เร่งรัดโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในสถานการณ์โควิด ความเหมาะสมอยู่ที่ใด ?

ผังเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ จังหวัดสงขลา (ซ้าย) ตามประกาศ ศอ.บต.เรื่องเชิญชวนประชาชนแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการ (ขวา) ภาคประชาสังคมรณรงค์เข้าร่วมกิจกรรม Mob from home หรือ “ม็อบจากบ้าน” รณรงค์ออนไลน์ในช่วงสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาด

เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๓ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ออกประกาศเชิญชวนประชาชนแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากโครงการประกอบด้วยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ๓ ตำบล คือ ตำบลสะกอม ตำบลตลิ่งชัน และตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ไปตรวจดูรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ความจำเป็นและเหตุผล ตลอดจนการวางผังเมืองตามแผนการลงทุนของภาคเอกชน ฯลฯ ตามสถานที่ที่กำหนดไว้ อาทิ ศาลากลางจังหวัดสงขลา ที่ว่าการอำเภอจะนะ ระบบอินเตอร์เน็ตของ ศอ.บต. ฯลฯ และเตรียมปฏิทินการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ ๓ ตำบลข้างต้น ระหว่างวันที่ ๑๔-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓

การออกประกาศเชิญชวนของ ศอ.บต.ถือเป็นฉากต่อของเหตุการณ์วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เมื่อคณะรัฐมนตรียุคปลายรัฐบาล คสช. อนุมัติให้ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นในพื้นที่อำเภอจะนะ ภายใต้ชื่อโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” บนพื้นที่ชายฝั่งทะเลสามตำบลรวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑๖,๗๕๓ ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ ๑๘,๖๘๐ ล้านบาท อ้างอิงตาม “เอกสารพัฒนาพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตามแนวทางเมืองต้นแบบ ‘อุตสาหกรรมแห่งอนาคต’ ” ระบุภาพรวมโครงการว่าจะจัดแบ่งพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรม ๖ ประเภท ได้แก่ ๑.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา ๔,๒๕๓ ไร่ ๒.พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก ๔,๐๐๐ ไร่ ๓.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน ๔ โรง กำลังผลิตรวม ๓,๗๐๐ เมกะวัตต์ ๔,๐๐๐ ไร่ ๔.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ ๒,๐๐๐ ไร่ ๕.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า ๒,๐๐๐ ไร่ และ ๖.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย ๕๐๐ ไร่

โปสเตอร์รณรงค์หยุดนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ ย๊ะ ลูกหลานชาวประมงที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมชายฝั่งของอำเภอจะนะ เรียกร้องให้มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น

โปสเตอร์รณรงค์หยุดนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ ย๊ะ ลูกหลานชาวประมงที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมชายฝั่งของอำเภอจะนะ เรียกร้องให้มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น

การประกาศเชิญชวนประชาชนแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวการขับเคลื่อนโครงการเมื่อปลายเดือนเมษายน ๒๕๖๓ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเผชิญวิกฤติโรคระบาด COVID-19 มีการกักตัวประชาชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ เป็นที่มาของการนั่งปักหลักประท้วงอย่างสันติวิธีที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา และเขียนจดหมายร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีของ ไครียะห์ ระหมันยะ หรือ ย๊ะ ลูกหลานชาวประมงที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมชายฝั่งของอำเภอจะนะ ถามหาความชอบธรรมในการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ในบ้านเกิด ซึ่งเธอเห็นว่ายังขาดการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ที่สำคัญคือเธอเห็นว่าการออกประกาศเชิญเกิดขึ้นผิดที่ผิดเวลา นั่นคือในสถานการณ์ที่เชื้อไวรัส COVID-19 กำลังระบาด ทั้งประเทศอยู่ใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเรียกร้องให้มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น

“หนูได้ยินข่าว​ว่า ศอ.บต. จะมีการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ ๑๔-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ในพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรม โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับรู้​ คนนอกพื้นที่​ ๓​ ตำบล​ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น​ได้​ ซึ่งเขาก็รับได้ผลกระทบเหมือนกัน โครงการระดับหมื่นล้านแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับรู้

อีกทั้งในสถานการณ์​โรคระบาดที่ผู้คนกำลังเดือดร้อนลำบาก​ และเป็นช่วงเดือนรอมฎอนถือศีลอด หนูไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่มาจัดเวที​ เวทีที่จำกัดสิทธิ​ของคนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง”

ส่วนหนึ่งของข้อความในจดหมายที่ไครียะห์เขียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในจดหมายฉบับเดียวกันนี้เธอทิ้งท้ายว่า “หนูจะนั่งและนอนตรงนี้ (หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา) จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น

แนวคิดเรื่อง “เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ” หรือ “โครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ” เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างรอบคอบ เพราะจะเป็นการเปลี่ยนอู่ข้าวอู่น้ำของคนในพื้นที่ทางภาคใต้ให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม กรมโยธาธิการและผังเมืองจะต้องปรับกฎหมายประเภทผังเมืองบริเวณดังกล่าวจากพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า (สีม่วง) เพื่อปลดล็อกการทำอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนโครงการในช่วงเวลาที่ทั้งประเทศเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจึงตามมาด้วยคำถามถึงความเหมาะสม

นับตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 นายกรัฐมนตรีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ มีการประกาศข้อกำหนดฉบับที่ ๑ ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุม ทำกิจกรรม จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด รวมทั้งปิดหรือจำกัดการติดต่อใช้บริการสถานที่สาธารณะต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการประกาศข้อกำหนดอื่นๆ ที่จำกัดสิทธิในการเดินทาง และรวมตัวรวมกลุ่มของประชาชนเพิ่มเติมตามมา

การพิจารณาอนุมัติอนุญาตโครงการต่างๆ ในช่วงเวลานี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน เนื่องจากทุกคนกำลังถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ไม่อาจมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการที่อาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการรวมตัวรวมกลุ่มแสดงความคิดเห็นและเจตจำนงค์ต่อสาธารณะ

ในภาวะเช่นนี้หน่วยงานรัฐและเอกชนน่าจะยุติหรือชะลอการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและการพิจารณาอนุญาตโครงการต่างๆ ออกไปก่อนหรือไม่ ? ควรรอจนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และสถานการณ์โรคระบาดจากเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติมิใช่หรือ ?

แคมเปญรณรงค์ #ล็อคดาวน์เหมืองแร่หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยุดอนุมัติอนุญาตโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่ขณะที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ COVID-19 กำลังระบาด จนกว่าประชาชนจะสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเป็นปกติ (ภาพ : เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่)

แคมเปญรณรงค์ #ล็อคดาวน์เหมืองแร่หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยุดอนุมัติอนุญาตโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่ขณะที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ COVID-19 กำลังระบาด จนกว่าประชาชนจะสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเป็นปกติ (ภาพ : เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ วันแรกที่มีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) องค์กรสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งติดตามการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤตโควิดได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องยุติการอนุมัติอนุญาตโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินโรคระบาดจากเชื้อไวรัส COVID-19 โดยระบุว่า การดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้นเป็นมาตรการอันจำเป็นเร่งด่วนที่ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สถานการณ์ปัญหาคลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลกระทบส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการประกาศและบังคับใช้มาตรการดังกล่าวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คือ ทำให้ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย ในการจัดและเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะเพื่อแสดงออกและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการยื่นข้อเรียกร้องและเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานราชการ การจัดประชุมปรึกษาหารือ อบรมสัมมนา ตลอดจนการทำกิจกรรมเพื่อสื่อสารรณรงค์ต่อสังคมในพื้นที่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ

การที่ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและ

ติดตามตรวจสอบการอนุมัติ อนุญาต และการดำเนินโครงการ ย่อมทำให้ประชาชนไม่อาจใช้สิทธิอันชอบธรรมตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรอง ในทางตรงข้าม การกระทำดังกล่าวกลับจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับจากสถานการณ์โรคระบาดให้รุนแรงขึ้นไปอีก

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมแสดงความเห็นทางกฎหมาย ถึงกรณี ศอ.บต.เร่งรัดจัดรับฟังความคิดเห็นโครงการเขตพัฒนาพิเศษจะนะในสถานการณ์ฉุกเฉิน COVID-19 ว่ามีปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อประชาชนหลายประการ เช่น

๑) วิธีการปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. ไม่อาจทำให้ประชาชนรับรู้รับทราบข้อมูลการปิดประกาศเพื่อใช้สิทธิมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างแท้จริง และเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากวิกฤตการณ์โรคระบาดเชื้อไวรัส COVID-19
๒) การดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโรคระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นการฝ่าฝืนมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อและเป็นการละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
๓) กระบวนการปิดประกาศและการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนของ ศอ.บต. ขัดแย้งต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.๒๕๔๘ และเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร

แม้ต่อมาจะมีรายงานข่าวว่า ศอ.บต.เลื่อนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนพฤติการณ์เร่งรัด ผลักดัน หรืออาจถึงขั้นฉวยโอกาสอนุมัติโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในสถานการณ์ระบาดของโควิด

เพราะนอกจากจะนะแล้ว พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทยต่างเผชิญปัญหา ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๓ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ได้ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐหยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ หลังจากทางเครือข่ายถือปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเคร่งครัด จนทำให้ไม่สามารถออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ตามสถานการณ์ปกติ แต่กลับพบว่ากระบวนการพิจารณาอนุมัติอนุญาตโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นเป็นปกติ

วรวุธ ตามี่ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ให้เหตุผลว่า กฎหมายเคอร์ฟิวใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ ที่จะรู้ ร้อง ฟ้อง ร่วม ในการติดตามตรวจสอบความโปร่งใสของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามประชาชนดำเนินการใด ๆ ได้ แต่กับกระบวนการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนดังเช่นการทำเหมืองแร่กลับไม่ชะลอ ไม่หยุดดำเนินการ จึงควรล็อคดาวน์เหมืองแร่ จนกว่าจะพ้นสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและชอบธรรม

envi covid05

envi covid06

ประชาชนในหลายพื้นที่ร่วมรณรงค์และอ่านแถลงการณ์ “ล็อคดาวน์เหมืองแร่ หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง” เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา (ภาพ : เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่)

ประชาชนในหลายพื้นที่ร่วมรณรงค์และอ่านแถลงการณ์ “ล็อคดาวน์เหมืองแร่ หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง” เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา (ภาพ : เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่)

ในพื้นที่อื่นๆ เช่น ตำบลนางัว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ มีโครงการสร้างโรงงานผลิตยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต​ (ยางมะตอย) ซึ่งชาวบ้านต้องการคัดค้านแต่ก็ทำได้เพียงยื่นหนังสือเนื่องจากรวมตัวชุมนุมและแสดงความคิดเห็นแบบรวมกลุ่มไม่ได้

ในช่วงยามที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาโรคระบาด ประชาชนไม่สามารถรวมกลุ่มแสดงออกคัดค้านได้ตามสถานการณ์ปกติ หน่วยงานรัฐและเอกชนน่าจะให้ความเคารพต่อหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยชะลอการดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และการพิจารณาอนุมัติอนุญาตโครงการต่างๆ ออกไป จนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลาย

มิใช่เร่งรัดผลักดันโครงการดังที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นตัวอย่างในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยเวลานี้