เรื่องราวจากคัมภีร์โลกศาสตร์ที่ “อัดฉีด” ลงสู่สังคมไทยมาช้านานยังไปปรากฏสอดแทรกอยู่แม้แต่ใน “คลังความรู้” ของศิลปินพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านด้วย ถึงขนาดถือกันว่าถ้าจะเป็นคนเพลงระดับ “ยอดฝีมือ” แล้ว ต้องสามารถร้องได้ทั้งเรื่อง “แดงเถือก” สัปโดกสัปดน ขณะเดียวกันยังต้องแม่นยำในเรื่องพุทธศาสนา ทั้งตำนาน ชาดก และคัมภีร์โลกศาสตร์ เช่นที่คุณเอนก นาวิกมูล บันทึกไว้ในหนังสือ “คนเพลงและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง” ถึงฉากหนึ่งในชีวิตของยายทองหล่อ ทำเลทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาเพลงพื้นบ้านคนแรกของเมืองไทย ว่า
“นอกจากจะเล่นออกสองแง่หรือออก ‘กลอนแดง’ แล้ว ทางแพ้ชนะก็มีอีกเรื่องหนึ่งคือเล่นถามทางโลกทางธรรมกัน เช่น ถามว่า แผ่นดินหนาเท่าไร คนเราเกิดมาอย่างไร ทำไมนกกระยางจึงมีสีขาว ทำไมชะนีจึงต้องเรียกหาผัว…คนไม่ได้เรียนมาก็เป็นอันหมดท่า อย่างยายทองหล่อ ไปแพ้ครูสะอาดหนหนึ่ง เขาถามว่าทำไมนกกระยางจึงมีสีขาว ตอบไม่ถูก มารู้ภายหลังเรื่องนี้ก็ต้องไปหาอ่านเอาจากเรื่องเมียพระอินทร์ คือนางสุชาดา จึงจะรู้…
หนึ่งในแหล่งความรู้ที่พ่อเพลงแม่เพลง รวมถึงชาวบ้านในรุ่น ๑๐๐ ปีมานี้หาอ่านได้ไม่ยากนัก คือหนังสือขนาดเท่าฝ่ามือ เล่มบางๆ โดยทั่วไปหนาราว ๓๐-๔๐ หน้า ที่นิยมเรียกกันว่า “หนังสือวัดเกาะ” ตามชื่อเรียกโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ หน้าวัดเกาะสัมพันธวงศ์ ในกรุงเทพฯ
หนังสือแบบนี้มีผู้พิมพ์จำหน่ายมากราย เนื้อหาหลากหลาย ทั้งวรรณคดี นิราศ เพลงพื้นบ้าน บททำขวัญ ทำนายฝัน หนังสือหัดอ่าน ฯลฯ ดูเหมือนยังไม่เคยมีใครสำรวจนับจำนวนว่ามีทั้งหมดกี่เรื่อง แต่เชื่อว่าน่าจะมีเป็นพันๆ รายการทีเดียว ถือเป็นคลังความรู้ในทาง “ไทยศึกษา” ที่ยิ่งใหญ่มาก
ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยไปบ้านแม่ครูละครชาตรีท่านหนึ่งที่อยุธยา เห็นมีตู้อยู่ใต้หิ้งพระที่ไว้รูปครูบาอาจารย์ คุณครูท่านบอกว่าเป็นตู้เก็บ “บทละคร” ที่ใช้กันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เมื่อขออนุญาตเปิดดู ก็พบว่าข้างในล้วนแต่เป็น “หนังสือวัดเกาะ” อัดแน่นอยู่เต็ม
เช่นเดียวกับละครโทรทัศน์ “จักรๆ วงศ์ๆ” ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เช่น แก้วหน้าม้า ไกรทอง โกมินทร์ ปลาบู่ทอง อุทัยเทวี ฯลฯส่วนใหญ่ก็มีต้นทางมาจาก “หนังสือวัดเกาะ” นี่เอง
มีหนังสือแบบนี้เรื่องหนึ่งชื่อ “นิราสสวรรค์” (นิราศสวรรค์) ฉบับที่เคยอ่าน พิมพ์ที่โรงพิมพ์ห้างสมุด ตรอกโรงเลี้ยงเด็ก จังหวัดพระนคร เมื่อปี ๒๔๙๒ แต่ต้นฉบับเดิมคงเก่ากว่านั้นขึ้นไปอีกหลายสิบปี อาจจะถึงราวปลายรัชกาลที่ ๕ หรือต้นรัชกาลที่ ๖ อ่านแล้วก็เห็นว่าขันๆ ดี จึงขอเก็บความมาเล่าต่อ
“นิราศสวรรค์” ซึ่งไม่ได้ระบุนามนักประพันธ์ เล่าว่าวันหนึ่งผู้แต่งฝันไปว่าพระอินทร์มาชวนไปเที่ยวสวรรค์แล้วก็ตกใจตื่น ต่อมาเกิดพายุใหญ่ ครั้นพายุสงบลง
“แลไปเห็นบาลูนศูนย์เจ้าของ ตกลงต้องภูผาพนาศรี ติดกิ่งไทรในระหว่างกลางคีรี ร่มก็มีสำหรับกางลงทางดอน พิเคราะห์ดูรู้แจ้งไม่แคลงจิตต์ ชาติอังกฤษเรียนรู้เพราะครูสอน ช่างทำดีมีกำบังที่นั่งนอน เที่ยวสัญจรข้ามมหาชลาวน แต่วันนี้เกิดมีพายุจัด จึงได้พลัดจากทะเลระเหระหน ฝรั่งครูผู้เจ้าของหมองกมล ต้องลมบนตกลงปลงชีวิต เราจำใจจะไปบาลูนบ้าง ถ้าถึงยังเมืองสวรรค์ชั้นดุสิต ชมสุรางค์นางฟ้าเทวดาฤทธิ์ ที่สถิตพิมานสำราญครัน”
ดังนั้นในโลกยุคใหม่ สวรรค์จึงสามารถไปถึงได้ด้วย “บาลูน” (ลูกบอลลูน) ของฝรั่งชาวอังกฤษ!
จากนั้นผู้เขียนก็พรรณนาสวรรค์ไปตามลำดับชั้นในคัมภีร์ เริ่มตั้งแต่จาตุมหาราชิกา จากนั้นก็ไปยังดาวดึงส์ แวะสักการะพระจุฬามณีเจดีย์ ก่อนขึ้นไปถึงชั้นยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ก่อนจะต่อขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงสวรรค์ชั้นพรหมทีละชั้นๆ
รายละเอียดของสวรรค์ตามนิราศเรื่องนี้คงแต่งไปตามจินตนาการ ชนิดที่ว่าถ้าเอาคัมภีร์ไปจับก็ต้องว่าเขียนเดาสุ่มไปเรื่อย กล่าวถึงซ้ำไปซ้ำมาแต่เรื่องนางฟ้านางสวรรค์ มีแม้กระทั่งการย้ายนางกินรีกับต้นนารีผล ซึ่งตำราโลกศาสตร์ระบุชัดเจนว่าอยู่ในเขตป่าหิมพานต์ของชมพูทวีป เอาไปไว้บนสวรรค์ด้วย
อ่านๆ ไปก็ยังสงสัยว่าเรื่องจะไปจบลงอย่างไร
ที่ไหนได้!
พอพรรณนาจบเรื่องสวรรค์ชั้นพรหม ผู้แต่งก็เล่าว่าไปเจอพญายักษ์ตาแดงยืนขวางทาง บอกว่าถ้าไปต่ออีกก็คือ “พระนิพพาน” แล้ว ไม่อนุญาต ขอให้กลับไปเสีย คนแต่งสงสัยว่านี่คงเป็นพระอินทร์ปลอมตัวมาบอกทางเป็นแน่ จึงหันหลังกลับลงมา ทันได้เห็นเมขลากับรามสูรเหาะไล่กันพักหนึ่ง แล้วบังเอิญลูกบอลลูนที่อาศัยเดินทางมายังติดห้อยค้างอยู่ตรงนั้นพอดี จึงอาศัยเดินทางกลับลงมาได้ในที่สุด