ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ ฐานข้อมูลเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่าพื้นที่ ๕ จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และสระแก้ว เป็นที่ตั้งของโรงงานจัดการขยะและของเสียประเภท ๑๐๑, ๑๐๕ และ ๑๐๖ จำนวนรวมกัน ๗๒๕ โรงงาน แบ่งออกเป็น

โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม ประเภท ๑๐๑ จำนวน ๓๓ โรงงาน

โรงงานคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ประเภท ๑๐๕ จำนวน ๔๖๑ โรงงาน

โรงงานรีไซเคิลผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงาน ประเภท ๑๐๖ จำนวน ๒๓๑ โรงงาน

โรงงานจัดการขยะและของเสียข้างต้นมีที่ตั้งกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ยกตัวอย่าง ฉะเชิงเทรามีโรงงานประเภท ๑๐๑ จำนวน ๒ โรงงาน ประเภท ๑๐๕ จำนวน ๑๐๒ โรงงาน และประเภท ๑๐๖ จำนวน ๕๖ โรงงาน เพียงจังหวัดเดียวมีโรงงานที่เกี่ยวกับการจัดการขยะและของเสียมากถึง ๑๖๐ โรงงาน ใกล้เคียงกับระยองที่มีโรงงานประเภท ๑๐๑ จำนวน ๑๑ โรงงาน โรงงานประเภท ๑๐๕ จำนวน ๑๐๓ โรงงาน โรงงานประเภท ๑๐๖ จำนวน ๔๗ โรงงาน รวมเป็น ๑๖๑ โรงงาน

ทางด้านชลบุรีมีโรงงานเหล่านี้รวมกันทั้งสิ้น ๓๐๔ โรงงาน ปราจีนบุรี ๘๘ โรงงาน สระแก้ว ๑๒ โรงงาน โดยสถิติข้างต้นเป็นการนับเฉพาะโรงงานจัดการขยะและของเสียที่ถูกต้องตามกฏหมายและมีใบอนุญาต

๑๐๑, ๑๐๕ และ ๑๐๖ ถือเป็นตัวเลขที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะรู้จักดี สำหรับผู้ประกอบการแล้วโรงงานจัดการขยะและของเสียเหล่านี้เป็นกิจการที่นำผลประโยชน์มาให้ ขยะและของเสียที่ถูกเคลื่อนย้ายเข้าสู่โรงงานที่ทั้งที่มาจากเมืองไทยและนำเข้ามาจากต่างประเทศ ขณะที่ประชาชนในท้องถิ่นที่อาศัยและที่ทำกินอยู่ใกล้โรงงานตระหนักดีว่าโรงงานเหล่านี้เป็นต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีการลักลอบทิ้งกากของเสียในที่สาธารณะ

ที่ต้องกังวลคือโรงงานเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอีกจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ภาคตะวันออก

 เมื่อมรสุม “ขยะ” ท่วมทับ “ภาคตะวันออก” ภัยซ่อนเร้นอีอีซีและเขตเศรษฐกิจพิเศษ

“เรามาตามเก็บ ตามเช็ด ตามถู เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ”

จร เนาวโอภาส
สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน จังหวัดฉะเชิงเทรา

“ภาพรวมจังหวัดฉะเชิงเทรามีโรงงานขยะ ๑๖๐ โรง อำเภอพนมสารคาม ๔ ตำบล คือ หนองแหน เกาะขนุน เขาหินซ้อน ท่าถ่าน เป็นพื้นที่กำจัดขยะ มีโรงงานขยะ บ่อขยะ บ่อฝังกลบขยะ ขยะอุตสาหกรรม ขยะครัวเรือน ทั้งขยะอันตรายและขยะไม่อันตราย ปัญหาที่เกิดขึ้นมันส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม เรามาตามเก็บ ตามเช็ด ตามถู เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ

“ก่อนที่จะมาตั้ง บริษัท กลุ่มทุน หรือผู้ประกอบการ จะดูจุดแข็งของพื้นที่คือผู้นำท้องถิ่นว่าควบคุมได้แค่ไหน ถ้าควบคุมได้ก็จะเข้าไปในพื้นที่เหล่านั้น เอาใบอนุมัติอนุญาตจากโรงงานมาเสนอให้ท้องที่ท้องถิ่นรับฟัง เอาแต่ข้อมูลดีๆ มาเล่า ผลเสียผลร้ายไม่พูดถึง ผู้นำท้องถิ่นฟังแล้วต้องคิดให้รอบด้าน

“ผมถูกเรียกรับประโยชน์ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ให้พูดมาเลยเลขตัวกลมๆ จะเอาเงินก้อนก็ได้ ผมปฏิเสธ ถ้ารับตอนนั้นป่านนี้ผมรวยแล้ว นอกจากเรียกไปพบก็มีข่มขู่คุกคามจนถึงเอาชีวีตกัน ผมไปมาหลายที่ ทั้งยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ถึงสำนักงานต่างๆ คดีหมิ่นประมาทโดยการเผยแพร่ภาพและกระจายเสียงก็เจอมาแล้ว และที่บอบช้ำคือน้องชายถูกผู้ประกอบการยิงเสียชีวิต

“ไปมาหลายเวที เสนอมาหลายเวทีก็ไม่ถูกจัดการตามเป้าหมายที่ทางชุมชนได้วางไว้ ตอนนี้เรามีข้อเสนอ ๔ ข้อ คือ หนึ่ง ลดขยะภายในประเทศให้เหลือน้อยที่สุด และยกเลิกการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ สอง ให้แต่ละจังหวัดรับผิดชอบจัดการขยะในพื้นที่ของตัวเอง จังหวัดใดสร้างขยะจังหวัดนั้นต้องจัดการเอง ทุกวันนี้ทั้งที่กรอกสมบูรณ์ ปราจีนบุรี หรือฉะเชิงเทรา มันข้ามมาจากที่อื่น ต่อไปเกิดขยะที่ไหนต้องจัดการที่นั่น

“สาม ของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้จัดการภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของตัวเอง ห้ามนำออก หมายความว่าในเขตนิคมอุตสาหกรรมต้องมีกิจการโรงงานประเภท ๑๐๑, ๑๐๕ และ ๑๐๖ รวมถึงบ่อฝังกลบ ถ้าเป็นโรงงานอยู่นอกนิคมฯ ให้รัฐจัดหาพื้นที่เหมาะสม มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะดูแลแก้ไขปัญหาขยะในอนาคตระยะยาว เช่น พื้นที่ทหาร พื้นที่เสื่อมโทรมไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่เป็นของรัฐ

“สี่ การตั้งโรงงานเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าพึงระวัง เรามีปัญหาไดออกซิน ขอให้ยกเลิกหรือห้ามมีตามแผนที่รัฐบาลได้วางไว้ สิ่งที่เรากังวลในอนาคต คือ พรบ.อีอีซี ในพื้นที่สามจังหวัด จากจุดเดิมที่มีอยู่แล้วจะขยายเพิ่ม มันจะซ้ำร้าย ในเงื่อนไขตาม พรบ.อีอีซี จะมีการจัดการขยะอีก ๑๑ พื้นที่ จากที่ปัจจุบันก็มีปัญหาอยู่แล้ว”

garbageeast02

“เราต้องสู้หัวชนฝา กดดันให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาดูแลตรวจสอบ”

ทิวา แตงอ่อน
กลุ่มคนรักษ์บ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

“วันนี้อาจมีคนจากหลายพื้นที่ไปดูงานบ่อวินว่าเป็นบ่อขยะที่ดี แต่กว่าจะถึงวันนี้ ภาคประชาชนได้ผ่านการต่อสู้และติดตามตรวจสอบมายาวนาน

“อีสเทอร์นซีบอร์ดเป็นแหล่งอุตสาหกรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในภาคตะวันออก พื้นที่เราอยู่เป็นที่ตั้งของบ่อฝังกลบขยะชุดแรก ๗๕ ไร่ รองรับทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม ทั้งขยะอันตรายและไม่อันตราย เป็นบ่อฝังกลบขนาดใหญ่ร่วมทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น

“หลังเริ่มฝังกลบขยะตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เป็นต้นมา ช่วงแรกๆ ไม่มีปัญหาเพราะขยะยังน้อย แต่ต่อมาเมื่อขยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นหลายล้านตัน ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเรื่องกลิ่น รัศมีที่กลิ่นส่งออกไปประมาณ ๕ กิโลเมตร โรงขยะยังตั้งอยู่ริมคลองมะนาวซึ่งไหลไปลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ตลอดระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร สองข้างทางน้ำที่ออกจากโรงขยะส่งผลกระทบกับชาวบ้านหลายหมู่บ้านหลายตำบล

“ตลอดระยะเวลา ๙ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ – ๒๕๕๓ ชาวบ้านได้รับผลกระทบ แต่ตอนนั้นไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ บ่อขยะแห่งนี้ดำเนินการโดยคนญี่ปุ่นแต่ได้รับการคุ้มครองจากเจ้าพ่อภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ตอนนั้นเขายังไม่ตาย เดือดร้อนขนาดไหน เหม็นขนาดไหน ชาวบ้านก็ไม่กล้าลุกขึ้นมาคัดค้าน

“พอปี ๒๕๕๓ บ่อขยะฝังกลบกำลังจะเต็ม จากพื้นที่ ๗๕ ไร่ เขาจะขอขยายเพิ่มอีก ๑๐๑ ไร่ เราหามวลชน จัดเวทีตามวัดตามสถานที่ต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ป่าวประกาศให้เห็นความเดือดร้อนของพวกเราที่โดนรังแกโดนกดทับโดยผู้มีอิทธิพล ใช้เวลาต่อสู้ ๓ ปี จนบ่อฝังกลบขยะไม่สามารถขยายได้อีก

“สิ่งที่เราทำสำเร็จคือ หนึ่ง ทำให้บ่อขยะขยายไม่ได้ สอง ให้เขาปรับปรุงกิจการจนแทบไม่มีกลิ่นขยะ เพราะการต่อสู้ของชาวบ้าน และการกดดันของชาวบ้านนี่แหละ

“สิ่งที่ผมอยากจะแนะนำ คือ หนึ่ง เราต้องสู้หัวชนฝา กดดันให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาดูแลตรวจสอบ ให้เขาปฏิบัติตามกฏหมาย ทำอะไรที่ลอกลู่นอกทางไม่ได้ สอง เราต้องไม่ให้เขาขยาย จะอยู่ก็อยู่ไป แต่ไม่ให้ขยาย เราจะยันด้วยความเหนียวแน่น ด้วยการยื้อ ด้วยกำลังความสามัคคี

“เราควรยกระดับไปในระดับนโยบายเพราะถ้าเขาทำตรงนี้ไม่ได้แต่ขยะยังอยู่ เขาก็ต้องไปเปิดกิจการที่อื่น ที่อื่นก็ต้องเดือดร้อน ฉะนั้นสู้ในพื้นที่ยันในพื้นที่ไม่พอ ต้องช่วยกันรณรงค์ในระดับนโยบาย ให้รัฐยุติการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ”

“และแม้จะไม่มีขยะจากต่างประเทศเข้ามา แต่ในประเทศมีทั้งขยะอุตสาหกรรม ขยะชุมชน ขยะติดเชื้อ ในอนาคตอาจมีเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ เราต้องช่วยกันคิด นโยบายในการจัดการขยะที่มันเพิ่มขึ้นทุกวันๆ

“ปัจจุบันเรามีอิสเทอร์นซีบอร์ดแล้วหลายแสนไร่ อนาคตเรากำลังจะมีอีอีซีในพื้นที่สามจังหวัดหลัก คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา พื้นที่รวมกันที่จะให้เป็นอุตสาหกรรม คือ แปดล้านสามแสนไร่ ลองคิดดูว่าจะมีคนย้ายเข้ามากี่ล้านคน ขยะจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ฉะนั้นขอให้เราช่วยกันรณรงค์

garbageeast03

“ต่อสู้จนท้อ และหลายคนตายไปแล้ว”

ภราดร ชนะสุนทร
ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง

“จังหวัดระยองถ้าพูดถึงเรื่องขยะมันมหาศาล และผมยังดูไม่ออกว่าแนวโน้มภายภาคหน้าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ระยองเป็นจำเลยของหลายๆ จังหวัด ไปประชุมหลายแห่งเขาบอกให้ระวังขยะที่จะขนจากระยองไปทิ้งที่จังหวัดของเขา ผมรู้สึกว่าจังหวัดของผมมีส่วนผิดอะไร

“ขยะที่เกิดขึ้นในประเทศก็ยังไม่มีที่ที่จะกำจัดหรือสามารถกำจัดได้ แต่ยังมีขยะที่มาจากต่างประเทศอีกไม่รู้เท่าไหร่

“เมื่อปีที่แล้วมีชาวบ้านร้องเรียนมา พวกเราไปดู ปรากฎว่ามีตู้คอนเทนเนอร์ที่เขียนว่า ‘อายัด’ ขนขยะ ๓๐ กว่าตู้มากองไว้เพื่อที่จะคัดแยก ที่อำเภอแกลงและอำเภอนิคมพัฒนา ไม่มีภาษาไทยเลยเป็นภาษาจีนทั้งหมด

“อีกตัวอย่างหนึ่งของขยะที่อยู่ในจังหวัดระยอง คือบ้านหนองพะวา เป็นตำนานการต่อสู้ที่ยาวไกล ผมเป็นประธานการต่อสู้ที่หนองพะวามาร่วมห้าปี ชาวบ้านเขาต่อสู้กับมาแล้วสิบปี เขาต่อสู้จนท้อ และหลายคนตายไปแล้ว สู้ตั้งแต่ไปปิดหน้าโรงงาน กางเต้นท์ ทำหนังสือร้องต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จนเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปปิด ทางโรงงานบอกปิดได้ยังไงเขายังไม่เปิด เพราะเขายังไม่มีใบอนุญาตอะไรเลย แต่มีขยะอยู่ในโรงงานเยอะมากเลย ส่งผลกระทบ กลิ่นเหม็น ทั้งหมู่บ้าน น้ำเสียออกมา โรงเรียนหนองพวามีนักเรียน ๖๐๐ กว่าคน อนุบาลอีก ๓๐๐ กว่าคน ร่วมแล้วร่วมพันคน ต้องปิดจมูกเรียน ไม่ใช่เพราะโควิด-๑๙ ตอนนั้นยังไม่มีโควิด-๑๙ แต่ต้องปิดหน้ากากอนามัยเรียนหนังสือ

“จากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ชาวบ้านร้องไปที่ดีเอสไอ ร้องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เข้ามาดู ถ่ายรูป แล้วก็ประชุม แล้วก็จากไป

“ผมเข้าไปดูในฐานะอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประจำอำเภอ ชาวบ้านบอกว่าเดือดร้อนเหลือเกิน ทำหนังสือเริ่มต้นเลยที่ อบต. นายอำเภอ สาธารณสุข เงียบ พอเงียบทำหนังสือถึงสาธารณสุขจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด มาดูแล้วก็กลับไป แล้วก็เงียบ

“ทำหนังสือไปที่ที่ตรวจเงินแผ่นดิน ทำถึงนายกรัฐมนตรี หนังสือนั้นได้ตอบรับกลับมาว่า เรียนคุณภราดร ตามหนังสือที่ท่านได้ทำถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ท่านเลขาสำนักนายกรัฐมนรตีได้รับหนังสือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ไปดำเนินการให้เรียบร้อย ผมโยนหนังสือลงตระกร้า ทิ้ง ได้แต่บอกว่าในท้องที่เราพึ่งมาเกือบ ๑๐ ปีแล้วเราพึ่งไม่ได้ เราต้องการหน่วยงานที่สูงขึ้นและมีอำนาจชี้ขาดได้มาดำเนินการ แต่ทำไมถึงไม่มาดำเนินการ

“ก็ต่อสู้กัน ทุกวันนี้ตั้งคณะไตรภาคีขึ้น โดยผู้ตรวจการแผ่นดินชุดใหม่ที่เข้ามา ปรากฎว่าประชุมกันไปแล้วหลายครั้ง แต่การแก้ปัญหาก็ไม่ตรงจุด

“อยากบอกพ่อแม่พี่น้องจังหวัดอื่นๆ อย่าโทษจังหวัดระยองเลย ตอนนี้หน่วยงานราชการกำลังเร่งให้ทางโรงงานขนย้ายวัสดุที่เป็นขยะอุตสาหกรรมในโรงงานออกจากพื้นที่ มากน้อยแค่ไหน ดูตามที่เขียนว่า ของที่อายัดไว้ในโรงงานประกอบไปด้วยของเหลวไม่ทราบชนิด จำนวน ๓ ล้านลิตร ย้ำว่า ๓ ล้านลิตรโดยประมาณ แต่ผมมองแล้วในโรงงานมีมากกวานั้น และที่ผมประเมินด้วยสายตาของผมเองคือน้ำมันที่ปนเปื้อนไปด้วยสารซัลฟิวริก สารเคมีต่างๆ โลหะหนักต่างๆ กำลังจะขนย้ายออกมาโดยที่ภาคประชาชนก็คัดค้านว่าอย่าเพิ่งย้าย ขอให้พิสูจน์ก่อนได้มั๊ยว่ามันคืออะไร เป็นของใคร และเป็นตัวต้นเหตุที่สร้างผลกระทบให้กับชุมชนหรือไม่ ถ้าใช่ ควรดำเนินการตามกฎหมายมั๊ย เขาบอกว่าอย่าพูดมากนะ มันนอกประเด็น ประเด็นตอนนี้คือย้ายออกไปก่อน

“ผมถามอุตสาหกรรมบนเวทีว่าเขามีใบอนุญาตมั๊ย เขาบอกไม่มีใบประกอบการ ผมถามเขามีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายมั๊ย เขาบอกว่าไม่มี ผมถามไปอีกว่าแล้วทำไมจึงไม่ปิดโรงงานในลักษณะว่าโรงงานนี้ลักลอบประกอบกิจการที่เป็นอันตราย และมีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครองจำนวนมากมหาศาล สร้างผลกระทบให้กับชุมชน เขาก็ไม่ตอบ เขาบอกต้องการแก้ปัญหาให้กับชุมชน คุณอย่าพูดยืดเยื้อ ต้องการให้ชุมชนไม่ได้รับผลกระทบอีกต่อไป ไม่ต้องไปพูดถึงว่าเกิดอะไรขึ้น

“ปัจจุบันเราจะหาคนมาเยียวยาพื้นที่ที่ต้นยางตาย ท้องนาเสียหาย ถ้าพูดไปแล้วหลายร้อยล้านครับ นี่คือสิ่งที่เรายังหาปลายสิ้นสุดไม่ได้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะจบอย่างไร ให้พื้นที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และที่เสียหายได้รับการเยียวยา”

garbageeast04

“จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลจะเอาขยะมาให้”

สมพร ก่อเกิด
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๒ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

“พื้นที่ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจากการใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ เพิกถอนที่ดินจากป่าสงวนแห่งชาติให้เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อนำมาใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ๖๖๐ ไร่

“เดิมทีป่าชุมชนตรงนี้เป็นพื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ เป็นป่าสมบูรณ์มาก แต่ตามนโยบายของรัฐ เขาอยากให้ตรงนี้เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ เป็นประตสู่อินโดจีน ทีแรกชาวบ้านป่าไร่ดีใจที่จะได้เขตเศรษฐกิจพิเศษ ถึงบางกลุ่มจะต่อต้านเพราะเสียดายป่า แต่พูดกันในชุมชนว่าถ้าอยากเจริญก็ต้องมีบางส่วนที่ยอม

“ดังนั้นในชุมชนของเราไม่ว่าผู้ใหญ่ก็ดี อบต.ก็ดี สรุปตรงกันว่า เรายินยอมให้ใช้พื้นที่ โดยมีข้อตกลงว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมปลอดปล่องหรือนิคมอุตสาหกรรมไม่มีมลพิษ เป็นโรงงานสีเขียว พื้นที่ภาคตะวันออกนอกจากจะมีอีอีซี จังหวัดสระแก้วยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อมีการตัดป่าบางส่วนที่เราเคยปลูกกันไว้จนโล่งเตียน เห็นความเจริญที่จะเข้ามาเราก็ดีใจ

“เขาพาไปดูงาน และมีวีดีทัศน์ที่เสนอสวยงามมาก คนป่าไร่ก็เห็นชอบ ถึงช่วงจัดประชาคมเขารับข้อเสนอทุกเรื่องที่คนป่าไร่อยากได้ ไม่ว่าตลาดนัดชุมชน จุดท่องเที่ยวอย่างสวยงาม เงินช่วยเหลือเกษตกรผู้ด้อยโอกาส กลุ่มพิการ เครื่องสูบน้ำ รถไถ เพื่อแลกกับป่า ๖๖๐ ไร่ เราเชื่อคำมั่นว่าจะทำให้ตรงนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว

“แต่เมื่อเขาทำลายป่าเรียบร้อยแล้ว ท่านเชื่อหรือไม่ จากคำที่เขาพูด ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป อยู่ไปสักพักกลายเป็นโรงงาน RDF หรือโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ เขาขอแก้อีไอเอสร้างโรงไฟฟ้า ๕ โรงพร้อมโรงเผา บ่อฝังกลบอีก ๙๐ ไร่ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่น่าเชื่อนะครับว่ารัฐบาลจะเอาขยะมาให้ มันไม่น่าเป็นไปได้ นี่หรือระเบียงเศรษฐกิจ ประตูสู่อินโดจีน

“นี่คือนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือจากที่เคยคุยกันไว้ ตอนนี้มีอยู่ ๕ โรงที่จะเกิดขึ้น ชาวบ้านทุกหมู่บ้านเขาไม่เห็นด้วย อีไอเอที่เขาทำ ๘๐ เปอร์เซ็นคือคนรอบข้างนอกหรือคนที่ไปดูงาน ไม่ใช่คนในพื้นที่ แล้วโรงงานขยะตัวนี้ห่างจากโรงเรียนแค่ประมาณ ๓๐๐ เมตร เราไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งที่นี่จะเป็นนิคมที่รองรับการจัดการขยะ

“โรงขยะมาที่ไหน เงินก็สะพัดที่นั่น แต่สำหรับชาวบ้านถ้าต้านไม่อยู่ก็ต้องตาย ถ้าสร้างไปแล้วไปต้านก็มีแต่เรื่องคดีความ ตอนนี้คนป่าไร่ของผมเขาไม่รับ เพราะมันผิดวัตถุปะสงค์ นโยบายของรัฐบาลมันคนละเรื่อง บอกว่ายุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ไอ้นี่สร้างมา ๒ ปีเปลี่ยนซะแล้ว”