สองพี่น้องที่จับมือชวนกันมา สามีภรรยาที่เพิ่งรู้ว่าทั้งคู่ขาดธรรมชาติ คุณป้าวัยเกษียณที่ลองมาทริปคนเดียวครั้งแรก หญิงสาวผู้ไม่เคยเดินป่ามาก่อน ฯลฯ ทุกคนต่างมีจุดร่วมคือ สมัครเข้ามาทริปอาบป่าด้วยกัน

ด้วยอยากลอง อาบป่า และสัมผัสธรรมชาติที่ทุกคนต่างขาดหายมานาน จึงกลายเป็นทริปที่มามีประสบการณ์ “อาบป่า” ครั้งแรกร่วมกัน

ส่วนตัวฉันเองพอเคยศึกษาเรื่องการอาบป่ามาบ้าง จำได้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการอาบป่า ดอกเตอร์ควิง ลี บอกเราว่า การอาบป่าคือการแช่อยู่ในสภาพแวดล้อมของป่า

ฟังดูเหมือนง่าย

แต่สารภาพว่า หลังจากมีโอกาสได้ไปทริปอาบป่า 3 วัน 2 คืน เป็นครั้งแรกที่เขาใหญ่ ทำให้ค้นพบว่า ฉันไม่คุ้นชินกับการ “แช่” ที่ว่าเลยแม้แต่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ตั้งแต่เด็กจนโต การเข้าป่าที่เราคุ้นเคย คือการเดินป่า ทำกิจกรรมในป่า เราเดินป่า เราชมนกชมไม้ แต่น้อยครั้งนักที่เราจะหยุดนิ่ง “แช่” ตัวเองอยู่ตรงนั้น

สำหรับฉัน ผู้อยู่ไม่นิ่ง ใจร้อน และวิ่งวนกับการทำงานหลายอย่างพร้อมกันมาตลอด การปล่อยตัวเองแช่อยู่ในป่า เปิดประสาทสัมผัสเชื่อมโยงกับธรรมชาติ แต่กลับไม่ยักทำได้อย่างที่คิด

ใช่ มันไม่ง่าย ทว่าก็ไม่ได้ยากเกินไปนะ แค่เรายังไม่คุ้นเคยเท่านั้น แถมผลลัพธ์ที่ได้ก็คุ้มค่ากับการที่เรายอมฝึกตัวเอง และเรียนรู้ที่จะทำความรู้จักร่างกายตัวเอง

และปล่อยตัวเอง แช่ อยู่ในป่า และได้เข้าใจในท้ายที่สุดว่า อาบป่าเป็นอย่างไรกันแน่

บันทึกอาบป่า : เมื่อฉันได้อาบป่าครั้งแรกในชีวิต arbpa19arbpa18 arbpa22 arbpa21 arbpa20

ลำตะคอง ประคองติดเครื่องมืออย่างตั้งใจ

“การเดิน fox walk ทำให้เรารู้เนื้อรู้ตัวในแต่ละก้าว ให้ระวังเนื้อระวังตัวมากขึ้น ให้รู้ตัวว่ากำลังเดินอยู่ ทุกวันนี้เวลาเดินรู้ตัวไหมว่าเดิน”

ก่อนเข้าป่าเราต้องติดเครื่องมือกันก่อน จากการที่ใช้ชีวิตในเมือง หรือการทำงาน ทำให้ติดนิสัยรีบเร่งเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย การติดเครื่องมือจะทำให้เราเชื่อมโยง (connect) กับธรรมชาติได้มากกว่าที่พวกเราเคยรู้สึก

พี่ต้นและทีมงานวิทยากรจากนิตยสารสารคดี ฝึกให้พวกเราได้ลองติดเครื่องมือหลายอย่าง ตั้งแต่การเดิน การมอง การฟัง ทั้งนี้เพื่อฝึกให้เราเปิดประสาทสัมผัสให้กว้างขึ้น

เดินอย่างจิ้งจอก (fox walk) ฝึกใช้ปลายเท้าเดิน (เดินเหมือนย่อง) ให้เรารู้เนื้อรู้ตัวในแต่ละก้าว

มองอย่างนกฮูก – เรามองได้กว้างกว่าที่เราคิด ปรกติเราชอบมองตรงไปข้างหน้า แต่แท้จริงแล้วสายตาเรามองได้ถึง 180 องศาเลยทีเดียว เรามองได้มากกว่าแค่มองตรง แต่มองให้เห็นถึงรอบข้างด้วย

ฟังอย่างกวาง – กวางเขามีใบหูที่ใหญ่ สัมผัสให้ได้ยินเสียงของความเงียบที่แทรกอยู่ในเสียงอื่นๆ เข้าไปนั่งนิ่งๆ ในที่ที่ตัวเองสบายใจ ฟังทุกเสียงที่เข้ามา และทำแผนที่เสียง ส่วนตัว

และที่สำคัญคือ ตระหนักเสมอว่า เรากำลังเข้ามาเยือนในบ้านของสัตว์ป่า เราต้องเคารพบ้านของเขาด้วย

arbpa23 arbpa12 arbpa24 arbpa25 arbpa26

ผาเดียวดาย ในวันที่เรามองวิวผาได้กว้างและนิ่งกว่าที่เคย

เมื่อพวกเราได้ติดเครื่องมือกันแล้ว ก็ลองไปเดินเส้นทางธรรมชาติที่ผาเดียวดายกัน ตอนนั้นฉันไม่รู้หรอกว่าเครื่องมือที่เพิ่งติดจะได้ผลอย่างไรบ้าง แต่โดยที่ไม่รู้ตัว วินาทีที่ฉันย่างเท้าลงบนทางเดินไม้ระแนงเพื่อเดินลงไปยังผาเดียวดายนั้น ฉันก็เอาด้านหน้าของเท้าลงสัมผัส อยู่กับทุกย่างก้าวของตัวเอง ตามองรอบด้าน ใส่ใจกับต้นไม้ใบหญ้าระหว่างทางมากขึ้น

ฤดูที่พวกเราไปนั้นไม่ใช่เวลาผลิบานใบเขียวของต้นไม้บริเวณผาเดียวดาย เฟินตุ๊กแกที่จะอวดสีสันในหน้าฝนนั้น ในช่วงต้นหน้าร้อนเช่นนี้ มองผ่านๆ เห็นต้นแห้งๆ เหลืองกรอบ ก็นึกว่าตายไปแล้ว แต่เปล่าเลย พวกเขากำลังเก็บตัวจำศีล รอน้ำในฤดูฝนอยู่ต่างหาก

ขอแค่เพียงเราใส่ใจมองระหว่างทางได้

เหมือนที่ฉันได้ยินเพื่อนร่วมทริปบอก “ถ้ามากันเองก็ดุ่มๆ เราก็จะมุ่งไปที่จุดชมวิวที่สวยที่สุด ถ่ายรูป ไม่สนใจข้างทางหรอก” ฉันเห็นด้วยในใจ

แล้วก็ย่างปลายเท้าต่อไป

จนวินาทีที่เราเดินไปถึงหน้าผาเดียวดาย ตรงหน้าคือผืนป่าตั้งตระหง่าน เขียวสุดลูกหูลูกตา ตัดกับผืนฟ้าอันกว้างใหญ่ และตัวฉันที่เล็กจิ๋วเหลือเกิน ฉันเดินย่องเข้าไปใกล้หน้าผาอีกนิด อยากเห็นทุกอย่างให้ใกล้ที่สุด พร้อมทั้งพยายามเปิดประสาทสัมผัสทั้งหมด ลองสัมผัสความยิ่งใหญ่ของป่ารอบด้านนี้ดู หูของฉันได้ยินเสียงนกจากหลายทิศทาง เสียงลมพัดใบไม้หวีดหวิว และเสียงเมฆที่กำลังเคลื่อนตัวอยู่บนฟ้า ฉันว่าฉันก็ได้ยินนะ และฉันก็ยังลองมอง มองอย่างนกฮูกเหมือนที่เพิ่งเรียนมา ทำให้ฉันค้นพบว่า นอกจากมองตรงไปข้างหน้าแล้ว สายตายังมองกว้างได้มากกว่านั้น ฉันสามารถเห็นปลายไม้ที่อยู่อีกด้านของผาได้ เพียงแค่เหลือบตามอง หรือเห็นป่าอีกหย่อมที่อยู่ไกลออกไปแวบๆ ได้ แล้วก็ให้อัศจรรย์ใจอยู่เงียบๆ ว่าประสาทสัมผัสของคนเราเปิดและรับได้มากกว่าที่เราคิดเยอะเลย

ฉันยืนนิ่งอยู่ตรงนั้น หลับตารับลม รับพลังจากผืนป่าอันยิ่งใหญ่ที่อยู่ตรงหน้า เมื่อค่อยๆ ลืมตาขึ้นมาอีกที เสียงเคลื่อนไหวของผู้คนรอบด้านก็เงียบสงัด หันไปมองอีกที เพื่อนร่วมทริปแต่ละคนต่างประจำอยู่จุดที่ sit spot หรือจุดตัวเองพอใจ นั่งนิ่งเงียบ ฉันมองไปที่เพื่อนร่วมทริปคนหนึ่ง เขายืนหลับตาอยู่ สองมือยื่นมาข้างหน้าเหมือนโอบรับสายลมที่มองไม่เห็น เขายืนอยู่ตรงนั้น และทั้งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเบื้องหน้าอย่างกลมกลืน และทุกคนที่เหลือก็เหมือนจะเป็นอย่างนั้น

ฉันมหัศจรรย์ใจรอบ 2 ทุกคนดูเหมือนนิ่งได้หมดเลย ยกเว้นฉัน ฉันลองหลับตาดูอีกครั้ง ผิวกายสัมผัสกับอากาศที่เริ่มเย็นลงและเสียงสายลมกระทบใบไม้ ทว่าทั้งในหัวและในใจกลับมีเสียงความคิดของฉันดังอยู่ตลอดเวลา ฉันคิด คิด คิด คิด หึ่ง หึ่ง หึ่ง ทำไมฉันทำให้ตัวเองปล่อยใจไปกับธรรมชาติรอบด้านไม่ได้นะ คิ้วฉันยังขมวดไม่คลาย ในขณะที่ผืนป่ารอบด้านกลับค่อยๆ คลายตัวลง จนเมื่อฉันลืมตาขึ้น จากเดิมที่เรายังเห็นฟ้าโปร่งๆ รอบด้านก็ปกคลุมด้วยหมอกหนาเสียแล้ว

วินาทีที่หมอกลง ทัศนียภาพเปลี่ยน แต่ทุกคนยังคงนิ่งอยู่ที่เดิม

เหล่าแมกไม้ที่มีหมอกปกคลุม เมื่อมองขึ้นไปด้านบน สีเขียวก็เหมือนมีสีเทามาปะปน

ขากลับพวกเราเดินผ่านเส้นทางเดิมเพื่อไปขึ้นรถอย่างนิ่งเงียบและเต็มอิ่มกว่าตอนเดินลงเมื่อชั่วโมงที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด

ฉันว่า ผาเดียวดาย ป่าที่นี่ และประสาทสัมผัสที่พวกเราฝึกเปิด กำลังทำงานอะไรบางอย่างกับพวกเรา

arbpa13 arbpa14 arbpa15 arbpa16 arbpa17

เส้นทางเดินป่า กม.ที่ 33 ชะนีนี่นี้ เป็นพยาน เมื่อการอาบป่าคือการกลายเป็นส่วนหนึ่งของป่าอย่างกลมกลืน

วันรุ่งขึ้น หลังจากได้ตื่นเช้ามืดมาดูดาว และเช้าตรู่มาดูนก พวกเราไปเดินป่าที่เส้นทางเดินป่า กม.ที่ 33 ก่อนเข้าป่าก็มีพี่ดำ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี มาเล่าถึงที่มาของเส้นทาง ว่าวันนี้เราจะเดินเทรลในระยะ 3 กิโลเมตร และจะทำอะไรกันบ้าง

ทีแรกฉันก็ไม่ได้คิดอะไรหรอก คิดแต่เพียงว่าเรื่องเดินเทรลนี่ฉันถนัด ไกลไม่ไกล ยังไงฉันก็อึดอยู่แล้ว อีกอย่างก็ชอบเดินป่าอยู่แล้ว ไม่ได้กังวลอะไรมาก

โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่า แต่ละคนมีความรู้สึกตอนเดินเข้าป่าไม่เหมือนกันแม้แต่น้อย ฉันมารู้ภายหลังว่า มีพี่คนหนึ่งกลัวการเดินป่ามาโดยตลอด และก็มาเอาชนะความกลัวได้จากการเดินอาบป่าในครั้งนี้

เดินเทรลช่วงแรกให้ความรู้สึกเหมือนเดินป่าสมัยเข้าค่ายลูกเสือตอนมัธยมฯ ต้น ฉันเดินตามวิทยากรและชมนกชมไม้ไปเรื่อย พร้อมกันนั้นก็พยายามเตือนตัวเองว่า ให้เดินด้วยปลายเท้าอย่างจิ้งจอก และจำไว้เสมอว่าเรากำลังเข้ามาในบ้านของสัตว์ป่าเขา ฉันเป็นแขกที่ต้องทำตัวเรียบร้อยและไม่รบกวนเขา ส่วนหูก็พยายามเงี่ยฟังเสียงนก เสียงลม เสียงใบไม้กระทบ ฉันว่ามันเป็นเสียงเฉพาะของป่านะ เป็นเสียงป่าคุยกัน และก็พยายามจะชวนคุยกับคนอื่นให้น้อย ห้ามตัวเองยากอยู่เหมือนกันเพราะเป็นคนชอบชี้ชวนคนอื่นดูโน่นนี่ แต่มีวิทยากรคอยนำทางและกระซิบแล้ว ฉันก็บอกตัวเองให้เงียบได้ง่ายขึ้น

ระหว่างทาง พี่ว่าน วิทยากรเดินนำไปจุดที่มีโพรงของนกเงือกกรามช้าง เรามองอยู่ไกลๆ ไกลมากๆ ต้องใช้กล้องสองตาส่องจึงจะเห็น โพรงของครอบครัวนกเงือกอยู่กลางลำต้นต้นไม้สูงใหญ่ มองไกลๆ เป็นรูดำๆ เล็กๆ อยู่กลางลำต้น นั่นละบ้านของพวกเขา

ฉันไม่ได้เห็นตอนพ่อนกนำอาหารมาให้แม่นกและลูกที่อยู่ในโพรง แต่ได้บังเอิญเห็นแม่นกปัดกวาดเศษขยะออกจากโพรงแทน เห็นเป็นดินดำๆ ร่วงออกมาจากโพรง นั่นละวินาทีระทึกกลั้นหายใจของฉัน

ทว่าฉันได้มีดวงเห็นชะนีอยู่บนเรือนยอดไม้เหนือหัวละ เริ่มแรกได้ยินเสียงร้อง ผะอัววว ผะอัว ดังลั่น ก่อนจะได้เห็นชะนีตัวเล็กกับตัวใหญ่ สีดำกับดำแต้มขาวสองตัวกำลังโดดจากเรือนยอดไม้หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง พอเจอจุดที่ใช่ก็นั่งแหมะ กินลูกไม้อย่างตั้งใจ พอมีอะไรเข้าปากเสียงร้องก็เงียบกริบ

ฉันแหงนหน้ามองชะนีอย่างไม่รู้จักเมื่อยคอ สายตาจดจ้องไปที่ชะนีที่อยู่บนยอดไม้เหนือหัวกำลังเอื้อมมือเก็บลูกไม้กินอย่างอร่อย รู้สึกได้ถึงก้อนอะไรบางอย่างที่ดันอยู่ในลำคอ และน้ำตามันพานจะรื้นขึ้นมาในกระบอกตาด้วยความตื้นตัน

ในชีวิตฉันไม่เคยเห็นชะนีระยะใกล้ขนาดนี้มาก่อน และพวกเขาช่างน่ารัก เป็นตัวของตัวเอง ในบ้านของเขา เวลานั้นตัวตนฉันไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป แต่เป็นการเคลื่อนไหวของชะนีตรงหน้า กิ่งไม้ที่ไหวเอนลู่ลม เสียงนกร้องจิ๊บ ใบไม้ที่ร่วงกระทบดินต่างหากที่มีตัวตน และตัวฉันที่ยืนอยู่นิ่งๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

arbpa31

ใบไม้นักสู้

กิจกรรมต่อมาที่พวกเราทำกัน คือการให้ไปเดินหยิบใบไม้ (ร่วงแล้ว) ที่ชอบมาคนละห้าใบ ฉันชอบตอนที่เดินไปหยิบมาก เราได้มองหาใบไม้แต่ละใบแต่ละแบบ หยิบแล้ววาง บ้างก็เลือกไม่ถูก หยิบมาได้มากกว่าห้าใบก็มี

เมื่อหยิบครบแล้วก็มาเรียงรวมกันบนผืนผ้าสีขาว จากนั้นก็แยกประเภทกันตามขนาด สี รูปทรง และนั่นก็ทำให้พวกเราสังเกตเห็นว่าสีเขียวมีหลายเฉดขนาดไหน และทรงของใบไม้ที่แต่ละคนหยิบมาก็ไม่เหมือนกันเลย แม้แต่ใบสีน้ำตาล เขียวเหล่านั้น ใบชนิดเดียวกัน โทนสียังแตกต่าง

ทุกคนพินิจดูประติมากรรมเรียงใบไม้ ถ่ายรูป และชื่นชมความเรียบง่ายของมัน ฉันยังจำได้ดีตอนพี่ดำอธิบายถึงจุดร่วมของใบไม้ในป่าดิบ ใบมีปลายแหลม เป็นท่อระบายน้ำเล็กๆ ปล่อยน้ำไหลลงไป

ป่าดิบปีหนึ่งฝนตกเยอะ ถ้าฝนไม่เยอะจะเป็นป่าแห้งแล้ง ผลัดใบ พอฝนตกเยอะๆ ใบเขาจะรับน้ำเยอะเกินไปก็ไม่ดี เขาต้องหาวิธีจะระบายน้ำออก ก็เหมือนเป็นรางน้ำ​

ส่วนใบไม้ที่เป็นใบตุ่มคือการที่เขาพยายามสู้แมลง ไม่ยอมก็งอกเซลล์ออกมา ถ้าใบที่เป็นรูคือ กินก็กินไปเถอะ

รายละเอียดเล็กๆ เหล่านี้เป็นเรื่องราวชีวิตในป่า แต่ละชีวิตก็มีเทคนิคเอาตัวรอด ส่วนใบตุ่มคือใบนักสู้ ฉันจำได้แม่นมั่น  

arbpa29 arbpa30  

รับพลังจากปรมาจารย์ปู่ต้นไทร

ไฮต์ไลต์ของ กม.ที่ 33 คือคุณปู่ต้นไทร หลังจากเดินมาพักใหญ่ๆ พวกเราหยุดแวะกินข้าวที่นี่ เบื้องหน้าคุณปู่ต้นไทรอายุกว่า 400 ปี เป็นจุดที่ให้แต่ละคนหาที่นั่งผ่อนคลายตามสบาย และเมื่อกินข้าวเสร็จก็เป็นเวลาแยกย้ายไปอยู่กับต้นไทร หรือป่ารอบด้าน จุดที่แต่ละคนจะสบายใจ และนั่งหรือนอน หรือจะยืน อิริยาบถอะไรก็แล้วแต่ เพื่ออาบป่า

ฉันใช้เวลาอยู่นานมากกว่าจะหาจุดและนั่งนิ่งๆ ได้ เพราะตัวและใจมันยุกยิก ไม่มีสมาธิจดจ่อ เลยต้องไปปีนป่ายต้นไม้เล่น เดินลอดไปมาระหว่างโคนต้นไทรขนาดยักษ์ ทำกิจกรรมให้ตัวเองเหนื่อยก่อนถึงมานั่งนิ่งๆ บนกิ่งใหญ่ของต้นไทร ให้ตัวเองได้สัมผัสถึงเปลือกไม้เนื้อไม้ มองตรงไปข้างหน้าเป็นป่าร่มรื่น เสียงจิ้งหรีดร้องลั่นกลบเสียงนกไปหมด และฉันก็ค่อยๆ หลับตาลง

เสียงคุยในหัวยังดังหึ่งๆๆ เหมือนเดิม แข่งกับเสียงจิ้งหรีดรอบข้าง รู้ตัวด้วยว่าคิ้วยังคงขมวดอยู่ และในหัวก็คิดถึงเรื่องต่างๆ นานา ไม่หยุด เรื่องงานเอย เรื่องคนเอย สารพันจะคิดไปได้ ยกเว้นการอยู่กับต้นไทร ในป่าตรงนั้น ฉันเลยลองกำหนดจดจ่ออยู่กับลมหายใจดูเผื่อจะช่วย เหมือนนั่งสมาธิตอนเด็ก หายใจเข้า หายใจออก เพ่งสมาธิไปที่ปลายจมูก พร้อมๆ กับที่ตัวฉันก็ค่อยๆ เบาลง หยุดคิด และปล่อยทุกประสาทสัมผัส ให้เปิดรับพลังจากสิ่งแวดล้อมในป่า และฟังเสียงข้างในตัวเอง ว่าร่างกายตัวเองกำลังบอกอะไร ลมหายใจที่ไม่ติดขัด แต่ยังสั้นยาวไม่สม่ำเสมอ ฉันหายใจลึกเข้าไปถึงท้องหรือเปล่านะ และผิวกายที่รับลมอยู่ตอนนี้ร้อนหรือเย็นกันแน่ ตัวก็เบาสบาย ประสานกับกิ่งไม้ที่นั่งอยู่อย่างน่าประหลาด

ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับรอบข้างเหมือนที่อยู่ที่ผาเดียวดายเมื่อวานกลับคืนมา แต่ครั้งนี้แจ่มชัดกว่าเดิมมาก

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเดินต่อ ฉันคารวะบอกลาคุณปู่ต้นไทร ฉันไม่กระโตกกระตากแล้ว นิ่งขึ้น เริ่มเข้าใจทีละน้อย ผ่านร่างกาย ผ่านประสาทสัมผัสที่เปิดออก ว่าอาบป่าเป็นอย่างไร และพร้อมแล้วสำหรับแยกย้ายไปเดินในป่าคนเดียว เพื่อสัมผัสป่า อาบป่าอย่างแท้จริง

arbpa32 arbpa27 arbpa07 arbpa33

ช่วงเวลาอาบป่า

ช่วงเวลาที่ทีมงานปล่อยให้เดินเข้าไปในป่าทีละคน ฉันว่าตอนนั้นน่าตื่นเต้นมาก และทุกคนก็พร้อมใจกันนิ่งเงียบ เหมือนตอนนั้นทุกคนกำลังอยู่ในโลก ในป่าของตัวเอง ท่ามกลางป่าที่พวกเราอยู่ร่วมกันอีกที

ทีมงานปล่อยพวกเราเข้าไปในป่าทีละคน ระยะห่างกันแบบไม่เห็นหลัง ทำให้แต่ละคนมีพื้นที่กว้างพอที่จะอยู่กับตัวเองโดยไม่ต้องไปพะวงคนอื่น

เวลาที่ได้อยู่คนเดียวในป่านั้น ช่วงแรกความรู้สึกผุดขึ้นมาหลายแบบ ทั้งกลัวหลงป่า กลัวเจอเพื่อนไม่พึงประสงค์ ไม่มั่นใจไปหมด จนกระทั่งเดินต่อเรื่อยๆ หยุดบ้างถ้าอยากหยุด ต้นไม้ไหนที่เราอยากแตะ จุดไหนที่เรารู้สึกว่าเขาเรียกเรา เป็นอย่างนี้ไปสักพัก จนฉันก็อาบป่าไปอย่างสบายใจ ไม่รู้สึกหวาดระแวงอีกต่อไป

จะว่าไปมันมีเส้นกั้นบางๆ อยู่ระหว่างการเดินไปในป่าช้าๆ กับการอาบป่า กับการอาบป่า เราเปิดทุกประสาทสัมผัส หูเปิดกว้างได้ยินทุกเสียงที่เข้ามา จมูกได้กลิ่นป่า ตามองให้รอบด้าน เท้าที่ก้าวย่างลงด้วยปลายเท้า มือสัมผัสต้นไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ที่รู้สึกว่าดึงดูด และการไม่คิดนะฉันว่า ฟังเสียงร่างกายตัวเองและปล่อยตัวเองเดินไปตามประสาทสัมผัสที่เปิดออก

 

หลังจากอาบป่า

สิ่งที่ต้อนรับเราหลังจากออกจากป่า กม.ที่ 33 คือ ท้องฟ้าสดใสตัดกับดินสีน้ำตาลของหนองผักชี ฉันยิ้มตาหยีรับแดดจ้านั้น หลังจากอยู่ในร่มเงาของป่าดิบมานาน เมื่อออกมาเจอแดดจ้า สัมผัสของร่างกายก็เปลี่ยนไป

ตอนออกจากป่า รู้สึกได้ว่าประสาทสัมผัสฉันคมกริบ และจิตใจที่โล่งโปร่งเบาสบาย พร้อมสังเกตถึงความเป็นไปของทุกอย่างรอบตัว ฉันก็เพิ่งเข้าใจแจ่มแจ้งตอนนั้นนี่เอง เครื่องมือทั้งหมดที่วิทยากรติดตัวให้เราก่อนหน้านั้น หลักๆ ก็เพื่อฝึกให้ทุกคนมีความละเอียดกับตัวเอง สังเกตความเป็นไปของสิ่งรอบด้าน ไม่ก้าวร้าว และละเมียดละไม

และที่สำคัญคือการฝึกให้เรารู้เนื้อรู้ตัว อยู่กับสัมผัสปัจจุบัน เหมือนที่พี่ในทริปคนหนึ่งสะท้อนไว้อย่างเรียบง่ายและจับใจยิ่ง ว่าตัวเขา “กินเหล้าหัวราน้ำไม่ลืมความทุกข์ แต่การหยิบใบไม้ห้าใบกลับทำให้ลืมได้”

ในขณะที่พี่อีกคนอาบป่าทำให้ลืมความกลัว

“พอเปิดใจ ประสาทสัมผัสก็เปิดรับ เฮ้ย เราไม่กลัวป่าแล้ว มีความกล้าเกิดขึ้นแล้ว”

จากอาบป่าสู่การมองย้อนข้างในตน

arbpa34

“แต่ละชิ้นต่างเวลาต่างความรู้สึก สุดท้ายแล้วรวมกันกลายมาเป็นเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง”

เมื่อวาน พวกเราแต่ละคนได้เต็มอิ่มกับการอาบป่า การอยู่กับตัวเอง ฟังเสียงร่างกายและลมหายใจของตัวเองโดยไม่รู้ตัว ฉันว่าผลพวงจากการอาบป่าเมื่อวานทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม

วันรุ่งขึ้น ทีมงานวิทยากรก็ชวนให้พวกเราทำศิลปะจากธรรมชาติ โดยเริ่มจากการให้นั่งล้อมวงกันที่ผากล้วยไม้ แวดล้อมไปด้วยลำธารและไม้ใหญ่ แลกเปลี่ยนความรู้สึก และให้โจทย์สามครั้ง ว่าให้เราไปหยิบสิ่งของจากธรรมชาติที่ “เรียกหาเรา” เดินไปหยิบมานั่งในวงกลมและมาแชร์กัน แล้วก็เดินไปหยิบอีก สุดท้ายให้นำของสามชิ้นมาประกอบเป็นงานศิลปะ

ทุกคนต่างมีห้วงเวลาในการหยิบของตัวเอง มีเรื่องราว มีจุดที่ลังเลจะหยิบ หรือจุดที่มั่นใจ และเสียงที่เรียกหาเฉพาะตัว ความรู้สึกในการหยิบแต่ละครั้ง กิจกรรมเดียวกัน โจทย์เดียวกัน แต่ก็ทำงานกับคนไม่เหมือนกันเลย

ท้ายที่สุดวัตถุจากธรรมชาติสามชิ้นที่หยิบกันมานั้นก็กลายมาเป็นงานศิลปะจัดวาง พร้อมบทกวี ข้อเขียนสั้นๆ จากผู้สรรค์สร้าง

งานศิลปะที่ออกมานั้นสะท้อนตัวตนและภาวะในใจของเจ้าของชิ้นงาน บางคนไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่าศิลปะที่ทำอยู่จะบอกอะไรแก่ตนเองและคนอื่น จนเมื่อชิ้นงานเสร็จ กลับกลายเป็นเรื่องราวที่เผยสิ่งที่อยู่ในใจโดยไม่รู้ตัว ต่างแลกเปลี่ยน รับฟังโดยไม่ตัดสิน และปลอบโยนกันและกันอย่างอาทร

เป็นศิลปะ เป็นมิตรภาพ

เป็นธรรมชาติ

การอาบป่าช่วยเรื่องสุขภาพ เป็นการรักษาในเชิงป้องกัน มีการศึกษาออกมามากมาย เรื่องสุขภาพทางกายอาจจะยังไม่เห็นผลเร็วนัก แต่สุขภาพทางใจ หัวใจ และจิตวิญญาณ กลับเป็นสิ่งที่รับรู้ได้ทันที พวกเรากลับบ้านไปด้วยจิตใจที่เบิกบาน อ่อนน้อม ละเอียดอ่อนมากกว่าเดิมแน่นอน

ฉันกลับเข้ามาในเมืองด้วยความรู้สึกที่อิ่มเอมใจ จิตใจปลอดโปร่งเบาสบาย และใบหน้าของเพื่อนร่วมทริปแต่ละคนก็เต็มไปด้วยรอยยิ้ม

ฉันว่าพวกเรารับพลังจากป่ามาเต็มที่ และพร้อมสู้กับอะไรก็ตามที่อยู่เบื้องหน้าแล้ว

จนกว่าจะได้กลับไปอาบป่าอีกครั้ง

หมายเหตุ ขอบคุณเพื่อนร่วมทริปอาบป่าทุกคน ประสบการณ์การอาบป่าทั้งหมดที่ฉันได้เรียนรู้นี้ เป็นประสบการณ์ร่วมที่เกิดจากทุกคนในทริปช่วยกันแลกเปลี่ยน ต่อเติมเรื่องราว และทำความรู้จักการอาบป่าไปด้วยกัน

arbpa01

กิจกรรม Parkใจ จัดขึ้นโดยนิตยสารสารคดี เพจ Sarakadee Magazine และ Nairobroo-นายรอบรู้ นักเดินทาง สนับสนุนโดย ความสุขประเทศไทย และธนาคารจิตอาสา เพื่อชวนผู้คนที่สนใจมา Parkใจ “พักใจ” ผ่านการสัมผัสธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ เชื่อมโยงกับธรรมชาติให้มากกว่าที่เคย แม้ในระดับชีวิตประจำวัน เพื่อฟื้นฟูสุขภาพกายใจจิตวิญญาณ ของผู้คนที่นับวันยิ่งห่างหายจากธรรมชาติมากขึ้นทุกที

กิจกรรม Parkใจ ครั้งที่ 6 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-6 มีนาคม 2563 ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่