เรื่อง : วรากร แก้วทอง

มองตะวัน

“คุณเคยคุยกับตัวเองต่อหน้าดวงตะวันที่กำลังจะลาขอบฟ้าไหม?”

ผมเคยนะ เหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดขึ้นบ่อยๆ จนคนรอบข้างคงมองว่าผมบ้า คนบ้าที่นั่งพูดคนเดียว ในช่วงแรกๆ ผมก็คิดเช่นนั้น แต่ผลการวิจัยของอาจารย์ Gary Lupyan และ Daniel Swignley ที่ถูกเผยแพร่ในนิตยสาร TIME บอกกับผมว่า การคุยกับตัวเองไม่ใช่เรื่องบ้าหรือน่าอายอะไร มันคือการเรียกความมั่นใจต่างหาก นั่นคือข้อมูลแรกที่ทำให้ผมเริ่มคิดเข้าข้างตัวเองว่า ผมสามารถนั่งพูดคนเดียวได้

งานวิจัยด้านจิตวิทยาอีกหลายชิ้นก็บอกด้วยว่า การคุยกับตัวเองช่วยเพิ่มความจำและสมาธิ และงานวิจัยของ University of Michigan กล่าวว่า การคุยกับตัวเองช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น ทำให้มีความมั่นใจในการผ่านความท้าทายที่ยากๆ ไปได้

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ทำให้ผมเชื่อว่า ผมไม่ได้บ้า

คราวนี้กลับมาที่การคุยกับตัวเองต่อหน้า “ดวงตะวัน”

ดวงตะวัน หรือดวงอาทิตย์ หรืออีกหลายๆ ชื่อที่ผมอธิบายไม่หมด เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากโลก 149,600,000 กิโลเมตร เป็นจุดศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล และโลกต้องโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงนี้ เราจึงมองเห็นดวงตะวัน

การเฝ้ามองดูตะวันตกดินเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่มอง ไม่ต้องเสียเงินทองอะไร แต่สิ่งที่ได้มากกว่าความสวยงามที่เห็นคืออะไรกัน?

ครั้งหนึ่งผมเดินทางไปยัง จ. กาญจนบุรี ขลุกตัวอยู่ในป่าที่ไม่มีแสงไฟ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีความวุ่นวายจากโรคภัยต่างๆ ผมนั่งลงที่ริมทะเลสาบใหญ่เพื่อมองตะวันกำลังลับขอบฟ้า

ดวงตะวันที่นั่นสีแดงสดเหมือนผลไม้สุก เมื่อบวกกับทิวเขาน้อยใหญ่ สายลมอ่อนพัดกลิ่นจางๆ ของไอดินมาสัมผัสจมูก เสียงแมลงขับกล่อมพงไพรราวกับบรรเลงเพลงอำลาฟ้ายามกลางวัน เสียงวิหคบินกลับรังร้องอยู่ไกลบ้างใกล้บ้าง แข่งกับเสียงเรไรและเสียงสายน้ำไหล ความคิดต่างๆ นานาก็ผ่านเข้ามาทักทาย

“เพราะอย่างนี้หรือเปล่า หนุมานถึงจะขึ้นไปกินดวงตะวัน” นั่นเป็นคำพูดแรกที่เปล่งออกมาขณะจ้องมอง

ความเพลิดเพลินทำให้เกิดคำถามขึ้นในห้วงความคิด ถ้าผมเล่าเรื่องราวบางอย่างให้ตะวันฟัง มันจะดีไหม คิดพลางหันซ้ายแลขวาว่ามีใครอยู่ใกล้พอที่จะได้ยินเสียงของผมไหม แต่ไม่มี จึงถือเป็นโอกาสดี แถมบรรยากาศก็ดีด้วย ผมจึงเริ่มพูดเรื่องราวในใจออกมา…

“เรามาที่นี่ทำไมนะ เมื่อเช้าเรายังอยู่ในเมืองใหญ่อยู่เลย กว่าจะมาถึงต้องผ่านอะไรมาบ้างเนี่ย”

ไม่มีเสียงตอบจากดวงตะวัน คงต้องเป็นเสียงในใจผมเองที่ตอบกลับมา ผมใช้เวลาค้นหาคำตอบนั้นนานพอสมควร

ผมพูดในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะพูด หัวเราะกับเรื่องราวที่ผ่านเข้ามา และนั่งซึมๆ ตอนที่ดวงตะวันจมหายไปในหุบเขา…เป็นครั้งแรกที่การคุยกับดวงตะวันเริ่มขึ้น มันช่างเป็นช่วงเวลาที่บ้าบอพิลึก แต่หลังจากนั้นผมก็ทำสิ่งนี้มาโดยตลอด

มนุษย์เราบางครั้งก็ต้องการสถานที่สงบๆ ไว้ทบทวนความคิดและการกระทำของตัวเอง ทุกครั้งที่มีเรื่องไม่สบายใจ ผมจึงเฝ้ารอให้เจ้าดวงตะวันตกดิน เพื่อที่จะได้คุยกับตัวเองและเล่าเรื่องราวให้ตะวันฟัง บางครั้งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผมมานานแสนนานแล้ว บางคราวเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดในรอบวัน เมื่อได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจออกไปบ้าง ความรู้สึกโล่งๆ ก็จะเข้ามาแทนที่

ถึงตรงนี้ผมเลยอยากแชร์วิธี “มองตะวัน” ของผม เผื่อคุณจะนำไปใช้ได้บ้างในวันที่รู้สึกอ่อนล้า

วิธีมองตะวัน

  • เริ่มจากหาพื้นที่ที่มีแต่ตัวคุณ และต้องเป็นที่ที่มองเห็นดวงตะวันตอนตกดินได้อย่างชัดเจน ไม่จำเป็นต้องเป็นที่โล่งแจ้ง ขอแค่มองเห็นเจ้าดวงตะวันก็พอ
  • เมื่อได้พื้นที่แล้ว ขอให้สัมผัสบรรยากาศรอบตัว ฟังเสียงรอบข้าง สูดอากาศยามเย็น และเริ่มมองสีของท้องฟ้า
  • ปล่อยความคิดให้ลอยไป อย่าฝืนตัวเองให้ไม่คิดอะไร ยืนเงียบๆ สักครู่หนึ่ง
  • เมื่อถึงจุดนี้คุณจะรู้สึกเหมือนโลกกำลังหมุนผ่านตัวคุณไป เพราะท้องฟ้ากำลังค่อยๆ เปลี่ยนสี
  • หากอยากเล่าอะไรให้ตะวันฟังก็พูดไป แต่ถ้าไม่ ก็แค่มอง
  • ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือช่วง 18.00-18.30 น.

นี่ละวิธีมองตะวันของผม ถ้าทำบ่อยๆ คุณจะรู้ว่าตะวันในแต่ละพื้นที่ตกดินไม่เหมือนกัน และท้องฟ้าในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกันด้วย บางครั้งท้องฟ้ายังเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของคนที่เฝ้ามอง

ใครเป็นหนอนหนังสือ การนั่งอยู่ใต้ต้นไม้พร้อมหนังสือดีๆ สักเล่มในช่วงที่ตะวันจะลับขอบฟ้าก็นับว่าน่าสนใจ หรือใครจะปล่อยจินตนาการให้ล่องลอยไปก็ยังได้ ทำไปพร้อมๆ กับสูดกลิ่นใบไม้ รับสายลมยามเย็น และหันมองตะวันในบางจังหวะ เพียงเท่านี้ก็อาจสร้างความสุขขึ้นในใจได้แล้ว

การพาตัวเองไปในที่ที่ผ่อนคลายไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป การให้ตัวเองได้สัมผัสกับธรรมชาติก็เช่นกัน ธรรมชาติอยู่รอบตัวเรา หันไปทางไหนก็เจอ แต่เรามักมองไม่เห็นเพราะมีบางอย่างบังตาไว้ และบางทีก็เพราะความเร่งรีบเพื่อตามเข็มนาทีให้ทัน

ท้ายนี้ผมขอเชิญชวนให้ลองสละเวลาสักเล็กน้อยเพื่ออยู่กับตัวเอง มองตะวันบนฟ้าบ้าง มองต้นไม้บ้าง มองก้อนเมฆบ้าง แล้วลองคุยกับตัวเองดู

ผมอยากรู้เหมือนกันว่า ดวงตะวันและท้องฟ้าในแต่ละที่ของคุณนั้น มันต่างกันเหมือนอย่างที่ผมรู้สึกไหม

บันทึกโดย “กวีพเนจร”
11/04/63

อ้างอิง :


มาร่วมกับเป็นส่วนหนึ่งในการสานสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วยกันใน
เฟซบุ๊กกรุ๊ป Park ใจ > คลิกที่นี่
ชวน Park ใจ โดย นิตยสารสารคดี นายรอบรู้ นักเดินทาง
สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา