรุ้ง รางวัลวรรณกรรมเยาวชน หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๐ และเล่มอื่นๆ เช่น เด็กน้อย (๒๕๓๐) เพลงดวงดาว (๒๕๓๑) เด็กชายจากดาวอื่น (๒๕๓๒) เป็นต้น ท่านมีความคิดเห็นต่อวรรณกรรมเยาวชนว่า

“การเขียนสิ่งที่เรียกว่า ‘วรรณกรรมเยาวชน’ ในความรู้สึกของข้าพเจ้านั้น ความยุ่งยากประการแรกเห็นจะได้แก่ การหาคำตอบให้ได้มากที่สุด ชัดเจนถูกต้อง หรือใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เกี่ยวกับคำถามว่าเด็กคิดอะไร จากนั้นก็ต้องพยายามเรียบเรียงระบบความคิดของเด็กแต่ละคนแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน ทำความเข้าใจว่าทำไมจึงคิดอย่างนั้น”

นอกจากนี้ยังจัดตั้งสำนักพิมพ์ประมาณปี ๒๕๓๐ อาจารย์มกุฏ อรฤดี เล่าว่า

“ตอนนั้นเราใช้ชื่อสำนักพิมพ์กะรัต แต่ที่เริ่มต้นจริงๆ คือสำนักพิมพ์ดอกไม้ในปี ๒๕๒๐ พิมพ์ ผีเสื้อและดอกไม้ และหนังสือของคนอื่นๆ อีกไม่กี่เล่ม เราทำนิตยสารคู่มากับหนังสือเล่ม แต่ไม่ได้ทำหนังสือเล่มเป็นเรื่องเป็นราวจริงจัง หนังสือเล่มแรกที่ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนแนวคิดมาทำสำนักพิมพ์ คือ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เป็นงานแปล ไม่ใช่งานแปลชิ้นแรก แต่เป็นชิ้นแรกที่ตัดสินใจว่าเราควรทำสำนักพิมพ์ เพราะเราได้เห็นต้นฉบับที่ดี”

ต่อมาปี ๒๕๕๒ สำนักพิมพ์จึงเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักพิมพ์ผีเสื้อเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสายส่ง

กองกระดาษก่อนจะแปลงเป็นหนังสือเล่ม ยังไม่จัดระบบเพราะอยู่ในระหว่างขนย้ายเข้ามาในสำนักงาน

กองกระดาษก่อนจะแปลงเป็นหนังสือเล่ม ยังไม่จัดระบบเพราะอยู่ในระหว่างขนย้ายเข้ามาในสำนักงาน

ขั้นตอนการผลิต การเจียนมุมหนังสือให้โค้งมน

ขั้นตอนการผลิต การเจียนมุมหนังสือให้โค้งมน

อัศวินนักฝัน-ห้าธงชัย

ในวรรณกรรมแปลเรื่อง ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน ของ มิเกล์ เด เซร์บันเตส ซาเบดฺร้า (แปลโดย สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, ๒๕๔๘) เล่าเรื่องราวของชายชราขุนนางต่ำศักดิ์ที่เมื่อได้อ่านเรื่องราวของอัศวินในนิยาย จึงฝันว่าตัวเองเป็นอัศวิน และตั้งชื่อใหม่ว่า “ดอนกิโฆเต้” ท่องไปในดินแดนต่างๆ สร้างความขบขันให้แก่ผู้พบเห็น

ส่วนในเมืองไทยอาจารย์มกุฏ อรฤดี ได้รับสมญานามว่า “ดอนกิโฆเต้เมืองไทย” ท่านส่ายหน้ากล่าวว่า

“ผมไม่ใช่ ดอนกิโฆเต้ เพราะมันเป็นบ้าตอนจบ ผมยังอยากทำอะไรอีกเยอะ”

อาจารย์มกุฏ อรฤดี ปักธงความฝันไว้ในกิจกรรมต่างๆ เริ่มจากโครงการแรกเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งสถาบันหนังสือ เพื่อให้ประชาชนด้อยโอกาสได้มีความรู้มีจำนวนราว ๙๐% ในสมัยอดีตรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอาจารย์อาจารย์มกุฏ อรฤดี ปิดสำนักพิมพ์ราวปีกว่าๆ ลงสนามทำวิจัยและทดลองรูปแบบการส่งเสริมการอ่าน ลงทุนด้วยเงินส่วนตัว ๑๔ ล้านบาท ก่อนที่รัฐบาลไม่เห็นด้วยแต่อนุมัติงบประมาณให้แก่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) แทน ท่านมองเรื่องนี้ว่า

“ความฝันอย่างเดียวที่ผมมีชีวิตอยู่คือสถาบันหนังสือแห่งชาติ มีคนเคยถาม ผมพยายามนึกตอบในใจ ถ้าเผื่อว่าจะแลกชีวิต แลกอะไรก็ได้ ผมบอกว่า ผมยินดี นั่นคือสิ่งเดียวในชีวิต”

ธงที่สอง โครงการสนับสนุนร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ตามหัวเมืองต่างๆ ให้เป็นแหล่งศูนย์รวมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอีกด้วย ร้านจะอยู่ได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้อ่าน อาจารย์มกุฏ อรฤดี จึงปฏิเสธที่จะไปร่วมออกบูธในงานหนังสือประจำปี ด้วยมุมมองว่าเป็นการขายลดราคาทำให้นักอ่านมุ่งไปซื้อในงานมากกว่าร้านหนังสือเล็กๆ ใกล้บ้าน ร้านหนังสือแบบนี้จึงอยู่ไม่ได้

ธงที่สาม ร่วมมือกับเอกชนให้สร้างห้องสมุดสาธารณะ แนวคิดนี้ขอความร่วมมือกับเอกชนให้ยืมสถานที่ เช่น ตึกร้าง อาคารที่ไม่ใช้งาน เมื่อปรับปรุงแล้วหน่วยงานราชการส่งหนังสือไปให้ มีอาสาสมัครในท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ กำลังเริ่มทดลองที่จังหวัดสงขลา

ธงที่สี่ สร้างนักเขียนเด็ก เป็นแนวคิดให้เด็กเขียนสมุดบันทึก ครั้งแรกโครงการแจกสมุดไป ๒,๐๐๐ เล่ม มีเด็กๆ ทั่วประเทศส่งบันทึกกลับมา เพื่อค้นหาความเป็นนักเขียนในตัวเด็กเหล่านั้น เป็นการค้นพบวิธีใหม่จากการบันทึก มีตัวอย่างผลงานรวมเล่มสำเร็จแล้วเจ็ดคน เช่น บันทึกส่วนตัวของซายูริ ของ ซายูริ มาซาโตะ (๒๕๕๘)

ธงที่ห้า ต้นแบบห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์ เริ่มที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี กรณีที่มีคนสนใจต้องการใช้ห้องสมุด เช่น เด็กที่ไม่อยากเดิน อยากอ่านหนังสือสัก ๒-๓ ชั่วโมงรอผู้ปกครอง ได้ทดลองมาช่วงหนึ่ง ได้ผลดี มีบรรณารักษ์ต่างจังหวัดมาดูงาน จะเปิดตัวต่อไป

ตู้เก็บหนังสือเพื่อเป็นตัวอย่าง ภาพผู้หญิงในรูปคืออาจารย์ผกาวดี อุตตโมทย์ หุ้นส่วนสำนักพิมพ์ผีเสื้อในการก่อตั้งครั้งแรก

ตู้เก็บหนังสือเพื่อเป็นตัวอย่าง ภาพผู้หญิงในรูปคืออาจารย์ผกาวดี อุตตโมทย์ หุ้นส่วนสำนักพิมพ์ผีเสื้อในการก่อตั้งครั้งแรก

ขั้นตอนการสอดที่คั่นหนังสือพร้อมส่งไปยังร้านหนังสือจัดจำหน่ายต่อไป

ขั้นตอนการสอดที่คั่นหนังสือพร้อมส่งไปยังร้านหนังสือจัดจำหน่ายต่อไป

หนังสือปกแข็ง “อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ภาคสอง” เล่มที่อาจารย์มกุฏภูมิใจมากในขณะนี้

หนังสือปกแข็ง “อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ภาคสอง” เล่มที่อาจารย์มกุฏภูมิใจมากในขณะนี้

ผีเสื้อยังขยับปีกไป

๑๗.๐๐ น. อาจารย์มกุฏ อรฤดี เดินออกมาส่งแขกที่ประตู คำถามสุดท้ายเมื่อถามถึงความสุข ท่านตอบว่า

“ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ได้เข้าถึงความรู้ด้วยวิธีหนังสือ ผมไปนิพพานได้เลย”