บทความเรื่อง “ความเจริญแห่งราชนาวี” โดย นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ใน “ดุสิตสมิต” ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๔๖๒ ปิดท้ายด้วยการเชิญชวนบริจาคเงินซื้อเรือรบถวาย

“เมื่อท่านทั้งหลายทราบและเห็นแล้วว่าความเจริญของราชนาวีเกี่ยวข้องท้าวเนื่องกับอะไรเพียงใด. ดำเนินมาแล้วอย่างใด, จะดำเนินต่อไปอย่างไร, มีอุปสัคกีดขวางอยู่อย่างใด, ทางที่จะแก้ไขให้การดำเนินได้ดีอย่างไร, และยังขาดเหลืออะไรอยู่เช่นนี้แล้ว จะไม่เห็นอกราชนาวีบ้างฤๅ ? จะไม่ช่วยเหลือราชนาวีตามกำลังที่พอจะช่วยเหลือได้บ้างฤๅ ? ถ้าจะช่วยก็มีทางที่จะช่วยได้อย่างง่ายดาย คือ การเข้าเรี่ยรายสร้างเรือรบถวายและเปนสมาชิกของราชนาวีสมาคมอย่างจริงใจ. เพื่อราชนาวีสมาคมจะได้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ได้จริงจังและรวดเร็วทันสมัยนิยม”

พระร่วง กับกรมหลวงชุมพรฯ

เรือรบที่ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามฯ มีดำริจะ “สร้างถวาย” ด้วยเงินเรี่ยไรจากพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนลำนี้ ได้รับพระราชทานนามล่วงหน้าไว้แล้วว่า “พระร่วง” ตามวีรกษัตริย์ครั้งกรุงสุโขทัย

ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๒ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงขออาสาเป็นผู้ออกไปเลือกอาวุธให้เหมาะแก่เรือ ไปตรวจการทหารเรือในทวีปยุโรป และนำเรือ “พระร่วง” กลับมากรุงเทพฯ จากนั้นจึงทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ข้าหลวงพิเศษ” ออกไปจัดซื้อเรือรบในทวีปยุโรป ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคม ปลายปี ๒๔๖๒ พร้อมกับนายทหารเรือแห่งราชนาวีกรุงสยามอีกหกนาย

ระหว่างประทับอยู่ ณ ทวีปยุโรป ทรงได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลเรือเอก

คณะข้าหลวงพิเศษ โดยความเห็นชอบจากรัฐมนตรีกระทรวงทหารเรือและนายทหารเรือระดับสูงของอังกฤษ ตกลงเลือกซื้อเรือรบหลวง “เรเดียนท์”(HMS Radiant) ของราชนาวีอังกฤษ ซึ่งเพิ่งต่อขึ้นใหม่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๔๖๐ แล้วจัดการเดินเรือกลับมายังประเทศสยาม โดยกรมหมื่นชุมพรฯ ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ และมีนายทหารเรือไทยที่ตามเสด็จเป็นผู้บังคับบัญชาลูกเรือชาวอังกฤษที่จัดจ้างให้นำเรือมาส่งถึงเกาะสิงคโปร์อีก ๖๐ นาย

เรือ “เรเดียนท์” หรือชื่อใหม่คือ “พระร่วง” ออกเดินทางจากเมืองท่าเซาต์แฮมป์ตัน (Southampton) ทางตอนใต้ของอังกฤษเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๖๓

หลวงพลสินธวาณัติก์ (เหล่ว ทีปะนาวิน, ๒๔๓๘-๒๔๗๐) ซึ่งร่วมเดินทางไปรับเรือ เคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่ากลาสีอังกฤษที่จ้างมาเป็นลูกเรือไม่ค่อยรักษาหน้าที่ แอบหลับยามเสมอ บางครั้งเรือเดินผิดทิศมาก สอบสวนได้ความว่าคนถือพังงา (เครื่องบังคับหางเสือเรือ) งีบหลับแล้วเอาพังงาเรือผูกไว้กับเก้าอี้ ตื่นขึ้นมาครั้งหนึ่งค่อยถือท้ายให้ตรงตามคำสั่ง นานเข้าเรือจึงแล่นเฉออกนอกทิศทางไปทุกที ยังดีที่คุณหลวงวัดแดดคำนวณหาตำแหน่งเรือทุกวันจึงจับได้ ดังนั้น แม้บางวันจะรู้จักไม่ค่อยสบาย แต่หลวงพลสินธ์ฯ ก็ไม่กล้านอนพัก ต้องให้ลูกเรือฝรั่งหามขึ้นมาวัดแดดบนสะพานเดินเรือ เพราะเกรงเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก

ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๔๖๐ หลังจากสยามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสงครามไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๔๖๐ ขึ้น โดยกำหนดแบบธงชาติของสยามใหม่ เรียกว่า “ธงไตรรงค์” มีแถบสีแดง-ขาว-น้ำเงิน-ขาว-แดง

ในพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันยังกำหนดลักษณะของ “ธงราชนาวี” สำหรับใช้ชักที่เรือและสถานที่ราชการต่างๆ ของราชนาวี ว่า “เหมือนธงไตรรงค์ แต่มีดวงกลมสีแดงขอบจดแถบสีแดงของพื้นธง อยู่กลาง ภายในดวงกลมนั้น มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าข้างเสา”

ดังนั้น ธงที่โบกสะบัดอยู่บนเสาของ พระร่วง ตลอดระยะทางจากอังกฤษสู่สยาม ย่อมได้แก่ธงราชนาวีนี่เอง


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ