สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 39 - อุ๊ย! หินหล่น

ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ให้ตัวเลขระยะทางไว้ว่า สวรรค์กามาพจรทั้งหกชั้นที่กล่าวถึงมาแล้ว อยู่สูงต่ำกว่ากันเพียงไร

“แต่ภูมิพื้นชมภูทวีปขึ้นไปถึงชั้นจาตุมหาราชิกานั้น สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ แต่จาตุมหาราชิกาขึ้นไปถึงดาวดึงส์นั้น สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ แต่ดาวดึงส์ขึ้นไปถึงชั้นยามา สูงได้ ๔๓๔,๔๐๐ โยชน์ แต่ยามาขึ้นไปถึงชั้นดุสิต สูงได้ ๗๘๔,๘๐๐ โยชน์ แต่ชั้นดุสิตขึ้นไปถึงชั้นนิมมานรดี สูงได้ ๑,๐๓๔,๒๐๐ โยชน์ แต่ชั้นนิมมานรดีขึ้นไปถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้น สูงได้ ๑,๔๘๙,๖๐๐ โยชน์ แท้จริง แต่มนุษย์โลกขึ้นไปถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเป็นที่สุด ชั้นฉกามาพรจรสวรรค์ ๖ ชั้นนั้น สูงได้ ๓,๘๒๔,๐๐๐ โยชน์”

แต่นอกจากการบอกระยะด้วยมาตราวัดระยะทางเช่นนี้แล้ว ยังมีการระบุระยะห่างระหว่างสวรรค์แต่ละชั้นด้วย “ตัวชี้วัด” อีกแบบหนึ่งด้วย

ในสมุดภาพไตรภูมิพรรณนาระยะห่างระหว่างสวรรค์แต่ละชั้นไว้ด้วยการตกของ “แผ่นหิน” หรือ “ก้อนหิน” โดย “สมมติว่า” ถ้ามีก้อนหินตกลงจากสวรรค์ชั้นหนึ่ง จะร่วงหล่นไปถึงสวรรค์ชั้นถัดลงไปภายในเวลาเท่าใด

แต่เพราะเหตุใดถึงจะมีเทวดาผู้อุตสาหะเหาะแบกเอาก้อนหินขึ้นไปทิ้งลงมา แบบเดียวกับที่กาลิเลโอเอาลูกปืนใหญ่ขึ้นไปโยนจากยอดหอเอนเมืองปิซา คัมภีร์ไม่ยักอธิบายไว้

ผลการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ขั้นเทพองค์นั้นพบว่าจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี หินต้องใช้เวลาตกลงมาถึง ๑ เดือน ๕๗ นาที จึงหล่นตุ๊บลง ณ สวรรค์ชั้นนิมมานรดี

ในวิชาฟิสิกส์ มีการคำนวณ “การตกอย่างอิสระ” (free falling) โดยมีทิศทางพุ่งลงสู่จุดศูนย์กลางของโลก ได้ค่าประมาณ ๙.๘ เมตร ต่อวินาที เราไม่แน่ใจว่าในกรณี “หินหล่น” แบบนี้จะสามารถใช้สูตรเดียวกันได้หรือไม่ หรือฟิสิกส์ของมนุษย์จะเป็นหลักการสากลที่ประยุกต์ใช้กับเทวดาได้ด้วยหรือเปล่า แต่เนื่องจากยังไม่มีหลักการคำนวณอย่างอื่นจึงขอ “สมมติ” ให้หินตกลงมาด้วยแรงโน้มถ่วง ณ ตีนเขาพระสุเมรุแกนกลางจักรวาล โดยความเร็วเดียวกันนี้

ระยะเวลาการตกของหินจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ไปถึงสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ๑ เดือน ๕๗ นาที คำนวณได้ว่า

ค่าเฉลี่ยที่หินตกเป็นเวลา ๑ เดือน เท่ากับ ๖๐ (วินาที) x ๖๐ (นาที) x ๒๔ (ชั่วโมง) x ๓๐ (วัน) เท่ากับ ๒,๕๙๒,๐๐๐ วินาที

เศษ ๕๗ นาที เท่ากับ ๖๐ x ๕๗ คือ ๓,๔๒๐ วินาที

เอาตัวเลขสองตัวนี้มารวมกัน แล้วคูณด้วย ๙.๘ ได้ออกมาเป็นระยะทาง ๒๕,๔๐๕,๐๒๐ เมตร หรือกว่า ๒.๕ หมื่นกิโลเมตร

ในสมุดภาพไตรภูมิยังให้ตัวเลขหินตกนี้ไว้อีกหลายระยะ เช่นจากสวรรค์ชั้นนิมานรดี เอาก้อนหินหย่อนตุ๋มลงไป กว่าจะถึงชั้นดุสิต ต้องใช้เวลา ๑ เดือน ๒๓ วัน ๓๙ นาที จากสวรรค์ชั้นดุสิต ปล่อยหินตกลงไปจะถึงสวรรค์ชั้นยามาในเวลา ๑๖ วัน ๒๑ นาที ส่วนจากยามาถึงสวรรค์ดาวดึงส์ของพระอินทร์ ใช้เวลา ๑๕ วัน ๓ นาที

ใครอยากรู้ว่าจะเป็นระยะทางเท่าไร ก็ลองไปคำนวณกันเอาเองแล้วกัน

ที่ดูแล้วรู้สึกว่าน่าเอ็นดูเป็นที่สุดคือในสมุดภาพไตรภูมิตรงหน้าซึ่งบรรยายถึงสวรรค์ชั้นต่างๆ และระยะห่างตามเวลาหินตกนี้ ท่านคงกลัวจะไม่สมจริง เลยต้องวาดก้อนหินเล็กๆ ไว้ตรงมุมแต่ละหน้าให้เห็นว่า “อุ๊ย! หินหล่น”