สัมภาษณ์และเรียบเรียง บุษกร รุ่งสว่าง
“Cardiologist, Teacher , Naturalist , Conservationist”
คำแนะนำตัวตนในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” นอกจากคำนิยามข้างต้นเเล้ว สำหรับเรา หมอหม่องคือ “นักสื่อสารธรรมชาติที่มีสมุดบันทึกเป็นอาวุธ”
หากใครเคยติดตามหมอหม่อง หรือพี่สาวทั้งสอง จะทราบว่าความสนใจต่อธรรมชาติเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่า “อยู่ในสายเลือด” เพราะสามพี่น้องเติบโตมาในยุคที่ธรรมชาติรอบตัวเปลี่ยนไป ฝูงโลมาแถบทะเลศรีราชาค่อย ๆ บางลงจนหาย นาข้าวหลังบ้านย่านสุขุมวิทกลายเป็นที่ตั้งของตึกระฟ้า กระทั่งสัตว์ป่าหลายชนิดเริ่มทยอย “สูญพันธุ์” แบบไม่มีวันหวนกลับ การรับรู้ปัญหาทั้งหมดนี้ เข้มข้นขึ้นตั้งแต่เขาเริ่ม “บันทึกธรรมชาติ”
“ชีวิตที่ขาดแคลนความงดงามจากธรรมชาติ เป็นชีวิตที่น่าเศร้า”
หมอหม่องพูดขึ้นในช่วงท้าย ๆ ของสารคดี “Dr.Birdman บันทึกป่าของหมอหม่อง” ขณะนั้นเขาเล่าถึงการหายไปแบบไม่มีวันกลับมาของสัตว์ป่าไทย พร้อมชี้ชวนให้เห็นว่าเเม้บางสายพันธุ์จะยังโลดแล่นอยู่บนสมุดบันทึกในมือเขา
เเต่หลายสายพันธุ์นั้นได้ไร้เงาในโลกจริงเสียเเล้ว ไม่ว่าจะเป็น นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร สมันและนกกระเรียนไทย ฯลฯ
“บริบทเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ความยากคือ กลุ่มคนที่สนใจเรื่องธรรมชาติมีน้อย คำว่าอนุรักษ์เป็นคำที่ไม่ติดหูใครเลย ได้ยินกันอยู่ในวงแคบ ปัจจุบันคำนี้ขยายตัวไปเยอะมาก แต่ในส่วนที่ทำลายก็ไปเร็วมากเช่นกัน ความวุ่นวาย ปัญหาทางสังคมการเมือง และสงครามอะไรต่าง ๆ ในที่สุดแล้วก็เกี่ยวข้องกับการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ… ”
ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ฝนไม่ตกตามฤดูกาล โรคระบาด ปาทังก้าลง ฯลฯ เป็นอาการป่วยของโลกที่กำลังแสดงอาการออกมา ปัญหามันหนักขึ้นเรื่อย ๆ และมาพร้อมกับความยากจน แร้นแค้นของมนุษย์ หากประเมินสถานการณ์เป็นกราฟ ก็เป็นแบบ Exponential คือมันเร็วแบบทวีคูณไปเรื่อย ๆ”
การบันทึกของหมอหม่องนอกจากจะทำให้เห็นความงดงามจากธรรมชาติเเล้ว ยังสะท้อนความสูญเสียที่เกิดจากการทำลายธรรมชาติของมนุษย์เอง
ทูตธรรมชาติ
“ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติน้อย ด้วยวิถีชีวิตปัจจุบันที่ไม่ค่อยเชื่อมโยง ทำให้สายสัมพันธ์กับธรรมชาติถูกตัดขาดออกไปเยอะ มีครั้งหนึ่งผมไปสัมภาษณ์นักศึกษา เขาก็บอกว่าเอ้…หน่อไม้มาจากไหนก็ไม่รู้ เราก็เฮ้ย… มันเป็นไปได้ยังไงที่ไม่รู้ พบว่าเหตุคือเวลาไปซุปเปอร์มาเก็ตเราชินกับการที่ของทุกอย่างมาเป็นแพ็ก ๆ เนื้อ ผัก ผลไม้ …อย่างปลาสลิดเนี่ยคงไม่มีหัวมั้ง คือเราไม่เคยเห็น… อย่างกะเพรา โหระพา แมงลัก ก็หยิบไม่ถูก… เห็ดก็รู้จักแต่เห็ดหอม เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดออริจิ แต่เห็ดป่าไม่รู้มีอะไรบ้าง วิถีชีวิตเรามันทำให้องค์ความรู้พวกนี้ค่อย ๆ หายไป…”
หมอหม่องเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติอยู่ในตัว เพียงแต่วิถีดำเนินชีวิตของเรานั้นต่างกัน บางคนถูกเชื่อมกับธรรมชาติอยู่ทุกวัน ขณะที่หลายคนต้องทำงานงกๆ จึงไม่รู้วิธี แต่สุดท้ายทุกคนจะพยายามหาทางกลับสู่ธรรมชาติวิถีจนได้ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
“คนหลายคนผมคิดว่าเขาก็อาจจะปิ๊งขึ้นมาเอง แต่บางคนก็อาจจะต้องการเมนเทอร์เป็นคนเชื่อมให้ คล้ายเป็น “ทูต” ที่จะทำให้เขาเห็นในมุมที่ยังไม่เห็น อาจจะเป็นหนังสือ เป็นภาพยนตร์ หรือคนก็ได้
“บางคนเขาจะเข้ามาในทางความงามโดยเฉพาะ อาจจะเป็นการมองทุกอย่างโดยความงาม ในเชิงของจิตวิทยา หรือสนุกที่จะเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ทางด้านชีววิทยาของมัน ซึ่งแล้วแต่มุมมอง บางคนเริ่มต้นจากการถ่ายภาพ ก็จะเน้นเกี่ยวกับเรื่องศิลปะความงาม เพราะฉะนั้นมันก็สามารถที่จะเข้าหาธรรมชาติได้หลายทาง
“แต่ส่วนตัวผมคิดว่าที่สนุกที่สุดก็คงต้องมีทั้งส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์ และส่วนที่เป็นความงามด้วย วิทยาศาสตร์ที่มันวิทยาศ๊าสสสสตร์ วิทยาศาสตร์ แบบแห้ง ๆ เนี่ย ก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าเรามองในเชิงศิลปะอย่างเดียวไม่พยายามเรียนรู้ความจริงต่าง ๆ ก็อาจจะไม่ครบถ้วน ซึ่งสิ่งนี้ผมก็ได้มาตั้งแต่เล็ก คือมีแม่เป็นคนที่เปิดประตูเชื่อมอันนี้ให้
“เวลาอยู่กับแม่ แม่จะคุยกับสัตว์ตัวโน่นตัวนี้ ทักทายต้นไม้ เวลาเจอดอกไม้เขาก็จะ ‘เอ้อคุณเป็นใครเนี่ย ไม่เคยเห็นคุณเลยนะ’ คล้าย ๆ กับสโนโวท์ อันนี้ก็เป็นมุมมองที่รับมาแต่เล็ก เราก็เลยมองเห็นสิ่งเหล่านี้ แล้วสนุกกับมัน เรามีทั้งนกเป็นเพื่อน มีต้นไม้เป็นเพื่อน มีกบ มีเขียด มีลูกอ๊อด มีก้อนหินเป็นเพื่อน
“แม่ทำให้ผมรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเพื่อนเราจริง ๆ มันไม่ใช่ว่ามนุษย์เราอยู่ตรงกลาง แล้วอันนี้คือทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เราอยู่ร่วมกัน ทุกคนมีศักดิ์ศรีเหมือนกัน ทุกคนมีความสำคัญเท่ากัน ยิ่งเราเรียนรู้ แล้วพอมีพื้นฐาน เราก็ยิ่งรู้สึก โอ้โห มีแบบนี้ด้วยเหรอ มันก็ลึกเข้าไปเรื่อย ๆ”
หมอหม่องเล่าต่อไปว่าสัตว์ที่จะตามมาอยู่กับธรรมชาติที่เราสร้างขึ้นนั้น ในที่สุดเขาจะกลายเป็น “ทูตธรรมชาติ” ที่เชื่อมใจให้เราอยากรักษาอากาศ แม่น้ำ ป่า และขุนเขาโดยปริยาย
“ ความจริงไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเข้าป่านะ ไม่ใช่ว่าต้องไปเขาใหญ่ ห้วยขาแข้ง ดอยอินทนนท์ ไม่จำเป็น ที่เหล่านั้นมันก็มีของเจ๋ง ๆ เยอะก็จริง แต่ว่าคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเมือง หลายคนไม่ได้มีชีวิตหรูหรา ไม่ได้มีเวลาว่างที่จะไป และปัญหาคือพื้นที่สีเขียวเราน้อย และที่มีก็ไม่ค่อยดี คือเป็นสวนแบบต้นไม้เข้าแถวกัน ไม่ได้เป็นมิตรกับสัตว์พื้นถิ่น ซึ่งตอนนี้แนวคิดทั่วโลกมันก็เปลี่ยนไปนะ อย่างลอนดอน เขาก็เริ่ม Rewild คือทำให้มันกลับไปเป็นแบบดั้งเดิม คนเขาก็เริ่มเข้าใจ เริ่มมีการเคลื่อนไหวกันมากขึ้น ช่วยกันทำให้พื้นที่สีเขียวตรงนี้กลับมา
“เราจะเห็นว่าสัตว์เลี้ยงกับสัตว์ป่านั้นต่างกันเยอะ โอเคคุณอาจจะเล่นกับหมากับแมว แต่มันไม่มีมนต์ขลังหรือความพิเศษ สมมติเรามีมะละกอที่บ้านอยู่ต้นหนึ่ง แล้วมีกระรอกมากิน มันมาทำตาแป๋วใส่เรา คือมันเจ๋งอ่ะ กระรอกมันอยู่เป็นอิสระ ไม่มีใครเลี้ยงมันนะ
“เหมือนเราไปดูเสือที่เขาดิน ถ้าเราไปดูตอนเด็ก ๆ เราอาจจะตื่นเต้นนะ เฮ้ย เสือ พ่อ ๆๆ พาไปดูเสือหน่อย แต่พอเราไปดูบ่อย ๆ ก็เสืออะไรอย่างนี้ มันก็ไม่ได้มีราศี มีออร่า ไม่มีความเป็นเจ้าป่าเหมือนเดิม แต่ถ้าเราไปป่านะ เราเห็นแค่หางเสือนิดเดียว โอ้โห ขนเราลุกแล้ว
“หรือว่ากล้วยไม้ โอ้โห ฟาแลนนอปซิส (Phalaenopsis) อยู่ในแจกันสวยมาก แต่เราก็ไม่ประทับใจ แต่ถ้าเราไปเข้าป่าแล้วมันมีคาคบไม้ มีกล้วยไม้ช่อหนึ่งออกมา อย่างภูหลวงมีเอื้องตะขาบ ซึ่งบานปีละครั้งแล้วเราไปพอดีวันที่มันบานนะ โอ้โห ขนาดมันอยู่ไกล ๆ แล้วเริ่มเหี่ยว ๆ หน่อย มันยังแบบจับใจมาก แบบทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมเราโชคดีอย่างนี้ เป็นรางวัลแห่งธรรมชาติที่มอบให้กับเราเลยนะ มันมีมนต์ขลังพิเศษ
“เพราะฉะนั้นถ้าพื้นที่สีเขียวในเมืองมีมากขึ้น มันก็จะมีสัตว์เหล่านี้ มีนก มีกระรอก มีแมลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เข้ามา มันก็จะทำให้คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น โดยที่ว่าไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล”
เมื่อไม่รู้จัก จึงเกิดความรักยาก
หมอหม่องเล่าต่อถึงความบกพร่องในการสื่อสารของสื่อเกี่ยวกับธรรมชาติที่ยังคงทำให้ผู้คนขาดความรู้ที่ถูกต้อง เมื่อขาดความรู้ไป ความรักต่อธรรมชาติจึงเกิดได้ยากขึ้น
“เวลาขึ้นเครื่องบิน เราก็จะเห็นโฆษณาที่ต้องการแสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทย แต่ก็พบว่าภาพสัตว์ในนั้น เช่นนก ก็จะมีแต่ฟลามิงโก้ เบิร์ดออฟพาราไดซ์ ฮัมมิ่งเบิร์ด ซึ่งไม่ใช่ของไทยเลย คือคุณยังไม่รู้จักเลยว่าบ้านเรามีอะไรบ้าง พอพูดถึงนกเงือกทีไรก็เป็น “ทูแคน” ทุกที
“คือถ้าขโมยขึ้นบ้านคงโดนขนไปหมด เพราะเจ้าบ้านมันไม่รู้ว่าบ้านตัวเองมีอะไรดี
“เรารู้ว่าพืชผลิตคลอโรฟิลด์สังเคราะห์แสง มีผู้บริโภคขั้นหนึ่งก็คือกวาง กวางมากินเสร็จ แล้วก็เสือมากินกวางอีกที เป็นขั้นที่สองเป็นห่วงโซ่อาหารอะไรไป แต่มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ความสัมพันธ์ในเชิงนิเวศนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่านี้ สัตว์ทุกตัว พืชทุกชนิด มีอาชีพเฉพาะ ไม่ใช่ว่ามีเพียงหมอ วิศวกร แต่มีนักหนังสือพิมพ์ มีคนขายส้มตำ มีคนซ่อมรองเท้ารวมอยู่ด้วย
“เราอาจไม่เคยมองสังคมธรรมชาติในเชิงนี้ บ่อยครั้งเรามองเป็นส่วน ๆ ก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมสัตว์ชนิดนี้ต้องดำรงอยู่ มันมีประโยชน์อย่างไร มันเชื่อมโยงกันอย่างไร
“เช่นลิงก็จะเหมือนกันหมด ลิงอะไรก็คือลิง แต่ประเทศไทยมีลิงตั้งห้าชนิด ลิงแต่ละตัวก็อาชีพไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ หรืออย่างกวาง ก็มีทั้งกวางป่า เก้ง เก้งหม้อ เก้งธรรมดา กระจงควาย กระจงหนู
“หรือเสือก็มีตั้งเก้าชนิดเลยนะ เราไม่ได้มีแค่เสือโคร่งกับเสือดาว เรามีแมวป่าหัวแบน แมวดาว เสือกระต่าย ซึ่งแต่ละตัวก็มีความเฉพาะและหน้าที่สำคัญในธรรมชาติแตกต่างกันไป เราต้องรู้ว่าแต่ละตัวมีความสำคัญอย่างไรในระบบนิเวศ
“พอเรารู้แล้วเราก็จะเข้าใจ และเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น การอนุรักษ์จึงจะเกิด เพราะว่าเราไม่มีทางอนุรักษ์สิ่งที่เราไม่เห็นคุณค่า และเราก็ไม่มีทางเห็นคุณค่า ถ้าเราไม่รู้จักมันตั้งแต่ต้น มันต้องรู้จักก่อน แล้วรัก พอรักแล้วถึงปกป้อง”
เวลาไม่อยู่ข้างเรา
หมอหม่องเล่าถึงสายตานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก และข้อมูลที่เปิดเผยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าคะเนความหนักหนาไว้ชัดเพียงใด หากมนุษย์ยังคงไว้ซึ่งพฤติกรรมเดิม ไม่ร้อน ไม่หนาว ไม่รู้สึกปวดร้าวในใจ ไม่ขวนขวาย ไม่เปลี่ยนแปลง นี่คงเป็นยุคที่ธรรมชาติจะต้องใช้ยาแรงกับเรา
“ความเจ็บปวดมากมายของมนุษย์ หากมองในมุมมองหมอ คือมันเป็นผลที่เราใช้ชีวิตไม่สมดุลเยอะมาก อย่างเรื่องโควิดมันก็เกิดจากเราไปล่าสัตว์ จนเชื้อข้ามสายพันธ์อะไรต่าง ๆ มา โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ อะไรอย่างนี้ คือร่างกายเราเป็นโฮโมเซเปียนส์มาสี่แสนปี ลำไส้ ระบบฮอร์โมนอะไรต่าง ๆ เป็นแบบนี้มา แต่สิ่งที่เปลี่ยนมากจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย คือวิถีชีวิตเรา ตั้งแต่เรามีปฏิวัติเกษตรกรรม ปฏิวัติอุตสาหกรรม วิถีชีวิตเรามันคนละเรื่อง ร่างกายที่เรามีอยู่ก็ปรับตัวไม่ทันกับชีวิตที่เป็น
“สมดุลของโลกที่ผิดเพี้ยนก็ก่อให้เกิดโรคภัยใหม่ ๆ มากมาย ยังไม่รวมถึงการป่วยทางจิตใจนะ เรื่องนี้เกี่ยวแน่นอน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตในเมืองปัจจุบันนี้ ทั้งความเร่งรีบ การต้องรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ มากมาย ทำให้เราไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยได้พักจริง ๆ หรือที่พื้นที่สีเขียวหายไป อากาศไม่ดี PM 2.5 โลกร้อน มันเกี่ยวหมด
“ตอนนี้เรารู้แล้วว่าปัญหาต่าง ๆ จะต้องแก้ยังไง แต่มันหยุดยาก และปัญหาคือเวลาไม่อยู่ข้างเรา คือเราเหลือเวลาไม่มากแล้วในการแก้สิ่งที่เราทำผิดพลาดไปทั้งหลาย มันถึงจุดที่ระบบ life support system ที่พยุงชีวิตของโลกเลยขีดจำกัดไปเยอะมาก เรียกว่า planetary boundaries (ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก) เช่น เรื่องความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ภาวะโลกร้อน การปนเปื้อนของไนโตรเจนฟอสเฟตในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ มันเลยจุดวิกฤตไปแล้วหลายเท่าตัว พอเป็นแบบนี้เราถึงไม่มีเวลามากพอ
“ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงนะ รู้สึกว่ามันยาก แต่ส่วนตัวก็รู้สึกว่า ไปทำสิ่งที่ตัวเองถนัด แล้วสิ่งที่ผมถนัดก็คือ การช่วยให้ผู้คนมองเห็นความงามของธรรมชาติ ผมเชื่อว่าการที่คนจะมาเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เขาต้องเห็นความงาม ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติได้ก่อน พอเขาฉุกคิดได้ เขาก็จะพยายามเปลี่ยนวิถีชีวิต ที่จะย่างก้าวบนโลกนี้ให้มันเบาลง ให้มันนุ่มนวลขึ้น เป็นวิธีที่ผมคิดว่าน่าจะยั่งยืนที่สุด แต่ว่ามันก็ดูไม่ค่อยทันการนะ (หัวเราะ) ใช่ไหม ? มาปลูกสำนึกอะไรอย่างนี้
“จริง ๆ มันเป็นเรื่องหลายอย่าง คนที่ต้องทำด้านกฎหมายก็ต้องทำ กฎหมายที่จะทำยังไงให้เกิดแรงจูงใจ ให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม เรื่องพลาสติกเอย เรื่องโลกร้อน หรือว่ากลไกอื่น ๆ คือบางทีอันนี้เรามองโลกสวยไปหน่อย บางคนก็โอ๊ย รักธรรมชาติ โอ๊ย มันอาจจะไม่ทันเรื่องหรอก โลกพังก่อน มันต้องใช้กลไกอื่นด้วย ทางกฎหมาย ทางเศรษฐกิจ มันน่าจะเวิร์กมากที่สุดแล้ว แต่ว่าผมไม่ถนัดเรื่องนั้น ก็ทำแบบหน่อมแน้ม ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
“ทำให้เขาอ่านเป็น ให้เขามองเห็นสิ่งที่มองไม่เห็น เพราะฉะนั้นการพาคนเดินป่าก็ดี หรือการบันทึกธรรมชาติก็ดี มันคือการหยิบยกมุมที่เราได้เห็น มุมที่คนอื่นอาจจะมองข้ามไป อาจจะเป็นเรื่องความงาม อาจจะเป็นเรื่องพฤติกรรมที่น่าแปลกใจ น่ามหัศจรรย์ต่าง ๆ ให้คนเขามาเห็นสิ่งเหล่านี้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านรูปวาด หรือคำพูด
“ผมว่ามีความจำเป็นอยู่ ถ้าว่ามีจำนวนคนที่มากพอจะเห็นความงาม ความสำคัญ เห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้ มันก็จะผลักให้เกิดการเชื่อมกันของพลวัตรทางสังคมได้ อะไรต่าง ๆ ที่ควรจะเป็น มันก็จะเกิดขึ้น”
ความสุขที่ได้ทำ และความหวังที่ไม่เคยจางหาย
“สำหรับตัวผมเอง ผมมีความสุขที่ได้เข้าไปอยู่กับธรรมชาติ อย่างเมื่อเช้าได้ขึ้นดอยสุเทพไปเดินกับเด็กๆ มันก็เหมือนกับเราชาร์จพลัง คือเราก็ไม่ใช่สายธรรมะนะแต่มันเหมือนกับเราอยู่ในภวังค์ เราจะนิ่ง เป็นความนิ่งที่ลึก เกิดเป็นความปีติ มันบอกไม่ถูก เหมือนเรามีสมาธิ มีความสงบ มันก็เป็นความสุข เพียงแต่ว่าไม่ใช่ความสุขแบบเฮฮา โหวกเหวก มันเป็นความสุขแบบปีติ มีความลึก เหมือนเราค้นพบ…
“แหมไม่อยากพูด (หัวเราะ) เหมือนเราพบสัจธรรมอะไรอย่างนี้นะ ฟังดูเก๋ไก๋ไปหน่อย คือสัจธรรมมันมีอยู่แล้ว เราไม่ได้ค้นพบคนแรก แต่หมายถึงว่าเราก็ไปเห็นเข้า ไปเข้าใจมันเข้า แล้วพอเราได้แชร์คนอื่น มันก็ยิ่งมีความสุขสิ ใช่ไหม มันก็ทำให้จากเราหนึ่งคนเป็นสองคน สามคน สี่คน ขยายไปเรื่อย ๆ
“อย่างการเป็นหมอก็ตอบโจทย์บางเรื่อง เช่น รักษาคนนี้หายแล้วเราก็ได้ความสุข จากการที่เรารู้สึกว่าเรามีคุณค่า เพราะทำให้เขาได้พ้นทุกข์ทางกาย แต่ว่าอันนี้ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเราได้เปิดโลกให้เขา เวลาได้พาเด็กเข้าป่า เห็นเด็กเล่นกับลูกไม้ เราก็มีความสุขแล้ว ไม่รู้ทำไมถึงสุขเหมือนกันนะ แต่รู้สึกว่าตอนนั้นตัวเองมีประโยชน์ ได้ทำให้เขามีชีวิตที่ร่ำรวยขึ้น เพราะว่าชีวิตที่ร่ำรวยขึ้นคือชีวิตที่เห็นความงามอะไรต่าง ๆ สัมผัสความงามอะไรต่าง ๆ อันนี้เรารู้สึกว่าเราทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เพราะเขาได้เห็นสิ่งเหล่านี้
“ทุกวันนี้พยายามไม่ท้อนะ พูดตรง ๆ จะว่าไปพวกรักธรรมชาติก็เป็นคนที่ซวยนะ เพราะว่าเจ็บปวดหัวใจตลอดเวลา ไปเห็นอะไรที่ไหนก็โอ๊ย ตรงนั้นก็โดนตัด ตรงนี้ก็โดนเผา แต่ว่าในขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามกล่อมตัวเองให้มองโลกในแง่ดีให้ได้ เวลาเปิดอินเทอร์เน็ต เปิดเฟซบุ๊กมา ไม่มีข่าวดี มีแต่ข่าวร้ายตลอดเวลา อย่างนี้เราจะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ๆ อยู่เฉยไม่ได้แล้วอะไรอย่างนี้
“แต่หลายคนมักจะมองว่านักอนุรักษ์ หรือนักสิ่งแวดล้อมเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย เพราะเขาจะเห็นข่าวร้ายอะไรในโลกเยอะแยะไปหมด แต่จริง ๆ แล้วผมว่าเรามองโลกในแง่ดีมากเลยนะ คือหมายความว่า เรามีความหวัง เรายังมองว่ามีโอกาส เชื่อว่ายังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และจริง ๆ ผมไม่เคยฝากความหวังไว้กับผู้นำหรืออะไรแบบนี้เลย เพราะผมว่ามันเกิดจากคนเล็ก ๆ แบบเรานี่แหละ ที่ต้องช่วยขับเคลื่อนกันไป
“สิ่งที่สำเร็จก็มีเยอะ แล้วเดี๋ยวนี้มีการเชื่อมโยงกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แลกเปลี่ยนการแก้ปัญหากัน และมนุษย์เราก็มีศักยภาพสูงมาก มนุษย์เราวิเคราะห์ได้ และเรารู้ว่าเราทำอะไรผิดพลาดไป พอมีวิธีแก้แบบนี้ แบบนั้น มันก็มีโอกาส แต่ต้องเป็นสังคมที่เปิด เป็นสังคมที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล มุมมองอย่างเป็นธรรม เหล่านี้คือกระบวนการทางสังคมที่ดี แต่ถ้าไม่ใช่สังคมเปิด เรื่องนี้ก็พูดไม่ได้ เรื่องนั้นก็ต้องเก็บไว้ มันก็จะไม่เติบโต การแก้ปัญหาก็จะช้า เราก็จะพายเรือวนกันอยู่ตรงนั้น”
………………..
ขณะนั่งฟังหมอหม่องเล่าความรู้สึก เรานึกไปไกล หากเริ่มบันทึกธรรมชาติวันนี้ ในอีก 30 ปีข้างหน้า บันทึกเล่มแรกคงอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวที่คนรุ่นนั้นอาจต้องร้องว้าว แต่หากโชคร้าย มันอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดา ที่เป็นจุดเริ่มของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สยองกว่าก็เป็นได้… ใครจะรู้อนาคต…
#ติดตามกิจกรรม Parkใจ ชวนคุย อ่านป่ากับหมอหม่อง Live ทางเพจ Sarakadee Magazine วันพุธที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 20.00-21.30 น.
*หมายเหตุ
1. นกกระเรียนไทยกลับมาแล้วในโลกจริง จากการเพาะพันธุ์พ่อแม่นกกระเรียนที่ยังพบได้ตามธรรมชาติของประเทศกัมพูชา โดยศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จ.บุรีรีมย์
2. ภาพยนตร์สารคดี “Dr.Birdman บันทึกป่าของหมอหม่อง” จะนำกลับมาฉายอีกครั้งในงาน Summer Book Fest เชียงใหม่ ในวันที่ 3 เมษายน 2564 นี้ เวลา 15.00 น. ณ ห้อง ประชุมเชียงใหม่ฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่แอร์พอร์ต โดยหนังมีความยาว 174 นาที ราคาบัตร 100 บาท จำหน่ายบัตรก่อนฉาย 1 ชม.