กร พิศาลบุตร
รายการ “Teentalk Inter” , “We’ re Za”, และ “backpacker”
“มันเป็นรายการที่เป็นธรรมชาติของนักท่องเที่ยว”

เรื่อง : นิรมล มูนจินดา
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

author06 author06a

 

หกเจ็ดปีก่อน ยุคเศรษฐกิจเมืองไทยตกต่ำ กร พิศาลบุตร เสนอรายการท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยความคิดที่ว่า “ตอนนั้นคนไม่ค่อยมีสตางค์กัน แต่เราไป ๔-๕ คน แล้วเปิดหูเปิดตาให้คนที่ไม่มีโอกาสไปอีกหลายแสนคน”

เขาบอกทางโทรศัพท์ไว้ตั้งแต่แรกว่าคงไม่ตอบคำถามเราอย่าง “เป็นวิชาการ”

และถ้าจะให้เขาพูดถึงตัวเอง เขาก็คงไม่คิดว่าตัวเองเป็นนักทำสารคดีโทรทัศน์อย่างแน่นอน

แต่ถึงอย่างนั้น ในพื้นที่ของคนทำสารคดีก็น่าจะมีเขารวมอยู่ด้วย เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่า รายการ “backpacker” ที่ออกอากาศตอนบ่ายแก่ ๆ ทางช่อง ๕ ซึ่งเป็นรายการที่สืบเนื่องและมีรูปแบบเดียวกับรายการ “Teentalk Inter” และ “We’ re Za” ในอดีต ก็มีเชื้อแถวของความเป็นสารคดีท่องเที่ยวอยู่ด้วยสักครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งที่เหลือเป็นความสนุกสนานซึ่งนำเสนอผ่านมาดกวน ๆ ขำ ๆ ของ เร แม็คโดนัลด์ และลูกเล่นของฝ่ายผลิตรายการ

“ฉีกตำราไปเลย ของเราไม่มีตำรา

“รายการของเราไม่ใช่สารคดีที่เป็นทางการนัก แต่เป็นสารคดีบวกกับความบันเทิง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ด้วยตัวพิธีกรเอง ด้วยรูปแบบการตัดต่อ ด้วยการนำเสนอที่ไม่ได้เป็นทางการมากเกินไป คือมีหลายรายการที่ทำเรื่องท่องเที่ยวและเน้นการนำเสนอข้อมูล แต่ของเรามันเป็นรายการที่เป็นธรรมชาติของนักท่องเที่ยว

“เนื่องจากเรายังเป็นรายการของวัยรุ่น นอกจากเนื้อหาเชิงสารคดีแล้ว เราก็ต้องใส่ความสนุกเข้าไปด้วย ความสนุกคือมีทั้งหัวเราะ มีอมยิ้ม มีขำ มีทั้งสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็น มีการกินการอยู่ บันเทิงให้ครบรส ครบรสคือให้ความรู้ ดูสนุก ดูแล้วเพลิน นี่คือมาตรฐานของรายการ

“เราต้องศึกษาก่อนว่า ประเทศที่เราจะไปนี้มีจุดเด่นอะไร ในเมืองหลวงมีอะไรน่าสนใจบ้าง คนที่นั่นเขาทำอะไรกัน ตอบโจทย์ what when where why how ให้ได้ นี่คือโครงคร่าว ๆ พอไปถึง เราก็พุ่งไปหาสิ่งที่เราต้องการ อย่างที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เราก็จะไปดู โมนาลิซา อย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็พุ่งไปเลย ไปอิตาลี ก็ต้องดูก้นเดวิดอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเข้าไปหนึ่งพิพิธภัณฑ์แล้วดูหมดทุกรูป ให้อยู่ในลูฟวร์ทั้งวันก็ไม่ไหว อาจจะมีหลาย ๆ รายการที่ทำอย่างนี้อยู่แล้ว แต่คงไม่ค่อยมีใครทำรายการที่หลุด ๆ ออกมาบ้าง ด้วยลักษณะของตัวพิธีกรเอง ด้วยทีมงานเอง

“นอกเหนือจากตรงนั้นเราจะพบสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น nightlife ผู้คน อาหารการกิน เหตุการณ์แปลก ๆ สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้วางแผนไว้เลย แต่ละประเทศมีเสน่ห์ของตัวเอง เราจะได้ข้อมูลเมื่อเราไปถึง เราจะรู้ว่าเขากินอะไรกัน เขาเรียกรถแท็กซี่ว่าอะไร นั่นคือเรียนจากประสบการณ์เหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ไม่ได้ศึกษาข้อมูลกันจน…

“แต่ละที่ที่เราไป ของแต่ละอย่างที่เรานำเสนอ จริง ๆ แล้วก็เป็นที่ที่เราอยากไป สิ่งที่เราอยากดู ใช้ตัวเองวัด เรามั่นใจว่า ถ้าเราอยากดูตรงนี้ คนอื่นก็คงอยากดูคล้ายกับเรา

“พอไปต่างประเทศแล้ว เราไม่ได้นึกถึงผู้ชม เพราะเราคือผู้ชม เราไปชมมาให้ ไปถ่ายมาให้ เราไม่ได้เซ็ตแต่ของดี ๆ เอามาให้ พอดูรายการแล้ว คนรุ่นใหม่ก็สามารถไปเที่ยวอย่างเราได้ และมันก็เกิดขึ้นจริง ๆ

“ไม่เคยชั่งน้ำหนักระหว่างความรู้กับความสนุกเลย มันเป็นไปตามธรรมชาติ แล้วแต่ว่าเราจะไปเจออะไร เราอาจเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่สำคัญหรือสิ่งที่ควรจะต้องนำเสนอในส่วนของสารคดีเอาไว้บ้าง แต่เรื่องความสนุกสนาน เราจะพบปะได้ในทุก ๆ ตัวคน ไปที่ไหนแล้วเจอเรื่องสนุก เราก็เก็บเอาไว้ออนแอร์ คนดูก็จะรู้สึกว่าได้ทั้งความสนุกด้วย ได้ทั้งความรู้ด้วย แต่ความรู้อาจจะไม่มากนัก

“ไม่มีการออกแบบรายการ ไม่มีแพตเทิร์น แต่ “น่าจะเป็นประมาณนี้” คือถ้าไป ๒ เมืองก็น่าจะได้สัก ๔ ตอน แล้วค่อยกำหนดว่าวันที่ ๑ มีอะไร วันที่ ๒ มีอะไร เราไม่ได้กำหนดว่าเบรก ๑ จะต้องเป็นแบบนี้ เบรก ๒ เป็นแบบนี้ แต่จะเลือกไฮไลต์ เช่น ตอนที่ ๑ ดูเรื่องวัฒนธรรมการกินอยู่ ตอนที่ ๒ ดูแลนด์มาร์ก สถาปัตยกรรม หรือให้เป็นช่วงของการผจญภัย จะมีโครงไว้หลวม ๆ เท่านี้

“ไม่ค่อยมีเซ็ตไฟ เซ็ตแสง ส่วนมากมันเป็น reality เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องถือไฟให้หน้าสว่าง เรก็ไม่ใช่พิธีกรที่เนี้ยบ เสื้อผ้าเขาเลือกของเขาเอง เราจะซื้อเสื้อห่านคู่กับเสื้อใต้สะพานพุทธที่ขายกอง ๆ ไว้ แล้วนาน ๆ ทีก็ให้ไปเลย ๒๐ ตัว ให้เขาไปทำให้มันยับก่อน ให้น้องใส่จนเยินแล้วถึงจะเอามาใส่ เพราะไม่เยินไม่ใส่จริง ๆ เขาเป็นตัวของเขาเองมาก นี่คือเสน่ห์ของเขา

“แฟนรายการส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ ผู้ใหญ่ก็มี และไม่ใช่เฉพาะรายการของเรา แต่รวมถึงรายการท่องเที่ยวอื่น ๆ ด้วย เพราะมันคือความรู้อีกด้านหนึ่งที่คนดูสนใจ ดูแล้วก็เหมือนได้ไปเที่ยว คือได้ไปเที่ยวและได้ความรู้ อย่างรายการของ Lonely Planet คนก็อยากดูอยู่แล้ว เพราะมันให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้น ๆ แต่ถ้ารายการพาไปดูสถานที่อย่างเดียว มันจะไม่มีอีกอารมณ์หนึ่งของความสนุก อย่างพาไปดูโคลอสเซียม แค่เห็นมันอาจไม่สนุก ความสนุกมันอยู่ตรงไหน ความสนุกก็อยู่ที่การเดินทางไปโคลอสเซียมนั่นแหละ แต่การนำเสนอนั้นถ้าทำแล้ว fake มันก็ไม่สนุก ถ้าไม่ fake มันถึงจะสนุก เรเขาเป็นนักท่องเที่ยวจริง ๆ เป็นคนนำเราด้วยซ้ำ และเขาเป็นนักท่องเที่ยวที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่

“เราเซ็นเซอร์ตัวเอง อะไรที่มันดูไม่ดีกับพิธีกร เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เราก็เลี่ยงเสีย ซึ่งเป็นปรกติของทุกรายการอยู่แล้ว อาจจะเห็นพิธีกรไปนั่งในผับได้ แต่ไม่ให้เห็นยกแก้วขึ้นมาดื่ม คนก็ get อยู่แล้ว คงไม่มีใครคิดว่าเรเป็นคนเรียบร้อย ก็รู้กันว่าเขาเป็นคนกินเหล้าพอสมควร แต่ไม่ให้เห็น นอกจากนี้ก็ไม่ให้มีโป๊ เรื่องที่คิดว่าต้องเซ็นเซอร์ก็มีอยู่เท่านี้ บางครั้งเราอาจแทรกความคิดเห็นหรือบอกข้อควรระวังต่าง ๆ เวลาเดินทางไว้ด้วย อย่างเช่นบางประเทศแท็กซี่ขี้โกง เราก็ต้องเตือนเรื่องแท็กซี่ ซึ่งมันเป็นความจริง แต่เราก็ไม่ได้ไปว่าประเทศเขา

“สิ่งที่ทีมงานต้องระวังมากที่สุด ต้องรับผิดชอบมากที่สุด คือ เมื่อถ่ายออกมาแล้ว พอมีโอกาสจะต้องเช็กดูเทปทันทีว่าถ่ายติดหรือเปล่า เช็กเสียงว่าใช้ได้ไหม เพราะถ้ากลับมาแล้ว เราไม่สามารถย้อนไปแก้ได้ ไม่สามารถวิ่งออกไป insert ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีความรอบคอบ

“เรื่องการหาพื้นที่ในสื่อ บอกตามตรงว่าเนื้อยเหนื่อย เรื่องการแข่งขัน เรื่องการแย่งเวลา เส้นสายเยอะมาก ถ้าถามว่ารายการมั่นคงแค่ไหน เราคงตอบไม่ได้ บอกได้แต่ว่า แต่ก่อนระยะเวลาเซ็นสัญญาคือ ๖ เดือน เดี๋ยวนี้เหลือ ๓ เดือน

“สิ่งที่คุกคามรายการ คืออายุของคนทำ (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้เดินไม่ค่อยไหว และบางทีการใช้ชีวิตร่วมกันของคน ๓-๔ คนในต่างประเทศ การที่เราอยู่ด้วยกันเยอะมาก ก็เป็นปัญหา

“โลกมันกว้างใหญ่นะ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ตัน ขี้หมูขี้หมาอาเจะห์ไม่เคยไปก็ไปเสียหน่อย มัลดีฟส์ก็มีตั้งร้อยเกาะ อาจจะเคยไปแล้ว ๓ เกาะ แต่เกาะที่เหลือก็ยังไม่เคยไป ทุกคนถามว่าทำงานตรงนี้มาหลายปี คงเที่ยวมารอบโลกแล้ว แต่เราตอบว่า ไม่รอบหรอก ชาตินี้ก็คงไม่รอบ บางประเทศไปหลายรอบ อย่างมาเลเซียไปเป็น ๑๐ รอบ แต่หย่อมเล็ก ๆ ก็ยังไม่เคยไป บางประเทศค่าใช้จ่ายสูงมาก อันตรายมาก ก็ไปไม่ได้ ถึงอย่างไรคนก็ไม่มีทางเที่ยวทุกที่ในโลกได้อยู่แล้ว”