เรื่อง : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
ภาพ : ณิชกานต์ ช่างสาร, ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
ชายคนหนึ่งบอกกับผมว่า ช่วงวัยรุ่นเขาเป็นนักเรียนเกเรท้ายห้อง กินเหล้าสูบบุหรี่ หนีเรียนจนครูปวดหัว เมื่อโตขึ้นมีโอกาสไปทำงานในกรุงเทพฯ ถูกแสงสีเสียงทิ่มแทงสายตาให้หลงระเริงไปกับภาพมายาช่วงหนึ่ง จนเกิดภาวะเบื่อหน่ายชีวิตจึงกลับมาเปิดโรงเรียนกลางทุ่งนาหลังบ้านตัวเอง
เขาคือ คีตา วารินบุรี ที่เด็กๆ เรียกจนติดปากว่า “ครูลี่”
“ผมไม่ใช่ครู ผมเป็นแค่หัวหน้าเด็กคนหนึ่ง”
ครูลี่มักบอกกับคนทั่วไปแบบนี้เสมอ เขาคิดว่าตัวเองไม่เหมาะสมเป็นครูของใคร และโรงเรียนที่เขาเปิดก็ไม่ใช่โรงเรียนสอนวิชาการ หากแต่สอนเกี่ยวกับวิชาชีวิต
กลางทุ่งนากว้างใหญ่ มองไปทางใดพบแต่พื้นดินสีน้ำตาลแห้ง ลมร้อนเคลื่อนผ่านใบหน้าของผมไป กลิ่นสาบแล้งลอยมาอบอวล ครูลี่กับเด็กๆ จำนวนหนึ่งช่วยกันนำแอกติดว่าวอย่างสนุกสนาน รอคอยเวลาส่งว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้าตามจังหวะของแรงลม การเล่นว่าวครั้งนี้ดูพิเศษกว่าครั้งไหนๆ ที่เคยสัมผัส
ภูเขาไฟอังคารตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าเรา ดวงตะวันค่อยๆ โน้มตัวหายลับไปในซอกเขา แสงสีหมากสุกดูงดงามไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน ใต้เงาทะมึนของภูเขา กลางโอบอุ้มของแผ่นฟ้าสลัว “โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง” ตั้งอยู่ โรงเรียนที่ในเวลานี้แต่งแต้มด้วยรอยยิ้มของเด็กๆ มีชีวิตชีวาด้วยเสียงหัวเราะดังสนั่นทั่วทุ่งหญ้า
รอยยิ้ม สายลม ท้องฟ้า ธรรมชาติ ทุกสิ่งสวยงามราวกับความฝัน
“ความสุขของชีวิตคืออะไร” ผมถามครูลี่
“ความสุขคือความพอใจ ชีวิตต้องการความพอใจ จะหาความพอใจได้ ต้องรู้ว่าใจทำงานยังไงก่อน”
“ใจทำงานยังไงครับ”
“ธรรมชาติของใจไวมาก เราจึงต้องหัดรีเซตหัวใจให้มีสติ ทำไม่ต้องนาน แต่ต้องทำเรื่อยๆ”
“ยังไงครับ”
“ออกจากความคิด แล้วอยู่กับความรู้สึกตัว”
ค่ำคืนย่างกรายเข้ามาอย่างรวดเร็ว บนกระท่อมเล็กริมสระน้ำซึ่งมีแสงไฟวอมแวม เด็กๆ ต่างสมัครใจกันมารวมตัวและจดจ่อรอคอยครูผู้สอนอย่างพร้อมเพรียง ในไม่ช้าโรงเรียนหลังเล็กนั้นจึงละลานตาไปด้วยนักเรียนตัวน้อย
โรงเรียนของครูลี่สอนสิ่งที่เด็กอยากเรียน วันนี้อยากเรียนคณิตศาสตร์ ครูจึงเปิดตำราคณิตศาสตร์ตามใจเด็ก อย่างไรก็ดีครูยังคงเน้นการสอนวิชาชีวิตเป็นหลัก
“วิชาชีวิตคืออะไร” ผมเอ่ยถาม
“วิชาชีวิตคือ ให้เด็กได้เป็นเด็ก ให้คนได้เป็นคน”
“ช่วยขยายความอีกหน่อยได้มั้ยครับ”
“ธรรมชาติของเด็กคือการเล่น ผมก็พาเขาเล่น ก็อย่างที่บอก ผมเป็นหัวหน้าเด็ก ไม่ใช่ครู เมื่อเด็กอยากเล่น เราก็ปล่อยให้เขาเล่น เป็นการเล่นให้เด็กรู้จักความสุขของตัวเอง และที่สำคัญคือรักในวัฒนธรรมท้องถิ่นตน ดังนั้นเด็กนักเรียนทุกคนที่นี่ต้องจ่ายค่าเทอมด้วยการปลูกผัก ทุกคนต้องมีแปลงผักของตัวเองจึงจะสามารถเข้ามาเป็นนักเรียนของเราได้”
“แสดงว่าครูลี่ไม่รับเงินตอบแทนในการสอน”
“ไม่อยากให้คิดว่าทำแล้วได้อะไร แต่ให้คิดว่าเราจะให้อะไร สังคมทุกวันนี้ขาดการดูแลกัน ทำตรงนี้แม้ผมจะไม่ได้เงิน แต่ผมก็มีความสุข ชีวิตที่มีความสุขคือสุดยอดของชีวิตแล้ว”
“หมายความว่าความสุขคือการแบ่งปันใช่มั้ยครับ”
“โลกมีแค่สองอย่าง คือชอบกับไม่ชอบ อะไรที่ชอบนั่นแหละคือความสุข ก็เหมือนกับเด็กนักเรียนที่นี่ ถ้าเขาไม่ชอบเขาก็ไม่มา เพราะเราไม่ได้บังคับให้ใครต้องมาเรียนกับเรา”
ก่อนการสนทนาจะจบลง ครูลี่ได้แนะนำให้ผมรู้จักรีเซตหัวใจตัวเองทุกวัน ตามแนวคิดที่ว่าเราต้องพบเจอเรื่องราวมากมายในชีวิต ทำให้ต้องใช้ความคิดอยู่ตลอด ดังนั้นจึงควรหาเวลาออกจากความคิดเสียบ้าง ด้วยการทำให้ตัวเองมีสติอยู่กับปัจจุบัน เพื่อให้หัวใจได้ผ่อนคลาย
ผมลองทำตามคำแนะนำของครูลี่ทันที ด้วยการหลับตา ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นแนบหู ยกค้างไว้จนปวดเมื่อย ความปวดเมื่อยนี้แหละคือยาสมานใจชั้นดี มันช่วยให้เราออกจากความคิด แล้วอยู่กับสภาพปัจจุบันได้อย่างมหัศจรรย์
เมื่อผมปล่อยแขนทั้งสองข้างลง ก็รู้สึกถึงความเบาสบายทันที สมองโปร่งโล่งโดยอัตโนมัติ แถมร่างกายก็ผ่อนคลาย ถ้าทำในยามเช้า จิตใจจะแจ่มใสเบิกบานเหมือนดอกไม้ในทุ่งกว้างที่ได้รับน้ำรดริน
การรีเซตหัวใจมันดีอย่างนี้นี่เอง.
แหล่งข้อมูล : “โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง” บ้านถาวร ต. ถาวร อ. เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ (ครูคีตา วารินบุรี โทร. 08-3089-2980)
Facebook : โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง