UpDATE ในปีที่ ๒๐
เมื่อความงามในโลกวิทยาศาสตร์
ไม่อาจต้านทานความจริงในโลกธุรกิจ

เรื่อง : เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

author18

 

ทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เคยให้สัมภาษณ์กับสารคดีไว้ตอนหนึ่งว่า

“วารสารด้านวิทยาศาสตร์ที่เราทำนั้นขาดทุนมาตลอด เพราะรายได้จากการขายและโฆษณาไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเราไม่ทำ มันก็ไม่มีใครทำอีกแล้ว และเด็กไทยจะไม่มีวารสารด้านนี้อ่านเลย มันจึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้เล่มนี้คงอยู่ต่อไปให้ได้”

ซีเอ็ดก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะ “ดำเนินธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาหาความรู้ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของคนไทยในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยเน้นด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการศึกษา” ปัจจุบันซีเอ็ดเป็นทั้งสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือรายใหญ่ที่สุด และมีร้านหนังสือเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ

และนี่คือเหตุผลที่ UpDATE เดินทางมาได้ถึงปีที่ ๒๐ แม้จะไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากเอเจนซีโฆษณาและองค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนเลย

กว่าจะมาเป็น UpDATE นิตยสารเล่มนี้ผ่านการผสมผสาน ปรับเปลี่ยนมาหลายครั้ง หากย้อนกลับไปถึงต้นตระกูลก็ต้องว่ากันตั้งแต่ ๒๗ ปีที่แล้ว เมื่อซีเอ็ดออกวารสาร ทักษะฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี ๒๕๒๑ และออกวารสาร มิติที่ ๔ ในปี ๒๕๒๒ ต่อมาในปี ๒๕๒๘ ซีเอ็ดรวมวารสาร ทักษะฯ และ มิติที่ ๔ เข้าด้วยกัน แล้วให้ชื่อใหม่ว่า รู้รอบตัว

จุมพล เหมะคีรินทร์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหาร UpDATE มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ถึงปัจจุบัน กล่าวถึงเหตุผลในการรวมวารสารทั้ง ๒ เล่มเข้าด้วยกันว่า “เนื้อหาวิทยาศาสตร์ของ ๒ เล่มนี้เริ่มใกล้เคียงกัน ส่วนเรื่องลึกลับในมิติที่ ๔ ก็เริ่มตัน ไม่พ้นเรื่องยูเอฟโอ สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา สัตว์ลึกลับ รู้รอบตัว เป็นการนำเนื้อหาที่เป็นวิทยาศาสตร์ใกล้ตัวใน ทักษะฯ กับเนื้อหาแนวจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ใน มิติที่ ๔ มารวมกัน

“นานวันเข้า รู้รอบตัว ก็เริ่มตันอีก เพราะคนอ่านจำกัดอยู่ในกลุ่มนักเรียน หน้าตาของ รู้รอบตัว จะเป็นเด็ก แม้แต่ชื่อหนังสือยังมีคนอ่านเป็น “ความรู้รอบตัว” อยู่บ่อย ๆ พอถูกมองเป็นหนังสือเด็ก ก็หาโฆษณายาก ตอนนั้นคือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะอยู่หรือไป ในที่สุดเราเลือกที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ขยายขนาดหนังสือ พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์ทั้งเล่ม เพิ่มรูปสี มีเนื้อหามากขึ้น วิธีการนำเสนอเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็นUpDATE แต่เนื่องจากเนื้อหายังสืบต่อมาจากรู้รอบตัว เลยใช้วิธีนับปีต่อเนื่องกัน ถึงปัจจุบันเป็นปีที่ ๒๐“

UpDATE เล่มแรกวางแผงเมื่อพฤศจิกายน ๒๕๓๕ โดยปรับราคาจาก ๒๕ บาท เป็น ๔๐ บาท และสโลแกน “สาระทันยุคเพื่อคนทันสมัย” ก็เริ่มใช้มาแต่บัดนั้น

“แก่นของ UpDATE คือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัยและแปลกใหม่ ครอบคลุมเรื่องวิทยาการ สิ่งประดิษฐ์ งานวิจัย ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในทุก ๆ ด้าน

“ทำไประยะหนึ่ง ลองประเมินดูก็พบว่ากลุ่มผู้อ่านยังไม่พ้นกลุ่มเด็กและเยาวชนอยู่ดี เลยคิดว่าถ้าหวังโฆษณาไม่ได้ เราก็จับกลุ่มเยาวชนให้ชัดไปเลยดีกว่า เราจึงไม่เปลี่ยน UpDATE ให้เป็นสี่สีทั้งเล่ม เพราะคิดว่าคงไม่ช่วยให้ได้โฆษณาเพิ่มขึ้น แถมจะทำให้ต้นทุนสูงจนไม่สามารถขายในราคาสำหรับเด็กได้

“ที่โฆษณาไม่มาลงเพราะเขาไม่รู้ว่า UpDATE จะเน้นกลุ่มผู้อ่านกลุ่มไหน เราก็คิดว่าแล้วเราต่างจาก สารคดี ยังไง แนวของ สารคดี ก็กว้างนะ แต่ยังมีโฆษณาเยอะแยะเลย หรือเนื้อหาแนววิทยาศาสตร์เป็นจุดตัดสิน พอเราบอกว่ากลุ่มเด็กน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้า คำตอบที่ได้รับคือ กลุ่มคนอ่านของเราเป็นเด็กฉลาด ไม่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เขาไปลงในหนังสือวัยรุ่นที่เน้นเรื่องสวย ๆ งาม ๆ ดีกว่า

“ปัญหาเรื่องความอยู่รอดของนิตยสารแนววิทยาศาสตร์มันย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยคุณจันตรี ศิริบุญรอด ทำ วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ เมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่แล้ว แล้วก็มีเล่มอื่นต่อมา ไม่ว่าจะเป็น ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์, วิทยาศาสตร์ไทย, โลกวิทยาศาสตร์, โนวา, เปิดโลกเทคโนโลยี, มติชนวิทยาศาสตร์ และอีกหลายเล่ม ซึ่งล้วนแต่ไปไม่รอด สังคมไทยให้ความสนใจกับการเรียนรู้ของเยาวชนมากขึ้น และประเทศของเราก็พัฒนามาถึงระดับนี้แล้ว มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีหรือหน้าตาของประเทศเหมือนกันนะ ถ้าบนแผงหนังสือไม่มีนิตยสารแนววิทยาศาสตร์ที่ให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปเลยสักเล่ม

“ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนไทยสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นน่าจะมาจากสองส่วน หนึ่ง ในระบบการศึกษา คือการสอนในโรงเรียนต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้ ด้วยเหตุนี้ทีมงานเราก็เลยคิดว่าน่าจะลองมาทำค่ายวิทยาศาสตร์ดูเองบ้าง จึงเกิดค่าย ซีเอ็ดคิดดีแคมป์ ขึ้น ซึ่งเป็นการแปลงรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ผ่านตัวหนังสือออกมาเป็นกิจกรรมสำหรับเด็ก เราหวังว่าเมื่อพวกเขาได้มีโอกาสทดลองทำจริง ๆ ด้วยตัวเอง มันอาจจะช่วยจุดประกายให้พวกเขารักวิทยาศาสตร์ก็ได้

“สอง นอกระบบการศึกษา สื่อมวลชนเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้ประชาชนตื่นตัวเรื่องวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านมาสื่อมองวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องรอง เราเองก็ยอมรับว่าข่าววิทยาศาสตร์มันไม่ค่อยตื่นเต้น แต่มันขึ้นอยู่กับว่าสื่อจะนำหรือตามกระแส ถ้าบอกว่าชาวบ้านไม่สนใจเรื่องนี้ สื่อก็จะเสนอแต่เรื่องอาชญากรรม การเมือง หรือดารา มากกว่า

“UpDATE เองก็พยายามปรับวิธีการนำเสนอ เรามีวิธีคิดง่าย ๆ คือ คิดว่าให้เด็กและคนที่ไม่มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์อ่าน ถ้าเอาวิทยาศาสตร์มาโยงกับชีวิตประจำวันได้ เขาจะรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลตัว เราพยายามใช้ภาษาให้ง่าย ลดระดับของศัพท์เทคนิค ไม่แตะเนื้อหาที่ลึกเกินไป ใช้เทคนิคการเปรียบเทียบหรือมีอารมณ์ขัน ซึ่งยากเหมือนกันสำหรับกอง บ.ก. ที่จบสายวิทยาศาสตร์แต่ไม่ได้เรียนด้านการสื่อสารมาด้วย

“แต่ยังไงการเอาคนที่จบวิทยาศาสตร์มาฝึกเรื่องการสื่อสารก็น่าจะง่ายกว่าเอาคนที่เรียนด้านสื่อสารมวลชนมาใส่ความรู้วิทยาศาสตร์ กอง บ.ก. UpDATE จึงรับเฉพาะคนที่จบสายวิทยาศาสตร์เท่านั้น จะสาขาไหนก็ได้แต่ขอให้มีพื้นฐานชอบอ่านชอบเขียนอยู่บ้าง ผมเองก็จบด้านวิทยาศาสตร์เคมี มาทำงานที่นี่ที่แรกเมื่อปี ๒๕๒๕ เริ่มจากเป็นผู้ช่วย บ.ก. มิติที่ ๔

“ผมคิดว่าสำหรับประชาชนทั่วไป ตัวองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ยังไม่สำคัญเท่ากระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ หรือ Scientific Thinking คือกระบวนการหาความจริงด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การสังเกต ตั้งสมมุติฐาน ทดลอง ซึ่งในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการทดลองทางเคมี แต่เป็นกระบวนการหาคำตอบเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่จะแก้ปัญหาให้ได้

“Scientific Thinking ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้หลายเรื่อง บ่อยครั้งที่เราโต้แย้งถกเถียงกันในบางเรื่องโดยใช้ความรู้สึก ไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของข้อมูลความจริง จนทำให้เกิดความตื่นตระหนก เช่นเรื่องไข้หวัดนก ถ้าให้ข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ว่า ที่เลวร้ายที่สุดคืออะไร ไปจนถึงว่า จริง ๆ แล้วมันไม่น่ากลัวเพราะอะไร ประชาชนจะตัดสินใจได้เองว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร

“วิทยาศาสตร์สอนให้เราไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ เช่นถ้ารู้ทฤษฎีความน่าจะเป็น จะรู้ว่าการแทงหวยมีโอกาสถูกยากมาก ช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าควรจะทุ่มเงินลงไปแค่ไหน วิทยาศาสตร์มีความงดงามตรงที่ทำให้เราไม่มองอะไรแค่ผิวเผิน แต่มองลึกเข้าไปถึงแก่น เป็นประตูให้มนุษย์เข้าไปศึกษาและเข้าใจถึงกฎเกณฑ์ความเป็นไปของสรรพสิ่งในธรรมชาติ เมื่อเราซาบซึ้งถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ก็จะนำมาซึ่งความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักลดอัตตาของตัวเอง

“ความภูมิใจของเราเกิดจากเสียงสะท้อนของผู้อ่านที่ว่าหนังสือของเราจุดประกายให้เขารักการเรียนวิทยาศาสตร์ และเลือกอาชีพสายวิทยาศาสตร์ ส่วนคนที่ไม่ได้ทำงานสายนี้ อย่างน้อยที่สุดเขาได้วิธีคิดที่เราพยายามสอดแทรกเข้าไป รู้จักการเรียนรู้ด้วยเหตุและผล แค่เราได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ในความสำเร็จของบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศ เราก็พอใจแล้ว

“เด็กบางคนเขียนจดหมายมาบอกว่าเขาตื่นเต้นมากที่ได้อ่าน UpDATE นั่นแสดงว่าหนังสือของเราตอบสนองเด็กในระดับหนึ่งได้ เราจึงฝันอยากให้ใครก็ได้ บริษัทเอกชน คนที่มีเงิน มาช่วยสมัครสมาชิกอุปถัมภ์เพื่อกระจายหนังสือให้แก่เด็กไทยที่ไม่มีโอกาสหรือไม่เคยรู้ว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่ในโลก ถ้าอุปถัมภ์เป็นกลุ่ม ๒๐ โรงเรียนขึ้นไป เราคิดครึ่งราคา เรายังมีโครงการสมาชิกกลุ่มสำหรับเด็กที่รวมกลุ่มมาสมัครตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไปด้วย คิดครึ่งราคาเหมือนกัน มีโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดลำพูนสมัครมา ๒๑๓ คน เราส่งไปเป็นลังเลย แต่การรวมกลุ่มกันเองของเด็กให้ได้ ๒๐ คนก็ไม่ได้ง่าย เราหวังว่าจะมีคนมาช่วยสานฝันตรงนี้ โดยเฉพาะภาครัฐซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนได้ทันที

“เราเองก็พยายามจะอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง แต่ในภาวะที่เราไม่สามารถพึ่งโฆษณา เราก็หวังการอุ้มชูจากภาครัฐ ภาคเอกชน และคนอ่าน การที่หนังสือมียอดพิมพ์สูง นอกจากจะทำให้เราอยู่รอดได้แล้ว ยังทำให้ต้นทุนต่อเล่มลดลงและขายในราคาถูกได้

“คนอ่านคงเบื่อว่าทำไมพูดแต่เรื่องความอยู่รอด แต่นี่คือความจริง

“แต่ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงยังไง ขึ้นราคาเท่าไร คนอ่านก็ไม่เคยถอย เราก็เลยรู้สึกผูกพันกับคนอ่าน จนครั้งหนึ่งเคยเขียนไว้ในบท บ.ก. ว่า…คนอ่านคือกำแพงที่ให้เราพิง บริษัทคือมือที่ค้ำยันกำแพงไม่ให้ล้ม ถ้าสักวันหนึ่งกำแพงมันผุกร่อนหรือมือที่ค้ำยันอ่อนล้า ก็อาจจะต้องถึงเส้นทางยุติของเรา”